บทที่ ๑๑ ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถ ขั้นที่ ๑-๓ วิธีรวมกายรวมใจทีละจุด / ผ่อนคลาย คือปราณโอสถที่แท้จริง / รู้ลม
ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม
ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถ ขั้นที่ ๑-๓ วิธีรวมกายรวมใจทีละจุด / ผ่อนคลาย คือปราณโอสถที่แท้จริง / รู้ลม
แสดงธรรมวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕
สาระสังเขป
สอนปฏิบัติธรรมปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ กายรวมใจทีละจุดทั่วร่างกาย ให้รู้ภายในกายให้แจ่มชัด สำรวจตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า เดินประคองจิตไม่ให้กระเพื่อม และไม่ส่งออกนอกกาย แล้วให้จิตพากายมายืนอยู่กับที่ สำรวจตามจุดต่างๆ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าให้ชัดเจน ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลายทั้งกายและใจ ปราณโอสถแท้จริงที่สะอาดไม่เร่าร้อน ไม่เสียดแทงจะเกิดมากขึ้นเมื่อผ่อนคลายได้นาน ขั้นที่ ๓ รู้ลมว่าลมเข้าหรือออกอยู่ การรู้จัก เข้าใจมายาของจิต การรักษาจิตต้องใช้ทางสายกลางคือความพอดี กรรมฐานกองใดกองหนึ่งจัดการกับกิเลสสารพัดกองไม่ได้หมด พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงประทานกรรมฐานถึง ๔๐ กอง เอาไว้สำหรับกำราบกิเลส
เนื้อหา
ลุกขึ้นยืน เตรียมปฏิบัติธรรม
๐ กายรวมใจ
เบื้องต้น รู้แล้ว ขั้นตอนที่ ๑ ทำกายรวมใจ อย่างเดียว
กายรวมใจ ไม่ได้อยู่ที่กลางกระหม่อม ไม่ได้อยู่จุดใดจุดหนึ่ง แต่อยู่ไปทั่วสรรพางค์กาย
- ให้อยู่ภายในกาย อยู่ที่ฝ่ามือ ปลายนิ้ว หน้าผาก ท่อนแขน หัวไหล่ ต้นคอ กะโหลกศีรษะ กระหม่อม หน้าผาก
- ฝึกกายรวมใจ แบบรู้ตัวทั่วพร้อมแบบนี้ เวลาเดินลมรู้ลมและตามดูลม จะได้เดินได้ถูก เดินได้ช่ำชอง เชี่ยวชาญ
- ไปดูแต่จุดใดจุดหนึ่งอยู่อย่างนั้น เวลาเดินลม ตามดูลม ก็อยู่แต่จุดนั้น รู้แต่จุดนั้น จุดอื่นไม่รับรู้ หรือรู้แบบผิวเผิน เพราะไม่คุ้นเคยที่จะรู้
กายรวมใจ คือ รู้ภายในกายให้แจ่มชัด
- ไม่ต้องส่งใจออกนอกกาย ไม่ต้องคิดเรื่องใดๆ รู้อยู่เฉยๆ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
- ยังอยู่ที่ "กายกับใจ" รวมกัน ไม่มีความคิดอื่น อย่าฟุ้งซ่าน
๐ วิธีรวมกายรวมใจ คือ สำรวจตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
- "กาย"อยู่กับที่อยู่แล้ว แต่ "ใจ" ไม่นิ่ง ไม่อยู่กับที่ ก็ให้มันเชื่องลงโดยการอยู่ที่หัว อยู่ที่หน้าผาก จมูก ปาก คาง คอ ทรวงอก ไล่เรื่อยไปจนถึงอยู่ที่ลิ้นปี่ ช่องท้อง เหนือสะดือ ใต้สะดือ แยกไปที่หน้าขา ๒ ข้าง หัวเข่า ท่อนขาด้านบน ท่อนขาด้านล้าง ข้อเท้า ฝ่าเท้า
- อย่าอยู่ที่ใดที่หนึ่ง ไม่อย่างนั้น เวลาตามดูลม รู้ลม จะกลายเป็นว่าลมเดินไม่ถ้วน เพราะถ้าบังคับให้มันอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง จะกลายเป็นการเพ่งแล้วจะเครียด
๐ ออกเดิน
ลอง ใจพากาย ออกเดิน เดินแบบชนิดให้ กายกับใจ รวมกันอยู่
เดิน ประคองจิตไว้อย่าให้กระเพื่อม ให้ตั้งมั่นอยู่เฉพาะภายในกาย
- ไม่คิดอะไร ไม่วิตกอะไร ไม่กังวลใดๆ
- ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่สับสน ไม่สับส่าย
- มี "จิต" ตั้งอยู่ "รู้" เฉพาะภายในกาย ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ไม่ใช่จุดใดจุดหนึ่ง
- ทำประหนึ่งเหมือนผู้มีกำลัง เดินประคองหม้อน้ำมนต์ไว้บนหัว ไม่ให้น้ำมันหรือน้ำมนต์กระฉอก
๐ ยืนอยู่กับที่
จิตพากายมายืนอยู่กับที่อยู่ กายกับใจยังรวมกันอยู่
ลองสำรวจตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าให้ชัดเจน
จิต อยู่ที่กลางกระหม่อม
จิต อยู่ที่กะโหลกศีรษะ
จิต อยู่ที่ลำคอ
จิต อยู่ที่หัวไหล่-ไหปลาร้าทั้ง ๒ ด้าน
จิต อยู่ที่ท่อนแขนด้านบน ๒ ข้าง
จิต อยู่ที่ข้อศอก ๒ ข้าง
จิต อยู่ที่ท่อนแขนด้านล่าง ๒ ข้าง
จิต อยู่ที่ข้อมือ ๒ ข้าง
จิต อยู่ที่ฝ่ามือ ๒ ข้าง
จิต อยู่ที่นิ้วทั้ง ๑๐
ขยับจากนิ้วทั้ง ๑๐ มาอยู่ที่ฝ่ามือ ๒ ด้าน ตามมาที่ข้อมือ ท่อนแขน ๒ ข้าง ข้อศอก ๒ ข้าง ท่อนแขนด้านบน ๒ ข้าง หัวไหล่ ไหปลาร้า ๒ ข้าง สะบักไหล่ ๒ ข้าง
มารวมตัวที่สันหลังและกระดูกสันหลังตั้งแต่บนลงล่าง
ก้นกบและตะโพก ๒ ข้าง ขาพับ ๒ ข้าง น่อง ๒ ข้าง ข้อเท้า ๒ ข้าง ส้นเท้า ๒ ข้าง ฝ่าเท้า ๒ ข้าง นิ้วเท้าทั้ง ๑๐ หลังเท้า ๒ ข้าง ข้อเท้าและตาตุ่ม ๒ ข้าง หน้าแข้ง ๒ ข้าง หัวเข่า ๒ ข้าง ท่อนขาและหน้าขาด้านบน ๒ ข้าง
...
มารวมตัวที่ท้องน้อย
เอว ๒ ข้าง ช่องท้องใต้สะดือ ช่องท้องเหนือสะดือ ซี่โครงด้านหน้าซ้าย-ขวา ลิ้นปี่ ทรวงอก ไหปลาร้าด้านหน้าซ้าย-ขวา ลำคอด้านหน้า กรามซ้าย-ขวา คาง ริมฝีปากล่าง ริมฝีปากบน ใต้จมูก สันจมูก โหนกแก้มซ้าย-ขวา เบ้าตาซ้าย-ขวา โหนกคิ้วซ้าย-ขวา หน้าผาก กะโหลกศีรษะด้านหลัง
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
ไม่ได้ให้คิดเรื่องอื่น
ผ่อนคลายกาย
ผ่อนคลายใจ
ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ระบบประสาท
ผ่อนคลายข้อกระดูก เส้นเอ็น พังผืด
๐ นั่งลงด้วยความผ่อนคลาย
- ทุกอย่างผ่อนคลาย สมอง ระบบประสาทสัมผัสทั้งปวงทั้งหมด กล้ามเนื้อใบหน้า ข้อกระดูก กล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อสะบัก กล้ามเนื้อท่อนแขน เส้นเอ็นและพังผืด ทั้งหมดผ่อนคลาย
- ขณะที่ผ่อนคลาย กายรู้ใจ ใจรวมกาย ไม่มีวอกแวกไปทางอื่น
- ถ้าผ่อนคลายแล้วแวบออกไปทางอื่น แสดงว่า หลุดแล้ว
- อยู่กับความผ่อนคลายโดยไม่มีความคิดใดๆ เข้ามาแทรก
- สำรวจดูตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ตรงไหนขมึงทึงตึงเครียด โดยภาพรวมต้องผ่อนคลายตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
- ยังอยู่กับความผ่อนคลายให้นานที่สุด โดยไม่ปรากฏอาการถีนมิธะ ความง่วงเหงาหาวนอน
ปราณโอสถที่แท้จริง ยิ่งอยู่กับความผ่อนคลายได้นานเท่าไหร่
"ปราณ" สะอาดที่ไม่เร้าร้อนที่ไม่ทิ่มแทง ไม่เสียดแทงจะเกิดมากขึ้น
จึงจะเป็นปราณโอสถที่แท้จริง
ปราณที่เร้าร้อน เสียดแทง ทิ่มแทง นั่นไม่ใช่โอสถ
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓
อยู่กับลมหายใจ ขั้นนี้เรียกว่า รู้ลม
- ลมเข้าอยู่ "รู้"ว่าลมเข้า
- ลมออกอยู่ "รู้"ว่าลมออก
๐ ลุกขึ้นยืน กลับไปเริ่มนับ ๑ ใหม่
๐ กายรวมใจ
- ไล่อย่างที่สอน จิต ตั้งไว้ทีละจุดๆ
- ไล่ย้อนขึ้น-ย้อนลงๆ ให้ช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญจน "จิต"ตั้งมั่นอยู่ใน"กาย"โดยรวมทั้งหมด
- ไปทีละจุด ช้าๆ ขัดๆ ตั้งแต่กะโหลกศีรษะด้านบนลงไปจนถึงฝ่าเท้า ไปทีละเรื่อง ทีละข้อ ทีละส่วน
- แต่ละข้อ แต่ละอวัยวะ แต่ละส่วนให้ชัด เวลาจิตไปจับ "จิต"ไปอยู่ในตำแหน่งไหนต้องชัดในตำแหน่งนั้น อย่าคลุมเครือ
ครั้งแรกๆไม่ชัด ทำต่อไป..
ทำจนกระทั่งเห็นกระดูกศีรษะชัด ต้นคอชัด หัวไหล่ชัด บ่าชัด ไหปลาร้าชัด ท่อนแขนชัด ข้อศอกชัด ท่อนแขนด้านล่างชัด ข้อมือ ฝ่ามือ นิ้วมือ
ทุกอย่างชัดหมด
๐ ลองขยับขึ้นสู่ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลายด้วยตัวเอง ยังโงกง่วงอีกมั้ย
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓ รู้ลม
ลมเข้าอยู่ หรือลมออกอยู่
หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออก ภาวนาว่า สัตว์ทั่งปวงจงพ้นทุกข์
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน นั่งลง
.......
(กราบ)
วันนี้ ผลประกอบการไม่ค่อยดี ขาดทุน จะว่าขาดทุนก็ไม่เชิง จะเท่าทุนก็ไม่ใช่ ก้ำกึ่งๆ อาจจะเป็นเพราะโลภมากไป หวังมากไป อยากได้เกินไป จิตไม่อยู่ในทางสายกลาง คร่ำเคร่ง คร่ำเครียดมากไป เลยผลตอบรับไม่ค่อยสวย หลุดๆ ลุ่ยๆ ขาดๆ วิ่นๆ
เตรียมตัวแผ่เมตตา ถวายพระราชกุศล อะไรที่อยากมากไปจะไม่สำเร็จประโยชน์ เพราะอำนาจแห่งความอยากเข้าไปขวางกั้น การปฏิบัติธรรมเป็นอารมณ์ที่ละเอียดอ่อน เป็นสภาวธรรมที่ไปข่มเขาโคขืนให้กลืนหญ้า จะได้มายาก ยิ่งทุรนทุราย
๐ จิตนี้ ต้องเข้าใจมายาของมัน
หนักเกินไปก็ไม่ยอม ขู่เข็ญมากไปก็ต่อต้าน ปล่อยมากไปก็เหลิง ไม่อยู่ในอาณัติ ไม่อยู่ในโอวาท
ฉะนั้น ต้องพอดีๆ เรียกว่า ทางสายกลาง แต่ต้องเฝ้าระวัง
การจะรู้จัก เข้าใจจิตแสดงว่า เราต้องมีพลังมากพอ เหมือนกับนายโคบาลผู้เลี้ยงโค
- ถ้าไม่ฉลาดจะคุมโคไม่อยู่
- ถ้าโง่เขลา โคก็ฉุดกระชากลากถู ดีไม่ดีโดนโคขวิดตาย
จิตนี้คึกเหมือนดั่งโค ถ้าไม่รู้จักผ่อนคลายบ้าง ดึงเชือกให้ตึงบ้าง บางขณะถ้าอยากฟุ้งนัก เอ้า เห็นเหตุเกิดทุกข์ เห็นทางดับทุกข์ ข้อปฏิบัติของความดับทุกข์นั้นมีอยู่ในมรรควิถีทั้ง ๘ ประการ อย่างนี้เป็นต้น
ถ้าจิตลั้ลลา รื่นเริงมากไปก็ดึงให้สงบเสียบ้าง ด้วยกระบวนการจับมา
ภาวนา พิจารณา เจริญสมาธิ ต้องมีกุศโลบาย ต้องรู้จักจิต รู้จักมายาที่อยู่ในจิตของตัวเอง
ไม่มียาอะไรที่สำเร็จประโยชน์ได้ทุกโรค
กรรมฐานกองใดกองหนึ่งจัดการกับกิเลสสารพัดกองไม่ได้หมด
พระพุทธเจ้าจึงต้องทรงประทานกรรมฐานถึง ๔๐ กอง เอาไว้สำหรับกำหราบกิเลส บางคนใช้กองที่ ๓๘-๓๙ ยังไม่จบเลย ๔๐ก็ยังไม่จบ ต้องสองรอบเป็น ๘๐ ก็มี เพราะจิตนี้พอกพูน สั่งสมอบรมมาเป็นอสงไขย แต่ที่สั่งสมอบรมมาไม่ใช่บุญ ไม่ใช่กุศลกรรม คุณงามความดี เป็นอกุศลเสียส่วนใหญ่ไม่ใช่สุคติภพ เป็นทุคติเสียส่วนใหญ่
รู้ได้อย่างไร?
รู้จากวันทั้งวันเสพอารมณ์ สร้างภพสุคติ หรือทุคติ
ถ้าเมื่อใดวันใดที่เราระลึกได้ว่า นี่กูยังตกอยู่ในทุคติ เพราะอารมณ์จิตเสพไว้ สร้างทุคติภพอยู่ครึ่งวันแล้ว ครึ่งวันต่อไปนี้ กูจะพยายามทำสุคติ วันหนึ่งขยับขับเคลื่อนไปสูุ่สุคติบ้าง ก็ยังดีกว่าที่จะไปจมปลักอยู่ในทุคติ
สุคติ คืออะไร
ทุคติ คืออะไร
ทุคติ คือ จิตนี้มีอารมณ์
สุคติ คือ จิตนี้ไม่มีเจตสิก เครื่องปรุงใดๆ พูดง่ายๆ คือ ไม่มีอารมณ์
"อย่าทำอารมณ์ให้เป็นอะไรแล้วเราจะได้ไม่มีอาลัยในอารมณ์"
เคยอ่านหรือเปล่า ใครเขียน (หลวงปู่) สุดหล่อเขียน
กราบพระ
อะระหัง สัมมา...
ปุจฉา : ปฏิบัติ ปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ เกิดอาการเคร่งเครียด ขมึงทึงกลางกระหม่อม จึงทำขั้นที่ ๒ ผ่อนคลายไม่ได้ กรุณาชี้แนะ
วิสัชนา : ทำไมจะทำผ่อนคลาย ไม่ได้ ..
กายรวมใจ อย่าทำให้ใจหลุดออกจากกาย ไม่ต้องส่งความรู้สึกนึกคิดออกไปนอกกาย อยู่ภายในกายเฉยๆ จะอยู่ ตรงไหน ก็ได้ ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับกลางกระหม่อมอย่างเดียว อยู่ที่ฝ่าตีนก็ได้
อยู่ที่ฝ่ามือ ที่ปลายนิ้ว อยู่ที่หน้าท้อง ทรวงอก อยู่ที่กระดูกสันหลัง
กระโหลกศีรษะ อยู่ที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น อยู่ได้หมด ไม่จำเป็นจะต้องอยู่แต่กลางกระหม่อมอย่างเดียวแล้วไม่ขยับขยายเคลื่อน ถ้าอย่างนั้นก็ขมึงทึงตึงเครียด
กายกว้างศอกยาววาหนาคืบ ไม่ใช่แค่นิ้วเดียวอยู่ที่กลางกระหม่อมที่ไหน กายอยู่แค่กลางกระหม่อมหรือ ฉะนั้นทำผิดก็เลยได้ผลผิดๆ แบบนั้น
คำว่า กาย ไม่ใช่จุดใดจุดหนึ่ง
ส่วนกระบวนการผ่อนคลาย คือผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ระบบประสาทผ่อนคลาย ร่างกาย เส้นเอ็น ข้อกระดูก ทุกอย่างในร่างกายผ่อนคลายหมด ไม่ใช่ไปผ่อนคลาย ข้างนอก ผ่อนคลายในกาย รอบๆ กายทั้งภายในและภายนอก จบ (สาธุ)
ปุจฉา : ปฏิบัติปราณโอสถ ขั้นที่ ๓ รู้ลม เข้า-ออกที่จมูก และผิวหนังเคลื่อนเข้า-ออก ร้อน-เย็น เป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องหรือไม่่
วิสัชนา : "ลม"ไม่ได้เข้าแค่จมูก ทวารทั้งหลายในร่างกาย "ลม"สามารถ เข้าและออกได้เสมอ
จมูก ช่องปาก ช่องหู กระบอกตา แม้รูขุมขน ลมออกได้หมดและเข้าได้หมด
คนที่เรียนรู้ จนจิตรวมกายอย่างชัดเจน จะเห็นว่าอวัยวะที่เป็นท่อลมไม่ใช่มีแค่จมูกซ้าย-จมูกขวา มีไปทั่วสรรพางค์กาย ทั้งเบื้องบนและเบื้องล่าง
ถ้าตามดู รู้ชัดเบื้องต้นขั้นแรกๆ ก็ดูเฉพาะท่อใหญ่ ๆ
ท่อใหญ่ ๆ มีที่ไหน : ช่องจมูกกับช่องปาก นี่เขาเรียกท่อลมช่องใหญ่ๆ หรือท่อใหญ่ๆ
ส่วนตามรูขุมขน ผิวหนัง เป็นท่อย่อยๆ ท่อเล็กๆ ซึ่งว่ากันจริง ๆ แล้วมันมากกว่าลมที่ออกและเข้าจากท่อใหญ่ด้วยซ้ำ จบ (สาธุ)
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. (๒๕๖๖). ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถ ขั้นที่ ๑-๓ วิธีรวมกายรวมใจทีละจุด / ผ่อนคลาย คือ
ปราณโอสถที่แท้จริง ใน ปราณโอสถ: กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม,
(น.๒๑๗ - ๒๒๗). นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม ช่วงบ่าย เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ วันที่ ๒๘
กรกฎาคม ๒๕๖๕, สืบค้น เมษายน ๒๕๖๗ จาก https://www.facebook.com/issaradham/videos/760500141820649/