บทที่ ๓๔ ปฏิบัติธรรม “กายรวมใจ” จิตอยู่ในกาย มี “กาย” เป็นเครื่องหมายแห่งจิต
ปราณโอสถกายรวมใจกรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
ชื่อเรื่อง ปฏิบัติธรรม “กายรวมใจ” จิตอยู่ในกาย มี “กาย” เป็นเครื่องหมายแห่งจิต
แสดงธรรมวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย ณ.ศาลาปฏิบัติธรรม
สาระสังเขป
สอนปฏิบัติธรรมกายรวมใจ มีกายเป็นอารมณ์นิมิตของจิต การรักษาศีลต้องมีศรัทธา คนที่มีความอยากและไม่สันโดษ จะทำกายรวมใจยาก การถือศีล การปฏิบัติธรรม ถ้าทำเป็นอาจิณ เป็นประจำทำบ่อยๆ เท่ากับว่าเราเผาความอยาก สามารถชะลอความอยาก รู้จักคิดในมุมกลับ มีหลักธรรม เป็นหลักใจ เป็นหลักชัยของชีวิต มี “กาย” เป็นเครื่องหมายแห่งจิต รู้ พร้อมเฉพาะในกายตน
เนื้อหา
เตรียมปฏิบัติธรรม ลูก
มีกาย เป็นอารมณ์ของจิต
กายรวมใจ ใจรวมกาย กายเป็นนิมิตแห่งจิต
……..
รับศีลกันหมดหรือยัง มากันตั้งแต่เมื่อวาน ทำไมยังไม่รับอีก หรือเมื่อวานรับไปแล้ว รักษาได้วันก็มีอานิสงส์วัน รักษานาทีก็มีอานิสงส์นาที ที่จริงมาแล้วต้องเข้าไปหาพระ รับศีลเลยยังได้อานิสงส์เพิ่มพูนขึ้น
ศีล นี่เขารักษากันมีอานิสงส์เป็นนาที เป็นชั่วโมง เป็นวันนะ ไม่มีผลย้อนหลังมีแต่ผลเดินหน้า ทำได้ก็รีบทำ เราไม่รู้ว่าวันคืนล่วงไปๆ กาลเวลากัดกินสรรพสิ่ง กลืนกินชีวิตเรา เมื่อไหร่ที่ทำดีได้ ฉกฉวยรักษาไว้
ถ้ามี“ศรัทธา”อยู่ในใจ จะเร่งรีบ รวบรัด เรียบร้อย อย่างเหมาะสมกับสิ่งที่งดงามที่เราคิดว่าจะทำ และเป็นการทําให้เกิดความรุ่งเรือง เจริญไม่ล่าช้า ไม่เนิ่นช้า ฝึกบ่อยๆ เดี๋ยวก็มีปฏิภาณ ไหวพริบ รอบรู้สรรพสิ่งได้อย่างชัดเจน
------
๐ ทำกายให้เป็นอารมณ์ของจิต
จิตรวมกาย กายรวมจิต
จิต มี กาย เป็นนิมิต เครื่องหมายผูกจิต
อยากฝึก เจโตปริยญาณ มีฤทธิ์ทางใจ ต้องฝึกแบบนี้
อยากฝึก ปัญญาญาณวิมุตติ ก็ต้องฝึกแบบนี้
ส่วนจะเป็นฝ่าย เจโตวิมุตติ หรือปัญญาวิมุตติ ขึ้นอยู่กับอินทรีย์ทั้ง ๕ ที่อบรมมาแล้วแต่อดีต และอบรมในปัจจุบัน อันไหนจะมากจะน้อย จะนิดจะหน่อย เป็นข้อแยกแยะปลีกย่อยที่ทำให้เราได้คุณสมบัติแตกต่างกัน
…….
กาย รวม ใจ
ใจ รวม กาย
จิต อยู่ใน กาย
กาย เป็นเครื่องหมายของ จิต
……
คนที่มีชีวิตปกติที่มี“ความอยาก”อันมาก จะทำกายรวมใจได้ยาก
อยากในรูป อยากในรส อยากในกลิ่น อยากในเสียง อยากให้สัมผัส
เรียกว่า ไม่สันโดษ ไม่ยินดีในสิ่งที่พึงมีพึงได้
พวกนี้จะทำ กายรวมใจ ได้ยาก เพราะถึงคราวที่กายจะรวมใจ ไม่ยอมรวม โดนผลักดัน ผลักไส กระเสือกกระสน ทุรนทุราย ไปกับความอยาก ที่แฝงอยู่ข้างในและเป็นพลังขับเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา แม้ปัจจุบันก็ยังแสดงอาการ
เราต้องการให้มันหยุดอยาก และหยุดอยู่กับกาย มันก็ไม่ยอมหยุด ฉุดกระชากลากถูเราออกไปจากกาย นั่นเป็นเพราะว่าเราคุ้นเคยกับความอยากจนกลายเป็นวสี เป็นนิสัย เป็นความเคยชิน ฝังแน่นจนเป็น “อนุสัย” กี่ภาพกี่ชาติก็เอาแต่อยาก“อยาก”..อยาก“อยาก”อยู่อย่างนั้นแหละ
พอถึงเวลาที่จะให้มันหยุดอยู่กับกาย มันไม่ยอมหยุด เพราะในกายไม่มีอะไรให้อยาก ไม่มีอะไรให้เสพ
เอ้า อย่างนั้น เราจะบอกว่า ฝึก“ตัวรู้”ให้รู้เฉพาะในกาย
ปกติเราก็ไม่ชอบที่จะรู้อยู่แล้ว เราไม่ชอบที่จะเรียนรู้ ศึกษา เราไม่ชอบที่จะเป็นผู้รู้ เราไม่ชอบที่จะแสวงหาความรู้ แล้วไปฝึก “ตัวรู้” ยิ่งยากใหญ่
หน้าที่ของจิต คือ รู้ รับ จำ คิด เราก็ไม่รู้
พอไม่รู้ มีแต่ ตัวรับ กับ ตัวจำ.. รับ จำอะไรก็ รับ จำ ความอยากเก่าๆ เอาไว้ พอถึงเวลา ก็นำเอามา คิด ทีนี้ก็ว้าวุ่น จะพาเราทุรนทุรายออกไป นี่มันต่อเนื่อง เนืองๆ อยู่กับชีวิตประจำวันที่มี
การมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี่แหละ ทำให้เราอยู่ห่างไกลจากมรรคผล มรรคาปฎิปทา สัมมาทิฏฐิหนทางแห่งความชอบธรรมถูกต้อง
ดังนั้น ถ้าทุกวัน เรามีชีวิตอยู่อย่างผ่อนคลาย โปร่ง เบา สบาย “อยาก”ให้น้อย ดำรงชีวิตอยู่แบบเรียบง่าย สันโดษ ยินดีในสิ่งที่พึงมีพึงได้อย่างเหมาะสม ทีนี้พอเราคิดจะมาให้ กายรวมกับใจ ก็ไม่มีตัวอยากอะไรมาฉุดกระชากเราได้ จะมาอาศัยว่า จะรอเวลามาวัด แล้วมา หยุดอยาก …ไม่ใช่ ไม่ได้ สายแล้ว หมดเวลา
จะมีเวลาสักกี่นาที กี่ชั่วโมง ต่อ ๑ วันที่จะมาทำให้ความอยากหยุด แล้วมีจิตรู้ชัด
ที่เหลือนอกนั้น เป็นเวลาของอะไร..ของความ อยากโต อยากได้ อยากสบาย อยากดี อยากมี อยากเด่น แต่ไม่อยากอยาก ไม่อยากตาย ..ลำบากล่ะ แต่ก็ไม่เหลือบ่ากว่าแรงที่จะฝึก
ถ้ามีวันนี้ ก็ต่อไปถึงวันพรุ่งนี้ได้ แต่ถ้าไม่มีวันนี้ ก็ไม่มีวันไหน ๆ เลย อย่างนั้นก็อย่าไปหยุด
ต้องมีความเพียรต่อเนื่อง เชื่อมั่น ตั้งมั่น
…..
๐ เนกขัมฯ เป็นเครื่องเผาผลาญศัตรูของมรรคาปฏิปทา
นี่แหละ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า เนกขัมฯ เป็นเครื่องเผาผลาญศัตรูของมรรคาปฏิปทา
การถือบวช การบวชเนกขัมมะ การถือศีล การปฏิบัติธรรม ถ้าทำเป็นอาจิณ เป็นประจำทำบ่อยๆ เท่ากับว่าเราเผาความอยาก สามารถชะลอความอยาก ให้ความอยากอ่อนแรงได้
พอถึงคราว เราจะเอากายมารวมใจ ใจมารวมกายก็ง่าย แต่ต้องเผาบ่อยๆ สำรอก บ่อยๆ ชำระบ่อยๆ ล้างบ่อยๆ ไม่ใช่นานๆ ทำที มีเวลา ทำทุกวันๆ วันละนิด วันละหน่อย วันละน้อย
จิตหนึ่งบอก ไปดูเขาหน่อย งานรื่นเริง
อีกจิตบอก ไปทำไม เหนื่อย ลำบากลำบน ไม่มีประโยชน์อะไร แค่รู้ว่ามันเล่นอะไร สนุกยังไง แล้วเราจะได้อะไรกลับมา ก็หยุดอยากไปได้
คิดให้ได้อย่างนี้ เขาเรียกว่า ผู้เริ่มตั้งไข่สัมมาทิฏฐิ
วันนี้ เพื่อนชวนไปดูหนัง ฟังเพลง ช็อปปิ้ง เที่ยว ไม่เห็นมีสาระอะไร เดี๋ยวกลับมาก็อยู่ปัญหาเดิม ๆ ชีวิตเดิม ๆ…ลอยกระทงแล้วไง กูก็ยังเหมือนเดิม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แก่กว่าเดิมอีก …แก่เพิ่มขึ้น แล้วไงต่อ ไม่ได้อะไรกลับมา ..เฉลิมฉลองแล้วไง
๐ รู้จักคิดในมุมกลับ มีหลักธรรม เป็นหลักใจ เป็นหลักชัยของชีวิต
ธรรมของพระพุทธเจ้า จึงเรียกว่า ธรรมทวนกระแส เป็นธรรมะที่ทวนกระแส ไม่ใช่ตามกระแสโบราณเขาสอนว่า น้ำเชี่ยว อย่าเอาเรือไปขวาง นั่นก็ถูก แต่ถ้าเราใช้ “ธรรมขวาง” ไม่มีปัญหา คนอื่นไม่รอด เรารอด
อย่าไปไหลตามน้ำ เขาเที่ยว เราต้องเที่ยวตามเขา เขาเมามัน เราต้องเมามันตามเขา
เขาสนุก เราต้องสนุกตามเขา อย่างนั้น เราจะไม่รอดเหมือนเขา
การปฏิบัติธรรมของหนึ่งชีวิต ที่กร้านกรำมากับประสบการณ์ที่เรายืนหยัด ลุก นั่ง เดิน อยู่กับสารพัดสารพันปัญหา แต่ตั้งมั่นอยู่ได้ ไม่เพลี่ยงพล้ำ ไม่พ่ายแพ้ ไม่โยกโคน ไม่สั่นคลอน ไม่โอนเอน เพราะว่า เรามีหลัก หลักธรรม เป็นหลักใจ เป็นหลักชัยของชีวิต
ทีนี้จะพัฒนาให้สูงขึ้น มากขึ้น รุ่งเรืองขึ้นก็ด้วยการปฏิบัติธรรม การปฏิบัติธรรม ถือเนกขัมมะ เป็นบททดสอบของชีวิตที่ผ่านมา เรามีสาระ หรือไร้สาระ ปฏิบัติธรรมแล้วเห็นผลง่าย แสดงว่าชีวิตที่ผ่านมาเรามีสาระ
ปฏิบัติธรรมแล้วเห็นผลยากเหลือเกิน แสดงว่าชีวิตเรานี่โหลยโท่ยมาก ไม่มีสาระอะไรเลย เลอะเทอะ
พอถึงคราวที่จะให้มีสาระทำยาก เห็นสาระลำบาก นี่เป็นเครื่องทดสอบชีวิตได้เหมือนกัน เป็นกร๊าฟที่จะบ่งบอกได้ว่า ชีวิตของเราที่ผ่านมาเลอะเทอะ ไร้สาระ หรือมีสาระ
ไม่ใช่อยู่ที่พ่อแม่ ครูบาอาจารย์วิเศษ อยู่ที่ตัวเราที่วิเศษ หรือเป็นแค่เศษ ๆ
วันทั้งวัน คร่ำหวอด จมปลักอยู่กับตัณหา ความทะยานอยาก.. อุปาทาน ความยึดถือ แล้วจะเอาเวลาไม่กี่นาทีมาเปลื้อง ไม่ง่ายขนาดนั้น แต่ต้องทำ อย่างที่บอก มีวันนี้ ถึงมีวันพรุ่งนี้ ถ้าวันนี้ไม่ทำ พรุ่งนี้ก็ไม่มี
แต่ต้องพยายาม ทีนี้ ต้องมาใช้คำว่า อดทน อดกลั้น ขันติ คือความอดกลั้น
วิริเยน ทุกขมัจเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
ต้องมาปลุกเร้าศรัทธา ความเพียร ให้ฟื้นฟูขึ้นมา
…..
๐ มี “กาย” เป็นเครื่องหมายแห่งจิต
เป็นที่อยู่แห่งจิต เป็นอารมณ์ของจิต เป็นนิมิตแห่งจิต
-หลับตา เห็นกาย ลืมตา เห็นกาย
-มองอยู่ ดู รู้อยู่ภายในกาย
-ทำ “ตัวรู้” ให้แจ่มขัดภายในกาย
-ไม่ต้องรับ ไม่ต้องจำ
-คิด แล้ว รู้ อยู่เฉพาะภายในกายตน
ลืมตา หลับตา ยืนอยู่ เดินอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ เห็น กาย ปรากฏชัดเจน เท่านั้นแหละ เป็นประตูบานแรกของการเข้าไปสู่คำว่า เจโตวิมุตติ และปัญญาวิมุตติ
อยากเล่นฤทธิ์ อยากมีฤทธิ์ มีเดช มีอำนาจ ก็เริ่มต้นจากตรงนี้
อยากมีสติ มีปัญญา มีความรู้ ความชาญฉลาดสามารถ ก็เริ่มต้นจากตรงนี้
.......
๐ เดิน อย่างมีสติตั้งมั่นในกาย
เมื่อจิตกับกาย รวมกัน กลายเป็นนิมิตของจิต จิตอาศัยอยู่ในกายอย่างตั้งมั่น
ลองพาจิตนี้ เดิน ดู ดูซิว่า จะหลุดมั้ย
-เดิน ก็ รูั อยู่ภายในกาย
-จิต รูั อยู่เฉพาะภายในกาย
-ไม่มีอารมณ์อื่นปรากฏ
-รู้ ภายในกายเฉย ๆ
……
ยืน ก็รู้ในกาย
นั่ง ก็รู้ในกาย
เดิน ก็รู้ในกาย
นอน ก็รู้ในกาย
แล้วทุกข์ จะเข้ามาได้อย่างไร ทุกข์ จะเข้ามาบีบคั้นเราได้จากตรงไหน
เพราะเราปิดประตู หน้าต่างหมดแล้ว
๐ รู้ พร้อมเฉพาะในกายตน
เราพร้อมตั้งรับ
รู้ อยู่เฉพาะภายในกายตน
ทุกข์ ซึ่งเป็นแขกแปลกหน้า จะแฝงเข้ามากับสิ่งที่ชอบ
ความชอบ จะมาจากตรงไหน เมื่อเรา รู้ อยู่เฉพาะภายในกาย
ชั่วชีวิตเรา ก็ไม่ได้ชอบกายนี้เท่าไหร่ เพราะถ้าชอบ เราก็คงจะรู้จริง รู้ชัดแจ้ง เราดันไปชอบเรื่องนอกกายเสียส่วนใหญ่
พอมาอยู่กับ“กาย“ ตัณหา ความอยาก จะน้อยลง อุปาทาน จะน้อย
เหลือแต่สติปัญญา ตัวรู้ วิจัย วิจารณ์ พินิจ พิจารณา
เหมือนกับคนอยู่นอกบ้าน อันตราย พอกลับเข้าบ้านก็ปลอดภัย
อยู่นอกบ้าน ฝุ่นเยอะ ธุลีปลิวไปทั่ว เข้าบ้าน ปิดประตู หน้าต่าง ก็จบ
ธุลีก็น้อยลง ฝุ่นเข้ามาน้อยลง เราก็ปลอดภัย
…..
๐ เดิน รู้อยู่ภายในกาย
ไม่ใช่เดินแต่ซาก แล้วใจลอยไปไหนก็ไม่รู้
บอกแล้วว่า กายรวมใจ ใจรวมกาย
ใจ มีกายเป็นนิมิต เครื่องหมาย
ใจ ตั้งมั่นอยู่ภายในกาย เป็นประตูบานแรกที่จะเปิดเข้าไปสู่ เจโตปริยญาณ หรือปัญญาวิมุตติดังนั้น ต้องเปิดประตูบานแรกของเราให้ได้ด้วยตัวของเราเอง
……
๐ กลับเข้ามายืนอยู่กับที่
ยังอยู่ใน กาย
สังเกตดู จากเดิน เข้ามาหยุด ยืนอยู่กับที่ จิตกับกาย ยังรวมกันอยู่มั้ย หรือหลุดออกไปแล้ว
#สิ่งที่ต้องสังเกตต่อมา คือ
จิตมีสมดุลมั้ย กระเพื่อมมั้ย ว้าวุ่น ทุรนทุราย สับส่าย กลอกกลิ้ง กระเสือกกระสน เร่าร้อน
หรือ นิ่ง เฉย สงบ รักษาสมดุล มีแต่ ตัวรู้ ชัด
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน แล้วลงนั่ง เตรียมตัวแผ่เมตตา
…..
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. (๒๕๖๖). ปฏิบัติธรรม “กายรวมใจ” จิตอยู่ในกาย มี “กาย” เป็นเครื่องหมายแห่งจิต
ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๓๑๒ - ๓๒๐). นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ปฏิบัติธรรม ช่วงบ่าย ๓ ธันวาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๑๑ ธันวาคม
๒๕๖๗ จาก
https://www.youtube.com/watch?v=hWE2 VvVLekc