บทที่ ๓๐ ปฏิบัติธรรม กายรวมใจ เมื่อใดที่น้ำรวมกันเป็นสายเดียวกัน ก็สามารถทะลุทะลวงได้แม้แต่ภูเขา
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
ชื่อเรื่อง ปฏิบัติธรรม กายรวมใจ เมื่อใดที่น้ำรวมกันเป็นสายเดียวกัน ก็สามารถทะลุทะลวงได้แม้แต่ภูเขา
แสดงธรรมวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย ณ ศาลาปฏิบัติธรรม
สาระสังเขป
ฝึกปราณโอสถขั้นที่ ๑ กายรวมใจ กายรวมใจ เป็นปฐมบทของกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ความสำเร็จในการดำเนินชีวิต เพราะมันคือการรวมพลังทั้งกายและใจที่จะพุ่งไปข้างหน้าด้วยความหวัง ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน พา”กายรวมใจ”ออกเดิน รวม (กายกับใจ) ได้ทั้ง ยืน เดิน นั่ง และนอน ขยับเข้า ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
เดินด้วยความผ่อนคลาย กายรวมใจ แล้วก็ผ่อนคลาย ทุกอย่างในร่างกายผ่อนคลายหมด ผ่อนคลายอย่างรู้อยู่ว่า กำลังผ่อนคลาย แม้ที่สุด ผ่อนคลายอารมณ์ ผ่อนคลายอย่างรู้ความเป็นไปของธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย ขั้นที่ ๓ รู้ลมหายใจ ทิ้งผ่อนคลาย เดินอยู่ก็หายใจอยู่ หายใจเข้า หรือหายใจออก ก็รู้ ถอยกลับลงมาอยู่ใน
ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย ทิ้งลมหายใจ แล้วผ่อนคลาย ยืนอยู่กับที่
คำสำคัญ
กายาสุปัสสนาสติปัฏฐาน, ปราณโอสถ
(กราบ)
๐ กายรวมใจ
กายรวมใจ เป็นปฐมบทของกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ถ้าเมื่อใดที่กายไม่สามารถรวมกับจิตใจได้ อย่าหวังเลยว่า จะไปเอาสมาธิ เอาสมาบัติ เอาฌาน ปฏิบัติกรรมฐานกองใดๆ ก็ไม่รอด ทำไม่ได้ ไปไม่เป็น ไม่สำเร็จประโยชน์ แล้วเวลาทำให้กายรวมใจอย่างเนิ่นช้า ใช้เวลานานกว่ามันจะรวมกัน ต้องฉับพลันทันที ทำจนเป็นวสี ให้ช่ำชอง ชำนาญ เข้า-ออกให้ชัดเจน แม่นยำ ถึงคราวมีปัญหา มีอุปสรรค มีเหตุการณ์อะไรเข้ามาบีบคั้น มันไม่ได้ส่งสัญญาณเตือนเรา มันว็อบแว็บๆ เขาบอกว่า เสี้ยวนาทีของชีวิต ถ้าเรายังเนิ่นช้า ลังเล ล้าหลัง ชักช้า ยืดยาด ตายก่อน บางทียังไม่ทันได้รวมเลย เพราะงั้น ต้องฝึกให้ช่ำชอง ให้เชี่ยวชาญ ให้ชำนาญ ให้”กายกับใจ” ตั้งมั่นได้ชัดเจน และเป็นปฐมบทของความสำเร็จในการดำเนินชีวิต เพราะมันคือการรวมพลังทั้งกายและใจที่จะพุ่งไปข้างหน้าด้วยความหวัง ด้วยเป้าหมายที่ชัดเจน
เหมือนกับคนที่อ่อนแรง จะไปทำอะไรได้ เหมือนน้ำที่ไปตั้งหลายสาย ไม่มีแรงจะผลักดันหินผา และทำลายสิ่งกีดขวางข้างหน้า
แต่ถ้าเมื่อใดที่น้ำรวมกันเป็นสายเดียวกัน ก็สามารถทะลุทะลวงได้แม้แต่ภูเขา
เช่นเดียวกันกายกับใจเมื่อรวมกัน ก็เป็นพลังมหาศาล สามารถทะลุทะลวง ทำลายสิ่งกีดขวางได้ เรียกว่า อานุภาพแห่งจิต หรือ จิตตานุภาพ
กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ เข้าสู่กระบวนการศักดิ์สิทธิ์ทั้ง ๓ ได้ เรียกว่า กายศักดิ์สิทธิ์ จิตศักดิ์สิทธิ์ พร้อมปฏิบัติธรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ แปลว่าสำเร็จประโยชน์
และทำได้ทุกเวลา กายรวมใจ ไม่ต้องรอเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือ เวลาเฉพาะอยู่วัด
อยู่บ้านก็ทำได้ นั่งบนรถ รถติด ฝนตก ติดไฟแดง ขณะขับรถ ทำได้หมด
แรกๆ เราอาจจะรู้สึกว่า เป็นภาระ เวลาจะทำกายรวมใจ ต้องทำจนถึงขั้นว่า เราไม่รู้สึกเป็นภาระเวลาที่จะทำให้กายกับใจรวมกัน เรารู้สึกว่าเป็นความเคยชิน คุ้นเคย เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีปรกติที่กายรวมกับใจเสมอๆ ท่านเปรียบเอาไว้เหมือนกับเนื้อทราย กวาง เก้ง เนื้อสมัน ที่มีความระมัดระวัง หวาดระแวง และตั้งอยู่ในความไม่ประมาทในเภทภัยทั้งปวง พวกนี้จะไวมาก หู - ตาจะตื่น จมูกจะไว ความสัมผัสรอบกายจะเร็ว ต้องมีอาการประมาณนั้น มีกายรวมใจ จะว่องไวมาก ไวในการเคลื่อนไหวของธาตุทั้ง ๔ ทั้งภายนอกกายและภายในกายด้วย รวมไปถึงการควบคุมธาตุได้สมบูรณ์ทั้งภายนอกและภายในกาย
ต้องให้ไวขนาดนั้น
…..
๐ ลองพา”กายรวมใจ”ออกเดิน ดูซิยังรวมอยู่มั้ย
อย่ารวมเฉพาะแค่อยู่เฉย ๆ แล้วรวม แต่เคลื่อนไหวแล้วไม่รวม ต้องฝึกให้ได้ ขณะที่อยู่เฉยก็รวม เคลื่อนไหวก็รวม
ยังรวมอยู่
รวม (กายกับใจ) ได้ทั้ง ยืน เดิน นั่ง และนอน
…..
๐ ขยับเข้า ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
เดินด้วยความผ่อนคลาย กายรวมใจ แล้วก็ผ่อนคลาย
-ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ข้อต่อ เส้นเอ็น พังผืด
-ผ่อนคลายกระดูก
-ผ่อนคลายแขนขา
-ผ่อนคลายระบบประสาท
-ทุกอย่างในร่างกายผ่อนคลายหมด
-ผ่อนคลายอย่างรู้อยู่ว่า กำลังผ่อนคลาย
แม้ที่สุด ผ่อนคลายอารมณ์
ผ่อนคลายอย่างรู้ความเป็นไปของธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย
รู้ว่า ดินมีอยู่
รู้ว่า น้ำมีอยู่
รู้ว่า ลมมีอยู่
รู้ว่า ไฟมีอยู่
รู้ความเป็นไปของธาตุทั้ง ๔ ที่อยู่ภายในกายว่า
สงบอยู่ หรือพลุ่งพล่านอยู่
สมดุลอยู่ หรือเสียสมดุลอยู่
แน่นขนัด ขัดเคืองอยู่ หรือ สงบอยู่ ผ่อนคลายอยู่
……
๐ อยู่ในกาย ด้วยความผ่อนคลาย
ไม่ใช่ออกมานอกกายแล้วผ่อนคลาย ออกมานอกกายแล้วอันตราย
ทำความเข้าใจให้ชัด
อยู่ในกาย ผ่อนคลายอย่างปลอดภัย
อะไรล่ะอยู่ในกาย คือใจไง ใจหรือจิตที่อยู่ในกายอย่างผ่อนคลาย แล้วไม่อันตราย
ถ้าหลุดออกไปนอกกายเมื่อไหร่ อันตรายทันที
ธาตุทั้ง ๔ในกายก็เสียสมดุล เพราะขาดผู้ควบคุม
ดินคุมน้ำ น้ำคุมดิน
ลมคุมน้ำ น้ำคุมลม
ไฟคุมลม ลมคุมไฟ
ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ มีจิตเป็นผู้ควบคุม
เมื่อจิตออกไปบ่อยๆ ออกไปนอกกายเรื่อย ๆ ดิน น้ำ ลม ไฟ เสียผู้ควบคุม ก็เกิดความเสียสมดุล เรื่องง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เหมือนกับคำกล่าวที่ว่า แมวไม่อยู่ หนูร่าเริง
ที่จริง เขามาใช้กับการที่จิตคุมธาตุ หนู เปรียบเหมือนธาตุ…หนูดิน หนูน้ำ หนูลม หนูไฟ
แมว คือ จิต พอแมวไม่อยู่ หนูก็ร่าเริง แตกกระสานซ่านเซ็น ทำงานไม่เป็นหนึ่ง เสียสมดุล ไม่รับผิดชอบหน้าที่
…..
ยิ่งจิตอยู่ในกายมากเท่าไหร่ นานเท่าไหร่ ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็มีสมดุลมากเท่านั้นดิน น้ำ ลม ไฟ เมื่อเกิดสมดุล ภูมิคุ้มกันโรคภัยไข้เจ็บในร่างกายก็เพิ่มพูนมากขึ้น
…....
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓ รู้ลมหายใจ ทิ้งผ่อนคลาย
เดินอยู่ก็หายใจอยู่ หายใจเข้า หรือหายใจออก ก็รู้
เดินไปด้วย รู้ลมหายใจไปด้วย
ต้องฝึกให้ได้ บอกแล้วว่า กรรมฐาน มีทั้งภายในและภายนอก
จิตจับอยู่ที่ปลายจมูก
รู้ลมที่เข้าอยู่ รู้ลมที่กำลังออกไป
ขณะที่ก้าวเดิน ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้
…..
รู้ลม แล้วสำเหนียกด้วยว่า ระหว่าง
ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ
ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
ขั้นที่ ๓ รู้ลม
อันไหนหนักสุด อันไหนเป็นภาระของจิต
…….
รู้ลมว่า เข้าอยู่ รู้ลมว่า ออกอยู่ พร้อมก้าวเดิน
….
ถอยกลับลงมาอยู่ใน
๐ ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย ทิ้งลมหายใจ แล้วผ่อนคลาย ยืนอยู่กับที่
ผ่อนคลายทุกโสตประสาท…กล้ามเนื้อสมอง ระบบประสาทในสมอง กะโหลกศีรษะ หน้าผาก กล้ามเนื้อใบหน้า ลำคอ ต้นคอ บ่า หัวไหล่ ท่อนแขน(ด้านบน) ท่อนแขนด้านล่าง ฝ่ามือ นิ้วมือ ลำตัว กระดูกสันหลัง กล้ามเนื้อหลัง ตะโพก ท่อนขาด้านบน ท่อนขาด้านล่าง ฝ่าเท้า นิ้วเท้า หลังเท้า ทุกอย่างผ่อนคลายหมด เส้นเอ็น พังผืดที่ยึดต่อข้อกระดูกทุกข้อผ่อนคลาย
ธาตุดินผ่อนคลาย
ธาตุน้ำผ่อนคลาย.. น้ำเลือด น้ำหนอง น้ำเสลด น้ำลาย น้ำมูตรน้ำคูต น้ำทั้งหลายที่อยู่ในร่างกาย ไม่พลุ่งพล่าน ความดันเลือดไม่รุนแรง เส้นเลือดจะได้ไม่โป่งพอง
ลมในร่างกายผ่อนคลาย…ลมขึ้นเบื้องบน ลมลงเบื้องล่าง ลมที่มวลหมุนอยู่ในช่องท้อง ในลำไส้ ผ่อนคลายหมด
รวมไปถึงผ่อนคลายธาตุไฟ
ไฟที่เผาลนให้ร่างกายเร้าร้อน กำเริบ เศร้าหมอง เสื่อมโทรม ก็ผ่อนคลาย
ไฟที่ช่วยย่อยอาหาร ผ่อนคลาย
ธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย ผ่อนคลายหมด
……
๐ ทีนี้ ลองใช้ใจแผ่เมตตา กรวดน้ำให้บรรพบุรุษ
…….
เปลี่ยนมาเป็นใช้ ใจแผ่เมตตา
แล้วดูข้อแตกต่างระหว่างใช้ สมองแผ่เมตตา กับใช้ใจแผ่เมตตา ต่างกันอย่างไร
หาคำตอบได้ด้วยตัวเอง อย่ามัวไปถามแต่คนอื่น
ถามคนอื่น เป็นสัญญา หาคำตอบให้ตัวเอง เป็นปัญญา
เรียกว่า แผ่เมตตาในใจ ให้กับบรรพบุรุษ
……
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน แล้วเข้าที่
…….
(กราบ)
--------------------
สรุปหลังการปฏิบัติธรรม
๐ เห็นการทำงานของสมองแตกต่างกับการทำงานของจิต ชัดเจนขึ้นไหม
ฝึกอย่างนี้ทุกวัน บ่อยๆ ทุกครั้ง จะได้รู้จักว่าสมองทำงานอย่างไร แตกต่างจากเวลาจิตทำงานอย่างไร เวลาทำงาน ถ้าทำงานด้วยสมอง จะได้ศักยภาพของกาย แต่ถ้าทำงานด้วยจิต จะได้ความสมบูรณ์ของทั้งกายและจิต ของอารมณ์
ทำความรู้จักหน้าตาแท้จริงของจิต ว่าเวลาจิตทำงาน ทำงานอย่างไร เวลาจิตทำงาน มีคนอื่นเข้ามาเกาะเกี่ยวได้ไหม ไม่ได้ ไม่มีสิ่งอื่น ชีวิตอื่น สัตว์อื่น บุคคลอื่นๆ หรือวัตถุธาตุอื่นๆ เข้ามาเกาะเกี่ยวเลย เป็นเอกัคตตาจิต เป็นจิตเดียวที่ทำงาน
ซึ่งแตกต่างจากสมองทำงาน อะไรที่บรรจุเอาไว้ในสมอง ข้อมูล ความทรงจำทั้งหลายที่สมองเก็บเอาไว้ จะร่วมกันทำ จะทำให้ประสาทสัมผัสต่างๆ ในร่างกาย ตื่นตัว ตื่นตา ตื่นใจ ทำไปกับมันด้วย ไม่ใช่ทำเฉพาะอย่างเดียว
แต่ถ้าเมื่อใดจิตทำงาน จิตมีเอกสิทธิ์ และเอกภาพในการทำงานด้วยตัวมันเอง
มีกายภาพ ศักยภาพ อานุภาพ และสำเร็จได้ด้วยจิต จิตจึงจะทำงานแม้ทำหนักขนาดไหน ก็เบากว่าสมองทำ ซึ่งจะแตกต่างจากสมองที่ทำงาน ไม่ได้ทำได้คนเดียว ต้องมีองค์ประกอบหลากหลายร่วมกับมันถึงทำงานได้ ถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปสมองทำงานไม่ได้อีก และองค์ประกอบเหล่านั้น คือ อะไร คือ ระบบประสาททั้งหลายที่อยู่ในกล้ามเนื้อสมอง ที่แยกเป็นได้ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ
ซึ่งแตกต่างจากเวลาจิตทำงาน เวลาจิตทำงาน มี ๔ สิ่งเท่านั้นที่ทำหน้าที่ คือ รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ และคิดในอารมณ์ ขณะที่คิดในอารมณ์ ..รับ จำ รู้ ไม่ปรากฎ
ขณะที่รู้ในอารมณ์อยู่.. คิด จำ รับ ไม่ปรากฎ
เพราะฉะนั้น จิตทำงาน จึงเบากว่าสมองทำงาน
นี่คือข้อแตกต่างที่จะต้องแยกแยะให้รู้ชัด
๐ ผู้ฝึกจิต ต้องรู้และฉลาดในจิต
คนฉลาดในจิต คือผู้ฉลาดในโลก
คนโง่ในจิต จะโง่ทุกเรื่องในโลก
ดังนั้น กระบวนการของจิตเป็นพลังงาน มีอานุภาพยิ่งใหญ่ มากมายมหาศาลยิ่งกว่า นิวตรอน โปรตอน อะตอมอีก นิวตรอน โปรตอน อะตอม ก็ค้นคว้าได้ด้วยอำนาจแห่งจิตที่กระตุ้นสมองให้ทำงาน ฉะนั้น กระบวนการสันดาปทั้งหลาย จิตรู้ดีมากกว่าสมอง มากกว่าสิ่งอื่นๆ เพราะเป็นผู้ควบคุม ดั่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า
“มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา - การทั้งหลาย มีใจเป็นนาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า ทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยใจ”
การทั้งหลาย หมายถึง การทั้งหลายที่ทำจากกายและจิต แม้เราบอกว่า สมองทำงาน และทำงานด้วยสมอง แต่สุดท้ายไม่วายที่จะสรุปรวมตรงที่จิตเป็นผู้สั่งอยู่ดี จิตสั่ง แต่ไม่ใช่จิตคุม เพราะสมองคุม แต่เมื่อใดที่จิตทำงาน มันทั้งทำงาน ทั้งคุม แต่ไม่ต้องสั่ง เหตุผลเพราะ มันเป็นผู้กระทำเอง ภาระของจิตเลยน้อยลง แต่ถ้าเมื่อใดต้องใช้คำว่า จิตสั่งการ นั่นแสดงว่า สั่งการอะไร สั่งกับใคร ใครเป็นผู้รับคำสั่ง นั่นก็อีกเรื่องหนึ่งอีก สั่งให้มือทำ สั่งให้ปากทำ หรือ สั่งให้ตีนทำ หรือสมองทำ คนที่เป็นอัมพฤกษ์อัมพาต เห็นชัดเลยว่าจิตเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาตด้วยไหม ไม่ พิการที่ไหน ที่สมอง พิการที่สมอง จึงพิการกาย แต่จิตพิการได้ด้วยไหม ไม่ได้ จิตพิการไม่ได้ เพราะจิตพิการไม่ได้นี่แหละ คนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ถึงทุกข์ไง เพราะอะไร จิตอยากไป แต่สมองไม่พาไป เลยทุกข์ไง นี่ก็ชี้ให้เห็นว่า จิตกับกาย แยกกันได้ แยกกระบวนการทำงานกันได้ แต่เราคุ้นเคยที่จะใช้สมองทำมาตลอด เราเลยไม่รู้ว่า จิตทำงานได้
จิตทำงานได้ และยังสามารถคุมกายและธาตุทั้ง ๔ ภายในกายได้ด้วย
แต่เราไม่เคยใช้จิตคุมเลย ไม่ใช้จิตคุมยังไม่พอ ยังปล่อยให้มีเสรีภาพในการทำงาน โดยปล่อยให้จิตตะลอนออกไปข้างนอก ทั้งที่แท้จริงแล้ว จิตมีหน้าที่ควบคุมธาตุทั้ง ๔ ภายในกายให้เกิดสมดุล แต่เราไม่พยายามคุมมัน ปล่อยให้มันเป็นอิสระ คนโบราณจึงมีคำกล่าวว่า แมวไม่อยู่ หนูจึงร่าเริง
พอหนูร่าเริง แล้วอะไรเกิดขึ้น ของเสียก็ตามมา… พลุ่งพล่าน วุ่นวาย ว้าวุ่น สับสน ทุรนทุราย อะไรพลุ่งพล่าน อะไรว้าวุ่น อะไรวุ่นวาย อะไรสับสน อะไรทุรนทุราย
ก็ธาตุทั้ง ๔ ภายในกายที่เปรียบประดุจดั่งหนูน้ำ หนูดิน หนูลม หนูไฟ นั่นแหละ มันว้าวุ่น พลุ่งพล่าน วุ่นวาย สับสน ทุรนทุราย เพราะขาดแมวควบคุม แล้วแมวไปไหน? ออกไปเที่ยว
เขามีคำกล่าวว่า แมวไปเที่ยว เดี๋ยวก็มา เมี๊ยวๆ แล้วเมื่อไหร่แมวจะมา? แมวตายห่าไปแล้ว อีแมวตายแล้ว ไปเหอะ กูปวดเยี่ยว อีแมวเอ๊ย
(สาธุ)
(กราบ)
แหล่งข้อมูล
หลววงปู่พุทธะอิสระ. (๒๕๖๗). ปฏิบัติธรรม กายรวมใจ เมื่อใดที่น้ำรวมกันเป็นสายเดียวกัน ก็สามารถ
ทะลุทะลวงได้แม้แต่ภูเขา ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๒๘๔ - ๒๙๑). นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม ช่วงบ่าย วันคล้ายวันสวรรคต ร.๙ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๘
สิงหาคม ๒๕๖๗ จาก https://www.youtube.com/watch?v=6lfLcfBrQK0