บทที่ ๓๒ ปฏิบัติธรรม กายที่รวมใจ ใจที่อยู่ในกาย เป็นเบื้องต้นความหมายของ “กายศักดิ์สิทธิ์”
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
ชื่อเรื่อง ปฏิบัติธรรม กายที่รวมใจ ใจที่อยู่ในกาย เป็นเบื้องต้นความหมายของ “กายศักดิ์สิทธิ์”
แสดงธรรมวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖ ศาลาปฏิบัติธรรม
--------
สาระสังเขป
สอนปฏิบัติธรรม กิจเบื้องต้นคือ ให้กายรวมใจ กระบวนการกายรวมใจอย่างตั้งมั่น ทำให้ธาตุรู้ปรากฏ ทำให้สามารถบริหารจัดการกายได้ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ เป็นหัวใจหลักในกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ไม่ว่าจะเป็นสมถะ หรือวิปัสสนา เป็นเบื้องต้น พื้นฐานที่จะพัฒนาเข้าไปสู่คำว่า ผ่อนคลาย เริ่มจากการรู้ภายในกายตน และสามารถพัฒนาไปถึงการรู้ธาตุภายในกายตน ทั้งธาตุดินน้ำลมไฟ
-------------
เนื้อหา
ลุกขึ้น ยืน
๐ สำรวมกาย รวมใจ
กายรวมใจ ใจกับกาย รวมกัน
#หลักการเบื้องต้น
-ทำให้ “กาย”เป็นนิมิตแห่งใจ หรือเครื่องหมาย ที่อยู่อาศัยแห่งใจ คำว่า กายรวมใจ ต้องไม่มีอารมณ์ใดๆ เข้ามาวุ่นวาย มายุ่งเกี่ยว
-“ใจ”นี้อยู่ใน“กาย” อยู่ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
-“รู้”อยู่ พร้อมเฉพาะภายใน“กาย”ตน อย่าปล่อยให้หลุดออกไปข้างนอก อย่าสับส่าย
อย่าทุรนทุราย
-ให้ กายกับใจ ตั้งมั่น อยู่รวมกัน ไม่มีอารมณ์อื่น เป็นหนึ่งเดียว
-”รู้“อยู่ภายใน“กาย”ตนเฉยๆ
……
“กายที่รวมใจ ใจที่อยู่ในกาย” จะทำเรา“รู้”ความเป็นไปภายใน“กาย”เรา เป็นขั้นตอนเบื้องต้นความหมายของคำว่า ”กายศักดิ์สิทธิ์“
ทีนี้ เราจะบริหารจัดการ“กาย“ได้อย่างสมบูรณ์ มีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดประสิทธิผลได้อย่างคุ้มค่ากับลมหายใจ และอาหารที่กลืนกินเข้าไป
ทำได้แค่”กายรวมใจ“ ก็ถือว่า ทำให้“กาย”เรานี้บริหารจัดการหน้าที่การงานได้อย่างดีเยี่ยมแล้ว อีกทั้งโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลาย ก็สามารถควบคุม คอนโทรล รู้แจ่มชัดได้ว่า จะบริหารจัดการกับมันได้อย่างไร เหมือนกับมีกล้องส่องขยายให้ชัดเจนมากขึ้น อะไร ตรงไหน ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร
ร่างกายนี้ ขาดน้ำมั้ย หรือน้ำ มากไป ดิน มากไป ลม มากไป ไฟ มากไปหรือน้อยไป สามารถเพิ่มเติม หรือตัดทอนลงได้ด้วยอำนาจแห่ง“กายรวมใจ”
#เริ่มต้นต้องทำให้“กายกับใจ”รวมกันให้ได้ก่อน
เมื่อ“กายรวมใจ”อยู่รวมกัน ตั้งมั่นได้แล้ว “ธาตุรู้”จะปรากฏขึ้น
”ธาตุรู้“ในธาตุทั้ง ๔ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “รู้ในจตุธาตุววัฏฐาน ๔” จะปรากฏขึ้น รู้ในดิน รู้ในน้ำ รู้ในลม รู้ในไฟ ภายในกายตน
มีเรื่องให้เล่นอีกเยอะแยะมากมายเมื่อ“กายกับใจ”มารวมกันอย่างตั้งมั่นแล้ว เราสามารถสืบค้นหาคุณสมบัติแห่งธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย ได้อย่างไม่รู้จบรู้สิ้น บางคนเอาไปใช้ ทำให้ธาตุทั้ง ๔ กลายเป็นธาตุที่เรียกว่า ธาตุกายสิทธิ์ หรือเรียกอีกอย่างว่า กายศักดิ์สิทธิ์
แต่ที่สอนให้ทำ“กายรวมใจ” ไม่ได้หมายถึงจะทำให้เกิดธาตุกายสิทธิ์ แต่เพื่อเป็นเบื้องต้น พื้นฐานที่จะพัฒนาเข้าไปสู่คำว่า “ผ่อนคลาย”
ผ่อนคลายความบีบคั้นและความทุกข์ที่รุมเร้า ที่เสียดแทง เผาลน ทำให้เราทุรนทุราย สามารถผ่อนคลายลงไปได้ ด้วยอำนาจแห่ง“กายกับใจ”รวมกัน
...
๐ กระบวนการ“กายรวมใจ”เป็นกิจกรรมเบื้องต้น และเป็นหัวใจหลักในกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ไม่ว่าจะเป็นสมถะ หรือวิปัสสนา
ถ้าไม่สามารถทำให้“กายกับใจ“รวมกันได้ ก็ยากที่จะเข้าถึงคุณธรรมในสมถะ หรือคุณธรรมในวิปัสสนาขั้นสูงๆ ได้ ฉะนั้น ต้องฝึกเป็นประจำ เป็นอาจิณ กลายเป็นอาจิณณกรรม “กายรวมใจ”อยู่ตลอด
วันทั้งวัน อย่างน้อยวันหนึ่ง ๓ รอบ ๕ รอบ ๑๐ รอบ แล้วแต่ ทำให้ได้ ทำทุกวัน ทำทุกเวลาที่ระลึกได้ ดีกว่าปล่อยใจให้หลงระเริง เพลิดเพลินไปกับ ตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส อารมณ์ที่ครอบงำ
๐ ให้“ใจ”อยู่ใน“กาย”
มี“กาย”เป็นอารมณ์แห่ง“ใจ” หรือเรียกอีกอย่างว่า มี“กาย”เป็นนิมิตแห่งใจ
นิมิต คือ เครื่องหมายของ“ใจ”
“ใจ”นี้รับรู้ได้เฉพาะภายใน“กาย”ตน ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ทุรนทุราย ไม่ส่งจิตออกนอกกาย
ทีนี้ จะง่ายต่อการมีพลัง มีอานุภาพ มีสมาธิตั้งมั่น มีสติปัญญารุ่งเรือง ทำ พูด คิดอ่านสิ่งใด ไม่ผิดพลาด มีแต่เรื่องถูกต้อง ไม่บกพร่อง จะไปเรียนหนังสือ ฝึกการงาน ไปทำอาชีพ แก้ปัญหา ไม่ว่าปัญหาเล็ก ปัญหาใหญ่ ปัญหาชีวิตเรา ชีวิตใคร ชีวิตเขา สามารถทำได้หมด
ขอให้รวมกันให้ได้ทั้ง”กายกับใจ” มี “กาย” เป็นนิมิตแห่ง”ใจ“ เป็นอารมณ์ของ”ใจ“
ฝึกอยู่ตลอดทุกวันต่อเนื่องเนือง ๆ
-ว่างๆ เอา“จิต”ตั้งอยู่บน“กระหม่อม” อย่างนี้ก็เรียกว่า “กายรวมใจ” สอนตั้งแต่เบื้องต้น เรียกว่าเตรียมอนุบาล ด้วยซ้ำ วิชชา“กายรวมใจ”
-เอา”จิต“ตั้งไว้ที่กระหม่อม หน้าผาก หัวไหล่ หลัง ทรวงอก ฝ่ามือ นั่นแหละ คือหลักการ”กายรวมใจ“ทั้งนั้น สอนมาแล้วทั้งนั้น เรียกว่าสอนตั้งแต่เตรียมอนุบาล แม้ที่สุด เอา“จิต”ไว้ที่ปลายนิ้วมือ ก็ยังสอน สอนมั้ย นั่นแหละ คือ หลักการ “กายรวมใจ”
-จากนิ้วมือ นิ้วชี้ มาอยู่ที่นิ้วกลาง นิ้วนาง นิ้วก้อย ฝ่ามือ หลังมือ ข้อมือ ท่อนแขน ข้อศอก ท่อนแขนด้านบน หัวไหล่ บ่า ต้นคอ กะโหลกศีรษะ กลางกระหม่อม หน้าผาก สอนมาทั้งนั้น
-“จิต”จับไว้แต่ละจุด ๆ ภายในกาย นั่นแหละ คือ กายรวมใจ ฝึกให้ช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญ ยืนยง ตั้งมั่น เที่ยงตรง มั่นคง ยาวนานให้อยู่ได้ทั้งวัน ยิ่งวิเศษใหญ่ ทีนี้ อกุศล ไม่มาแทรก
๐ จะพัฒนาเข้าไปเรียนรู้ธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย ดิน น้ำ ลม ไฟ ก็ง่ายมาก
รู้กำลังภายในธาตุ รู้กำลังของธาตุภายในกาย สามารถทำได้ช่ำชอง เขี่ยวชาญ เราจะกำหนดธาตุภายในกายได้ ธาตุไฟน้อยไป ก็เติมไฟเข้าไป ธาตุลมมากไป ก็ลดธาตุลมลง
ทำได้
ต้องเริ่มต้น “รู้“พร้อมเฉพาะภายในกายตน มี กาย เป็นอารมณ์แห่งใจ
มี กาย เป็นเครื่องอยู่ของใจ มี กาย เป็นนิมิตแห่งใจ
นิมิต คือ เครื่องหมายให้”ใจ“อยู่อาศัย ให้”ใจ“ระลึกถึง ยืน เดิน นั่ง นอน เดินเช้าๆ แกว่งแขน ก้าวขา สั้น-ยาว แล้วแต่กำหนดเอาตามเหตุตามปัจจัยทำให้”กายกับใจ“ รวมกัน
วิชชา ความรู้ของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ได้ซับซ้อน เป็นธรรมชาติ มีอยู่ภายในของคนทุกคน สัตว์ทุกตน แต่เราค้นไม่พบเอง เราต้องไปซ่านหาคนนั้นคนนี้สอน แท้จริงแล้ว อยู่ในตัวเราแหละใหม่ๆ เราอาจจะรู้สึกน่าเบื่อ ยุ่งยาก ทำไม่ได้ ลำบากเหลือเกิน ก็เป็นธรรมชาติ เราลองนึกย้อนหลังสมัยสิบ-ยี่สิบปี ตอนวัยรุ่น เรายังไม่รู้จักคำว่า“จิต“ไม่รู้หน้าตา “จิต”เป็นอย่างไร ไม่รู้จักคำว่า“ใจ” รู้แต่คำว่า หัวใจ หรือ หทัย ที่เต้นอยู่ภายในทรวงอก ไม่รู้จักคำว่า “อารมณ์จิต”..ไม่รู้ ถึงวันนี้เรารู้มาได้ขนาดนึ้ ก็แสดงว่า เราก้าวข้ามความหยาบกระด้างของจิตมาได้ระดับหนึ่งแล้ว
๐ ทำให้เกิดความคุ้นเคยกับกรรมฐาน
ใหม่ๆ พอบอกว่าทำกรรมฐาน ทำสมาธิ เจริญสติ โอย เหมือนไม้เบื่อไม้เมา รำคาญ หงุดหงิด ลำบาก อึดอัดใจ วุ่นวาย สับสน เหมือนกับเข็นเขาขึ้นครกยากมาก ทำไปๆ เดี๋ยวคุ้นเคยเหมือนกับการเข้าบ้านเรา เข้าประตูบ้านทุกวันๆ หลับตาเดินยังได้ แต่คนแปลกหน้ามา หลับตาเดินชน
เพราะฉะนั้น ต้องทำให้เกิดความคุ้นเคยกับกรรมฐาน หรือคุณงามความดี หรือบุญกุศล วันนี้ เรายังไม่ได้ทำบุญเลย วันนี้ เรายังไม่ได้ภาวนาเลย วันนี้ เรายังไม่ได้ระลึกถึง “กายกับใจ” รวมกันเลยจนคุ้นเคยวันไหนขาดไป เหมือนกับต้นไม้ขาดน้ำ จะเหี่ยวห่อ มีความรู้สึกไม่พัฒนา ต้องให้ได้อย่างนั้น ต้องทำแบบนั้น แต่ใหม่ๆ จะเป็นไม้เบื่อไม้เมา หงุดหงิด รำคาญ สับสน ฟุ้งซ่าน ทรมาน อุ๊ย มานั่งทนทุกข์ทรมาน ยืน เดิน นั่ง นอน ลำบากตัวเอง ทำไมไม่มีชีวิตเหมือนกับคนอื่น ๆ ที่ไปกระโดดโลดเต้น หาความสุข ความเพลิดเพลินเจริญใจ แต่ท้ายที่สุด พอมีปัญหา..ฆ่าตัวตาย!
อย่าเห็นว่า หัวเราะกิ๊กกั๊ก ๆ แล้วจะไม่ตาย ดูอย่างข่าวดีเจอะไรกระโดดตึกตาย ทุกคนงงกันหมด ..มีความสุขนี่ชีวิต ทำให้คนอื่นหัวเราะได้ทั้งวัน แล้วทำไมตัวเองมาตาย เพราะแก้ปัญหาตัวเองไม่ได้ไง เพราะจำนนต่อความทุกข์ที่บีบคั้นตัวเอง และกลบไว้ด้วยอารมณ์มายาการ…กด เก็บ กลบทับด้วยความตลบตะแลง มายาเสแสร้งว่ากูไม่ทุกข์ แต่แท้จริงแล้วอกตรมหมองไหม้ทรมานทิ่มแทงในจิตใจ สุดท้ายระเบิดหาทางออกไม่ได้ก็กระโดดตึกตาย นั่นแหละ คือที่สุดของคำว่า เสพกาม ได้ผลอย่างนั้น
คนที่มัวเมาหมกมุ่นอยู่ในกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จบไม่สวยหรอก มีที่สุดอันเป็นไปได้ยาก คือเจริญยาก อับเฉา หาคุณค่าและมูลค่าไม่ได้ในบั้นปลายชีวิต
๐ ขยับขึ้นขึ้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
-ผ่อนคลาย ต้องผ่อนคลายทุกระบบภายในร่างกาย
-ผ่อนคลายโสตประสาท กล้ามเนื้อ ข้อต่อกระดูก ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
-ภายในและภายนอก ผ่อนคลายทั้งหมด ผ่อนคลาย จนเกิดความรู้สึกเบา..เบา กาย เบาใจ
๐ ฝึกความผ่อนคลายไว้จนกลายเป็นพลัง
ทำให้กระบวนการผ่อนคลายกลายเป็นพลัง แล้วจะแก้ปัญหาความติดขัดภายในร่างกายได้ ธาตุทั้ง ๔ ติดขัด ลม ติดขัด ไฟ ติดขัด น้ำ ติดขัด ดิน ติดขัด พวกที่ติดๆ ขัดๆ คือ พวกอัมพฤกษ์ อัมพาตทั้งหลาย ระบบประสาทติดขัด ถ้าทำกระบวนการผ่อนคลาย จะสามารถควบคุมธาตุทั้ง ๔ ให้เป็นไปโดยปกติได้ แต่ถ้ายิ่งไปบังคับมันก็ยิ่งติดขัดมากขึ้น จะสังเกตคนเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต พยายามเดินยังไงก็เดินไม่ได้ แต่ถ้าทำกระบวนการผ่อนคลาย เส้นสายทั้งหลายผ่อนคลาย ระบบประสาทผ่อนคลาย
#ฝึกจนกระทั่งกลายเป็นพลังแห่งความผ่อนคลาย เขาเรียกว่า ”พลังเฉื่อย“
เหมือนยุคสมัยปัจจุบัน วิทยาศาสตร์เขาค้นพบเจอพลังชนิดหนึ่ง เรียกว่า พลังเฉื่ิอย กลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ สามารถผลักดันร่างกาย หรือธาตุทั้ง ๔ ให้ขับเคลื่อนไปได้ด้วยอำนาจแห่งพลังเฉื่อย
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน นั่งลง
----------
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. (๒๕๖๗). ปฏิบัติธรรม กายที่รวมใจ ใจที่อยู่ในกาย เป็นเบื้องต้นความหมายของ “กาย
ศักดิ์สิทธิ์” ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๒๙๖ - ๓๐๓). นครปฐม: มูลนิธิ
ธรรมอิสระ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ปฏิบัติธรรม และเจริญพระพุทธมนต์ ช่วงบ่าย ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๖, สืบค้น ๙
ธันวาคม ๒๕๖๗ จาก https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=1730576874073192
https://youtube.com/live/_RNJ1i2w3Kg