บทที่ ๒๕ ปฏิบัติธรรม ผ่อนคลายธาตุทั้ง ๔ คือสุดยอดของความผ่อนคลาย
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
ชื่อเรื่อง ปฏิบัติธรรม ผ่อนคลายธาตุทั้ง ๔ คือสุดยอดของความผ่อนคลาย
แสดงธรรมวันที่ ๒๔ กันยายน ๒๕๖๖
สาระสังเขป
อธิบายธรรมว่าวิถีแห่งปัญญาไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมาย มีแต่เห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ย้ำว่า เห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง สอนปฏิบัติธรรมปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ
ไม่มีองค์ภาวนาใด ๆ ไม่มีการตรึก ไม่มีการวิจารณ์ ไม่มีการวิตก ไม่มีการพิจารณา ไม่มีการคิดคำนวนใคร่ครวญต่อสิ่งใด ๆ รู้ในและรู้นอกให้เสมอกันจึงจะถือว่าเรา ตั้งมั่นอยู่ในวิถีแห่งปัญญาอันถูกต้อง เป็นที่พึ่งของตนและคนรอบข้างได้จริง ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย ผ่อนคลายธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย ผ่อนคลายธาตุดินทั้ง ๒๐ กอง ผ่อนคลายธาตุน้ำทั้ง ๑๒ กอง ผ่อนคลายธาตุลมทั้ง ๖ กอง และผ่อนคลายธาตุไฟทั้ง ๔ กอง อย่างนี้ก็เรียกได้ ถ้าถึงขั้นทำให้ธาตุในกายผ่อนคลายได้ทั้งหมด จึงถือว่าเป็นสุดยอดแห่งการผ่อนคลายในที่สุด ผ่อนคลายจนถึงขั้น “ลหุตา” คือความเบากาย เบาใจ เบาจนแทบรู้สึกได้ว่าเราลอยได้ เสมือนดั่งเราลอยได้ ไม่ได้เคว้งคว้าง แต่มันเบาสบาย ศึกษาเรียนรู้ว่า ธาตุดินทั้ง ๒๐ กองมีอะไรบ้าง ที่เราต้องผ่อนคลาย ธาตุน้ำ ๑๒ กอง มีอะไรบ้างที่เราต้องผ่อนคลาย ธาตุลมทั้ง ๖ กอง มีอะไรบ้างที่เราต้องผ่อนคลาย ธาตุไฟ ทั้ง ๔ กอง มีอะไรบ้างที่เราต้องผ่อนคลาย เช่นนี้จึงถือว่า เราเข้าถึงความผ่อนคลายแห่งจตุธาตุกรรมฐานทั้ง ๔ ทีนี้เมื่อเราจะก้าวขยับขึ้นไปสู่คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วางว่าง ดับเย็น ยิ่งง่ายดาย ความผ่อนคลายแห่งจตุธาตุกรรมฐานทั้ง ๔ เมื่อเราจะก้าวขยับขึ้นไปสู่คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วางว่าง ดับเย็น ยิ่งง่ายดาย ย้อนกลับไปสู่่ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ วางความผ่อนคลาย และดูลมหายใจ
เนื้อหา
มีสิ่งหนึ่ง ที่อยากจะเตือนให้นักปฏิบัติธรรมทั้งหลายได้รู้ว่า โลกแห่งการปฏิบัติธรรม คือโลกของความเป็นจริง ไม่ใช่โลกแห่งมายาขจิต โดยเฉพาะวิถีแห่งปัญญาไม่มีมายาขจิต
วิถีแห่งปัญญาไม่มีนิมิตไม่มีเครื่องหมาย มีแต่เห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ย้ำว่า เห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง
แต่ถ้าเมื่อใดที่มีนิมิต มีเครื่องหมาย มีมายาการ มายาขจิตนั้นเป็นเรื่องวิปริต วิปลาส ไม่ใช่เรื่องถูกต้องของการปฏิบัติธรรม
ถ้ามันจะเห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง และเป็นสภาวะธรรมที่ปรากฏ
จริง ๆ อย่างนั้นหรอกจึงจะต้องเอาหลักการคิด หลักการวิเคราะห์ หลักการใคร่ครวญของ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาประกอบด้วย คือสมมุติว่าถ้ามันจะเห็นสภาพธรรมที่ปรากฏตามความเป็นจริง ก็ต้องใช้หลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มาประกอบด้วย
วิธีแห่งปัญญา วิถีแห่งวิปัสสนา ไม่เหมือนกับวิถีแห่งสมถะ
วิถีแห่งสมถะ เขาหากินกับนิมิต เครื่องหมายและมายาขจิต ยิ่งมีนิมิต มีเครื่องหมาย มีมายาขจิต มากเท่าไร เขาถือว่านั่นเป็นความสำเร็จแห่งวิถีสมถะ ตัวอย่างเช่น คนฝึกกสิณ ถ้าฝึกกสิณแล้วไม่เห็นนิมิตแห่งกสิณนั้นปรากฏ เรียกว่า อุคคหหนิมิตปฏิภาคนิมิต คือนิมิตเทียบเคียง นิมิตติดตา นิมิตเสมือนจริงที่ปรากฏ หลับตาเห็นนิมิต ลืมตาเห็นนิมิต ไหนถ้าอย่างงั้นไม่สำเร็จประโยชน์ในวิถีแห่งสมถะ
แต่วิถีแห่งปัญญาไม่ต้องการนิมิต เราต้องการเห็นโลกตามความเป็นจริง รู้เห็นโลกตามความเป็นจริง ไม่ได้รู้เห็นโลกนอกเหนือจากความจริงที่ปรากฏ ให้เข้าใจตามนี้
เริ่มปฏิบัติธรรม
ลุกขึ้นยืน
มีคำถามแทรกเข้ามาว่า แล้วเมื่อเป็นวิถีแห่งปัญญาเห็นโลกตามความเป็นจริงแล้ว อย่างนั้นเทวดา ยักษ์ มาร พรหม สวรรค์ นรก สัตว์โลก ผู้ตกทุกข์ได้ยากล่ะ ทำอย่างไร?
ก็เห็นตามความเป็นจริง ไม่ได้เห็นโดยนิมิต ไม่ได้เห็นโดยความเพ้อฝัน เห็นจริง ๆ เห็นจะ ๆ เห็นชัดเจน เท่านั้นแหละ จึงจะเรียกว่าเป็นวิถีแห่งปัญญา
อย่าเห็นแบบคลุม ๆ เครือ ๆ เผื่อว่าอาจจะใช่มั้ง ไม่ชัดเจน นั่นไม่ใช่วิถีแห่งปัญญา
๐ กายรวมใจ
จิตรวมกับกาย ตั้งจิต รวมกายกับใจให้รวมกันเป็นหนึ่ง
ความรู้มันมีอยู่ ๒ จำพวก คือ รู้นอก กับ รู้ใน แต่เราจะเสียเวลาเกือบทั้งชีวิต ทุ่มเทไปกับ การรู้นอก แต่เราไม่รู้เรื่องภายใน ฉะนั้น กระบวนการแห่งปัญญา ต้องรู้ทั้งในและรู้ทั้งนอก อย่างัสมดุลกัน ตา มีสองข้าง ต้องมองภาพทั้งข้างใน ข้างนอกให้เสมอกัน อย่ามองข้างใดข้างหนึ่ง มากเกินไป มันจะทำให้เราไขว้เขว คลุมเครือแล้วก็ล่าช้า
รู้นอกมากไป ข้างในก็รู้น้อยลง ทีนี้ความทุกข์ก็จะจรเข้ามาได้ รู้ในมากไป ก็จะกลายเป็นคนคับแคบ เอาเปรียบ ตระหนี่ ฉะนั้น รู้ใน และ รู้นอกเสมอกัน จึงจะถือว่าเรา ตั้งมั่นอยู่ในวิถีแห่งปัญญาอันถูกต้อง เป็นที่พึ่งของตนและคนรอบข้างได้จริง
-กระบวนการแห่งการเรียนรู้ศึกษาของโลก เขาเริ่มต้นจากการ รู้ข้างนอก - มาข้างใน แต่ก็ไม่เคยเข้าไปซักทีนึง แต่กระบวนการการศึกษาเรียนรู้ วิถีแห่งปัญญาที่แท้จริง เขารู้จักข้างในออกไปหาข้างนอก แล้วเราก็จะเห็นว่า รู้ข้างในปลอดภัยกว่า รู้ข้างนอก แต่ก็จำเป็นต้องออกไปรู้ เพื่อความเพิ่มพูนสติปัญญา และตั้งมั่นในจิตตานุภาพ
สรุปรวมแล้ว รู้ข้างในออกไปหาข้างนอก จึงจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง พูดเป็นภาษาชาวบ้านก็คือ รู้จักตัวเองก่อนอย่างแจ่มแจ้ง แล้วจึงจะไปรู้จักคนอื่น ๆ เรื่องอื่นหรือสิ่งอื่น
…........
ยังอยู่กับ กายรวมใจ
รู้พร้อมเฉพาะอยู่เพียงภายใน
- กายรวมใจ อย่างตั้งมั่น ไม่โยกโคลน ไม่สั่นคลอนไม่ง่อนแง่น ไม่กระเพื่อม
- กายกับใจ ผนึกรวมกันอย่างแนบแน่น มั่นคง พร้อมเฉพาะกับการงานที่จะดำเนินหรือกระทำต่อไป
- ขณะที่มีกายรวมใจ ใจที่รวมกาย ไม่มีองค์ภาวนาใด ๆ ไม่มีการตรึก ไม่มีการวิจารณ์ ไม่มีการวิตก ไม่มีการพิจารณา ไม่มีการคิดคำนวนใคร่ครวญต่อสิ่งใด ๆ
- รู้เพียงกายกับใจรวมกัน รู้อยู่เฉย ๆ
- กรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ล้วนแล้วแต่เริ่มต้นมาจากกระบวนการกายรวมใจทั้งนั้น
กระบวนการของ กายรวมใจ เป็นตัวก่อกำเนิดแห่งกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง พูดอย่างนี้ก็
ไม่น่าจะผิด
ไม่ว่าจะทำกรรมฐานกองใด ล้วนต้องทำให้ กายกับใจรวมกัน ให้ได้ก่อนเสมอ
เมื่อกายกับใจรวมกันแนบแน่นสนิท สนิทแนบแน่นดีแล้ว
ทีนี้ก็เข้าขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
๐ ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
- ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายระบบประสาท
- ผ่อนคลายข้อต่อต่าง ๆ
ถ้าจะพูดให้ถูกก็ ผ่อนคลายธาตุทั้ง ๔ ภายในกาย
ผ่อนคลายธาตุดินทั้ง ๒๐ กอง ผ่อนคลายธาตุน้ำทั้ง ๑๒ กอง ผ่อนคลายธาตุลมทั้ง ๖ กอง
และผ่อนคลายธาตุไฟทั้ง ๔ กอง อย่างนี้ก็เรียกได้ ถ้าถึงขั้นทำให้ธาตุในกายผ่อนคลายได้ทั้งหมด จึงถือว่าเป็นสุดยอดแห่งการผ่อนคลายในที่สุด กรรมฐานที่แท้จริงนะ มันเริ่มต้นจากศูนย์ และจบลงที่ศูนย์ แต่ให้รู้ให้จริงในศูนย์นั้น จาก ๔๐ ก็เหลือศูนย์ ถ้าเข้าใจอย่างชัดเจน
ฝึกหลักกายรวมใจ ให้ตั้งมั่น ขยับเข้าสู่กระบวนการผ่อนคลายธาตุภายในให้สำเร็จ ก็ยิ่งใหญ่มากกว่าการเรียนรู้ศึกษากรรมฐานทั้ง ๔๐ กองด้วยซ้ำ ก่อนหน้านั้นเราเคยเรียนรู้เรื่องกล้ามเนื้อผ่อนคลาย อวัยวะทุกส่วนในร่างกายผ่อนคลาย ระบบประสาทผ่อนคลาย ข้อต่อ
ต่าง ๆ ในร่างกายผ่อนคลาย แต่มาเที่ยวนี้เราสามารถที่จะทำให้ธาตุทั้ง ๔ ในร่างกายผ่อนคลายได้ ก็ถือว่าเป็นความผ่อนคลายอันสูงสุดแล้ว แม้จะยาก แต่ถ้าพยายามทำก็ไม่ลำบากเกินไป วิธีล่ะ ก็ต้องกลับไปศึกษาว่า ดินทั้ง ๒๐ กองมีอะไรบ้าง น้ำทั้ง ๑๒ กอง มีอะไรบ้าง
ลมทั้ง ๖ กอง มีอะไรบ้าง และไฟทั้ง ๔ กอง มีอะไรบ้างให้ถ่องแท้ ทีนี้เราก็จะอยู่กับโลกใบนี้โดยไม่ต้องกลัวโรคภัยไข้เจ็บแล้ว เพราะเราจะอยู่กับมันได้อย่างผ่อนคลาย เราปฏิเสธโรคไม่ได้ โรคภัยไข้เจ็บมันเกิดขึ้นกับธาตุทั้ง ๔ ตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่เมื่อใดที่เราเข้าถึงความผ่อนคลายในธาตุได้ โรคภัยไข้เจ็บเหล่านั้นก็ไม่มีอำนาจทำให้เราทุกข์ทรมานได้เลย ผ่อนคลายจนถึงขั้น “ลหุตา” คือความเบากาย เบาใจ เบาจนแทบรู้สึกได้ว่าเราลอยได้ เสมือนดั่งเราลอยได้ ไม่ได้เคว้งคว้าง แต่มันเบาสบาย
….........
ยังอยู่กับการผ่อนคลาย
อยากย้ำว่า การที่เราสามารถผ่อนคลายในธาตุทั้ง ๔ ในกายนี้ได้ เป็นสุดยอดแห่งความผ่อนคลาย แล้วผลแห่งความผ่อนคลายสุดยอดนั้น จะทำให้เกิดความเบาสบายในธาตุทั้ง ๔ ก็คือภายในกายนี้ เช่นนี้ สิ่งที่ควรจะพึงกระทำคือ การกลับไปศึกษาเรียนรู้ว่า ธาตุดินทั้ง ๒๐ กองมีอะไรบ้าง ที่เราต้องผ่อนคลาย ธาตุน้ำ ๑๒ กอง มีอะไรบ้างที่เราต้องผ่อนคลาย ธาตุลมทั้ง ๖ กอง มีอะไรบ้างที่เราต้องผ่อนคลาย ธาตุไฟ ทั้ง ๔ กอง มีอะไรบ้างที่เราต้องผ่อนคลาย เช่นนี้จึงถือว่า เราเข้าถึงความผ่อนคลายแห่งจตุธาตุกรรมฐานทั้ง ๔ ทีนี้เมื่อเราจะก้าวขยับขึ้นไปสู่คำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา วางว่าง ดับเย็น ยิ่งง่ายดาย
เพราะเบื้องต้นเราสามารถผ่อนคลายมันได้แล้ว เท่ากับว่าเราถอดถอนอุปาทาน ถอนความยึดถือในธาตุทั้ง ๔ ได้แล้วในเบื้องต้น ถอดสลักความยึดโยงกับธาตุทั้ง ๔ ได้แล้วในเบื้องต้น
เมื่อถึงคราวที่จะเข้าใจ รู้จัก ถึงความไม่เที่ยง ไม่มีอยู่จริงก็ยิ่งง่ายขึ้น ถึงคราวที่เราจะวาง ว่าง ดับ เย็น ก็จะสบาย ๆ ทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเป็นธรรมสมังคี แต่ต้องทำอย่างซื่อตรง จริงจัง ตั้งใจ
…........
ย้อนกลับไปสู่่ กายรวมใจ
วางความผ่อนคลาย
….........
ดูลมหายใจ
หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออก ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน เตรียมหนังสือสวดมนต์
แหล่งข้อมูล
มูลนิธิธรรมอิสระ. (๒๕๖๗). ปฏิบัติธรรม ผ่อนคลายธาตุทั้ง ๔ คือสุดยอดของความผ่อนคลาย
ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น. ๒๔๓ - ๒๔๘). นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ปฏิบัติธรรม และเจริญพระพุทธมนต์ ช่วงบ่าย ๒๔ กันยายน ๒๕๖๖, สืบค้น ๑
กรกฎาคม ๒๕๖๗ จาก https://www.youtube.com/watch?v=PvIezu3seQU