วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๓๑ แสดงธรรม ผู้เจริญในกรรมฐานแห่งความเป็นมนุษย์ (กรรมฐานภายนอก กรรมฐานภายใน)

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา

 

ชื่อเรื่อง แสดงธรรม ผู้เจริญในกรรมฐานแห่งความเป็นมนุษย์   (กรรมฐานภายนอก กรรมฐานภายใน)  


แสดงธรรมวันที่ ๑๓ ตุลาคม ๒๕๖๖ ช่วงบ่าย ณ ศาลาปฏิบัติธรรม 

(กราบ) 

สาระสังเขป

         อธิบายเหตุผลว่าทำไมจึงต้องแสวงหาหนทางหลุดพ้นจากอวิชชา เพราะมนุษย์คุ้นเคยกับอวิชชาหรือความโง่ ความโลภ โกรธ หลง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน สิ่งเหล่านี้คือเจตสิก หรือเครื่องปรุงจิต แต่มนุษย์ไม่คุ้นเคยกับวิชชาหรือความฉลาด จรณะหรือหลักปฏิบัติ และสัมปันโนหรือความถูกต้องสมบูรณ์แบบ จิตคือการรับ จำ รู้ คิด รูปคือสิ่งที่เรามีอยู่ เช่น อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจหรืออุปาทายรูป หรือสิ่งที่ประกอบไปด้วย ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อารมณ์คือเครื่องปรุงจิตหรือเจตสิก นิพพาน ดับ เย็น จากอารมณ์ทั้งปวงที่ครอบงำจิต และการปรุงแต่งในสังขารทั้งปวง ทั้งรูป จิต เจตสิก และนิพพาน เป็นธรรมชาติที่อยูในมนุษย์ เป็นสิ่งที่คุ้นเคย เป็นปรมัตถธรรมที่มนุษย์คุ้นเคย จึงต้องเอาสิ่งที่คุ้นเคยมาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาจิต ต้องพิจารณาว่าสิ่งที่คุ้นเคยเป็นมลพิษหรือสภาวะธรรมที่พึ่งได้ การเจริญกรรมฐาน ทำขณะลืมตาได้ กรรมฐาน ๒ จำพวก คือกรรมฐานภายนอก ทำตนเป็นคนที่มีศีล มีทาน มีธรรม และกรรมฐานภายใน ยกสถานภาพจิตใจของเราให้สูงขึ้น ในการเจริญกรรมฐานต้องมีหลักไตรลักษณ์และไม่ยึดติดผูกพันกับสิ่งใด

เนื้อหา

 

เมื่อกี้เพิ่งจะนั่งเขียน ๑๐ ปัญหา อะไรเอ่ยที่พระศาสดาทรงถามสามเณรโสปากะ 

 

สิ่งที่มนุษย์คุ้นเคยมากที่สุด คืออะไร 

ความโง่ไง ทำหน้าแปลก มึงไม่เคยโง่เลยหรือ  คุ้นเคยมั้ย ความโง่ เป็นสิ่งที่คุ้นเคย อันนี้ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงถามสามเณรโสปากะนะ กูถามมึง  มนุษย์คุ้นเคยต่อความโง่เป็นอาจิณ 

เพราะฉะนั้น เวลาเห็นความฉลาด จะรู้สึกแปลกหน้า แปลกใจ รู้สึกไม่คุ้นเคยเลย ช่างไม่คุ้นเคยกระไรเลย ..เอ๊ะ ทำไมวันนี้ลูกกูมาแปลก ฉลาดอะไรอย่างนี้   แต่ถ้าโง่นี่คุ้นเคย โง่เป็นอาจิณจนเกิดความคุ้นเคย  

ข้อต่อมาอะไรที่มนุษย์คุ้นเคย นอกจากโง่แล้วอะไรอีก ความโลภไง  ความโลภ เป็นสิ่งที่มนุษย์คุ้นเคยมั้ย อยากได้ นี่คุ้นเคยไหม โกรธ นี่คุ้นเคยมั้ย มนุษย์คุ้นเคยความโลภ ความโกรธ ความโง่ หลงล่ะ ก็คุ้นเคยอีก รวมความแล้ว โลภ โกรธ หลง คุ้นเคย มาจากการที่เราคุ้นเคย เคยชินกับความโง่ ความคุ้นเคยแบบนี้ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนอยู่ในหลักอภิธรรม เอาสิ่งที่คุ้นเคยมาเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ศึกษา เช่นอะไรบ้าง จิต เจตสิก คือเครื่องปรุงจิต   
โลภ เป็นเจตสิก เป็นอารมณ์ หลง เป็นเจตสิก เป็นอารมณ์  เอาสิ่งที่คุ้นเคยมาตรึก มาวิเคราะห์ มาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจิตให้สูงขึ้น มีอิสรภาพ 

 
๐ จิต เจตสิก รูป และนิพพาน 

จิต เจตสิก รูป นิพพาน นี่คือหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงหยิบเอาของที่เป็นธรรมชาติ ที่อยู่ในมนุษย์ เอามาเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการศึกษาเรียนรู้ ในการพัฒนาจิตให้สูงขึ้น คือ เอาสิ่งที่คุ้นเคย สิ่งที่มีอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติที่มนุษย์มีความคุ้นเคยกับ รัก โลภ โกรธ หลง อวิชชา ตัณหา อุปาทาน สิ่งเหล่านี้คุ้นเคยมาตลอด 

 
๐ แต่สิ่งที่มนุษย์ไม่คุ้นเคยเลย คือ วิชชา คือ ความชาญฉลาด 

ถ้าจะเป็นเรื่องหาอยู่หากิน เรื่องตำรับตำรา การเรียน การศึกษา ปริญญาตรี โท เอก อันนี้มนุษย์พยายามทำความคุ้นเคย แต่ถ้าให้มนุษย์ไปทำความคุ้นเคยกับวิชาชั้นสูงที่เรียกว่า วิชชา จรณะ สัมปันโน วิชชา คือ ความฉลาด จรณะ คือ หลักปฏิบัติ ความฉลาดที่จะนำมาซึ่งการปฏิบัติ  สัมปันโน คือ ถูกต้อง สมบูรณ์แบบ งดงาม ดีเลิศ ประเสริฐพร้อม วิชชา จรณะ สัมปันโน มนุษย์ไม่คุ้นเคย  มนุษย์หาความคุ้นเคยยาก นี่จะแก่วิชชาไปหน่อยนะ พอเริ่มแก่วิชชา มึงก็เริ่มเข้าฌาน….เพราะไม่คุ้นเคยไง เห็นมั้ย พอแก่วิชชาปุ๊บ พวกมึงหลับทันทีเลย…กูชวนไปอิสราเอล ตกใจเลย นี่คือความไม่คุ้นเคยกับความคุ้นเคย แตกต่างกันอย่างนี้แหละ 

เมื่อใดที่เราเจอกับความคุ้นเคย เราจะตื่นตา ตื่นตัว ตื่นใจ จะมีความรู้สึกกระตือรือร้น  
แต่เมื่อใดที่เจอกับความไม่คุ้นเคย เราจะขลาดเขลา ประหม่า รู้สึกไม่คุ้นเคย ไม่อยากลำบาก ไม่รู้จัก ไม่ทำความเข้าใจดีกว่า ยุ่ง วุ่นวาย เอาสิ่งที่เราคุ้นเคยจะดีกว่า พระพุทธเจ้าทรงพยายามเอาสิ่งที่พวกเราคุ้นเคยแล้วนี่มาสอน แต่พวกเรามองอย่างไรก็ไม่คุ้นเคยอยู่ดี เพราะอยู่ในข้อธรรม หมวดธรรมที่ดูแล้วมันอลังการสูงส่ง ที่เรียกว่า ปรมัตถธรรม 
 

๐ ศึกษาสิ่งที่เราคุ้นเคย ปรมัตถธรรม  
          แท้จริงแล้ว ปรมัตถธรรม คือ สิ่งที่เราคุ้นเคยอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว อยู่กับเรามาตลอด 

-รูป เรามีอยู่มั้ย   
-จิต เรามีมั้ย 
-อารมณ์ เรามีมั้ย แล้วมีบ้างไหม เคยวางจากอารมณ์ ว่างจากอารมณ์ มีไหม ไม่เคยว่างเลยเหรอ โอ้โห มึงอาการหนักมากเลยนะเนี่ย น่าห่วงนะ ไม่เคยว่างเลยจากอารมณ์ใดๆ อันนี้ น่าห่วง 

-นิพพาน แปลว่า ดับ เย็น จากอารมณ์ทั้งปวงที่ครอบงำจิต และการปรุงแต่งในสังขารทั้งปวง 

ในจิต เจตสิก รูป และนิพพาน จึงเป็นความคุ้นเคยที่จำเป็นต้องสร้างขึ้น ไม่อย่างนั้น เราจะกลายเป็นผู้จับมัด ไม่ใช่อยู่ในโลกปรมัตถ์ 

 

จิต คือ ตัว รับ จำ คิด รู้   

เจตสิก คือ เครื่องปรุงจิต …เรารับมา จำมา รู้มา คิดเอา วิเคราะห์ ใคร่ครวญ คำนวณให้ถ้วนถี่  รูป คือ สภาวะที่ประกอบด้วยเหตุปัจจัย ๒ ชนิด   
          รูป อันประกอบด้วย ตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส ใจปรากฎอารมณ์ อารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ นี่จัดว่าเป็น รูป ชนิดหนึ่ง เรียกว่า อุปาทายรูป ก็ได้ หรือ มีอุปาทานในรูปขันธ์ ที่เรา ตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส อารมณ์ที่          ปรากฎ จักษุรูป ก็ได้  โสตะรูป ก็ได้ โสตะรูปัง ก็เรียก 

รูป อีกชนิดหนึ่งอันประกอบไปด้วย ธาตุทั้ง ๔ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ อย่างเช่น ตัวเรานี่ก็เรียกว่า รูป สัตว์ บุคคล เรา เขา สิ่งของ ก็เรียก 

 
          #นี่คือความคุ้นเคย ที่เราต้องค้นหาความจริงให้ปรากฏ ให้เป็นที่ประจักษ์ว่า  
มันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างไรตามเหตุตามปัจจัย ต้องเข้าใจความหมายของคำว่า วาง ว่าง ดับ เย็น นั่นคือ ความดับ เรียกว่า นิพพาน 

จิต เจตสิก รูป และนิพพาน จัดว่าเป็นปรมัตถธรรม คือการเรียนการศึกษาความคุ้นเคย ความเคยชิน หรือเอาสิ่งที่มีอยู่ด้วยความคุ้นเคยนั้นมาเป็นเครื่องมือ เป็นครูสอนเรา อบรมเรา มาพัฒนาจิตของเราให้รุ่งเรืองเจริญสูงขึ้น อย่างนี้เขาเรียกว่าแก่มีคุณธรรม แก่มีสาระ  
 

๐ หาวิธีหลุดพ้นจากการถูกครอบงำจากความคุ้นเคย   

ไหน ๆ จะแก่ทั้งที ลงทุนกับความไม่คุ้นเคย  ความแก่ เป็นความคุ้นเคยมั้ย มึงยังไม่คุ้นอีกเหรอ ผมหงอกจะหมดหัว ยังไม่คุ้นอีกเหรอ ตายแล้ว! ไม่คุ้นกับความแก่  ความแก่ เป็นแขกแปลกหน้านะ ความแก่ มีอยู่ ไม่คงที่ก็จริงแหละลูก แต่เมื่อใดที่ถึงคำว่า แก่ ก็จะแก่ไปเรื่อยๆ  แก่อย่างอายุ ๔๐  แก่อย่างอายุ ๕๐   แก่อย่างอายุ ๖๐  แก่อย่างอายุ ๗๐  เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแบบชนิดผิดหูผิดตา ผิดฝาผิดฝั่ง ที่เต็งตึงกลายเป็นหย่อนยานเหี่ยวย่น ที่ดำขลับ ดำขำสวยงาม กลายเป็นเสื่อมโทรมแตกสลายหลุดร่วง ทำความคุ้นเคยกับสิ่งที่เป็นความคุ้นเคย แล้วไม่พิจารณา เพิกเฉยมัน พญายมบอกว่า มึงไม่สำเหนียกไม่สำนึก กูเตือนมึงตลอดเวลา เตือนตั้งแต่เกิดยันตายว่า นี่คือความเปลี่ยนแปลงปรากฎแล้วนะ ต้องหาวิธีที่จะหลุดพ้นจากความครอบงำแห่งความคุ้นเคยเหล่านี้ให้ได้ ต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัด จะได้มีชีวิตอยู่โดยความไม่ประมาท  
ยืน เดิน นั่ง นอน จะได้ไม่ประมาท  
          อย่างนี้เรียกว่า แก่วิชชา แก่รุ่ง แก่เรือง แก่คุณธรรม แก่แล้วมีสาระแก่นสาร 

คนสมัยนี้ ยุคปัจจุบัน ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่รู้จักอะไรควร ไม่ควร ไม่รู้ถูก รู้ผิด กูเอาอารมณ์เป็นที่ตั้งความอยาก เอาความอยากเป็นเครื่องนำพา เอาตัณหาเป็นตัวขับเคลื่อน พาไป เท่านั้นแหละ 

 

ต้องถามพวกเราๆ ท่านๆ ว่า เราคุ้นเคยกับอะไร และสิ่งที่เราคุ้นเคย ทำกันเป็นอาจิณนั้นเป็นมลพิษ หรือเป็นสภาวธรรมที่เป็นที่พึ่งพาอาศัยทั้งเราและคนรอบข้างได้ 

ถ้าเป็นมลพิษ พึ่งไม่ได้ก็หยุดซะ เปลี่ยนแปลงนิสัย แก้ไขพฤติกรรม ทำตัวให้เป็นที่น่าเคารพ 

 

๐ ก่อนมานั่งหลับตาเอาดี ลืมตาให้ได้ดีก่อน 

 
          ที่พูดมาทั้งหมดนี่ คือ กรรมฐาน ลูก ก่อนจะมานั่งหลับตาเอาดี มึงตื่นลืมตาให้ได้ดีก่อน กูเห็นมาเยอะแล้ว พวกจะรอนั่งหลับตาแล้วได้ดี แต่อีตอนลืมตา อู้หู อัปรีย์ชัดๆ ตั้งแต่หัวจรดปลายตีน แต่มารอดีเอาตอนนั่งหลับตา รอดีเอาตอนสวดมนต์ ภาวนาที่อยู่ในวัด พอกลับไปบ้าน เมาอย่างหมา ติดการพนัน ปลิ้นปล้อน กะล่อน หลอกลวง ทำตัวทุเรศ เสเพล สำมะเลเทเมา แต่เข้าวัด คนละคนเลย กูอุตส่าห์มานะ มาแล้วมาโดนด่าอีก ดูซิ เดี๋ยวกูไปหาวัดอื่นอยู่ก็ได้วะ  
          เอ้า มึงขึ้นครูกรรมฐานไม่ใช่เหรอ นี่กูกำลังสอนกรรมฐาน นี่แหละ กรรมฐาน 

กรรม คือ การกระทำ ฐาน คือ ที่ตั้งที่มั่นคง มึงจะมารอทำกรรมฐานตอนนั่งหลับตา แล้วระหว่างหลับตากับลืมตา มึงลืมตามากกว่าหรือหลับตามากกว่าใน ๑ วัน  เพราะฉะนั้น ต้องทำกรรมฐานได้ทั้งลืมตาและหลับตา ไม่ใช่รอจะมาทำกรรมฐานตอนหลับตา  โอย หลับตาก็นอนหลับนั่นแหละ หรือไม่ก็ตาย จะเป็นกรรมฐานตรงไหน 

เอากรรมฐานขณะที่มีอยู่ได้ในขณะลืมตา ทำให้มันได้ลูก ทำให้มันถึง ทำให้มันเกิด อย่างน้อยเป็นต้นแบบให้ลูกหลานพากภูมิใจ ว่า ปู่ย่าตายายกูมีกรรมฐาน คือ เป็นบุคคลต้นแบบของตัวลูก ตัวหลาน ตัวครอบครัว ตัวคนอยู่ใกล้ได้จับต้อง สัมผัส เป็นที่พึ่งพาอาศัยได้ อย่างนี้ต่างหากเล่า เรียกว่า ท่านผู้นั้นคือผู้ปฏิบัติกรรมฐาน 

 

#อย่าเข้าใจผิดว่ากรรมฐานต้องนั่งรอที่จะหลับตาภาวนา ต้องอยู่หน้าพระ สวดมนต์ ทำตัวนิ่งๆ เงียบๆ  

แต่พอออกไปจากศาลาจากโบสถ์ จากวัดออกไปจากหน้าพระ จากหนังสือสวดมนต์ เหมือนเดิม! ได้หน้าลืมหลัง หลงๆ ลืมๆ ผิดๆ ถูกๆ พลาดๆ พลั้งๆ ปลิ้นปล้อน กะล่อนหลอกลวง สำมะเลเทเมา เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไป แล้วมันจะกรรมฐานตรงไหน จะพึ่งอะไรเราได้ เรายังเป็นที่พึ่งของตัวเราเองไม่ได้ แล้วจะให้คนอื่นมาพึ่งเราได้อย่างไร ท่านที่รักทั้งหลาย อย่าเข้าใจความหมายของกรรมฐานว่า คือ การต้องมานั่งสมาธิ นั่งหลับตา ภาวนา นั่งนิ่งๆ เฉยๆ คนเราจะได้ดีตอนอยู่เฉยๆ ที่ไหน ถ้าได้ดีตอนอยู่เฉยๆ อย่างนั้น เด็กในท้องแม่ดีกว่าเรา เราอยู่เฉยๆ แค่วันละกี่นาที เด็กที่อยู่ในท้องแม่นอนนิ่งกี่เดือน กูไม่เคยท้อง กูไม่รู้ ตอนกูอยู่ในท้องแม่ กูอยู่นานที่สุด จนแม่กูนึกว่ากูตายแล้ว กูไม่ใช่ลูก ๙ เดือน ออกนะ ไม่เชื่อไปถามแม่กูสิ  อยู่นานร่วม ๑๑ เดือนถึงได้ออก กูถึงได้ซ่าอยู่อย่างนี้ไง ออกมาก็หาเรื่องเรื่อยตลอด 

 

๐ กรรมฐาน ๒ จำพวก  

คนโบราณน่ะลูก เขาแบ่งการทำกรรมฐานไว้ ๒ ชั้น ๒ ประเภท ๒ จำพวก  

กรรมฐานภายนอก ที่เราพูดมาทั้งหมดช่วงเริ่มต้น อย่างนี้เรียกกรรมฐานภายนอก กรรมฐานทางกาย กรรมฐานทางพฤติกรรม คนเห็น มอง จับต้องได้ เป็นที่พึ่งพาอาศัยของตนและคนรอบข้างได้  

ที่เหลือนอกนั้น คือ กรรมฐานภายใน อันนั้นเป็นเรื่องส่วนตัว เป็นเรื่องของตัวกู เรื่องของเราล้วนๆ ไม่เกี่ยวอะไรกับลูกหลาน วงศาคณาญาติ 

ฉะนั้นกระบวนการกรรมฐานภายนอก ทิ้งไม่ได้ลูก ไม่อย่างนั้นเราจะทิ้งคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ เมื่อเราไม่ชอบคุณลักษณะของความเป็นมนุษย์ ชาติภพต่อไปเราจะมีโอกาสได้เป็นมนุษย์น้อยมาก 

การทำกรรมฐานภายนอก คือการสร้างริ้วรอย จับพลัดจับผลูถ้าเราไม่ได้บรรลุธรรมขั้นสูงจะกลับมาเกิดอีกจะได้ไม่ไปเป็นสัตว์เดรัจฉาน อย่างน้อยได้เกิดมาเป็นมนุษย์ แล้วกรรมฐานภายนอก ใส่บาตรเป็นกรรมฐานไหม ฟังธรรม เป็นกรรมฐาน ไหม บริจาคทาน ทำจิตสาธารณะ เป็นต้นแบบเป็นเยี่ยงอย่างกับลูกหลาน ทำตนเป็นคนที่มีศีล มีทาน มีธรรม เหล่านี้เป็นกรรมฐาน แต่เป็นกรรมฐานที่ภายนอก เขาเรียกว่า บำเพ็ญตนให้สมหน้าที่แห่งความเป็นมนุษย์ก็ได้ เรียกว่า เป็นกรรมฐานเหมือนกัน 

บอกแล้วว่า กรรม คือการกระทำ  ฐาน คือที่ตั้งอันมั่นคง ชาตินี้เราเป็นมนุษย์ก็ทำกรรมฐานภายนอก ชาติต่อไปเราสร้างริ้วรอยกรรมฐานภายนอกเอาไว้ในความเป็นมนุษย์ ก็ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์อีกไม่ต้องไปเป็นเดรัจฉาน  นั่นคือคำว่าความมั่นคง เรียกว่า ผู้เจริญในกรรมฐานแห่งความเป็นมนุษย์ 

ทีนี้ จะทำกรรมฐานภายใน ก็ยกสถานภาพจิตใจของเราให้สูงขึ้น เมื่อพัฒนาได้จากกายมนุษย์ จิตนี้ก็พัฒนาจนกระทั่งหลุดพ้นความเป็นมนุษย์ไปได้ในที่สุด อย่ามองว่า กรรมฐานมีเฉพาะตอนนั่งหลับตาเฉยๆ  ทำให้ครบ ลูก อย่าให้ได้อย่างเสียอย่าง ไหนๆ เป็นมนุษย์กับเขาทั้งที ได้หน้าลืมหลัง.. ได้หลังลืมหน้า… ได้บ้าง เสียบ้าง จะได้ไม่ต้องมา.. “ทำไมกูมาเกิดเป็นหมาวะ กูก็ว่า กูก็ทำกรรมฐานนะ ทำไมดันเป็นหมาเสียแล้วล่ะ” อะไรประมาณนั้น “ทำไมกูมาเป็นหนอนขี้วะ กูก็ว่ากูทำทานนะ ทำไมมาเป็นหนอนขี้ได้” เพราะฉะนั้น ทำให้ครบสมบูรณ์ 

สัตว์เดรัจฉานก็เหมือนกันน่ะลูก อย่าว่าแต่มนุษย์เลย ถ้าสัตว์เดรัจฉานทำกรรมฐาน ไม่ต้องอะไรมาก มึงเลี้ยงหมา เลี้ยงไปเรื่อย ๆ หมามันรักห่วงใยเจ้าของ ซื่อสัตย์กับเจ้าของ เห็นพฤติกรรมของเจ้าของ มันจดจำได้ ตายแล้วกลับไปเกิดในท้องของมนุษย์ 

ในขณะเดียวกัน มนุษย์เองเห็นหมาชอบใจ รักหมา นอนกอดหมา เอาหมานอนด้วย ไปไหนเอาหมาหิ้วมาใส่บาตร เข้าวัดพาหมามาฟังธรรม พอตายไป ไปอยู่ในท้องหมา มีไหม มี ในครั้งอดีตก็มีโตเทยยพราหมณ์ไง ตายแล้วไปเกิดในท้องหมา เพราะอะไร..ห่วงสมบัติ เป็นหมาเฝ้าสมบัติ  

ขี้เหนียว มนุษย์เห็นหมาเป็นคุณ เพราะคิดว่าหมาเท่านั้นที่จะเฝ้าสมบัติตัวเองได้ ไม่มีใครมาแย่งสมบัติเราได้ เลยกลับไปเกิดในท้องหมาทั้งที่เกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว แต่เห็นหมาเป็นคุณ อย่างนี้เป็นต้น 

นี่เรียกว่า ไม่ทำกรรมฐานภายนอก เลยต้องกลายเป็นสัตว์เดรัจฉาน 

จากสัตว์เดรัจฉาน ถ้าทำกรรมฐานภายนอก เฝ้ามองมนุษย์ด้วยความซาบซึ้งบุญคุณ คุณงามความดี กูดูวัวทุกวัน เช้ามืดขึ้นมา กูก็ไปดู เย็น กูก็ไปดู ยังบอกตัวเองว่า กูไม่ได้ชอบมึงนะ เดี๋ยวจะเกิดเป็นวัว แต่กูสงสารมึง ต้องตากแดดตากฝน อดอยาก ลำบาก เกิดเป็นวัวไปยืนกรวดน้ำให้มันทุกวันๆ เช้า - เย็นๆ แต่กูต้องบอกกับตัวเองว่า อย่าเผลอนะมึง เผลอไปเข้าท้องวัวล่ะยุ่งเลย 

 

๐ อยู่กับอะไรอยู่ได้หมด ลูก แต่อย่าไปผูกใจกับสิ่งนั้นๆ  
          ถ้าเมื่อใดที่ไปผูกกับสิ่งนั้นแล้วมึงตายน่ะทันที อยู่กับหมาเหมือนกัน รักหมาเป็นชีวิตจิตใจ เอาหมามานอนกอด พอตายขึ้นมา มึงได้เข้าท้องหมาเลย ดังนั้น อย่าผูกใจกับสิ่งนั้นๆ 

เราทำกรรมฐานด้วยการอนุเคราะห์ เลี้ยงมัน ดูแล ใส่ใจ ป่วยไข้ไม่สบายก็รักษามัน แต่อย่าถึงขั้นผูกพันลึกซึ้งจนกระทั่งเกิดอุปาทานขันธ์ ดันไปติดอยู่ในท้องหมา อะไรประมาณนั้น เรียกว่า ผู้ไม่เจริญกรรมฐาน 

 

๐ อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา – แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่มีอยู่จริง 
          เพราะกรรมฐานที่พระพุทธเจ้าทรงสอนเอาไว้ ตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงวันสุดท้าย คือ  
อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา - แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่มีอยู่จริง ต้องมีหลักคิดแบบนี้อยู่ด้วย ทั้งกรรมฐานภายนอกและกรรมฐานภายในต้องใช้หลักคิดแบบนี้ด้วย 

 
-การปฏิบัติกรรมฐานภายนอก ทำได้ทุกอย่าง แต่ไม่ยึดติด ไม่เสพติดในอารมณ์ 

-ทำกรรมฐานภายใน ทำทุกกอง ทุกข้อ แต่ไม่ยึดติด ไม่เสพติดในกรรมฐานนั้นๆ จนกลายเป็นนิสัย เป็นอาจิณแล้วว่าเราเป็นผู้ที่ไม่มีพันธนาการ อย่างนี้เป็นต้น 
 
ยี่ห้อพุทธะอิสระ ไม่ใช่ได้มาจากการแต่งตั้ง ได้มาจากการทำกรรมฐาน ทั้งกรรมฐานภายนอกกับกรรมฐานภายใน  

 
          อย่าไปเชื่อใคร ทำกรรมฐานต้องอยู่นิ่งๆ เงียบๆ อยู่ในที่สงัดสงบระงับ ไม่มีคลุกคลีอยู่กับหมู่คณะนั่น กรรมฐานของคนเห็นแก่ตัว กรรมฐานของคนที่อยู่คนเดียวในโลก เป็นกรรมฐานที่ไม่คิดจะอยู่ร่วมกับคนอื่น ถามว่าอย่างนั้นดีมั้ย ดีเฉพาะตัวเรา แต่ไม่ดีสำหรับคนที่อยู่ร่วมโลกกับเรา ไม่ดีกับสัตว์ที่อยู่กับเราฉะนั้น ที่ถูกแล้ว เราควรจะต้องทำ กรรมฐานทั้งภายนอกและภายในครบสมบูรณ์ คือดีทั้งตนและดีกับคนอื่น เรียกว่า  
 
                     “ประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม ด้วยความไม่ประมาท”  
                                         นี่ต่างหากล่ะ คือ หัวใจของกรรมฐาน  

 
จบ (สาธุ)

 

แหล่งข้อมูล

หลวงปู่พุทธะอิสระ.  (๒๕๖๗).  แสดงธรรม ผู้เจริญในกรรมฐานแห่งความเป็นมนุษย์  (กรรมฐานภายนอก

กรรมฐานภายใน)  ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๒๗๒ - ๒๘๓).  นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.

หลวงปู่​พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม เพื่อน้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ องค์พ่อหลวง ร.9

         เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคต ๑๓     ตุลาคม ๒๕๖๖ ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ)

         อ.   กำแพงแสน จ.นครปฐม​ 

           https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=1435767810

163 | 9 ธันวาคม 2024, 17:25
บทความอื่นๆ