บทที่ ๓๓ กระบวนการแห่งอินทรีย์ ๕ ทำภาวนาจนเป็นนิมิต
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
ชื่อเรื่อง กระบวนการแห่งอินทรีย์ ๕ ทำภาวนาจนเป็นนิมิต
แสดงธรรมวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๖๖ ณ ศาลาปฏิบัติธรรม
สาระสังเขป
อธิบายกระบวนการอินทรีย์ทั้ง ๕ คือ พละห้า ประกอบด้วย ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา การทำให้อินทรีย์ทั้งห้าดำเนินไปอย่างตั้งมั่น สนับสนุนให้เกิดความสำเร็จ ผลเสียของอินทรีย์ห้าที่อ่อนด้อยคือ การทำงานอย่างไม่มีความสุข ทำงานไม่สำเร็จ พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ พระมาลุงกยบุตร เอาไว้อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องภาวนา พระองค์ทรงแนะนำว่า ขอให้ทำภาวนาจนกลายเป็นนิมิต ในที่นี้อะไรเป็นนิมิตของเรา กาย เป็นนิมิตแห่งจิต เป็นเครื่องหมายของจิต ฉะนั้น #ความหมายของคำว่า “กายรวมใจ“ คือ กายเป็นเครื่องหมายของจิต ยืน เดิน นั่ง นอน ทำทุกชนิด จิตอยู่ในกาย มีกายเป็นอารมณ์ เป็นกุศล ที่ได้กำไร ที่เป็นบุญ เป็นคุณให้แก่จิต
เนื้อหา
เมื่อใดที่อินทรีย์เรายังอ่อนด้อย อ่อนแอ ต้องสั่งสม ฝึกปรือ
การที่ลูกหลานมานั่งอยู่อย่างนี้ คือ การฝึกอินทรีย์ …ศรัทธา อันดับต้น ฝึกศรัทธาก่อน แล้ววิถีแห่งศรัทธา ไม่ใช่ออกจากปาก
๐ วิถีแห่งศรัทธา
โดยแท้จริงแล้ว คือสิ่งที่อยู่ภายใน สิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่มีคุณลักษณะพิเศษที่คอยกระตุ้นความเพียรให้ยั่งยืนต่อเนื่อง และเพียรอย่างมีความสุข คือทำงานอย่างมีความสุข แบบเพลิดเพลิน แบบไม่ทรมาน ไม่ทุรนทุราย ทำแบบใช้คำว่า สมัครใจทำ เต็มใจทำ ตั้งใจทำทำแล้วสบายใจ นั่นแหละคือผลที่เกิดจากศรัทธา
แต่ถ้าเมื่อใดที่เราทำงาน แม้ง่ายที่สุดแต่ถ้าไม่ศรัทธาจะทุกข์ จะทรมาน จะทุรนทุราย จะกระวนกระวาย จะอึดอัด…เมื่อไหร่จะเสร็จวะ? เมื่อไหร่จะเลิก เมื่อไหร่จะจบวะ...สวดอยู่นั่นแหละ นี่เพราะไม่ศรัทธา
แต่ถ้ามีศรัทธา ทำได้ทั้งวัน…กูเนี่ย เช้ากูออกมาล่ะ สายๆ ก็กลับ เดินจงกรมเสร็จเรียบร้อย สั่งงานคนงานไปด้วย เพราะคนงานออกงาน ๖ โมงเช้า สั่งงานเสร็จ เดินกลับเข้าไป สรงน้ำสรงท่า ทำภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย คนเขาเอาข้าวมาถวาย ฉัน
ฉันเสร็จ ออกมาปั๊มพระ ทำพระ ตรงไหนมีกองงานเราก็ไปดูซะหน่อย ปั๊มพระเสร็จ เพล พอบ่ายก็ออก.. ทำทุกวันๆ ทำจนกระทั่งกลายเป็นสันดาน เป็นนิสัย วันไหน ถ้าไม่ได้สวดมนต์ นอนไม่หลับ วันไหน ถ้าไม่ได้แผ่เมตตา ญาติกูมาเต็มเลย… แหม วันนี้ ท่านลืมไปนะ! จนกระทั่งกูไม่แผ่ไม่ได้ ต้องแผ่ทุกวัน แล้วไม่ใช่วันละครั้ง…เช้า กลางวัน เย็น วันละ ๓ เวลา ต้องแผ่ ถ้าไม่แผ่ไม่ได้ เหมือนขาดอะไรไปสักอย่าง
แล้วถามว่า ทุกข์ทรมานมั้ย..ไปไหนกูก็แผ่ ถ้ากูไม่ได้อยู่ในวัด กูนั่งรถ กูก็แผ่ นั่งรถก็สวดมนต์ภาวนาไปเรื่อยจนถึงที่ ไปเหนือ ไปใต้ ออก ตก ขณะนั่งอยู่บนรถก็แผ่เมตตาของเราไป สวดมนต์ภาวนาเราไป ไม่จำเป็นจะต้องไปสอดส่ายหาอกุศลกรรมเข้ามาเสพ
เพราะจิตนี้ปฏิเสธอารมณ์ไม่ได้ แต่เราสามารถหาอารมณ์ให้จิตอยู่ได้
อารมณ์เป็นอาหารของจิต และเป็นเครื่องอยู่แห่งจิต
ดังนั้น เราปฏิเสธไม่ได้ เพราะจิตมีหน้าที่ รับอารมณ์ จำอารมณ์ รู้อารมณ์ คิดอารมณ์
รับ จำ คิด รู้ เป็นหน้าที่ของจิต และรับ จำ คิด รู้ ในอะไร ก็ในอารมณ์
เพราะฉะนั้น เราก็จัดสรรอารมณ์ที่งดงาม ที่เป็นกุศล ที่ได้กำไร ที่เป็นบุญ เป็นคุณให้แก่จิตได้ซ่องเสพ นี่คือหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราที่นอกจากจะหาอาหารให้กายนี้เสพ ก็ต้องหาอารมณ์ที่เหมาะสมให้จิตนี้เสพ
ถ้าเข้าใจความหมายนี้อย่างลึกซึ้งแล้ว ไม่มีโอกาสหรอกจะเป็นโรคซึมเศร้า โรควิปริต วิปลาส โรคเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เห็นผิดเป็นถูก เห็นถูกเป็นผิด แม้ที่สุดโรคทางจิตเภทจะไม่เกิดขึ้นเพราะเราไม่รู้จักหน้าที่ของจิต ไม่รู้จักเภทภัยแห่งอารมณ์ ไม่รู้จักคัดสรรอารมณ์ ไม่รู้จักวิธีว่าจะให้อารมณ์อยู่กับจิตนี้อย่างไร จะให้จิตนี้ไปเป็นเครื่องเสพอารมณ์ชนิดใด
รวมแล้วอารมณ์ที่เหมาะสม ที่ดีพร้อม จึงจะควรต่อจิต ที่จะทำให้จิตนี้เจริญรุ่งเรือง
อารมณ์มี ๒ อย่าง
-อารมณ์ที่ทำให้จิตรุ่งเรือง
-อารมณ์ที่ทำให้จิตตกต่ำ
จิตตกต่ำ คือทุคติจิต จิตรุ่งเรือง คือสวรรคจิต สุคติจิต คนฉลาดจะเลือกเอาอารมณ์ที่เป็นสุคติจิต สวรรคจิต ทำให้จิตเสพแล้วไปสู่สุคติ ไม่ใช่ทุคติ เสพแล้วไปอยู่สวรรค์ ไม่ใช่ไปตกนรก หมกไหม้ คนฉลาด เขาจะอยู่อย่างนี้ จะทำเช่นนี้
๐ วิริยะ
แล้วต่อมาอะไร มีวิริยะ ความเพียรก็ไม่เดือดร้อน ใหม่ๆ แน่นอน..คนรักษาศีล เดือดร้อนมาก คนสวดมนต์ภาวนา..เดือดร้อนมาก คนทำตามระเบียบวินัย..เดือดร้อนมาก คนทำตามบทบัญญัติ นู่นนี่นั่นอะไร จะเดือดร้อนมาก อึดอัดมาก
“โอ๊ย วุ่นวายจริง ไม่อิสระเลย!” แท้จริงแล้ว มึงไม่ได้อิสระ มึงเป็นทาสอารมณ์โลภ อารมณ์รัก อารมณ์โกรธ อารมณ์หลง อารมณ์อยาก
ปากก็บอกว่า อิสระ อิสระ แต่แท้จริงแล้ว คือ เป็นทาส
แต่ตรงกันข้ามกับคนที่ปฏิบัติตามศีล สติ สมาธิ ปัญญา ปฏิบัติตามระเบียบ วินัย กฎเกณฑ์ กติกา สิ่งที่พึงกระทำ และละเว้นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ ทำครบถ้วนสมบูรณ์แบบ แม้ดูร่างกายเขา พฤติกรรมทางกายเขาเหมือนจะอยู่ในแรงกด แรงทับของระเบียบวินัย กฎเกณฑ์กติกา ธรรมเนียมจารีตปฏิบัติ แต่แท้จริงแล้วมีจิตอันอิสระเสรีภาพสูงสุดไม่ตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของอารมณ์ใด ๆ อย่างนี้เป็นต้น
เรื่องพวกนี้ พละ ๕ อย่าง เป็นหลักที่จะสนับสนุนให้เกิดความสำเร็จหรือไม่สำเร็จ
-“ศรัทธา” แท้จริงแล้วไม่ใช่ขบวนการแห่งการคิดเอา การระลึกถึง แต่คือแรงกระตุ้นที่ทำให้ วิริยะ งดงาม ทำอย่างต่อเนื่อง ไม่เหนื่อย ไม่เหน็ด ไม่ลำบากลำบน ไม่ทุกข์ทรมาน
๐ หลวงปู่เชื่อว่า พวกมึงชั่วชีวิตมึงสัมผัสศรัทธาได้น้อยมาก
ถ้าจะเป็น”ศรัทธา“ ก็เป็นศรัทธาแบบหัวเต่า คือ ศรัทธาที่ชาวบ้านชวน ไม่ใช่ศรัทธาที่ตั้งมั่นอยู่ในใจ ไม่ใช่ศรัทธาที่เป็นเหมือนน้ำอมฤตหล่อเลี้ยงจิตใจ ทำให้ใจชุ่มฉ่ำในการที่จะทำ ความเพียร ทำสมาธิ เจริญปัญญา สวดมนต์ ภาวนา ทำจิตอาสาเสียสละ ทำคุณประโยชน์ นู่นๆ นี่ๆ แก่ปวงชน ผู้คนและสรรพสัตว์
ถ้ามีศรัทธาตัวนี้อยู่ จะไม่เหน็ดไม่เหนื่อย ไม่เบื่อ ไม่เปลี้ย ไม่เพลีย ไม่ลำบากลำบน ไม่ทุกข์ไม่ยาก ไม่ทุรนทุราย ไม่ทรมานกับการลงไม้ลงมือกระทำ เพราะเป็นเหมือนเครื่องชูจิตวิญญาณ เครื่องชูกำลังใจ กำลังกาย ให้กระชุ่มกระชวย กระฉับกระเฉง ให้พร้อมเหมาะสมควรต่อการงานที่กระทำอย่างต่อเนื่องยั่งยืน
ศรัทธา ถ้าเปรียบเป็นเครื่องปรุงรส ต้องบอกว่าคือชูรสปรุงอาหารให้อร่อย เรียกว่าทำให้สนุก ทำงานด้วยความสนุก ความโปร่งเบาสบายผ่อนคลาย
๐ มีศรัทธา มีวิริยะ ใช้ “สติ” กำกับ ควบคุม ดูแล การทำ การพูด การคิด
ศรัทธา วิริยะ สติ “สมาธิ” คือการงานนั้นตั้งมั่น ไม่สับส่าย ไม่สับสน ไม่ว้าวุ่น ไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ลุ่มๆ ดอนๆ อย่าไปแปลคำว่าสมาธิต้องนั่งเฉย ๆ
-”ศรัทธา“ ที่อยู่ในอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่ใช่การนั่งเฉยๆ
แต่คือ กระบวนการทำงานทั้งภายในและภายนอกอย่างตั้งมั่น
-“สมาธิ” ที่อยู่ในอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่ใช่การนั่งเฉยๆ
-”วิริยะ“ ที่อยู่ในอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่ใช่การนั่งเฉยๆ
-“สติ“ ที่อยู่ในอินทรีย์ทั้ง ๕ ไม่ใช่การอยู่เฉยๆ แต่คือ กระบวนการองค์ประกอบที่จะทำให้การ งานทั้งภายในและภายนอก ดำเนินไปอย่างตั้งมั่น แล้วใช้
-“ปัญญา”ใคร่ครวญ พินิจพิจารณา
๐ ฉะนั้นกระบวนการอินทรีย์ทั้ง ๕ เป็นเครื่องจำแนกพระอริยเจ้า
พระพุทธเจ้าองค์เดียวกัน ธรรมะข้อเดียวกัน แต่ทำไมคนบรรลุธรรมไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุปัจจัยแห่งอินทรีย์ที่แตกต่างกัน
พระพุทธเจ้าทรงแนะนำ พระมาลุงกยบุตร เอาไว้อีกเรื่องหนึ่ง คือ เรื่องภาวนา พระองค์ทรงแนะนำว่า ขอให้ทำภาวนาจนกลายเป็นนิมิต อันนี้ พระองค์ทรงสอนพระมาลุงกยบุตร เพราะตอนนั้นพระมาลุงฯ ยังไม่ได้บรรลุอรหันต์ แต่มีกำลังฌาน มีสมาบัติในระดับที่เหมาะสมที่พร้อมจะบรรลุ พระองค์ทรงสอนให้เอาธรรมะนั้นเป็นนิมิต เป็นเครื่องหมาย
๐ กาย เป็นนิมิตแห่งจิต เป็นเครื่องหมายของจิต
ในที่นี้อะไรเป็นนิมิตของเรา กายไง! กาย เป็นนิมิตแห่งจิต เป็นเครื่องหมายของจิต ฉะนั้น #ความหมายของคำว่า “กายรวมใจ“ คือ กายเป็นเครื่องหมายของจิต เป็นที่ตั้งแห่งจิต เป็นนิมิตแห่งจิต และกายนี้ยังเป็นอารมณ์แห่งจิต
จึงเรียกได้ว่า กายนี้เป็นนิมิต เป็นเครื่องหมาย เป็นที่ตั้งของจิตนี้ด้วย
สรุปแล้ว เรียกกันง่ายๆ สั้นๆ ว่า
-มีกายเป็นอารมณ์
-มีกาย เป็นที่ตั้งแห่งจิต
-มีกาย เป็นอารมณ์ของจิต
-จิตนี้อยู่แต่เพียงภายในกาย… ยืน เดิน นั่ง นอน ทำทุกชนิด จิตอยู่ในกาย
รู้ อยู่ภายในกาย
รับ อยู่ภายในกาย
จำ อยู่ภายในกาย
คิด อยู่ภายในกาย
เช่นนี้เรียกว่า มี กาย เป็นอารมณ์
ฟังเข้าใจมั้ย เมื่อมีกายเป็นอารมณ์ ก็ตั้งมั่นในอารมณ์ ตั้งมั่นในกาย จิตนี้อยู่ในกาย
#กายอยู่ในจิต จิตกับกายรวมกันเป็นหนึ่ง เรียกว่า กายรวมใจ ใจรวมกาย
นั่นแหละ เขาเรียกว่า ผู้มีกรรมฐาน
กรรม คือ การกระทำ ฐาน คือ ที่ตั้ง
กายนี้เป็นที่ตั้งของงานการทั้งปวง ของกรรม
…..........
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. (๒๕๖๖). กระบวนการแห่งอินทรีย์ ๕ ทำภาวนาจนเป็นนิมิต ใน ปราณโอสถ
กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๓๐๔ - ๓๑๑). นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ปฏิบัติธรรม ช่วงบ่าย ๓ ธันวาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๑๑ ธันวาคม
๒๕๖๗ จาก https://www.youtube.com/watch?v=hWE2 VvVLekc