บทที่ ๑๐ ปราณโอสถขั้นที่ ๑-๓ ทำทีละขั้นตอนให้ชัดเจน แนบแน่น ตั้งมั่น
ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม
ปราณโอสถขั้นที่ ๑-๓ ทำทีละขั้นตอนให้ชัดเจน แนบแน่น ตั้งมั่น
แสดงธรรมวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕
สาระสังเขป
สอนปฏิบัติธรรมปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ กายรวมใจอย่างแนบแน่น ตั้งมั่น นิ่งสนิท เฉยๆ ๑๐ นาที รู้พร้อมเฉพาะภายในกาย แล้วเฉย กายรวมใจ อีก ๑๕ นาที กายรวมใจเหมือนเดิม ๒๐ นาที ขั้นที่ ๒
ผ่อนคลาย ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย จิตใจผ่อนคลาย เป็นการผ่อนคลายอันบริสุทธิ์หมดจด ไม่ต้องมีโทษข้ามภพข้ามชาติ ผ่อนคลายจนถึงคำว่า ลหุตา ความเบาสบาย ความผ่อนคลาย สิ่งหนึ่งที่จะเกิดตามมาจากลหุตา คือ ความแกล้วกล้า อาจหาญ เป็นตบะอ่อนๆ ของจิต แต่อย่าสนใจ เพราะเป็นมายาจิตอย่างหนึ่ง ขั้นที่ ๓ รู้ลมว่าเข้าหรือออกอยู่ ยาวหรือสั้น รู้ชนิด ลักษณะของลมที่เข้าและออก ขั้นนี้ต้องใช้ปัญญามาก แต่ละขั้นตอน ถ้าทำให้ตั้งมั่นอย่างแนบแน่น หรือแนบแน่นอย่างตั้งมั่น พอถึงขั้น รู้ลม ตามดูลม จะเห็นนิมิต ทั้ง ๒ ขั้น ทั้งรู้ลมก็เห็นนิมิต.. ตามดูลมก็เห็นนิมิต
คำสำคัญ
เนื้อหา
ยืน
.......
ยืนแล้วทำไง?
ส่งความรู้สึกเข้าไปในกาย อย่ามาลังเล ลีลา ล่าช้า ยืดยาด
ทำเรื่องเดียว ช่วงเวลาต่อไปนี้ ไม่ต้องทำเรื่องอื่น
๐ ขั้นที่ ๑ : กายรวมใจ ๑๐ นาที
ทำให้กายรวมกับใจ
เอาทีละขั้นตอน
แต่ละขั้นตอนต้องชัดเจน
ดูซิว่า
ทำให้ "กายรวมใจ" อย่างเดียว
อย่างแนบแน่น ตั้งมั่น นิ่งสนิท เฉยๆ
อยู่สัก ๑๐ นาที ทำได้มั้ย? ไม่ต้องอย่างอื่น
ไม่ต้องผ่อนคลาย
ไม่ต้องรู้ลม
ไม่ต้องเดินตามลม
แค่ กายรวมใจ เฉยๆ
.........
ไม่คิด ไม่วิเคราะห์ ไม่ภาวนา ไม่ท่องบ่น ไม่ต้องทรงจำ
มีแต่ "รู้"พร้อมเฉพาะภายในกาย แล้วเฉย
"รู้"พร้อมเฉพาะภายในกายอย่างแนบแน่น
.......
เผลอหลุดออกไปก็ดึงกลับมา จิตนี้เหมือนกับลิง สับสน วกวน วุ่นวาย.. บังคับมากก็ทุรนทุราย
“รู้” ก็ต้องดึงกลับมา
.......
แค่ ๑๐ นาทีเท่านั้นนะ
ยังกายรวมใจอย่างไม่แนบแน่นเลย ยังหลุดๆ ลุ่ยๆ รุ่งริ่ง ฟุ้งซ่าน
ถ้าเป็นแก้วก็ถือว่าเป็นแก้วร้าว แก้วแตก
ยังไม่รวมสนิทกันเป็นเนื้อเดียว
ไม่มีคำภาวนา
ไม่มีกระบวนการพิจารณา
แค่ "ใจ"อยู่ใน "กาย" เรียกว่า กลับเข้าถ้ำ
นิ่งสนิทเฉยๆ
........
พอ.. พัก ลงนั่ง ผ่อนคลาย หาน้ำหาท่ามาดื่ม
......
อีกรอบหนึ่ง
นั่งตัวตรง ดำรงสติในกายให้มั่น
๐ กายรวมใจ อีก ๑๕ นาที
......
คนบางคนคุ้นเคยอยู่กับอารมณ์ เคยชินอยู่กับการปรุงแต่ง
ไม่มีปัญญาปรากฏ สติอ่อนแอ
แยกไม่ได้ระหว่างกายสะอาด จิตสะอาด
“เมื่อรวมกันแล้วต้องสะอาดกับสะอาด”
ซึ่งจะแตกต่างจากความรกรุงรัง ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ สับสน สกปรก อย่างไร
มีมิจฉาทิฏฐิ
เห็นผิดไปว่า การมีอารมณ์ คิดนู่นนี่นั่นแบบเรียบๆ ง่ายๆ ก็เป็นกายรวมใจอย่างหนึ่ง
แท้จริงแล้วนั่นไม่ใช่ นั่นเขาเรียก ฟุ้ง มิจฉาทิฏฐิ ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ ถ้าเป็นสติก็มิจฉาสติ ไม่ใช่สัมมาสติ
.......
๐ กายรวมใจ
- ไม่จำเป็นต้องไปตามดูลม เพราะยังไม่ถึงขั้น
- ไม่จำเป็นต้องไปรู้ลม เพราะยังไม่ถึงขั้น
แค่ให้รวมอยู่เฉยๆ อย่างแนบแน่นและตั้งมั่น
แล้วรวมอย่างไร?
รู้ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า.. ตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมาที่หัว
ใช้คำว่า รู้เนื้อรู้ตัวทั่วพร้อม
.......
แวบเดียวก็ไม่ได้
แวบเดียวก็ถือว่าเสียบุพกิจเบื้องต้น ไม่สำเร็จประโยชน์
กำหนด ๑๕ นาทีก็ต้องตั้งมั่น ๑๕ นาที
ถ้าเผลอหลุด ต้องรีบดึงกลับมา
........
พอ.. ผ่อนคลาย
......
ลุกขึ้นยืน
ยืนก็หลับ นั่งก็หลับ
........
๐ กายรวมใจ
เหมือนเดิม ๒๐ นาที
เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ทีละขั้น
ยังอยู่ในขั้นกายรวมใจ
.......
พอแยกออกมาเป็นขั้นๆ เป็นส่วนๆ เป็นตอนๆ อย่างชัดเจน เราจะได้ประเมินคุณภาพของสติ ของสัมปชัญญะ วิริยะ ศรัทธา สมาธิ ปัญญาเราตั้งมั่นแค่ไหน? จะได้เตือนตัวเองเมื่อพลาดไป เผลอไป
......
ขยับขึ้นขั้นที่ ๒
๐ ผ่อนคลาย
ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย จิตใจผ่อนคลาย กล้ามเนื้อ อวัยวะทุกส่วนในร่างกายผ่อนคลาย ข้อกระดูกทุกข้อผ่อนคลาย เส้นเอ็นและพังผืดผ่อนคลาย ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ผ่อนคลาย
ไม่มีความวิตกกังวล ไม่อลหม่าน-สับสน ในระบบโสตประสาททั้งหลายผ่อนคลาย
ผ่อนคลายได้อย่างไร?
ได้จากการวาง ว่าง.. วาง ว่าง
ต้องผ่อนคลายจนถึงขนาดรู้สึกว่า ตัวเราก็ไม่มี
ไม่มีภาระในการมีตัวตน
ไม่มีหน้าท้อง
ไม่มีกล้ามเนื้อ ไขมัน
ไม่มีผิวหนัง กระดูก ไม่มีเส้นเอ็น พังผืด ไม่มีอวัยวะ
ต้องผ่อนคลายให้ได้ขนาดนั้น
ไม่มีความวิตกกังวล ไม่มีความว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน สับสน ไม่ว่าจะอยู่ในท่ามกลางกระแสลม พายุโหมกระหน่ำ ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า
........
ให้สังเกตข้อแตกต่างระหว่าง "กายรวมใจ" กับ "ผ่อนคลาย"
อันไหนแนบแน่น หรือตั้งมั่น หรือผ่อนคลายมากกว่า
.......
- ดูประหนึ่งเหมือนว่า "กายรวมใจ" ต้องใช้ความกวดขัน
เข้มงวด ระมัดระวัง
- แต่พอถึงคราว "ผ่อนคลาย" ขั้นตอนนี้แทบจะไม่มีอะไรเลย.. ไม่มีภาระ ไม่กังวล ว้าวุ่น จนถึงขั้นไม่ฟุ้งซ่านด้วยซ้ำ หรือฟุ้งซ่านน้อยกว่า
การที่คอยระมัดระวัง ประคับประคองให้กายกับใจรวมกัน ให้สังเกต
อย่าเฉยผ่าน
......
พอถึงขั้น "ผ่อนคลาย" แบบชนิดที่ วาง ว่าง แม้กระทั่งตัวกูได้
ทีนี้ ยืนก็ผ่อนคลาย เดินก็ผ่อนคลาย..
ออกก้าวเดิน
......
ทำแต่ละขั้นแต่ละตอนให้ชัดเจน จะได้ไม่มั่ว
......
คนที่เป็นโรคเครียด โรคซึมเศร้า โรคว้าวุ่น โรคจิตประสาท จิตหลอน จิตอาวรณ์ หูแว่ว ถ้าทำถึงขั้นผ่อนคลาย โรคเหล่านี้จะไม่ถามหา
วิตกกังวล ทุรนทุราย นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย ท้องอืด ท้องเฟ้อ ถ้าทำถึงขั้นผ่อนคลายได้ทุกอิริยาบถ สิ่งเหล่านี้ไม่มีเลย
ถึงได้บอกแต่เช้า มนุษย์ทำร้ายตัวเอง สร้างเวรสร้างกรรม สร้างปัญหา สร้างเรื่องสร้างราว บีบคั้นทำร้ายตัวเอง
วิถีแห่งความผ่อนคลายอย่างนี้เอาไปใช้กับทุกสถานการณ์ได้
ยังอยู่ในขั้นตอนแห่งความผ่อนคลาย
ผ่อนคลายจนถึงคำว่า ลหุตา
ที่สุดของความผ่อนคลาย..
“ลหุตา คือ ความเบา.. เบากายเบาใจ.. เบาและสบาย”
......
ผ่อนคลาย กาย ใจ ระบบประสาท สมอง ความรู้สึกนึกคิด
กล้ามเนื้อ พังผืด เส้นเอ็น ข้อกระดูก
ทุกอย่างผ่อนคลายหมด
......
กระบวนการผ่อนคลายอย่างนี้จะตรงกันข้ามกับความรื่นเริง บันเทิงผ่อนคลาย
เพราะความรื่นเริง บันเทิงผ่อนคลายเกิดจากการเสพ..
เสพอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าไปแล้วทำให้เกิดความรื่นเริงบันเทิงแล้วผ่อนคลาย
ดูตลก แล้วผ่อนคลาย อย่างนั้นเรียกว่า รื่นเริงบันเทิงแล้วผ่อนคลาย อันนั้นเป็นโทษ มีผลข้ามภพข้ามชาติ เพราะต้องเสพ
แต่ผ่อนคลายแบบนี้ไม่ใช่เกิดจากการเสพ ไม่มีโทษ เป็นการผ่อนคลายอันบริสุทธิ์หมดจด ไม่ต้องมีโทษข้ามภพข้ามชาติ
......
"ผ่อนคลาย" ไม่ต้องคิดนะลูก
ถ้าคิด นี่ไม่ผ่อนคลาย
สืบต่อมาจากขั้นตอน กายรวมใจ
"กายรวมใจ" ก็ไม่ต้องคิด ไม่ฟุ้งซ่าน
พอขั้นต่อมาก็ "ผ่อนคลาย" ก็ไม่คิด ไม่ฟุ้งซ่าน
ไม่หงุดหงิดรำคาญ.. มีแต่โปร่ง เบา สบาย ผ่อนคลาย
๐ วิถีแห่งการฝึกจิต
เป็นวิถีอันศักดิ์สิทธิ์ วิเศษของบรรดาพระโพธิสัตว์ที่จะใช้กับงานหนัก.. กอบกู้ความสุขทุกข์ของสรรพสัตว์ ต้องใช้วิชาเหล่านี้สำหรับทำการงานอันหนักหนาสาหัสเหล่านั้น เพราะสัตว์แต่ละตน แต่ละผู้ แต่ละนามมีความทุกข์ความสุขแตกต่างกัน
ถ้าผู้บำบัดสุขทุกข์เหล่านั้นไม่รู้จักผ่อนคลาย สุดท้ายจะกลายเป็นรังของโรค และจะทำงานจนถึงที่สุดไม่ได้ สุดท้ายก็พ่ายแพ้ ท้อแท้
ดังนั้น กระบวนการแห่งความผ่อนคลายจึงเป็นพลังวิเศษของพระโพธิสัตว์ ช่วยปกป้องทั้งกายและใจได้
......
เดินกลับเข้าที่
ยังผ่อนคลายอยู่
......
บางคนเผลอ เพลิน ผ่อนคลายจนหลอนๆ
คำว่า หลอนๆ คือ ตัวเบาๆ โหวงเหวง
เข้าที่ แล้วนั่งลง
.....
อย่าไปสนใจ
ถ้าไปสนใจ ความผ่อนคลายจะ "หาย" ทันที
บางคนผ่อนคลายจนรู้สึกปีติ ปลาบปลื้ม อิ่ม สุข อย่าสนใจ
ถ้าสนใจ ความผ่อนคลายจะ "หาย" ทันที
กลายเป็นความเสพ
ผ่อนคลาย ในที่นี้ไม่มีการเสพ
ผ่อนคลาย ในที่นี้เกิดจากความวาง ว่าง..
วางภาระทุกอย่างแล้วว่าง แล้วถึงความผ่อนคลาย ไม่เสพ..
ยังผ่อนคลายอยู่ ..นั่งด้วยความผ่อนคลาย
.......
สิ่งหนึ่งที่จะรู้สึกได้จากความผ่อนคลาย คือ เสรีภาพ
หรือเรียกอีกอย่าง.. ความอิสระ
เหมือนนกที่โดนปล่อยจากกรง.. ดูอิสระ
เหมือนวัวที่ผูกกับหลัก โดนตัดเชือก
เมื่อเชือกขาด มันก็กระโจนโลดแล่นได้อย่างอิสระ
.....
มีแต่ตัวรู้ และท่านผู้รู้ ตามดูความผ่อนคลาย
ไม่มีคิด ไม่มีรับ ไม่มีจำ
"รู้"ว่ากำลังผ่อนคลาย
.......
๐ สิ่งที่ควรระวัง
สิ่งหนึ่งที่จะเกิดตามมาจากลหุตา ความเบาสบาย ความผ่อนคลาย คือ ความแกล้วกล้า อาจหาญ เป็นตบะอ่อนๆ ของจิต แต่อย่าสนใจ ไม่อย่างนั้นเราจะมี "อัสมิมานะ" คือ ความถือตัวถือตน ตัวกูปรากฏ ความผ่อนคลาย"หาย"ทันที
อันนี้ต้องจำไว้ เป็นมายาจิตอย่างหนึ่ง
เป็นโรคทางจิตที่เกิดจากความผ่อนคลายถึงที่สุด
พอมีอิสระ มีเสรีภาพ ก็มีความอาจหาญ แกล้วกล้าจนกลายเป็นตัวกูพอกพูนมากขึ้น
ทีนี้ ตัวกูใหญ่
อันนี้ต้องระวัง
......
ทิ้งความผ่อนคลาย
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓ : รู้ลม
ทำความรู้จักลม
ดูว่า ลมเข้าอยู่ หรือลมออกอยู่
เข้ายาว หรือออกสั้น
หรือเข้ายาว ออกยาว
เข้าสั้น ออกสั้น
สังเกต
ขั้นนี้ต้องใช้ปัญญาเยอะหน่อย
ผ่อนคลาย คือ พักมามากพอแล้ว
ทีนี้จะใช้พลังแห่งปัญญาวิเคราะห์ "ลม"
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓ : รู้ลม
ทิ้งความผ่อนคลายมา"รู้ลม" คือ มาอยู่กับลมหายใจ
.......
รู้ลม เฉยๆ ไม่ได้ให้ไปบังคับลม
รู้ว่าลมเข้า
รู้ว่าลมออก
รู้ว่าเข้ายาวหรือเข้าสั้น
ออกยาวหรือออกสั้น
รู้ว่าลมที่เข้าและออก หนักหรือลมเบา
รู้ว่าลมหยาบหรือลมละเอียด
รู้ว่าลมเย็นหรือลมร้อน
ขั้นนี้ต้องใช้สัมปชัญญะ เรียกว่า ใช้ปัญญาเยอะ
......
"รู้"อย่างเดียว
ยังไม่ต้อง "ตามดู"
"ตามดู" คือ ดูว่าลมเข้าทางไหน ออกทางไหน ผ่านจุดไหน อย่างนี้เรียกว่าขั้น"ตามดู"
แต่ขั้น"รู้ลม" คือ
รู้ชนิดของลม
รู้ลักษณะของลม
ที่เข้าและออก
.......
เพิ่มคำภาวนาเข้าไป
หายใจเข้า "สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข"
หายใจออก "สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์"
......
พอ.. ยกมือไหว้พระกรรมฐาน แล้วเตรียมแผ่เมตตา
--------------
๑๖.๐๐ น. หลังปฏิบัติธรรม
เบามั้ย?
สังเกตมั้ยว่า
กายรวมใจกับผ่อนคลาย อันไหนทำง่ายกว่ากัน?(ผ่อนคลาย)
กูนึกแล้ว.. ไม่เอาถ่าน
กูก็คิดว่า มึงทำผ่อนคลายน่ะสบาย.. คุ้นเคย เคยชิน
แต่กายรวมใจ ต้องประคับประคอง ต้องระมัดระวัง
ต้องพินอบพิเทา ต้องคอยดึง.. เดี๋ยวแวบๆ
แต่ผ่อนคลายนี่ไม่แวบ.. วูบเลย
พอบอก ผ่อนคลาย นี่ทันทีเลย ของชอบ
พอ รู้ลม ชัดขึ้นมั้ย?
แต่ละขั้นตอน ถ้าทำให้ตั้งมั่นอย่างแนบแน่น หรือแนบแน่นอย่างตั้งมั่น พอถึงขั้น รู้ลม ตามดูลม จะเห็น"นิมิต" ทั้ง ๒ ขั้น ทั้งรู้ลมก็เห็นนิมิต.. ตามดูลมก็เห็นนิมิต
แต่ถ้าทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ "กายรวมใจ" และ"ผ่อนคลาย" ไม่ชัดเจน ไม่แนบแน่น พอถึงขั้น "รู้ลม" กับ "ตามดูลม" นานล่ะทีนี้กว่าจะเห็นนิมิต
ฉะนั้น ทำแต่ละขั้นตอนแบบนี้.. ทำทีละขั้นตอน อย่าใจร้อน อย่าใจเร็ว อย่าเร่งกระบวนการ แล้วสุดท้ายจะได้ไม่เท่าเสีย จะกลายเป็นคนฝึกนิสัยใจเร็วด่วนได้ และทำอะไรแบบลวกๆ หยาบๆ ไม่ชัดเจน สุดท้ายจะพัฒนากลายเป็นความไม่ซื่อสัตย์ต่อตัวเองและคนอื่นๆ ไม่ซื่อสัตย์ต่อสัจธรรมและไม่ซื่อสัตว์ต่อคนอื่น ๆ
ฉะนั้นมนุษย์ทำอย่างไรได้อย่างนั้นลูก ฝึกอย่างไรก็จะได้แบบนั้น
วิถีแห่งพระโพธิญาณ วิชาปราณโอสถ เป็นวิชาลับเฉพาะ แต่ถามว่า ทำไมมาฝึกมาสอน?
สถานการณ์วิกฤติอย่างนี้ มนุษย์เป็นคนทำร้ายตัวเองมาตลอด พระพุทธเจ้าทรงชี้ประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อม ก็สมควรที่จะทำให้มนุษย์ได้รู้จักผ่อนคลายในความทุกข์ที่บีบคั้นจากพฤติกรรมของตน ๆ
มันเป็นหน้าที่อยู่แล้ว ..เพราะฉะนั้น บอกแล้ว สอนแล้ว ก็รู้จักเอากลับไปฝึกบ้าง อย่ามารอเวลาว่า มาวัดแล้วค่อยทำ
แหล่งข้อมูล
มูลนิธิธรรมอิสระ. (๒๕๖๖). ปราณโอสถขั้นที่ ๑ - ๓ ทำทีละขั้นตอนให้ชัดเจน แนบแน่น ตั้งมั่น ใน ปราณโอสถ:
กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม, (น.๒๐๓ - ๒๑๖). นครปฐม: มูลนิธิ.