วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๑๐ ปราณโอสถขั้นที่ ๑-๓ ทำทีละขั้นตอนให้ชัดเจน แนบแน่น ตั้งมั่น

ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม

ปราณโอสถขั้นที่ ๑-๓ ทำทีละขั้นตอนให้ชัดเจน แนบแน่น ตั้งมั่น

แสดงธรรมวันที่ ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕

สาระสังเขป

         สอนปฏิบัติธรรมปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ กายรวมใจอย่างแนบแน่น ตั้งมั่น นิ่งสนิท  เฉยๆ   ๑๐ นาที รู้พร้อมเฉพาะภายในกาย แล้วเฉย กายรวมใจ อีก ๑๕ นาที กายรวมใจเหมือนเดิม ๒๐ นาที ขั้นที่ ๒

ผ่อนคลาย ทำให้ร่างกายผ่อนคลาย จิตใจผ่อนคลาย เป็นการผ่อนคลายอันบริสุทธิ์หมดจด ไม่ต้องมีโทษข้ามภพข้ามชาติ ผ่อนคลายจนถึงคำว่า ลหุตา ความเบาสบาย ความผ่อนคลาย สิ่งหนึ่งที่จะเกิดตามมาจากลหุตา คือ ความแกล้วกล้า อาจหาญ เป็นตบะอ่อนๆ ของจิต แต่อย่าสนใจ เพราะเป็นมายาจิตอย่างหนึ่ง ขั้นที่ ๓  รู้ลมว่าเข้าหรือออกอยู่ ยาวหรือสั้น รู้ชนิด ลักษณะของลมที่เข้าและออก ขั้นนี้ต้องใช้ปัญญามาก แต่ละขั้นตอน ถ้าทำให้ตั้งมั่นอย่างแนบแน่น หรือแนบแน่นอย่างตั้งมั่น พอถึงขั้น รู้ลม ตามดูลม จะเห็นนิมิต ทั้ง ๒ ขั้น ทั้งรู้ลมก็เห็นนิมิต.. ตามดูลมก็เห็นนิมิต

คำสำคัญ

      

เนื้อหา

ยืน 

....... 

ยืนแล้วทำไง? 

ส่งความรู้​สึกเข้าไป​ใน​กาย​ อย่ามาลังเล​ ลีลา​ ล่าช้า​ ยืดยาด 

ทำเรื่องเดียว ช่วงเวลา​ต่อ​ไป​นี้​ ไม่ต้องทำเรื่องอื่น 

 

๐ ขั้นที่ ๑ :  กายรวมใจ ๑๐ นาที 

ทำให้กายรวมกับใจ 

เอาทีละ​ขั้นตอน 

แต่ละขั้นตอน​ต้องชัดเจน 

ดูซิว่า​ 

ทำให้ "กายรวมใจ" อย่างเดียว  

อย่างแนบแน่น ตั้งมั่น นิ่งสนิท  เฉยๆ​  

อยู่สัก​ ๑๐​ นาที​ ทำได้มั้ย? ไม่ต้องอย่างอื่น​ 

ไม่ต้องผ่อนคลาย 

ไม่ต้องรู้ลม 

ไม่ต้องเดินตามลม  
แค่​ กายรวมใจ​ เฉยๆ 

......... 

ไม่คิด​ ไม่วิเคราะห์​ ไม่ภาวนา​ ไม่ท่องบ่น​ ไม่ต้องทรงจำ 

มีแต่​ "รู้"พร้อม​เฉพาะภายใน​กาย​ แล้วเฉย 

"รู้"พร้อมเฉพาะภายในกายอย่าง​แนบแน่น 

....... 

เผลอหลุดออกไปก็ดึงกลับมา​ จิตนี้เหมือนกับลิง สับสน​ วกวน​ วุ่น​วาย.. บังคับ​มากก็ทุรนทุราย 

“รู้”​ ก็ต้องดึงกลับมา 

....... 

แค่​ ๑๐​ นาที​เท่านั้น​นะ 

ยังกายรวมใจอย่าง​ไม่แนบแน่น​เลย​ ยังหลุดๆ​ ลุ่ยๆ​ รุ่งริ่ง​ ฟุ้งซ่าน 

ถ้าเป็นแก้วก็ถือว่า​เป็น​แก้วร้าว​ แก้วแตก 

ยังไม่รวมสนิท​กัน​เป็น​เนื้อเดียว 

ไม่มีคำภาวนา 

ไม่มี​กระบวนการ​พิจารณา 

แค่​ "ใจ"อยู่ใน​ "กาย" เรียกว่า กลับ​เข้าถ้ำ 

นิ่งสนิท​เฉยๆ 

........ 

พอ.. พัก​ ลงนั่ง​ ผ่อนคลาย​ หาน้ำหาท่ามาดื่ม 

...... 

อีกรอบหนึ่ง 

นั่งตัวตรง​ ดำรงสติในกายให้มั่น 

๐ กายรวมใจ อีก ๑๕ นาที 

...... 

คนบางคน​คุ้นเคย​อยู่​กับอารมณ์​ เคยชิน​อยู่กับ​การปรุงแต่ง​  

ไม่มีปัญญาปรากฏ​ สติอ่อนแอ​  

แยกไม่ได้ระหว่าง​กายสะอาด​ จิตสะอาด​  

“เมื่อรวมกันแล้วต้องสะอาด​กับสะอาด” 

ซึ่งจะแตกต่าง​จาก​ความรกรุงรัง​ ฟุ้งซ่าน​ หงุดหงิด​ รำคาญ​ สับสน​ สกปรก​ อย่างไร​  

มีมิจฉาทิฏฐิ​  

เห็น​ผิดไปว่า​ การ​มีอารมณ์​ คิดนู่นนี่นั่นแบบเรียบๆ​ ง่ายๆ​ ก็เป็นกายรวมใจอย่างหนึ่ง​ 

แท้จริง​แล้ว​นั่นไม่ใช่​ นั่นเขาเรียก ฟุ้ง​ มิจฉาทิฏฐิ​ ไม่ใช่สัมมาทิฏฐิ​ ถ้าเป็นสติก็มิจฉาสติ​ ไม่ใช่สัมมาสติ 

....... 

๐ กายรวมใจ 

  • ไม่จำเป็น​ต้อง​ไปตามดูลม​ เพราะยังไม่ถึงขั้น 
  •  ไม่จำเป็น​ต้อง​ไปรู้ลม เพราะยังไม่ถึงขั้น 

แค่ให้รวมอยู่เฉยๆ​ อย่าง​แนบแน่น​และตั้งมั่น​ 

แล้วรวมอย่างไร? 

รู้​ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า.. ตั้งแต่ปลายเท้า​ขึ้นมาที่หัว 

ใช้คำว่า​ รู้เนื้อรู้ตัวทั่วพร้อม 

....... 

แวบเดียว​ก็​ไม่ได้ 

แวบเดียว​ก็ถือว่าเสียบุพกิจ​เบื้องต้น​ ไม่สำเร็จ​ประโยชน์ 

กำหนด​ ๑๕​ นาทีก็ต้อง​ตั้งมั่น​ ๑๕​ นาที 

ถ้าเผลอหลุด​ ต้องรีบดึงกลับมา 

........ 

พอ.. ผ่อนคลาย 

...... 

ลุกขึ้น​ยืน 

ยืนก็หลับ​ นั่งก็หลับ 

........ 

๐ กายรวมใจ 

เหมือนเดิม​ ๒๐ นาที 

เพิ่ม​ขึ้น​เรื่อย​ๆ 

ทีละขั้น 

ยังอยู่​ในขั้นกายรวมใจ 

....... 

พอแยกออกมาเป็นขั้นๆ​ เป็น​ส่วน​ๆ​ เป็น​ตอนๆ​ อย่างชัดเจน​ เราจะได้ประเมิน​คุณภาพ​ของสติ​ ของสัมปชัญญะ​​ วิริยะ​ ศรัทธา​ สมาธิ​ ปัญญา​เราตั้งมั่นแค่ไหน? จะได้เตือน​ตัวเองเมื่อพลาดไป​ เผลอไป 

...... 

ขยับขึ้นขั้นที่ 

๐ ผ่อนคลาย 

ทำให้ร่างกาย​ผ่อนคลาย​ จิตใจผ่อนคลาย​ กล้ามเนื้อ​ อวัยวะ​ทุก​ส่วน​ใน​ร่างกาย​ผ่อนคลาย​ ข้อกระดูก​ทุก​ข้อผ่อนคลาย​ เส้นเอ็น​และพังผืด​ผ่อนคลาย​ ตั้งแต่​หัวจรดปลายเท้า​ ผ่อนคลาย 

ไม่มีความวิตกกังวล​ ไม่อลหม่าน​-สับสน​ ในระบบโสตประสาท​ทั้งหลาย​ผ่อนคลาย 

ผ่อนคลายได้อย่างไร? 

ได้จากการวาง​ ว่าง.. วาง​ ว่าง​ 

ต้องผ่อนคลาย​จนถึง​ขนาด​รู้สึก​ว่า​ ตัวเราก็ไม่มี 

ไม่มีภาระในการมีตัวตน​ 

ไม่มีหน้าท้อง​ 

ไม่มีกล้ามเนื้อ​ ไขมัน 

ไม่​มีผิวหนัง​ กระดูก​ ไม่มีเส้นเอ็น​ พังผืด​ ไม่มีอวัยวะ​ 

ต้องผ่อนคลาย​ให้ได้ขนาดนั้น​ 

ไม่มีความวิตกกังวล​ ไม่มีความว้าวุ่น​ ฟุ้งซ่าน​ สับสน​ ไม่ว่าจะอยู่​ในท่ามกลาง​กระแสลม​ พายุโหมกระหน่ำ​ ฝนตก​ ฟ้าร้อง​ ฟ้าผ่า 

........ 

ให้สังเกตข้อแตกต่างระหว่าง "กายรวมใจ" กับ "ผ่อนคลาย" 

อันไหนแนบแน่น​ หรือตั้งมั่น​ หรือผ่อนคลาย​มากกว่า 

....... 

  • ดู​ประหนึ่ง​เหมือนว่า​ "กายรวมใจ" ต้องใช้ความกวดขัน​  

       เข้มงวด​ ระมัดระวัง 

  • แต่พอถึงคราว​ "ผ่อนคลาย" ขั้นตอน​นี้​แทบจะไม่มี​อะไรเลย.. ไม่มีภาระ​ ไม่กังวล​ ว้าวุ่น​ จนถึง​ขั้นไม่ฟุ้งซ่าน​ด้วยซ้ำ​ หรือฟุ้งซ่าน​น้อยกว่า 

การที่คอยระมัดระวัง​ ประคับประคอง​ให้กายกับใจรวมกัน​ ให้สังเกต 

อย่าเฉยผ่าน 

...... 

พอถึง​ขั้น​ "ผ่อนคลาย" แบบชนิดที่​ วาง​ ว่าง​ แม้กระทั่ง​ตัวกูได้ 

ทีนี้​ ยืนก็ผ่อนคลาย​ เดินก็ผ่อนคลาย.. 

ออกก้าวเดิน 

...... 

ทำแต่ละขั้นแต่ละตอนให้ชัดเจน จะได้ไม่มั่ว 

...... 

คนที่เป็นโรค​เครียด​ โรคซึมเศร้า​ โรคว้าวุ่น​ โรคจิตประสาท​ จิตหลอน​ จิตอาวรณ์​ หูแว่ว​ ถ้าทำถึงขั้นผ่อนคลาย​ โรคเหล่านี้​จะไม่ถามหา 

วิตกกังวล​ ทุรนทุราย​ นอนไม่หลับ​ กระสับกระส่าย​ ท้องอืด​ ท้องเฟ้อ​ ถ้าทำถึงขั้นผ่อนคลาย​ได้ทุกอิริยาบถ​ สิ่งเหล่านี้​ไม่มีเลย 

ถึงได้บอกแต่เช้า​ มนุษย์​ทำร้ายตัวเอง​ สร้างเวรสร้างกรรม​  สร้างปัญหา​ ​สร้างเรื่องสร้างราว​ บีบคั้น​ทำร้าย​ตัวเอง​ 

วิถี​แห่ง​ความผ่อนคลาย​อย่างนี้เอาไปใช้กับทุกสถานการณ์​ได้ 

 

ยังอยู่​ในขั้นตอนแห่งความผ่อนคลาย 

ผ่อนคลาย​จนถึงคำว่า​ ลหุตา 

ที่สุดของความผ่อนคลาย..  

“ลหุตา คือ ความเบา.. เบากายเบาใจ.. เบาและสบาย” 

...... 

ผ่อนคลาย​ กาย​ ใจ​ ระบบประสาท​ สมอง​ ​ความรู้สึก​นึกคิด​ ​ 

กล้ามเนื้อ​ ​พังผืด​ เส้นเอ็น​ ข้อกระดูก 

ทุกอย่าง​ผ่อนคลาย​หมด 

...... 

กระบวนการผ่อนคลายอย่างนี้จะตรงกันข้ามกับความรื่นเริง บันเทิงผ่อนคลาย 

เพราะความรื่นเริง​ บันเทิง​ผ่อนคลาย​เกิดจากการเสพ..  

เสพอารมณ์​อย่างใดอย่างหนึ่ง​เข้าไปแล้วทำให้เกิดความรื่นเริง​บันเทิง​แล้วผ่อนคลาย 

ดูตลก​ แล้วผ่อนคลาย​  อย่างนั้นเรียกว่า​ รื่นเริง​บันเทิง​แล้วผ่อนคลาย​  อันนั้นเป็นโทษ​ มีผลข้ามภพข้ามชาติ​ ​เพราะต้องเสพ 

แต่ผ่อนคลายแบบนี้ไม่ใช่เกิดจากการเสพ ไม่มีโทษ เป็นการผ่อนคลายอันบริสุทธิ์หมดจด ไม่ต้องมีโทษข้ามภพข้ามชาติ 

...... 

"ผ่อนคลาย" ไม่ต้องคิดนะลูก 

ถ้าคิด นี่ไม่ผ่อนคลาย 

สืบต่อมาจากขั้นตอน​ กายรวมใจ 

"กายรวมใจ" ก็ไม่ต้องคิด​ ไม่ฟุ้งซ่าน 

พอขั้นต่อมาก็​ "ผ่อนคลาย" ก็ไม่คิด​ ไม่ฟุ้งซ่าน​  

ไม่หงุดหงิด​รำคาญ.. มีแต่โปร่ง​ เบา​ สบาย​ ผ่อนคลาย 

 

๐ วิถีแห่งการฝึกจิต 

เป็นวิถีอันศักดิ์สิทธิ์​ วิเศษ​ของบรรดาพระโพธิสัตว์​ที่จะใช้กับงานหนัก​.. กอบกู้​ความสุข​ทุกข์​ของสรรพสัตว์​ ต้องใช้วิชาเหล่านี้​สำหรับ​ทำการงาน​อันหนักหนาสาหัส​เหล่านั้น​ เพราะสัตว์​แต่ละตน​ แต่ละผู้​ แต่ละนามมีความทุกข์​ความสุขแตกต่าง​กัน 

 

ถ้าผู้บำบัด​สุขทุกข์​เหล่านั้น​ไม่รู้​จัก​ผ่อนคลาย​ สุดท้าย​จะกลายเป็น​รังของโรค​ และจะทำงาน​จนถึง​ที่สุด​ไม่ได้​ สุดท้ายก็พ่ายแพ้​ ท้อแท้ 

ดังนั้น​ กระบวนการ​แห่งความผ่อนคลาย​จึงเป็นพลังวิเศษ​ของพระโพธิสัตว์​ ช่วยปกป้อง​ทั้ง​กายและใจได้ 

...... 

เดินกลับ​เข้าที่ 

ยังผ่อนคลาย​อยู่ 

...... 

บางคนเผลอ​ เพลิน​ ผ่อนคลาย​จนหลอนๆ 

คำว่า​ หลอนๆ​ คือ​ ตัวเบาๆ​ โหวงเหวง 

เข้าที่​ แล้วนั่งลง 

..... 

อย่าไปสนใจ 

ถ้าไปสนใจ ความผ่อนคลาย​จะ​ "หาย" ทันที 

บางคนผ่อนคลาย​จนรู้สึกปีติ​ ปลาบปลื้ม​ อิ่ม​ สุข​ อย่าสนใจ 

ถ้าสนใจ​ ความผ่อนคลาย​จะ​ "หาย" ทันที 

กลายเป็นความเสพ 

ผ่อนคลาย​ ในที่นี้​ไม่มีการเสพ 

ผ่อนคลาย ในที่นี้เกิดจากความวาง​ ว่าง..  

วางภาระทุกอย่างแล้วว่าง​ แล้วถึงความผ่อนคลาย ไม่เสพ.. 

ยังผ่อนคลาย​อยู่​ ..นั่งด้วย​ความผ่อนคลาย 

....... 

สิ่งหนึ่งที่จะรู้สึก​ได้จากความผ่อนคลาย​ คือ​ เสรีภาพ​  

หรือเรียกอีกอย่าง​.. ความอิสระ 

เหมือนนกที่โดนปล่อยจากกรง​.. ดูอิสระ 

เหมือนวัวที่ผูกกับหลัก​ โดนตัดเชือก​  

เมื่อเชือกขาด​ มันก็กระโจนโลดแล่น​ได้อย่างอิสระ 

..... 

มีแต่ตัวรู้ และท่านผู้รู้ ตามดูความผ่อนคลาย 

ไม่มีคิด​ ไม่มีรับ​ ไม่มีจำ 

"รู้"ว่า​กำลังผ่อนคลาย 

....... 

๐ สิ่งที่ควรระวัง  

สิ่งหนึ่งที่จะเกิดตามมาจากลหุ​ตา ความเบาสบาย​ ความผ่อนคลาย​ คือ​ ความแกล้วกล้า​ อาจหาญ​ เป็นตบะอ่อนๆ​ ของจิต​ แต่อย่าสนใจ​ ไม่อย่างนั้น​เราจะมี​ "อัสมิมานะ" คือ​ ความถือตัว​ถือตน​ ตัวกูปรากฏ​ ความผ่อนคลาย​"หาย"ทันที 

อันนี้​ต้องจำไว้​ เป็นมายาจิตอย่างหนึ่ง 

เป็น​โรคทางจิตที่เกิดจากความผ่อนคลาย​ถึงที่สุด 

พอมีอิสระ​ มีเสรีภาพ​  ก็มีความอาจหาญ​ แกล้วกล้า​จนกลายเป็น​ตัวกูพอกพูน​มากขึ้น​ 

ทีนี้​ ตัวกูใหญ่ 

อันนี้ต้องระวัง 

...... 

ทิ้งความผ่อนคลาย 

๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓ :  รู้ลม 

ทำความรู้จักลม 

ดูว่า​ ลมเข้าอยู่​ หรือลมออกอยู่ 

เข้ายาว​ หรือออกสั้น 

หรือเข้ายาว​ ออกยาว 

เข้าสั้น​ ออกสั้น 

สังเกต 

ขั้นนี้ต้องใช้ปัญญาเยอะหน่อย 

ผ่อนคลาย​ คือ​ พักมามากพอแล้ว 

ทีนี้จะใช้พลังแห่งปัญญา​วิเคราะห์​ "ลม" 

 
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ :  รู้ลม 

ทิ้งความผ่อนคลาย​มา​"รู้ลม​" คือ​ มาอยู่กับลมหายใจ​ 

....... 

รู้ลม​ เฉยๆ​ ไม่ได้ให้ไปบังคับ​ลม 

รู้ว่าลมเข้า 

รู้ว่าลมออก 

รู้ว่า​เข้ายาวหรือเข้าสั้น 

ออกยาวหรือออกสั้น 

รู้ว่าลมที่เข้าและออก​ หนักหรือลมเบา 

รู้ว่าลมหยาบหรือลมละเอียด 

รู้ว่าลมเย็น​หรือลมร้อน 

ขั้นนี้ต้องใช้สัมปชัญญะ​ เรียกว่า​ ใช้ปัญญา​เยอะ 

...... 

"รู้"อย่าง​เดียว​ 

ยังไม่ต้อง​ "ตามดู" 

"ตามดู" ​คือ​ ดูว่าลมเข้าทางไหน​ ออกทางไหน​ ผ่านจุดไหน​ อย่างนี้เรียกว่าขั้น"ตามดู" 

แต่ขั้น​"รู้ลม" คือ​ 

รู้ชนิดของ​ลม 

รู้ลักษณะ​ของ​ลม 

ที่เข้าและออก 

....... 

เพิ่มคำภาวนาเข้าไป 

หายใจเข้า​ "สัตว์​ทั้งปวง​จงเป็น​สุข" 

หายใจออก​ "สัตว์​ทั้งปวง​จงพ้นทุกข์​" 

...... 

พอ.. ยกมือไหว้​พระ​กรรมฐาน​ แล้วเตรียมแผ่เมตตา 

-------------- 

 

๑๖.๐๐ น. หลังปฏิบัติธรรม 

เบามั้ย? 

สังเกต​มั้ยว่า​ 

กายรวมใจ​กับผ่อนคลาย​ อันไหนทำง่ายกว่ากัน?(ผ่อนคลาย) 

กูนึกแล้ว.. ไม่เอาถ่าน​ 

กูก็คิดว่า​ มึงทำผ่อนคลายน่ะสบาย.. คุ้นเคย​ เคยชิน 

แต่กายรวมใจ​ ต้องประคับประคอง​ ต้องระมัดระวัง​  

ต้องพินอบพิเทา​ ต้องคอยดึง.. เดี๋ยวแวบๆ​  

แต่ผ่อนคลาย​นี่ไม่แวบ.. วูบเลย​ 

พอบอก​ ผ่อนคลาย​ นี่ทันทีเลย​ ของชอบ 

พอ รู้ลม ชัดขึ้นมั้ย? 

แต่ละขั้นตอน ถ้าทำให้ตั้งมั่นอย่างแนบแน่น หรือแนบแน่นอย่างตั้งมั่น พอถึงขั้น รู้ลม ตามดูลม จะเห็น"นิมิต" ทั้ง ขั้น ทั้งรู้ลมก็เห็นนิมิต.. ตามดูลมก็เห็นนิมิต 

แต่ถ้าทั้ง​ ๒​ ขั้นตอน​ คือ​ "กายรวมใจ" ​ และ​"ผ่อนคลาย" ไม่ชัดเจน​ ไม่แนบแน่น​ พอถึง​ขั้น​ "รู้ลม" กับ​ "ตามดูลม"  นานล่ะทีนี้​กว่าจะเห็นนิมิต 

ฉะนั้น​ ทำแต่ละขั้นตอน​แบบนี้.. ทำทีละขั้นตอน อย่าใจร้อน​ อย่าใจเร็ว อย่าเร่งกระบวนการ​ แล้วสุดท้าย​จะได้ไม่เท่าเสีย​ จะกลายเป็น​คนฝึกนิสัยใจเร็วด่วนได้​ และทำอะไรแบบลวกๆ​ หยาบๆ​ ไม่ชัดเจน​ สุดท้าย​จะพัฒนา​กลายเป็น​ความไม่ซื่อสัตย์​ต่อตัว​เอง​และคนอื่นๆ​ ไม่ซื่อสัตย์​ต่อสัจธรรมและไม่ซื่อสัตว์ต่อคนอื่น ๆ  

 

ฉะนั้นมนุษย์​ทำอย่างไรได้อย่างนั้น​ลูก ฝึกอย่างไร​ก็จะได้แบบนั้น 

 

วิถีแห่งพระโพธิญาณ วิชาปราณโอสถ เป็นวิชาลับเฉพาะ แต่ถามว่า ทำไมมาฝึกมาสอน? 

สถานการณ์​วิกฤติ​อย่างนี้​ มนุษย์​เป็นคนทำร้าย​ตัวเองมาตลอด พระพุทธ​เจ้า​ทรงชี้ประโยชน์​ตนและประโยชน์​ท่านให้ถึงพร้อม​ ก็สมควรที่จะ​ทำให้​มนุษย์​ได้รู้จักผ่อนคลาย​ในความทุกข์​ที่บีบคั้น​จากพฤติกรรม​ของตน ๆ 

 

มันเป็นหน้าที่​อยู่แล้ว ..เพราะฉะนั้น บอก​แล้ว​ สอนแล้ว​ ก็รู้จักเอากลับไป​ฝึกบ้าง อย่ามารอเวลาว่า มาวัดแล้วค่อย​ทำ

แหล่งข้อมูล 

มูลนิธิธรรมอิสระ.  (๒๕๖๖).  ปราณโอสถขั้นที่ ๑ - ๓ ทำทีละขั้นตอนให้ชัดเจน แนบแน่น ตั้งมั่น ใน ปราณโอสถ:

     กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม, (น.๒๐๓ - ๒๑๖). นครปฐม: มูลนิธิ.

 

 

 

46 | 6 สิงหาคม 2024, 14:44
บทความอื่นๆ