วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๒๘ ปฏิบัติธรรม กายรวมจิต จิตรวมใจ

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา

ชื่อเรื่อง ปฏิบัติธรรม กายรวมจิต จิตรวมใจ  

แสดงธรรมวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖

 

สาระสังเขป

       อธิบายความแตกต่างระหว่าง จิต กับ ใจ ว่าจิตคือสภาวะ พลังงานอย่างหนึ่งที่ รับ จำ รู้ คิด ใจคือธาตุดินธาตุหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย เมื่อประชุมรวมกัน และมีจิตคอยควบคุมจึงมีอำนาจจิต ฝึกให้กายรวมจิตเป็นอาจิณ มีประโยชน์คือเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย  ทำลายความเครียด  แก้ปัญหาสภาวะอารมณ์จิตที่บีบคั้น ฝึกรู้อยู่พร้อมเฉพาะภายในกาย คือผู้มีสุจริตธรรม มีความซื่อตรง ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลายธาตุดินน้ำลมไฟในกาย ผ่อนคลายจนกลายเป็นความเบา ฝึกความผ่อนคลายให้ได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน จึงจะเรียกว่า ใช้ได้ ขั้นสุดท้ายทิ้งความผ่อนคลาย กลับไปดูลมหายใจ

คำสำคัญ

         จิต, กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน, กาย, ลหุตา, ธาตุ ๔

เนื้อหา 

กายรวมใจ ลูก ฝึกให้เป็นวสี  เป็น”อาจิณณกรรม”  เป็นความชำนาญ ปฏิบัติธรรม หมั่นสะสมคุณงามความดี เพื่อเป็นเกราะคุ้มภัยให้แก่ตนและคนรอบข้าง บ้านช่อง ประเทศแผ่นดิน  ทำบ่อยๆ ทำเรื่อยๆ ทำต่อเนื่อง ทำเนืองๆ เราจะสังเกตเห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน จะทรงชวนคนปฏิบัติธรรมตลอด .. นั่งสมาธิ สวดมนต์ เพื่ออะไร โดยความเชื่อที่ว่า ถ้าทุกคนในบ้านเมืองทำดี ทำบุญกุศล แล้วบ้านเมืองจะสงบเรียบร้อย แคล้วคลาดปลอดภัยจากภัยทั้งหลายที่มาจากลม จากเพลิง ฟ้า ฝน จากความเลวร้ายทั้งหลาย เพราะพระองค์ทรงเชื่อ ทรงศรัทธาในคุณงามความดี 

….. 

  กายรวมใจ  

ใจรวมกาย จิตรวมกาย จิตรวมใจ ใจรวมจิต 

         ถามว่า จิตกับใจ ต่างกันมั้ย จิต คือ สภาวะ พลังงานอย่างหนึ่งที่ รับ จำ รู้ คิด #ใจ คือ ธาตุดินธาตุหนึ่งที่อยู่ในร่างกาย  

ฉะนั้น ความหมายของคำว่า จิตรวมใจ คือ พลังงานรวมกับธาตุดิน  ดินรวมกับธาตุน้ำ  น้ำรวมกับธาตุลม  ลมรวมกับธาตุไฟ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมรวมกัน และมีจิตคอยควบคุม คือมีพลังงานคอยควบคุม มีอำนาจจิต หรือเรียกว่า จิตตานุภาพคอยคุ้มกัน ควบคุม 

ทำให้เป็นอาจิณ เรื่อง กายรวมจิต จิตรวมกาย ทำบ่อยๆ ทำให้ได้ทุกวัน ทำต่อเนื่องยาวนาน ทำอย่างตั้งมั่น ยั่งยืน 

๑.   ที่มาจากเหตุปัจจัยของ ตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส อารมณ์ที่ปรากฎ 

กายรวมจิต แก้ได้หมด 

…… 

ฝึกให้ จิตรวมกาย 

ฝึกให้ กายรวมจิต 

ยืนอยู่ กายรวมจิต 

เดินอยู่ จิตรวมกาย 

นั่งอยู่ กายรวมจิต 

นอนอยู่ จิตรวมกาย 

….. 

รวมเฉยๆ  

-ไม่ต้องคิด  
-ไม่ต้องเครียด   
-ไม่ต้องวิตกกังวล  
-ไม่ต้องใคร่ครวญ  
-ไม่ต้องพินิจพิจารณา หรือ คำนึงนึกคิดใดๆ 
-เหมือนกับเราเข้าห้องนอนแล้วนอนเฉยๆ หลับ  
-เหมือนกับเราเข้าไปอยู่ในถ้ำ …ตาไม่เห็น หูไม่ฟัง จมูกไม่ดม ลิ้นไม่รับ กายไม่สัมผัส 

รู้อยู่พร้อมเฉพาะภายในกาย 

…… 

รวมเฉยๆ  อย่าว้าวุ่น อย่าวุ่นวาย 

รวม แล้วตั้งมั่นเฉยๆ  “สุจริตธรรม” เขาจะใช้กันตอนนี้  

เราจะเห็นผลแห่งสุจริตธรรม คือ ความซื่อตรง ทั้งชีวิต เราทำความซื่อตรง ทำอย่างไร พูดอย่างนั้น  พูดอย่างไร คิดเช่นนั้น 

ทำ พูด คิด เรื่องเดียวกันมาตลอด  
ถึงเวลาที่เราจะทำความถูกต้อง ชัดเจน มันง่ายมาก 

กายรวมใจ คือ รวมใจ  

-ไม่ว้าวุ่น  
-ไม่สับส่าย  
-ไม่ทุรนทุราย  
-ไม่เศร้าหมอง  
-ไม่ขุ่นมัว  
-ไม่วิตก  วิจาร
-ไม่คิดคำนวณใดๆ  
              แค่กายรวมใจเฉยๆ อย่างนี้เขาเรียกว่า ผู้มีสุจริตธรรม ผู้มีความซื่อตรง แต่ถ้าทั้งวัน เราทำเป็นอาจิณในความว้าวุ่น คิดเรื่องหนึ่ง ทำเรื่องหนึ่ง พูดอีกเรื่องหนึ่ง คนละเรื่องกันตลอด พอถึงเวลาเราจะทำจริงๆ จังๆ ให้ได้ผลจริง เห็นผลจริงอย่างตรงไปตรงมา ชัดเจน ซื่อตรง เรื่องเดียวกันหมด ทำไม่ได้ อยู่ไม่ได้ พอทำไม่ได้ อยู่ไม่ได้ ตั้งมั่นไม่ได้ ก็กลายเป็นความว้าวุ่น วุ่นวาย ฟุ้งซ่าน ทุรนทุราย 

…… 

๐ ขยับขึ้น ขั้นที่ ๒  

กายรวมใจ แล้วก็ผ่อนคลาย 

พอถึงขั้นผ่อนคลาย  

ทำเบา ๆ สบาย ๆ  

ทำจิตให้สบาย ๆ 

ทำอารมณ์ให้สบาย 

 

๐ ผ่อนคลาย กล้ามเนื้อ ผ่อนคลาย ธาตุดิน 

-ตับไต ไส้ ปอด ม้าม หัวใจ อาหารใหม่ อาหารเก่า พังผืด เส้นเอ็น ข้อกระดูก ผ่อนคลายย 
-กล้ามเนื้อ หนัง ไขมันข้น ไขมันเหลว ผ่อนคลาย 
-ทุกอย่างในร่างกาย ผ่อนคลาย 

 
๐ ผ่อนคลาย น้ำในร่างกาย   

น้ำดี น้ำเสลด น้ำหนอง น้ำอุจจาระ น้ำปัสสาวะน้ำมูตร น้ำเหลือง น้ำเลือด 

ทุกอย่างผ่อนคลายหมด 

….. 

๐ ผ่อนคลายแม้กระทั่งลมหายใจ 
ลมขึ้นเบื้องบน ลมลงเบื้องต่ำ ลมในช่องท้อง ลมในลำไส้ ลมที่พัดทั่วสรรพางค์กาย แม้ลมหายใจที่เข้าและออก ผ่อนคลาย ไม่เป็นภาระ ไม่หนัก ไม่ต้องมาวิตกกังวล 

รู้ว่าลมเข้าอยู่  รู้ว่าลมออกอยู่ แต่ผ่อนคลาย 
- ลมพัดขึ้นเบื้องบน 
- ลมพัดลงเบื้องล่าง 
- ลมอยู่ทั่วสรรพางค์กายทั้งภายในและภายนอก 
- ลมที่ชำแรกไปตามรูขุมขน 

 ผ่อนคลายหมด 

ดิน น้ำ ลม ผ่อนคลาย 

๐ แล้วก็ผ่อนคลายธาตุไฟ 

ไฟที่เผาลน ร้อนรุ่ม ว้าวุ่น ทุรนทุราย อึดอัด ขัดเคือง หยาบกระด้าง ให้กลายเป็นสุขุม สงบเย็น 

…… 

ผ่อนคลาย จนกลายเป็นความเบา “ลหุตา” คือ ความเบา 

  เบารูป เบานาม ก็เรียก 

  เบากาย เบาจิต ก็เรียก 

  เบาในสภาวะแห่งภาระทั้งหลายในกาย ก็เรียก 

….. 

๐ หลับตาผ่อนคลาย ก็ต้องรู้จักฝึกลืมตาผ่อนคลาย 

เราต้องฝึกความผ่อนคลายให้ได้ในขณะที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน จึงจะเรียกว่า ใช้ได้ 

ดังนั้น สถานการณ์โลกที่บีบคั้นทางตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส และอารมณ์ 

ที่ปรากฎ ลืมตารู้ หูตื่นฟัง จมูกรับดม ลิ้นรับรส แต่ถ้าทำให้ผ่อนคลายได้ในขณะที่ตื่น ไม่ใช่แค่หลับตา มันเป็นคุณูปการ เป็นอุปการคุณต่อการดำเนินชีวิต สภาวะแวดล้อมที่บีบคั้นจะไม่สามารถมาทำร้ายเราได้เลย บรรยากาศรอบตัวบีบคั้นขนาดไหน เราจะอยู่ได้อย่างเบาสบาย ผ่อนคลาย เพราะเรารู้จักที่จะผ่อนคลาย ไม่ยึดติด ไม่เอามาปรุงแต่ง ไม่มาทำร้ายทำลายเราได้ 

….. 

๐ ทิ้งความผ่อนคลาย กลับไปดูลมหายใจ 

หายใจเข้าอยู่ หรือ หายใจออกอยู่ 

หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข 

หายใจออก ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ 

….. 

ยกมือไหว้พระกรรมฐาน 

แหล่งข้อมูล

หลวงปู่พุทธะอิสระ.  (๒๕๖๗). ปฏิบัติธรรม  กายรวมจิต จิตรวมใจ  ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ  กรรมฐานในวิถี

มรรคาปฏิปทา, (น. ๒๖๔ - ๒๗๑).  นครปฐม: มูลนิธิ.

หลวงปู่​พุทธะอิสระ แสดงธรรม ปฏิบัติธรรม และเจริญพระพุทธมนต์ ช่วงบ่าย ๑ ตุลาคม ๒๕๖๖

https://www.youtube.com/watch?v=CEWYlqUVkEY

87 | 8 ธันวาคม 2024, 20:59
บทความอื่นๆ