บทที่ ๑๗ ทุกข์กายอยู่ แล้วใจเป็นทุกข์ เราจะแยกใจอย่างไร
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
ชื่อเรื่อง ทุกข์กายอยู่ แล้วใจเป็นทุกข์ เราจะแยกใจอย่างไร
แสดงธรรมวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖
สาระสังเขป
สอนการดำเนินชีวิตในภาวะเศรษฐกิจก็ไม่ดี อยู่แบบพอดี พอมี พอเหมาะ พึ่งพาอาศัยตัวเองได้ มีสติ รักษาตัวรอด ผ่อนคลายตัวเองจากความบีบคั้น ความครอบงำของตัณหา กิเลส ให้เบาบางลงไป จะทำอย่างไรจะแยกความทุกข์ทางกายออกได้ โดยไม่ให้ทุกข์ใจ ถ้ารู้จักหยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น ทุกข์กายไม่เกิด ทุกข์ใจก็ไม่มี อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ได้วาง ฝึกสติให้เยอะ ๆ สร้างตัวรู้ ให้มาก ปัญญาเกิดจากการฟัง คิด และลงมือทำ สติ สมาธิ ต้องรู้ข้างนอกและข้างในชัดเจน อย่างตั้งมั่น การฝึกเดินถอยหลัง เป็นการรู้ใน การเดินอ้อม เป็นการรู้นอก รู้ใน รู้ใน รู้นอก จิตแยกให้ชัดเจนว่า อันนี้รู้ใน อันนี้รู้นอก การภาวนา เป็นการรู้นอก การระมัดระวังกาย วาจา ใจของตน เป็นการรู้ใน กำลังเดินอยู่ ยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ เท่านี้ถือว่าเป็น ความรู้ใน และทำให้ความรู้นั้นตั้งมั่นอยู่ นี้ สติ สมาธิ ปัญญาก็เกิดขึ้น อะไรตามมาบีบคั้นทางกาย ก็วางได้อย่างง่ายดาย
เนื้อหา
เจริญธรรม เจริญสุข ท่านสาธุชนคนใฝ่ดีที่รักทุกท่าน
วันนี้เป็นวันแสดงธรรมประจำเดือนสัปดาห์ที่ ๒ ของเดือน เดือนหน้าคงจะเป็นสัปดาห์แรก ถามว่าทำไมไม่คงที่ ขึ้นอยู่กับความสะดวกของคุณหมอ เพราะว่าเราจะนัดมีการตรวจไข้ในช่วงต้น ๆ ของเดือน การจะทำจิตอาสาก็ต้องขึ้นอยู่กับความสะดวกของเขา ส่วนสัปดาห์ที่ ๔ ไม่ขยับ สรุปแล้วเดือนหนึ่งแสดงธรรม ๒ ครั้ง คือ สัปดาห์ต้น ๆ เดือน กับสัปดาห์ที่ ๔ ของเดือน
ถามว่า ทำไมก่อนหน้านู้น แสดงธรรมเดือนละ ๓ ครั้ง ทำไมเที่ยวนี้แสดงธรรมแค่เดือนละ ๒ ครั้ง
๒ ครั้ง นี่ก็จะเป็นอรหันต์กันหมดแล้ว แสดงเยอะกว่านี้ เดี๋ยวจะบรรลุกันใหญ่โตมโหฬาร แล้วกูไม่รู้จะไปสอนใคร เดี๋ยวเหลือแต่เสา ๒ ครั้ง นี่ก็ให้ได้มาเถอะ เพราะธุรกิจธุรกรรมของคนยุคปัจจุบัน บีบคั้นบีบรัด การเดินทางจำเป็นต้องใช้ปัจจัยสนับสนุน
ทุกวันนี้ เศรษฐกิจก็ไม่ดีนัก ฝืดเคือง ใครว่าเศรษฐกิจดี ๆ อิ่มจังยังขายดีอยู่ แต่ละสาขาผู้คนส่วนใหญ่จะมากินฟรี รับอาหารฟรีทุกวัน เราจะเห็นว่า สถานการณ์ยังชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่
คนแก่ยุคปัจจุบันปรับตัวยาก อยู่กับโลกปัจจุบันยากขึ้น ไม่ใช่เฉพาะคนไทย ฝรั่ง จีน เหมือนกันหมด โลกยุคใหม่ตามเขาไม่ค่อยทัน
ถามว่า แล้วจะอยู่กันอย่างไร อยู่แบบเรา ๆ อย่างนี้แหละ อยู่แบบพอดี พอมี พอเหมาะ เพื่อว่าการอยู่แบบพึ่งพาอาศัยตัวเองได้ วันหนึ่งข้างหน้าถ้าเกิดเรื่องราวลำบากยากแค้นสุดแสนจะเยียวยา เกิดสงคราม มหาอุทกภัย มหาวาตภัย คนที่จะอยู่ได้ คือ พวกเรา
พวกไปไว ๆ อยู่ไม่ค่อยได้ แม้จะมีชีวิตรอดอยู่ได้ แต่สุดท้ายต้องมาพึ่งเราอยู่ดี เพราะว่าอะไร เรารู้จักเก็บออม มัธยัสถ์ ระมัดระวัง รู้จักมีสติ รู้จักคิดการล่วงหน้า เดินหน้า ถอยหลัง มีทางไว้ก้าวเดินบ้าง ไม่ใช่ตะบันวิ่งไปข้างหน้าแล้วสุดท้ายไปชนตอตาย ประมาณนั้น
คนยุคปัจจุบันจะเป็นคนที่กล้าได้กล้าเสีย กล้าทุ่มเท บางทีเทจนหมดตัว ไม่เหลืออะไร เห็นเศรษฐีหน้าใหม่ ๆ ออกมา อู้ฟู่ อยู่ไม่นานหมดตัว แถมยังมีคดีความ ติดคุกติดตะราง อันนี้คือความผลีผลาม วู่วาม พูดง่าย ๆ ใช้ชีวิตประมาท
เรื่องความประมาทเป็นหนทางแห่งความตาย ความฉิบหาย นี่เป็นสัจธรรม
คนอายุเยอะ ๆ ถ้าตั้งมั่นอยู่ในความประมาทก็เป็น แต่ถ้าคนมีความไม่มัวเมาประมาท แม้อายุน้อยก็สามารถจะอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์ พระพุทธเจ้าทรงสอน “สังขารนี้มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” คำสอนพระพุทธเจ้าเป็นสัจธรรม สามารถเอามาบูรณาการใช้กับชีวิตประจำวันได้ แต่คนยุคปัจจุบันไม่ค่อยนำเอามาใช้ เขาจะใช้อารมณ์นำหน้า หลักการและเหตุผลว่ากันทีหลัง เอาอารมณ์ ตัวกู เป็นที่ตั้ง ก็เลยได้อย่างที่เห็นที่รู้นั่นแหละ อะไรก็เกิดขึ้นได้เพราะเอาอารมณ์เป็นใหญ่ ไม่ต้องการเหตุและผล อธิบายความยาก อารมณ์กูใช้ได้ พอ
โลกสมัยนี้เป็นอย่างนี้ ยศใหญ่เท่าไหร่ก็อยู่ไม่ได้ถ้ามีอารมณ์นำหน้า ใช้ชีวิตประมาท เกิดจากอะไรบ้าง แม้ที่สุดเอาตัวเองไปติดโรคติดภัย ทั้งหลายก็เป็นความมัวเมาประมาท ไปสนุกสนาน รื่นเริง บันเทิง ติดโรคกลับมา ก็ถือว่าประมาท
มีสติอยู่ในกาย กายไม่ลำบาก
มีสติอยู่ในวาจา วาจาไม่ลำบาก
มีสติอยู่ในใจ ใจไม่ลำบาก
คนมีสติ รักษาตัวรอด เป็นยอดดีทั้งนั้น ไม่เอาตัวเองไปสิ้นเปลือง ไปเสี่ยงวุ่นวายกับความทุกข์ยากเดือดร้อนที่จะเข้ามาทางกายและทางใจ แต่ถ้าไม่มีสติยับยั้งชั่งใจ อะไรก็เกิดขึ้นได้ ปล่อยกายให้ตกอยู่ในอำนาจกระแสแห่งความทะยานอยาก เรียกว่า ตัณหาพาไป ระวัง คนยุคปัจจุบันเป็นอย่างนี้ มีชีวิตอยู่ด้วยความมัวเมาประมาท ปล่อยให้ตัวเองไหลลื่นไปกับกระแสแห่งตัณหา กิเลสครอบงำ แล้วสิ่งที่ได้มา คือ ความเจ็บปวด ความทุกข์ทรมาน
นี่คือสิ่งที่อยากจะเตือน อยากจะบอกไว้ว่า เราอายุปูนนี้แล้ว ต่างคนต่างอยู่ในโลกมานานแล้ว จะมามัวเมาอะไรเยอะแยะ ผ่อนคลายตัวเองจากความบีบคั้น ความครอบงำของตัณหา กิเลส ให้เบาบางลงไป อย่าปล่อยให้มันยึดติด อะไรที่พอจะวางได้ก็วาง หยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น หลักคิดอย่างนี้
มีคำถามว่า จะทำอย่างไรจะแยกความทุกข์ทางกายออกได้ โดยไม่ให้ทุกข์ใจ
คนที่ทุกข์กายอยู่ แล้วใจเป็นทุกข์ เราจะแยกใจอย่างไร ตอบไปว่า ถ้ารู้จักหยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น ทุกข์กายไม่เกิด ทุกข์ใจก็ไม่มี แต่ถ้าหยิบแล้วไม่รู้จักวาง ยึดเอาไว้ตลอดเวลา ไม่รู้จักว่าง ไม่รู้จักดับ ไม่รู้จักเย็น เดี๋ยวก็ทุกข์ทั้งกายทั้งใจ ทรมานทั้งกายทั้งใจ ดิ้นจนหนังกลับ นอนดิ้นอยู่อย่างนั้นแหละ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย กินไม่ได้นอนไม่หลับ ทุรนทุราย ทุกข์ทรมาน เร่าร้อนจิตใจ บางทีกายไม่ได้เป็นอะไร จิตใจเร่าร้อน กายป่วยทรมานไปด้วย
เรื่อง วาง ว่าง ดับ เย็น เป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับการดำเนินชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบัน
ถามว่า จะวางอย่างไรได้ อะไรเป็นเหตุปัจจัยให้ได้วาง ฝึกไงลูก ฝึกสติให้เยอะ ๆ สร้างตัวรู้ ให้มาก บอกแล้วว่า มนุษย์ไม่ใช่ได้ดีเพราะมียี่ห้อเป็นมนุษย์ มนุษย์ได้ดีเพราะมีการฝึก ศึกษา สั่งสม อบรม เรียนรู้ ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ แล้วจะรู้ ไม่ใช่อยู่เฉย ๆ แล้วจะได้ดี อยู่เฉย ๆ ไม่รู้หรอก อยู่เฉย ๆ ก็ไม่ดีหรอก ต้องฝึก
อยากได้ปัญญา
๑. สุคตมยปัญญา ฟัง
๒. จินตมยปัญญา คิด
๓. ภาวนามยปัญญา ลงมือทำเสียที
อยากได้ สติ สมาธิ ต้องรู้ ๒ อย่าง คือ
- รู้ข้างนอกชัดเจน
- รู้ข้างในชัดเจน
- รู้อย่างตั้งมั่น รู้อย่างมั่นคง
ไม่ใช่เดี๋ยวรู้นอก เดี๋ยวรู้ใน เดี๋ยวรู้ใน เดี๋ยวรู้นอก รู้ไปรู้มาเลยมั่วไปหมด.. ใน-นอก แยกไม่ออก
สุดท้าย กูไม่รู้อะไร อันนี้ถือว่า ไม่ได้สติ ไม่มีสมาธิตั้งมั่น
วิธีฝึกสติ ต้องรู้นอกชัดเจน รู้ในชัดเจน
-นอกก็รู้ รู้อย่างชัดเจน ตั้งมั่น
-ในก็รู้ รู้อย่างชัดเจน ตั้งมั่น
แยกให้ชัดว่าอันนี้รู้นอก หรืออันนี้รู้ใน นั่นคือ วิธีการฝึกสติ สมาธิ
ทุกวันหลังจากทำพระเสร็จ กูจะเดิน เช้าถ้ามีเวลายังไม่ทันเพล มีเวลาเหลือก็เดิน กูไม่ได้เดินหน้า กูเดินรอบนี่ เดินวนถอยหลังด้วย แล้วสวดสาธยาย
- เดินถอยหลัง รู้ใน
- รู้นอก ด้วยการสาธยายมนต์บทเทพรัญจวนจนกว่าจะจบ
- เดินอ้อม ..รู้นอก รู้ใน.. รู้ใน รู้นอก...จิตแยกให้ชัดเจนว่า อันนี้รู้ใน อันนี้รู้นอก ถ้าไม่รู้เลย เดินล้ม ชนนู่น ชนนี่ ชนนั่นไปหมด
- เดินถอยหลัง ไม่มีตาหลัง ต้องรู้ใน เพื่อระมัดระวังไม่ให้เดินชน ต้องใช้ความรู้ในวิเคราะห์ เดินเลี้ยวไปตามรูตามร่อง ตามช่องที่ว่าง อันนี้รู้ใน
- ภาวนา ก็รู้นอก บทภาวนาแต่ละบท ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข ขอสัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ ท่านผู้มีพระคุณทั้งหลายที่ได้ให้อาหาร ข้าว น้ำ ปัจจัยสี่ แก่ข้าพเจ้า ทั้งหมดนี่ รู้นอกทั้งนั้น
- แต่การระมัดระวังกาย วาจา ใจของตน เป็นการรู้ใน เรียกว่า รู้กายในกาย
ฝึกให้ได้ทุกวัน ๆ
- พวกมึงไม่ต้องเดินถอยหลังหรอก เดี๋ยวรถชนตาย แค่รู้ว่า กำลังเดินอยู่ ยืนอยู่ นั่งอยู่ นอนอยู่ เท่านี้ถือว่าเป็น ความรู้ใน และทำให้ความรู้นั้นตั้งมั่นอยู่ เรียกว่า รู้ในชัดเจน
- ทีนี้ มีข่าวสารข้อมูลเรื่องราวทั้งหลาย เราออกไปรู้ ก็รู้นอก รู้ให้ชัดเจน รู้ให้จริงจัง อย่างนี้เรียกว่า รู้นอก
- การงานที่เราจะต้องทำ รู้ให้ชัดเจน จริงจัง รู้แล้วตั้งมั่น อย่างนี้เป็นต้น
ฝึกอย่างนี้บ่อยๆ ทั้งรู้นอก รู้ใน และให้เกิดปัญญา…ฟัง คิด ทำ
ฟัง คิด ทำ ทีนี้ สติ สมาธิ ปัญญาก็เกิดขึ้น อะไรตามมาบีบคั้นทางกาย ก็วางได้อย่างง่ายดาย
อะไรเข้ามาแทรกซึม ทำร้ายทำลายทางจิตใจ ก็สลัดหลุดได้อย่างสบาย ๆ เพราะเราฝึกทั้งรู้นอก รู้ใน ฝึกทั้งปัญญาอันคมกล้า ให้แจ่มชัดขึ้นตลอดเวลา
มีชีวิตอยู่กับการฝึกปรือ วันทั้งวัน เราว่างเว้นจากการงานก็นำมาพิจารณา มาฝึก…ฝึกกาย ฝึกใจ อายุมากขึ้น แต่ที่ไม่เยอะขึ้นเลยคือปัญญา และอะไรที่เยอะขึ้น ความโง่ ความแก่ ความเสื่อม นี่เยอะขึ้น ถ้าสติ สมาธิ และปัญญาเรายังก้าวตามไม่ทันความโง่ ความเสื่อม ความแก่ คร่ำคร่า ที่ไปน่าอนาถ พญายมราชกวักมือเรียก มานี่ กูรอแล้ว ยมบาลหัวเราะร่า มาอีกแล้วเหยื่อ
ถ้ารู้นอก รู้ใน ชัดเจน มีสติ สมาธิ ปัญญาแจ่มชัด อันนี้ ยมบาลขยาด เหมือนกับที่
พระศาสดาทรงแสดงกับพระโมฆราช “ถ้าอยากให้มัจจุราชมองไม่เห็นเธอ จงมองโลกเป็นของไม่มี หรือมองโลกเป็นของว่าง” สอนง่าย ๆ สั้น ๆ ไม่เยิ่นเย้อ ยืดยาด
แต่กว่าพระโมฆราชจะมองโลกเป็นของว่างได้ ต้องฝึกอย่างมหาศาล จะมองโลกให้ทุกอย่างว่างหมด ฝึก ศึกษา สั่งสม ใช้เวลากี่ร้อยกี่พันอสงไขย สั่งสมไปเรื่อย ๆ ไม่ได้ว่างเว้นต่อการฝึกปรือ
พอมีคำสอนนี้ขึ้นมา ปิ๊งขึ้นมาทันที เรียกว่า มีปุพเพกตปุญญตามาก่อนเก่า ผู้ทำบุญไว้ดีแล้วแต่กาลก่อน มีผลเสมอ ลูก แล้วทำบาปมาแต่กาลก่อน ก็มีผลเหมือนกัน กรรมทุกอย่างไม่ได้เป็นหมัน ต้องตอบสนองได้ตลอดเวลา จะช้าจะเร็วเท่านั้นเอง
๐ สรุปรวมแล้ว อย่าปล่อยชีวิตให้มัวเมา ประมาท ลูก
คนไม่ประมาท จะอยู่ในโลกนี้ได้ แต่ถ้าเมื่อใดที่ประมาทขึ้นมา อยู่ยาก สังคม สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปแบบชนิดก้าวกระโดด เราท่านทั้งหลายถ้าตามมันไม่ทันก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามมัน
ถามว่า วัยสลิ่มอย่างพวกเราต้องวิ่งตามมันมั้ย ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามมัน เพราะตามมันก็เป็นทุกข์เรา เป็นภาระแห่งเรา อยู่อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ นี่แหละ แต่อยู่แบบเรียนรู้ ศึกษา ค่อยเป็นค่อยไป อย่าไปกระโดดตามมัน ไม่จำเป็นต้องเป็นสาวสังคม หนุ่มสังคม เพราะช่วงชีวิตที่เหลือ อยู่เพื่อเอาตัวรอด อยู่ให้รอด
การอยู่ให้รอด ไม่จำเป็นต้องวิ่งตามใคร ใครจะนำหน้าเราไปก็ช่างหัวมัน สุดท้ายมันก็ตายรอเราอยู่ข้างหน้า ส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น ถามว่าเสมอไปมั้ย ไม่เสมอ คนที่มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีความตั้งมั่น ไม่ประมาท ไม่มัวเมา อาจจะวิ่งพาเราไปได้ไกล ถือว่าเป็นพลวัตในการนำพาประเทศไปสู่ความรุ่งเรือง เจริญในอนาคตได้ หรือว่าเป็นอนาคตของชาติ แต่คนแบบนี้มีน้อยมากในสังคมยุคปัจจุบัน ที่ทำตัวเองเป็นพลวัต เป็นพลังแผ่นดิน นำพาบ้านเมืองไปสู่ความรุ่งเรืองเจริญในอนาคตได้ ส่วนใหญ่จะฝันเฟื่อง เพ้อฝัน มโนไปเรื่อย ไม่มีหลักการที่มาที่ไป ไม่ยืนอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงและสถานการณ์ในปัจจุบัน สุดท้ายไปตายอยู่ข้างหน้า
เราเองไม่จำเป็นต้องไปวิ่งตามเขา มีชีวิตอยู่อย่างเรา ๆ เป็นของเรานี่แหละ
แต่เป็นเรา ๆ ของเราที่ไม่มัวเมาประมาท ตั้งมั่นอยู่ในเส้นทางที่มีศีล มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา มีทาน มีธรรม อันเหมาะสม ดำรงตนอยู่ในโอวาทธรรมของพระบรมศาสดาให้เพียบพร้อม เหมาะสม
ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นความทันสมัยเสมอ เว้นแต่ว่าอะไรที่ไม่ใช่ธรรมะ พยายามโฆษณาตัวเองว่าเป็นวิวัฒนาการ เป็นความศิวิไลซ์ เลิศหรูอลังการ สุดท้ายจบลงตรงคำว่า ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีอยู่จริง จบลงตรงนั้น ไปไหนไม่ได้ อย่าไปวิ่งตามมัน ขืนวิ่งตามมัน สิ่งหนึ่งที่จะเกิดแน่ ๆ คือภาระ คือความทุกข์
ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งห้า เป็นของหนักเน้อ
ภาระหาโร จะ ปุคคะโล บุคคลนั่นแหละ เป็นผู้แบกของหนักพาไป
ภาราทานัง ทุกขัง โลเก การแบกถือของหนัก เป็นความทุกข์ในโลกเน้อ
ภาระนิกเขปะนัง สุขัง การสลัดของหนัก ทิ้งลงเสีย เป็นความสุขจริงหนอ
มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันอย่างเหมาะสม พอเพียง
เราท่านทั้งหลาย สลิ่มจ๋า จะบูดจะเน่า แต่ขอให้มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันอย่างเหมาะสม พอเพียง เป็นสุข ตามอัตภาพของตนที่มี อย่าเห่อเหิม ทะเยอทะยาน อายุปูนนี้แล้ว เป็นไปตามอาการ ตามวัย
สมัยเราเป็นหนุ่มเป็นสาว ขยันก้าวทีละก้าว ก้าวบ่อย ๆ แต่เป็นย่างก้าวแห่งความมั่นคง เรียกว่ามีสถานภาพรองรับบนพื้นฐานความเท่าเทียมถูกต้องเหมาะสมตามสานุรูปของตน แต่สมัยนี้ก้าวแบบชนิดก้าวกระโดด แบบไม่รู้จักกำพืด ไม่รู้จักสานุรูปของตน ไม่รู้จักความสามารถที่ตนมี ใช้คำว่า เห่อเหิม ทะเยอทะยาน อยากจนบางทีบางครั้งทำร้ายคนอื่น แล้วก็มาทำร้ายตัวเอง สุดท้ายตัวเองมานั่งทุกข์ทรมาน หรือไม่ได้อยู่รับทุกข์ในชาติปัจจุบัน แต่ไปตกทุกข์ได้ยากอยู่ในอนาคตซึ่งไม่รู้จะขนาดไหน
อยากบอกท่านทั้งหลายว่า โลกยุคปัจจุบัน เราท่านทั้งหลายตามมันไม่ทัน แต่เราจะอยู่อย่างไรแบบชนิดที่ไม่ให้มาทับถมเรา ทำร้ายทำลายเรา บีบคั้น ครอบงำเรา
อยู่แบบเราๆ อย่างมีศีล มีธรรม มีทาน มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา
อยู่ในทำนองคลองธรรม คำสั่งสอนของพระบรมศาสดา
เท่านั้นแหละพอแล้ว อยู่รอด อยู่ได้ และอยู่ได้ดีอย่างมีความสุข ผ่อนคลาย
แถมยังเป็นที่พึ่งพาของคนที่ทุรนทุรายได้ด้วย
ลองเป็นอยู่ แล้วเราจะรู้ว่า เราสามารถ
เปิดโอกาสให้ถามปัญหา
แหล่งข้อมูล
มูลนิธิธรรมอิสระ. (๒๕๖๗). ทุกข์กายอยู่ แล้วใจเป็นทุกข์ เราจะแยกใจอย่างไร ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ
กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น. ๒๐๕ - ๒๑๓). นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖, สืบค้น ๒๐ มิถุนายน ๒๕๖๗ จาก
https://www.youtube.com/watch?v=5KwCrNM6ENI