บทที่ ๑๖ กายรวมใจ ก็คือ การฝึกสติกับสมาธิ รู้อยู่ภายในกายเป็นสติ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปฏิบัติธรรมขั้นที่ ๑-๒-๓
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
ชื่อเรื่อง กายรวมใจ ก็คือ การฝึกสติกับสมาธิ รู้อยู่ภายในกายเป็นสติ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปฏิบัติธรรมขั้นที่ ๑-๒-๓
แสดงธรรมวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖
สาระสังเขป
กายรวมใจ หมายถึง กายกับใจรวมกันอย่างตั้งมั่น ไม่ต้องมีคำภาวนา ปราศจากความคิด ปฐมบทของการปฏิบัติธรรมทุกชนิด ขั้นที่สองคือผ่อนคลายทั้งร่างกายและจิต ขั้นที่สามคือรู้ว่าลมเข้าหรือออกอยู่ หยาบหรือละเอียด
เนื้อหา
ยืน ปฏิบัติธรรม
เหมือนอย่างที่เคยสอนทุกที ทำกายรวมใจ
๐ กายรวมใจ
สถานการณ์อย่างนี้ กายรวมใจ เท่านั้นจึงจะอยู่ได้
อำนาจแห่ง กายรวมใจ มีคุณูปการ อุปการะคุณต่อชีวิตและร่างกาย
……
กายรวมใจ หมายถึง กายกับใจรวมกัน
ไม่ใช่รู้นอก แต่รู้ด้านใน เรียกว่ารู้ภายใน ตัดขาดจากความรู้นอกอย่างชัดเจน
ความรู้ข้างนอกไม่เข้ามา และไม่แส่ตัวเองออกไปรับรู้สิ่งใดๆ นอกกาย เรียกว่า ไม่รู้นอก
รู้แต่ภายใน
……
- รู้อยู่เฉยๆ
- ไม่ต้องคิด
- ไม่ต้องใคร่ครวญ
- ไม่ต้องพิจารณา
- รู้อยู่เฉยๆ อย่างตั้งมั่น
…..
กายรวมใจ เป็นปฐมบทของการปฏิบัติธรรมทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นสมถะ วิปัสสนา
วิชาธรรมกาย ยุบหนอ พองหนอ พุทโธ อะไรทั้งหลายล้วนแล้วแต่กำเนิดมาจากคำว่า กายรวมใจ ทั้งนั้น
แม้กระทั่งวิชาปราณโอสถ อักษรสวรรค์ ก็มาจากคำว่า กายรวมใจ
ยิ่งสมถะ ยิ่งปฏิเสธคำว่า กายกับใจรวมกันไม่ได้
ดังนั้น ปฐมบทของการปฏิบัติธรรม คือ ทำให้ กายกับใจ รวมกันอย่างตั้งมั่น
ไม่ต้องมีคำภาวนา
ไม่ต้องพิจารณา
เพราะเรากำลังจะสั่งสม อบรม เจริญสติกับสมาธิ
อย่าลืมว่า สติกับสมาธิ …รู้อยู่ภายในกายเป็นสติ …ตั้งมั่นเป็นสมาธิ
แม้จะใช้ชื่อคำว่า กายรวมใจ แต่ก็คือ การฝึกสติกับสมาธิ
……
เมื่อ รู้ พร้อมเฉพาะภายในกายอย่างตั้งมั่นแล้ว
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
ผ่อนคลาย แม้แต่ ลมหายใจ
มีหลักของคำว่า ผ่อนคลาย คือ วาง ว่าง ดับ เย็น
ขั้นนี้ วาง ว่าง ดับ เย็น
นั่นจึงเรียกว่า ผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์
- กล้ามเนื้อที่เกร็ง มือที่กำ หน้าที่ตึง ไหล่ที่ยก ทุกอย่างที่ขมึงทึงตึงเครียด ผ่อนคลายหมด
- ระบบประสาทผ่อนคลาย
- กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- แขน-ขาผ่อนคลาย
- อวัยวะภายในและภายนอกผ่อนคลาย
- แม้ที่สุด จิตผ่อนคลายจากอารมณ์ทั้งปวง เรียกว่า จิตไม่มีเวทนา
จิตที่ไม่มีอารมณ์ คือ จิตที่ไม่มีเวทนา
…….
ผ่อนคลายอย่างผู้รู้
แต่เมื่อใดที่ ตัวรู้ น้อยลง ความผ่อนคลายจะทับถมจนกลายเป็นความหลับใหล
ตัวรู้น้อยลง คือ ตัวสติน้อยลง นั่นเองแหละ
พอสติน้อยลง ก็จะหลับ จะหลับใหลในความผ่อนคลาย
สิ่งที่เราต้องการเวลานี้ คือ ผ่อนคลายอย่างผู้รู้ เราไม่ต้องการนอนหลับ
แต่ถ้าเมื่อใดที่ต้องการนอนหลับ ผู้รู้จะเบาบาง แต่ผ่อนคลายหนักแน่น เนิ่นนาน หนา กว้าง ใหญ่ จนทำให้เราหลับลงไปได้อย่างผ่อนคลาย อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง
แต่ตอนนี้เราไม่ต้องการนอนหลับ เราจึงจำเป็นต้องรู้อย่างผ่อนคลาย
ผู้เจริญปัญญาต้องฉลาดในจิต
จิตชนิดนี้เหมาะสมกับการงานอย่างนี้
จิตชนิดนี้ไม่เหมาะสมกับการงานอย่างนี้
ผู้ฉลาดในจิต จึงถือว่าเป็นผู้ฉลาดในโลก
……
ยังอยู่กับความผ่อนคลาย
รู้ว่าผ่อนคลาย
รู้อยู่ว่าผ่อนคลาย
- ร่างกายผ่อนคลาย
- กล้ามเนื้อผ่อนคลาย
- ระบบประสาทผ่อนคลาย
- เส้นเอ็นและพังผืดผ่อนคลาย
- กระดูกและข้อกระดูกผ่อนคลาย
- แม้ที่สุด จิตผ่อนคลายจากอารมณ์ร้อยรัด ทั้งปวง เรียกว่า ผ่อนคลายทั้งกายและใจ
ทั้งหมดล้วนเกิดมาจาก กายรวมใจ หรือว่า จิตรวมกาย นั่นเอง
เราจึงจะสามารถพัฒนาไปสู่ขั้นที่ ๒ เรียกว่า ผ่อนคลายได้
…..
ผ่อนคลายจนถึงขั้นจิตเข้าสู่คำว่า “ลหุตา” คือ ความเบา สบาย ..กายเบา จิตเบา
แต่รู้อยู่ว่า กายเบา จิตเบา
…..
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓
ทิ้งความผ่อนคลาย ดู ลมหายใจ ที่เข้าอยู่ หรือออกอยู่
- สังเกตดู จิต ด้วยว่า หยาบขึ้น หรือละเอียด
- พอหันมาดู ลม มีการงานแล้ว
- จิตหยาบหรือ จิตละเอียดอยู่
- จิตมีภาระ หรือเบาอยู่
ตามรู้ด้วย รู้ลม รู้จิต
ขั้นนี้เรียกว่า รู้ลม และรู้จิต
-รู้ว่า ลมเข้าอยู่ จิตมีภาระ หรือจิตเบา
-รู้ว่า ลมออกอยู่ จิตมีภาระ หรือจิตเบา
-ยังไม่ต้องสนใจ ลมหนัก ลมเบา ลมยาว ลมสั้น
รู้ แต่เพียงว่า
-ขณะที่ลมเข้า จิตมีภาระ หนักหรือเบา
-ขณะที่ลมออก จิตมีภาระ หนักหรือเบาแค่นั้น
……
๐ ถอยลงมาอยู่ในขั้นผ่อนคลาย
ทิ้งลมหายใจ แล้วผ่อนคลาย
-รู้จิตด้วยว่า เมื่อวางภาระแห่งการรู้ลมแล้วลงมาสู่ขั้นผ่อนคลาย จิตเบาหรือหนัก
การรู้อย่างนี้เป็นการฝึกสัมปชัญญะ หรือปัญญา
สติกับสัมปชัญญะ ต้องเจริญตามกันมา
……
สรุปรวมว่า ถ้าเราอยากนอน ผ่อนคลายโดยไม่ต้องรู้
แต่ถ้าไม่อยากนอน หรือไม่ต้องการนอน ต้องรู้ว่าผ่อนคลาย
ผ่อนคลายโดยการรับรู้… รู้อยู่ว่า ผ่อนคลาย
เรียกว่า ตัวรู้ คือ สติ จิตที่เบาจากการผ่อนคลาย คือ ปัญญา
….
๐ ถอยกลับมาอยู่ในขั้นที่ ๑ กายรวมใจ
รู้อยู่เฉพาะในกาย พิจารณาให้เห็นจิตแต่ละขั้นๆ อย่างชัดเจนว่า
-จิตอยู่ในขั้น กายรวมใจ มีสภาพอย่างไร
-จิตที่อยู่ในสภาพผ่อนคลาย แล้วรู้อยู่ว่า ผ่อนคลาย มีสภาพอย่างไร
-จิตที่ขยับขึ้นรับรู้ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก มีสภาพอย่างไร
ได้เห็นข้อแตกต่างชัดเจน อย่างนี้เรียกว่า รู้อยู่ภายใน เป็นการงานภายใน
ฝึกให้รับรู้แบบนี้บ่อยๆ ไปเรื่อยๆ จะเข้าใจความหมายคำว่า รู้ในกับรู้นอก แตกต่างกันอย่างไร
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน นั่งลง
(กราบ)
แหล่งข้อมูล
มูลนิธิธรรมอิสระ. (๒๕๖๗). กายรวมใจ ก็คือ การฝึกสติกับสมาธิ รู้อยู่ภายในกายเป็นสติ ตั้งมั่นเป็นสมาธิ ปฏิบัติ
ธรรมขั้นที่ ๑-๒-๓ ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๒๑๔ – ๒๒๐. ). นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ๑๐ กันยายน ๒๕๖๖, สืบค้นวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๗ จาก
https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=5KwCrNM6ENI