วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๑๕ ช่วงปฏิบัติธรรม วิชาปราณโอสถ ขั้นที่ ๑-๒-๓ และย้อนกลับ ๓-๒-๑ เพื่อสร้างความจำ

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา

ชื่อเรื่อง ช่วงปฏิบัติธรรม วิชาปราณโอสถ ขั้นที่ ๑-๒-๓ และย้อนกลับ ๓-๒-๑ เพื่อสร้างความจำ 

แสดงธรรมวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๖ 

 

สาระสังเขป

         สอนปฏิบัติธรรมปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ รู้อยู่เฉพาะภายในกายตน เมื่อกายกับใจรวมกัน จะมีตัวรู้ …รู้อยู่ภายในกายปรากฎขึ้น  เราจะเห็นข้อบกพร่องของกาย ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย

มี ตัวรู้ อยู่ภายใน เราย่อมรู้ว่า ในร่างกายเราตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า มีอะไรที่ไม่ผ่อนคลาย

วิธีการคือ เข้าไปดู กำหนดจิตว่าผ่อนคลายกายทั้งภายในก็ผ่อนคลาย กายภายนอกก็ผ่อนคลาย

ผ่อนคลายจนถึงอารมณ์หนึ่งเรียกว่า ลหุตา คือ ความเบาสบาย อยู่ในขั้นนี้ให้นานที่สุด ให้เกิดอาการผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด เพื่อเยียวยาสิ่งที่บกพร่องภายในร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ สมอง  คนที่ป่วยมานาน มีอาการหนักๆ ทำให้เกิดอารมณ์ลหุตาทุกวันๆ จะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันเราแข็งแรงขึ้น ขั้นที่ ๓  รู้ลมที่เข้าและออก เพียงแค่เข้าไปรู้เฉยๆว่า ลมเข้าอยู่ หรือลมออกอยู่ ถ้าสติตั้งมั่น ปัญญาก่อเกิด เราจะเห็นว่าการกลับมา รู้ลม เป็นภาระ จิตจะหนัก มีการงานเพิ่มขึ้น ทีนี้ความผ่อนคลาย ลหุตา จะหาย แต่จะทำให้ ตัวรู้ ตั้งมั่น คือ สติ เพิ่มพูนขึ้น หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข หายใจออก สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ ทิ้งคำภาวนา อยู่กับลมหายใจ ทิ้งลมหายใจ อยู่กับการผ่อนคลาย (ขั้น ๒) ทิ้งความผ่อนคลาย อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (ขั้น ๑)  

 

เนื้อหา

ลุกขึ้นยืน ปฏิบัติธรรม  

วันนี้ทำให้ถึงขั้นผ่อนคลายแล้วจะรู้ว่า จะแก้โรคไมเกรน โรคปวดหัวได้อย่างไร 

 

  ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ 

กายกับใจรวมกัน  

วัน ๆ เราออกไปข้างนอกบ้านมานานก็ไม่ได้เจริญขึ้น การออกจากบ้านไม่ใช่เป็นเรื่องเสียหาย ลูก ถ้าเรารู้จักเวลาออกควรออก เวลาเข้าควรเข้า  

แต่หลายครั้งหลายคน หรือทุกคนออกไม่รู้จักเข้า เดี๋ยวก็ออกๆ  
สวดมนต์ก็ยังออก ส่งใจไปเรื่อย เลอะเทอะ 

ดึงเข้ามาให้ตั้งมั่นอยู่ภายในกายตน อยู่ให้นานที่สุด 

รู้อยู่เฉพาะภายในกายตน 

 

-ไม่ต้องภาวนาอะไร 

-ไม่ต้องไปคิดทบทวนเรื่องใดๆ 

-ไม่ต่องไปว้าวุ่น ฟุ้งซ่าน หงุดหงิดอารมณ์อะไร 

แค่ ระลึกรู้อยู่ เฉพาะภายในกายตนเฉยๆ 

 

รู้ จนถึงขั้นไหน 

ถึงขั้นตั้งมั่นได้ ไม่วอกแวก ไม่หวั่นไหว ไม่สะดุ้งผวา ไม่ว้าวุ่น ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หงุดหงิด รำคาญ 

…… 

สำรวมกาย สำรวมใจ  ให้กายกับใจรวมกัน 

เมื่อกายกับใจรวมกัน จะมีตัวรู้ …รู้อยู่ภายในกายปรากฎขึ้น  

เราจะเห็นข้อบกพร่องของกาย 

-กล้ามเนื้อเราขมึงทึง ตึงเครียดเกินไปมั้ย 
- นิ้วมือหงิกงอ กำ เกร็งมั้ย 
-ทุกส่วนในร่างกายเราผ่อนคลายดีอยู่หรือไม่ เราจะเห็นมัน 

แต่ตอนนี้เอาเพียงแค่ รู้อยู่เฉพาะภายในกายเฉยๆ   
เราฝึกที่จะไป รู้นอกกาย มาเยอะ มากพอล่ะ ลองฝึกที่ รู้ เข้ามาภายในกาย 

…. 

 

-พอมี ตัวรู้ ตั้งมั่นอยู่ภายในกาย สิ่งหนึ่งที่จะตามมา คือ รู้ลมหายใจ  
อย่าใส่ใจ อย่าไปให้ความสำคัญ 

ทำเป็นขั้นเป็นตอน 

-รู้ เพียงแค่ภายในกายเฉยๆ ส่วนลมหายใจ จะเข้าก็ปล่อยมัน จะออกก็ช่างมัน 

พอ รู้เฉพาะภายในกายแล้ว ทีนี้ขยับขึ้น 

….. 

 

  ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย 

มี ตัวรู้ อยู่ภายใน เราย่อมรู้ว่า ในร่างกายเราตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า มีอะไรที่ไม่ผ่อนคลาย 

วิธีการคือ เข้าไปดู กำหนดจิตว่าผ่อนคลาย 

- สมองผ่อนคลาย 

- ระบบประสาทผ่อนคลาย 

- กล้ามเนื้อประสาท กล้ามเนื้อสมองผ่อนคลาย 

- กล้ามเนื้อใบหน้าผ่อนคลาย 

- กล้ามเนื้อคอผ่อนคลาย 

- ข้อกระดูกทุกส่วนผ่อนคลาย 

- บ่า ไหล่ แขน ท่อนแขนผ่อนคลาย 

- ข้อต่อต่าง ๆ ผ่อนคลาย 

- ไล่ไปทีละจุด ทีนี้จะได้ไม่ต้องมาถามว่า โรคไมเกรน โรคปวดหัว โรคเครียด จะแก้อย่างไร 
ในเมื่อทุกอย่างในร่างกายผ่อนคลาย จะเกิดปัญหาปวดได้อย่างไร 

- ให้ผ่อนคลายให้หมด  
อวัยวะภายนอกทั้งหมดที่พูดมาเมื่อครู่ เรียกว่า อวัยวะภายนอกผ่อนคลาย 

-ทีนี้ มาดู หัวใจ ตับ ไต ใจ ปอด ผ่อนคลาย 

ไม่เกร็ง ไม่เครียด ไม่ขมึงมึง ไม่อึดอัด 

กายทั้งภายในก็ผ่อนคลาย 

กายภายนอกก็ผ่อนคลาย 

ผ่อนคลายจนถึงอารมณ์หนึ่งเรียกว่า ลหุตา คือ ความเบาสบาย 

คนที่ป่วยมานาน มีอาการหนักๆ ทำให้เกิดอารมณ์ลหุตาทุกวันๆ จะสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย ทำให้ภูมิคุ้มกันเราแข็งแรงขึ้น ต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ในระดับที่เราสามารถอยู่ได้ 

….. 

วิชาปราณโอสถขั้นนี้ ถ้าทำได้ทุกวันๆ เช้า-กลางวัน-เย็น วันละ ๓ เวลา  

ทีนี้ ไม่ต้องกลัวโรคเครียด โรคไมเกรน โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่ต้องกลัวจิตตก โรคซึมเศร้า โรคจิตวิปลาส ไม่ว้าวุ่น ร้อนรุ่ม ทุรนทุราย หรือกลัดกลุ้ม 

ทุกอย่างจะจบลงตรงคำว่า ผ่อนคลาย 

….. 

อยู่ในขั้นนี้ให้นานที่สุด ให้เกิดอาการผ่อนคลายให้ได้มากที่สุด เพื่อเยียวยาสิ่งที่บกพร่องภายในร่างกาย จิตใจ และอารมณ์ สมอง  

ถือว่ามาพักผ่อนก็ได้ ดีเสียกว่าการไปเที่ยวป่า น้ำตก แม่น้ำ ธรรมชาติ เพราะไปในสถานที่เหล่านั้น เราอาจจะไม่ผ่อนคลายก็ได้… ไม่ผ่อนคลายทั้งกาย ทั้งจิตใจ 

ฝึกทำความผ่อนคลาย ให้เกิดให้ได้ทุกวันๆ ทุกเวลา ทุกขณะ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่บีบคั้น กลับเป็นคนที่ผ่อนคลายได้ นั่นคือ การมีชีวิตอยู่อย่างเป็นผู้ไม่พลาดพลั้ง มีชัย สำเร็จประโยชน์ในการเป็นมนุษย์ ไม่ถูกครอบงำด้วยอะไรๆที่จะมาครอบงำเราได้ก็ไม่มี 

….. 

๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓  

รู้ลมที่เข้าและออก 

จากผ่อนคลาย  

-ดูซิ ลมเข้าอยู่ หรือออกอยู่ 

-ไม่ต้องบังคับให้เข้าหรือออก ปล่อยโดยธรรมชาติ 

-เพียงแค่เข้าไปรู้เฉยๆว่า ลมเข้าอยู่ หรือลมออกอยู่ นี่เป็นขั้นที่ ๓ 

ถ้าสติตั้งมั่น ปัญญาก่อเกิด เราจะเห็นว่าการกลับมา รู้ลม เป็นภาระ จิตจะหนัก มีการงานเพิ่มขึ้น ทีนี้ความผ่อนคลาย ลหุตา จะหาย แต่จะทำให้ ตัวรู้ ตั้งมั่น คือ สติ เพิ่มพูนขึ้น 

- ลมเข้าอยู่ รู้ 

- ลมออกอยู่ รู้ 

รู้ลมเฉยๆ  จิตตั้งมั่นอยู่กับกระบวนการ รู้ลมที่เข้า และรู้ลมที่ออก 

….. 

๐ เพิ่มคำภาวนาเข้าไป 

หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข 

หายใจออก สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ 

-ดูว่า จิตหนักขึ้นมั้ย 

-มีภาระเพิ่มขึ้นกับจิตมั้ย 

….. 

๐ ทิ้งคำภาวนา อยู่กับลมหายใจ (ขั้น ๓) 

หายใจเข้า รู้อยู่ 

หายใจออก รู้อยู่ 

….. 

๐ ทิ้งลมหายใจ อยู่กับการผ่อนคลาย (ขั้น ๒) 

…… 

๐ ทิ้งความผ่อนคลาย อยู่กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (ขั้น ๑)   

-กายรวมใจ เริ่มต้นตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า 

….. 

 

ยกมือไหว้พระกรรมฐาน  

…. 

กลับลงนั่ง 

ฝึกอย่างนี้ทุกวัน เช้า-เย็น …เช้า-เย็น จะทำให้ความจำดี .. 
เดินหน้า ถอยหลัง เดินหน้า สลับสับเปลี่ยนกัน 

ทำทุกวันให้เป็นอาจิณจนกระทั่งเราขาดมันไม่ได้ ทำจนเป็นนิสัย เป็นสันดาน ทำเป็นวสี

 

แหล่งข้อมูล

มูลนิธิธรรมอิสระ.  (๒๕๖๗). ช่วงปฏิบัติธรรม วิชาปราณโอสถ ขั้นที่ ๑-๒-๓ และย้อนกลับ ๓-๒-๑ เพื่อสร้างความจำ ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคา

     ปฏิปทา, (น. ๑๙๗ - ๒๐๓).  นครปฐม: มูลนิธิ.

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ปฏิบัติธรรม และเจริญพระพุทธมนต์ ช่วงบ่าย ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๒๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ จาก

     https://www.youtube.com/watch?v=16vJAQv9Lz8

 

 

 

 

 

57 | 9 ตุลาคม 2024, 19:57
บทความอื่นๆ