บทที่ ๑๓ การงานทุกอย่างเป็นการฝึกปรือสติสมาธิปัญญา
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
ชื่อเรื่อง การงานทุกอย่างเป็นการฝึกปรือสติสมาธิปัญญา
แสดงธรรมวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๖
สาระสังเขป
กล่าวถึงการเจริญวิปัสสนาว่า ผู้เจริญวิปัสสนาต้องไม่ปฎิเสธในการเรียนรู้เรื่องราวรอบตัวให้ถ่องแท้ ต้องรู้ให้รอบ รู้ให้ลึก รู้ให้ชัด รู้ให้จริง รู้แล้ว วาง ว่าง ดับ เย็น ไม่ยึดติดในอารมณ์ สมถะเป็นการปฏิบัติที่ดี สมาธิของพระบรมศาสดาไม่ใช่สมาธิของการเสพติดในอารมณ์ แต่เป็นสมาธิของการทำให้การงานตั้งมั่น ทำอะไรให้จบ ให้เสร็จ แต่คนเรียนสมถะเห็นงานทุกอย่างเป็นภาระ เอาแต่ตัวรอด คนเจริญวิปัสสนา เห็นการงานทุกอย่างเป็นการฝึกปรือจิตวิญญาณ สติ สมาธิ ปัญญา ความว่าง ยังมีจิต เพราะผู้รู้ว่าว่างคือจิต เพราะเรามีตัวเราเข้าไปรับรู้ความว่าง เว้นเสียแต่ว่าได้พิจารณาในหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกระทั่ง วาง ว่าง ดับ เย็น ไปจนถึงหมดแล้ว อันนั้นไม่มีอารมณ์แล้ว เป็นสภาวะแห่งคำว่า ดับ เย็นแล้ววางโดยที่ไม่ต้อง บังคับให้มันวาง ไม่ต้องมีจิตไปวาง แต่วางเพราะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในทุกขณะที่ตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส และอารมณ์ที่ปรากฎกับจิต บริบทของการเจริญปัญญา สุตตมยปัญญาคือฟัง จินตมยปัญญาคือคิด ใช้สติปัญญาในการพิจารณาบ่อยๆ มีการเปรียบเทียบความดีความชั่ว คนที่ไม่ยุ่งกับใคร เอาตัวรอด ต้องรักษาศีลสมบูรณ์ แต่วิถีแห่งปัญญา ศีลเป็นเครื่องมือในการช่วยสนับสนุนให้ปัญญาตั้งมั่นและรุ่งเรือง เป็นผู้มีชีวิตโดยไม่สร้างภาระ หลักการที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในการปฏิบัติธรรม มีวิขัมภนปหาน คือ การข่ม สมุจเฉทปหาน คือ การตัด
เนื้อหา
เจริญธรรม เจริญสุข ท่านสาธุชนคนใฝ่ดีที่รักทุกท่าน
วันนี้เราฟังธรรมประจำเดือนในสัปดาห์ที่ ๔ ของเดือน มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลา ๑ เดือนที่ผ่านมา มีทั้งเรื่องของเรา เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคม เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการบ้านการเมือง และเรื่องของโลก เรื่องราวเหล่านี้ นักเจริญวิปัสสนาปฏิเสธในการเรียนรู้ไม่ได้
อะไรที่นักเจริญวิปัสสนาไม่ยอมรับรู้เรื่องราวรอบๆ ตัวเหล่านี้ให้ถ่องแท้ จะถือว่าเป็นผู้เจริญปัญญา รู้เท่าทันสภาวธรรมและการหล่อหลอมครอบงำของอุปกิเลสทั้งปวงไม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากนักเจริญสมถะซึ่งต้องปิดหูปิดตา ปิดตัวปิดใจ ไม่ให้ไปข้องแวะกับสิ่งเหล่านี้ เพราะจะทำให้ตัวเองวอกแวก วุ่นวาย ว้าวุ่น ทุรนทุราย และสับสน ประมาณว่าจะทำให้ฌานเสื่อม อารมณ์ฟุ้งซ่าน อะไรก็แล้วแต่เถอะที่เขาจะคิด แต่ที่แน่ๆ คือเห็นแก่ตัวเอาเปรียบเอาตัวรอด คนอื่นไม่รอดช่างมัน อะไรประมาณนี้ คิดง่ายๆ สรุปง่ายๆ คือ เอาตัวรอดอย่างเดียว คนอื่นจะอยู่ลำบากช่างมัน อันนั้นเรียกว่า นักเจริญสมถะ
แต่ผู้เจริญปัญญาต้องรู้ให้รอบ รู้ให้ลึก รู้ให้ชัด รู้ให้จริง รู้แล้วยังไงต่อ
รู้แล้ว วาง ว่าง ดับ เย็น เหมือนกับคำสอนที่ว่า หยิบแล้ววาง วางแล้วว่าง ดับแล้วเย็น
เรื่องพวกนี้ คนไม่มีปัญญาทำไม่ได้ พวกสมถะยิ่งทำไม่ได้ใหญ่ เพราะพวกสมถะจะยึดติดในอารมณ์ ที่แน่ๆ ยึดติดในอารมณ์สงบ อารมณ์สมาธิ ยึดติดในอารมณ์ที่เป็นนิมิต คือเครื่องหมายแห่งจิต
ผู้เจริญปัญญาจะไม่ยึดติดในอารมณ์ จะไม่ตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของอารมณ์ทั้งปวง ต้องอธิบายให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจในบริบท ทำไมหลวงปู่ไปยุ่งกับเขาหมดทุกเรื่อง กูเกิดมาหาเรื่อง กูไม่ได้เกิดมาหาเงิน เขาให้กูเกิดมาหาเรื่อง อยู่เฉยๆ ก็ไม่มีเรื่อง เหงาตาย…ปัญญากูเหงา ไม่ได้ขบคิด ไม่ได้วิจัย พินิจพิจารณา ใคร่ครวญละเอียดถี่ถ้วน ไม่ได้พัฒนาทางจิตวิญญาณ ทางสติปัญญา และนิสัยหลวงปู่เป็นคนไม่ชอบเสพอารมณ์ อารมณ์ที่เข้ามาเสพได้ แต่ไม่ชอบเสพติด คือไม่ยึดติด วิตกอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง จนกลายเป็นความอับเฉาของสติปัญญา เหมือนพวกสมถะ เขาจะเสพติดยึดถือในอารมณ์ เพราะอารมณ์ฌานนี่ต้องเสพ และต้องยึดถือในสมาธิ ความตั้งมั่น พวกสมถะ ต้องยึด ต้องเสพ ถามว่าไม่ดีหรือสมถะ ไม่ดีแล้วทำไมพระพุทธเจ้าทรงสอน ไม่ใช่ไม่ดี…ดี สมถะ ดี
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องสมาธิ ไม่ใช่ไม่ดี..ดี เพราะในหลักพละ ๕ อย่าง ๑ ใน ๕ คือ สมาธิ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา แต่ สมาธิ ของพระบรมศาสดาไม่ใช่สมาธิของการเสพติดในอารมณ์ แต่เป็นสมาธิของการทำให้การงานตั้งมั่น ทำอะไรให้จบ ให้เสร็จ ไม่ใช่เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ เจอปัญหาอุปสรรคหน่อยก็ท้อแท้ ท้อถอย พ่ายแพ้ อ่อนแอ เลิก ไม่เอาเว้ย เหนื่อย ร้อน ไม่สู้ เจองานก็ไม่เอาหรอก เป็นภาระ
จำไว้อีกอย่าง คนเรียนสมถะเห็นงานทุกอย่างเป็นภาระ เพราะวุ่นวาย…ดึงจิตออกจากนิมิตหรือเครื่องหมาย หรืออารมณ์ที่ยึดไว้ไปหาเรื่องอื่น อารมณ์อื่น เลยกลายเป็นภาระ
คนเจริญวิปัสสนา เห็นการงานทุกอย่างเป็นการฝึกปรือ..จิตวิญญาณ สติ สมาธิ ปัญญา
สมาธิของวิปัสสนาที่ฝึกปรือ เป็นสมาธิที่ทำให้การงานตั้งมั่น เป็นเครื่องมือในการสนับสนุนกำลังกาย กำลังใจให้บริหารจัดการกิจกรรมการงานทั้งภายนอกกาย และภายในกายให้ลุล่วงสำเร็จอย่างตั้งมั่น สมบูรณ์ ไม่ได้หมายถึงว่า ต้องรักษาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไว้ในอารมณ์เดียว จนกระทั่งไม่ข้องเกี่ยวในอารมณ์อื่นใดเลย อย่างนี้จะไพล่ไปเป็น อุปาทานขันธ์เกิด เป็น มโนอุปาทานขันธ์ คือ ยึดติดในอารมณ์ที่เกิดกับใจ
๐ ความว่างจะมีจิตหรือไม่
เหมือนดั่งบทสนทนาในคลับเฮ้าส์ที่ถามว่า ความว่างมีจิตหรือไม่ รู้ว่าว่าง มีจิตมั้ย ต้องมีสิ ..ไม่มีแล้วจะเอาใครไปรู้ว่าว่าง อย่างนี้ยึดมั้ย ยึดไง เราปฏิเสธเหตุแห่งการยึด แต่ไปเอาผล คือ ความว่าง แต่แท้จริงแล้ว ตัวเหตุยังอยู่ เพราะเรามีตัวเราเข้าไปรับรู้ความว่าง ซึ่งยังไม่ใช่
พวกสมถะจะเป็นแบบนี้ ประมาณนี้ พอถึงอารมณ์เอกัคคตารมณ์ อุเบกขารมณ์ แล้วคิดว่า นี่คือความบรรลุ ความหลุดพ้น ความสำเร็จประโยชน์ในการปฏิบัติธรรม แต่แท้จริงแล้วมีอารมณ์มั้ย อุเบกขาเป็นอารมณ์มั้ย เอกัคคตาเป็นอารมณ์มั้ย (เป็น) มีจิตมั้ย มีอุปาทานมั้ย มีขันธ์มั้ย (มี) ยังปรุงแต่งอยู่
เรื่องพวกนี้ถ้าไม่เจริญปัญญาจะไม่รู้ ไม่เข้าใจ และจะคิดว่า เราต้องเป็นผู้ที่เสพอารมณ์อุเบกขา เอกัคคตาอยู่เนือง ๆ หรือวางเฉยต่อทุกอย่างอยู่เนือง ๆ
๐ วางเฉย อุเบกขารมณ์ไม่ใช่เป็นเรื่องผิด
ที่จริง คำว่า วางเฉย อุเบกขารมณ์ไม่ใช่เป็นเรื่องผิด เอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์เดียวไม่ใช่เป็นเรื่องผิด นั่นคือคุณสมบัติสูงสุดของพวกเจริญสมถะ แต่วิปัสสนา ถ้าเกิดมีเอกัคคตารมณ์ขึ้นมา ไปไม่เป็นล่ะ จะไปไหนไม่ถูก เพราะไม่มีคำว่า ตรึก วิจัย วิจาร ไม่มีการพินิจพิจารณา
ขาด นิสฺสมฺม กรณํ เสยฺโย ความใคร่ครวญ แล้วจะเข้าถึงคำว่า อนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ได้อย่างไร
เว้นเสียแต่ว่าได้พิจารณาในหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนกระทั่ง วาง ว่าง ดับ เย็น ไปจนถึงหมดแล้ว อันนั้นไม่มีอารมณ์แล้ว เป็นสภาวะแห่งคำว่า ดับ เย็นแล้ว ไม่ใช้คำว่าอุเบกขา และไม่เรียกขานว่าเอกัคคตารมณ์ พูดอย่างนี้เข้าใจมั้ย กูก็รู้ว่า มึงไม่เข้าใจ เพราะมึงไม่ค่อยชอบหาเรื่องเหมือนกูไง
๐ ถึงคำว่า อุเบกขา กับ เอกัคคตา ในวิถีแห่งปัญญา จะต้องเห็นหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
หลวงปู่กำลังจะพูดว่า เรื่องทั้งหลายถ้าจะถึงคำว่า อุเบกขา กับ เอกัคคตาได้ ถ้าในวิถีแห่งปัญญา จะต้องเห็นหลักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาให้ถึงพร้อม แจ่มชัด แล้วสภาวะ วาง ว่าง ดับ เย็น ก็เกิดขึ้น อุเบกขาและเอกัคคตา เมื่อเกิดในชั้นหลังของคำว่า เห็นอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา จะกลายเป็นอุเบกขากับเอกัคคตาของคำว่า นิพพาน คือ ดับแล้วเย็นไป
จะเป็นอุเบกขาของคำว่า ไม่ข้องแวะ ไม่ข้องเกี่ยว ไม่ตกอยู่ในอำนาจการครอบงำ ไม่อยู่ในสภาวะการปรุงแต่งขันธ์ทั้งปวงแล้ว พ้นแล้วจากการครอบงำทั้งปวงไป
แต่ถ้าจะเป็นอุเบกขากับเอกัคคตาของสมถะ โดยไม่เห็นหลักอนิจจัง ไม่เห็นทุกขัง ไม่เห็นอนัตตา แม้ที่สุดยังมีอารมณ์มั้ย (มี) มีอารมณ์ก็ต้องมีสังขารขันธ์ มีการปรุงแต่ง มีจิตผู้ปรุงแต่งมั้ย (มี) ฉะนั้น ผู้ที่เห็นหลักอนิจจัง เห็นทุกขัง เห็นอนัตตา แล้ววางอุเบกขารมณ์ เป็นเอกัคคตารมณ์ มันวางโดยที่ไม่ต้องใช้อารมณ์ให้วาง คือ บังคับให้มันวาง ไม่ต้องมีจิตไปวาง แต่วางเพราะเห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในทุกขณะที่ตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส และอารมณ์ที่ปรากฎกับจิต เห็นชัดว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และไม่มีอยู่จริง
เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป และไม่มีอยู่จริง ชัดเจน แล้วจะเอาอารมณ์ตรงไหนมา
จะเอาคำว่า จิตเป็นผู้มีอารมณ์ว่างมาจากตรงไหน
เพราะแม้กระทั่งจิตนี้ก็มีคำว่า อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
สัพเพ ธัมมา อนัตตาติ แม้ธรรมทั้งหลายก็ไม่มีอยู่จริง จะเป็นแบบนั้นไป
พวกมึงถึงกันบ้างหรือยัง ตอนนี้
ท่านทั้งหลาย อย่าหลงทาง อย่าหลงคิด หลงผิดว่า การวางอุเบกขา กับเอกัคคตารมณ์ และพยายามประคับประคองตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ไปวุ่นวายอะไรกับใคร ไปยุ่งกับใคร
พูดอย่างนี้ไม่ใช่เดี๋ยวมึงกลับไป ไปหาเรื่องกับผัวกับลูกนะ…ไม่ใช่ ไปหาเรื่องกับคนข้างบ้านก็ไม่ใช่
แต่อยากจะบอกว่า วิถีแห่งโลก สังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ บ้านเมือง ทั้งคดีโลก คดีธรรมทั้งหลายที่อยู่รอบตัวเรา เป็นกระบวนการแห่งการเรียนรู้ของผู้เจริญวิปัสสนา เรียนรู้ในการที่จะอยู่กับมันได้อย่างไม่ต้องถูกครอบงำ เรียกว่า หยิบเป็น แล้ววางได้ วาง-ว่างเป็น และก็ดับ เย็นสบายในทุกขณะที่ทุกอย่างในรอบกายเรารุมเร้า บีบคั้นอยู่เสมอ ๆ เราวางได้อย่างสบาย ๆ อย่างอิสระ มีเสรีภาพ พูดอย่างนี้เข้าใจมั้ย เริ่มพอจะเห็นแสงบ้างหรือยัง
๐ บริบทการเจริญปัญญา
ที่จำเป็นต้องอธิบายความนี้ให้กระจ่าง เพื่อให้ท่านทั้งหลายได้เข้าใจว่า บริบทของการเจริญปัญญา พระพุทธเจ้าทรงวางหลักการเอาไว้ ถ้าเราบอกว่า ปิดหูปิดตา ปิดกายปิดใจ จะมีปัญญาตรงไหน เพราะพระองค์ตรัสว่า ๑.สุตตมยปัญญา ฟัง ๒. จินตมยปัญญา คิด
ถ้ามึงปิดหูปิดตา ปิดกายปิดใจ มึงจะฟังอะไรล่ะ จะคิดอะไรล่ะ เพราะไม่รับรู้อะไรทั้งนั้น ปิดหูปิดตา ไม่ต้องไปสำเหนียก ไปรู้เรื่องของชาวบ้าน เรื่องเราจะไม่รอด ส่วนใหญ่จะพูดกันแบบนี้…เรื่องของตัวมึงเองยังไม่รอดเลยจะไปยุ่งเรื่องคนอื่นอะไรประมาณนั้น
กูน่ะโดนประจำ สบายๆ เพราะไม่ใช่วิถีแห่งการเจริญปัญญาไง ไม่ใช่วิถีที่เราจะรุ่งเรือง เจริญ แกร่งกล้า องอาจ สามารถมากขึ้นกับการที่เกิดจาก หรือไปทำเหตุปัจจัยแห่งการปิดหูปิดตา
ปิดหูปิดตา ปิดกายปิดใจ ไม่ให้ไปข้องแวะเรื่องอื่นของใครๆ ผู้ใด อย่างไร เมื่อไหร่
ไม่ต้องไปสนใจ เอาตัวเองให้รอด ทำบ่อยๆ แบบนี้ก็ไม่ต่างกับใครที่เอาตัวรอดพอแล้ว หลักการไม่มี มีแต่หลักกู ใครจะก่นด่าอย่างไร ไม่สน กูรอดพอแล้ว
แบบนี้ฝึกอย่างไรได้อย่างนั้น ฝึกไปบ่อยๆ เรื่อย ๆ.. คับแคบตระหนี่ ปิดหูปิดตาเห็นแก่ตัว สุดท้ายจะกลายเป็นการเอาเปรียบมักมากอยากได้ คนที่มีสติปัญญา ใช้สติปัญญาในการพิจารณาบ่อยๆ โลกทัศน์กว้างขึ้น ทั้งดีก็เห็น ทั้งชั่วก็เห็น มีการเปรียบเทียบ มีการวัด ตวง ชั่ง เพื่อให้รู้ว่าอะไรดีที่สุด
แต่พวกที่เอาแต่ตัวเองรอด คนอื่นไม่รอด ไม่มีการเปรียบเทียบ เพราะกูเป็นใหญ่ในจักรวาล กูเป็นศูนย์กลางแห่งโลก จักรวาล ต้องเอาตัวกูเป็นบรรทัดฐานเท่านั้น จึงจะเรียกว่าถูกต้อง..กูรอด พอ คนอื่นไม่รอดช่างมัน
๐ มีศีลเป็นเกราะ
ฉะนั้น จึงอยากจะบอกว่า วิธีคิดแบบนี้ อันตราย คนที่จะคิดอย่างนี้ได้ ไม่ได้ทำเรื่องเลวร้ายเสียหาย นั่นอย่างน้อย ต้องรักษาศีลสมบูรณ์ เพราะศีลจะเป็นตัวดึง ฉุดรั้ง ไม่ให้เราทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว หรือละเมิดต่อสิทธิ์และศักดิ์ของคนอื่น พวกเกจิอาจารย์ฝ่ายหินยานชอบเรื่องพวกนี้มาก ชอบวิธีนี้มาก ถามว่า เพราะอะไร เอาตัวรอดไง โชคดีที่เขามีศีลเป็นเกราะ
ถ้าเขาไม่มีศีลเป็นเกราะ อะไรจะตามมา มีตัวอย่างให้เห็นเยอะแยะ เพราะว่าศีลไม่สมบูรณ์ ด่างพร้อย แล้วเอาตัวเองให้รอด เลยกลายเป็นตัวกูใหญ่ที่สุดในจักรวาล สนองตัณหาตัวกูโดยแยกไม่ได้ว่า อะไรคือตัณหา อะไรคือดี อะไรคือชั่ว อะไรคือกิเลส อะไรคืออาสวะ อะไรคือขยะ ที่หมักหมม ครอบงำ ..ไม่สนใจ เพราะไม่มีศีลเป็นตัวสกัด ตัวชั่ง ตวง วัด ฉะนั้น ถ้าคิดจะเป็นคนที่ไม่ยุ่งกับใคร เอาตัวรอด มันจะไม่รอดถ้าเมื่อใดที่ไม่มีศีล จะไม่รอด ต้องมีศีลที่สมบูรณ์ด้วย ไม่ใช่ศีลแหว่งๆ ขาดๆ เกินๆ ทะลุปรุโปร่ง…ไม่ใช่ … นั่นไม่รอด
แต่วิถีแห่งปัญญา ศีลเป็นเครื่องมือในการช่วยสนับสนุนให้ปัญญาตั้งมั่นและรุ่งเรือง เจริญได้ ขึ้นอยู่กับว่า ศีลมาก ศีลน้อย ศีลเล็ก ศีลนิด ศีลหน่อย ใช้ได้หมด ถ้าศีลน้อยไป เราจะกลายเป็นคนที่หยิบเยอะ เห็นอะไรที่มา ที่ไป ตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส ไปจับต้องมันแล้วไม่มีเครื่องกรอง เครื่องชั่ง ตวง วัด ของศีล เราอาจจะหลง ละเมอ เพ้อพก เอาตัวเองเข้าไปพันธนาการกับสิ่งที่เห็น ที่ฟัง ที่ดู ที่ดม ที่สัมผัส จนลืมว่า เราไม่ใช่มันและมันไม่ใช่เรา จนกลายเป็นเรากับมันเป็นหนึ่งเดียวกัน ทีนี้แหละ วุ่นวายใหญ่เลยแหละ
๐ ดำรงอยู่อย่างเป็น ผู้มีชีวิตโดยไม่สร้างภาระ
มึงเห็นหลวงปู่เข้าไปวุ่นทุกเรื่อง แล้วทำตัวเองให้มีปัญหาไหม คือตัวเองเข้าไปวุ่นวาย ทำให้ตัวเองหมดสติปัญญาในการจะแก้ไข พิจารณา มองโลก มองเหตุ มองปัจจัย มองสิ่งแวดล้อม แล้วทำชีวิตให้สับสน ว้าวุ่น ทุรนทุราย ทุกข์ทรมาน นอนดิ้นจนหนังกลับไม่หลับซะที อะไรแบบนั้น
เพราะใช้กระบวนการดำรงอยู่อย่างเป็นผู้มีชีวิตโดยไม่สร้างภาระ และไม่ได้มองเห็นการงานเป็นภาระ แต่เป็นภารกิจ เป็นความจำเป็นที่ต้องทำ และเป็นสิ่งที่ตั้งใจทำโดยไม่คิดว่าเป็นภาระ
พูดถึงเรื่องภาระ คนสมัยนี้มองทุกอย่างเป็นภาระหมด แม้กระทั่งออกไปทำมาหากิน เลี้ยงพ่อแม่ ดูแลผู้มีคุณ ก็เป็นภาระ เห็นสิ่งแวดล้อมอะไรที่ไม่ถูกกับใจตัวเองก็เป็นภาระ ไม่ถูกกับผลประโยชน์ที่ตัวเองจะได้ก็เป็นภาระ เพราะมองทุกอย่างเป็นภาระนี่แหละ เลยมีคนไม่ค่อยดีเข้ามาช่วยบริหารจัดการ ลงทุนเหรอ มาจัดการให้ ท่านทำไม่เป็น ใช่มั้ย เป็นภาระ เดี๋ยวผมช่วยรับภาระให้…แล้วเป็นไง เจ๊ง หมดตูดไป
กินข้าว กินอาหาร เดี๋ยวนี้เป็นภาระหมด.. ทำบุญใส่บาตรก็เป็นภาระ ใช้วิธีทำบุญทางอินเตอร์เน็ต ไหว้พระ เวียนเทียนทางอินเตอร์เน็ต เพราะเป็นภาระน้อย.. เป็นอยู่แต่เป็นภาระน้อย แล้วจะได้บุญมั้ยนั่นน่ะ กูยังงง จะได้บุญตรงไหน จะได้บุญอย่างไร คนสมัยนี้คิดอย่างนี้ไง มองทุกอย่างเป็นภาระ ถึงได้ไม่รอด เพราะว่า เมื่อมองทุกอย่างเป็นภาระ
๐ ชีวิต คือการงาน คือสิ่งที่ต้องทำ
เพราะเมื่อใดที่อาสาเข้ามามีชีวิต เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วตัองทำ ถ้าปฏิเสธในการที่จะทำ พูด คิด และคิดว่าเป็นภาระ เข้าใจและตรึกว่าเป็นภาระ แล้วจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร อยู่เพื่ออะไร
มีเป้าหมายวัตถุประสงค์อะไร ก็รวยไง สบาย ทำอะไรก็ได้ง่ายๆ ไม่เป็นภาระมากแต่ให้ได้มากๆ แล้วสุดท้ายได้จริงหรือเปล่า ได้แบบนั้นมั้ย ก็ไม่ได้ เพราะอะไร..เพราะคนที่มารับภาระแทนเราเป็นคนไม่มีศีล เราเองก็ไม่มีศีล ไม่มีศีลกับไม่มีศีลมาเจอกันเข้า ทีนี้ ความซวยเกิดขึ้น โดนหลอก โดนต้มตุ๋น สารพัดอย่าง มาเป็นภาระให้บ้านเมือง ตำรวจอีก
๐ กระบวนการของความเป็นมนุษย์ไม่สมบูรณ์แบบ
การเรียนรู้ศึกษา การค้นคว้า การศึกษา สั่งสม อบรม กาย วาจา ใจ ระบบประสาท ระบบสัมผัส ทุกกระบวนการในร่างกายโดนตัดทอนไปด้วยคำว่า ไม่อยากเป็นภาระ ไม่อยากยุ่ง วุ่นวาย ไม่อยากมีปัญหาในชีวิต ทำตัวลำบากลำบน ของสบายๆ เรื่องสบายๆ งานสบายๆ
เดี๋ยวนี้ ทุกคนพยายามแสวงหาความสบาย โดยที่แม้แต่บางทีบางครั้งกระดิกนิ้วหน่อยเดียวก็ให้ได้สมปรารถนาก็พยายามอยากทำ และทุกวันนี้ก็พยายามเป็นอย่างนั้น และกำลังจะเป็นอย่างนั้น แต่แตะนิ้วหน่อยเดียวก็ได้สมปรารถนา อีกหน่อย มนุษย์ไม่ต้องมีตีน เป็นลูกฟักกลิ้งไป มีนิ้วไว้สำหรับแตะนิ้วเดียว เผ่าพันธุ์ใหม่ เพราะว่าต้องกุดไปหมด สมองก็ไม่มี เอาไว้แตะอย่างเดียว มีปาก มีตูด กินทางปาก ออกทางตูด พูดเห็นภาพ เดี๋ยวนี้เป็นแบบนี้จริงๆ จึงน่ากลัว
นี่คือ กระบวนการของสังคมมนุษย์ที่พัฒนาแบบไม่สมส่วน ผิดสัดส่วนพัฒนาการของมนุษย์ สังคมบิดเบี้ยว วิปริตผิดเพี้ยนจากที่ควรจะเป็นตามวิถีแห่งมนุษย์ที่เขามีๆ ทำๆ สืบทอดกันมาตั้งแต่รุ่นโคตรเหง้าบรรพบุรุษจนถึงยุคปัจจุบัน
ถ้ามนุษย์มีแต่นิ้วแล้วคอยแตะอย่างเดียว วันนี้ถ้าสมมุติ ทุกคนในโลกใบนี้เกิดเป็นลูกฟัก มีแต่นิ้วแล้วแตะๆ กูอยากรู้ใครจะเอาอะไร ทำอะไรให้กับมันที่มันเอานิ้วแตะๆ ถ้าทุกคนต่างคนต่างแตะ ลองหลับตานึกดูสิ ต้องมีคนที่ทำ สุดท้ายต้องพึ่งคนที่ทำอยู่ดี แต่มันพยายามปฏิเสธในการที่จะไปเป็นภาระ ไปรับผิดชอบ ทำอะไรที่วุ่นวาย แล้วก็บอกว่าประชาธิปไตยเสมอภาค แต่มึงก็มองคนอื่นที่เลี้ยงเป็ดให้มึงกิน เป็นอะไร เป็นผู้รับใช้ เป็นขี้ข้า เป็นผู้ให้บริการ แล้วมึงเป็นเจ้านาย แค่มีนิ้วโผล่มาจากลูกฟักแล้วก็แตะ และปากกับตูดเท่านั้น แล้วยุติธรรมตรงไหน
พูดนี่ ไม่ให้มึงหลับ เผื่อมึงจะเห็นภาพได้ มึงออกมาเป็นลูกกลมๆ กลิ้งเป็นลูกฟัก มีนิ้วโผล่มา มีแต่ปากกับจมูก มึงคิดๆ แล้วมันไม่หลับ แล้วจะได้นึกภาพตามว่า อย่างนั้นเราก็กลายเป็นคนเอาเปรียบ เพาะพันธุ์ความเอาเปรียบไว้ในจิตใจเบื้องต้น เพราะเราสมัครใจจะเป็นผู้ใช้บริการ มันจำเป็นต้องมีผู้ให้บริการ ใช่มั้ย อย่างนี้เอาเปรียบมั้ย แม้จะบอกว่า เราจ้างเขา จ่ายเงินเขา สุดท้ายไหนบอกว่า ค่าของคนเท่าเทียมกันไง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันไง โกหกทั้งนั้น ที่พูดมาทั้งหมด โกหกทั้งนั้น
แล้วทำไปเรื่อยๆ อะไรจะตามมา ไม่ใช่มีแต่นิ้ว หัว ตัว ที่เป็นลูกฟัก อีกหน่อยใจเราจะกลายเป็นลูกฟัก เพราะอะไร เพราะว่า เอาเปรียบไง เห็นแก่ตัว โลภโมโทสัน ตัวเองเป็นใหญ่ในจักรวาล ตัวกูต้องได้คนอื่นไม่ได้ ช่างมัน อะไรประมาณนั้น
หลังจากเห็นภาพ หาเรื่อง ได้เรื่องได้ราวพอหอมปากหอมคอ จบแต่เพียงเท่านี้ล่ะกัน
หวังว่า มึงจะไม่ได้เกิดเป็นพรหมลูกฟัก มีแต่นิ้วโผล่มาจากลูกฟักนิ้วเดียว แล้วกด
อย่าไปทำร้ายตัวเองขนาดนั้น
หลวงปู่ทำทุกอย่าง ไม่มองว่าเป็นภาระ แต่มองว่าเป็นการฝึก ศึกษา สั่งสม อบรม ฝึกหัด พัฒนาตัวเอง ทุกเรื่องที่เข้ามาและออกไป ที่ทำสำเร็จและทำไม่สำเร็จ อะไร อย่างไรก็แล้วแต่ แต่แม้ที่สุดเราได้ทำ ทำแล้วจะได้ไม่ได้ ไม่เป็นไร แต่เราได้ทำ พอมีคำว่า “ได้ทำ” เข้าไปแล้ว ยิ่งทำให้เราได้พิสูจน์ว่า การทำนั้นเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ในระดับต้น ท่ามกลาง และที่สุดอย่างไรกับตัวเราเอง คนอื่นอาจจะมองไม่เห็น แต่ตัวเราได้เห็นแน่ คือ ได้ทำ ยังดีกว่าคนที่นั่งเฉยๆ มีแต่นิ้วคอยแตะ นิ้วคอยกด แล้วไม่ได้ทำ
อยากบอกท่านทั้งหลายว่า อย่าทำตนเป็นคนเห็นแก่ตัวนัก สิ่งเหล่านี้พอกพูนความเห็นแก่ตัวทั้งนั้นแหละลูก มนุษย์ทำอย่างไรได้อย่างนั้น ฝึกมาแบบไหน มึงจะได้สิ่งนั้นกลับไป
วันละนิดวันละหน่อย วันละเล็กวันละน้อย สั่งสมไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นสันดาน กองเป็นภูเขาเลากา ทำไมมันเน่าเหม็น ไม่รู้หรอกหรือ ความเห็นแก่ตัวของมึง
เห็นแก่ตัวตรงไหน วันละนิดวันละหน่อยสั่งสมไปเรื่อย ๆ เก็บแต้มไปเรื่อย ๆ … ไปซื้อของเขา …ต่อหน่อยไม่ได้เหรอ…ไม่ได้หรอกค่ะ ต้นทุนมาแพง… เอ้า อย่างนั้นแถมแล้วกัน หยิบใส่ถุงเฉยเลย .. นิดหนึ่งก็เอา ขอให้กูมีความรู้สึกได้ หารู้ไม่ว่า นั่นคือ การพอกพูนความเน่าเหม็นของตัวเองไปเรื่อย ๆ ไม่ใช่ได้นะนั่น แน่นอนล่ะ ได้กองภูเขาเน่าเหม็น ความเห็นแก่ตัว ความเอาเปรียบ ความคับแคบ สั่งสมไปเรื่อย ๆ กี่ภพกี่ชาติกี่ร้อยปี สั่งสมไปเรื่อย ๆ จนกองใหญ่ขนาดนี้
แล้วจะพ้นอย่างไร จนกว่ามึงจะเช็ดภูเขากองนั้นให้ยุบลงเท่าแผ่นดินที่มึงยืน มึงเช็ดได้มั้ย เช็ดกันหน้ามืดแหละ กูไม่ไปเช็ดกับพวกมึงหรอก กูจะยืนดูมึง แล้วกูจะสมน้ำหน้า
๐ หลักการที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในการปฏิบัติธรรม
เขามีหลักการที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในการปฏิบัติธรรม แม้จะมีกรรมฐาน ๔๐ แต่มีหลักให้พิจารณา มีคำว่า วิขัมภนปหาน กับสมุจเฉทปหาน
๑. วิขัมภนปหาน คือ การข่ม ใช้อำนาจสมาธิ หรืออารมณ์เดียวนั่นแหละ …ข่ม ทำได้มั้ย ถ้ามึงข่มได้ตลอดเหมือนเอาหินไปทับหญ้า ทับบ่อย ๆ ทับเรื่อย ๆ ทับนาน ๆ แต่หลวงปู่เชื่อว่า มึงไม่ได้อยู่นั่งทับนานหรอก มึงทับแป๊บเดียวเดี๋ยวมึงก็ไป
๒. สมุจเฉทปหาน คือ การตัดด้วยหญ้า ถอนรากถอนโคน
พวกเจริญสมถะใช้หลักวิขัมภนปหาน ข่มด้วยหญ้า ด้วยอำนาจฌาน ด้วยอำนาจถืออารมณ์เป็นเอกัคคตารมณ์ เป็นอารมณ์เดียว เป็นอุเบกขารมณ์ คือ การวางเฉย
ใช้สำหรับข่มอะไร ข่มอุปกิเลสทั้งปวง ข่มชาติ ข่มภพ ชรา มรณะ พยาธิ ใช้วิธีวิขัมภนปหาน
ส่วนสมุจเฉทปหาน ไม่ข่ม… เจอหญ้าถอนหญ้า เจอใบไม้กวาดใบไม้ เจอกิ่งไม้ก็เก็บ
ทำให้เกลี้ยงไปเรื่อยๆ แม้ไม่มีกำลัง ไม่มีแรง ท่านว่าไว้ ทำประดุจดั่งมอดและมด
มอด ต้นไม้ใหญ่ๆเท่าต้นเสา มันกินหมด มด ตัวเล็กนิดเดียว แต่แบกของ คาบของตัวใหญ่กว่ามันเป็นร้อยเท่า และมันไม่ย่อท้อ ขยันที่จะแบกจะคาบจะกินลากเอาไปให้ลูก เลี้ยงครอบครัวในรัง
ส่วนวิขัมภนปหาน กระทำดั่งช้างนอน แต่ช้างนอนนานไม่ได้ เพราะความใหญ่ของมันกดทับอวัยวะภายใน ทำให้เลือดลมเดินไม่ได้สะดวก สุดท้ายช้างนอนตาย ช้างนอนหลับ ส่วนใหญ่จะเป็นช้างแก่กับช้างป่วย ถ้าไม่แก่ ไม่ป่วย จะยืนหลับ
๐ ใช้ชีวิตปัจจุบันเป็นการศึกษา สั่งสม อบรม ฝึกหัด ปฏิบัติและพัฒนา
รวมๆ สรุปแล้ว การมีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน คือ กระบวนการศึกษา สั่งสม อบรม ปฏิบัติ ฝึกหัด พัฒนา ใช้ชีวิตปัจจุบันเป็นการศึกษา สั่งสม อบรม ฝึกหัด ปฏิบัติและพัฒนายกระดับสถานภาพทางจิตวิญญาณ ทางกาย ทางใจ ของตนให้สูง อย่าให้ต่ำ อย่างนี้เรียกว่า สมุจเฉทปหาน เป็นหลักการของสมุจเฉทปหาน
ทุกวัน เราทำไปเรื่อย เคยเป็นคนสันหลังยาว ขี้เกียจ ก็กระตือรือร้น กระฉับกระเฉง ทำกิจกรรมการงานรอบๆ ตัวให้ลุล่วงสำเร็จ ฝึกตัวเอง เคยเป็นคนขี้หลงขี้ลืม ได้หน้าลืมหลัง ก็ฝึกที่จะจดจะจำ ฝึกที่จะพัฒนาสมอง สติปัญญา สอนไปแล้ว
เรื่องแก้ความจำ(เสื่อม) ทำอย่างไร สวดมนต์ ภาวนา นี่แหละ สวดคาถาบทเทพรัญจวน กระโดดไปข้างหน้าบ้าง ข้างหลังบ้าง ตรงกลางบ้าง ข้ามไปข้ามมา เดินหน้า ถอยหลัง ทำสลับสับเปลี่ยนกัน ทุกวันๆ วันหนึ่ง เช้าบ้าง เย็นบ้าง… เย็นบ้าง เช้าบ้าง อย่างน้อยให้ได้วันละครั้งก็ยังดี ฝึกให้สติปัญญา ให้สมองตื่นตัว กระตือรือร้น ไม่ฝ่อ ไม่ตายง่าย ถึงจะตายก็ยืดอายุขัยมัน ให้เสื่อมน้อยลง อย่าปล่อยให้เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยจนกลายเป็นว่า “ฉันไม่ไหวแล้ว จำไม่ได้แล้ว อะไรๆก็จำไม่ได้” ถ้าเป็นอย่างนั้น ๔๐ก็ไม่เหลืออะไรแล้ว เพราะสมองเราโดยเฉพาะผู้หญิง พอเกิน ๔๐ เสียฮอร์โมนไปกับการมีลูก มีประจำเดือน ยิ่งความจำเสื่อมเร็ว ผู้ชายจะหมดไปกับไขกระดูก ทำการงานหนักๆ ส่วนที่จำเป็นจะไปสนับสนุนให้เซลล์สมองมีชีวิตยืนยาวก็โดยใช้งานไปหมด ฉะนั้น ต้องฝึกใช้กระบวนการศึกษา สั่งสม อบรม เรียนรู้ ฝึกหัด ปฏิบัติ พัฒนา กลายมาเป็นสมุจเฉทปหาน
ถ้าวันดีคืนดี ว่างๆ อยากจะใช้วิขัมภนปหานบ้างก็ไม่ได้รังเกียจ เสียหายอะไร แต่ให้ได้ศึกษา ได้ฝึกหัด ได้ลงไม้ลงมือกระทำ
สุตตมยปัญญา ไม่ใช่เพียงแค่ฟังอย่างเดียว ภาวนามยปัญญา ต้องตามด้วยลงมือกระทำด้วย ฟังแล้วคิด จินตมยปัญญา แล้วลงมือกระทำ วิถีแห่งการเกิดปัญญา ไม่ได้ฟังแล้วนั่งนิ่งๆ ไม่คิด เพราะถ้าเมื่อใดที่คิด พวกสมถะจะไม่ชอบ สมถะ มีคิดมั้ย สมถะต้องไม่คิด ถ้าคิดไม่ใช่สมถะ สมถะ จะไม่ชอบ เพราะคิดแล้วว้าวุ่น วุ่นวาย จากเอกัคคตารมณ์ คือ อารมณ์เดียว กลายเป็น ๓ อารมณ์ ๔ อารมณ์ ๕ อารมณ์ ๖ อารมณ์ พวกนี้จะไม่ชอบ แต่วิปัสสนา ต้องคิด ใคร่ครวญ พินิจพิจารณา ต้องทำความเข้าใจ รู้จักให้ละเอียดถี่ถ้วนในทุกเรื่องที่เข้ามาและออกไปในชีวิตและรอบๆชีวิตตัวเอง
ที่พูดมาทั้งหมดนี่เข้าใจมั้ย
พอ จบแล้ว เปิดโอกาสให้ถามปัญหา
แหล่งข้อมูล
มูลนิธิธรรมอิสระ. (๒๕๖๗). การงานทุกอย่างเป็นการฝึกปรือสติสมาธิปัญญา ใน
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๑๘๑ - ๑๙๔). นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม ปฏิบัติธรรม และเจริญพระพุทธมนต์ ช่วงบ่าย ๒๗ สิงหาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๒๑
มิถุนายน ๒๕๖๗ จาก https://www.youtube.com/watch?v=16vJAQv9Lz8