วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๑๑ ปฏิบัติธรรม สมาธิเพื่อความผ่อนคลาย สติปัญญาเพื่อความผ่อนคลาย

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา

ชื่อเรื่อง   ปฏิบัติธรรม สมาธิเพื่อความผ่อนคลาย  สติปัญญาเพื่อความผ่อนคลาย 

แสดงธรรมวันที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖

สาระสังเขป 

         สอนปฏิบัติธรรมปราณโอสถขั้นที่ ๑ กายรวมใจ มีแต่ตัวรู้อยู่ภายในกายไม่มีอารมณ์อื่นใดปรากฎ พาความรู้เฉยๆออกเดิน ส่งความรู้สึก สำรวจดูในจิตตัวเองกระเพื่อมหรือไม่ ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย เอาความสงบนิ่ง ไปทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายผ่อนคลาย ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ ชีพจร หัวใจ ความดันฯ และความดันในสมอง ในกระบอกตา ในเลือด จะกลับมาเป็นปกติ การเผาผลาญพลังงานในร่างกายสมดุล ขั้นที่ ๓ รู้ลมอย่างผ่อนคลาย

 

เนื้อหา 

ลุกขึ้นยืน ที่ให้ยืน ไม่ใช่หมายถึงต้องยืนถึงจะปฏิบัติธรรมได้เท่านั้น แต่นั่งมานานแล้ว ร่างกายต้องผ่อนคลาย เลือดลมไปอัดไปอั้นไปปวดไปเมื่อย ปฏิบัติธรรมไป เดี๋ยวจะกลายเป็นเวทนามากกว่าที่จะได้ธรรมะ จิตที่ไม่แข็งแรง ไปข่มเวทนาคงไม่ได้ จะไป ปวดหนอ ปวดหนอ เดี๋ยวก็ ปวดโว้ย เลิกแล้วโว้ย..ทำไม่ได้ เพราะว่าความอดทน ความแข็งแรงของแต่ละคนไม่เท่ากัน จะไปทรมานตนให้ลำบากไปทำไม  พระพุทธเจ้าทรงให้ฝึกจิต ไม่ใช่ให้ทรมานกาย  

เรียกว่า สมาธิเพื่อความผ่อนคลาย  สติปัญญาเพื่อความผ่อนคลาย ไม่ใช่เพื่อความขมึงทึงตึงเครียด  สำนักนี้เขาสอนกันแบบนี้ ปฏิบัติแบบผ่อนคลาย สบายๆ แต่ไม่ถึงกับเมามัน 

 

ยืน สำรวมจิต 

ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ 

ออกไปเที่ยวนอกบ้านมาเยอะแล้ว กลับมาอยู่กับบ้านตัวเองบ้าง 

ไปดูสารพัดดู ดมสารพัดดม รู้สารพัดรู้ มาเยอะแล้ว 

มาดู มาดม มารู้ตัวเองบ้าง 

….. 

จิตรวมกาย  

กายรวมจิต 

….. 

-ไม่มีองค์ภาวนา 

-ไม่ต้องครุ่นคิด 

-ไม่ต้องวิตกกังวล 

-มีแต่ ตัวรู้ อยู่ภายในกาย 

….. 

- ไม่มีอดีต 

- ไม่มีอนาคต 

- มีอยู่ในปัจจุบัน 

- อยู่กับปัจจุบันขณะที่กายกับใจรวมกัน 

- อย่าปล่อยให้อารมณ์อื่นใดเข้ามาครอบงำ ..ง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม ฟุ้งซ่าน  
นั่นแสดงว่า เราไม่ได้รวมกายล่ะ รวมอารมณ์ล่ะ เรียกว่า จิตไม่ผ่องแผ้ว ไม่แจ่มใส หมกมุ่น ว้าวุ่น       ทุรนทุราย 

 

จิตที่รวมกาย 

กายที่อยู่กับจิต 

มีแต่จิตกับกายเฉยๆ 

ไม่มีอื่นใดเลย แม้แต่อารมณ์ใดก็ต้องไม่มี 

มีแต่ ตัวรู้ ว่านี่คือกาย 

….. 

 

รู้อยู่พร้อมเฉพาะในกาย 

ไม่ใช่ รู้นอกกาย 

รู้ เฉยๆ 

-ระวังจะไพล่ไปดูลมหายใจ แม้ลมหายใจจะอยู่ในกายก็จริง แต่มันมีทั้งลมภายในและลมภายนอก เดี๋ยวจะเผลอหลุดออกไปภายนอก 

-รู้ลม ก็สักแต่ว่า รู้ลม คือ เฉยๆ ยังไม่ต้องถึงขั้นที่จะไปตาม รู้ลม 

-เอาแค่ รู้ภายในกาย เฉยๆ ก่อน อย่าข้ามขั้น 

รู้ แล้วก็ ผ่อนคลาย 

….. 

 

พา ความรู้ เฉยๆ ออกเดิน 

รู้ อยู่ในกาย เฉยๆ ออกเดิน 

-อย่าให้จิตเคลื่อนออกจากกาย 

-รู้สึกตัวทั่วพร้อม ในขณะที่ก้าวเดิน 

….. 

ถ้าเดินไม่ไหว นั่งก็ได้ แต่ฝึกเดินก็ดี จะได้ออกกำลังกายขา  
เอาแต่นั่งอย่างเดียว เดี๋ยวกล้ามเนื้อขาลีบ 

เดิน แล้วยังเฉย ไม่ใช่เดิน แล้วไม่เฉย  
เมื่อใดที่ไม่เฉย ต้องหยุดเดิน 

 

รู้อยู่ในกาย เฉยๆ 

เดินไปพร้อมกับความรู้อยู่ในกาย เฉยๆ 

ไม่มีอารมณ์อื่นใดปรากฎ 

….. 

ยืนก็เฉย เดินก็เฉย 

แต่ เฉย อยู่ในกาย 

ไม่ใช่ เฉยข้างนอก 

ให้ จิตกับกาย รวมกันแนบสนิท ตั้งมั่น 

ไม่มีอะไรมาหลอกล่อ ลากถูมันออกไป 

หรือไม่ปล่อยให้อะไรมาชักจูงออกไป 

….. 

 

อย่างนี้เรียกว่า  

รู้ก็สักแต่ว่ารู้ เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน 

ไม่ปรุงแต่งสังขารใดๆ 

จึงเรียกว่า เฉย หรือ อุเบกขารมณ์ในกาย  

แต่ต้องทำให้ตั้งมั่นจนเกิดตบะ เป็นพลัง 

 

ความเฉยอย่างยั่งยืน กับความผ่อนคลายอย่างเบาสบาย จะอยู่ใกล้กัน 

….. 

 

เมื่อ เฉย ตั้งมั่นอยู่ในกายแล้ว 

หยุด กลับมายืนอยู่กับที่ 

ส่งความรู้สึก สำรวจดูในจิตตัวเองกระเพื่อมมั้ย 

-เฉย นิ่งสนิทมั้ย 

-ถ้าสับส่าย กลับกรอก ว้าวุ่น ทุรนทุราย ฟุ้งซ่าน แสดงว่า ไม่ใช่ 

-แต่ถ้านิ่งสงบ เย็น ไม่กระเพื่อม และตั้งมั่นอยู่เฉพาะในกาย 

 ทีนี้ ขั้นตอนต่อไป คือ ทำความรู้สึกผ่อนคลาย 

ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย  

เอาความสงบนิ่ง ไปทำให้กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายผ่อนคลาย 

 - สมองผ่อนคลาย 

- กล้ามเนื้อใบหน้าผ่อนคลาย 

- คอ บ่า หัวไหล่ แขน ข้อศอก ฝ่ามือ นิ้วมือ ทุกอย่างผ่อนคลาย 

- หน้าอก ลำตัว หลัง ช่องท้อง ผ่อนคลาย 

- น้ำหนักตัวทิ้งอยู่ ๒ ข้าง รับน้ำหนักเสมอกัน อย่าให้ค้ำยันข้างใดข้างหนึ่ง ผ่อนคลาย 

- ต้นขาด้านบน ตะโพก หัวเข่า ต้นขาด้านล่าง ฝ่าเท้า นิ้วเท้า ผ่อนคลาย 

ผ่อนคลายและประกอบด้วยความเฉยๆ ไม่ใช่ผ่อนคลายแบบสับส่าย ทุรนทุราย 

ผ่อนคลาย เฉยๆ 

ถึงขั้นตอนนี้ ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะกลับมาเป็นปกติ ชีพจร หัวใจ ความดันฯ และความดันในสมอง ในกระบอกตา ในเลือด จะกลับมาเป็นปกติ การเผาผลาญพลังงานในร่างกายสมดุล ปกติ ไม่พลุ่งพล่าน เร้าร้อน ทุรนทุราย ทุกอย่างผ่อนคลาย เป็นปกติ 

… 

 

  ผ่อนคลายกาย และผ่อนคลายจิตใจ 

จิตใจยิ่งต้องไม่มีอารมณ์ใดๆ มาวุ่นวาย ฟุ้งซ่าน ครอบงำได้ 

ถ้ากายผ่อนคลาย จิตใจสับส่ายก็ถือว่า ไม่ผ่อนคลาย 

ฉะนั้น จิตต้องวางในอารมณ์ทั้งปวง ไม่มีอารมณ์ใดเข้าครอบงำ 

มีแต่ รู้ เฉยๆ จึงจะเรียกว่า ผ่อนคลายทั้งกายและใจ 

ไม่ปรุงแต่งในกายสังขารทั้งหลาย 

รูปสังขาร เวทนาสังขาร วิญญาณสังขาร ไม่มีการปรุงแต่งใดๆทั้งสิ้น สัญญาสังขารก็ไม่มี  

ไม่ต้องจดจำอะไร 

…… 

 

ทีนี้ ค่อยๆ พา กายกับจิตที่รวมกันอย่างผ่อนคลายลงนั่ง 

นั่งอย่างรู้เนื้อรู้ตัวและผ่อนคลาย 

ต้องดูด้วยว่า ขณะที่ลงไปนั่ง จิตกระเพื่อมมั้ย 

จิตกระเพื่อม แสดงว่า ไม่เฉย 

จิตไม่เฉย แสดงว่า เรากำลังจะหลุดออกจากกรรมฐานที่กำลังเจริญ 

นั่งแล้วจิตต้องไม่กระเพื่อมด้วย 

รู้อยู่ เฉยๆ ภายในกายอย่างผ่อนคลาย 

รู้อยู่ เฉยๆ ภายในกายอย่างผ่อนคลาย 

รู้อยู่ เฉยๆ ภายในกายอย่างผ่อนคลาย 

เราแบกโลกนี้มาเนิ่นนาน หลายสิบปีแล้ว 

เอาจิตไปแบก เป็นภาระแห่งจิตมานานเต็มที 

เมื่อถึงขั้น รู้ อยู่ เฉยๆ ภายในกายอย่างผ่อนคลาย ก็ไม่มีอะไรให้หยิบ ให้จับ ให้ต้องวาง ความว่างก็ปรากฏขึ้นเอง เพราะจิตไม่ได้กระเพื่อมตามตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส 

จิตไม่กระเพื่อม ตั้งมั่น ไม่โยกโคน ไม่สั่นคลอน ไม่ง่อนแง่น ไม่โอนเอนไปทางใดทางหนึ่ง 

ไม่ง่วง ไม่เซื่องซึม 

ตื่นรู้อยู่อย่างผ่อนคลาย 

สมองโล่ง กายโล่ง ใจโล่ง กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกาย วาง ว่าง ผ่อนคลาย 

ไม่เกร็ง ไม่ขมึงทึง 

 ไม่ตึงเครียด 

 

ถึงขั้นนี้ ภูมิคุ้มกันจะกลับมาสมบูรณ์แบบ พร้อมที่จะเผชิญต่อทุกสถานการณ์ เรียกว่า จิตพร้อมต่อการงาน ร่างกายก็พร้อมต่อภารกิจ 

จิตกับกาย ลักษณะนี้มีคุณมากกว่าการนอนหลับทั้งคืนอีก 

อย่าเผลอให้หลุด 

อย่าปล่อยให้รั่ว 

….. 

 

ทีนี้ ลองกลับไปดูที่ลมหายใจ  ลมหายใจเข้าอยู่ หรือ ออกอยู่ 

  ขยับขึ้นเป็นขั้นที่ ๓ 

ขั้นที่ ๓  กลับมา รู้ลม 

เราจะสังเกตเห็นความแตกต่างระหว่าง รวมกายกับจิต ลมผ่อนคลาย 

พอมาดูลม รู้ลม 

จิตจะหยาบขึ้นมั้ย หนักขึ้นมั้ย มีภาระต้องให้บริหารจัดการมากขึ้นมั้ย 

ลองดูซิ เปรียบเทียบเพื่อให้เกิดวิตก วิจาร 

นั่นคือ การเกิดสติปัญญา นั่นเอง 

 

ดูลม  

ขยับเป็นขั้นที่ ๓ 

ลมเข้าอยู่ รู้ 

ลมออกอยู่ รู้ 

ไม่ต้องบังคับลม 

….. 

 

รู้ลม อย่างผ่อนคลายด้วย ไม่ใช่รู้ลมแบบขมึงทึงตึงเครียด 

….. 

 

ทีนี้ เพิ่มคำภาวนาเข้าไป 

  หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข 

  หายใจออก ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ 

….. 

 

๐ ทีนี้ ทิ้งคำภาวนา ทิ้งลมหายใจ 

กลับมาอยู่ในขั้น ผ่อนคลาย 

กายยังรวมใจอยู่  

แล้วลองสังเกตดู ตั้งข้อสังเกตกับตนเองดูว่า พอถึงขั้นผ่อนคลาย  

-จิตเบาลงกว่าเก่ามั้ย 

-จิตนิ่งกว่าเก่ามั้ย 

-ร่างกาย อวัยวะทุกส่วนผ่อนคลายกว่าเก่ามั้ย กว่าที่รู้ลม กับคำภาวนามั้ย 

 หัดสังเกต 

 

ยกมือไหว้พระกรรมฐาน  

 

แหล่งช้อมูล

มูลนิธิธรรมอิสระ.  (๒๕๖๗).  ปฏิบัติธรรม  สมาธิเพื่อความผ่อนคลาย  สติปัญญาเพื่อความผ่อนคลาย ใน

          ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น. ๑๗๑ - ๑๗๙).  นครปฐม: มูลนิธิ.

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม ช่วงบ่าย ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ จาก

          https://www.youtube.com/watch?v=yKBZOw7Ga70

         

 

 

 

 

 

 

 

-

75 | 2 ตุลาคม 2024, 17:57
บทความอื่นๆ