วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๑๒ ภวังคจิต

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา

ชื่อเรื่อง ภวังคจิต  

แสดงธรรม  ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖

สาระสังเขป

         กล่าวถึงความแตกต่างกันระหว่างการภาวนาด้วยอำนาจของสัญญาซึ่งทำให้หลับ และการภาวนาด้วยสติตื่นรู้ ทำให้ตื่นรู้อยู่เสมอ ภาวนาแบบใช้สัญญาความทรงจำ ใช้ตัณหา ความอยาก  ใช้อุปาทาน ทำให้จิตตกภวังค์  สมองไม่พัฒนา จะได้หน้าลืมหลัง จะได้อย่างเสียอย่าง การแก้ไขจิตตกภวังค์ให้กลับมารู้ชัดเจน ซื่อตรง  โบราณจึงผูกมนต์เอาไว้ เดินหน้า แล้วก็ถอยหลัง เพื่อให้”สติ”ตื่นรู้อยู่ตลอด การเรียนรู้ศึกษา ต้องชัดเจน ซื่อตรง เที่ยงธรรม อย่าบิดเบือน ให้ตรงต่อเป้าประสงค์ของพุทธจริยา ที่พระองค์ทรงวางรากฐาน พัฒนาตัวเองให้อยู่กับกุศลจิตอยู่บ่อยๆ

 

เนื้อหา

๐ คนภาวนาต้องฉลาด 
          ช่วงใกล้เคียงการเข้าปฐมฌาน จะเกิดความง่วงเหงาหาวนอน ความตื่นตัวน้อยลง จิตสงบระงับระดับที่พร้อมจะหลับเสมอ คนโบราณเขาถึงให้ยานอนหลับชั้นดีเอาไว้ คือ ภาวนา ภาวนาแบบคนหลับนี่อย่าภาวนาแบบวิปัสสนานะ เพราะว่าภาวนาแบบวิปัสสนา ไม่มีสิทธิ์หลับ เป็นภาวนาด้วยอำนาจแห่งสติ 

แต่ภาวนาแบบคนหลับ หรือแบบสมาธิ หรือแบบสมถะ ภาวนาด้วยอำนาจแห่งสัญญา คือ ความทรงจำได้หมายรู้ จำได้มั่ง จำไม่ได้มั่ง เอาตัณหา สัญชาตญาณและตัณหาบวกเข้าด้วยกันและก็ภาวนา…พุทโธ พุทโธ พุทโธ โธ่เอ๊ย หลับดีกว่า  

แต่ถ้าภาวนาแบบวิปัสสนา นี่ไม่ได้นะ…พุทโธ พุทโธ …สติตื่นรู้อยู่ตลอด เมื่อไหร่กูจะหลับเสียที ยิ่งภาวนายิ่งไม่หลับ  นั่นแสดงว่า เราไพล่เข้าไปสู่การเจริญปัญญา มีวิปัสสนาเป็นพื้นฐาน เพราะว่า สติตื่น ตรงกับคำว่า “ชาครินุโยค” ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่นอยู่เสมอ แล้วจะมาทำให้หลับมันไม่ได้หรอก 

ฉะนั้น คนภาวนาต้องฉลาด ต้องมีสติปัญญา ต้องรู้ว่า ชนิดใด แบบไหน ที่จะแก้โรคอะไรได้บ้าง ไม่ใช่มั่วไปหมด ภาวนาก็ถือว่าใช้ได้หมด  ..ไม่ใช่ ไม่ได้หรอก 

คนไม่เข้าใจเรื่องการภาวนา คิดว่า ภาวนา ก็ใช้ได้ล่ะ เป็นบุญเป็นกุศล เป็นคุณงามความดีล่ะ ไม่ใช่ทั้งหมด เป็นบาปก็มี ภาวนาแบบไม่รู้ตัวเลยก็มี บางคนว่า “นะโมฯ พุทธัง สะระณัง ธัมมัง สังฆังฯ อิติปิโสฯ พาหุงฯ…” ว่าจบ แต่รู้บ้างไม่รู้บ้าง แต่รู้ว่า จบแล้ว แต่ที่ผ่านมา ว่าหรือยัง ไม่รู้ ..ก็หลับๆ ตื่นๆไง เหมือนเปิดไฟ กระพริบๆ มันไม่ต่อเนื่อง แต่มันก็จบได้เหมือนกัน  

ท่าน! “ท่านสวดจบ รู้ ฉันสวดจบ ไม่รู้ มันก็จบเหมือนกัน” 

ใช่ กูน่ะจบ แต่มึงไม่จบหรอก ยังต้องไปอีกยาว เพราะไม่มีสติตื่นรู้ในการภาวนา  

 

๐ ภาวนาไม่เป็น ทำให้จิตตกภวังค์  

เรียกว่า ภาวนาแบบใช้สัญญา ความทรงจำ ใช้ตัณหา ความอยาก  ใช้อุปาทาน ความยึดถือจำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง เอาตัณหาเป็นตัวนำบ้าง ความทะยานอยากเป็นตัวนำบ้าง ความทรงจำเป็นตัวนำบ้าง แต่สติกับปัญญาไม่ค่อยได้นำ ภาวนาแบบนี้ไม่ได้เป็นคุณอะไรเลย   

เป็นอย่างไร จิตตกภวังค์ จิตไม่ได้ทำอะไร ไม่ได้ไปไหน ถูกขังด้วยการภาวนาแบบหัวมังกุท้ายมังกร รู้บ้างไม่รู้บ้าง ได้บ้างไม่ได้บ้าง 

ไม่เหมือนกับผู้ที่ภาวนาอย่างมีสติ มีสัมปชัญญะ มีปัญญา 
          รู้ตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด รู้รอบ รู้ละเอียด รู้ลึก รู้แจ่มชัด 

 

๐ แก้ไข จิตตกภวังค์ ให้กลับมารู้ชัดเจน ซื่อตรง  
          เหมือนคาถาบทเทพรัญจวน กรวดน้ำ กูสอนมั้ย สอนแล้วมึงภาวนาแบบนั้นมั้ย  วิธีที่จะฝึกจิตตัวเองออกจากหลุมพรางทางอารมณ์ที่เรียกว่า ภวังคจิต ต้องสวดแบบนั้น  เริ่มต้น ท้ายบ้าง มาต่อหัว มาต่อกลางบ้าง กระโดดข้ามมา หัวบ้าง  ไปต่อ ท้ายบ้าง กระโดดข้ามไปข้ามมาบ้างง 

เป็นการทำให้ ”สติ” ตื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ได้ใช้อำนาจแห่งความทรงจำอย่างเดียวจนไพล่ไปเป็นภวังคจิต ไม่ได้ใช้อำนาจแห่งตัณหาอย่างเดียวจนไพล่ไปเป็นอุปาทาน และก็หลงผิด เข้าใจผิดคิดว่า กูจบแล้ว บางที ขาดไป หลงไป อย่างนี้เป็นต้น 

คนภาวนาแบบใช้สัญญา ใช้ตัณหา ใช้อุปาทาน สมองไม่พัฒนา จะได้หน้าลืมหลัง จะได้อย่างเสียอย่าง จะขาดๆ เกินๆ ไม่สมบูรณ์แบบ 

มนุษย์ ไม่ใช่ได้ดีเพราะมียี่ห้อเป็นมนุษย์ ..ได้ดีเพราะมีการฝึกปรือ ตัองฝึกไม่จำเป็นต้องว่า 

“สัพเพ สัตตา…อย่าได้มีเวร… 
สัพเพ สัตตา.. อย่าได้พยาบาท… 
สัพเพ สัตตา … อย่าได้มีความทุกข์กาย  
อันนี้ไปตามลำดับ  

ฝึกสติ ฝึกปัญญา   

“สัพเพ สัตตา …อย่าได้มีเวร… 
สัพเพ สัตตา… จงมีแต่ความสุขกายสุขใจ อย่าได้พยาบาท…”  
ข้ามไปข้ามมา แล้วเรารู้มั้ยเราต่ออย่างนี้  รู้สิ ตัวรู้ตามมา เรารู้ว่า เราจะต่อด้วยอะไร… เริ่มต้นตรงไหน อยู่ในท่ามกลางอะไร 

เพราะฉะนั้น โบราณเขาจึงผูกมนต์เอาไว้ เดินหน้า แล้วก็ถอยหลัง เพื่ออะไร  
เพื่อให้”สติ”ตื่นรู้อยู่ตลอด เขารู้ว่า ถ้าไม่ทำอย่างนี้ จิตจะหลงอยู่ในภวังคจิต 

เราว่า อิติปิโสฯ บ่อยๆ พาหุงฯ บ่อยๆ จิตคุ้นชิน ไม่ต้องใช้สมาธิ ไม่ต้องใช้ปัญญา กูใช้ความอยาก ใช้สัญญาอย่างเดียว วันนี้ ๖ โมงแล้ว ต้องสวดมนต์ หลับหูหลับตาสวด แต่ใจไปไหนไม่รู้ เหมือนพวกมึงสวดนะโม รอบเดียว จิตไปไหนไม่รู้แล้ว เพราะความคุ้นชิน พอเกิดขึ้นแล้วยังไงต่อ ทำให้เราตกอยู่ในภวังคจิต เกิดความประมาท ไม่ระมัดระวัง 

ถ้าเปลี่ยนจาก นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ อะระหะโต … ธัมมัง  

สะระณัง คัจฉามิ…สลับกันไปสลับกันมา  ถามว่าพระพุทธเจ้าว่าไหม ไม่ได้เกี่ยวเลย ภาวนา 

เป็นเรื่องของเรา…ฉลาดหน่อยสิ อย่าโง่นัก โง่มานานแล้ว รู้จักฉลาดบ้างในการที่จะฝึกจิตตัวเอง ทำให้ตัวเองหมกมุ่น มัวเมา คนเราต้องมีพัฒนาการของตัวเอง แล้วจะไปใช้กับคนอื่นก็ไม่ได้  

เพราะอะไร เพราะสั่งสมมาไม่เท่ากัน 

เล่าให้ฟังว่า นี่คือ กระบวนการฝึก ต้นแบบหรือแบบอย่างที่เราจะเอามาประยุกต์ใช้ ดัดแปลง แก้ไขพฤติกรรมของเราที่เศร้าหมอง เสียหาย ที่บกพร่อง ไม่ถูกต้อง ให้กลับมาเที่ยงตรง ซื่อตรง ชัดเจน จับต้อง รู้เห็นได้ ทีนี้ เราไม่ต้องไปถามใครว่า เราจะรู้กายภายในแบบไหน รู้กายภายนอกอย่างไร  
เพราะเรารู้จากการเริ่มต้นวิธีที่จะฝึก พัฒนากาย วาจา ใจ 

-------- 

 
๐ การเรียนรู้ศึกษา ต้องชัดเจน ซื่อตรงต่อ พุทธจริยา 

ไม่อยากมีชีวิตอยู่เป็นภาระของใคร ทำตัวง่ายๆ เลี้ยงง่าย อยู่ง่าย ฝึกตนง่ายๆ แต่ไม่ง่ายสำหรับการเรียนรู้ศึกษา  การเรียนรู้ศึกษา ต้องชัดเจน ซื่อตรง เที่ยงธรรม อย่าบิดเบือนห้ตรงต่อเป้าประสงค์ของพุทธจริยา ที่พระองค์ทรงวางรากฐาน ทรงกระทำไว้อย่างยาวนานให้เราดู พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงทำแบบนี้ ฝึกตน สั่งสมไปเรื่อย ๆ ต้องเชื่อในประโยชน์แห่ง 

การทำคุณงามความดี เชื่อมั่นในสิ่งที่เรามีอุดมการณ์อันซื่อตรงในการจะฝึกหัดปฏิบัติตน  อย่าย่อท้อ อย่าท้อแท้ สำคัญที่สุด มันขี้เกียจ 

….. 

๐ ผูกจิตให้อยู่กับกุศลเยอะๆ  

ยิ่งช่วงพรรษา พัฒนาตัวเองให้อยู่กับกุศลจิตอยู่บ่อยๆ เนืองๆ อย่าไปมองเป็นเรื่องวิเศษ ศักดิ์สิทธิ์ บูชานู่นนี่นั่น นั่นเป็นเพียงแค่อุบายที่จะทำให้จิตเราตั้งมั่นอยู่ในกุศลมูล มูลแห่งกุศลทั้งปวง  อีกทั้งคุณของเทวดา คุณของพระโพธิสัตว์ มีจริงมั้ย คุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ก็มี คุณบิดา มารดา คุณครูอาจารย์ก็มีอยู่จริง เมื่อท่านเหล่านั้นมีคุณอยู่จริง ทำไมเราจะบูชาคุณของท่านไม่ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ปูชาจะปูชนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด  

“การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลอันสูงสุด”  แล้วชีวิตเราจะมีอัปมงคลเกิดขึ้นได้อย่างไรถ้าวันทั้งวัน เราจะบูชาบุคคลที่ควรบูชา ฟ้าดินก็รับรู้ได้ว่า เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่เป็นมงคล ท่านทั้งหลายเหล่านั้นจะอภิบาลบำรุง อุปถัมภ์ รักษาเราอยู่ต่อเนื่องเนืองๆตลอดเวลา เราไม่ใช่เป็นสิ่งมีชีวิตที่อัปมงคล เป็นตัวเชื้อโรค ตัวกาลีบ้านกาลีเมือง เพราะฉะนั้น มงคลกับอัปมงคล คนอื่นทำให้เราไม่ได้ ไม่มีใครทำสิ่งมงคล สิ่งที่อัปมงคลให้แก่เราได้ มีแต่เราทำเอง แต่เราไม่รู้ตัว อย่าเผลอ พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เราผูกจิตไว้กับสิ่งที่เป็นมงคล เป็นกุศล เราจะได้ไม่เผลอ 

เอาล่ะ ถึงมันจะหลับๆ ตื่นๆ ตกใจขึ้นมา ถึงไหนแล้ววะ อ๋อ พาหุง สรุปแล้วทั้งวัน อิติปิโสฯกับพาหุงฯ ก็ยังดีกว่าที่ให้ใครเขามาปู้ยี่ปู้ยำ ยำยี ทำร้ายทำลายเรา ปล่อยให้อกุศลเข้ามาครอบงำจิตใจเรา ยังถือว่าเป็นส่วนดี 

แต่สำหรับคนที่มีสติปัญญา มีจิตวิญญาณที่พัฒนาแล้ว บอกว่ามันไม่พัฒนา ไม่ดี ทำเท่าไหร่ๆ ก็ได้เท่านี้ ไม่ได้ไปไหนเลย จะเสียดายเวลาไปมั้ย เสียดายทรัพยากร เสียดายสิ่งที่เราอุตส่าห์ได้อัตภาพความเป็นมนุษย์มาแล้วเรายังมาล่าช้าด้วยความมัวเมาประมาท อย่างนี้เรียกว่า มีชีวิตอยู่ในลักษณะแห่งความมัวเมาประมาทไป 

เราจะประมาทเกินไปมั้ย มัวเมาเกินไปมั้ย เพราะความมัวเมาประมาททำให้เราพัฒนาอย่างไร ทำให้เราจมปลักอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ศอก ไม่ได้วา ไม่ได้คืบ ไม่ได้นิ้ว ได้แค่เซ็นหนึ่งก็ไม่ถึง กระดึบๆ ไปเป็นหนอนอยู่อย่างนั้น อย่างนั้นไม่ได้ล่ะ มัจจุราชไม่ได้มาเป็นหนอน มาเป็นรถด่วน เป็นผีพุ่งใต้ เรามัวแต่กระดึบๆ พอลืมตาอีกที อ้าว นี่กูตายแล้วเหรอ ยังสวดพาหุงฯไม่จบเลย อันนี้ไม่ถูกต้อง 

ขณะทำพาหุงฯ แน่นอนล่ะ ไม่ลงนรก แต่อย่างดีที่สุดก็ไปเป็นบริวารของบริวารของบริวารของท่านท้าวจาตุมมหาราชทั้ง ๔ ดีไม่ดีจะเป็นพวกเหลือบ ริ้น ไร ตะไคร่น้ำตามขอบสระ 

คนฝึกจิต ต้องรู้กาล รู้สมัย รู้เหตุ รู้ปัจจัย   

ผู้ฉลาดในจิตคือผู้ฉลาดในโลก 

 

แหล่งข้อมูล

มูลนิธิธรรมอิสระ.  (๒๕๖๗).  ภวังคจิต ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น. ๑๖๓ - ๑๖๙).  นครปฐม: มูลนิธิ.

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม ช่วงบ่าย ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๑๗ มิถุนายน ๒๕๖๗ จาก

          https://www.youtube.com/watch?v=yKBZOw7Ga70

327 | 2 ตุลาคม 2024, 17:50
บทความอื่นๆ