บทที่ ๘ ผู้ที่มีความโง่เสื่อม รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
เรื่อง ผู้ที่มีความโง่เสื่อม รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ
แสดงธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ (ช่วงบ่าย) ณ.ศาลาปฏิบัติธรรม
สาระสังเขป
กล่าวถึงลักษณะของผู้ที่ความโง่เสื่อม คือ รู้เท่าทันอารมณ์ จะต้องเป็นผู้มีศีล มีสติ สมาธิ
ใช้หลักพละห้าอย่าง ครบถ้วนสมบูรณ์และพอดีกัน ไม่มีอย่างใดมากหรือน้อยเกินไป มีการภาวนาสม่ำเสมอชะลอความเสื่อม ใช้กระบวนการวิเคราะห์ ใคร่ครวญ พินิจพิจารณา การงึกก็ทำได้โดยสวดมนตร์ รักษาจิตไม่ให้กระเพื่อม
เนื้อหา
(กราบ)
เจริญธรรม เจริญสุข ท่านสาธุชนคนใฝ่ดีที่รักทุกท่าน
การถือศีล เป็นพื้นฐานของการสร้างความมั่นคงให้กับอานุภาพแห่งคุณธรรม อานุภาพแห่งจิต ศีล เป็นพื้นฐาน เป็นบรรทัดฐาน เป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะบอกว่าเราจะเรียนรู้ศึกษาพระธรรมนู่นนี่นั่นเยอะแยะมากมาย แต่ไม่รักษาศีล ไม่ถือศีล เหมือนกับคนบ้าที่พร่ำไปเรื่อย
คนบ้า ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ มีแต่ปัญญา ถ้ามีแต่ปัญญาอย่างเดียว ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ คือ คนพร่ำเพ้อ คนฟุ้งซ่าน คิดเรื่อยไป หาที่สุดไม่ได้ นอนก็ไม่หลับ ดิ้นจนหนังกลับก็ไม่หลับเสียที ถ้าเป็นปัญญาที่เป็นสัมมาปัญญาก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าเป็นที่เป็นโลกียปัญญายิ่งแล้วใหญ่เลย
ใครก็ตามที่มีโลกียปัญญา แต่ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ ปัญญาพวกนี้จะทำให้ทุกข์หนักกว่าคนโง่อีก เพราะคนโง่ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ คนมีปัญญาวิตก กังวล ว้าวุ่น ร้อนรุ่ม ทุรนทุราย อันนั้นหมายถึง โลกียปัญญา
โลกียปัญญา คือ ไม่มีพื้นฐานของศีล ของสมาธิ ของสติ เป็นตัวตั้งรับ
๐ ไม่มีศรัทธา จะเชื่อผิด เชื่อตัวกู เป็นใหญ่
หลักพละ ๕ อย่าง เริ่มต้นจาก ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา
บางคนมีปัญญา ไม่มีศีล ไม่มีสติ ไม่มีสมาธิ สุดท้ายไม่มีศรัทธา จะเชื่อผิด เชื่อ“ตัวกู”เป็นใหญ่ อัตโนมติ คือเอาความเชื่อความเห็นของตนเป็นใหญ่ ไม่ใส่ใจว่าใครคือหลักการและเหตุผล คนทำอะไรจะต้องมีเหตุมีผล ถ้าไม่มีเหตุมีผลจะเป็นคนดีได้อย่างไร
เด็กสมัยนี้ชอบโดยไม่ต้องอาศัยเหตุผล คนที่อธิบายความหมายของสิ่งที่ตัวเองชอบไม่ได้ แสดงว่า สิ่งที่ตัวเองชอบ ไม่ได้ชอบเพราะว่าสาระ แต่ชอบเพราะไม่มีสาระ ไม่มีเหตุ ไม่มีผล
ฉะนั้น จำไว้เลยว่าคนไม่มีเหตุไม่มีผลไม่ใช่คนดี ถ้ามีเพื่อนแบบนี้อย่าไปคบมัน เพราะมันไม่ใช่คนดี และเราต้องทำตัวให้มีเหตุมีผลด้วย คือจะชอบอะไรต้องรู้ว่าชอบเพราะเหตุ อะไร
จะไม่ชอบอะไรต้องรู้ว่าเราไม่ชอบเพราะเหตุอะไร ต้องอธิบายความสื่อความหมายให้คนอื่นเข้าใจได้ด้วย
ทุกเรื่องต้องอธิบายได้ ถูก..ต้องอธิบายได้ ผิด…ต้องอธิบายได้ ต้องชี้ให้สังคมเห็นได้ว่า ผิดเพราะเหตุผลอะไร ถูกเพราะเหตุผลอะไร ไม่ใช่อำพราง อึมครึม หยวน ๆ ยอม ๆ กันไป เขาทำมาเราก็ทำตาม ๆ กันไปโดยอธิบายความไม่ได้ อย่างนี้ใช้ไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่หลักการและเหตุผลของคนดี
๐ หลักของพละ ๕ อย่าง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
ถ้าอะไรมากไปหนักไปก็ใช้ไม่ได้
เหมือนอย่างพระโสณโกฬิวิสะ ท่านปฏิบัติธรรมจนขมึงทึงตึงเครียดมากไป ต้องให้พอดี ๆ ศรัทธาพอดี ๆ วิริยะมากไปก็ไม่ได้ สติ สมาธิ และปัญญา ใช้คำว่า ก้ำกึ่ง คือเหมาะสม อย่าให้เกินเลย อย่ามากไป อย่าน้อยไป เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา คือ กลาง ๆ การทำการงานทั้งหลายจะเดินได้อย่างราบรื่น เหมาะสม งานภายนอกเหมาะสม งานภายในราบรื่น ไม่ผิดพลาด ไม่พลั้งไม่เสียหาย และไม่ทำร้ายตัวเองในที่สุด
ฉะนั้น ทำอะไรให้อยู่ในหลักมรรคาปฏิปทา มัชฌิมาปฏิปทา ที่พระศาสดาทรงชี้ให้เห็น
พระองค์ทรงสอนพระโสณโกฬิวิสะ ถึงขนาด ทำให้ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ใช้คำว่า ทำให้เป็นนิมิต นิมิตคือเครื่องหมายที่ทำให้ขึ้นใจ คือ
- ทำให้ศรัทธาขึ้นใจ
- ทำให้สติขึ้นใจ
- ทำให้สมาธิขึ้นใจ
- ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ขึ้นใจ ไม่ให้ปรากฏอารมณ์ใด ๆ เข้ามาแทรก
- มีศรัทธาพร้อมเพรียง มีความเพียรพร้อมเพรียง มีสติ สมาธิ ปัญญาพร้อมเพรียง และเหมาะสม ชัดเจน
พอมีพละ ๕ อย่างครบสมบูรณ์ขึ้นใจเป็นเครื่องหมายได้แล้ว เวลาจะทำอะไรก็ง่าย เรื่องที่ยากกลายเป็นของง่าย เรื่องที่ง่ายกลายเป็นของเบา ๆ สบายๆ คนที่มีคุณธรรม คุณสมบัติแบบนี้ ง่ายต่อความสำเร็จ มนุษย์อยากได้ความสำเร็จ ไปบวงสรวง บูชา อ้อนวอน ขอพรเทพยดาฟ้าดิน แต่ในมุมกลับกัน ตัวเองกลับทำ พูด คิดในสิ่งที่ตรงกันข้ามกับความสำเร็จอยู่เสมอ ๆ ศรัทธาไม่มี มีก็ผลุบ ๆ โผล่ ๆ วิริยะนาน ๆ ทำที ไม่ได้ทำถี่ ๆ สติยิ่งไม่ต้องพูดถึง ป้ำ ๆ เป๋อ ๆ หลง ๆ ลืม ๆ ได้หน้าลืมหลัง
๐ ภาวนาหยุดยั้งความเสื่อม ทำให้ความโง่เสื่อม
ถึงได้บอกว่าให้รู้จักภาวนาประจำ บทภาวนาสอนให้แล้วเยอะแยะมากมาย ภาวนาเดิน ถอยหลัง กระโดดไปซ้ายบ้าง ขวาบ้าง ไม่จำเป็นว่าต้อง ๑ - ๒-๓ - ๔- ๕ - ๖ - ๗ - ๘ - ๙ - ๑๐ เพราะเราฝึกทั้งกายด้วย ทั้งใจด้วย ฝึกไปเพรียบพร้อม พร้อมเพรียง เพื่อให้สมองเราพัฒนา หยุดยั้งความเสื่อม หรือชะลอความเสื่อม
เราอาจจะหยุดยั้งไม่ได้แต่ชะลอได้ สมองเรา เพราะอายุมากเข้า เกิน ๔๐ ไปแล้ว ทุกอย่างในร่างกายตายหมด มี ๒ อย่างเจริญเอา ๆ ความแก่ เจริญตลอด อีกเรื่องหนึ่ง คือ
ความโง่ เมื่อไหร่ ๆ ก็เจริญ ไม่มีเสื่อมเลยคือความโง่
เคยรู้สึกบ้างมั้ย นี่ความโง่กูเสื่อมลง เคยมั้ย
๐ ความโง่เสื่อม คือ เรารู้เท่าทัน
ไม่ต้องไปเทียบกับอย่างอื่นเลยลูก คนที่มีความโง่เสื่อม คือ คนที่รู้เท่าทันสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้นกับตัวเอง นั่นแหละคือ คนที่มีความโง่เสื่อม คนที่มีความโง่เสื่อม คือคนที่รู้เท่าทันอารมณ์ที่ปรากฏขึ้นกับใจ รู้เท่าทันสภาวธรรมที่
- ตาเห็นรูป รูปสวยเพราะอะไร เพราะเราปรุงแต่ง เพราะประดับประดาตกแต่ง หรือ สวยโดยธรรมชาติแห่งมันเอง อย่างนี้เรียกว่ารู้เท่าทันสภาวธรรมที่ปรากฏขึ้น อย่างนี้เรียกว่าบุคคลผู้มีความโง่อันเสื่อม
- หูฟังเสียงเพราะ เพราะเราชอบเสียงนั้น ปรุงแต่งจึงเพราะ หรือไพเราะเพราะว่า ธรรมชาติแห่งเสียงนั้นมีอยู่ที่เป็นเสียงเสนาะไพเราะ คนส่วนใหญ่ของจักรวาลนี้เขานิยมชมชอบว่าเสียงนี้เป็นเสียงเสนาะ เสียงไพเราะ หรือเพราะมีผู้ปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ทำให้เกิดทำนองระรื่นหูความเข้าใจแบบนี้เรียกว่า เป็นผู้มีความโง่ที่เสื่อมอยู่ตลอดเวลา
- หรืออะไรที่เกิดขึ้นกับใจ ทั้งอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ชอบกับอารมณ์ที่ไม่ชอบ เกิดขึ้นกับจิตใจ แล้วเรารู้เท่าทันมัน
แค่ “รู้เท่าทันเฉยๆ” แต่ยังไม่ถึงขั้นจะหยุดยั้งหรือระงับยับยั้งมันได้ เท่านี้เราก็ได้ชื่อว่า เป็นผู้ที่มีความโง่อันเสื่อมแล้ว “รู้เท่าทัน” แต่ถ้าเมื่อใดที่เราสามารถ ระงับ ยับยั้งมันได้ ไม่ทำให้จิตนี้กระเพื่อมตามทั้งอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ จิตเราตั้งมั่น นั่นแสดงว่าเราสำเร็จประโยชน์ คือความเสื่อมไม่กล้ำกราย ความเจริญคงที่ เจริญอะไร เจริญปัญญาคงที่ ความเสื่อมในปัญญาไม่กล้ำกราย ถ้าจะเป็นความเสื่อมก็เป็นความเสื่อมของความโง่ที่น้อยลงไป ๆ จนไม่มีกำลังวังชาที่จะครอบงำจิตใจนี้ อย่างนี้เป็นต้น
ใช้กระบวนการวิเคราะห์ ใคร่ครวญ พินิจพิจารณา คือความแก่เจริญตลอดเวลา ความโง่ก็เจริญตลอดเวลา และตรงกันข้าม คือร่างกายเราเสื่อมตลอดเวลา สติปัญญายิ่งแล้วใหญ่เลย บางทีไม่ต้องแก่ อายุ ๒๐ กว่า ๆ มนุษย์เดี๋ยวนี้เป็นอย่างนี้ ไม่เคยฝึกสติ ไม่มีสติใคร่ครวญ พินิจพิจารณา ใครเป็นลูกเป็นเมียเป็นผัวเป็นครอบครัว ช้ำใจตาย มีแต่ความล่มสลายเสียหาย ได้หน้าลืมหลัง ได้อย่างเสียอย่าง สารพัดอย่าง เพราะโทษแห่งการไม่เจริญสติ ตกงานภายใน
๐ ต้องฝึก แล้ววิธีฝึก ฝึกอย่างไร
มนต์นี่แหละท่อง ไม่ท่องมนต์ก็สำรวมกาย กายรวมใจ ใจรวมกาย ดูจิตไม่ให้กระเพื่อม
การดูจิตไม่ให้กระเพื่อมตาม ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ต้องใช้สติมั้ย ต้องใช้ เพราะสติระลึกรู้ว่า จิตนี้ไม่กระเพื่อมอยู่ หรือจิตนี้กระเพื่อมอยู่ การมีสติระลึกรู้แบบนี้ ฝึกบ่อย ๆ ทีนี้ไม่มีอะไรหลงลืม
อะไรที่เข้ามา กูได้จับ ได้ต้อง ได้มอง ได้เห็น ได้ดู ได้ดม กูไม่มีวันลืมหรอก
ทีนี้ จะยึดเอาไว้ หรือไม่ยึดเอาไว้ จะผูกเอาไว้หรือไม่ผูกเอาไว้ หรือจะเฉย ๆ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัย
เพราะฉะนั้น อย่าให้ตัวเองกลายเป็นเหมือนกับลมเพลมพัด คือ สติปัญญา เดี๋ยวก็วืบลง วืบขึ้น ลุ่มๆ ดอน ๆ สุดท้ายจะแพ้ภัยตัวเอง
การผิดพลาดบ่อยๆ เหมือนกับการสะสมเม็ดทรายทีละเม็ด ๆ จากทีละเม็ดกลายเป็นทีละภูเขา บ่อยเข้า ๆ ทีนี้ทั้งชีวิตมีแต่อุปสรรคขวากหนาม มีแต่ปัญหา และก็ไม่มีใครเขาสร้างให้เลยนะ ตัวเองนี่แหละตัวทำปัญหา ตัวสร้างปัญหา แล้วชีวิตจะพัฒนาไปได้อย่างไรเมื่อทุกอย่างเดินหน้า ๑ ก้าว แล้วถอยหลัง ๒ ก้าว มาเก็บของเก่าและก็เดินหน้าไปสักพัก ถอยหลังมาอีกแล้วอีก ๕ ก้าว แล้วจึงจะเดินหน้า แล้วจะไปไหนได้ ไปไหนไม่ได้ คือ ชีวิตไม่ก้าวหน้า
การจะเดินก้าวหน้า ไม่ใช่ด้วยการบวงสรวง บูชา อ้อนวอน ขอพรเทพเจ้า แต่ได้ด้วยการฝึกปรือ
ส่วนการบวงสรวง บูชา อ้อนวอนเทพเจ้า เป็นเพียงแค่องค์ประกอบในการที่จะทำให้เราตั้งมั่นในคุณศีล คุณธรรม คุณทาน และทำให้สิ่งที่เรากระทำอยู่เจริญแล้วมั่นคง รุ่งเรือง เจริญ และเป็นต้นแบบเยี่ยงอย่างให้เทพยดา เทพเจ้า
เทพยดา เทพเจ้าทั้งหลายที่จะมาอุปถัมภ์เรา เขาต้องได้ประโยชน์จากเรานะ ถ้ามาแล้ว มึงซกมก บัดซบ กูเป็นเทวดา กูก็ไม่อยู่กับมึง เดี๋ยวมึงก็ลืมกู ขืนอยู่กับมึง กูไม่ได้อะไรเลย ศีลก็ไม่ได้ ธรรมก็ไม่ได้ ทานก็ไม่ได้ สติปัญญามึงก็ไม่มี
เทพยดาทั้งหลาย เขาอยู่ได้ด้วยการอนุโมทนามัย อนุโมทนามัย แล้วอนุโมทนาอะไร มึงมีอะไรให้เขาอนุโมทนา ศีลมีมั้ยให้เขาอนุโมทนา ทานมีมั้ย ธรรมมีมั้ย สติ สมาธิ ปัญญา มีให้เขาอนุโมทนาได้มั้ย จะเจือจานแบ่งเยียวยาเขาได้มั้ย ถ้าไม่มี ให้ไปกวักมือเรียกให้ตาย
เขาก็ไม่มา
แต่ถ้ามึงมี ไม่ได้ยากเลย เขาก็อยากจะมาเหมือนคนอยากอยู่บ้าน ถ้าบ้านร่มรื่น สงบเย็น โปร่ง เบาสบาย สะอาดสะอ้าน ผ่อนคลาย สิ่งแวดล้อมไม่มีมลภาวะ อยู่เป็นสุข ใครก็อยากเข้าไปอยู่ แต่บ้านซกมก รกรุงรัง มีปัญหา แย่ไปเสียทุกอย่าง ใครจะอยากเข้าไปอยู่
เทวดาก็เหมือนมนุษย์ เหมือนคน เขาก็อยากหาที่ที่เจริญๆ อยู่ ที่อยู่แล้วรู้สึกเจริญ เรียกว่า เจริญทั้งกาย ทั้งจิตใจ ไม่ใช่เจริญอย่างใดอย่างหนึ่ง เทวดาชอบสิ่งดีงาม ชอบเห็นความเจริญ
และความเจริญนั้นไม่ใช่เทวดาให้ บางครั้งเทวดายังต้องมาอาศัยมนุษย์ที่มีความเจริญรุ่งเรือง เทวดายังต้องมาเกาะ ไม่ใช่เราจะไปเกาะเทวดา มาถามปัญหา มาแบ่งบุญ มาขออนุโมทนา มามีส่วนร่วมในคุณงามความดีที่เรากระทำ เทวดาไม่ใช่เป็นผู้ที่แข็งแรงมั่นคง เขาก็ต้องเติมเชื้อแห่งบุญฤทธิ์ของเขาอยู่ตลอดเนือง ๆ ต่อเนื่อง เราเองก็เหมือนกัน ต้องเติมเชื้อในบุญฤทธิ์ของเรา
๐ อะไรที่เห็นว่าเจริญแล้ว ต้องทำให้เจริญขึ้น อย่าให้เสื่อมไป อะไรที่ยังไม่เจริญ ก็ทำให้เจริญมากๆ
คำว่า เจริญ หมายความว่า รุ่งเรือง ความสำเร็จประโยชน์ ไม่ใช่ความเสื่อมเจริญ ความแก่คร่ำคร่าเจริญ ไม่ใช่ความหลง ๆ ลืม ๆ งี่เง่าเจริญ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง
ท่านทั้งหลายต้องเพียรพยายามใคร่ครวญ ทบทวน พินิจพิจารณาว่า สติปัญญาเราเจริญขึ้นหรือเสื่อมลง หรือความแก่ความโง่เราเจริญมากขึ้น ถ้าเมื่อใดความโง่ความแก่เจริญมากขึ้น แต่สติปัญญาเสื่อมลง แสดงว่าเราไม่ได้การแล้ว เราอยู่เสียท่าเรียกว่า มีชีวิตอยู่ขาดทุน
๐ มีชีวิตอยู่ ต้องรู้เท่าทัน
ไม่ต้องไปรู้เท่าทันคนอื่น รู้เท่าทันสภาวธรรมที่ปรากฏกับตัวเอง กับจิตของตน
ตอนนี้เรากำลังโกรธอยู่นะ ตอนนี้เรากำลังโง่อยู่นะ
ตอนนี้เรากำลังง่วง เซื่องซึมอยู่นะ
ตอนนี้กำลังหลงงมงายอยู่นะ
ตอนนี้กำลังเชื่อง่าย ไม่มีสติปัญญาใคร่ครวญนะ
ตอนนี้กำลังตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอยู่นะ
แค่รู้เท่าทันอย่างนี้ถือว่า เราหยุดยั้งความเสื่อมของสติปัญญา และสามารถพัฒนาต่อยอดได้ การจะเรียนรู้ศึกษาพระธรรม ไม่ต้องเรียนรู้อะไรเยอะ อย่างนี้เรียกว่า ความฉลาดเสื่อม ความโง่เจริญ สติปัญญาเสื่อม
….
๐ อย่าให้สติปัญญาเสื่อม ความโง่เจริญ
ต้องฝึกตัวเอง เอะอะอะไรจะไปอาศัยปัจจัยภายนอก กินยา ๆ แต่ตัวเองไม่หยุดที่จะกินเข้าไปทำร้ายตัวเองเสียที ยาอะไรก็เอาไม่อยู่ เราเป็นผู้สร้างความเสื่อมให้เกิดขึ้นได้ และเราทำให้ความเจริญเกิดขึ้นได้ถ้ามีสติปัญญา
รู้จักพินิจพิจารณาเห็นโลกตามความเป็นจริง ทั้งหมดได้มาจากคำว่า “สัมมาทิฏฐิ” ทั้งนั้น พินิจพิจารณาความเห็นตรง ถูกต้องตามความเป็นจริง จะไม่มีอะไรปิดบังอำพราง มองโลกตามความเป็นจริง เหมือนกับโลกใบนี้เปิดหงายให้เราดูหมด เราจะเข้าใจ รู้ชัด รู้จักปัญหา อุปสรรคทั้งหลายก็ได้รับการแก้ไข รู้จัก มองชัด มองถูก มองตรง มองแจ้ง
ที่แก้ปัญหาและอุปสรรคไม่ได้เพราะเรามองไม่ชัด มองไม่ตรง มองไม่ถูก ไม่แจ่มแจ้ง เห็นปัญหาคลุมเครือ แล้วถ้าจะแก้ก็แก้แบบเอาสีข้างเข้าสี สุดท้ายก็แก้ไม่ได้ สุดท้ายจมปลักในกองปัญหา ทีนี้ ความทุกข์ถาโถม เราทำร้ายตัวเองอีกแหละ
รวมแล้ว ทุกข์ คนอื่นทำให้เรามั้ย เราทำเอง เราโง่ หรือเราฉลาด (โง่) สมน้ำหน้า
ถามปัญหา เดี๋ยวจะได้ปฏิบัติธรรม
...............
แหล่งข้อมูล
มูลนิธิธรรมอิสระ. (๒๕๖๗). ผู้ที่มีความโง่เสื่อม รู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นกับใจ ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ
กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๑๓๘ - ๑๔๗). นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ช่วงบ่าย ๑ สิงหาคม ๒๕๖๖,
สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=eDRCP96uc0w วันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๗