วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๖ ช่วง ปฏิบัติธรรม ขั้นที่ ๑ - กายรวมใจ ดู รู้ เฉยๆ ฝึกวางใจให้เป็นกลาง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พอดี

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถิมรรคาปฏิปทา

เรื่อง ช่วงปฏิบัติธรรม ขันที่ ๑ - กายรวมใจ ดู รู้ เฉยๆ ฝึกวางใจให้เป็นกลาง ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พอดี   

แสดงธรรมวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๖๖ 

สาระสังเขป

          สอนการวางใจเป็นกลาง ขั้นที่ ๑ กายรวมใจให้แนบสนิทโดยไม่ต้องมีคำภาวนา รักษาจิต ไม่ให้กระเพื่อม ให้ ตัวดู รู้ เฉย ๆ  ตั้งมั่นอยู่ วางเฉย อยู่กับเราให้นานที่สุดโดยไม่มีอะไรมาฉุด มาดึง มารั้ง มาแยกออก  รู้ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า  รู้ ตั้งแต่ปลายเท้าจรดหัว - ขึ้น ลง.. ลง ขึ้น ให้อยู่ในกาย อย่าออกนอกกาย แต่ต้องระวังอย่าให้ความง่วงเข้ามาครอบงำ รู้อยู่เฉยๆ จนรู้สึกเบา

เนื้อหา

    (กราบ) 
 
          สอนไปแล้ว ใครยังไม่เคยได้รับคำสอน ยกมือ  ใครที่ไม่เคย รุ่นพี่ ๆ แนะนำ บอกกล่าวเล่าแจ้งให้เขาฟังว่าสอนแบบไหน  เรื่องง่าย ๆ คือ ลุกขึ้นยืน ทำ กายรวมใจ ลูก 

 

 

 
 
๐ ขั้นที่ ๑  กายรวมใจ 
ไม่ต้องภาวนาอะไร 
ไม่ต้องพิจารณาอะไร 
ไม่ต้องท่องบ่นอะไร 
ไม่ต้องคิดอะไร 
ทำให้ “กายกับใจ” รวมกันแนบสนิทผนึก 
ใจกับกาย รวมกันนิ่ง ๆ 
อย่าให้ “ใจ” หลุดออกไปจาก “กาย” 
          แยก ๆ ออกมา ยืนห่าง ๆ กันก็ได้ ไม่ต้องไปยืนใกล้กันมากเกินไปนัก ที่ให้ยืนโดยไม่นั่ง เพราะนั่งมานานแล้ว ก็เคลื่อนไหวร่างกาย ผ่อนคลาย อย่างที่บอกเมื่อเช้าว่า งานมี ๒ อย่าง งานภายนอกกับงานภายใน เราทำงานภายนอกมาตลอดชีวิต แต่งานภายในเราตกมาตลอด คือ ตกงานภายใน ไม่ค่อยได้ทำ สุดท้าย พอเจอปัญหาบีบคั้นก็ฆ่าตัวตาย เหตุผลเพราะไม่ทำงานภายใน 

๐ งานภายใน คือ อะไร 
คือ รักษาจิตนี้ ไม่ให้กระเพื่อมที่ตาเห็นรูป  

- ไม่ให้กระเพื่อมที่หูฟังเสียง 
- ไม่ให้กระเพื่อมที่จมูกดมกลิ่น 
- ไม่ให้กระเพื่อมที่ลิ้นรับรส 
- ไม่ให้กระเพื่อมที่กายสัมผัส และ 
- ไม่ให้กระเพื่อมที่อารมณ์มารุมเร้าจิตใจ 
          ตั้งมั่นดั่งภูเขาและหินผา ลมพัดมาจากทิศทางไหนก็ไม่กระเพื่อม ไม่หวั่นหวาด ไม่สะดุ้งผวา เรียกขั้นตอนนี้ว่า กายรวมใจ มี ตัวรู้ อยู่เฉพาะในกาย ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า รู้อยู่อย่างนั้น ส่ง จิต เข้าไปใน กาย  หลวงปู่จะพูดง่าย ๆ สั้นๆ สมัยไปธุดงค์อยู่ในถ้ำว่า “กลับเข้าถ้ำ” พอไปอยู่ในถ้ำแล้วเป็นไง ปลอดภัย โปร่งเบาสบาย ไม่มีใครมารบกวนเรา ใช้คำว่า กลับเข้าถ้ำ ชั่วชีวิตเราส่งจิตออกไปนอกกาย มองดูนู่นนี่นั่น ฟังดูสิ่งนั้นสิ่งนี้ สัมผัสนู่นนี่นั่น เยอะแยะมากมาย ลองดูมัน กลับมาดูกายข้างในเราดูบ้าง 
 
- ส่งความรู้สึกลงไปในกายเรา ดูภายในกายเรา ดูเฉย ๆ ไม่ต้องคิดเยอะ  
ไม่ต้องวิจัย วิจาร ดู แล้ว รู้เฉย ๆ 

- ดู แล้ว รู้ เฉย ๆ 
อย่างนี้เขาเรียกว่า กายรวมใจ 
ให้ ตัวดู รู้ เฉย ๆ  ตั้งมั่นอยู่ 
ดู รู้ เฉย ๆ… ดู รู้ เฉย ๆ ... ดู รู้ เฉย ๆ 
ไม่ต้องภาวนา แต่ระลึกให้ได้ว่า ดู รู้ เฉย ๆ 
- ร่างกาย ไม่ต้องเกร็ง ไม่ต้องขมึงทึงตึงเครียด มือไม่ต้องกำ แขนไม่ต้องเกร็ง ไหล่ไม่ต้องยกไม่ต้องลู่ อกไม่ต้องแอ่น คอไม่ต้องเอียง ปล่อยทุกอย่าง อย่างผ่อนคลาย 

-ดู  รู้ เฉย ๆ อยู่กับกาย 
- ดู รู้ เฉย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรเลย ไม่ต้องคิด อย่าส่งจิตออกไปคิดนู่นนี่นั่น ฟุ้งซ่าน 
- ส่ง ความรู้สึก ระลึกรู้ อยู่ภายในกาย ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า 
ดู แล้ว รู้ เฉย ๆ 
ไม่ต้องคิด แต่ให้มันอยู่ในกาย 
ดู แล้ว รู้ เฉย ๆ 
          นี่แหละคือ การเจริญสติ มีสติ รู้อยู่เฉพาะในกายตน แต่เราไม่รู้จักหน้าตา สติ เนอย่างไร ก็ใช้คำว่า ดู แล้ว รู้ เฉย ๆ นั่นแหละคือ ตัวสติ ประเด็นปัญหาของเรา คือ เราต้องการทำให้ สติ ตั้งมั่นอยู่นานเท่านาน ให้มี ตัวรู้ เฉย ๆ นี่แหละ อยู่กับเรานานเท่านาน นานมาก ๆ จนคุ้นเคย จนสติกับเรากลายเป็นหนึ่งเดียวกัน ทีนี้ค่อยทำขั้นตอนต่อไป 
          แต่ตอนนี้เป็นขั้นตอนแรก คือ ขั้นตอนกระบวนการสร้างสติ ทำให้ สติ ตั้งมั่นอยู่ในกายนาน ๆ มาก ๆ ทีนี้ ทำก็ไม่ผิด พูดก็ไม่ผิด คิดก็ไม่ผิด อานิสงส์ของการมีสติ ป้องกันความผิดพลาดของชีวิตไปได้ 

- ขั้นตอนแรก แค่ กายรวมใจ หรือ ดู รู้ เฉย ๆ 
ไม่ต้องคิด ไม่ต้องภาวนา ไม่ต้องนึก ไม่ต้องตรึก ไม่ต้องวิตก ไม่ต้องวิจาร 
ดู รู้ เฉย ๆ 
…… 
วางเฉย อยู่กับเราให้นานที่สุดโดยไม่มีอะไรมาฉุด มาดึง มารั้ง มาแยกออก 
- รู้ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า 
- รู้ ตั้งแต่ปลายเท้าจรดหัว 
- ขึ้น ลง.. ลง ขึ้น ให้อยู่ในกาย อย่าออกนอกกาย 
ใช้คำว่า กักขัง ตัวดู รู้ เฉย ๆ เอาไว้เฉพาะในกายเท่านั้น อย่าให้ออก อย่าให้หลุด 
นี่เป็นขั้นตอนแรก ๑ ใน ๕ ขั้นตอน 
แต่ทำขั้นตอนแรกให้ผ่านให้ได้ก่อน อานิสงส์จะมากมีอย่างที่บอก 
ทำให้เรามีชีวิตอยู่อย่างไม่ผิดพลาด ไม่วิปริต เสียหาย 
ทำไม่ผิด พูดไม่ผิด คิดไม่ผิด 
 

๐  “เฉย ๆ” พอเกิดขึ้นแล้วจะเกิดคำว่า ลหุตา คือ ความเบาสบาย 
- “รู้ เฉย ๆ” พอตั้งมั่นได้แล้ว จะมีคำว่า ลหุตา คือ ความเบา ๆ 
ร่างกายจะเบา ๆ สมองเบา กล้ามเนื้อผ่อนคลาย เส้นเอ็นผ่อนคลาย กระดูก ข้อต่อทั้งหลายผ่อนคลาย ไม่กำ ไม่เกร็ง ทุกส่วนในร่างกายจะผ่อนคลาย สามารถบำบัดโรคเครียดได้ทั้งกายและใจ 
- แค่ ดู รู้ เฉย ๆ ให้ตั้งมั่นอย่างยาวนาน แค่นี้ก็เป็นยาวิเศษ 
- ไม่ต้องภาวนา ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องสาธยาย ไม่ต้องสวด ไม่ต้องตรึก ไม่ต้องวิตก ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องคิด 

แค่ ดู รู้ เฉย ๆ 
- คนบางคน พอถึงคำว่า ดู รู้ เฉย ๆ แล้วจะใกล้เคียงกับ ถีนมิทธะ คือ ความง่วงเหงาหาวนอน กลายเป็นเหมือนกับต่อมนอนหลับเกิดขึ้น เติบโตขึ้นมาทันที แสดงว่า ไม่เฉย นะนั่นน่ะ ไม่เฉย มันโดนแทรก 

- ต้องรู้ให้ทันด้วย นั่นเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ คือ ความเห็นตรงถูกต้องตามความเป็นจริง ต้องเข้าใจเลยว่า นี่คือ มาร ซาตาน ความง่วงเหงาหาวนอน เมื่อเกิดขึ้นในขณะที่เราต้องการเฉย ๆ แสดงว่า มันไม่เฉย เราตกเป็นทาส โดนครอบงำ 
- ถ้าไม่อยากเป็นบ้า ไม่อยากวิกลจริต ไม่อยากเป็นโรคซึมเศร้า ไม่อยากเป็นพวกวิตกจริต ไม่อยากเครียด ไม่อยากเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่อยากเป็นคนสมองเสื่อม หรือโรคพาร์กินสัน ต้องทำให้ได้ ทำได้แล้วจะไม่เป็นโรคเหล่านั้นเลย ถือว่าเป็นธรรมโอสถ 
 
๐  ถึงคำว่า “ลหุตา” ความเบา  

- ทำให้ได้ ทำให้ถึง จนถึงคำว่า ลหุตา ความเบา เราจะรู้ว่าโรคเหล่านี้เกิดขึ้นเพราะมันไม่เบาถ้าเบาแล้วมันจะไม่เกิด 
- เบาสมอง เบากาย เบาใจ เบากล้ามเนื้อ เบาจากความขมึงทึงตึงเครียดทั้งหลาย มันเบาบาง บรรเทา หายไป 
- วันทั้งวันอยู่กับความ ดู รู้ เฉย ๆ แล้วเข้าถึงอารมณ์แห่งความเบาสบาย อย่างเลวที่สุด ตายแล้วไปเกิดในชั้นกามาวจรภูมิ ไม่ต้องกลัวตกนรก 
- ถ้าถึงคำว่า เฉย อย่างตั้งมั่น มั่นคง ก็ไปชั้นพรหมสุทธาวาส 

- ถ้ายังไม่ตาย ก็สามารถรับสถานภาพแห่งความเป็นอิสระ ไม่ตกเป็นทาสของการครอบงำใด ๆ จากตาเห็น หูฟัง จมูกดม ลิ้นรับ กายสัมผัส อารมณ์ที่ปรากฏ ใครจะมาบูลลี่ เอาทัวร์มาลงก็ไม่หวั่นหวาด ไม่หวั่นไหว ไม่สะดุ้งผวา ให้มาเป็นสิบคันรถทัวร์ เราก็เฉย ๆ เพราะเรา ดู รู้ เฉย ๆ แล้วเราจะเข้าใจว่า ชีวิตเราไม่ได้ฝากไว้บนฟองน้ำลายที่กระดกบนปลายลิ้นของชาวบ้าน  
เรามีชีวิตเป็นตัวของตัวเราเอง เพราะเราดู เรารู้ทัน และวางเฉยได้ 

- วิธีมันง่าย ๆ ไม่ได้ยุ่งยาก ซับซ้อน แค่ทำให้ได้เท่านั้น  ดู รู้ เฉย ๆ 
- ต่อให้มันมายืนชี้หน้า ตะโกนโหวกเหวก โวยวาย ด่าใส่หน้าเรา เราก็ ดู รู้ เฉย ๆ 
ต้องฝึกอย่างนี้ มันจะเหมาะกับสถานการณ์ที่บีบคั้นของโลกและสังคมในโลกยุคปัจจุบันที่เราสามารถเอาตัวรอดได้ ต้องฝึกแบบนี้เท่านั้น 
….. 
 
- ใครที่คิดว่าตัวเองถึงขั้นคำว่า เฉย ๆ ได้แล้ว ค่อย ๆ ทรุดตัวลงนั่งกับที่ 
ถ้ายังไม่เฉย อย่าเพิ่งนั่ง 

 

๐  นั่ง แล้วรักษาความดู รู้ เฉย ๆ พูดง่าย ๆ คือ รักษา “สติ” เอาไว้นั่นแหละ ให้มันตั้งมั่น 
- ยังเฉยอยู่ ยังดู รู้ เฉย ๆ อยู่  ไม่คิดอะไร ไม่ใคร่ครวญอะไร 
ไม่พิจารณาอะไร ไม่ข้องแวะสิ่งใด ๆ 

- อย่าอยากมากไป เดี๋ยวจะกลายเป็นความเกร็งและเครียด แม้ร่างกายเราไม่เครียด แต่จิตใจเครียด แสดงว่าตัณหาเกิดขึ้นกับใจ เพราะอยากมากไป 
 

  วางใจให้เป็นกลาง 
          ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เรียกว่า พละ ๕ อย่าง ที่เป็นคุณเครื่องยังให้สำเร็จในกรรมฐานนี้ ต้องเหมาะสม ใกล้เคียง พอดี เราไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร แค่ ดู รู้ เฉย ๆ อย่างอ่อนโยน ผ่อนคลาย สุภาพ เบา สบาย เท่านั้นเอง  อยากมากไป ก็ไม่อ่อนโยน ไม่ผ่อนคลาย ไม่สุภาพ ไม่เบา ไม่สบาย  ถ้าน้อยไป ก็กลายเป็นความล่าช้า เกียจคร้าน สันหลังยาว ไม่สำเร็จประโยชน์ สุดท้ายกลายเป็นความฟุ้งซ่าน ง่วงเหงาหาวนอน อย่างนั้น ต้องปรับสภาวะเคมีภายในกายเราให้พอดี ๆ ใช้คำว่า ปรับสภาวะอารมณ์หรือจิตใจให้พอเหมาะ พอสม พอดี 
- ดู อย่างอ่อนโยน 
- รู้ อย่างผ่อนคลาย เฉย ๆ อย่างสุภาพ 
ให้ความเฉย ๆ รู้อยู่เฉย ๆ ตั้งมั่นให้นานที่สุด ยิ่งนานมากเท่าไหร่ก็เป็นคุณต่อเรามากเท่านั้น 
 
 
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน เตรียมตัวแผ่เมตตา ว่าตาม 
…… 

มูลนิธิธรรมอิสระ.  (๒๕๖๗).  ช่วง ปฏิบัติธรรม ขั้นที่ ๑ - กายรวมใจ ดู รู้ เฉยๆ ฝึกวางใจให้เป็นกลาง ศรัทธา

วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา พอดี ใน   ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๑๔๘ - ๑๕๕).  นครปฐม: มูลนิธิ.

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม เนื่องในวันอาสาฬหบูชา ช่วงบ่าย สิงหาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๑๐

กันยายน ๒๕๖๗ จาก  https://www.youtube.com/watch?app=desktop&v=eDRCP96uc0w

54 | 11 กันยายน 2024, 17:43
บทความอื่นๆ