บทที่ ๘ ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถ ทบทวนขั้นที่ ๑ - ๔ และขั้นที่ ๕ จะเกิดขึ้นเอง
ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม
ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถ ทบทวนขั้นที่ ๑ - ๔ และขั้นที่ ๕ จะเกิดขึ้นเอง
แสดงธรรมวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๖๕
สาระสังเขป
สอนปฏิบัติธรรมปราณโอสถ ตั้งแต่กายรวมใจ ไม่มีอารมณ์อื่น มีแต่กายกับใจ รู้ รับ จำ คิด อยู่ในที่ตั้งคือกาย ผ่อนคลาย หมายถึง การวาง ว่างทั้งกายและใจ ร่างกายเราผ่อนคลาย ถือว่า จิตนี้เราได้พักผ่อนแล้วทีนี้จะทำการงานได้อย่างสมบูรณ์ ก็มารู้ลมและตามดูลม หายใจเข้าและออกตามจุดต่างๆ สลับไปมาแต่ละครั้ง แต่ละขั้นให้ชัดเจน จนกระทั่งเราไม่ได้กำหนดลม แต่ลมเดินของมันเองโดยธรรมชาติ แล้ววางลม คือ ปล่อยเป็นธรรมชาติ และดูลม จะสำเร็จได้พื้นฐานต้องมี อินทรีย์คือความเป็นใหญ่ หรือพละ ๕ อย่าง เป็นอุปการคุณต่อวิชาปราณโอสถ ต้องทำให้มีอยู่ตลอดเวลา
เนื้อหา
ลุกขึ้นยืน
.......
ตามกระบวนการ
- กายรวมใจ
- ผ่อนคลาย
- รู้ลม
- ตามดูลม
....
๐ กายรวมใจ
คำว่า กายรวมใจ ไม่มีอารมณ์อื่น มีแต่ “กายกับใจ”
- "ใจ"ที่มีหน้าที่ รับ จำ รู้คิด
- "กาย"เป็นถ้ำ เป็นเครื่องอาศัยของใจ
- มีแค่นี้ อารมณ์อื่นไม่มี
- มีแต่หน้าที่กับเครื่องอยู่
พูดให้ชัดๆ คือ หน้าที่กับเครื่องอยู่ นั่นคือความหมายของคำว่า กายรวมใจ
หน้าที่ซึ่งยังไม่ได้ลงมือทำ ไม่ใช่หน้าที่แล้วต้องทำ
- หน้าที่รับ-ต้องออกไปรับ หน้าที่จำ-ต้องออกไปจำ
หน้าที่รู้-ต้องออกไปรู้ หน้าที่คิด-ต้องออกไปคิด
นั่นเรียกว่า ลงมือทำ
ฉะนั้น ความหมายของคำว่า กายรวมใจ มีข้อจำกัดความว่า รู้ รับ จำ คิด อยู่ในที่ตั้ง เมื่ออยู่ในที่ตั้ง อยู่ในถ้ำ อยู่ในที่อาศัย ก็ไม่มีเรื่องอะไรจากภายนอกเข้ามาสอดแทรก นั่นคือสมบูรณ์แห่งความหมายของคำว่า กายรวมใจ
......
๐ ผ่อนคลาย
ส่วนคำว่า ผ่อนคลาย หมายถึง การวาง ว่าง กิริยาและพฤติกรรมแห่งคำว่า วาง ว่าง
วาง ว่าง ทั้งกาย
วาง ว่างทั้งใจ
วาง ว่างทางกาย เรียกว่า อย่างไร
- วางกาย ไม่ต้องไปแบกกาย กล้ามเนื้อทุกส่วนในร่างกายผ่อนคลาย วางลง ไม่ต้องขมึงทึงตึงเครียด เส้นเอ็น พังผืด ข้อกระดูก เส้นประสาทต่างๆ ทุกอย่าง วาง ว่าง ผ่อนคลายหมด แม้แต่รูขุมขน ทุกสัดส่วนของร่างกาย ผิวหนัง เนื้อ กระดูก
- อวัยวะทุกส่วนผ่อนคลายให้หมด วาง ว่างให้เกลี้ยง
แต่ยังไม่ถึงขั้น ดับ เย็น เพราะเดี๋ยวจะไพล่ไปเจริญปัญญา เป็นวิปัสสนา
- พอร่างกายเราผ่อนคลาย ถือว่า จิตนี้เราได้พักผ่อนแล้ว ทีนี้จะทำการงานได้อย่างสมบูรณ์ ก็มารู้ลมและตามดูลม
๐ รู้ลม และตามดูลม
๐ พอถึงขั้นเดินลมผ่านจุด (ตามดูลม)
- หายใจเข้า : จมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง กระดูกสันหลัง ลงไปที่ก้นกบ ทะลุมาที่ช่องท้อง
- เริ่มหายใจออก : อย่างแผ่วเบา ไล่ขึ้นไป หัวเหน่า ใต้สะดือ เหนือสะดือ ช่องท้อง ลิ้นปี่ ทรวงอก ลำคอ ออกปาก หายใจออกหมดพอดี เช่นนี้เรียกว่า ตามดูลม
- ไม่ใช่ตามดูอย่างเดียว ตามกำหนดลมด้วย
ทำจนช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญ แล้วขั้นที่ ๕ จะเกิดขึ้นเอง
ใครยืนไม่ไหว ลงนั่งก็ได้ ผู้เฒ่าหัวเข่าไม่ดี ยืนนานๆ
๐ ถอยกลับมาดูลม
- หายใจเข้า.. จมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง กระดูกสันหลัง ลงไปที่ก้นกบ ทะลุมาที่ด้านหน้า ช่องท้อง
เริ่มหายใจออกอย่างผ่อนคลาย ลมเดินขึ้นมา.. หัวเหน่า ใต้สะดือเหนือสะดือ ช่องท้องลิ้นปี่ ทรวงอก ลำคอ ออกปาก
- หายใจเข้า.. ปาก ลำคอ ทรวงอก ลิ้นปี่ ช่องท้อง เหนือสะดือ ใต้สะดือ หัวเหน่า ทะลุไปที่ก้นกบด้านหลัง
ขึ้นมาที่กระดูกสันหลัง หายใจออก.. เบาๆ ขึ้นไปที่กระดูกต้นคอ กะโหลกศีรษะด้านหลัง กลางกระหม่อม หน้าผาก ออกจมูก
- ให้ "ลม" ปล่อยไปตามธรรมชาติอย่างผ่อนคลาย
ทำอย่างนี้สลับไปมาแต่ละครั้ง แต่ละขั้นให้ชัดเจน จนกระทั่งเราไม่ได้กำหนดลม แต่ "ลม" เดินของมันเองโดยธรรมชาติ อย่างนั้นเรียกว่าพัฒนาแล้ว
แต่กระบวนการกำหนด"ลม"ให้เป็นไปตามจุดต่างๆ อย่างที่กล่าว นั่นไม่เป็นธรรมชาติ อย่างนั้นเรียกว่า ไม่ได้พัฒนา กำลังฝึก
แต่ถ้า "ลม"เดินเองโดยไม่ต้องกำหนด ไม่ต้องสั่ง นั่นเรียกว่าเป็นธรรมชาติแล้วทีนี้ "ลม"จะทำหน้าที่เป็นเหมือนยาวิเศษ เข้าไปเยียวยาในจุดที่เราบกพร่องเสียหายได้เอง โดยที่เราไม่ต้องกำหนด แต่ต้องทำจนกระทั่งคุ้นเคย เคยชิน
๐ ทีนี้ วางลม คือ ปล่อยเป็นธรรมชาติ
- ลองสังเกตดูซิว่า พอวางลมโดยไม่กำหนด "ลม" ยังเดินอยู่เหมือนผ่านตามจุดต่างๆ ด้วยตัวมันเองมั้ย
- ถ้า "ลม" ยังเดินอยู่ตามจุดต่างๆด้วยตัวมันเอง แสดงว่า เราเริ่มพัฒนาแล้ว
- แต่ถ้าวาง "ลม"แล้ว ลมยังเหมือนเดิม คือ
หายใจเข้า-หายใจออกเฉยๆ อย่างนี้แสดงว่ายังไม่คุ้นชิน ยังไม่พัฒนา
๐ ดูลม
หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวง จงเป็นสุข
หายใจออก ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวง จงพ้นทุกข์
สรุปหลังปฏิบัติธรรม :
จะสำเร็จได้ พื้นฐานต้องมี "อินทรีย์" คือความเป็นใหญ่ หรือ"พละ" คือ ความมีกำลัง ๕ อย่าง
ฉันทะ คือความพึงพอใจ หรือว่า ศรัทธา คือ ความเชื่อ
มีศรัทธา
มีวิริยะ ความเพียรอย่างต่อเนื่อง
สติ สำคัญ เป็นตัวกำกับบถ(อิริยาบถ)ทุกอย่าง
สมาธิ ความตั้งมั่น และ
ปัญญา ความใคร่ครวญ พินิจพิเคราะห์
ธรรม ๕ อย่างนี้เป็นคุณูปการ เป็นอุปการคุณต่อวิชาปราณโอสถ ต้องทำให้มีอยู่ตลอดเวลา ไม่อย่างนั้นจะผลุบๆ โผล่ๆ ทำแบบแกนๆ ทำแบบเสียไม่ได้ คนเรา ถ้าศรัทธาเสียอย่าง ลำบากแค่ไหนก็ไปถึงจนได้ ทุกข์ยากขนาดใดก็ทำสำเร็จจนได้เพราะความศรัทธา แม้แต่ความตายก็ยังเอาชนะได้ด้วยศรัทธาสูงสุด ขอเพียงมีศรัทธา
แต่ศรัทธาอันไม่สัมปยุตด้วยปัญญา จะจบลงอย่างน่าอนาถเหมือนกัน โง่เขลาเบาปัญญา ขาดความพินิจพิเคราะห์ นอกจากจะไม่ทำให้เจริญแล้ว ยังกลายเป็นการทำลายชาติภพตัวเองด้วย อย่างนั้นเรียกว่า ศรัทธาแบบผิด ๆ
เช่นอะไรบ้าง?
พวกไปไหว้สากกะเบือออกดอก หมามี ๒ หัวอย่างนี้เรียกว่า ศรัทธาแบบผิดๆ ศรัทธาแบบทำลายชาติภพตัวเอง เพราะมนุษย์เป็นเพศภาวะที่สูง เป็นสุคติภพ ดันไปไหว้เดรัจฉาน
แสดงว่าต่อไปมึงไม่มีสิทธิ์จะมาเป็นมนุษย์ ต้องไปเป็นพวกเดียวกับเดรัจฉาน เพราะไปบูชาเดรัจฉาน อย่างนี้เรียกว่า ศรัทธาผิด ๆ ทำความเข้าใจในศรัทธาให้ถูกต้อง
"ธรรม"ที่สอนน่ะทำให้สมบูรณ์ แล้วคำตอบจะอยู่กับตัวของมันเอง ผลสัมฤทธิ์เกิดจากการกระทำเอง คนอื่นจะยืนยันความสำเร็จไม่ได้ถ้าเราไม่ทำมัน ตัวเราเองจะเป็นผู้รับรู้เองว่า เราทำแล้วมีผลสำเร็จ สัมฤทธิ์ได้แค่ไหน
ตั้งใจกรวดน้ำ
....
ธรรมะรักษาลูก ให้เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ ปลอดภัย เจริญธรรม
(กราบ)
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. (๒๕๖๖). ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถ ทบทวนขั้นที่ ๑ - ๔ และขั้นที่ ๕ จะเกิดขึ้นเอง ใน ปราณโอสถ: กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม, (น.๑๙๕ - ๒๐๑).
นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรมทบทวน วิชาปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ - ๔ ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ช่วงบ่าย ๓
กรกฎาคม ๒๕๖๕, สืบค้น เมษายน ๒๕๖๗ จาก https://www.facebook.com/WatOnoiTH/videos/729415798286684