วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๕ ปฏิบัติธรรมหลักการกายรวมใจจากสติปัฏฐาน ๔

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา

ชื่อรื่อง ปฏิบัติธรรมหลักการกายรวมใจจากสติปัฏฐาน ๔

แสดงธรรมวันที่ ๔ มิถุนายน ๒๕๖๖ 

สาระสังเขป
         สอนปฏิบัติธรรมปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ ทำให้ความรู้เนื้อรู้ตัวทั่วพร้อม เหมือนกับคนกลับเข้ามาบ้าน คือการเจริญ กายานุสติกรรมฐาน หลุดออกไปก็ตามดู รู้ชัด รู้เห็นว่าหลุดไปกับอะไรเรียกว่า เป็นผู้เจริญเวทนานุปัสสนา และ รู้ลมว่าลมเข้าหรือออกอยู่ ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย ขั้นที่ ๓ รู้ลมว่าลมเข้าหรือออกอยู่โดยวางจิตไว้ที่ปลายจมูก ย้อนกลับลงไปอยู่ใน ขั้นที่ ๒  ผ่อนคลาย 

แล้วออกเดิน ให้ร่างกายผ่อนคลาย เดินแบบรู้สึกตัวทั่วพร้อม กายรวมใจ ด้วยความผ่อนคลายอยู่ ผลจากความผ่อนคลาย จะมีอายุยืนยาว ระบบประสาทแข็งแรง สุขภาพดี

เนื้อหา

ยืน 

๐ กายรวมจิต 

ฝึกให้ กายรวมจิต ไว้บ่อยๆ ทุกขณะๆ จะได้ไม่ต้องไปเปื้อนฝุ่นละออง ไปเผชิญ ผจญกับอันตรายนอกกายเพราะเวลานี้ อันตรายนอกกายเยอะมาก มีมลพิษ มลภาวะ มีสภาวะบีบคั้น หลอกล่อ ยั่วยวน มีมายาการ มารยาสาไถย ครอบงำ 

จิตเราเหมือนกับเด็กอ่อนๆ พร้อมที่จะเข้าไปเผชิญ เจอะเจอต่อทุกสิ่งด้วยความไม่แยกแยะดีชั่ว ถูกผิด เพราะตราบใดที่ยังไม่เจริญสติ ไม่เจริญสมาธิ ไม่เจริญปัญญา ไม่เหมือนกับผู้ใหญ่ที่มีความรู้ มีสรรพวิทยาวิชาการ มีเวทมนต์ อาคมขลัง ออกจากบ้านก็ปลอดภัย มีชัยชนะ 

จิตของผู้ไม่ฝึก ศึกษา สั่งสม อบรม แล้วไม่ยอมให้อยู่กับบ้าน ออกไปเที่ยวอยู่ข้างนอก ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กวัยรุ่นที่ออกไป และก็เลอะเทอะ เปรอะเปื้อน สะบักสะบอม แผลเป็นเต็มตัวกลับมา ดีไม่ดีก็ปางตาย หรือไม่ก็ต้องมานอนเจ็บ ให้น้ำเกลือ เสียรู้ เสียคน เสียเปรียบ เสียสารพัดเสีย นั่นคือโทษของผู้ที่ไม่มี “กายรวมใจ” อย่างน้อยๆ ควรฝึกให้กายรวมใจ ตลอดเวลา ถึงคราวหลับ ไม่ต้องไปพึ่งยานอนหลับ ฝึกกายรวมใจประจำ ฝึกบ่อยๆ ไม่ใช่เป็นวันด้วย ต้องบอกว่า เป็นชั่วโมงก็ได้ เป็นนาทีก็ได้ นึกขึ้นได้ อยู่กับกาย 

เวลาจะนอน มันฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ คิดไม่จบ คิดไม่ตก คิดเรื่อยเปื่อยไปไม่หยุดหย่อน ไม่รู้จักนอนเสียที ดิ้นจนหนังกลับก็ไม่หลับ เหตุเพราะกายไม่รวมใจ จิต เป็นเด็กน้อยที่ออกไปท่องในโลกแห่งมายาการ อยู่ในอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ชอบ และอารมณ์ที่ไม่ชอบ จนหลงใหลอยู่กับโลกมายาการ เหมือนจะบังคับให้กลับ มันก็ไม่กลับ ดึงเท่าไหร่มันก็ไม่กลับ นั่นเพราะโทษแห่งความไม่รู้ทางที่จะกลับ หลงไง นั่นแหละ เขาเรียก คนหลง ถึงได้พร่ำสอนอยู่ประจำว่า ต้องฝึกให้ กายรวมใจ อยู่ตลอด 

-ไม่ต้องภาวนาอะไร เอาแค่ดึงกายกับใจให้มารวมกัน 

-ดึงที่มันออกไปข้างนอกเยอะแยะ ออกไปฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ อยู่ข้างนอก ดึงให้มันกลับมา ให้มารวมอยู่นี่ ในร่างกาย กว้างศอก ยาววา หนาคืบ ให้มันมารวมอยู่อย่างนี้ อย่าให้มันหลุดออกไป  

ฝึกจนกระทั่งเป็นอาจิณ เป็นนิจสิน เป็นประจำ เป็นลมหายใจ อย่างนี้เรียกว่า เป็นผู้มีโยนิโสมนสิการ พิจารณา ใคร่ครวญ ไตร่ตรอง วิเคราะห์ 

 

พอถึงขั้นคำว่า กายรวมใจ  

- เฉยๆ ว่างๆ สบายๆ ผ่อนคลาย ทำให้ความรู้เนื้อรู้ตัวทั่วพร้อม เหมือนกับคนกลับเข้ามาบ้าน พายุข้างนอกซัดสาดก็ปิดประตู หน้าต่าง แดดจะส่อง ฝนจะสาดเข้า ก็ปิดช่อง ปิดประตูให้หมด กลับมาอยู่กับ”กาย”เรา  

- ทีนี้เราก็จะปลอดภัย จิตนี้ก็ไม่สัดส่าย ไม่ทุรนทุราย ไม่กระเสือกกระสน ไม่ดิ้นรนไป 
- ไม่ต้องฝึกเยอะ เอาแค่นี้แหละก็ได้  เราใหม่ๆ ทำได้ เก่าก็ทำได้ คนเก่า ยิ่งเป็นคุณูปการ เราจะต่อยอดไปได้เยอะแยะมากมาย 

 

 ฝึกใหม่ๆ ทำกายรวมใจ  ให้กายกับใจรวมกัน 

          - ไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องภาวนาอะไร ไม่พิจารณาอะไร 

- อยู่แต่ภายในบ้านเรา คือ ในกายเรา 

- ปิดประตู ปิดหน้าต่าง ปิดช่อง นั่นคือ ปิดหู ปิดตา ปิดใจ ไม่ต้องไปรับรู้อะไร 

- รู้เฉพาะภายในกายเรา ไม่ยุ่งกับอารมณ์ใด ๆ ทั้งสิ้น 

 

๐ รู้ อย่างไร 

รู้ตั้งแต่ หัวจรดปลายเท้า ให้อยู่ตั้งแต่ หัวจรดปลายเท้า -จากปลายเท้า ขึ้นมา ที่หัว  จากหัว ลงไปที่ปลายเท้า อยู่ตรงกลางกระหม่อมบ้าง อยู่ที่กะโหลกศีรษะบ้าง อยู่ที่หน้าผากบ้าง อยู่ที่โหนกแก้มบ้าง อยู่ที่ลำตัวบ้าง ทรวงอกบ้าง ต้นคอบ้าง หัวไหล่บ้าง  ท่อนแขนบ้าง ฝ่ามือบ้าง ช่องท้องบ้าง ตะโพกบ้าง ขาบ้าง เข่าบ้าง น่องบ้าง ข้อเท้า ฝ่าเท้า นิ้วเท้า 

อะไรก็ว่าไปอย่างน้อยให้มี กาย เป็นเครื่องอยู่        

ถ้าทำได้อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงเรียกว่า เรากำลังเจริญ กายานุสติกรรมฐาน เป็นหนึ่งในมหาสติปัฏฐาน ๔ อันมี กาย เวทนา จิต และ ธรรม 

- ทำให้ กายรวมอยู่กับใจ บ่อยๆ และรักษาความรวมอยู่ ใหม่ๆ เอาสัก ๓ นาที ๕ นาที  
- อ้าว หลุดออกไปอีกแล้ว ปล่อยมัน ช่างมัน อย่าบังคับมัน ตามไปดูว่า หลุดไปตรงไหน หลุดไปอย่างไร หลุดไปเจออะไร   
          ตามดูอย่างนั้น เรียกว่า เป็นผู้เจริญเวทนานุปัสสนา แรกๆ อยู่กับกาย ต่อไปมันหลุดออกไปก็ตามดู รู้ชัด รู้เห็นว่าหลุดไปกับอะไร เป็นเวทนาแล้วยังไงต่อ กลับมาดูจิต  หรือถ้ามันหลุดไปเรื่อย ๆ ก็ดูมันไปเรื่อย ๆ ดูไปอย่างเป็นผู้รู้ ไม่ตกเป็นทาส ไม่อยู่ในอำนาจการครอบงำ แต่รู้ว่าหลุด ไม่ใช่ดูมันแล้วก็หลงให้มันลากจูง ฉุดกระชาก ลากถูไป ระเริงไปกับมันจนหลงลืมว่า นี่กูทำอะไรอยู่  อย่างนี้ไม่ใช่เป็นผู้ดูแล้ว เป็นผู้ถูกกระทำ เป็นผู้แสดงแล้ว อย่างนี้ก็ไม่ใช่เป็นผู้เจริญเวทนานุสติปัฏฐาน 

 ๐ รู้ลม 

ตามไปดูเสร็จแล้วยังไงต่อ ว่าที่จริงแล้ว สิ่งที่สอนไม่ใช่ให้ตามไปดูเวทนา แต่สิ่งที่สอน คือ หลังจาก กายรวมใจ แล้ว ต่อไปคือ รู้ลม 

รู้ว่า ลมเข้าอยู่ 

รู้ว่า ลมออกอยู่ 

ว่าที่จริง ลม ก็เป็น กาย อย่างหนึ่ง เป็น อานาปานสติกรรมฐาน แต่ยังอยู่ในหมวด 

กายบรรพ แต่ช่วงแรก เอาแค่ รู้ ภายในกายเราก่อน ทำให้กายกับใจรวมกันให้ได้ อย่าให้หลุดออกไป ยืนอยู่ก็รู้กาย นั่งอยู่ก็รู้กาย เดินอยู่ก็รู้ภายในกาย นอนอยู่ก็รู้ภายในกาย 

แต่เหตุที่ให้ยืน เพราะว่า เรานั่งมานาน พอนั่งนาน จะกระตุ้นความขี้เกียจได้ง่าย 

แต่ถ้ายืน คือ สภาพที่เตรียมพร้อมจะไปข้างหน้า เป็นการตื่นตัว ตื่นจากภวังค์แห่งความหลงใหล 

ยืน ไม่ต้องประสานมือ ทิ้งลงข้างลำตัว ทำพินอบพิเทา สำรวมโน่นนี่นั่น ทำให้มันง่ายๆ   

อย่าทำให้มันยาก ทำชีวิตให้ง่ายๆ สบายๆ ให้ทุกอย่างผ่อนคลาย ไม่ต้องไปเกร็ง ขมึงทึงตึงเครียดใดๆ 

แรกๆ อาจจะรู้โดยผิวเผิน  แค่ กายรวมใจ นี่ลูก สามารถจะจูงเข้าไปสู่รู้ไปถึงว่า ใจนี้เรากระเพื่อมแค่ไหน และสามารถพัฒนาเข้าไปเห็นจิตหรือเห็นใจเราว่า นี่เราเปลื้องพัฒนาการแห่งจิตได้ในระดับเหมือนกับปอกหัวหอมเป็นกลีบๆ..กลีบนอก กลีบกลาง กลีบใน และใจกลางหัวหอม เป็นชั้นเป็นฉาก สามารถทำได้แค่ กายรวมใจ นี่แหละ จิตเราจะละเอียดเป็นขั้น ๆ จนกระทั่งเราเห็นสภาพจิตว่า เราผ่องแผ้วและแจ่มใสได้เหมือนกัน ถ้าทำให้ได้ กายรวมใจ จริง ๆ เถอะ  

และคลายเครียดได้ด้วย พวกที่เมื่อเช้าป่วยเป็นเครียด ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดกล้ามเนื้อ มือ-เท้าชา ปวดศีรษะซีกหนึ่ง สามารถแก้ได้ด้วยการทำให้ กายรวมใจ เพราะต้นเหตุอาการชา อาการ 

ปวด ระบบประสาททั้งหลายถูกกำจัดไป คือ ไม่เครียด ไม่ขมึงทึงตึงเครียด กลายเป็นยารักษาโรคไปได้ 

 อยู่กับตัวเอง 

- ยืนก็อยู่กับตัวเอง 

- นั่งก็อยู่กับตัวเอง 

- เดินก็อยู่กับตัวเอง 

….. จิตนี้ ใหม่ๆ เราอาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูก เดี๋ยวหลุดๆ เดี๋ยวก็ออกจากบ้าน ออกจากกาย เหมือนกับลิง หลุกหลิก ล่อกแล่ก ฟุ้งช่านเหมือนกับนุ่นที่อยู่ในอากาศ ลมพัดก็ปลิวไปเรื่อย ๆ ไปไล่จับมันก็ยาก ซัดส่ายไปเรื่อย 

ทีนี้ ค่อยๆ กายกับใจ ลงนั่ง ใจยังอยู่กับกาย 

- นั่งอย่างรู้ตื่น กายยังรวมใจอยู่ 
- แล้วแต่จะนั่ง ท่าไหนที่ตัวเองถนัด 

- ยัง”รู้”ภายในกายอยู่ อย่าไป “รู้”นอกกาย 

มีเรื่องที่ต้องใช้โยนิโสมนสิการ คือ เวลา กายรวมใจ ปุ๊บแล้ว สิ่งที่จะรับรู้ได้ คือ ลมหายใจ รู้สึกลมหายใจจะเป็นใหญ่มาก ดันไปเห็นความกระเพื่อมของกายตามลมหายใจที่เข้าและออก  เราลังเลว่า แล้วจะดู ลม ดีมั้ย 

ที่จริง ลมเป็นส่วนหนึ่งของกาย แต่มาจากนอกกายด้วย ถ้าเราจะให้มี กายกับใจ รวมกันอย่างตั้งมั่น ก็ยังประคับประคอง ยังรับรู้ได้เฉพาะ กายรวมใจ เฉย ๆ ยังไม่ถึงขั้นที่จะไปตามรู้ลม ยังไม่ถึงขั้นนั้น  ทำให้ กายกับใจ รวมกันให้มั่นคง หนักแน่นมากขึ้น 

๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย 

ผ่อนคลาย คืออะไร 

- ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ 

- ผ่อนคลายระบบประสาท 

- ผ่อนคลายทุกส่วน  

- แต่ยังรู้อยู่ภายในกาย แวบออกไปข้างนอกได้ แต่ต้องรีบดึงกลับมา ไม่ใช่แวบบออกแล้วตามไปดูมัน 

- ผ่อนคลาย ตั้งแต่ หัวจรดปลายเท้า 

ผ่อนคลาย เป็นขั้นตอนที่เรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า สู่สุคติภพ เวลาคน(ใกล้)ตาย ใช้อารมณ์ความผ่อนคลายแบบนี้ อย่างเลวที่สุดได้เป็นสวรรค์ชั้นจาตุมมหาราชิกา ขึ้นมาหน่อยก็อยู่ในชั้นกามาวจรภูมิ 

- ทำให้ทุกอย่างในร่างกายผ่อนคลาย 

- ไม่ยึดติดอยู่กับอะไร ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ใดๆ 

- กล้ามเนื้อ ระบบประสาทผ่อนคลาย 

- เส้นเอ็น ข้อกระดูกผ่อนคลาย ไม่ตึง ไม่กำ ไม่เกร็ง 

- ทุกอย่างผ่อนคลาย 

พอมี กายรวมใจ แล้วจะควบคุมกายได้ เพื่อทำให้มันผ่อนคลาย  
          ผ่อนคลายนานแค่ไหน ผ่อนคลายจนถึงที่สุด อารมณ์ที่ผ่อนคลายจะต้องไม่มีอะไรเข้ามาแทรกเลย ไม่มีความรัก ความโลภ ความโกรธ ความหลง ไม่มีโมหะ ไม่มีความฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ ไม่มีความระแวง สงสัย แม้ที่สุด ไม่มีความง่วงเหงาหาวนอนใดๆ เข้ามาแทรกด้วย  จึงจะถึงคำว่า ผ่อนคลายอันสมบูรณ์ ประสาททุกส่วนในร่างกายผ่อนคลายหมด หมายรวมไปถึงประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทที่กายรับสัมผัส เหมือนกับคนที่ไปยืนอยู่บนยอดเขา แล้วมีสายลมพัด ไม่ว่าจะรุนแรง หรือว่าอ้อยอิ่ง เราจะไม่สะทกสะท้าน ตั้งมั่นได้ ไม่หวาดผวา ไม่สะดุ้งกลัว 

ลุกขึ้นยืน ยังอยู่กับ กายรวมใจ 

๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓ รู้ลม 

ให้รู้ว่า ลมเข้าอยู่ ลมออกอยู่ ลมอะไร ลมหายใจเรา  

- รู้ลม ไม่ใช่ไปรู้เรื่องอื่น 
- ยังอยู่ในขั้นตอนของ กายรวมใจ ในขั้น รู้ลม ไม่ใช่รู้เรื่องอื่น ไม่ใช่ฟุ้งซ่านไปเรื่องอื่นๆ  

- รู้ แต่ลม เฉยๆ   
- รู้ว่า ขณะนี้ ลมเข้าอยู่ หายใจเข้า  รู้ว่า ขณะนี้ หายใจออกอยู่ 

รู้ลม แล้วเอา”จิต”ไปไว้ตรงไหน เอา”สติ”อยู่จุดไหน อยู่ที่ปลายจมูกไง 

- รู้ว่าลมเข้า  

- รู้ว่าลมออก 

- รู้ว่า ลมเข้าอยู่ 

- รู้ว่า ลมออกอยู่  

เท่านั้น 

….. 

ที่จริง ควรจะให้ขยับไปถึง  ขั้นที่ ๔ คือ ตามดูลม ให้ลมผ่านในจุดต่าง ๆ ในร่างกาย แต่ปัญหารอบกายเรา คือ ๑. โรคมาก  ๒. ฝุ่นมาก  บรรยากาศไม่พร้อม ไม่เหมาะที่จะให้ฝึกถึงขั้นนี้ เอาไว้ไปหาช่องทาง อากาศดีๆ สถานที่ปลอดโปร่ง ไว้ฝึกขั้นที่ ๔ ได้ ในที่ที่ปลอดโรค 

เราท่านทั้งหลายคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกวันนี้ สังคมรอบกายเราไว้ใจไม่ได้แม้กระทั่งลมหายใจ บางคนอาจเอาเชื้อโรคเข้ามาเผยแพร่โดยที่เขาก็ไม่รู้ตัว นั่นคือ ปัญหาโรคทางเดินหายใจ คนที่มีปอดอ่อนแอ อาจจะอันตราย มีผลต่อการติดเชื้อได้ง่าย 

๐ ย้อนกลับลงไปอยู่ใน ขั้นที่ ๒  ผ่อนคลาย  

แล้วออกเดิน ให้ร่างกายผ่อนคลาย  เดินด้วยความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องเดินเป็นนกกระยางหาเหยื่อ อย่าให้ฝืนธรรมชาติ ที่นี่ จะไม่สอนอะไรที่ฝืนธรรมชาติ ขัดกับความเป็นจริงของชีวิตปัจจุบัน เราต้องอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริงที่เป็นชีวิตปัจจุบันได้อย่างเป็นผู้ที่อยู่เหนือโลก คือ เหนือสิ่งที่เป็นอยู่ ด้วยการฝึกปรือตัวอย่างยิ่ง แต่ไม่ใช่ด้วยวิธีผิดธรรมชาติ 

-เดินแบบชนิดที่อยู่ข้างถนนก็เดินได้ อยู่ในห้างก็เดินได้ ไม่ใช่เดินแบบชนิดที่อยู่ข้างถนนก็รถชนตาย อยู่ในห้างเขาก็ว่าบ้า แต่ให้ผ่อนคลาย ไม่เป็นภาระ เดินอย่างผ่อนคลาย ไม่ใช่หมายถึง ปล่อยใจให้เลื่อนลอย ยังมี กายกับใจ รวมกัน แต่ทุกส่วนในร่างกายผ่อนคลาย 

ฝึกให้มีชีวิตเป็นปกติ  มี จิต สติ สมาธิ ปัญญา ควบคุมกาย เช่นนี้จึงเรียกว่า  
ผู้มีชีวิตอันศักดิ์สิทธิ์ เรามีกายอันศักดิ์สิทธิ์ 

….. 

เดินผ่อนคลาย คือ เดินแบบรู้สึกตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่เดินแบบคนเลื่อนลอย ทำธรรมะของพระพุทธเจ้าให้เป็นสิ่งมีชีวิต อย่าทำธรรมะของพระพุทธเจ้าให้เป็นของเก่าที่เก็บใน 

ตู้พระไตรปิฏก นานๆ จะหยิบมาอ่าน มาใช้เสียที ต้องใช้ให้ได้ทุกวัน  อย่าทำธรรมะของพระพุทธเจ้าให้เป็นสิ่งคร่ำครึ มีชีวิตอยู่ปัจจุบัน ต้องมีธรรมะของพระพุทธเจ้าโดยเฉพาะเรื่อง กายรวมใจ มีสติรู้ชัดภายในกาย เวลาอยู่บ้าน อยู่สวนหย่อม สนามหญ้า ลานบ้าน ในตึกรามบ้านช่อง ก็สามารถทำได้ แม้ที่สุด อยู่ในที่ชุมชน ในห้างสรรพสินค้า ก็ทำได้ 

 

กลับมายืนอยู่กับที่  กายยังรวมใจอยู่ 

….. 

๐ ลองใช้โยนิโสมนสิการ ใคร่ครวญ พิจารณาภายในกายดูซิ 

-ดูซิว่า เราเกร็ง ขมึงทึงตึงเครียดในโสตประสาทใด 

บางคนเกร็งข้อแขน ข้อมือ เกร็งนิ้วมือ ฝ่ามือ เกร็งกล้ามเนื้ออยู่ตลอดเวลา เราไม่รู้สึกตัวหรอกแรกๆ แต่พออายุมากเข้าๆ แก่ตัวลง ทีนี้จะแสดงตัวออก เกิดอาการบิดเบี้ยว  ปากเบี้ยว มือไม้เกร็ง สุดท้ายกล้ามเนื้ออ่อนแรง แม้ที่สุด ระบบสมองตัวเอง เกิดขมึงทึงตึงเครียด จนกระทั่งตีบตัน เกิดปัญหาจากอาการบางทีหลอดเลือดตีบตัน เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ หรือ เกิดจากการที่เราเครียดสะสมจนกลายเป็นความเคยชิน แล้วทีนี้มือไม้ชา อ่อนแรง ลองพิจารณา 

แล้วจะแก้อย่างไร ใช้หลักผ่อนคลายไง เอาหลักการขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย เอามาแก้ปัญหา 

- บางคนใบหน้าบิดเบี้ยว เราไม่รู้สึกหรอก ตอนนี้ยังอายุไม่มากเท่าไหร่ แต่พอมากไปๆ ที่นี้มันจะแสดงออก เห็นผล 

- ใช้ โยนิโสมนสิการพิจารณาภายในกายตน 

- บางคนใส่หน้ากากมาตลอดชั่วชีวิต ไม่รู้สึกตัวว่า เราใส่หน้ากาก แต่พอถึงขั้นผ่อนคลาย เราจึงจะรู้ว่า ที่ผ่านมา เราใส่หน้ากาก เพราะเราเกร็งกล้ามเนื้อใบหน้า เกร็งกระบอกตา เกร็งผิวหนัง เกร็งแม้กระทั่งหู ๒ ข้าง ริมฝีปากล่าง ริมฝีปากบน โหนกแก้ม คาง เกร็งไปหมด นั่นเขาเรียกว่า คนใส่หน้ากาก ก็ใช้หลักผ่อนคลาย 

- บางคนเกร็งไหล่ ยกไหล่ข้างเดียวอยู่ตลอด ไหล่เอียงไปข้างหนึ่ง หรือไม่ก็ยกไหล่ ๒ ข้างอยู่ตลอด เกร็งกล้ามเนื้อไหล่ กล้ามเนื้อสบัก เกร็งท่อนแขน ฝ่ามือ เกร็งนิ้ว ก็ใช้หลักผ่อนคลาย 

- บางคนเกร็งกระดูกสันหลัง นั่งก็เอียง ยืนก็เอียง เดินก็เอียงไปข้างหนึ่งจนกระทั่งสะโพก ๒ ข้างโตไม่เท่ากัน เพราะกระดูกสันหลังคด ร่างกายเลยต้องเกร็ง เพื่อจะดึง ต้านทานแรงโน้มถ่วง กลายเป็นคนเดินตัวคดไปข้างหนึ่ง เอียงซ้ายบ้าง บางคนเอียงไปทางขวา 

แก้ปัญหาตรงไหน  ใช้หลักผ่อนคลาย เข้าไปผ่อนคลายให้รู้ถึงสาเหตุ..  

“ธรรมใดเกิดแต่เหตุ พระศาสดาทรงแสดงเหตุและความดับเหตุแห่งธรรมนั้น” 

บางคน ทั้งปีทั้งชาติ ปวดแต่หลัง ปวดแต่เอว แต่ไม่รู้ปัญหาเกิดจากอะไร เพราะเราเกร็งไง ปวดหลัง ปวดเอว ปวดไหล่ ปวดบ่า ปวดสบัก ปวดตะโพก เพราะเราทำร้ายตัวเองตลอดเวลา และยาวนาน สะสมมาเป็นสิบ ๆ ปี  โดยปกติ ธรรมชาติ ลำตัวต้องเป็นฉากกับพื้น ไหล่ ๒ ข้างต้องขนานกับพื้น แต่เราทำให้มันผิดธรรมชาติ แล้วทีนี้กล้ามเนื้อต้องพยุงไว้ ประคองไว้ บ่อยเข้า ๆ กลายเป็นผิดรูปแบบ ทีนี้ เกิดอาการปวดเมื่อย ชา หนักเข้าๆ กลายเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เพราะไปกดทับมันบ่อย ๆ มาก ๆ เข้า ระบบส่งเลือดไปเลี้ยงปลายประสาทไปได้ยาก เหมือนสายยางที่โดนกดทับบ่อย ๆ น้ำไปไม่ถึงปลายสาย ปัญหาตามมาอึก  

แก้อย่างไร  หลักผ่อนคลายนั่นแหละ  โยนิโสมนสิการเข้าไปดูภายในกายเรา 

ไม่อยากเป็นทาสของยา ต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเราเอง โรคพวกนี้ เกิดได้กับทุกคนที่ไม่มีสติภายในกาย ไม่มีกายกับใจรวมกัน 

บางคนนึกว่า ตัวเองเป็นโรคไซนัสอักเสบ ปวดตึงหน้าผาก ตึงโหนกแก้ม แน่นในโพรงจมูก แต่แท้จริงแล้วคือ ตัวเองใส่หน้ากากตัวเองไว้ ไปเกร็งกล้ามเนื้อใบหน้า ไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง พยายามเสแสร้งเข้าสังคม เกร็งบ่อยๆจนเคยชิน นึกว่าหน้าตัวเองแท้ๆ ส่องกระจกทีไร นี่คือหน้ากู แต่แท้จริงแล้ว พอวางทุกอย่างได้ รู้ว่า นั่นไม่ใช่หน้ากู นั่นคือ หน้ากาก 
 

๐ ผลของการผ่อนคลายได้หมด 

หลังจากผ่อนคลายได้หมด หน้าจริง ๆ เราไม่ต้องไปเกร็ง แล้วจะรู้สึกตามมา คือเบาสบายเมื่อเราผ่อนคลายได้หมด โหนกแก้มที่ว่าตึง โพรงจมูกที่ว่าตัน หน้าผากที่ว่าแน่น จะผ่อนคลายหมดโรคที่เกิดจากความไม่สมดุลภายในกาย เกิดได้สารพัดอย่าง  ปรับสมดุลภายในกายไม่ได้ ทำให้เกิดโรคได้สารพัดอย่าง 

….. 

ยังมี กายรวมใจ ด้วยความผ่อนคลายอยู่ อยากมีอายุยืนยาว ระบบประสาทแข็งแรง สุขภาพดี ไม่ต้องพึ่งยาโด๊ป อาหารเสริมที่ไหน ต้องทำแบบนี้ ต้องฝึกอย่างนี้ทุกวันๆ 

เรียกว่า ฝึก วาง ว่าง ดับ เย็น ลักษณะอย่างนี้ เรียกว่า ฝึกให้วาง ให้ว่าง ให้ดับ แล้ว เย็น 

ทำให้ได้ทุกวัน ๆ จนกลายเป็นจิตสันดานของตน  ทีนี้ไม่ว่าจะเผชิญต่อสถานการณ์บีบคั้น เหตุการณ์รุนแรง หรือ ทิ่มแทงเราขนาดไหน เราจะวาง ว่าง ดับ เย็นได้ตลอดเวลาในทุกสถานการณ์ที่พบเห็น ที่เจอะเจอ มาจากหลักการ กายรวมใจ และผ่อนคลาย นี่แหละ  
หรือจะพูดให้เต็มสูตร คือมาจากสติปัฏฐาน ๔ นี่แหละ “มีสติในกาย มีสติในเวทนา มีสติในจิต มีสติในธรรม” 

ไม่ได้มีอะไรยิ่งใหญ่ไปกว่านี้ แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง สติในกาย สติในเวทนา สติในจิต สติในธรรม มันกลายเป็นวิชาการ กลายเป็นสิ่งที่ต้องแบกหาม เป็นความรู้สึกว่า ต้องเป็นภาระ 

แต่ถ้าพูดถึงเรื่อง แค่ “กายรวมใจ” ไม่มีอะไรต้องเป็นภาระ เป็นเรื่องง่ายๆ ที่ทำได้ ไม่ต้องแบกหาม 

พูดถึงเรื่อง ”ความผ่อนคลาย” ก็เป็นเรื่องสบาย ๆ ที่เราอยากอยู่แล้ว แต่ทำไม่เป็น ทำไม่ถูก ไม่รู้วิธี หรือไม่พยายามทำ นั่นเอง 

 กายรวมใจ กับ ความผ่อนคลายถือว่าเป็นความจำเป็นในการดำรงชีวิตอยู่  

ในสถานการณ์โลกที่บีบคั้นอยู่อย่างนี้ บีบคั้นทั้งทางตรง ทางอ้อม รอบตัว ในตัว  

ถ้าทำไม่ได้ก็กลายเป็นเหยื่อ ถ้าทำได้ ถึงจะอยู่รอด ไม่มีใครทำร้ายเรา เราก็ทำร้ายตัวเราเอง มีแต่คนโง่เท่านั้นที่จะยอมรับมัน ทำร้ายตัวเอง คนมีสติปัญญา เขารู้ว่า วิธีแก้ทำอย่างไร 

 

๐ ขยับขึ้นไปขั้นที่ ๓  อยู่กับลมหายใจ 

ดูลมหายใจว่า  

ลมหายใจเข้าอยู่ หรือลมหายใจออกอยู่ 

 

หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข 

หายใจออก ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ 

….. 

 

เมื่อ ”จิต” เราเข้าสู่กระบวนการ กายรวมใจ แล้วผ่อนคลาย ได้อย่างสมบูรณ์  

- เวลารู้ลมหายใจ ภาวนาว่า หายใจเข้า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข จะดื่มด่ำ ชุ่มฉ่ำหัวใจ เหมือนมีน้ำทิพย์ชโลมอยู่ในจิตใจ 

- เวลาหายใจออก สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ เหมือนกับปลดปล่อยความทุกข์ของสรรพสัตว์ทั้งหลาย 

- ความรู้สึกอย่างนี้ จะเกิดหลังที่เรามี กายรวมใจ แล้วผ่อนคลายถึงที่สุด เพราะเราให้แบบไม่มีอะไรต้องเสียดาย ต้องหวงแหน เพราะมัน วาง ว่าง ดับ เย็น สนิท 

….. 

 

ยกมือไหว้พระกรรมฐาน …ลงนั่ง พอทำได้มั้ย ได้ทำหรือได้ฟัง  
กลับไปทำบ่อยๆ ถ้าไม่อยากต้องกลายเป็นมนุษย์ห้องยาเดินได้ 

.......... 

  

ช่วงตอบคำถามหลังปฏิบัติธรรม  

คำถาม : ในการปฏิบัติขั้นที่ ๒ …กายรวมใจ ผ่อนคลาย พอทำไปได้สักระยะหนึ่ง มันเบาสบาย เห็นว่า ร่างกายหายใจได้เอง เราบังคับไม่ได้ แล้วเบาสบายมาก  

พอถึงขั้นที่ ๓ รู้ลม เวลาทำเหมือนมีภาระว่าต้องไปตามดูลม แต่ขั้นที่ ๒ เบาสบายจริง ทำไมจึงมีความรู้สึกแบบนั้น 

หลวงปู่ : ที่จริง นั่นคือ สภาพความเป็นจริงของร่างกายที่หายใจได้เอง เราไม่จำเป็นต้องบังคับ ไม่เป็นภาระ แต่พอถึงขั้นที่ ๓ ที่ ๔ มันเป็นภาระ ด้วยเหตุผลว่าต้องการฝึกให้สูงขึ้นเลยกลายเป็นภาระ การเรียนรู้ศึกษาเป็นภาระมั้ย (เป็น)  การฝึกปรือ เป็นภาระมั้ย (เป็น) แต่ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย เป็นความวาง ว่าง ดับ เย็น มันไม่ได้เป็นภาระ เป็นความโปร่ง เบา สบาย  แต่ถ้าไปยึดติดอยู่กับมัน เดี๋ยวไม่ไปไหน อยู่กันตรงนั้นแหละ แม้จะบอกว่า อย่างเลวที่สุดก็อยู่ในชั้น 

จาตุมมหาราชิกา ตายแล้วอาจจะได้ไปอยู่ในกามาวจรสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง แต่ยังเป็นชั้นเลวอยู่ ต้องพัฒนาให้สูงกว่านั้น 

ถึงได้บอกว่า ต้องไปรู้ลม ขั้นที่ ๓ คือ รู้ลม  ขั้นที่๔ คือ ตามดูลม มันจะเป็นภาระ แต่พอพ้นขั้นที่๔ ไปเป็นขั้นที่ ๕ แล้ว อันนั้นไม่มีภาระแล้ว เราสามารถคุมธาตุทั้ง ๔ ภายในกายได้อย่างสมบูรณ์แล้ว เหมือนกับคนที่จะไปเรียนปริญญาตรี ยังไม่จบปริญญาตรี เป็นภาระมั้ย แล้วพอจบปริญญาตรี มีภาระในการเรียนต่อไปมั้ย คือ ถ้าไม่เรียนต่อปริญญาโท จะมีภาระต่อไปมั้ย (ไม่มี) ก็เหมือนอย่างนั้นแหละ 

แต่ถ้าไม่เรียนเลยล่ะ ก็ไม่ต่างอะไรกับเด็กเร่ร่อน เด็กเลี้ยงควาย เด็กจรจัด  
มีอิสระมั้ย (มี) แต่มีสาระไหม (ไม่มี) เข้าใจไหม ไปฝึกให้ได้ และทำอยู่ตลอดเวลาถ้าไม่อยากเป็นมนุษย์ยาเคลื่อนที่ ทำร้ายตัวเองทั้งที่ตัวเรามีศักยภาพมหาศาล แต่เข้าไม่ถึงมันและก็ทอดทิ้งมัน ดูแคลน เหยียดหยาม ดูถูกมัน และก็กลับมาทำร้ายตัวเอง ทำทำไม ทำร้ายตัวเอง ทำให้มันผ่อนคลายดูบ้าง แล้วเราจะรู้สึกคุ้นชินกับความเบาสบาย จะได้ไม่ต้องใส่หน้ากากให้กับใคร โดยเฉพาะใส่หน้ากากหลอกตัวเอง นั่นแหละสำคัญสุด 

 

แหล่งข้อมูล

มูลนิธิธรรมอิสระ.  (๒๕๖๗).  ปฏิบัติธรรมหลักการกายรวมใจจากสติปัฏฐาน ๔ ใน           ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๑๑๕ - ๑๒๙). 

      นครปฐม: มูลนิธิ.

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม เนื่องในวันวิสาขบูชา ช่วงบ่าย 4 มิถุนายน 2566, สืบค้น 14 มิถุนายน 2567 จาก

     https://www.youtube.com/watch?v=tOCkHP9UXQQ&list=PL6Ru9Ju-iZKrx0BH-QPZ9NYKZDvFmJ_Dn&index=3

Qr Code

 

 

 

41 | 27 สิงหาคม 2024, 22:04
บทความอื่นๆ