บทที่ ๓ ปฏิบัติธรรม สติที่เป็นสัมมา สติที่เป็นมิจฉา
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา
เรื่อง ปฏิบัติธรรม สติที่เป็นสัมมา สติที่เป็นมิจฉา
แสดงธรรมวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖
สาระสังเขป
กล่าวถึงสัมมาสติ คือ สติที่ระลึกรู้อิริยาบถอย่างแผ่วเบา ผ่อนคลาย โปร่ง เบา สบาย ระลึกรู้ว่า ตัวกู จิตกูเกิดขึ้น ตั้งอยู่ด้วยเหตุปัจจัยในหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา การฝึกสัมมาสติ เริ่มจากกายกับใจ รวมกันเป็นหนึ่ง รู้ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า รวมกันแล้วได้ ก็แยกออกจากกันได้ การจะแยกกายแยกใจออกจากกันต้องกำจัดอุปาทานในขันธ์ก่อน เราจะไม่เห็นอุปาทานขันธ์เลย ถ้าไม่เข้าถึงคำว่า สัมมาสติอย่างแท้จริง เมื่อกายรวมใจจะพบโลกที่สงบอยู่ภายใน โลที่วุ่นวายอยู่ภายนอก จะสงบถึงขั้นแม้กระทั่งลมหายใจก็สงบ มีตัวรู้ปรากฎชัดเจน แต่ไม่เสพติดในอารมณ์ที่สงบใด ๆ ธาตุทั้ง ๔ ในกายเราไม่พลุ่งพล่าน ผ่อนคลายเองโดยธรรมชาติ เพราะอำนาจแห่งสัมมาสติ รู้ชัดตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องไปควบคุมบังคับ
เนื้อหา
ลุกขึ้นยืน ปฏิบัติธรรมกันหน่อย นั่งนาน ผ่อนคลายบ้าง
อายุมาก เยอะ ๆ อยู่ในอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งนานก็เป็นทุกข์ลูก
บริหารจัดการอิริยาบถให้ลดทุกข์ให้ได้อย่างผ่อนคลาย
หน้าที่ของสมมุติอย่างพวกเรา คือ มีชีวิตบริหารทุกข์ ไม่ให้ทุกข์เกิน
ส่วนสุขเป็นของแถมจากการบริหารทุกข์เป็น
ถ้าเราบริหารทุกข์เป็น บริหารทุกข์ได้ ความสุขก็เกิดขึ้น แต่บริหารทุกข์ไม่เป็น บริหารทุกข์ไม่ได้ โดนทุกข์รุมเร้า ถาโถมใส่เข้ามา ความสุขไม่มีสิทธิ์เกิดหรอก เกิดไม่ได้
ความสุขไม่มีอยู่จริง แต่ความทุกข์เป็นของจริงที่ทิ้งไม่ได้ เพราะมันอยู่กับโลกสมมุติ
ถ้าเป็นโลกปรมัตถ์ ไม่มีคำว่าสุข ไม่มีคำว่าทุกข์ มีแต่คำว่า พอ
หลักคิดของโลกปรมัตถ์มีอย่างนั้น
- ไม่มีสุข ไม่มีทุกข์ มีแต่คำว่า พอ อิ่ม และเต็ม
- ไม่มีคำว่า พร่อง ไม่มีคำว่า ขาด
นั่นคือ โลกปรมัตถ์
ถึงได้เขียนบทความสอนลูกหลาน
“คนที่แสวงหาไม่เลิก เพราะเป็นคนไม่รู้จักพอ ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักเต็ม”
๐ ส่ง กาย รวมกับ ใจ
ส่ง กาย อยู่กับ ใจ
ให้ กายกับใจ รวมกัน
อย่าส่งจิตออกนอกกาย และก็ผ่อนคลาย
อันดับต้น :
- รู้ กายกับใจ
- รู้ ใจกับกาย
- กายกับใจ รวมกันเป็นหนึ่ง
- รู้ ตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
- ไม่ต้องภาวนาอะไร
- ไม่ต้องพิจารณาอะไร
- ไม่ต้องท่องบ่น สวดมนต์ใด ๆ
- แค่ระลึกรู้ มีสติภายในกายตน
แม้ที่สุด สติ ก็มีเป็นขั้น เป็นชั้น เป็นฉาก เป็นช่อง ไม่ใช่มีสติตัวเดียว
สติ ที่เป็นมิจฉาสติ คือ
สติ ที่ระลึกรู้ว่า ตัวกู เป็นเช่นนี้
ตัวกู มีอยู่อย่างนี้ ยังจัดว่า เป็นมิจฉาสติ อยู่
สติ ที่เป็นสัมมาสติ คือ
- สติที่ระลึกรู้อิริยาบถอย่างแผ่วเบา ผ่อนคลาย โปร่ง เบา สบาย
- สติที่ระลึกรู้ว่า ตัวกู จิตกู เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ด้วยเหตุปัจจัย
เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดตัวกูได้ และที่สุดของเหตุปัจจัยเหล่านั้นก็อยู่ในหลัก อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
อย่างนี้เรียกว่าเป็น สัมมาสติ อันบริสุทธิ์ บริบูรณ์
ฝึกไปเรื่อย ๆ แล้วจะเห็นกายรวมใจไปเรื่อย ๆ เราจะแยกได้ว่า
กายกับใจ เมื่อรวมกันแล้วได้ มันก็แยกออกจากกันได้
ทุกข์กาย แต่ใจไม่ทุกข์ ลำบากกาย แต่ใจไม่ลำบาก
เรียกว่าทุกข์กาย ใจเป็นสุขก็มี มันสามารถแยกออกจากกันได้
แต่กว่าจะแยกออกจากกันได้ ต้องใช้หลัก กายรวมใจ ให้ได้ก่อน
ไม่อย่างนั้นใจออกไม่ถูก
จิตนี้ออกจากกายไม่ได้ แยกจากกายไม่ได้ เพราะมีอุปาทานขันธ์
อุปาทานในขันธ์เกิดขึ้นในทุกขณะจิต
แม้การจะดึงเอากายออกจากใจได้ แยกกายแยกใจออกจากกันแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เรียกว่า ตัดบัวไม่ให้เหลือเยื่อใยได้ ต้องกำจัดอุปาทานในขันธ์เสียก่อน
แล้วอุปาทานในขันธ์ เราจะไม่เห็นถ้าไม่เข้าถึงคำว่า สัมมาสติอย่างแท้จริง จะไม่เห็นอุปาทานขันธ์เลย
มันซับซ้อน ยอกย้อน ละเอียด สุขุม ลุ่มลึก
ต้องฝึก ศึกษา สั่งสม อบรม บ่มเพาะบ่อย ๆ
๐ อันดับต้น ต้องทำให้ กายกับใจรวมกัน
จะได้รู้จักหน้าตา ตัวตน อันแท้จริงทั้งกายและจิตใจเรา
……
แค่เพียงชั่วเราทำให้กายกับใจรวมกัน เราจะเห็นโลกใบหนึ่งซ้อนกับโลกอีกใบหนึ่งอย่างชัดเจน
โลกแห่งความวุ่นวายกับโลกแห่งความผ่อนคลายสงบ ซ้อนกันอยู่
ดึงกายมารวมกับใจ ก็จะอยู่กับโลกแห่งความสงบผ่อนคลาย
- แต่ถ้าปล่อยให้ กายกับใจ แตกแยกออกจากกัน ก็เจอแต่โลกแห่งความวุ่นวาย สับสน ทุรนทุราย ฟุ้งซ่าน
- เราอยากเห็นโลกทั้งสองแตกต่างกัน อย่างไร ก็ต้องฝึก ทำให้กายกับใจรวมกันบ่อย ๆ เราจะแยกได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
เออ สองโลกนี่มันแปลก แตกต่างอย่างแท้จริง
วุ่นวาย สับสน กับ สงบ ผ่อนคลาย
ฉะนั้น ถ้าโลกแห่งความสับสน บีบคั้น ทำให้เราทุกข์ระทม ก็กลับเข้ามาอยู่ในโลกแห่งความสงบ ผ่อนคลาย
ทำได้ด้วยตัวเราเอง ทำง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน ไม่ยุ่งยาก
……
๐ ยังอยู่กับ กายรวมใจ
“อยู่” จนเห็นโลกทั้งสองได้ชัดเจน
แยกแยะโลกทั้งสองให้ชัดเจนให้ได้
โอ้ สงบ ผ่อนคลาย
โอ้ วุ่นวาย สับสน
ที่นี่ วุ่นวายหนอ
ที่นี่ สับสนหนอ
ที่นี่ สงบหนอ
ที่นี่ ผ่อนคลายหนอ
สงบ ผ่อนคลาย แยกให้เห็นชัด
และก็ วุ่นวาย สับสน
….
จะสงบถึงขั้นแม้กระทั่งลมหายใจก็สงบ ต้องให้ได้ขั้นนี้
- ไม่ใช่ไม่หายใจ แต่ไม่พลุ่งพล่าน เช่นนั้นจึงเรียกว่า เข้าถึงขั้นกายรวมใจอย่างชัดเจน
- สงบ ผ่อนคลาย จนถึงขั้นลมหายใจก็สงบ ไม่พลุ่งพล่าน แต่ “รู้” ชัดเจน
- มี “ตัวรู้” ปรากฎชัดเจน แต่ไม่เสพติดในอารมณ์ที่สงบใด ๆ
แค่ “รู้” ชัดเจนเฉย ๆ ถ้าไปเสพติดมัน เดี๋ยวคลาด เดี๋ยวเคลื่อน เดี๋ยวหลุด
……
สงบถึงขั้น ธาตุทั้ง ๔ ในกายเราไม่พลุ่งพล่าน
- ที่เร่าร้อน ทุรนทุราย อึดอัด ขัดเคือง มีปัญหา นู่นปวด นี่ปวด นู่นทุกข์ นี่ระทม จะผ่อนคลายไปด้วย
- กล้ามเนื้อ ระบบประสาท เส้นเอ็นที่ยึดข้อกระดูก ทุกส่วนถือโอกาสผ่อนคลายไปด้วย
- แม้แต่กล้ามเนื้อใบหน้า ศีรษะ โสตประสาท ทุกอย่างผ่อนคลายหมด
- มันผ่อนคลายเองโดยธรรมชาติ เพราะอำนาจแห่งสัมมาสติ รู้ชัดตามความเป็นจริง โดยไม่ต้องไปควบคุมมัน ไม่ต้องแบก ไปหาม ไปยึดถือ ไปกระตุ้น ไปเร่งเร้า ไปผลักดัน
ที่ผ่านมา เราดำรงชีวิตอยู่ กล้ามเนื้อทุกส่วน ระบบประสาททุกชนิด ทำการงานเร่งเร้า ผลักดัน กระตุ้น บีบคั้น ทำให้เรามีความทุกข์กาย กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด ข้อกระดูกมีความทุกข์ ระบบประสาทมีความทุกข์
ทีนี้ โรคทั้งหลายไม่อาจจะทำอันตรายใด ๆ เราได้เมื่อถึงขั้นผ่อนคลาย
มันอยากจะเป็น มันก็เป็น
มันอยากจะทุกข์ มันก็ทุกข์
แต่กูไม่ทุกข์ เราไม่ทุกข์ อย่างนี้เป็นต้น
…..
พาเอาความผ่อนคลาย ค่อย ๆ หย่อนตัวลงนั่ง ด้วยความผ่อนคลาย
๐ ยังอยู่ใน กายรวมใจ แบบชนิดผ่อนคลาย
…..
ทีนี้ กลับเข้ามาอยู่กับ ลมหายใจ ว่า ตอนนี้หายใจอยู่
หายใจเข้าอยู่ หรือ หายใจออกอยู่
….
หายใจเข้า ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออก ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
…..
ยกมือไหว้พระกรรมฐาน
…….
เห็นความแตกต่างของโลกทั้งสองมั้ย
ถ้าอยากหนีโลกแห่งความสับสน ว้าวุ่น ทุรนทุราย ร้อนรุ่ม วุ่นวาย ทำได้มั้ย
ได้ ไม่ยาก
แค่ กายรวมใจ ก็กลับมาอยู่กับโลกอีกใบหนึ่ง ซึ่งแตกต่างจากโลกที่ทุกข์ทรมาน โลกอีกใบซึ่งเป็นโลกแห่งความสงบ ผ่อนคลาย ไม่ต้องไปทุรนทุราย เร่าร้อน
แหล่งข้อมูล
มูลนิธิธรรมอิสระ. (๒๕๖๗). ปฏิบัติธรรม สติที่เป็นสัมมา สติที่เป็นมิจฉา ใน
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๑๐๓ - ๑๑๒). นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ)
อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม วันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๑๑ มิถุนายน ๒๔๖๗ จาก
https://www.youtube.com/watch?v=AMr4d-5f2jE&t=3495s