บทที่ ๒ ปัจฉิมโอวาท
ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา เรื่องปัจฉิมโอวาท
ปัจฉิมโอวาท
แสดงธรรมวันที่ ๖ มีนาคม ๒๕๖๖
สาระสังเขป
สอนธรรมะอานิสงส์ของการบวชเนกขัมมะ เป็นการฝึกที่จะมีชัยชนะต่อมาร ทำทาน ทำความดีด้วยใจที่บริสุทธิ์ ทำความดีให้ถึงพร้อม ต่อเนื่อง ยั่งยืน ศึกษาเอาพระธรรมเป็นเครื่องประดับจิตใจ เพื่อป้องกันภัยที่เกิดจากกาย เกิดจากวาจา เกิดทางจิตใจ แล้วเราจะอยู่ได้อย่างแคล้วคลาด ปลอดภัย รอดพ้นจากอุปสรรคและอันตรายทั้งปวง ทำดีด้วยความฉลาด ทำให้ใจผ่องแผ้ว แจ่มใส
เนื้อหา
--สรุปประเด็นย่อ
๐ ทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา คือคุณสมบัติของผู้ที่มีใจสูง ใจประเสริฐ
ฝึกที่จะเดินหนีจากอำนาจการครอบงำของพญามาร ฝึกที่จะมีชัยชนะต่อมาร
-ผู้ใดรักษาศีลได้ ผู้นั้นถือว่าเป็นไทต่อมาร ไม่เป็นทาส
-ผู้ใดปฏิบัติธรรมได้ ผู้นั้นเป็นอิสระต่อมาร
-ผู้ใดเจริญสติ ทำสมาธิ รุ่งเรืองปัญญาได้ ผู้นั้น มารพ่ายแพ้ ไม่สามารถครอบงำได้
๐ คราใดที่เราทำ คือ รักษาศีล แผ่เมตตา เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ เจริญสติ ทำสมาธิภาวนา เมื่อนั้นมารไม่เข้าใกล้ อกุศลทั้งหลายไม่เกิด กุศลทั้งปวงเกิด
ถ้าทำทุกวันๆ เหมือนคนเอาสตางค์ใส่กระปุกวันละนิดวันละหน่อย เดี๋ยวมันเต็มเอง หลวงปู่ก็ใช้วิธีแบบนี้แหละ ---------
๐ ฝึกที่จะหนีต่อการครอบงำของพญามาร
การปฏิบัติ บวชเนกขัมมะในวันมาฆปุณมีดิถีเพ็ญ กลางเดือน ๓ ของพวกเรา วันนี้เดินทางปฏิบัติกันมา ๓ วัน ๒ คืน ใช่มั้ย ได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หลับบ้าง ตื่นบ้าง สัปหงกบ้าง ว่ากันไปตามยถากรรมจะไปมุ่งหวังให้เต็มร้อยคงไม่ง่ายนัก เพราะว่าเราใช้เวลาในการสั่งสม อกุศลจิต อุปาทานในกิเลส คือ ความยึดถือในกิเลส ยึดถือในตัณหา ในรัก โลภ โกรธ หลง มาอย่างยาวนาน คงจะใช้เวลาแค่ ๓ วัน ๒ คืน มาสลัดมันหลุด คงจะยาก แต่ต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำ มารจะเข้ามาฝังอยู่ในจิตสันดานของเราอย่างชนิดที่ยากต่อการที่จะดึงมันออก หรือยากที่จะหลุดพ้นจากมัน
ฉะนั้น ต้องฝึกที่จะแกร่ง และกล้าพอที่จะปฏิเสธ เดินหนีมัน ไม่ปล่อยให้มันครอบงำเรา
การที่หมู่มารทั้งหลายครอบงำเราได้ด้วยบ่วงแห่งรัก โลภ โกรธ หลง บ่วงแห่งราคะ โทสะ โมหะ บ่วงเหล่านี้ครอบเราได้เพราะว่าเรายอมมัน ปล่อยให้มันมีอำนาจเหนือเรา แต่ถ้าเมื่อใดที่เรามีความอาจหาญ แกล้วกล้า องอาจ พร้อมทึ่จะยืนหยัด ต่อสู้กับมัน เดินหนีจากมันเสียบ้าง แค่ชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ชั่วครู่ ชั่วครั้ง ชั่วเผลอ ชั่วคราว ยังดีกว่าไม่มีโอกาสจะประกาศความเป็นไทเลย ทั้งชีวิตเมื่อตกอยู่ในความเป็นทาสตลอด ไม่มีโอกาสประกาศความเป็นไท เราจะไม่ต่างอะไรกับทาสผู้ซื่อสัตย์ หรือไม่ก็วัว ควาย ที่โดนมารจูงไปเรื่อย แล้วจะถามหาความสำเร็จ ความสุข ความเจริญ ความรุ่งเรือง อันนี้จะไปทวงกับใคร ถามกับใคร นอกจากหันหน้าไปมองตาพญามารว่า เขาจะยอมให้ จะอนุญาต จะเมตตาต่อเรามั้ย ทุกอย่างเป็นไปโดยที่เราไม่มีสิทธิ์จะเป็นเจ้าของชีวิตตัวเอง
ที่พูดอย่างนี้เพื่อชี้ให้เห็นว่า ชีวิตที่ไม่มีอิสระ ตกอยู่ในอำนาจการครอบงำ ตกเป็นทาส ชีวิตที่โดนกักขังไปด้วยอารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ยากที่จะโดนปลดปล่อย เป็นไท กลายเป็นตัวของตัวเอง
ทำอะไร พูดอะไร คิดอะไร ต้องถามตัวเองอยู่เนืองๆ ว่า นี่เราตกอยู่ในอำนาจของมารครอบงำหรือไม่
ถ้าไม่อย่างนั้น เราจะกลายเป็นคนที่หาความเป็นอิสระ ความเป็นไทไม่ได้ แล้วมีชีวิตอยู่เพื่อความเป็นทาส..ป่วยการ ลูก ถือว่ามีชีวิตอยู่อย่างน่าเสียดาย เขาให้เรามาเกิดเป็นมนุษย์ชาติหนึ่ง ยังดันมาเป็นทาสเสียอีก เป็นเรื่องอะไรที่น่าเสียดาย ไม่มีโอกาสจะพัฒนา หรือปลดเปลื้องพัฒนาการตัวเองได้เลย แล้วคำตอบของคนที่เป็นทาส หรือว่าจุดสิ้นสุดของความเป็นทาส คือ ความทุกข์ ความเศร้าหมอง ขุ่นมัว ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ ความเศร้าโศกเสียใจ ความร่ำไรรำพัน ความโศกาอาดูร จะหลั่งไหล พรั่งพรูเข้ามา ถาโถมเรา ถมทับเรา แล้วเราจะไม่เป็นตัวของตัวเองอย่ามาถามหาความสำเร็จ ความรุ่งเรือง ความสุขสมบูรณ์ ไม่มีวันเจอ
นที่จริงแล้ว ความรุ่งเรือง ความสำเร็จ ความสุขสมบูรณ์ ไม่มีใครเขาบันดาลให้เราได้หรอกลูกเทพยดานั่งแต่เฝ้ามองตาปริบๆ ถ้ามารครอบงำแล้ว เทวดายังถูกมารครอบเลย สาอะไรกับมนุษย์ธรรมดาๆ อย่างพวกเรา
ฉะนั้น ถ้าเมื่อใดที่มารมีอำนาจครอบเราได้ เวลาใด วันใด มารครอบเราได้ เวลานั้น วันนั้นจะไปถามหาความช่วยเหลือจากเทพยดา เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเทพพูดได้ เราได้ยินเสียงพูดของท่าน คงจะได้บอกว่า “กูก็เหมือนมึงนั่นแหละ กูก็ไม่ได้ต่างกับมึงนักหรอก เดี๋ยวถ้ากูเผลอ เขาก็มาครอบงำกู เล่นงานกู”
แล้วใครล่ะ..
๐ พระพุทธเจ้าจึงตรัส อัตตาหิ อันโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน
เมื่อเทพยดายังช่วยเราไม่ได้ แล้วเราจะช่วยตัวเราเองได้เหรอ ได้สิ พระพุทธเจ้าทรงทำให้ดูแล้ว พระสงฆ์สาวกของพระองค์ พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทำให้ดูแล้ว อุบาสก อุบาสิกา ผู้ทรงศีล ทรงธรรม ทรงทาน ทรงสติ ทรงสมาธิ ทรงปัญญาทำให้ดูแล้ว แค่เราเดินตามรอยเบื้องยุคลบาทที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จนำเราไป เท่านั้นเองแหละ
แต่ถามว่า ยากไหม.. จะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่ายมากๆ ปัญหาอยู่ว่า เราจะทำไหม ทำจริงๆ จังๆ หรือไม่ เมื่อไหร่จะทำเสียที มาวันนี้ก็บอก “มาทำแล้วไง นี่ไง ๓ วัน ๒ คืน” กูก็เห็นว่า มึงทำแหละ ทำยังไง หลับๆ ตื่นๆ นี่ก็หลับ สัปหงกอึกแล้ว ได้โอกาสมารเข้าแทรก ครอบอีกแล้ว หนังตามันตก ปรกติ เวลานี้ต้องนอนนะ ท่านทำไมต้องมาแสดงธรรมเวลาบ่ายโมง นี่เป็นเวลาย่อยอาหารนะท่าน เลื่อนจากบ่ายโมงมาเป็นสัก ๒-๓โมง หรือ ๔-๕โมง ทีเดียวเลย จบ สวดมนต์เลย
ฝึกไง อย่างนี้เขาเรียกว่า ฝึก …ฝึกอะไร ฝึกที่จะเดินหนีจากอำนาจการครอบงำของพญามาร ฝึกที่จะมีชัยชนะต่อมารศีล ๒๒๗ ของพระพุทธเจ้า อภิสมาจารอีก ๓๑๑ ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและให้ปฏิบัติ เพื่อให้เราพร้อมและกล้าที่จะเผชิญ เดินหนีออกจากอำนาจมาร
รวมความแล้ว
-ผู้ใดรักษาศีลได้ ผู้นั้นถือว่าเป็นไทต่อมาร ไม่เป็นทาส
-ผู้ใดปฏิบัติธรรมได้ ผู้นั้นเป็นอิสระต่อมาร
-ผู้ใดเจริญสติ ทำสมาธิ รุ่งเรืองปัญญาได้ ผู้นั้น มารพ่ายแพ้ ไม่สามารถครอบงำได้
แถมยังหวาดกลัว สะดุ้ง ผวา ด้วยซ้ำไป
ถ้าเมื่อใดทึ่เรารู้จักที่จะฝึกตัวเองอย่างจริงๆ จังๆ แม้กระทั่งชั่วช้างกระดิกหู งูแลบลิ้น ทำให้ได้จริงๆจังๆ ทำให้เต็มที่ ใหม่ๆ อาจจะดูฝืดๆ เคืองๆบ้าง หรือไม่ก็ฝืนๆ มันบ้าง แต่ต้องทำ ทำทุกวันๆ ทำประจำ ทำจนเป็นสันดาน ทำจนขาดมันไม่ได้ ทำจนเรามีความรู้สึกมันกับเราเป็นหนึ่งเดียวกัน เราหนีมันไม่พ้น ทิ้งมันไม่ได้ เพราะเป็นกิจวัตรประจำวัน เป็นกรรมที่เราต้องกระทำในฝ่ายกุศล
และจงอย่าลืมว่า คราใดที่เราทำ คือ รักษาศีล แผ่เมตตา เจริญภาวนา ปฏิบัติธรรม สวดมนต์ เจริญสติ ทำสมาธิภาวนา เมื่อนั้นมารไม่เข้าใกล้ อกุศลทั้งหลายไม่เกิด กุศลทั้งปวงเกิด ถ้าทำทุกวันๆ คิดดูล่ะกัน เหมือนคนเอาสตางค์ใส่กระปุก ใส่ทุกวันๆ วันละนิดวันละหน่อย เดี๋ยวมันเต็มเอง หลวงปู่ก็ใช้วิธีแบบนี้แหละ ทำทุกวัน วันหนึ่ง ๒ เวลา ๓ เวลา ๔ เวลา ๕ เวลา ไม่มีอะไรก็ทำทุกเวลา เดี๋ยวก็เต็มเองลูก แต่สำคัญ อย่าสันหลังยาว อย่าเกียจคร้าน
วิริเยน ทุกขมัจเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร
เราจะมาใช้เวลา ๓ วัน ๒ คืน กับการกำหราบมาร ถ้าอย่างนั้น จะสั้นไปมั้ย แต่ถ้าใช้เวลาทุกเวลาที่เราอยู่ในบ้าน อยู่ในครอบครัว อยู่กับการงาน กับชีวิตประจำวัน แต่ทำทุกวัน
กำหราบมันทุกวัน เดินหนีออกจากมันทุกวัน ยืนหยัด ท้าทาย ต่อสู้กับมันทุกวัน วันละสัก ๒ เวลา ๓ เวลา ๕ เวลา แล้วแต่เราจะทำ แต่ทำให้ได้ทุกวันจนเป็นนิสัย เป็นสันดานที่ท่านเรียก วสี ทำจนเป็นประจำ ทีนี้ก็ง่าย มารครั่นคร้าม สะดุ้ง ใครก็ไม่กล้าที่จะมาครอบงำเรา แม้แต่สิ่งที่เป็นที่รักที่สุดของเราก็ครอบงำเราไม่ได้ สิ่งที่เราเกลียดที่สุดในโลกก็ครอบงำเราไม่ได้ สิ่งที่เป็นมิตร เป็นศัตรูที่สุดในโลกก็ครอบงำเราไม่ได้ เพราะเรามีเสรีภาพ มีอิสระ เราเป็นตัวของตัวเอง เรายืนหยัด ตั้งมั่นด้วยอำนาจแห่งธรรมหลวงปู่ถึงได้เขียนเอาไว้ในบทความ บทสุดท้าย คำตอบสุดท้าย เมื่อวานว่า
“ผู้มีธรรมเป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องอาศัย คือผู้มีเครื่องป้องกันภัยทั้งกายและจิตใจ”
๐ ทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมะเครื่องป้องกันภัย
ธรรมะอะไรบ้างที่จะเป็นเครื่องป้องกันภัย เอาง่ายๆ ทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา
เราจะเอาตังค์ที่ไหนมาทำทานบ่อย ๆ ไม่จำเป็นเลยลูก เช้าตื่นขึ้นมา สวดมนต์ ภาวนา กรวดน้ำ อุทิศส่วนกุศล ร่ายคาถาเทพรัญจวน คาถาเทพรัญจวนที่กูสอน ร่ายเดี๋ยวเทพรัญจวนเองแหละ มึงลองเหอะ ร่ายทุกวันๆ เทพฟังแล้วใจอ่อน “เอ้าๆ วะ หยวน ๆ ช่วยมันหน่อย ยอม ๆ มันไป” แต่ทำให้ได้ทุกวัน อย่าทำเป็นเล่นไปนะ ใช้ได้ผลนะ ของดี ใช้ได้ผล
บ่นทุกวัน สวดทุกวัน เทพฟังทุกวัน เดี๋ยวเคลิ้มเอง “อ้าว มาอีกแล้วหรือมึง เอาหน่อยๆ” มีเทพที่ไหนในหมื่นโลกธาตุได้ยินเข้า “เอาอีกแล้ว ไอ้นี่มาอีกแล้วเว้ย” ดูซิว่า เทพจะไม่รัญจวนให้มันรู้ไป สวดให้ได้วันละ ๓ เวลา อย่าไปกลัว ทำให้มันทุกวัน ทำบ่อย ๆ ทำเรื่อย ๆ ต้องสวดเอง ต้องสาธยายเอง เปิดเทปฟังไม่ได้ ต้องออกจากจิตใจ ต้องจริงจัง สวดไปบ่อยๆ ศัตรูก็กลายเป็นมิตรลูก หมาดุกลายเป็นหมาเชื่อง ทำทุกวันๆ บ่อยๆ อกุศลไม่เข้าแทรก เป็นกุศโลบายที่ทำให้อกุศลไม่เข้าแทรก
พออกุศลไม่เข้าแทรก กุศล คือ ความชาญฉลาดก็เกิด ทีนี้แหละ เราจะรู้เท่าทันมายาการแห่งมารทั้งปวง มายาการแห่งจิต มายาการแห่งสรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพสัตว์ สรรพวัตถุ สรรพธรรมชาติรอบตัวเรา เรารู้เท่าทันหมด ทีนี้ อะไรจะมาครอบงำเราไม่ได้ อย่างที่บอกแล้วว่า คนที่รักที่สุด คนที่เกลียดที่สุด มิตรที่ใกล้ชิดที่สุด ศัตรูที่น่าอันตรายที่สุด ครอบงำไม่ได้ทั้งหมด เพราะเรามีธรรมเป็นที่พึ่ง เป็นเกราะ เป็นเครื่องป้องกันภัยทั้งกายและใจ
ฝึก ศึกษา พัฒนา ธรรมนี้มีผล ฝึก ศึกษา พัฒนา ธรรมนี้มีผล นะลูก พระธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ใช่ไร้ผล ทำได้เป็นผลดีทั้งนั้น และเป็นผลดีต่อตัวเอง เห็นชัด ทำวันนี้ ได้ผลเดี๋ยวนี้ ทำปัจจุบันนี้ ได้ผลปัจจุบันนี้ ไม่ต้องรอชาติหน้าค่อยได้ผล
๐ ทำทาน ทำความดีด้วยใจที่บริสุทธิ์
ทีนี้ เวลาเรามีกุศลเยอะๆ เวลาทำบุญอะไรนิดๆ หน่อยๆ ใส่บาตรองค์หนึ่ง ถวายทานบาทหนึ่ง ร้อยหนึ่ง บริจาคทานให้กับคนนั้นคนนี้ เล็กน้อย นิดหน่อยก็ได้บุญมหาศาล เหมือนกับทำบุญเป็นล้าน เป็นสิบล้าน เพราะเหตุผลว่าอะไร เราทำด้วยใจบริสุทธิ์ เราทำด้วยจิตอันประกอบด้วยศีล ทาน ธรรม สมาธิ สติ ปัญญา เทวดาอนุโมทนา
เหมือนกับพระชาดกที่หลวงปู่เขียน ประวัติพระอนุรุทธเถระ อดีตชาติของพระอนุรุทธ เอาอาหารของท่าน มื้อแรกและมื้อสุดท้ายของวันไปบริจาคทาน ใส่บาตรให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า เทวดารู้เข้า ได้ยินเข้า สาธุการกันเลื่อนลั่น สะเทือน สนั่นไปทั่ว ฝ่ายเศรษฐี เจ้านายของมานพหนุ่มผู้นั้นได้ยินดั่งนั้นก็บ่นขึ้นมา “อะไรวะ กูบริจาคทานให้กับมหาชนคนยากไร้ทุกวัน เทวดาเงียบกริ๊บ ไม่หือไม่อือ ไม่สาธุโมทนาอะไรเลย ทียาจกเข็ญใจ บริจาคทานแค่ครั้งเดียว เทวดากลับอนุโมทนาให้สะเทือนเลื่อนลั่น”
เทวดาตอบปัญหาเศรษฐีว่า ทานที่ท่านให้ มีเหลือท่านจึงให้ และให้เพราะว่าอยากให้ เหตุผลที่อยากให้ เพราะว่านี่เป็นวัตรปฏิบัติของเศรษฐีที่มีอยู่ในแผ่นดิน
สมัยก่อน ใครเป็นเศรษฐี เขาจะมีกฎหมายกำหนดว่า เป็นเศรษฐีแก้วของพระราชาต้องบริจาคทาน ๔ ทิศเป็นกิจวัตรจึงจะได้รับยกย่องว่าเป็นคหบดีแก้ว แต่ยาจกเข็ญใจ ไม่มีแต่อยากให้ เพราะมีจิตศรัทธาที่จะให้ และเป็นสิ่งที่ให้แล้วจะไม่มีอีก มื้อนั้นตัวเองจะอดเป็นทานที่ตัดสินใจให้ได้ยาก คิดดู กำลังจะเอาข้าวเข้าปาก มีคนมาขอ กล้าที่จะเอาข้าวที่จะเข้าปากยกให้แก่คนอื่น เป็นสิ่งที่ตัดสินใจให้ได้ยาก แต่เขากล้าที่จะให้ แต่เศรษฐีไม่ได้ตัดสินใจให้ยากเลย เงินทองเหลือเฟือไม่ต้องตัดสินใจอะไรเยอะ ใช้กำลังใจก็น้อยนิด ใช้กำลังศรัทธายิ่งน้อยใหญ่ ใช้กำลังทรัพย์ก็เล็กน้อยเหลือเกิน
แต่ยาจกเข็ญใจกำลังใจมีเต็มร้อย ศรัทธาเต็มร้อย ทรัพย์สินที่ให้มีน้อย แต่ตั้งใจให้ด้วยความเต็มร้อย อานิสงส์จึงมหาศาลมากกว่าเศรษฐีที่มีเหลือเฟือแล้วแบ่งให้ พวกเทวดาเลยเปล่งสาธุโนโมทนา แล้วอานิสงส์ครั้งนั้นทำให้พระอนุรุทธไม่ว่าจะเกิดในกี่ภพกี่ชาติได้สมอธิษฐานอย่างไร “ขอให้เกิดภพใดชาติใด อย่าเจอกับคำว่า ไม่มี ขัดสน” พอมาเกิดกี่ชาติ ๆ ก็ไม่มีคำว่า ไม่มี ขนาดมาเกิดเป็นเจ้าชายลูกของราชาขออาหาร ขอขนมเสด็จแม่กินก็ให้ ให้เท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ แม่เลยเอาถาดเปล่าๆ ใช้ฝาครอบไปและก็ส่งไปให้ เพื่อจะบอกให้ลูกได้รู้จักคำว่า “ไม่มี” เสียบ้าง เทวดารู้เข้าว่าถาดนี้ไม่มีขนม ขืนให้เจอคำว่า “ไม่มี” เทวดาผู้อภิบาลรักษาพระอนุรุทธและพระบรมมหาราชวังจะซวยล่ะสิ เพราะอธิษฐานอย่างไร ต้องได้ผลอย่างนั้น แล้วเราเป็นเทวดาผู้อยู่ใกล้ชิดกลับปล่อยให้เกิดคำว่า “ไม่มี” อย่างนี้ไม่ได้ ความดีของบุคคลทำให้เทพต้องรัญจวน อย่างนี้ไม่ได้ ถ้ากูทำให้ขนมไม่มีอยู่ในถาด กูซวยแน่เทวดาต้องบันดาลขนมให้เต็มถาด พระอนุรุทธกุมารมาเปิดดู นี่ขนมอะไร มาถามพระมารดา ขนมเมื่อวานนี้ อร่อยจังเลย อยากได้ขนมแบบนั้น
“ขนมไม่มี” “นั่นแหละ เอาขนมไม่มี” แต่พระมารดายังคิดว่า ขนมน่ะไม่มีอยู่ในถาด แต่เทวดาบันดาลให้มี แล้วพระอนุรุทธกับพระสหายเสวยติดใจรสชาติเลยมาขอใหม่ ขอ“ขนมไม่มี” จากเสด็จแม่
ขนมอะไร ไม่มี ก็ให้ถาดเปล่าๆ แท้ๆ ยังมีขนมได้ยังไง เพราะเทพบันดาลให้ ทนไม่ได้ต่อความดีของบุคคล เลยรัญจวนขวนขวาย แสวงหาสิ่งที่ควรจะมีจะเป็นให้เกิดแก่บุญฤทธิ์
บุญญาธิการของบุคคลผู้นั้น แล้วพวกมึงล่ะ พวกมึงเมื่อไหร่จะทำให้เทพรัญจวนกันซะที อีกนานมั้ยลูก นานเหรอ กูก็ว่านาน ทำบ่อยๆ ลูก ทำไปเรื่อย ๆ
-การไม่ทำบาปทั้งปวง ทำให้เทพรัญจวนได้
-กุสะลัสสูปะสัมปะทา การทำความดี ทำกุศลด้วยความชาญฉลาดให้ถึงพร้อม ทำให้เทพรัญจวนได้
-การทำให้จิตของตนผ่องแผ้ว แจ่มใส และขาวรอบ ทำให้เทพรัญจวนได้
ยิ่งทำให้ครบทั้ง ๓ อย่าง เทพยิ่งรัญจวน พรหมยิ่งสะท้าน มารยิ่งขยาด ยักษ์ มารทั้งหลายก็ชอบใจ อยากอยู่เข้าใกล้ อยากอนุโมทนา ดำริอะไร คิดอะไร ต้องการทำอะไร สำเร็จสมปรารถนา
ฉะนั้น ความสำเร็จไม่ใช่คนอื่นมาบันดาล ตัวเราต้องเริ่มต้นให้ได้ก่อน เริ่มต้นจากตัวเรา ส่วนใครจะมาต่อยอด มากน้อยเท่าไร อย่างไร นั่นขึ้นอยู่กับบุญพา วาสนาส่ง สิ่งที่เรากระทำไว้ในอดีตจะให้ผลอย่างไร
๐ ทำความดีให้ถึงพร้อม ต่อเนื่อง ยั่งยืน
บางคนความสำเร็จเราทำสมบูรณ์ เหตุปัจจัยทำสมบูรณ์ แต่ในอดีตไม่เคยทำบุญญาธิการ ไม่เคยมีบุญพาวาสนาส่ง อ้าว จะเสร็จๆ ฟ้าผ่าซะแล้ว อ้าว จะเสร็จๆ ผู้ร่วมลงทุนหนีซะแล้ว จะรับปริญญา อ้าว ตายโหงซะแล้ว อย่างนี้เป็นต้น
เพราะอะไร ไม่สั่งสมเอาไว้ ความดีไม่ต่อเนื่อง ไม่ยั่งยืน ความสำเร็จเลยไม่ต่อเนื่อง ไม่ยั่งยืน
อยากให้ความสำเร็จเราต่อเนื่อง ยั่งยืน ต้องทำให้ความดีต่อเนื่อง ยั่งยืน ทำไปเรื่อย ๆ ทำทุกวัน สวดทุกวัน ภาวนาทุกวัน เจริญธรรมทุกวัน ปฏิบัติธรรมทุกวัน ว่างๆ ไม่รู้จะทำอะไร ดีกว่าปล่อยใจให้คิดเลอะเทอะ เปรอะเปื้อนไป
อะธุวัง ชีวิตัง ชีวิตเป็นของไม่ยั่งยืน
ธุวัง มะระณัง ความตายเป็นของยั่งยืน
อะวัสสังมะยา มะริตัพพัง อันเราจะพึงตายเป็นแน่แท้
อะไรก็ว่าไป
สัพเพ สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง
สัพเพ สังขารา ทุกขา สังขารทั้งหลาย เป็นทุกข์
สัพเพ สังขารา อนัตตา สังขารทั้งหลาย ไม่มีอยู่จริง
แค่นี้ ทุกข์ก็ไม่ครอบล่ะลูก ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ความร่ำไรรำพัน ก็ครอบงำเราไม่ได้ แม้จะพยายามเข้ามาครอบก็ครอบไม่ได้ เพราะจิตเราดื่มด่ำอยู่กับรสชาติแห่งพระธรรม ไม่ใช่ดื่มด่ำจมปลักอยู่กับรสแห่งความทุกข์ระทม ด้วยความสูญเสีย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รักของเรา จิตเราไม่จมปลักอยู่กับอย่างนั้น เรามาอยู่กับพระธรรม พระธรรมก็เป็นเครื่องขจัดความทุกข์ระทมไม่ต้องมานั่งซึมเศร้าโศก เสียใจ เสียใจยังไม่พอ ยังเสียเวลา เสียโอกาส เสียสติปัญญา เสียสมอง ดีไม่ดีถึงขั้นเสียชีวิด จะเสียไปถึงขั้นไหน เสียซ้ำเสียซาก เสียแล้วเสียอีก เสียแบบนี้ เขาเรียกว่า คนโง่ ไม่ได้คนฉลาด
ฉะนั้น ท่านที่รักทั้งหลาย จงศึกษาเอาไว้ลูก ศึกษาเอาพระธรรมเป็นเครื่องประดับจิตใจ เพื่อป้องกันภัยที่เกิดจากกาย เกิดจากวาจา เกิดทางจิตใจ แล้วเราจะอยู่ได้อย่างแคล้วคลาด ปลอดภัย รอดพ้นจากอุปสรรคและอันตรายทั้งปวง พระ เทพ เทวา พรหม มาร ช่วยเราได้เป็นบางเวลา แต่ตัวเราเองน่ะลูก ช่วยตัวเองได้ทุกเวลา จงเชื่อในตัวเอง มีศรัทธาในตัวเอง และเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเราทำนั้น ยืนหยัดได้ด้วยลำแข้งตัวเรา และก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง องอาจ สง่างาม และเชื่อว่าสิ่งที่เราทำ ไม่ได้เป็นเครื่องทำร้ายทำลายใคร
๐ ทำดีด้วยความฉลาด ทำให้ใจผ่องแผ้ว แจ่มใส
และข้อต่อมา สะจิตตะปะริโยทะปะนัง การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว แจ่มใส และขาวรอบ
ด้วยหลักการนี้แหละจะเกื้อหนุน อนุเคราะห์ การุณย์ต่อความหมายแห่งคำว่า ไม่ทำชั่ว ทำดีด้วยความชาญฉลาด คนที่มีจิตใจผ่องแผ้วแจ่มใส ยิ่งทำดีมากเท่าไหร่ก็เป็นการขัดเกลาจิตใจให้ขาวรอบแจ่มใสได้ เพราะจะสามารถทำลายความคับแคบ ความตระหนี่ ความเอาเปรียบ ความเห็นแก่ตัว ความโลภโมโทสันลงไปได้ ยิ่งทำด้วยหัวใจที่ดีเอื้ออารีย์ มีไมตรีในจิตใจ มีจิตใจผ่องแผ้วแจ่มใส ทำมากเท่าไหร่ใจยิ่งจะใสสะอาดมากขึ้นเท่านั้น
เหมือนกับในบ้านเรามีขยะ คนมีปัญญาเขามองเป็นขยะ แต่คนโง่เขลามองว่า นี่คือสมบัติ เราผู้เป็นเจ้าของบ้านเห็นว่าเป็นขยะ คนข้างนอกเขามองว่าเป็นสมบัติ “เอ้า สมบัติใช่มั้ย งั้นมึงเอาไป อันนี้ก็สมบัติ งั้น มึงเอาไป” บ้านโล่งไหม (โล่ง) มึงมีไหมล่ะสมบัติ จะบริจาคเมื่อไหร่ มึงบอกกูนะ
รวม ๆ สรุปแล้ว ยิ่งทำด้วยความชาญฉลาดมากเท่าไหร่ ใจจะใส
ทำด้วยความชาญฉลาดและทำให้ใจใส ไม่ได้หมายถึงต้องมานั่งหลับตา ภาวนา หลับหูหลับตาท่องบ่น ภาวนาอยู่อย่างเดียว ..ไม่ใช่ ลูก
เรามี ”กาย” ก็ใช้ศักยภาพของกายให้สมบูรณ์ในการที่จะพัฒนาจิตใจ
พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องการปฏิบัติธรรม ไม่ได้หมายถึงเพียงแค่ว่าจะปฏิบัติใจอย่างเดียว แต่ฝึกกายด้วย ทำกายด้วย ไม่อย่างนั้นคงจะไม่มีคำสอนในศีล ๒๒๗ ศีล ๒๒๗ กับพระเป็นศีลที่ทำให้กายสงบระงับ เกจิอาจารย์บางคนบอกว่า ธรรมะไม่เกี่ยวกับกาย เกี่ยวกับใจอย่างเดียว และมุ่งตรงเน้นไปที่ใจ ถ้าอย่างนั้นคนเป็นโจรฆ่าเขามา รักษาใจนิ่งๆ ก็ถือว่าเป็นอรหันต์ได้สิ ตลอดเวลาที่รักษาใจนิ่งๆ อย่างนั้นคดโกง ทำร้าย ทำลาย หรือ ทำตัวสำมะเลเทเมา เลอะเทอะเปรอะเปื้อน อย่างนั้นก็ได้สิ แล้วอย่างนั้นพระพุทธเจ้าจะมาทรงสอนให้พระสงบนิ่งทำไม อยู่ในศีลในธรรม ตั้งมั่นอยู่ในการสำรวมอินทรีย์ สังวร ระวังตา หู จมูก ลิ้น กาย ไว้ทำไม
เพราะฉะนั้น อย่าไปบอกว่า กาย ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม กาย ก็เกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม ส่วนจะเกี่ยวมากเกี่ยวน้อยขึ้นอยู่กับว่า ท่านผู้นั้นมีอุปาทาน คือความยึดถือในขันธ์ทั้ง ๕ มากน้อยแค่ไหนต่างหากเล่า แต่ทุกคนมีไหม อุปาทาน ยึดถือในขันธ์ ขันธ์ มีอะไรบ้าง คือ รูปขันธ์ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณขันธ์ อย่างนี้เป็นต้น ทุกคนมีหมด
ทีนี้ พอมีแล้ว เราไม่ใช้ให้มันพัฒนาการทางจิตใจ แต่เราปล่อยให้จิตใจตกเป็นทาสในขันธ์ อย่างนั้นเรียกว่า ผู้มีอุปาทานในขันธ์แต่ถ้าเมื่อใดที่เราสามารถปลดเปลื้องพัฒนาการในขันธ์ได้ คือ วางอุปาทานเสียได้ ขันธ์นั้นก็เป็นเพียงแค่เครื่องมือที่จะนำมาพัฒนา เพิ่มขีดความสามารถให้แก่จิตใจให้ได้มากขึ้น อันนั้นต้องใช้สติ ปัญญาขั้นสูงในการที่จะวิเคราะห์ ใคร่ครวญ คำนวณ พินิจพิจารณาสิ่งที่มีอยู่ สิ่งที่ใช้อยู่ รวมทั้งสิ่งที่สูญสิ้นไป ด้วยความเข้าใจ รู้จัก ด้วยความรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า อะไรควร ไม่ควร อะไรถูก อะไรผิด ความจริงของสรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพสัตว์ อยู่ตรงไหน อยู่อย่างไร อยู่แบบใด แล้วเราจะมีชีวิตอยู่อย่างไม่ถูกกระทำ
เหมือนดั่งบทโศลกที่หลวงปู่เขียนเอาไว้ว่า
“ลูกรัก คนฉลาดใช้กิเลส คนโง่ถูกกิเลสใช้”
ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นหน่อเนื้อเชื้อของกิเลส เป็นผลผลิตของกิเลส และเป็นตัวกำเนิดกิเลส ถ้าเราโดนมันใช้เรา ถูกมันควบคุม เท่ากับว่า เราเป็นโรงงานผลิตกิเลส แต่ถ้าเราเป็นผู้ใช้มัน ควบคุมมัน เราจะเป็นโรงงานกำจัดกิเลส ขึ้นอยู่กับว่า เราจะโง่ที่จะใช้โรงงานนั้นอย่างไร
พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้เรามีสติ มีปัญญา และ คุณสมบัติของความเป็นผู้มีใจสูง ใจประเสริฐ มีอะไรบ้าง เริ่มต้นจากมีทาน พูดบ่อยๆ พูดจนปากจะฉีกถึงรูหูแล้ว มีทาน มีศีล มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา
๐ ทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา นี่แหละคือ คุณสมบัติของผู้ที่มีใจสูง ใจประเสริฐ
ทาน ศีล สติ สมาธิ ปัญญา เปรียบเหมือนดาบ เครื่องไม้เครื่องมือ เหมือนยานพาหนะ เหมือนสิ่งวิเศษ เหมือนแก้วสารพัดนึกที่จะทำให้เราควบคุมโรงงานผลิตกิเลสนี้ได้ ควบคุม “กาย” น่ะพูดง่ายๆ ควบคุมกาย ควบคุมใจได้
แต่ถ้าเมื่อใดที่เราปฏิเสธทาน ปฏิเสธศีล ไม่ฝึกสติ ไม่เจริญสมาธิ ไม่รุ่งเรืองปัญญา โรงงานผลิตกิเลสก็ทำอย่างอิสระ ทำการผลิตกิเลส เพราะมันมีหน้าที่มาผลิตกิเลส เพื่อจะเป็นหน่อเนื้อเชื้อไขที่จะทำให้โรงงานนี้ได้เกิดในภพภูมิและชาติต่อ ๆ ไป ที่จะได้ทำกิเลสให้มากขึ้น ๆ
เพราะอะไร เพราะพญามารคอยกำกับ บังคับว่า “เฮ้ย มึงต้องทำนะ มึงต้องอยากนะ มึงต้องตะกรุมตะกราม ตะกละนะ มึงต้องต่อสู้ ปากกัดตีนถีบนะ มึงต้องฝ่าฟันนะ มึงต้องขวนขวายนะ มึงต้องแสวงหานะ ถ้ามึงหยุดเมื่อไหร่ ไม่ได้นะ”
คำว่า “ไม่ได้นะ” มึงจะไม่มีนะ มึงจะอด มึงจะอยาก ลูกมึงจะยาก ลำบาก มึงจะขัดสน มึงจะแร้นแค้น” อ้างเอาความจำเป็นสารพัดอย่างมา จนบางครั้งบางทีสิ่งที่เราหามาเกินความจำเป็นเสียก็มีเยอะแยะไป แต่เราก็ยังหาไม่เลิก หาไม่หยุด จนกระทั่งวันตายก็ยังหาอยู่ ใกล้จะตายแล้วก็ยังหาอยู่ อย่างนี้เป็นต้น อย่างนี้เรียกว่า คนโง่ถูกกิเลสใช้ ถูกกิเลสครอบงำ พระพุทธเจ้าจึงทรงวางรากฐาน ทรงเห็นว่ามนุษย์จมปลักอยู่ในอุปาทานขันธ์ อยู่ในโรงงานแห่งการผลิตกิเลส และจมปลักอยู่ในภาระที่แสวงหากิเลส ในขณะที่มีโรงงาน มีภาระและกระเสือกกระสน ทุรนทุราย ดิ้นรน แสวงหากิเลสไม่เลิกนี่แหละ มันเป็นผลที่ทำให้เกิดความเผ็ดร้อน เรียกว่า ทุกข์ทนได้ยาก
พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ ทำใจ เมื่อทำกายถึงที่สุดแล้ว
-สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง การไม่ทำบาปทางกาย ทางวาจา ทางใจแล้ว งดแล้ว
-กุสะลัสสูปสัมปะทา การทำความดีให้ถึงพร้อม
นี่คือ การฝึกกาย เกจิไหนมาบอกว่า กายไม่จำเป็นต้องฝึก ฝึกแต่ใจอย่างเดียว..ไม่ใช่ อย่างนั้นคำกล่าวที่พระพุทธเจ้าตรัสโอวาทปาติโมกข์ คำว่า ทำกุศลทำความดีให้ถึงพร้อม เอาอะไรทำถ้าไม่ใช้กายทำ เกจิคนไหนพูดอย่างนี้ ถือว่าขัดคำสอนของพระบรมศาสดา กูฟังแล้วคันหู หัวจะปวด สติปัญญารู้ได้แค่นั้นก็พูดเลอะเปรอะไป ก็เลยบอกท่านทั้งหลายว่า
๐ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระนัง การไม่ทำบาปทั้งปวง…บาปมีบาปกายและบาปใจ กุสะลัสสูปสัมปะทา การทำกุศลให้ถึงพร้อม
มีใจอย่างเดียว ทำได้มั้ย “ทำ”ต้องใช้แรงงาน ใช้ร่างกาย ใช้เครื่องมือ แต่ถามว่า มี”ใจ” ทำบาปได้มั้ย ได้นะ มีใจก็ทำบาปได้ เรียกว่า มโนอกุศล คือ ใจที่เป็นอกุศล ใจที่เป็นบาป
แต่ถ้าไม่มีร่างกาย มีแต่ใจเป็นบาป คนอื่นเดือดร้อนมั้ย ไม่เดือดร้อน คนง่อยเปลี้ยเสียขา พิการ เดินไม่ได้ นอนแหมบอยู่กับเตียง ใจคิดจะไปปล้นเขา เจ้าของทรัพย์นั้นก็ไม่ได้เดือดร้อน แต่ถ้ามันแข็งแรง แล้วคิดจะไปปล้นเขา เจ้าของทรัพย์เดือดร้อน
ดังนั้น “กาย”ก็ยังสำคัญอยู่ พระพุทธเจ้าจึงทรงให้กำกับ ดูแล”กาย” อันประกอบด้วย กาย และวาจา สุดท้ายทรงให้กำกับดูแล”ใจ” ใจต้องผ่องแผ้ว และแจ่มใส
เอตัง พุทธานะสาสะนัง ธรรม ๓ อย่างนี้เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ (๒๕๖๗). ปัจฉิมโอวาท ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๙๑ –
๑๐๑). นครปฐม: มูลนิธิ.
ปัจฉิมโอวาท แสดงธรรมวันมาฆบูชา ๖ มีนาคม ๒๕๖๖, สืบค้น ๑๑ มิถุนายน ๒๕๖๗ จาก
https://www.youtube.com/watch?v=wuW23Qrq_lE