บทที่ ๕ ภาวนา ๑๘ วิถีแห่งการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเอง และท้ายที่สุดอย่ามีตัวกู
ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม
ชื่อเรื่อง ภาวนา ๑๘ วิถีแห่งการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเอง และท้ายที่สุดอย่ามีตัวกู
แสดงธรรมวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๕
สาระสังเขป
อธิบายความหมายของคำว่าภาวนาว่า เป็นการบริหารจัดการพัฒนากายวาจาใจให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ด้วยวิถีการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเอง จนถึงการพัฒนาไปสู่ความไม่มีตัวกู สิ่งสำคัญคืออย่าคิดจะทำอะไรให้ได้ผลสูงสุด ประโยชน์สูงสุด แต่จงทำด้วยวิธีอันเลิศ แล้วผลประเสริฐจะเกิดตามมา และเมื่อเราประสบปัญหา เราจะสามารถตั้งมั่นได้โดยไม่จมอยู่กับกองทุกข์ ไม่เสพติดอารมณ์ เราจะแยกได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรดีอะไรชั่ว อะไรดำอะไรขาว อะไรใช่หรือไม่ใช่ตัวมึงตัวกู การมีตัวกูเป็นภาระของจิต อารมณ์ต่างๆไม่ว่ากุศลหรืออกุศลก็เป็นภาระของจิต การยึดขันธ์ 5 ก็เป็นภาระของจิต การภาวนาเป็นวิธีวางตัวเรา ลดตัวเรา หลักคิดของพระโพธิสัตว์คือ หากยังวางหรือลดภาระเหล่านี้ไม่ได้ ต้องทำให้การมีชีวิตของเรา การมีตัวกูเป็นประโยชน์สูง ประหยัดสุด พัฒนาให้มีสามศักดิ์สิทธิ์ คือกายศักดิ์สิทธิ์ ธรรมศักดิ์สิทธิ์ และจิตศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่พึ่งของตนเองและหมู่สัตว์ให้สมบูรณ์มากที่สุด การแยกระหว่างชีวิตที่ประเสริฐกับชีวิตที่ไม่ประเสริฐต้องดูว่าทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทหรือยัง เป็นวิถีแห่งโพธิธรรม และหากอยากไปนิพพานต้องไม่มีตัวกูเป็นผู้กระทำ
เนื้อหา
เจริญธรรม เจริญสุข ท่านสาธุชนคนใฝ่ดีที่รักทุกท่าน
ชุดไหนๆ ไม่ได้สำคัญที่ชุดหรอก สำคัญที่กูสอนอะไร แล้วมึงได้อะไร หรือตลอดเวลา ๒ วัน มึงได้แต่เสื้อขาดกูไปอย่างเดียว คนเราสนใจแต่ปัจจัยภายนอก มองแต่เปลือกนอก สิ่งสำคัญที่ควรจะต้องตระหนัก สำนึก ระลึกรู้ และคิด ใคร่ครวญอยู่ตลอดเวลา อย่ามาถามหาว่า จะทำอะไรให้ได้ผลสูงสุด ได้ประโยชน์สูงสุด ถ้าตราบใดที่ยังไม่ได้ลงมือกระทำ นั่นคือวิธีคิด หลักคิดที่ล้มเหลว
จำไว้ว่า "ขอเพียงทำด้วยวิธีอันเลิศ แล้วผลที่ประเสริฐจะเกิดตามมาเอง" นั่นคือ หลักคิดที่ถูกต้องชอบธรรม
ถ้าเราจะไปตั้งความหวังเอาไว้ว่าต้องเลิศหรูอลังการ ให้ได้มาซึ่งความศิวิไลซ์งานสร้าง ถ้าอย่างนั้นก็ตัณหา รออยู่ข้างหน้า เกิดขึ้นด้วยอำนาจแห่งตัณหา อยากมี อยากดี อยากเป็น อยากเด่น อยากได้ เป็นตัณหามั้ย มันขับเคลื่อนด้วยอำนาจแห่งตัณหา ไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยอำนาจแห่งปัญญา เมื่อเป้าหมายเราเต็มเปี่ยม ซึมสิงไปด้วยอำนาจแห่งตัณหา อย่ามาถามหา ถูกผิด ดีชั่ว ว่าชอบธรรมแค่ไหน ขอให้กูได้ตามมุ่งหวังก็พอใจ ถ้าอย่างนี้ไม่ถูกต้อง
๐ เราภาวนา เพื่อ ลด ละ ไม่ได้ภาวนาเพื่อสั่งสม
อะไรที่ภาวนาแล้วจะสั่งสม จะทำให้นู่นนี่นั่นอะไรเยอะแยะมากมาย นั่นไม่ใช่หลักการสำคัญของภาวนา ถ้าจะได้มาก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรมากนักสำหรับการที่จะมีชีวิตอยู่แบบชนิดที่ไม่ต้องสร้างเหตุแห่งความทุกข์ ยังไงก็จะต้องจมปลักอยู่ในห้วงแห่งทุกข์ไม่จบไม่สิ้น
ฉะนั้น หาวิธีอันเลิศ แล้วผลที่ประเสริฐเกิดขึ้นเอง และผลนั้นจะช่วยเรา แบ่งเบาความทุกข์ระทม ทรมาน อึดอัด ขัดเคือง ทุรนทุราย
เราจะรู้ว่า ได้ผลมากน้อยแค่ไหน อย่างไร ไม่ใช่เฉพาะตรงแค่ภาวนาหรือขณะภาวนา แต่เมื่อใดที่เราประสบเหตุเภทภัย เจอะเจอสารพันปัญหาสารพัดเรื่องราว และเราสามารถตั้งมั่นได้ วัน คืน เดือน ปี ผ่านพ้นไป เราไม่ได้จมปลักอยู่ในหลุมแห่งกองทุกข์ นอนดิ้นจนหนังกลับไม่หลับสักที เสพแต่อารมณ์ ไม่รู้เดี๋ยวก็ผุดขึ้นมา ๆ และก็คุ้นเคยกับมันจนเป็นอาจิณ
บางคนเสพติดแต่อารมณ์ จนกระทั่งแยกไม่ได้ว่า ระหว่างไม่มีอารมณ์กับมีอารมณ์ แตกต่างอย่างไร จนกลายเป็นความคุ้นชิน เหมือนๆ กับสัตว์นรกที่อยู่กับความทุกข์จนกลายเป็นความคุ้นชิน และก็ไม่ได้ปฏิเสธความทุกข์เหล่านั้น นั่นแหละเป็นเครื่องยืนยันบอกกล่าวเล่าขานให้เราได้รู้ตัวว่า เราใกล้เคียงกับวิสัยสัตว์นรกเข้าไปทุกที
แต่ถ้าเมื่อใดที่เห็นความทุกข์เดือดร้อน ความบีบคั้น ทุรนทุรายปรากฏขึ้น แล้วเรารู้สึกสะดุ้งผวา หวาดกลัวกับมัน อยากจะหลีกลี้หนีมัน นั่นแสดงว่า เราไม่ใช่มาจากนรก แต่เราเป็นผู้ที่มาจากสวรรค์ มาจากมนุษย์ มาจากคนที่ไม่คุ้นเคยกับความทุกข์เป็นอาจิณ เรามาจากคนที่เห็นเภทภัยแห่งความทุกข์เป็นนิจสิน
แต่ถ้าเรายังซึมสิงเหมือนไฟสุมขอนอยู่กับสารพัดอารมณ์ เสียดแทง ทิ่มแทง ทำร้าย ทำลายเราทางจิตใจ-สภาวะอารมณ์ และสุดท้ายกลายเป็นปัญหาของสุขภาพร่างกาย และยังไม่ตระหนัก ไม่สำเหนียก ไม่สำนึก ระลึกรู้ว่า นั่นคือ สิ่งที่ไม่ถูกต้อง ยังคบค้าสมาคมกับมันอยู่.. นั่นน่ะ ไม่ใช่
การภาวนา เพื่อต้องการให้เห็นความแตกต่าง แยกแยะให้เห็นว่า อะไรถูก อะไรผิด อะไรดี อะไรชั่ว อะไรดำ อะไรขาว อะไรชอบ-ไม่ชอบ ใช่-ไม่ใช่.. แยกให้ได้
พอภาวนาแล้ว แยกได้แล้ว ทีนี้ เราจะมาเลือกสรร เราจะก้าวต่อไปอย่างไร เมื่อแยกได้ชัดเจนแล้วว่า ระหว่างมึงกับกู ตัวมึงตัวกูชัดเจน ที่ไม่ใช่ตัวกู ไม่ใช่ตัวมึงชัดเจน
๐ เห็นชัดว่า วิถีทางแห่งการมี "ตัวกู" เป็นภาระ
ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ
ภาระหาโร จะ ปุคคะโล บุคคลนั่นแหละ เป็นผู้แบกของหนักพาไป
ภาราทานัง ทุกขัง โลเก การแบกถือของหนัก เป็นความทุกข์ในโลกเน้อ
ภาระนิกเขปะนัง สุขัง การสลัดของหนัก ทิ้งลงเสีย เป็นความสุขจริงหนอ
ถ้าเข้าใจความหมาย แบบนี้ เช่นนี้ ทีนี้เราจะรู้แล้วล่ะว่า ที่ผ่านมา คือ เหตุแห่งความพะรุงพะรัง เป็นขยะมูลฝอย เป็นหยากเยื่อหยากไย่ เป็นอาสวะ สิ่งรกรุงรัง ซึ่งฉุดรั้งครอบงำเราอยู่ทุกขณะจิต
เมื่อใดที่จิตนี้มีอารมณ์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดี บุญกุศล บาปกรรมใดๆ นั่นคือ ภาระ
ให้รู้ไว้เลยว่า เมื่อใดที่จิตนี้มีอารมณ์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดี บุญกุศล บาปกรรมใดๆ นั่นคือ ภาระ ความพะรุงพะรัง ความรุงรัง รก สกปรก ซกมก และความมีพันธนาการ เป็นภาระอย่างยิ่งในการที่จะแบก นั่นแหละ คือ ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นของหนักเน้อ คำว่า ขันธ์ทั้ง ๕ มี รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ พูดง่ายๆ คือ รูปกับนาม คือใคร ตัวเรานี่แหละ เป็นภาระ จึงต้องหาวิธีภาวนา เพื่อวางตัวเรา ลดตัวเรา
แต่เมื่อยังวางไม่ได้ ลดไม่ได้ ต้องทำให้ตัวเราได้ประโยชน์สูงประหยัดสุด ในการมีชีวิตหรือในการมีตัวเรา ใช้ตัวเราให้คุ้มค่า
๐ หลักคิดพระโพธิสัตว์
นี่คือ หลักคิดของพระโพธิญาณ หรือพระโพธิสัตว์ทั้งหลายพระโพธิสัตว์ทั้งหลายจะมีหลักคิดแบบนี้ เมื่อเรายังวางตัวเราไม่ได้ ต้องพัฒนาตัวเราให้มี ๓ ศักดิ์สิทธิ์ ที่เรียกว่า กายศักดิ์สิทธิ์ เรียนรู้ศึกษา ธรรมะศักดิ์สิทธิ์ จนเข้าถึงกระบวนการ จิตศักดิ์สิทธิ์ ทำให้ตัวเรามีศักยภาพสมบูรณ์ สูงสุด
เมื่อยัง "วาง" ตัวเองไม่ได้ ต้องรู้จักที่จะใช้ตัวเองให้มีศักยภาพที่สมบูรณ์สูงสุดให้ได้ก่อน
เพื่ออะไร เพื่อจะทำให้ตัวเราที่ยังวางไม่ได้ หรือยังไม่ถึงเวลาวาง เป็นที่พึ่งของตนและหมู่สัตว์ให้สมบูรณ์ ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้
นี่คือ รากฐานความคิดของการดำเนินชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐ ต้องดำเนินชีวิตด้วยรากฐานนี้
สิ่งมีชีวิตที่ไม่ประเสริฐ สร้างภาระไปเรื่อย ทำตัวเองให้เป็นพาหะและเป็นภาระแก่คนอื่นไปเรื่อยๆ
สิ่งมีชีวิตที่ประเสริฐ เดี๋ยวนี้ดูกันไม่ได้ว่าเป็นเดรัจฉาน หรือเป็นมนุษย์ เพราะบางทีกลายเป็นเดรัจฉานโดยที่แยกแยะไม่ออก มีพฤติกรรม การกระทำ สิ่งที่พูด สูตรที่คิด ไม่ต่างกับเดรัจฉาน มนุษย์ยุคปัจจุบันนี้เห็นกันอยู่เกลื่อนกล่น.. มีมั้ย.. เยอะแยะไปหมด ฉะนั้น ถ้าเราจะแยกระหว่างชีวิตประเสริฐ กับชีวิตไม่ประเสริฐ ต้องดูว่าประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน กลับมาดูคำสอนพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ทรงตรัสว่า "ยังประโยชน์ตน และประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท" นั่นแหละคือ ชีวิตประเสริฐ
ได้ประโยชน์ตนอย่างเดียวไม่ได้ นั่นเรียกว่า ชีวิตไม่ประเสริฐ ต้องมีประโยชน์ท่านให้มาก
ประโยชน์ท่าน ๗๐ ประโยชน์ตน ๓๐ แต่ถ้าประโยชน์ท่าน ๕๐ ประโยชน์ตน ๕๐ อะไรที่เป็นประโยชน์ตนเกินครึ่ง หรือครึ่งหนึ่ง นี่อันตราย
ถามว่าเพราะอะไร ?
เพราะมนุษย์มีความเห็นแก่ตัวเป็นหลัก มนุษย์ตะกละ ทะยานอยาก และมีตัณหาพาไปตลอดเวลา จะเป็นไปได้หรือ ที่จะให้ประโยชน์ท่านตลอดเวลา เป็นไปได้มั้ย มีแต่ให้ประโยชน์ตนตลอดเวลา
เพราะฉะนั้น ถ้าประโยชน์ตนเกิน ๕๐ หรือเฉียด ๆ ครึ่งต่อครึ่ง อย่าหวังเลยว่า ประโยชน์ท่านจะเกิดมากขึ้นกว่าเก่า มีแต่ลดลงๆ และจะทำแต่ประโยชน์ตนอย่างเดียว
เพราะมนุษย์มีสัญชาตญาณความเห็นแก่ตัว คับแคบ ตระหนี่ เอาเปรียบ โลภมาก โลภโมโทสัน มักมาก อยากได้ เพราะมีตัณหา คือ ความทะยานอยากเป็นเครื่องพาไป
ถามว่าเพราะอะไร ตัณหาจึงเป็นหลักใหญ่
ถ้าจะเปรียบ เหมือนรากแก้ว เพราะตัณหา เป็นตัวสร้างอุปาทาน อุปาทานมา เกิดตัวสร้างภพ สุคติภพ ทุคติภพ ล้วนแล้วมาแต่เหตุปัจจัยแห่งตัณหา
ถ้าว่ากันครึ่งหนึ่งของปฏิจจสมุปปันนธรรม ไล่จากเวทนา
มีผัสสะ ก็มีเวทนา มีเวทนา ก็มีตัณหา
มีตัณหา ก็มีอุปาทาน
มีอุปาทาน ก็มีภพ
และภพที่สร้างด้วยอำนาจแห่งตัณหา จะเป็นสุคติหรือทุคติ ก็มีแต่ทุคติ
เพราะฉะนั้น ถ้าประโยชน์ตนครึ่งหนึ่ง ประโยชน์ท่านครึ่งหนึ่ง วันนี้ได้คนละครึ่งนะมึงกับกู แต่วันพรุ่งนี้ มึงจะเหลือเท่าไหร่ มันจะเหลือเท่าเก่ามั้ย วันพรุ่งนี้ ไม่มีสิทธิ์เหลือเท่าเก่าหรอก มีแต่กูมากกว่ามึง เพราะมีตัวกูไง มีตัวกูอยู่
เพราะฉะนั้น ที่สอนให้วางตัวกู ละตัวกู ทำลายตัวกู อย่ายึดติดสิ่งที่เป็นของกูและตัวกู นั่นแหละจะเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้เราทำประโยชน์ท่านได้อย่างมากมายมหาศาล สมบูรณ์แบบ ชีวิตก็จะงดงาม จะรุ่งเรืองเจริญ หลักคิดแบบนี้ วิถีแห่งโพธิธรรม เขาสอนสั่งกันมาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ เป็นหลายอสงไขย หลายแสนมหากัป
วันข้างหน้าเมื่อโลกล่มสลาย จะมีต่อไปในคำสอนนี้ ยังจะมีต่อไปในแกแล็กซี่หน้า หรือไม่ก็โลกอื่นๆ ต่อๆไปอีกไม่จบสิ้น มันจะไม่ล่มสลาย
ธรรมข้ออื่นๆ อาจจะล่มสลายไปแล้ว แต่หลักคิดนี้เป็นที่ถวิลหาไขว่คว้าของหมู่สัตว์
เพราะหมู่สัตว์ทั้งหลายจะเชื่อว่า เมื่อเราทุกข์ ต้องหาที่พึ่ง สัตว์ทั้งหลายจะไม่มีปรกติธรรมชาติว่า เมื่อทุกข์แล้วต้องหาเหตุ แต่จะมีปรกติธรรมชาติว่า เมื่อกูทุกข์ กูต้องหาที่พึ่ง
มนุษย์ เมื่อมีปกติธรรมชาติต้องหาที่พึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงสอนว่า อัตตาหิ อัตโนนาโถ ตนเป็นที่พึ่งของตน มนุษย์อ่อนแอ จะแสวงหาที่พึ่งไปเรื่อย
มนุษย์โดยธรรมชาติ มีความเห็นแก่ตัว กลัวว่าตัวกูจะตาย จะเจ็บ จะพิการ ตัวกูจะไม่มี จะขาดแคลน จะเศร้าโศก จะทุกข์ยาก นั่นแหละคือ ที่มาของความหมายคำว่า เห็นแก่ตัว
เมื่อความกลัวเหล่านี้เกิดขึ้น ทีนี้ใครจะพึ่งใครก็แล้วแต่ใครอยู่ใกล้ใคร ใครจะเชื่ออะไร ใครจะโง่มาก โง่น้อย
o ถ้าโง่ ก็พึ่งแม้กระทั่งสากกะเบือออกดอก กล้วยออกลูกกลางต้น งู ๒ หัว จิ้งจก ๓ หาง แล้วแต่
o ถ้าโง่น้อยหน่อย ขยับขึ้นมานิด เอายักษ์ก็ได้ เทวดากึ่งมารก็ได้เดรัจฉานกึ่งเทพก็ได้ เรียกว่า โง่น้อยหน่อย
o ถ้าไม่โง่เลย พึ่งตัวเอง
แล้วมีมั้ย คนไม่โง่เลย..
กลับบ้านเถอะอย่ามาพึ่งกูเลย ทั้งหมดนี่น่ะลูก เป็นผลมาจากการภาวนา ภาวนา ๑๘ เขียนให้ไปศึกษา ดู อ่าน ไม่ใช่อ่านครั้งเดียวแล้วจบ ต้องเอาทบทวน ใคร่ครวญ พินิจ พิจารณาให้ละเอียดถี่ถ้วนทุกครั้ง ทุกขณะ ทุกข้อ ให้ครบทั้ง ๑๘ ข้อ เขียนไว้ให้ศึกษาตั้งแต่เกิดยันตายในภาวนา ๑๘
ถ้าทำอย่างนั้นครบสมบูรณ์ ทีนี้ล่ะเราสามารถที่จะเป็นผู้ที่พึ่งตัวเองได้
และสุดท้าย ข้อที่ ๑๘ ภาวนาแต่อย่ามีตัวกูเป็นผู้ภาวนา
๑๗ ข้อภาวนา มึงมีตัวกู ก็บอกแล้วว่า เรามีตัวกู
พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พึ่งตัวกู เรายังวางตัวกูไม่ได้ ก็พึ่งตัวกูให้ได้ แล้วสุดท้าย ต้องวางตัวกูให้ได้
ตัองไม่มีตัวกู ต้องหมดตัวกู..”
แหล่งข้อมูล
มูลนิธิธรรมอิสระ. (๒๕๖๖). ภาวนา ๑๘ วิถีแห่งการพัฒนาตนเอง พึ่งพาตนเอง และท้ายที่สุดอย่ามีตัวกู. ใน
ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม, (น.๑๔๒ – ๑๕๑). นครปฐม: มูลนิธิ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม ช่วงเช้า เนื่องในวันวิสาขบูชา ๑๖ พฤษภาคม
๒๕๖๕, สืบค้น มีนาคม ๒๕๖๗ จากhttps://www.facebook.com/WatOnoiTH/videos/374820171373683/