วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๑ ปฏิบัติธรรมปราณโอสถกายรวมใจคือปฐมบทของการบรรลุธรรม 

ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา

ปฏิบัติธรรมปราณโอสถกายรวมใจคือปฐมบทของการบรรลุธรรม 

แสดงธรรมวันที่ ๕ มีนาคม ๒๕๖๖

สาระสังเขป

          สอนเจริญกรรมฐานปราณโอสถขั้นกายรวมใจ ให้รู้อยู่ภายในกายเท่านั้น กายรวมใจจะแนบสนิทได้ ต้องตื่นตัว ตื่นตา ตื่นใจ อยู่ตลอด หากหลุดแล้วดึงกลับ คือ การทำงานของสติ

 เนื้อหา

๐ กายกับใจ รวมกันให้ได้นานที่สุด ไม่มีอารมณ์ใดอื่นเข้ามาแทรกเลย   

มีแต่กายกับใจ รู้อยู่ รู้อยู่ ภายในกายกับใจเท่านั้น  

นี่เป็นปฐมบทขั้นแรก ถ้าทำขั้นนี้ไม่ได้ ไม่สำเร็จ  

อย่ามาถามหาความวิเศษ พิสดารด้วยความสำเร็จใดๆ  

 

๐ และนี่เป็นวิถีแห่งปัญญาโดยตรง  

-อยากเป็นผู้รุ่งเรือง เจริญด้วยสติ ปัญญา ต้องทำอย่างนี้  

-อยากเป็นคนที่ทำ พูด คิด ไม่ผิดพลาดเลย ต้องทำอย่างนี้  

-อยากมีเครื่องป้องกันภัย ภยันตรายทั้งกายและใจ ต้องทำอย่างนี้  

…..  

๐ ขณะที่เดิน กายกับใจ ยังตั้งมั่น คงที่ ..ไม่หลุด  

“รู้”อยู่เฉยๆ ไม่มีคำภาวนา ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องสาธยาย  

ให้รวมและตั้งมั่น อย่าเพิ่งทะยานอยากไปถามหาความก้าวหน้า  

ทำขั้นนี้  

-ให้สำเร็จประโยชน์สูงสุด   

-ให้สมบูรณ์ที่สุด   

-ให้ยาวนานมากที่สุด  

-ให้ยั่งยืนที่สุด  

จิตจะได้มีอานุภาพ มีพลังว่า เป็นจิตตานุภาพ

 

ปฐมบทแห่งการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ปฐมบทแห่งการบรรลุธรรมของพระอรหันต์สงฆ์สาวกแห่งองค์พระบรมศาสดา ไม่ได้แตกต่างกันเลย 

นั่นคือ เริ่มต้นจาก “กายรวมใจ” แม้แต่พระสูตรใหญ่ๆ อย่างมหาสติปัฏฐานสูตรก็ต้องมี”กายรวมใจ” ทำให้กายกับใจรวมกันก่อนเป็นเบื้องต้น 

คนที่มี”กายรวมใจ” เหมือนกับมีเกราะป้องกันภัยกับตัวได้ในระดับหนึ่ง กายรวมใจ ใจรวมกาย เกราะป้องกันภัย ป้องกันผิด ป้องกันพลาด ถ้าไม่อยากเป็นคนผิด คนพลาด มีภัยทั้งกายและใจตลอดเวลา ต้องทำให้”กายรวมใจ” อยู่ต่อเนื่องเนืองๆ 

ถามว่า “กายรวมใจ” จำเป็นต้องมายืนมั้ย ไม่จำเป็น… นั่งก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ แต่ปัญหาอยู่ว่า เวลานั่งแล้ว พอ”กายรวมใจ”แล้ว พวกท่านทั้งหลายมักจะรวมลึกเกิน รวมแล้วแยกไม่ออก คอตก หัวห้อย อะไรก็ไม่รู้ ก็เลยต้องให้ยืน ขนาดยืน ยังคอตก หัวห้อย 

 

เนกขัมมะ ขั้นที่ ๒  

ใช้กันตอนนี้ คือ ตื่นอยู่เสมอ “ชาคริยานุโยค” ประกอบความเพียรของบุคคลผู้ตื่น ไม่ใช่บุคคลผู้หลับ นี่แหละ เนกขัมมะ ขั้นที่ ๒.. ตื่นตัว ตื่นตา ตื่นใจอยู่ตลอดเวลา มองทุกอย่างเป็นเรื่องใหม่ที่เราจะเข้าไปศึกษา เรียนรู้ได้อย่างตื่นตา ตื่นตัว ตื่นใจ ไม่ใช่ “เอ๊ย คุ้นชิน เก่าคร่ำคร่า เคยแล้ว เมื่อไหร่ก็ได้ เดี๋ยวค่อยทำ” สุดท้าย กลายเป็นสันหลังยาว ขี้เกียจทิ้งประโยชน์อันพึงได้ พึงถึงจากการฝึกอบรม 

ดังนั้น “กายรวมใจ” จะแนบสนิทได้ ต้องตื่นตัว ตื่นตา ตื่นใจ อยู่ตลอด “เออ เรารวมกันอยู่จริงมั้ย” ใคร่ครวญ ตรึก วิเคราะห์ พินิจ พิจารณารวมตั้งแต่  
-หัวจรดปลายเท้า 
-ไล่ตั้งแต่บนลงล่าง ล่างขึ้นบน 
-อยู่ตรงกลาง แยกไปล่าง-บน 
ใคร่ครวญ พินิจ พิจารณา ตั้งมั่นอยู่ใน ”กาย” 

“ใจ”อย่าออกไปเที่ยวข้างนอก ออกไปแล้ววุ่นวายลูก ฟุ้งซ่าน สับสน เหน็ดเหนื่อย ทุกข์ระทม ทรมาน ไปติดโรคร้าย…รัก โลภ โกรธ หลง แล้วก็เอาเข้ามานอนกลัดหนอง ทุกข์ทรมานอยู่ในบ้าน คือ อยู่ในกาย ใจทุรนทุราย พลุ่งพล่าน สับส่าย กลับกลอก สับสน ว้าวุ่น หาความสงบเย็นไม่ได้ ไม่มีใครเขาทำ เราพลุ่งพล่านออกไปเอง เหนื่อยมาทั้งชีวิตแล้ว ดึงมันกลับมาพักบ้าง กลับมาพักในถ้ำ คือ ในร่างกาย 

…… 

 

กายรวมใจ ใจรวมกาย นี่คิดไหม มีอะไรต้องคิด ถ้า”คิด”ก็แสดงว่าไม่รวมสิ หลุดออกไปแล้วสิ มีแต่”ตัวรู้”อยู่เฉพาะภายในกายตน ไม่ได้”คิด”อยู่เฉพาะภายในกายตน…ไม่ใช่  
เอาแค่”รู้”อยู่เฉพาะภายในกายของตน 

….. 

 

เมื่อรวมได้แล้ว ให้ตั้งมั่น พิสูจน์ได้อย่างไรว่า ตั้งมั่นลองก้าวเดินดูว่า กายกับใจ ยังรวมกันอย่างตั้งมั่น หรือหลุดออกไปแล้ว ขณะที่เดิน”รู้”อยู่ เฉพาะภายในกายตน แต่ต้องแน่ใจว่า กายกับใจ รวมกันอย่างตั้งมั่นแล้ว ไม่มีอารมณ์ใดเข้ามาแทรก ให้อยู่ให้นานที่สุด  

กายกับใจ รวมกันให้ได้นานที่สุด ไม่มีอารมณ์ใดอื่นเข้ามาแทรกเลย  
มีแต่กายกับใจ รู้อยู่ รู้อยู่ ภายในกายกับใจเท่านั้น 

นี่เป็นปฐมบทขั้นแรก ถ้าทำขั้นนี้ไม่ได้ ไม่สำเร็จ อย่ามาถามหาความวิเศษ พิสดารด้วยความสำเร็จใดๆ 

และนี่เป็นวิถีแห่งปัญญาโดยตรง 

-อยากเป็นผู้รุ่งเรือง เจริญด้วยสติ ปัญญา ต้องทำอย่างนี้ 
-อยากเป็นคนที่ทำ พูด คิด ไม่ผิดพลาดเลย ต้องทำอย่างนี้ 
-อยากมีเครื่องป้องกันภัย ภยันตรายทั้งกายและใจ ต้องทำอย่างนี้ 

….. 

ขณะที่เดิน กายกับใจ ยังตั้งมั่น คงที่ ..ไม่หลุด 

“รู้”อยู่เฉยๆ ไม่มีคำภาวนา ไม่ต้องท่อง ไม่ต้องสาธยาย 

ให้รวมและตั้งมั่น อย่าเพิ่งทะยานอยากไปถามหาความก้าวหน้า 

ทำขั้นนี้ 

-ให้สำเร็จประโยชน์สูงสุด  

-ให้สมบูรณ์ที่สุด  

-ให้ยาวนานมากที่สุด 

-ให้ยั่งยืนที่สุด 

จิตจะได้มีอานุภาพ มีพลังว่า เป็นจิตตานุภาพ 

….. 

จิตอยู่ในกาย “กายกับจิต”รวมกันเป็นหนึ่ง 

ระวังจะเผลอ  พวกที่เผลอไปแล้ว รีบดึงกลับมา ไม่ใช่เรื่องผิดกับการที่เดี๋ยวหลุดๆ แต่ผิดที่รู้แล้วไม่ดึงกลับ นี่ผิด ที่หลุดน่ะไม่ผิด แต่จะผิดตรงที่เรารู้ว่าหลุดออกไปแล้ว แล้วไม่ดึงกลับมา 

….. 

เสียงเพราะ กลิ่นหอม รสอร่อย สัมผัสนุ่ม อารมณ์ที่ปรากฎกับใจ ทั้งหมดเป็นปรปักษ์ เป็นมลพิษของเนกขัมมะ หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรู้อารมณ์ เป็นมลพิษของเนกขัมปฏิบัติ เราไปยุ่งกับมัน แสดงว่า เนกขัมมะเรากระเจิดกระเจิง พังทลาย ฟ้าจะผ่า ฝนจะตก น้ำจะท่วม ไฟจะไหม้ สถานการณ์ใด ๆ เราไม่ง่อนแง่น ไม่สั่นคลอน ไม่สะดุ้งผวา  

ยืนหยัด ตั้งมั่น นั่นแหละ ผู้เจริญเนกขัมฯ ที่เรียกว่า สำรวม สังวร ระวัง เนกขัมมะขั้นที่ ๑ เอามาใช้กับ กายรวมใจไปด้วย เพราะขณะที่เราต้องการให้กายกับใจรวมกัน ดันพลุ่งพล่าน ฟุ้งซ่าน กลับกลอก ทุรนทุราย กวัดแกว่ง กระเสือกกระสน แสดงว่า เนกขัมมะเราไม่แข็งแรง ไม่สำเร็จประโยชน์ 

ดังนั้น ความหมายของคำว่า เนกขัมมะ ไม่ใช่มีแค่นุ่งขาวห่มขาว มาท่องบ่นต่อหน้าพระ ถือศีล ๘ .. ไม่ใช่ นั่นแค่พิธีกรรม แต่เรื่องจริงๆ ที่ได้ผลจริงๆ คือ เรื่องที่กำลังทำ ทำให้เนกขัมมะ กลายเป็นสิ่งมีชีวิต เป็นสิ่งที่จับต้องได้ ทำได้ ทำถูก ทำถึง เห็นผลจริงจัง นุ่งขาว ห่มขาวอย่างเดียว จะมาอ้างว่าปฏิบัติเนกขัมมะไม่ได้ แม้ที่สุดเราบอกว่า เราถือศีล รับศีลมา จะบอกปฏิบัติเนกขัมมะไม่ได้ถ้าเรายังพลุ่งพล่าน กลับกรอก สับส่าย สับสน ทุรนทุราย เร่าร้อนทั้งกายและจิตใจ เอาอะไรมาเรียกว่า ตัวเองมีคุณสมบัติเป็นผู้เจริญเนกขัมมะ 

          หลุดไปก็ดึงกลับมา  หลุดบ่อยก็ดึงบ่อย ขณะที่เราดึงกลับมาได้ นั่นแหละคือ การทำงานของ”สติ” เราจะเห็นตัว”สติ”ได้ชัดเจนในขณะที่หลุด เราจะเห็นคุณลักษณะของ”สติ”ได้ชัดเจนในขณะที่เราทำให้ตั้งมั่น หลุดแล้วดึงกลับ นั่นแหละคือ การทำงานของสติ 

แต่ถ้าหลุดแล้ว ปล่อยเลยตามเลย นั่นเขาเรียก เสียสติ ขาดสติ หลุดแล้วอย่ามานั่งโทษ ยืนโทษ “เอาอีกล่ะ หลุดอีกล่ะ” หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน รำคาญขึ้นมา สุดท้าย เลิกทำ นั่นเขาเรียก คนเสียสติ ทำบ่อยๆ ปล่อยให้เป็นแบบนั้นบ่อยๆ เดี๋ยวก็บ้า ยิ่งอากาศ ร้อนๆ อยู่ บ้าเร็ว พลุ่งพล่านบ่อยๆ ควบคุมไม่ได้ สุดท้าย ตกอยู่ในอำนาจการครอบงำของตัณหา ความทะยานอยาก 

…. 

ลองกลับเข้านั่งที่ ดูซิว่า กายยังรวมใจอยู่มั้ย 

ทำให้ “กายกับใจ”ยังรวมกันอยู่อย่างตั้งมั่น 

….. 

ทีนี้ ลองสังเกต”ลมหายใจ”ตัวเอง 

-ลมหายใจเข้าอยู่ ภาวนาในใจว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข 

-ลมหายใจออกไป ภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ 

….. 

 

ยกมือไหว้พระกรรมฐาน 

พัก 

.... 

ทำได้ก็ดีแล้ว บางคนยังไม่ค่อยได้ก็พยายาม ลูก เดี๋ยวก็ได้เองแหละ  
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น “วิริเยน ทุกขมัจเจติ” บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร 

อยากได้ที่พึ่ง อยากได้เครื่องป้องกัน อยากได้เกราะ อยากได้เครื่องอาศัย นั่นคือ ต้องอาศัยพระธรรม  

พระธรรม เป็นเกราะ เป็นที่พึ่ง เป็นเครื่องอยู่ เครื่องอาศัย เครื่องป้องกันภัยได้ทั้งโลกนี้และโลกหน้า ได้ทั้งในปัจจุบัน ในอดีต และในอนาคต คนที่อยู่อาศัย ลิ้มรสชาติ จับต้อง ลูบคลำ ปฏิบัติธรรมอยู่เนืองๆ ต่อเนื่อง จะมีเครื่องป้องกันภัยทั้งกาย และจิตใจ 

ชาวบ้านเขาทุกข์เราจะไม่ทุกข์ ชาวบ้านเขาโศก เราจะไม่โศก 
ชาวบ้านเขาทุรนทุราย เราจะไม่ทุรนทุราย  
ชาวบ้านเขามีปัญหา เราจะไร้ปัญหา  
ชาวบ้านเขาจะกลัดกลุ้ม ว้าวุ่น ร้อนรุ่ม เราจะสงบเย็น  

เพราะฉะนั้น ต้องศึกษา ต้องปฏิบัติให้จริงๆ จังๆ อย่าลูบคลำเป็นเครื่องเล่น 

 

ไปพัก 

 

แหล่งข้อมูล

มูลนิธิธรรมอิสระ.  (๒๕๖๗).  ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถ กายรวมใจ คือปฐมบทของการบรรลุธรรม  ใน ปราณโอสถ กายรวมใจ กรรมฐานในวิถีมรรคาปฏิปทา, (น.๘๓ – ๘๙). 

      นครปฐม: มูลนิธิ.

หลวงปู่​พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรมบวชเนกขัมมะ เนื่องในวันมาฆบูชา ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วัดอ้อน้อย

      (ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม, สืบค้น มิถุนายน ๒๕๖๗ จาก https://www.facebook.com/issaradham/videos/911655616854729

64 | 15 สิงหาคม 2024, 20:31
บทความอื่นๆ