วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๒ ภาวนา ๑๘ สืบเนื่องเรื่องเกิดจากการแสดงธรรมที่ศาลาปฏิบัติธรรม วัดอ้อน้อย

ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม

ภาวนา ๑๘ สืบเนื่องเรื่องเกิดจากการแสดงธรรมที่ศาลาปฏิบัติธรรม วัดอ้อน้อย แสดงธรรมวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๖๕

สาระสังเขป

         กล่าวถึงคุณของภาวนา ๑๘ ว่าแต่ละข้อมีความหมาย ความสำคัญอย่างไร การภาวนาเป็นกระบวนการทำให้เจริญในคุณธรรมต่างๆ กล่าวคือ คุณธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์

ได้แก่คารวธรรม คือ มีศรัทธา สร้างระเบียบในจิตใจ กตัญญู รู้คุณ กตเวทิตา ตอบแทนคุณ มีสติ ปัญญา ด้วยการ ฟัง คิด ทำ สำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม

ทำให้มีกำลังใจเข้มแข็ง ทำให้มีจิตใจสงบสุข ทำให้เป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อสารพัดปัญหา สามารถชนะปัญหาทั้งปวงได้ ทำให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง ทำให้ครอบครัวรักสามัคคี เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงเอาชนะโรคภัยไข้เจ็บ สมปรารถนาสิ่งที่หวังดั้งใจ มีชีวิตอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง มีความจำดี มีทรัพย์ใช้จ่ายตลอดเวลา มีมิตรสหายดี ได้รับความเคารพนับถือจากชนทั้งหลาย สามารถเผชิญกับความตายอย่างสงบ เมื่อตายแล้วบังเกิดในภพภูมิสูงยิ่งกว่าการทำบุญกุศลใดๆ  และการภาวนาทุกวิถีทางด้วยความละเอียดมากขึ้นรวมถึงเพื่อละวางตัวกูให้ถึงความว่างเปล่าหมดจดสามารถบรรลุนิพพานได้

เนื้อหา

อาทิตย์ที่ผ่านมามีคณะผู้ศรัทธามาฟังธรรม ปฏิบัติธรรมประจำเดือน หนึ่งในหลายๆ เรื่องที่แสดงธรรมมีผู้ถามปัญหาในประเด็นเรื่อง ข้อสงสัยในบทความ ภาวนา ๑๘ ข้อ ว่าแต่ละข้อมีความหมายเช่นไรบ้าง

๑. หากต้องการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ต้องภาวนา

อธิบายได้ว่า คุณสมบัติ ๕ ข้อ ในการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ มีดังนี้

ข้อที่ ๑ คารวธรรม คือ มีศรัทธา สร้างระเบียบในจิตใจ

ข้อที่ ๒ กตัญญู รู้คุณ กตเวทิตา ตอบแทนคุณ

ข้อที่ ๓ มีสติ ปัญญา ด้วยการ ฟัง คิด ทำ

ข้อที่ ๔ สำนึกรับผิดชอบต่อหน้าที่

ข้อที่ ๕ ซื่อตรง ซื่อสัตย์ สุจริต ยุติธรรม

         เมื่อใดที่สามารถปฏิบัติตามคุณธรรมทั้ง ๕ ข้อนี้จนครบสมบูรณ์อย่างต่อเนื่อง นั่นจึงเรียกว่า ภาวนา

๒. หากต้องการมีกำลังใจที่แข็งแรง ต้องภาวนา

อธิบายได้ว่า เพียรพยายามสร้างอานุภาพให้แก่จิต เรียกว่าเป็นผู้มีจิตตานุภาพ เช่น การปฏิบัติสมถกรรมฐาน จนบังเกิดสมาธิที่แนบแน่น แน่วแน่ ตั้งมั่นจนลุถึงองค์ฌาน ปฐมฌาน ถึงจตุตถฌาน จนจิตมีกำลังที่จะอยู่เหนือสิ่งเร้า เครื่องล่อทั้งปวง เรียกว่า จิตแข็งแรงด้วยองค์ฌานด้วยภาวนา หรือไม่ก็ มีความเพียร เจริญสติ จนลุถึงปัญญารู้แจ้งชัดตามความเป็นจริงของโลกทั้งสอง ที่เรียกว่า สมมุติโลก ปรมัติโลก สมมุติบัญญัติ  ปรมัตถธรรม ทั้งสองโลกนั้น ล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่ในความไม่คงที่ เป็นทุกข์หากไปยึดถือ อีกทั้งทุกสรรพสิ่งสรรพธรรม ล้วนไม่มีอยู่จริง

          เมื่อพิจารณาอยู่เช่นนี้ จิตก็จะเกิดความเบื่อหน่าย คลายความทะยานอยาก วางความยึดถือทุกสรรพสัตว์ในโลกสมมุติและปรมัติ เรียกว่า แข็งแรงเพราะความอิสระ

๓. หากต้องการมีจิตใจที่สงบสุข ต้องภาวนา

         อธิบายกลับไปดูคำอธิบายในข้อสอง

๔. หากอยากเป็นผู้ไม่หวั่นไหวต่อสารพัดปัญหา ต้องภาวนา

อธิบายว่า มีศรัทธา มีจิตเมตตา บริจาค ปฏิบัติในศีล มีจิตตั้งมั่น เจริญปัญญา ธรรมดังกล่าวเหล่านี้ เป็นมูลเหตุให้ตั้งมั่นอยู่ได้ โดยไม่หวั่นหวาด หวั่นไหวใดๆ เหล่านี้คือ ขบวนการภาวนา

๕. หากอยากเอาชนะต่อปัญหาทั้งปวง ต้องภาวนา

อธิบายว่า ชีวิตคือการเรียนรู้ ปัญหาคือการต่อสู้ ศัตรูคือครูของเรา

ทุกปัญหาเขามีเอาไว้ให้เข้าไปศึกษา เรียนรู้ และหาวิธีแก้ไข ไม่ใช่คิดเอาแต่จะหนี ต้องทำความเข้าใจให้แจ่มชัดว่า มีชีวิตก็ต้องมีปัญหา หากจะเอาแต่หนีปัญหา สุดท้ายก็ต้องหนีแม้กระทั่งชีวิตตนเอง แล้วจะหนีกันไปอีกกี่ร้อยชาติ ทั้งที่เมื่อใดที่เราเข้าไปเรียนรู้ ศึกษาหาวิธีแก้ปัญญา ทุกครั้งสิ่งที่จะได้มาคือ ประสบการณ์ทางวิญญาณ การเรียนรู้จะเปิดกว้างยาวไกล ขบวนการคิดเข้าใจต่อชีวิตและปัญหา เช่นนี้แหละเรียกว่า ภาวนา

๖. หากอยากให้ครอบครัวเจริญรุ่งเรือง ต้องช่วยกันภาวนา

อธิบายว่า หากทุกคนในครอบครัวช่วยกันภาวนาสิ่งหนึ่งที่จะได้มาคือ ความศรัทธา เมตตา ให้อภัย ใจสงบ  เหล่านี้คือ ผลที่จะได้รับจากการภาวนา ซึ่งหมายถึง การทำให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น หรือหมายถึง การชำระจิตให้ตั้งมั่น ผ่องใส จิตที่ตั้งมั่น ผ่องใส ไร้มลภาวะ ย่อมเกิดจากการมีสติปัญญาอันสมบูรณ์ จึงเป็นเหตุให้ ทำ-พูด-คิด ไม่ผิดพลาด ทั้งยังเจริญงอกงามไพบูลย์อย่างยิ่ง

 

๗. หากอยากให้ครอบครัวรักสามัคคีกัน ต้องภาวนา

          อธิบายว่า ๑ ในหลายประโยชน์ที่ผู้ภาวนาจะได้รับ คือ การมีความเห็นอันตรง ถูกต้อง ตามทำนองคลองธรรม และด้วยความเห็นอันตรง ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมเช่นนี้แหละ ที่ทำให้บุคคลในครอบครัวนั้นๆ รู้จักแยกแยะดี-ชั่ว ถูก-ผิด รู้เล็ก-รู้ใหญ่ รู้สูง-รู้ต่ำ รู้หน้าที่ ต่างฝ่ายต่างรับผิดชอบในหน้าที่ของกันและกัน ทั้งยังให้การยอมรับ ให้เกียรติซึ่งกันและกัน เมื่อทุกคนถูกต้อง ไม่บกพร่องในหน้าที่ ต่างฝ่ายทำหน้าที่อย่างสมบูรณ์ก็ไม่มีเหตุให้ต้องมาตำหนิ จับผิดซึ่งกันและกัน จึงกลายเป็นความรักความสามัคคีต่อกันไปโดยปริยาย อีกทั้งเมื่อทุกท่านมีความเห็นอันถูกต้องดังกล่าวจนเป็นอาจิณ สิ่งนั้นนั่นแหละ ท่านเรียกว่า ภาวนา

๘. อยากเพิ่มภูมิคุ้มกัน เพื่อเอาชนะโรคต้องขยันภาวนา

          อธิบายว่า มีผลวิจัยที่ทั่วโลกยอมรับกันว่า การรักษาจิตให้สงบ ราบเรียบ สม่ำเสมออยู่ตลอดเวลา มีผลให้ภูมิคุ้มกันแข็งแรงขึ้น สามารถต้านทานโรคจนถึงกับรุกไล่ กำจัดให้เชื้อโรคต่างๆ สงบราบคาบลงไปได้ อีกทั้งยังสามารถทำให้เลือดลมโคจรไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ได้อย่างสม่ำเสมอ และหากสามารถเจริญภาวนาจนถึงขั้นองค์ฌาน จะสามารถยืดอายุขัยของเซลล์ต่างๆ ในทุกอวัยวะของร่างกาย แม้แต่การเพิ่มเม็ดเลือดขาว เม็ดเลือดแดง ก็สามารถใช้ผลของการเจริญภาวนา สร้างเม็ดเลือดได้ภายในหนึ่งเดือน

ตัวอย่างนี้เกิดขึ้นกับผู้เขียนเอง โดยการภาวนาในวิชา ปราณโอสถผสมกับยาบำรุงเลือด ๔ เม็ด ๒ เวลา ภายในหนึ่งเดือนก็สามารถเพิ่มเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวได้เป็นพัน ภายในระยะเวลาหนึ่งเดือน ทั้งที่ตลอดเวลาที่ผ่านมาผลการตรวจเลือดในแต่ละปี เม็ดเลือดทั้ง ๒ ล้วนต่ำกว่าเกณฑ์มาตลอด เช่นนี้ผู้เขียนจึงขอยืนยันว่า การภาวนาสามารถเพิ่มภูมิคุ้มกันได้จริง

๙. อยากสมปรารถนา ต้องขยันทำและแบ่งเวลาภาวนา

          อธิบายว่า การภาวนาทางกาย เรียกว่า การทำการงานนั้นๆ อย่างขยันขันแข็ง จดจ่อ จับจ้อง จริงจัง ตั้งใจ ยิ่งเพิ่มการภาวนาทางจิตใจเข้าไปด้วย จนบังเกิดผล คือ ความสงบตั้งมั่นของจิต สติตั้งมั่น ปัญญารุ่งเรืองเช่นนี้ เรื่องที่จะทำ คำที่จะพูด สูตรที่คิด ไม่มีอะไรที่ท่านผู้มีภาวนาทั้งทางกายและทางจิตใจจะไม่สำเร็จ เช่นนี้จึงชื่อว่า ขยันทำและภาวนา สามารถสมปรารถนาได้จริง

๑๐. อยากมีชีวิตอยู่กับโลกแห่งความเป็นจริง ต้องภาวนา

          อธิบายว่า ก่อนจะรู้ว่า อะไรคือ โลกแห่งความเป็นจริง ก็ต้องเข้าใจรู้จักโลกทั้งสองที่มีอยู่ให้แจ่มชัดเสียก่อน คือ โลกสมมุติ และ โลกปรมัตถ์ เมื่อท่านทั้งหลายได้ศึกษา พิจารณา ให้ถ่องแท้ก็จะรู้ชัดแจ้งได้ว่า โลกสมมุติเป็นเพียงบุคคลบัญญัติขึ้น แล้วให้ค่าราคาเพื่อการยอมรับ

          ทั้งที่จริงแล้วทุกสรรพสิ่งของโลกสมมุติล้วนเกิดจากเหตุปัจจัย หลายสิ่งรวมกันเป็นหนึ่งสิ่ง แล้วเรียกสิ่งหนึ่งสิ่งนั้นว่า ชื่อนี้ ทำประโยชน์เช่นนี้ ให้ประโยชน์ดังนี้ เมื่อหนึ่งสิ่งชื่อนั้น ชนิดนั้น ถึงกาลที่เสื่อมถอย หลายสิ่งที่เกาะกุมรวมตัวกัน ก็มีอันต้องแยกแตกสลาย หนึ่งสิ่ง ชื่อนั้น ชนิดนั้น ก็หมดความสำคัญ ไร้ประโยชน์ ความดังกล่าวเหล่านี้หากไม่ภาวนา ไม่ศึกษาปรมัติโลกหรือปรมัตถธรรม ก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย เหตุผลดังกล่าวมานี้แหละ เรียกว่า จะเรียนรู้โลกแห่งความเป็นจริงได้ ก็ต้องขยันภาวนา

๑๑. อยากมีความจำดี ไม่หลงลืม ต้องภาวนา

          อธิบายว่า จากประสบการณ์ในการภาวนาสิ่งหนึ่งในหลายสิ่งที่ผู้ปฏิบัติ ภาวนาอย่างต่อเนื่องจะได้รับก็คือ ความจำ ความจำที่ได้จากการภาวนา คือ การปฏิบัติในศีล ปฏิบัติในสมาธิ เจริญสติ เจริญปัญญา ด้วยเพราะหลักปฏิบัติดังกล่าว เป็นการฝึกสติ เจริญสมาธิไปในตัว อีกทั้งการภาวนาอย่างต่อเนื่องจนตั้งมั่น จะส่งผลให้ผู้ภาวนาไม่เป็นโรคทางสมอง หรือ โรคอัลไซเมอร์อีกด้วย เช่นนี้จึงชื่อว่า ภาวนา และช่วยให้ความจำดี

๑๒. อยากมีทรัพย์ใช้จ่ายตลอดเวลา ต้องภาวนา

อธิบายว่า คุณสมบัติของผู้ที่จะเจริญภาวนาให้สำเร็จประโยชน์ จะต้องมีอินทรีย์สังวร อันได้แก่ สำรวม สังวร ระวัง ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นรับรส กายถูกต้องสัมผัส ใจรับรู้อารมณ์ และจะต้องมีสติ สมาธิคอยกำกับ การสำรวม สังวร ระวังในอินทรีย์ทั้ง๖ ให้คงที่ ราบเรียบ ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งเร้า เครื่องล่อทั้งปวง การมีคุณสมบัติดังกล่าวนี้ ทำให้ผู้เจริญภาวนามีชีวิตอยู่อย่างเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิม จนกลายเป็นคนสุรุ่ยสุร่าย เช่นนี้ ทรัพย์ที่หามาและมีอยู่ จึงถูกบริหารใช้จ่ายอย่างรู้คุณค่า ประหยัดสูง ประโยชน์สุด เหมาะสมกับฐานานุรูปของตน นี้เรียกว่า ภาวนาแล้วมีเงินใช้จ่ายตลอดเวลา

๑๓. อยากมีเพื่อนดี ต้องภาวนา

          อธิบายว่า การภาวนาต้องมีศรัทธา ทาน ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นคุณธรรมที่ไม่อาจปฏิเสธได้ เช่น เวลาจะคบค้าสมาคมกับผู้ใด ย่อมรู้จักแยกแยะดีชั่ว ถูกผิด ที่มีในจิตใจ และพฤติกรรมของผู้ที่จะคบค้าเป็นเพื่อน ว่าควรคบหรือมิควรคบ ไม่ใช่คบกันที่หน้าตา ไม่ใช่คบกันที่ฐานะ และหน้าที่การงาน ไม่ใช่คบกัน ที่ชาติตระกูลสูง หรือกองเชียร์ว่าใครควรคบและมิควรคบ

การภาวนาที่ถูกต้องสมบูรณ์ด้วยคุณธรรมดังกล่าวมาแต่เบื้องต้น จึงเป็นเครื่องมือชี้วัดให้เราเลือกสรร ผู้คนที่จะมาเป็นเพื่อนเราได้อย่างดียิ่ง

๑๔. อยากเป็นที่เคารพของชนทั้งหลาย ต้องภาวนา

อธิบายว่า ด้วยคุณธรรมดังกล่าวมานี้ ทุกข้อของการภาวนา จักทำให้ผู้ปฏิบัติภาวนานั้น เป็นที่ยอมรับของฟ้าดิน มนุษย์ และสัตว์ทั้งปวง นี่คืออานิสงส์ของผู้มุ่งมั่น หมั่นปฏิบัติภาวนา

๑๕. อยากมีอนาคตดี ต้องขยันภาวนา

          อธิบายว่า พระบรมศาสดาทรงตรัสสอนเอาไว้ว่า

**************************************

เย ธัมมา เหตุปัปพวา เตสัง เหตุง ตถาคโต

ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ พระตถาคตกล่าวถึงเหตุและการดับเหตุแห่งธรรมนั้น

****************************************

ด้วยการปฏิบัติตามหลักคิดเช่นนี้ ผู้ที่ภาวนาต้องตระหนัก สำนึก ระลึกรู้อยู่เสมอว่า วันนี้คุณปลูกต้นมะม่วงเขียวเสวย อีกหลายปีต่อมา คุณจะได้เก็บลูกมะม่วงเขียวเสวยจากต้นที่คุณปลูก มากินได้ตามใจชอบ

แต่หากวันนี้คุณไม่ปลูกอะไร วันต่อๆ ไปและปีต่อๆ ไป หากคุณต้องการกิน ต้องการใช้ คุณก็ต้องขวนขวายหาปัจจัย แก้ว แหวน เงิน ทอง ที่มีมูลค่ามีราคา คุณถึงจะสามารถนำไปแลกซื้อ แลกหาสิ่งของที่คุณต้องการบริโภค ไม่ว่าจะเป็นผลมะม่วงหรือข้าวปลาอาหาร และเครื่องอุปโภคบริโภค ตามที่คุณต้องการ แม้แต่เครื่องอุปโภคบริโภคที่คุณไม่สามารถทำเองได้ คุณก็ต้องใช้เงินทองที่หาได้ในวันนี้ ไปจัดซื้อหามาในวันหน้า แต่หากวันนี้คุณไม่มุ่งมั่นขวนขวาย แสวงหาทรัพย์สินสะสมเอาไว้ สำหรับใช้จ่าย จัดซื้อหาในสิ่งที่คุณต้องการ วันพรุ่งนี้ปีหน้า คุณจะเอาอะไรไปจัดซื้อหาในสิ่งที่คุณต้องการได้ เช่นเดียวกัน หากวันนี้คุณไม่ขวนขวายที่จะเรียนรู้สรรพวิทยาในวิชาการต่างๆ วันข้างหน้า ปีหน้า คุณจะเอาความรู้ใดไปสร้าง สรรหาในสิ่งที่คุณต้องการ ฉะนั้นอนาคตจะดี วันนี้คุณต้องเริ่มต้นมุ่งมั่นขวนขวายสร้างเหตุปัจจัยให้เกิดผล เพื่อที่จะส่งผลไปถึงพรุ่งนี้ปีหน้า และชาติหน้าต่อไป

กระบวนการดังกล่าวเหล่านี้ เรียกว่า ภาวนาแล้วทำให้อนาคตดี ทั้งนี้รวมถึงการภาวนาทางจิตวิญญาณให้รุ่งเรือง เจริญตามวิถีทำนองคลองธรรมอย่างจดจ่อ จับจ้อง ตั้งมั่น

๑๖. อยากตายอย่างสงบ ต้องภาวนา

          อธิบายว่า ผู้ที่มีองค์คุณแห่งการภาวนา จะต้องตระหนักสำนึก ระลึกรู้อยู่เสมอว่า การมีชีวิตอยู่ในโลกปัจจุบัน มันอัดแน่นไปด้วยความกระวนกระวาย ทุกข์ยาก เดือดร้อน ทรมานอย่างแสนสาหัส

ผู้ภาวนาจึงต้องตระหนัก สำนึก ระลึกรู้ต่อไปให้ได้ว่า เมื่อถึงความที่เราจะตาย ในเวลาตาย เราจะตายอย่างไร โดยไม่ต้องนำพาเอาความทุรนทุราย ทุกข์ทรมานที่มีอยู่ในชาติปัจจุบัน ติดตามไปกับเราขณะตายและหลังจากที่ตายแล้วด้วย

จิตเต สังกิลิฏเฐ ทุคติปาฏิกังขา

v เมื่อจิตเศร้าหมอง ไม่ผ่องใส ทุคติ (นรก) ก็เป็นที่ไป

จิตเต อสังกิลิฏเฐ สุคติปาฏิกังขา

v เมื่อจิตผ่องใส ไม่เศร้าหมอง สุคติ (สวรรค์) ก็เป็นที่ไป

***************************************

เพื่อไม่ปล่อยให้จิตใจเราเศร้าหมองในขณะตาย จึงสมควรป้องกันด้วยการหมั่นเจริญภาวนา มีศรัทธา มีทาน มีศีล มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา

แม้คุณธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็สามารถตายอย่างสงบได้แล้ว

เช่นนี้เรียกว่า ภาวนาแล้ว ..ผลแห่งการภาวนานำพาให้ตายอย่างสงบ

๑๗. อยากขึ้นสวรรค์ ต้องภาวนา

อธิบายว่า การภาวนามีอานิสงส์ส่งให้ชีวิตหลังความตายจะไปบังเกิดใน ภพภูมิที่สูงยิ่ง ยิ่งกว่าการทำบุญกุศลใดๆ การภาวนามีอานิสงส์มาก มีผลมาก จนสามารถส่งผลให้ลุถึงความดับและเย็นได้ในที่สุด ซึ่งประเสริฐสุดกว่าสวรรค์และพรหม

๑๘. อยากบรรลุนิพพาน ต้องไม่มีตัวกูเป็นผู้ภาวนา

อธิบายว่า แม้เคยวิสัชนาว่า การภาวนาจะสามารถส่งให้ชีวิตหลังความตาย จะได้ภพภูมิที่สูงยิ่งกว่าสวรรค์และพรหม นั่นคือนิพพาน

แต่หากว่าโดยกระบวนการปฏิบัติภาวนาที่ละเอียดขึ้น จะต้องทำทุกวิธี รวมทั้งการภาวนาเพื่อละวางตัวกู ให้ถึงความว่างอย่างหมดจด

เมื่อไม่มีตัวกู ภพแดนเกิด ชาติการเกิด จะมีมาจากไหน

การที่ยังมีภพแดนเกิด ชาติการเกิดได้ เพราะมีตัวกู มีจิตกู มีอุปทานในตัวกู อันประกอบไปด้วยรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

ท่านทั้งหลายควรเข้าใจว่า ตัวกูนี่แหละเป็นผู้สร้างภพ ไม่ว่าจะเป็นสุคติภพหรือทุคติภพ กูก็เป็นคนสร้าง เมื่อมีกูเป็นผู้สร้างภพ ชาติการเกิด ซึ่งเป็นผลจากการมีภพก็เกิดขึ้น ชรา มรณะ พยาธิ ทุกขโทมนัส จึงหลั่งไหล พรั่งพร้อม ถาโถมกันเข้ามาอย่างที่มิอาจปฏิเสธได้ ด้วยเหตุเช่นนี้แหละ ผลที่ไม่พึงปรารถนาจึงต้องทรมานจนสุดจะบรรยาย หากสามารถโยนตัวกูทิ้งเสียได้ ในชั้นของภาวนาความสงบ สะอาด ฉลาด สว่าง ว่าง ดับเย็น ก็จักมิอาจปฏิเสธได้เช่นกัน

 

พุทธะอิสระ

แหล่งข้อมูล

มูลนิธิธรรมอิสระ.  (๒๕๖๖).  ภาวนา ๑๘ สืบเนื่องเรื่องเกิดจากการแสดงธรรมที่ศาลาปฏิบัติธรรม วัดอ้อน้อย ใน ปราณโอสถ: กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม,

     (น.๑๓๑ - ๑๔๑). นครปฐม: มูลนิธิ.

 

70 | 18 กรกฎาคม 2024, 21:53
บทความอื่นๆ