บทที่ ๑๗ ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถขั้นที่ ๑-๓ วิชาปราณโอสถเป็นเครื่องรักษากายใจ สร้างสุคติภพก่อนตาย และเวลาตาย
ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม
ชื่อเรื่อง ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถขั้นที่ ๑-๓ วิชาปราณโอสถเป็นเครื่องรักษากายใจ สร้างสุคติภพก่อนตาย และเวลาตาย
แสดงธรรมวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๖๕
สาระสังเขป
สอนเจริญกรรมฐานปราณโอสถ ขั้นที่ ๑ จิตรวมกาย กายรวมใจ ให้จิตอยู่ในกาย รู้อยู่ภายในกาย เฉยและว่าง รวมกันมากๆ จะเป็นพลังที่สามารถเอาชนะโรคได้ในระดับหนึ่ง ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย สมองของเราโล่ง
อารมณ์ว่าง จิตใจวาง เกิดลหุตา คือ ความเบาสบาย เรียกว่า เราเข้าถึงกระบวนการผ่อนคลาย ในเวลาตาย จะไปสู่สุคติ นอนหลับง่าย หลับสนิท บรรเทาอาการเจ็บป่วย ฝึกเป็นอาจิณ จนถึงขั้นคำว่าลหุตาคือ ความเบาสบาย จะมีพลังเย็นๆ หรือพลังอุ่นๆ ขั้นที่ ๓ รู้ลม รู้ว่าลมเข้าอยู่ หรือ ออกอยู่โดยไม่ต้องบังคับลม
เนื้อหา
ลุกขึ้นยืน
ฝึกปราณโอสถ
๐ ขั้นที่ ๑ : จิตรวมกาย กายรวมใจ
คำว่า กายรวมใจ ใจรวมกาย คือ ความรู้สึก "ใจ" คือความรู้สึก
ที่จริง ความรับรู้ ความรู้สึก ความตรึก ความคิด ความจำก็ได้ ให้อยู่ภายในกาย อย่างนี้เรียกว่า กายรวมใจ หรือ กายรวมใจ
อย่าให้มันหลุดออกมา รวมกันมากๆ เข้าจะเป็นพลัง เป็นเดช เป็นศักดา เป็นตบะ ที่สามารถเอาชนะโรคได้ในระดับหนึ่ง
ใครที่ยืนไม่ไหว นั่งก็ได้ แต่ที่ให้ยืนเพราะนั่งมานานแล้ว จะปวดหลัง เมื่อยก้นกบ ให้กายกับใจรวมกันให้ได้ และก็อยู่เฉยๆ อยู่นิ่งๆ ไม่ทุรนทุราย ไม่ต้องคิดอะไร อย่าให้มันหลุดออกนอกกาย
"รวม"แบบไม่มีงานทำ แบบเฉยๆ ว่างๆ
รู้อยู่ภายในกาย
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๒ : ผ่อนคลาย
จิตรวมกาย แล้วผ่อนคลาย
จิตเมื่อรวมกาย แล้วจะมีตบะ มีพลัง มีเดช ที่สามารถจะคุมอารมณ์ได้ ทีนี้ เราควบคุมให้มันผ่อนคลาย
ผ่อนคลายระบบประสาท สมอง ระบบกล้ามเนื้อ ผ่อนคลายข้อกระดูก เส้นเอ็น พังผืด ผ่อนคลายอารมณ์ จิตใจ ร่างกาย
ทำทุกอย่างผ่อนคลาย โดยไม่ต้องออกจากกาย ยังอยู่ในกาย แต่ผ่อนคลาย
ผ่อนคลาย เราจะรู้ได้อย่างไร
เมื่อใดที่เรารับรู้ได้ว่า
- สมองของเราโล่ง
- อารมณ์ว่าง
- จิตใจวาง
- เกิดลหุตา คือ ความเบาสบาย
นั่นแหละ เรียกว่า เราเข้าถึงกระบวนการผ่อนคลาย
อารมณ์แบบนี้เป็นอารมณ์ที่เหมาะที่จะตาย เรียกว่า ตายแล้วไม่เป็นทุกข์ ตายแล้วเป็นสุข
"สุคติภพ"จะเกิดขึ้นในขณะที่เราผ่อนคลาย แม้นไม่ตายก็เป็นสุขได้ในขณะที่เราใช้อารมณ์ผ่อนคลาย
คนที่ใกล้ตาย เตรียมตัวตาย พร้อมที่จะตาย เผชิญต่อความตายอยู่ทุกเมื่อ ใช้อารมณ์แบบนี้แหละในเวลาตาย เรียกว่า ตายแล้วไปสู่สุคติ
๐ วิชาปราณโอสถ แม้นจะเป็นวิชาของพระโพธิสัตว์ ก็ใช้สำหรับที่จะเลือกสรรในการสร้างภพภูมิของตน
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนสร้างภพภูมิเป็นสุคติภพได้ ถ้าไม่ผ่อนคลาย จะกลายเป็นทุคติภพ
สำคัญ ต้องผ่านขั้นตอนแรกก่อน คือ กายรวมใจ ใจกับกายรวมกันจนแนบแน่นสนิทเป็นหนึ่งเมื่อ "จิต" มีพลังก็สามารถควบคุมอารมณ์ ควบคุมกาย กล้ามเนื้อ สมอง ระบบประสาทให้ผ่อนคลายได้
เวลาอยากจะนอนหลับสบายๆ ไม่ทุรนทุราย ใช้สภาวะแบบนี้ ใช้วิธีแบบนี้ ทำให้นอนหลับง่าย หลับสนิท ไม่ต้องกินยานอนหลับ
แม้นที่สุด เวลาป่วย เจ็บ ไม่สบาย เจ็บนู่นปวดนี่ ทุรนทุราย ใช้สภาวะอารมณ์แบบนี้ ใช้กรรมฐานข้อนี้ เรียกว่า ผ่อนคลาย อาการเจ็บป่วยเหล่านั้นจะบรรเทาลง
พระโพธิสัตว์ทั้งหลายจึงเรียกวิชานี้ว่า ปราณโอสถ เป็นทั้งยา ทั้งพลังกาย พลังใจ และเป็นทั้งเครื่องรักษากาย รักษาใจ
ไม่อยากทุกข์ทรมาน ต้องรู้จักผ่อนคลาย เพราะการผ่อนคลาย คือ การสร้างภพที่เรียกว่าเป็นสุคติภพ ไม่ต้องรอตายก็อยู่ในสุคติภพแล้ว
ฉะนั้น ต้องทำให้ถึงความผ่อนคลายให้ได้
"ฝึก"จนเป็นนิสัย เป็นอาจิณ ตายแล้วจะได้ไม่เกิดเป็นเปรต อสุรกาย สัมภเวสี เป็นตุ๊กแก จิ้งจกมาเฝ้าทรัพย์ อยู่กับความผ่อนคลายให้เนิ่นนานให้มากที่สุดจนเป็นวสี เป็นนิสัย จะช่วยให้ชีวิตเราไม่ต้องทุรนทุรายมาก
- สมองโล่ง กายว่าง ใจโล่ง กล้ามเนื้อเบาสบาย อวัยวะภายใน ภายนอกผ่อนคลายหมด
- ผ่อนคลายจนถึงที่สุด จนถึงขั้นคำว่า "ลหุตา" คือ ความเบาสบาย จะมีพลังเย็นๆ หรือพลังอุ่นๆ ชนิดหนึ่งปรากฏขึ้น แต่เป็นความเย็น ความอุ่นที่ซาบซ่าน ซึมสิงเข้าไปในทุกอณูของร่างกาย เราจะรู้สึกกระตือรือร้น กระฉับกระเฉง กระชุ่มกระชวย กระปรี้กระเปร่า สดชื่นขึ้นมาในทันที เกิดชีวิตชีวา
ต้องผ่อนคลายให้ได้ระดับนั้น
๐ ผ่อนคลายในที่นี้ ผ่อนคลาย ยังมี"ตัวกู" อยู่
คือ ยังมีตัวตน มีขอบเขตในการผ่อนคลาย อย่าเลยเถิดไพล่ไปถึงคำว่าผ่อนคลายจนถึงคำว่า ว่าง อันนั้นคนละเรื่องกันแล้ว
ผ่อนคลายอย่างมีขอบเขตภายในกาย เรียกว่า กายผ่อนคลาย ใจผ่อนคลาย
- ผ่อนคลายจนหัวเบา ตัวเบา กายเบา ใจเบา อารมณ์เบา กล้ามเนื้อเบา อวัยวะทุกส่วนเบาสบาย ไม่เป็นภาระ
- คนที่ป่วย ทำให้ได้ ฝึกให้ได้ แล้วจะอยู่ได้นาน
- สมองผ่อนคลาย กล้ามเนื้อผ่อนคลาย อารมณ์ผ่อนคลาย กายผ่อนคลาย จิตใจผ่อนคลาย
ทุกอย่างในร่างกายทั้งภายในภายนอก ผ่อนคลายหมด - ไม่มีอะไรต้องแบก ต้องยึด ต้องถือ ต้องเป็นภาระ ต้องเป็นกังวล
แม้ที่สุด โรคภัยไข้เจ็บ ไม่ต้องแบก ไม่ต้องยึดถือ ไม่เป็นภาระ ไม่เป็นกังวล
๐ ขยับขึ้นขั้นที่ ๓ : รู้ลม
รู้ว่าลมเข้าอยู่ หรือ ออกอยู่
ลมเข้าก็รู้ ลมออกก็รู้
......
ไม่ต้องบังคับลม
ขณะที่รู้ลม ไม่คิดต้องคิดเรื่องอื่น อยู่กับลม
ระวังจะหลุด
เพิ่มคำภาวนาเข้าไป
หายใจเข้า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออก สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
......
๐ ถอยลงมาอยู่ในขั้นที่ ๒ : ผ่อนคลาย
- ไม่ต้องมีคำภาวนาใดๆ
- ไม่ต้องเข้าไปเพ่งลมหายใจ
- ให้รู้แต่ว่าผ่อนคลายเฉยๆ
กลับไปบ้านก็ฝึกทำ
ขั้นที่ ๑ กายรวมใจ
ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
ขั้นที่ ๓ รู้ลม ว่าเข้าหรือออก
มีทั้งหมด ๔ ขั้น ฝึกไปให้ได้ให้ครบ
คนที่เรียนรู้แล้ว ก็ฝึกต่อ คนที่เพิ่งมาใหม่
ฝึกเฉพาะที่จำเป็นจะต้องใช้ในชีวิต
ที่จริง มันจำเป็นทุกขั้นนั่นล่ะ แต่มันทำยากขึ้น
เมื่อทุกอย่างในกายผ่อนคลายแล้ว ยกมือไหว้พระกรรมฐาน
นั่งลง
ตั้งใจกรวดน้ำ ว่าตาม
ตั้งใจรับพร ลูก
ธรรมะรักษา เดินทางโดยสวัสดิภาพ
เตรียมตัวกราบพระ
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. (๒๕๖๖). ปฏิบัติธรรม ปราณโอสถขั้นที่ ๑-๓ วิชาปราณโอสถเป็นเครื่องรักษากายใจ สร้างสุคติภพก่อนตาย และเวลาตาย ใน ปราณโอสถ: กายรวมใจ
รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม, (น.๒๖๖ - ๒๗๑). นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.
วันอาทิตย์ที่ 11 กันยายน 2565 ช่วงบ่าย หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม วิชาปราณโอสถ ณ ศาลาปฎิบัติธรรม วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน
จ.นครปฐม, สืบค้น เมษายน ๒๕๖๗ จาก https://www.facebook.com/issaradham/videos/3298056260512452