วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) ต.ห้วยขวาง อ. กำแพงเสน จ.นครปฐม

บทที่ ๑๕ ปฏิบัติธรรม อิริยาบถบรรพ และสัมปชัญญะบรรพ เพื่อชะลอความเสื่อมของสมองต่อด้วยวิชาปราณโอสถขั้นกายรวมใจและขั้นผ่อนคลาย

ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม

ชื่อเรื่อง ปฏิบัติธรรม  อิริยาบถบรรพ และสัมปชัญญะบรรพ เพื่อชะลอความเสื่อมของสมอง 

ต่อด้วยวิชาปราณโอสถ ขั้นกายรวมใจ และขั้นผ่อนคลาย ​​

แสดงธรรมวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕

สาระสังเขป

         บรรยายประโยชน์ของการบริหารสมองเพื่อป้องกันการเสื่อม สอนเจริญกรรมฐานอิริยาบถบรรพและสัมปชัญญะบรรพ และปราณโอสถ ฝึกรวมกาย ลม และจิต โดยหายใจพร้อมเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆ อย่างมีความรู้สึกตัว จิตตั้งมั่นและผ่อนคลายทุกขณะ

      

เนื้อหา

เดี๋ยวเริ่มปฏิบัติธรรม 

เมื่อเช้าได้พูดถึงเรื่องคุณสมบัติ​วิธีบริหาร​สมอง​ รักษา​ความเสื่อม​ของสมอง ปกติ​ในช่วง​พรรษา​นี้​ จะสอนวิชาปราณ​โอสถ​ แต่วันนี้พิเศษ​ เป็น​วันแม่แห่งชาติ​ และเป็นวันผู้สูงวัย​ เพราะว่าแต่ละคนที่มานั่ง​อยู่​นี่ไม่มีคนหนุ่ม​คนสาว​ มีแต่พวกสว.ทั้งผู้ชาย​ผู้หญิง 

สิ่งหนึ่งที่ต้องกังวลและน่าเป็นห่วง​ที่สุด​ คือ ​เดี๋ยวนี้​อาหารการกิน​ อาหารเสริม​ อาหารบำรุงทั้งหลาย​เป็นมลพิษ​แก่ร่างกาย​ ทำร้าย​ร่างกาย​และทำให้ความเสื่อมในร่างกาย​ถูกเร่งเร้า​ เร่งรัด​ สุดท้ายจะลำบาก​ อายุไม่เท่าไหร่๔๐-๕๐​ ก็หลงๆ​ ลืมๆ  พอ​ ๖๐​ ขึ้น​ไป​ เริ่มลืมเยอะขึ้น​ เริ่มเสื่อม​มากขึ้น พอ​ ๗๐​-๘๐​ กลับบ้าน​ไม่ถูก​ แยกแยะ​ไม่ได้​ จำอะไรผิดๆ 

 เราจะทำอย่างไรให้สมองเราตายช้าลง​ เสื่อมช้าลง​ ชะลอความเสื่อม​ และสามารถ​สร้างความจำ​ ทรงความจำไว้ได้ 

ที่จริง​ความจำ ลืมง่ายเป็นเรื่องดีนะ​ เราไม่ต้อง​ทุกข์​มาก​ แต่ถึงขั้นจำขี้​ จำเยี่ยวไม่ได้​ แยกแยะ​ไม่ถูก​ ไม่รู้ว่ากินข้าว​แล้ว​หรือยัง​ หรือยังไม่กิน​ อันนี้ไม่ดี กลับบ้าน​กลับช่องไม่ถูก​ อันนี้ไม่ดี​ เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียว​ เราจะต้องกลายเป็น​ภาระของลูก​ ของเมีย​ ของผัว​ ของครอบครัว​ ของคนใกล้ชิด​ จะต้องมาไล่ตามหาเราไม่จบสิ้น 

ฉะนั้น​ เราต้องฝึก​ ต้องทำให้​ตัวเรา​สามารถ​พึ่งตัวเราเองได้อย่างสมบูรณ์​ เรียกว่า​ อัตตาหิ​ อัตโนนาโถ​ ตนเป็นที่พึ่งของตน 

ที่จริง​เคยสอนพวกนี้มาเยอะมากแล้ว​ สอนหลายวิธี​สอนทุกกระบวนการ ถ้าเอาไปทำทุกวัน​ ไม่ถึงคำว่า​ เสื่อม​ หรือถ้าเสื่อมก็เสื่อมน้อยมาก​ ต้องใช้เวลา ​และทำให้​ความเสื่อมบรรเทาเบาบางลงได้ในระดับหนึ่ง 

 

เรารู้อยู่​แล้ว​ว่า​ ทุกอย่าง​เป็นอนิจจัง​ เป็นทุกขัง​ เป็นอนัตต​า​ มันไม่​มีอยู่จริง  

แต่เราจะทำ​ให้​อยู่​ได้​แบบชนิดที่​ไม่เพิ่มทุกข์​ได้อย่าง​ไร? 

อันนี้​เป็น​เรื่อง​ที่​เราต้องคิด​ ต้องวิเคราะห์ วันนี้​ เดี๋ยวเรามาฝึก 

(กราบ)​ 

--------- 

ลุกขึ้น​ยืน 

๐ สอนท่ากายบริหาร อิริยาบถบรรพ ป้องกันสมองเสื่อม 

พระพุทธ​เจ้า​ทรง​เรียก​วิธีนี้อยู่ในมหาสติปัฏฐาน​ ๔​ ว่า​ อิริยาบถบรรพ​ กับสัมปชัญญะ​บรรพ​ อยู่ในกายานุปัสสนา​สติปัฏฐาน  

สติปัฏฐาน​ทั้ง​ ๔​ มีกาย​ เวทนา จิต​ และธรรม 

ลองกางปีกดูซิ​ ติดเพื่อนมั้ย ถ้าติดก็ขยับ​ ไม่ต้องไปยืนชิดกัน 

ฝึกให้ ๓ อย่างรวมกัน คือ กาย ลม จิต 

กาย : 

จัดระเบียบ​ลำดับในท่ายืน​ ยืนให้มั่นคง​ ไม่เอน​ ไม่โยก​ ไม่เอียง​ ทิ้งน้ำหนัก​เท้าขวา​ เท้าซ้าย​เสมอกัน​ ลำตัวตั้งตรง​ สายตามองตรง​ ทอดลงต่ำ 

๒​ แขนทิ้งข้างลำตัว 

๐ ลมหายใจ : 

เริ่ม​ หายใจเข้า สังเกตดู​  

  • หายใจเข้า​ ท้องจะป่อง 
  • หายใจออก​ ท้องยุบ 

สัก​ ๕​ ครั้ง​ คือ​ ๕​ คู่​ เข้า-ออก​ นับเป็น​ ๑ 

 

ครบ​ ๕​ ครั้ง ทีนี้ผ่อนคลาย​ 

พร้อม​ เริ่ม 

๑. หายใจเข้า ยกแขนขวาชี้ตรงมาข้างหน้า 

  • ​ ช้าๆ ลมกับแขนพร้อมกัน ยกสุดเสมอไหล่​ คือ​ หายใจเข้าเต็ม​ ชี้ตรง​ ไม่ใช่ยกชูเหนือหู​ เอาแค่เสมอไหล่ 
  • หายใจออก​ ลดลง 

........ 

สลับกัน หายใจเข้า :  เมื่อกี้ขวา มาทีนี้ซ้าย   
เอาสัก​ ๔​ คู่ 

  • ให้ลมกับแขนคล้องจอง​กัน​ พอดีกัน อย่าเร็วเกิน​ อย่าช้าเกิน 

พอเริ่มหายใจเข้า​ เริ่มยกแขน​ ยกสุด​ หายใจเต็ม​พอดี​ หยุด 

ทำ ๔​ คู่​ ๘​ ครั้ง 

  • ทำทุกวัน​ เช้า​ เย็น​ๆ​ : 

อายุมากๆ​ จะช่วยเพิ่มรอยหยักให้สมอง​ เซลล์​สมอง​จะได้ตื่นตัว ไม่อยาก​เป็น​คน​หลงๆ​ ลืมๆ​ ขี้หลงขี้ลืม​ แก้ได้​ ไม่ใช่แก้ไม่ได้ ไม่ปล่อย​ชีวิต​ให้จมปลักไปวันๆ​ ก็สามารถ​ที่จะพยุงมันขึ้น​มา​ได้ 

๒. ครบแล้ว ทีนี้ กางปีก 

  • ยกปีกขวา​ หายใจเข้า 
  • ลดปีกขวาลง​ หายใจออก 

........ 

สลับกัน ขวา แล้วก็มาซ้าย 

๔​ คู่ ซ้าย-ขวา​ นับ​ ๑ 

  • อย่ายกแขนเร็วเกิน อย่ายกช้าเกิน เกินอะไร​ เกินลมไง แขนกับลม​ ต้องพร้อมกัน 

ความขี้หลงขี้ลืมและความเสื่อม​ ไม่ได้มีเฉพาะคนแก่นะ ใครที่รู้ตัว​ว่า​ อายุยังน้อยๆ​ แล้วหลงๆ​ ลืมๆ วิธีเหล่านี้​แก้ได้ ทำได้มากเท่าไหร่​ ความจำเราจะดีมากขึ้น​เท่านั้น​ เป็นทวีคูณ เป็นเงาตามตัว 

อย่าช้าไป​ อย่าเร็วไป 

๔​ คู่​ ก็​ ๘ข้าง 
 

๓. ยกแขนตรงมาข้างหน้า เหนือศีรษะ พร้อมหายใจเข้า   
ลดลง หายใจออก 

อีก​ ๔​ คู่ 

  • เวลาลด​ ยกข้างไหนลดข้างนั้น 
  • สลับ​ ซ้าย​- ขวา 
  • เวลายก​ ​ยกแขนตึงๆ​ ยึดแขนให้สุด มันไปกระตุ้น​หลอดเลือดข้างลำคอซ้าย​ ขวา​ที่ไป​เลี้ยง​สมอง​ ทำให้ความดันของ​เลือดสูบฉีด​ไปเลี้ยงสมองได้ดี 
  • ถ้ายกแขนไม่สุด​ หลอดเลือด​ข้างลำคอก็ไม่ได้รับการกระตุ้น 

ทำบ่อยๆ เช้า-เย็น เราจะรู้สึกสมองเราโล่งขึ้น 

๔. สลับปีก 

  • ยกปีก​แขนขวายก​ ด้านข้างจนกระทั่ง​แขนแนบหู​ เฉพาะข้างเดียว 
  • ลดปีกขวาลง 
  • สลับ​ ยกปีกซ้ายตามพร้อมลมหายใจ​ด้วย อย่าเอาแต่ยกแล้วไม่มีลม 

เวลายกปีก​ ให้ปีกแนบหู​ ให้ต้นแขนแนบหู​ ไม่ใช่เอียงคอมาแนบ 

๔​ คู่​ เหมือน​กัน 

๕. ยก แขนชี้ตรงมาข้างหน้า เสมอไหล่ พร้อมลมหายใจเข้า 

  • ลดลง​ หายใจออก   
    อีก​ ๔​ คู่ 
  • อย่าลืมลม ลมต้องพร้อมแขน เริ่มยกก็เริ่ม​หายใจ 
  • ลดลง​ หายใจออก 

๖. ยกปีก ซ้าย-ขวา เสมอไหล่ อีก คู่ 

อย่าเร็วเกิน​ อย่าช้าเกิน​ ให้พอดีกับลม 

๗. ยก แขนชี้ตรงมาข้างหน้าเหนือศีรษะ 

ลดลงมาข้างหน้า​ อีก​ ๔​ คู่ 

  • ยืดแขนให้ตรง​ ให้แขน​ ๒​ ข้างแนบหู​ เพื่อกระตุ้น​หลอดเลือด​ข้างลำคอซึ่งมีหลอดเลือด​ใหญ่ไปเลี้ยงสมอง 

ครบ​ ๔​ คู่ 

๘. ยกปีกข้าง ซ้าย - ขวาเหนือศีรษะพร้อมลมหายใจ 

อย่าเร็วเกิน​ อย่าช้าเกิน แขนเหยียดตึง 

ร้อนใช่มั้ย พัก​ เอาน้ำแจก​ ดื่มน้ำทุกคน​ หาน้ำดื่ม 

ลุกขึ้น​ยืน​ ทำขั้นต่อไป เมื่อกี้แค่วอร์มๆ​ เบื้องต้น ขั้นพื้นฐาน​เมื่อครู่นี้​ทำได้ทั่วๆ​ ไป​ ไม่ต้องใช้พลังแห่งสัมปชัญญะ​ คือ​ปัญญา 


 
แต่ขั้นต่อไปนี้ จะใช้พลังแห่งสัมปชัญญะ คือ ปัญญา เพื่อกระตุ้นให้เซลล์สมองทั้งหลายตื่นตัว ค่อยข้างจะยากหน่อย 

เริ่ม 

  • หายใจเข้า​ ยกแขนขวาชี้ตรงมาข้างหน้า 
  • หายใจออก​ ลดลง 
  • แขนซ้าย​ หายใจเข้า 
  • อ​อก​ ลดลง 

๐ หายใจเข้า ชี้ แขนตรงมาข้างหน้า 

  • ออก​ วาด​ ๒​ แขนไปอยู่ที่ปีกซ้าย​ –​ ขวา 
  • เข้า​ ลดลง 
      

๐ หายใจเข้า กางปีก ข้างเสมอไหล่ 

  •   ออก​ วาดปีกชี้ตรงมาข้างหน้า 
  •   เข้า ลดลง 

๐ ออก กางปีก ข้างเสมอไหล่ 

  •   เข้า​ ชี้แขน ๒ ข้างตรงมาข้างหน้า 
  •  ออก​ ยกเหนือศีรษะ 
  •  เข้า​ ลดปีก​ ๒​ ข้างลง          
  • หายใจเข้า​ ชี้แขน​ ๒​ ข้างตรงมาข้างหน้า 
  • ออก​ กาง​ ๒​ ปีก 
  • เข้า​ ลดลง 

ผ่อนคลาย 

เริ่ม 

๐ หายใจเข้า กาง ปีกเสมอไหล่ 

  •  ออก​ ชี้ตรงมาข้างหน้า 
  •  เข้า​ ยกเหนือ​ศีรษะ 
  • ออก​ ลด​ ๒​ ปีก​ ลง 

๐ หายใจเข้า ยก แขนชี้ตรงมาข้างหน้า 

  • ออก​ กาง​ ๒​ ปีก 
  • เข้า​ เหนือศีรษะ 
  • ออก​ ชี้ตรงมาข้างหน้า 
  • เข้า​ กาง​ ๒​ ปีก 
  •  ออก​ ลดลง 

เริ่มยุ่ง​ แขนเริ่มพันกันจะซับซ้อน​ขึ้น​เรื่อยๆ 

ใช้ "สมอง"ในการกำกับควบคุมกาย 

ใช้ "จิตและสติ"ในการกำกับควบคุมลมกับกายให้ประสานกัน 

เตรียม​พร้อม : 

  • หายใจเข้า​ กาง​ ๒​ ปีกเสมอ​ไหล่ 
  • อ​อก​ ชี้ตรงมาข้างหน้า 
  • เข้า​ เหนือศีรษะ 
  • ออก​ ลด​ ๒​ ปีก​ ลง 
  • เข้า​ ชี้ตรง​ ๒​ แขนข้างหน้า 
  • ออก​ กาง​ ๒​ ปีก 
  • เข้า​ เหนือศีรษะ 
  • ออก​ ชี้​ ๒​ แขนตรงมาข้างหน้า 
  • เข้า​ กาง​ ๒​ ปีก 
  • ออก​ ลดลงข้างลำตัว 
  • หายใจเข้า​ กาง​ ๒​ ปีกเหนือศีรษะ 
  • ออก​ ลด​ ๒​ แขนชี้ตรงมาข้างหน้า 
  • เข้า​ กาง​ ๒​ ปีก 
  • ออก​ ยก​ ๒​ แขนเหนือ​ศีรษะ 
  • เข้า​ ลด​ ๒​ ปีก​ ลงข้างลำตัว 
  • หายใจเข้า​ ยก​ ๒​ ปีกเสมอไหล่ 
  • ออก​ แขนขวาชี้บน​ แขนซ้ายชี้ตรงมาข้างหน้า 
  • เข้า​ ลดแขนขวาลงเสมอไหล่ 
  • ออก​ กางปีกซ้าย 
  • เข้า​ ชี้แขนขวามาข้างหน้า 
  • ออก​ ยกแขนซ้ายเหนือศีรษะ 
  • เข้า​ ลดแขนขวาลงข้างลำตัว 
  • อ​อก​ ลดแขนซ้ายลงข้างลำตัว 

เริ่มพันกันแล้วใช่มั้ย 

ลมกับแขน เสมอกันมั้ย 

จิตรวมตัวได้ดีมั้ย 

ยังง่วงอยู่มั้ย 

ยังมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในความง่วงมั้ย 

เอาใหม่​ เตรียมพร้อม 

  • หายใจเข้า​ กาง​ ๒​ ปีกเสม​อไหล่ 
  • หายใจออก​ ไพล่​ ๒​ ปีก​ ชี้ตรงมาข้างหน้า 
  • หายใจเข้า​ ยกเหนือศีรษะ​ แขนชิดหู 
  • ออก​ ลด​ ๒​ ปีกลง​ ให้หลังมือแนบข้างลำตัว​ หลังมือต้องแนบข้างลำตัว​ ใช้หลังมือแนบข้างลำตัวให้ได้ 
  • หายใจเข้า​ เอื้อมมือไปไขว้ประสานกันข้างหลัง 
  • หายใจออก​ ก้มคอ​ คางติดอก.. ไม่ใช่ก้มตัว​ ก้มคอ​ คางติดอก 
  • หายใจเข้า​ เงยคอขึ้น​ ยกแขนสูงทั้งๆ​ ที่มือยังประสานกันอยู่..ยกสูงๆ​ เงยคอขึ้น​ ยกแขนสูงๆ 
  • หายใจออก​ ผ่อนคลาย​  แขน​ ๒​ ข้างอยู่ข้างลำตัว 

พัก​ ให้น้ำอีกรอบแล้วกัน 

มันดีต่อสุขภาพ ดีต่อเส้นเอ็น พังผืด ดีต่อข้อกระดูก ดีต่อสมอง และดีต่อสภาพจิตที่ตั้งมั่นได้ง่าย 

 

๐ ท่านั่ง 

ทีนี้​นั่งขัดสมาธิ​กับพื้น​ได้มั้ย​ ใครไม่ได้ก็นั่งบนเก้าอี้ได้ 

  • เอามือเท้าที่หัวเข่า​ ๒​ ข้าง ง 
  • หายใจเข้า​ เหมือน​เดิม​ ท้องป่อง 
  • หายใจออก ก้มตัวไปข้างหน้า​ เหยียดแขนไปให้ตึง​ เสือก​แขนไปข้างหน้ามากๆ​ ก้มลงจนหน้าผากติดพื้น​ ก้มไปเยอะๆ​ ให้หน้าผากติดพื้น 
  • หายใจเข้า​ เงยคอ  มองข้างบน​ แขนยังอยู่ข้าวหน้า​ เหลือกตาสูงๆ​ มองเพดาน​ คอตั้งบ่า​ ยังก้มตัวอยู่ 
  • หายใจออก​ กลับมาตรง 

สลับขา : ขาล่าง เอาไว้บน ขาบน เอาไว้ล่าง 

  • สูดลมหายใจ​เข้า​ ท้องป่อง​ มือเอาไว้ตรงไหน 
  • หายใจ​อ​อก​ ก้มตัวลงไปข้างหน้า​ เสือกแขนไปเยอะๆ​ ตึงตะโพก​ ใช่มั้ย ตึง​อีกข้างหนึ่ง​ จะทำให้ปวดหลัง​ หน้าผากแนบพื้น 
  • หายใจเข้า​ เงยคอ ยังไม่ต้องเงยตัว​ ตา​เหลือกมองเพดาน 
  • อ​อก กลับมาตรง 

เหยียดขาขวามาข้างหน้า ขาซ้ายทับขาขวา 

  • แขน​ ๒​ ข้างเท้าไปข้างหลัง​ นั่งให้ผ่อนคลาย​ให้สบาย​ อย่าลำบากลูก​ ที่นี่เขาสอนสบายๆ​ ไม่ลำบาก 
  • ขาซ้ายทับขาขวา​ เหนือเข่า​ ใกล้ๆกับตะโพก 
  • ก้มตัวลง​ เอามือ​ ๒​ ข้างจับปลายเท้า​ ดึงปลายเท้าเข้าหาลำตัว​ ก้มลงเยอะๆ​ แขนตึง​ ดึงปลายเท้า​ ดึงๆ ตึงตะโพกมั้ย ก้มลงไป 
  • กลับไปข้างหลัง​ เอามือเท้าหลัง​ ผ่อนคลาย 

สลับขา 

  • สูดลมหายใจ​เข้า 
  • หายใจออก​ ก้มตัวลง​ เหมือนเดิม​ ดึง 
    ขาข้างนี้ทำไมยาวเหลือเกิน​วะ​ มือกูเอื้อมไม่ถึงให้รู้ไว้แสดงว่า​ มึงกำลังพิการถ้ามึงดึง​ ๒​ ข้างไม่เท่ากัน ถ้าไม่อยากพิการ​ ต้องเอื้อมให้ถึง​ ดึงให้ได้ 
  • ดึงมาแล้วก้มตัวลง​ ก้มหน้าลง  ไม่ได้ดึงตาตุ่ม​ ดึงปลายเท้า​ ดึง​ ดึง​ ดึงค้างไว้ 

 

พอ ผ่อนคลาย 

  • เอามือเท้าข้างหลัง​ เหยียด​ขา ๒​ ข้าง​เอนตัวไปด้านหลัง 

เอาฝ่าเท้า ข้างประกบกัน แล้วดึงเข้าหาตัว ข้อศอกดันหน้าขา ก้มตัวลง หน้าผากแนบหัวแม่โป้ง  

  • ดึงเข้ามาเยอะๆ​ ให้ส้นเท้า​เข้ามาชิดลำตัว​ ดึงส้นเท้า​เข้ามาเยอะๆ จะช่วยยืดเส้นหลัง​ ไม่ทำให้หลังเราตึง จะลดอาการปวดเมื่อย​กล้ามเนื้อ​หลัง​ สะโพก​ บ่า ไหล่​ 
  • ก้มไว้ก่อน​ ยังไม่ได้ให้เงยหน้า.. 

พอ/พัก : 

  • เหยียด​ ๒​ แขน​ เท้าข้างหลัง​ เอนตัวไปข้างหลัง​ เหยียดขา​ มือเท้าให้ดีพอกับสะโพก​ ทิ้งคอไปข้างหลัง​ 

เกร็งท่อนขา หน้าท้อง ยกสะโพกขึ้น ทิ้งคอไปข้างหลัง  
ดื่มน้ำๆ​  พอๆ 

ทีนี้ นั่งขัดสมาธิ 

  • แขนไขว้ไปข้างหลัง​ ฝ่ามือประสานกันหายใจเข้า 
  • หายใจออก​ ก้มลง​ ยกแขนสูงๆ​ หน้าผากแนบพื้น 

พอ 

เอาเข่า ข้างไขว้กัน ให้แนวเข่าตรงกัน เข่าล่างตรงกับเข่าบน ส้นเท้าอยู่ข้างสะโพก​ 

  • ให้แนวเข่าตรงกันให้ได้​ ส้นเท้า​ ๒​ ข้างอยู่ข้างสะโพก​ แล้วก้มลง​.. ก้มลงเยอะๆ​ เหยียดแขน​ ๒​ ข้างออกไปข้างหน้า​ จะไปยากเย็น​อะไร 
  • สลับขา ให้เข่าตรงกัน​ ส้นเท้า​อยู่ข้างตะโพก​ ก้มลง​ เหยียดแขน​ ๒​ ข้างไปข้างหน้า 

นั่งพับเพียบ ขาขวาทับขาซ้าย ส้นเท้าข้างหนึ่งไปข้างหลัง แล้วบิดตัวไป​ 

  • ข้างไหนที่ส้นเท้า​ไปข้างหลัง​ บิดตัวไปหา 
  • สลับกัน แล้วบิดตัวไป 
  • กลับมาตรง 

ทำแล้วจะเบาหลัง ตั้งแต่สะโพกขึ้นไปจนถึงบ่าจะเบาลง 

ให้น้ำ..​ หาน้ำมาดื่ม ยึดเส้นยึดสาย​ ต้องมีน้ำหล่อ​เลี้ยง​ น้ำดื่มเยอะๆ​ ยากินให้น้อย น้ำเปรียบ​เหมือน​ยา​ เหมือนโอสถ​ ดื่มให้มากๆ​ คนอายุมากขี้เกียจ​เยี่ยว​ เลยกินน้ำน้อย​ ตับ​ ไต​ วายหมด หยิบน้ำไปแจกกัน 

จะ​ ๔​ โมงแล้ว​ ยังไม่ได้ปฏิบัติ​ธรรม​อะไร​เลย​ มัวแต่ยืดเส้น​ยืด​สาย 

๐ เจริญจิตภาวนา 

มาเจริญ​จิตภาวนากันหน่อย​ นั่งอยู่อย่างนี้แหละ  

ให้กายกับใจรวมกัน 

ไม่ต้องคิดอะไร​ ไม่ต้องตรึก​ นึกอะไรทั้งนั้น 

ใจรวมอยู่กับกาย กายอยู่กับใจ  
อยู่​ตั้งแต่​หัวจรดปลาย​เท้า 

  • ใจอยู่ที่กลางกระหม่อม 
  • ใจอยู่ที่กะโหลก​ศีรษะ 
  • ใจอยู่​ที่ต้นคอ 
  • ใจอยู่​ที่บ่า 
  • ใจอยู่​ที่​ไหล่ 
  • ใจอยู่​ที่​ท่อนแขน 
  • ไล่ไปทีละจุด ตั้งแต่บนลงล่าง หัวจรดปลายเท้า 
  • ให้​ "ใจ" ไปตั้งอยู่​ตามจุดต่างๆ​ ในร่างกาย 

ให้จิตกับกายรวมกัน เรียกว่า กายรวมใจ 

  • ไล่ไปเรื่อยตั้งแต่กลางกระหม่อม กะโหลก​ศีรษะ​ด้านหลัง  
    ใจอยู่ที่ต้นคอด้านหลัง  อยู่ที่บ่า อยู่​ที่​หัวไหล่​ ๒​ ข้าง 
  • ใจอยู่​ที่​แขนด้านบน​ ๒​ ข้าง ใจอยู่​ที่​ข้อศอก​ ๒​ ข้าง ใจอยู่​ที่​ท่อนแขนด้านล่าง​ ๒​ ข้าง 
  • ใจอยู่​ที่​ข้อมือ​ ๒​ ข้าง ใจอยู่​ที่​ฝ่ามือ​ ๒​ ข้าง ใจอยู่ที่นิ้วทั้ง​ ๑๐ 
  • ใจอยู่​ที่​หลังมือ ข้อมือ​ ท่อนแขน​ ข้อศอก​ ท่อนแขนด้านบน​ 
  • ไหล่​ ๒​ ข้าง​ บ่า​ สะบัก​ ๒​ ข้าง​ แผ่นหลัง​ ลงไปที่สะโพก​ก้น 
  • ท่อนขาด้านบน​ ข้อพับ​ หัวเข่า​    
  • ท่อนขาด้านล่าง​ ข้อเท้า​ ส้นเท้า​ ฝ่าเท้า​ ๒​ ข้าง​ นิ้วทั้ง ๑​๐​  
  • หลังเท้า​ ข้อเท้า​ หน้าแข้ง​ หัวเข่า​ ท่อนขาด้านบน​   
  •  เอว​ ท้องน้อย​ ใต้สะดือ​ เหนือสะดือ​ ช่องท้อง​ ซี่โครง​ ลิ้นปี่​ ทรวงอก​ ไหปลาร้า​ ลำคอ​  
  • กรามซ้าย-ขวา​ คาง​ ริมฝีปาก​บน​ กระพุ้งแก้ม​ จมูก​ เบ้าตา​ โหนกคิ้ว​ หว่างคิ้ว​ หน้าผาก​ กลางกระหม่อม​ 

 
๐ ขั้นต่อมา ผ่อนคลาย 
ผ่อนคลาย​ คือ​ การวางทุกอย่าง วางกาย วางอารมณ์ วางการยึดถือ  
ขั้นนี้เรียกได้อีกอย่างว่า ขั้นเตรียมตัวตาย พร้อมตาย 

ถ้าตายด้วยอารมณ์​ผ่อนคลาย​แบบนี้​ ความสงบ​ ระงับ​ สุคติภพก็เกิดขึ้น​ ตรงกับคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า​ จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา​ ก่อนตายจิตไม่เศร้าหมอง​ ไปสู่สุคติ 

วิชาปราณโอสถ  นอกจากทำให้มีชีวิต​อยู่​อย่าง​ที่ทุกข์​น้อย​ เวลาตายก็ผ่อนคลาย​ได้ด้วย​ ไม่ต้องไปอยู่ในทุคติภพได้ด้วย 

 พระโพธิสัตว์จึงมีอำนาจเลือกเกิดได้ด้วยวิชาปราณโอสถ 

สมองผ่อนคลาย ร่างกาย​ผ่อนคลาย 

จิตใจ​ผ่อนคลาย 

อารมณ์​ผ่อนคลาย 

ทุกอย่าง​ในร่างกาย​ผ่อนคลาย​หมด 

"ผ่อนคลาย" จนถึงขั้นคำว่า​ ลหุตา​ คือ​ ความเบา​ เบากาย​ เบาใจ​ เบาอารมณ์ 

 กลับมาดูลมหายใจ 

หายใจเข้า​ ภาวนา​ว่า​ สัตว์​ทั้งปวง​จงเป็น​สุข 

หายใจออก​ ภาวนา​ว่า​ สัตว์​ทั้งปวง​จงพ้นทุกข์ 

แหล่งข้อมูล

หลวงปู่พุทธะอิสระ.  (๒๕๖๖).  ปฏิบัติธรรม  อิริยาบถบรรพ และสัมปชัญญะบรรพ เพื่อชะลอความเสื่อมของสมองต่อด้วยวิชาปราณโอสถ ขั้นกายรวมใจ และขั้นผ่อนคลาย ใน

     ปราณโอสถ: กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม, (น.๒๔๓ - ๒๕๙). นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.

หลวงปู่พุทธะอิสระ แสดงธรรม และปฏิบัติธรรม วิชาปราณโอสถเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เพื่อถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ

     พระบรมราชชนนีพันปีหลวง วันเสาร์ที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๖๕ ช่วงเช้าหลวงณ วัดอ้อน้อย (ธรรมอิสระ) อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม, สืบค้น มีนาคม ๒๕๖๗ จาก 

     https://www.facebook.com/issaradham/videos/472821777649831

หลวงปู่​พุทธะอิสระ แสดงธรรม ช่วงเช้าเนื่องในวันแม่แห่งชาติ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๕, สืบค้น มีนาคม ๒๔๖๗ จาก

     https://www.facebook.com/watch/?v=454860123203220

Qr Code

31 | 13 สิงหาคม 2024, 16:00
บทความอื่นๆ