บทที่ ๑๓ สรุปย่อวิชาปราณโอสถ
ปราณโอสถ กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม
ชื่อเรื่อง สรุปย่อวิชาปราณโอสถ
สาระสังเขป
สรุปการฝึกปราณโอสถ ปราณโอสถ คือ วิชาที่บรรดาเหล่าพระโพธิสัตว์ใช้อบรมสั่งสอน สืบต่อเพื่อฝึกหัดปฏิบัติ ใช้รักษาธาตุขันธ์ให้แข็งแรงทั้งกายและจิตใจ การฝึกมีห้าขั้นตอน ขั้น ๑ กายรวมใจ ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย ขั้นที่ ๓ รู้ลม ขั้นที่ ๔ ตามดูลม และขั้น ๕ เข้าสู่นิมิต วิธีการแปลงวิชาปราณโอสถมาเป็นการเจริญวิปัสสนา วิถีจิต
เนื้อหา
ปราณโอสถคืออะไร
ปราณโอสถ คือ วิชาที่บรรดาเหล่าพระโพธิสัตว์ใช้อบรมสั่งสอน สืบต่อ ส่งมอบให้กับบรรดาท่านผู้เป็นหน่อเนื้อพุทธางกูร เพื่อฝึกหัดปฏิบัติ ใช้รักษาธาตุขันธ์ให้แข็งแรงทั้งกายและจิตใจด้วยมุ่งหมายจะดำรงอยู่เพื่อสั่งสมทศบารมีทั้ง ๑๐ ให้บริบูรณ์
ปราณโอสถฝึกอย่างไร
ขั้นที่ ๑ บุพกิจเบื้องต้นของวิชาปราณโอสถต้องเริ่มด้วย กายรวมใจ อย่างแนบแน่น ยั่งยืน
ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย ทำให้กล้ามเนื้อและอวัยวะทุกส่วนในร่างกาย และจิตใจผ่อนคลาย
ขั้นที่ ๓ รู้ลมหายใจ เข้าและออกอย่างจับจ้อง จริงจัง
ขั้นที่ ๔ ตามดูลม ตามจุดต่าง ๆ
ขั้นที่ ๕ เข้าสู่นิมิต เห็นลมเดินตามท่อ
-------------------------------------
ขั้น ๑ กายรวมใจ
ให้ "ใจ" ไปตั้งอยู่ ตามจุดต่างๆ ในร่างกาย
ให้จิตกับกายรวมกัน เรียกว่า กายรวมใจ
ไล่ไปเรื่อยตั้งแต่กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ใจอยู่ที่ต้นคอด้านหลัง อยู่ที่บ่า อยู่ที่หัวไหล่ ๒ ข้าง ใจอยู่ที่แขนด้านบน ๒ ข้าง ใจอยู่ที่ข้อศอก ๒ ข้าง ใจอยู่ที่ท่อนแขนด้านล่าง ๒ ข้าง
ใจอยู่ที่ข้อมือ ๒ ข้าง ใจอยู่ที่ฝ่ามือ ๒ ข้าง ใจอยู่ที่นิ้วทั้ง ๑๐
---------------
ใจอยู่ที่หลังมือ ข้อมือ ท่อนแขน ข้อศอก ท่อนแขนด้านบน ไหล่ ๒ ข้าง บ่า สะบัก ๒ ข้าง แผ่นหลัง ลงไปที่สะโพกก้น ท่อนขาด้านบน ข้อพับ หัวเข่า ท่อนขาด้านล่าง ข้อเท้า ส้นเท้า ฝ่าเท้า ๒ ข้าง นิ้วเท้าทั้ง ๑๐
------------------
หลังเท้า ข้อเท้า หน้าแข้ง หัวเข่า ท่อนขาด้านบน เอว ท้องน้อย ใต้สะดือ เหนือสะดือ ช่องท้อง ซี่โครง ลิ้นปี่ ทรวงอก ไหปลาร้า ลำคอ กรามซ้าย-ขวา คาง ริมฝีปากบน กระพุ้งแก้ม จมูก เบ้าตา โหนกคิ้ว หว่างคิ้ว หน้าผาก กลางกระหม่อม สำรวจดูให้ชัด แล้วผ่อนคลาย
---------------
สรุปขั้นที่ ๑
- วิธีรวมกายรวมใจ คือ สำรวจตั้งแต่หัวจรดปลายเท้าให้ชัดเจน
-ไล่ย้อนขึ้น-ย้อนลงๆ ให้ช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญจน "จิต"ตั้งมั่นอยู่ใน"กาย"โดยรวมทั้งหมด ไปทีละจุด ช้าๆ ขัดๆ
- ประคองจิตไว้อย่าให้กระเพื่อม ตั้งมั่น รู้อยู่เฉพาะภายในกาย
- รักษาจิตอย่าให้หลุดออกนอกกาย "จิตรวมกาย" แบบไม่มีงานทำ แบบเฉยๆ ว่างๆ ไม่ต้องคิดอะไร รู้อยู่ ภายในกาย (ยืน เดิน นั่ง นอน)
-------------
ขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย
ผ่อนคลาย ระบบประสาท สมอง ระบบกล้ามเนื้อ
ผ่อนคลาย ข้อกระดูก เส้นเอ็น พังผืด
ผ่อนคลายอารมณ์ จิตใจ
ทำทุกอย่าง ผ่อนคลาย โดยไม่ต้องออกจาก กาย
-อยู่กับความผ่อนคลายโดยไม่มีความคิดใดๆ เข้ามาแทรก
สำรวจดูตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ตรงไหนขมึงทึงตึงเครียด
โดยภาพรวมต้องผ่อนคลายตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า
-ผ่อนคลาย เราจะรู้ได้อย่างไร เมื่อใดที่เรารับรู้ได้ว่า
สมองของเราโล่ง อารมณ์ ว่าง จิตใจวาง
เกิดลหุตา คือ ความเบาสบาย
นั่นแหละเรียกว่าเราเข้าถึงกระบวนการผ่อนคลาย
-ปราณโอสถที่แท้จริง ยิ่งอยู่กับความผ่อนคลายได้นานเท่าไหร่ ปราณสะอาด ที่ไม่เร้าร้อนที่ไม่ทิ่มแทง ไม่เสียดแทงจะเกิดมากขึ้น จึงจะเป็นปราณโอสถที่แท้จริง
-อยู่กับความผ่อนคลายให้นานที่สุดโดยไม่ปรากฏอาการถีนมิธะ ความง่วงเหงาหาวนอน
-------
ขั้นที่ ๓ รู้ลม
ดูที่ลม รู้อยู่ แค่ปลายจมูกกับกองลมที่เข้าและออก
ลมเข้าอยู่.. รู้ ลมออกอยู่ .. รู้
เข้ายาว.. รู้ ออกสั้น.. รู้
เข้าสั้น.. รู้ ออกยาว.. รู้
ยังไม่ตามดูลม รู้แค่ลมเข้าและออกเฉยๆ
- สามารถทำขั้นที่ ๑-๓ (กายรวมใจ และผ่อนคลาย รู้ลม) ทีละขั้นตอนให้ชัดเจน แนบแน่น ตั้งมั่น เกิดพลัง
-เมื่อเห็นลมที่เข้าและออกชัดเจน ไม่ซัดส่าย ไม่ขาดเกิน ขยับขึ้นขั้นที่ ๔
ขั้นที่ ๔ ตามดูลม
ตามดูลมหายใจเข้าและออกผ่านจุดต่าง ๆ ของร่างกาย
-กระบวนการหายใจดังกล่าวมานี้ หากไม่มีกายรวมใจ ไม่เข้าถึงความผ่อนคลายให้ชำนาญแต่เบื้องต้น ไม่ทำความรู้จักลมหายใจของตนให้ถ่องแท้ ชัดเจนแล้ว พอมาถึงขั้นตามดูลมจะทำไม่ได้ หรือได้ก็จะเหนื่อยมาก
-ตามดูลมหายใจเข้าและออกผ่านตามจุดต่างๆ ดังกล่าวของร่างกาย จนคล่องแคล่ว ชำนาญ อย่างผ่อนคลายแล้ว ก็เริ่ม เดินลมย้อนกลับเข้าปาก
- ฝึกจนหายใจเข้าและออกทั้งเดินหน้าและย้อนกลับจนช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญ
ขั้น ๕ เข้าสู่นิมิต
๐ สังเกตตามดูแต่ละจุดที่ลมผ่านให้ชัดเจน
ไม่ต้องไปสนใจ ใส่ใจต่ออาการใดๆ หรือสภาพใดๆ ที่เกิดขึ้น
ตามดู ตามสังเกตแต่ละจุดเฉพาะที่ลมผ่านเท่านั้น
( ฝึกขั้น ๑-๔ แต่ละขั้นให้สมบูรณ์ แจ่มแจ้ง ชัดเจนก่อน จนกระทั่งเราสามารถควบคุม "ลม" ให้ได้ก่อน สำคัญที่สุด ถ้าคุม"ลม"ไม่ได้.. "นิมิต" ที่เห็นก็เหมือนกับพยับแดดที่เกิดแล้วดับ ไม่คงที่ จะไม่เป็นพลัง ไม่เป็นปราณ )
-เห็นนิมิตในลมที่เดินตามจุดสำคัญของร่างกายตามกระบวนการ
- ทำต่อไปให้ลมกระจายไปทั่วข้อกระดูกทุกข้อ นั่นแหละคือ ขั้นที่ ๕ ขั้นเข้าสู่นิมิต
- ให้จำแนก "ลม" ให้ไปสู่ไขกระดูกทุกข้อ เซลล์กระดูกทุกเซลล์ให้ได้ จึงจะครบกระบวนการของขั้นที่ ๕
-ที่จริงคำว่าเข้าสู่นิมิต ไม่ต้องมีคำสอน ทำขั้นแรกจนถึงขั้นที่ ๔ ให้สมบูรณ์ แล้วเดี๋ยวขั้นที่ ๕ จะปรากฏขึ้นเอง
---------------
๐ วิธีการแปลงวิชาปราณโอสถมาเป็นการเจริญวิปัสสนา วิถีจิต
วิธีจะเข้าสู่วิปัสสนา
มีหลักอยู่ว่า วาง ว่าง ดับ เย็น หลังจากทำขั้นที่ ๒ ผ่อนคลาย ก่อนขั้นรู้ลม
ดูว่า :
จิต มีกุศลหรืออกุศล
จิต มีบุญหรือมีบาป
จิต มีราคะหรือไม่มีราคะ
จิต มีโทสะหรือไม่มีโทสะ
หรือมีอารมณ์ใด ๆ แฝงอยู่หรือไม่
รักษาความสงบจิตที่ไม่กระเพื่อม เคลื่อนไหวกายอย่างอิสระ ไม่ถูกอารมณ์ใดๆ ครอบงำได้
ยืนก็เป็นอิสระ นั่งก็เป็นอิสระ นอนก็เป็นอิสระ เดินก็เป็นอิสระ
จิตสะอาด “สงบ"อย่างเป็นผู้ตื่นรู้ ไม่ใช่สงบแล้วไม่รู้
แหล่งข้อมูล
หลวงปู่พุทธะอิสระ. (๒๕๖๖). สรุปย่อวิชาปราณโอสถใน ปราณโอสถ: กายรวมใจ รักษาใจไม่ให้กระเพื่อม,
(น.๒๙๑ - ๒๙๙). นครปฐม: มูลนิธิธรรมอิสระ.
หลวงปู่พุทธะอิสระ เจริญพุทธมนต์ และปฏิบัติธรรม ช่วงเย็น วันเฉลิมพระชนมพรรษาฯ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕,
สืบค้น เมษายน ๒๕๖๗ จาก https://www.facebook.com/issaradham/videos/1547664292413949