แสดงธรรมภาคเช้า
วันที่ 19 กรกฎาคม 2551
เมื่อเช้าสวดมนต์อยู่ที่ลานโพธิ์ สวดไปๆใกล้จะจบ หลับตาสวดมนต์อยู่ไฟมันลุกที่ต้นโพธิ์ ลืมตามันไม่ใช่ไฟมันเป็นดวงไฟลอยขึ้นข้างบน นับได้ประมาณสักเจ็ดดวง เทวดาฟังสวดมนต์ ลูกหลานสวดมนต์ก็ให้รู้จักเชิญเทวดามาฟัง ชุมนุมเทวดา เทวดาเขาก็อยากสวดมนต์เหมือนกัน เรื่องสวดมนต์เรื่องทำบุญเทวดาคิดทำเองไม่ได้ เพราะว่ากว่าจะไปเป็นเทวดาแต่ละชั้นๆ ภุมเทวดาจนถึงจาตุมหาราชิกา เรียกว่าชั้นต่ำสุด เทวดาชั้นนี้ส่วนใหญ่อยู่ใกล้ชิดชาวบ้าน ใกล้ชิดสรรพสัตว์ ใกล้ชิดกับโลก ไม่ว่าจะเป็นภุมเทวดา อากาศเทวดา จาตุมหาราชิกา พวกนี้เวลาทำบุญอะไรมาก็จะได้อานิสงส์ผลบุญนั้นมาเกิดเป็นอากาศเทวดา เป็นภุมเทวดา เป็นบริวารของท้าวจาตุมหาราช เรื่องที่จะไปคำนวณระลึกนึกถึงคิดทำเอง จะรักษาศีล สวดมนต์ เจริญภาวนาเองไม่ได้ มนุษย์ทำอย่างไรเทวดาพวกนี้ก็จะทำอย่างนั้น ถ้ามนุษย์มีใจอาทรเวลาทำดีก็ชวนเขามาทำ เทวดาพวกนี้ก็จะเป็นมิตร แต่ถ้าสูงไปจากชั้นจาตุมหาราชิกา พวกนี้จะไม่ค่อยมายุ่งกับมนุษย์ ชั้นจาตุมเป็นชั้นของท้าวจาตุมหาราชทั้งสี่เป็นผู้ปกปักอภิบาลรักษาโลกและมนุษย์ จะดูแลสุขทุกข์มนุษย์ เฝ้ารักษาพระพุทธศาสนาในทิศทั้งสี่ ถ้าสูงขึ้นไปก็เป็นชั้นดาวดึงส์ พวกนี้ค่อนข้างติดสุข ไม่ค่อยสนใจมนุษย์ กว่าจะสนใจ กว่าจะรู้สึกได้ก็ต้องให้ที่นั่งร้อนแบบพระอินทร์ ทำบุญสุนทาน สวดมนต์ เจริญภาวนา แผ่เมตตาก็ชวนเขาทำบ้าง เราจะได้มีกัลยาณธรรมกัลยาณมิตร เวลาจะไปไหนมาไหน เป็นอยู่อย่างไรเขาจะได้อภิบาลปกปักรักษาเรา ต่ำจากชั้นจาตุมลงไปก็เป็นพวกภุมเทวดา อากาศเทวดา รุกขเทวดา พวกนี้ก็จะเป็นบริวารของท้าวจาตุม พวกรุกขเทวดาก็อาศัยตามต้นไม้ ภุมเทวดาอาศัยตามภาคพื้นปฐพี ตามจอมปลวก ตามศาลเพียงตา ศาลพระภูมิ เจ้าที่ หรือเจ้าที่เจ้าทาง เจ้าป่า เจ้าเขาอะไรอย่างนี้ อากาศเทวดาก็ลอยไปในอากาศไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ลอยไปเรื่อยในนภากาศ พวกนี้จะมีชีวิตความเป็นอยู่คล้ายกับมนุษย์ มีช้าง มีม้า มีวัว มีควาย เขาเรียกอากาศจารีก็คืออากาศที่จาริกไปเรื่อยๆ บางตนก็ขี่ช้าง ขี่ม้า ขี่วัว ขี่ควาย ซึ่งเป็นทิพย์ พวกอากาศเทวา พวกนี้เป็นบริวารของท้าวมหาราชทั้งสี่ เวลาเราทำอะไรก็อุทิศผลบุญให้บ้าง ชวนเขามาทำบ้าง ให้เขาได้ร่วมอนุโมทนาแสดงความยินดีกับเราบ้าง กับจะเป็นเรื่องดี วันนี้มันเป็นวันแรกของฤดูพรรษาก็ต้องสวดมนต์ให้กับต้นศรีมหาโพธิ์
ปุจฉา วิธีตามดูใจตัวเองให้ทันทำอย่างไร
วิสัชนา ตามดูใจตัวเองก็มีสติให้มากๆ กำหนดให้มีตัวรู้เฉพาะอยู่ตลอดเวลา เราก็จะรู้ว่าอะไรมันเกิดขึ้น เหตุปัจจัยที่เกิดมันเป็นเหตุแห่งทุกข์หรือสุข เป็นโทษหรือไม่เป็นโทษ เป็นประโยชน์ หรือไม่เป็นประโยชน์ ใหม่ๆก็ดูแค่นี้ก่อนว่าเป็นประโยชน์หรือไม่เป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ก็รับเอาเข้ามาไม่เป็นประโยชน์เป็นโทษก็อย่ารับ เอาแค่วิเคราะห์แบบนี้ง่ายๆก่อน รู้จักแค่นี้ก่อน รู้จักเยอะกว่านี้แล้วมันยุ่งยาก แล้วค่อยๆพัฒนาไป จากประโยชน์มิใช่ประโยชน์ จากโทษ มิใช่โทษ แล้วค่อยพัฒนาขึ้นไปว่าอะไรที่เป็นคุณแก่เราแท้ พูดถึงคุณแท้จริง เราอาจจะเห็นว่ารูปนี้มันไม่เป็นโทษ ถามว่าเป็นประโยชน์ไหม ก็ยังไม่เป็นประโยชน์ แต่ดีกว่าอยู่เปล่าๆก็รับเอาไว้ ในขณะเดียวกันถ้าเราพัฒนามาได้อีกชั้นหนึ่ง จิตมันสูงขึ้นมันก็จะได้รู้ว่าอันนี้แม้รับมาก็เป็นขยะก็อย่ารับทำจิตให้ว่างไว้จะดีกว่า เหมือนกับ ถังที่ว่างแล้วมันก็พร้อมที่จะมีอะไรใส่ได้เสมอ แต่ถ้าถังมันไม่ว่างเสียแล้วเกิดวันข้างหน้าไปเจอของดีเข้า ถังมีขยะต้องรื้อขยะอีก ทีนี้พอเอามาใส่เข้า ของใหม่ก็หายไปแล้ว ของเก่ายังรื้อไม่จบอย่างนี้เป็นต้น ถ้าสำเหนียกระลึกสำนึกเอาไว้อยู่ตลอดว่าทำจิตให้ว่างเอาไว้ดีกว่าปล่อยให้มันรก มันน่าจะเป็นประโยชน์ เพราะมันเป็นการรับผิดชอบโดยองค์รวมของจิตที่มีต่อชีวิตตน เป็นความรับผิดชอบต่อชีวิตตนที่มีต่อจิต เป็นการสร้างให้เกิดสติภายในขึ้น แล้วเฝ้าสังเกต แยกแยะดีชั่ว เป็นโทษไม่เป็นโทษ สุดท้ายเป็นประโยชน์ เป็นประโยชน์ก็ต้องมีลำดับขั้นอีกว่าเป็นประโยชน์แบบไหน ประโยชน์สูงสุด ประโยชน์ท่างกลาง ประโยชน์เล็กน้อย ต้องรู้จักแยกแยะ ถามว่าทำไมต้องยกเรื่องพวกนี้ ก็เพราะว่ามนุษย์ชอบสิ่งที่เป็นประโยชน์ เอาสิ่งที่มนุษย์ชอบมาเป็นทุน เป็นเครื่องล่อ เครื่องศึกษา