แสดงธรรมวันเข้าพรรษาภาคเช้า
วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2551


เรื่องผ้าวะสิกะสาดกหรือผ้าอาบน้ำฝน  เรียกอีกอย่างว่าผ้าจำนำพรรษา  ชาวบ้านจะนำมาถวายก่อนวันเข้าพรรษา1 วัน  เขาเรียกผ้าจำนำพรรษา  ผ้านี้พระจะใช้ในช่วงฤดูพรรษา ใช้เป็นผ้าอาบน้ำหรือสรงน้ำ  โดยธรรมเนียมปฏิบัติวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะถวายเทียนพรรษาเพื่อใช้จุดไฟทำลายความมืดยามค่ำคืน พระจะได้อยู่รอดปลอดภัยจากแมลงสัตว์กัดต่อย  และใช้สำหรับอ่านพระคัมภีร์  อ่านหนังสือ เทียนขี้ผึ้งสมัยก่อนเขาจะตีมาจากรังผึ้ง ไม่ใช่เทียนวิทยาศาสตร์เหมือนสมัยนี้  สมัยก่อนจะทำเทียนจำนำพรรษาต้องอาศัยชาวบ้านทั้งหมู่บ้าน  คนในหมู่บ้านช่วยกันไปตีผึ้ง  ได้ขี้ผึ้งมาจึงมาหล่อเป็นแท่งแล้วแกะสลักให้สวยหรู  ชาวบ้านที่ไม่ได้รวมกับใครก็นำเอาด้ายดิบมาปั่นนำไปชุบขี้ผึ้งทำเป็นขดๆนำมาถวายพระ  ส่วนผ้าวะสิกะสาดกชาวบ้านจะทอด้วยฝ้ายแล้วนำไปย้อมด้วยขมิ้น  หรือย้อมใบหูกวางแล้วแต่ภูมิปัญญา  ทำให้เป็นผ้าย้อมฝาด  คือย้อมน้ำฝาดที่เกิดจากการหมักดองจากรากไม้ใบไม้  ยางไม้ เปลือกไม้  ต้นไม้แล้วแต่  บางคนย้อมด้วยแก่นขนุน  เสร็จเรียบร้อยแล้วนำมาซักมารีด  แล้วพับเป็นกระทง เป็นดอกบัว  แล้วแต่ใครจะวิจิตรบรรจงประดิษฐ์ให้สวยงาม  แล้วจะมีกระจาดหรือตะกร้าที่สานด้วยไม้ไผ่  เครื่องใบตอง  ในกระจาดตะกร้าก็จะใส่อาหารคาวหวาน   อาหารแห้ง อาหารที่เป็นยา  เช่นน้ำผึ้ง  นมเปรี้ยว น้ำตาล  เกลือ ยาสูบ ไม้ขีดไฟ   สบู่ ยาสีฟัน  ปัจจัย สุดแท้แต่ใครจะจัดใส่มา  เขาเรียกเป็นสลากพัตรวันเข้าพรรษาแล้วนำไปถวายพระ ถ้าพระอยู่กันจำนวนมากก็จะนำมาถวายช่วงกลาง  สมภารหรือพระสงฆ์จะรับรวมกัน  พอญาติโยมกลับแล้วสมภารก็จะนำมาจัดเป็นกอง   ให้พระในวัดจับสลากเรียกว่ากองสลากพัตร  เดี๋ยวนี้ธรรมเนียมอย่างนี้ไม่ค่อยมีแล้วในกรุงเทพมันหายไป  แต่อีสานยังพอมี  ทางเหนือยังมีเขาจะหาบกันไปเป็นบ้านๆเลย  หาบกันไปให้พระจับสลากกัน  ธรรมเนียมเหล่านี้มันเป็นสีสันของพระศาสนา  ส่วนกิจกรรมนอกเหนือจากนั้นก็เป็นเรื่องของพระสงฆ์
เรื่องหล่อเทียนประจำพรรษา  โดยธรรมเนียมปฏิบัติวัดเขาจะมีแท่งเทียนให้  ผู้คนก็จะซื้อแท่งเทียนแล้วนำไปใส่กระทะหลอมแล้วตักน้ำเทียนไปหยอดใส่ในเบ้าหลอม  เหล่านี้เป็นทานมัย  ให้รู้จักเสียสละทรัพย์บริจาคทาน เป็นกิจกรรมประจำพรรษา เมื่อวานเป็นเทียนจำนำพรรษา  แต่วันนี้เรียกว่าเทียนประจำพรรษา
วันนี้วันเข้าปุริมพรรษา ผ้าวะสิกะสาดก เดิมทีพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีบัญญัติเรียกว่าทรงมีพุทธานุญาติ  เดิมการบัญญัติพระวินัยในพุทธศาสนา แบ่งไว้เป็นสองลักษณะคือสองชนิด วินัยแรกหรือวินัยเดิมเขาเรียกว่ามุมบัญญัติ  ซึ่งอนุญาตให้พระใช้ผ้าได้ไม่เกินสามผืน มีผ้าสบง จีวร ผ้าสังฆาฏิหรือผ้าซ้อนนอก  ผ้าสังฆาฏิซ้อนนอกโดยธรรมเนียมปฏิบัติ ของพระวินัยก็คือผ้าสำหรับมาห่มทับ  ที่เรียกผ้าห่มในยุคปัจจุบัน เพราะเวลาหนาวจะหนาวมากทางตอนเหนือของภูเขาหิมาลัย  จะทำให้มีความทรมานมาก   เดิมทีมีแค่สองผืนคือผ้านุ่งและผ้าห่ม(ผ้านุ่งคือผ้าสบง  จีวรคือผ้าห่ม)  ต่อมาพระทางเหนือบางองค์ถึงขนาดหนาวตาย  จะหาผ้ามาเพิ่มก็ติดพระวินัย  ไม่กล้าที่จะเอาผ้าผืนที่สามมาใช้  ต่อมาพระมหาเถระนามว่าพระมหากัจจายนะซึ่งเป็นชนทางเหนือติดเทือกเขาหิมาลัยได้ทูลขอพุทธานุญาติว่าพระมีอาการหนาวตายเพราะมีผ้านุ่งห่มน้อยไม่สามารถป้องกันเหน็บหนาวได้  พระผู้มีพระภาคก็ทรงมีอนุญาตเป็นอนุบัญญัติขึ้นมาว่าถ้าอย่างนั้นก็ให้พระได้รับผ้าซ้อนนอกได้เรียกผ้าสังฆาฏิหรือสังฆาฏิสำหรับป้องกันความหนาว  ตั้งแต่นั้นมาพระก็เริ่มมีผ้าสามผืนใช้  คือผ้า สบง จีวร และผ้าสังฆาฏิซ้อนนอก  ต่อมาวันที่นางวิสาขาอุบาสิกาประกาศทำบุญใหญ่  เป็นช่วงเข้าฤดูฝนพอดี พระได้มีพุทธานุญาติอีกเหมือนกันเรื่องการอาบน้ำ  เพราะว่าครั้งหนึ่งพระไปอาบน้ำ  และพระราชาพิมพิสารก็ไปอาบน้ำด้วย ท่าที่พระอาบน้ำกับท่าที่พระราชาอาบน้ำ  ตามกบิลเมืองเขาอนุญาติให้พระสมณะได้อาบน้ำท่าเดียวกับพระราชา  ท่าที่ลงน้ำเขาจะแบ่งไว้สี่ท่าสำหรับวรรณะกษัตริย์วรรณะพรามณห์  วรรณะแพทศ์   วรรณะสูตรและวรรณะจัณฑาล  กษัตริย์กับพรามณห์จะใช้ท่าเดียวกัน ส่วนแพทศ์ สูตร  จัณฑาลก็จะใช้คนละท่า  มีอยู่ครั้งหนึ่งพระลงไปอาบน้ำเพราะอากาศร้อน วันนั้น พระราชาพิมพิสารก็ไปอาบน้ำ  ไปสรงสนานด้วย  แต่วันนั้นทั้งวันพระลงสรงน้ำตลอดทั้งวันเพราะมีพระจำนวนมาก  พระราชาพิมพิสารรอทั้งวันพระก็ยังไม่เลิกอาบน้ำ  ตามกฏมนเฑียรบาลพระอาทิตย์ตกดินต้องปิดประตูเมืองทั้งสี่ทิศทำให้พระราชาเข้าประตูเมืองไม่ได้  แม้จะเป็นพระราชาก็ต้องทำตามกฎมนเฑียรบาล วันนั้นกว่าพระราชาจะได้สรงน้ำก็เลยเวลาแล้วเข้าเมืองไม่ได้ต้องนอนที่ประตูเมืองถึงเช้า  เช้าพระศาสดาทรงเสด็จภิกขาจารถึงหน้าประตูเมืองพบพระราชา  ก็ถามว่าพระมหาบพิตรทรงเสด็จไปไหนแต่เช้า  พระราชาพิมพิสารก็ทูลว่าหม่อมฉันไม่ได้เสด็จไปไหน  แต่ยังไม่ได้เสด็จเข้าเมืองพระเจ้าค่ะ เพราะทรงรอสรงน้ำ  พระพุทธเจ้าทรงเห็นความลำบากขององค์ราชาซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศบริหารแผ่นดิน  ก็เลยประกาศเป็นกฎห้ามพระสงฆ์อาบน้ำถ้าไม่ครบ 15 วัน  พอมีคำประกาศอย่างนั้นถ้าอาบก็จะเป็นอาบัติ เพื่อให้ความสะดวกกับราชา  เมื่อประกาศไปอย่างนี้พระราชาก็จะรู้ว่าวันไหนเป็นวันที่พระองค์จะทรงอาบน้ำได้  ต่อมาทรงมีบัญญัติว่าถ้าไปอาบที่ท่าน้ำต้อง15วันจึงอาบได้ครั้งหนึ่ง  แต่ถ้าอาบน้ำฝนก็ทรงอนุญาตให้อาบได้ทุกวัน  บังเอิญวันหนึ่งฝนเกิดตก ซึ่งไม่ได้ตกมานาน  และเป็นวันที่นางวิสาขามหาอุบาสิกาจะทำบุญใหญ่จึงสั่งนางทาสีให้ไปนิมนต์พระเถระพระคุณเจ้าทั้งวัดมาฉันภัตราหารเพลที่เรือน  วันนั้นฝนตกพระไม่ได้อาบน้ำกันมาหลายวันเห็นฝนตก ก็พากันแก้ผ้าอาบน้ำฝน  นางทาสีเดินเข้ามาจะนิมนต์พระเห็นพระแก้ผ้าอาบน้ำฝนก็ตกอกตกใจวิ่งกลับบ้านไปบอกกับนางวิสาขาว่าพระแม่เจ้าพระหมดแล้วเหลือแต่เปรตเต็มวัด  ไม่มีพระเหลือเลยมีแต่เปรตทั้งนั้นแก้ผ้าอยู่กลางน้ำฝน  นางทาสีไม่รู้เข้าใจว่าเป็นเปรต  มหาอุบาสิกาวิสาขาเป็นพระโสดาบัน  ท่านรู้ด้วยอำนาจจิตว่าไม่ใช่เปรตแต่เป็นพระถึงเวลาอาบน้ำ ฝนตกก็เลยอาบน้ำ ก็เห็นความขัดเคืองและอุจาดของพระ วันนั้นพระศาสดาเสด็จก็เลยทูลขอเป็นบัญญัติใหม่เรียกว่าอนุบัญญัติว่าขอให้พระมีผ้าเกินกว่าสามผืนในฤดูกาลพรรษา  ผ้านั้นชื่อว่าผ้าวะสิกะสาดกใช้สำหรับอาบน้ำฝนได้ไหมเจ้าค่ะ  หม่อมฉันจะเป็นหัวแรงที่จะทำผ้าถวายพระทั้งอาวาสและทั้งสังฆมณฑล พระศาสดาก็ทรงเห็นว่านางวิสาขามีศรัทธาและป้องกันความเสียหายที่พระไปทำอุจาด แก้ผ้าอาบน้ำฝน พระศาสดาก็ทรงอนุญาตเรียกว่าเป็นอนุบัญญัติ  ว่าให้พระใช้ผ้าอาบน้ำฝนเป็นผืนที่สี่ได้เรียกว่าผ้าวะสิกะสาดก  ตั้งแต่แรมหนึ่งค่ำเดือน 8  จนถึงกลางเดือน 12  มีอายุใช้งานแค่นี้  พอพ้นจากนั้นก็ใช้ไม่ได้  ให้กลับมาใช้ผ้าสามผืนใหม่ เพราะเป็นช่วงฤดูพรรษาฤดูฝนพอดี ฉะนั้นผ้าวะสิกะสาดกหรือผ้าอาบน้ำฝนเป็นผ้าที่เป็นอานิสงส์จากนางวิสาขา ที่มีศรัทธาจะช่วยผ่อนปรนความลำบากของพระ  นางวิสาขาจะเป็นหญิงที่ผิวงามมาก แม้อายุ 80 แล้วก็ยังมีผิวพรรณที่ไม่เหี่ยวย่น  เพราะว่าไม่ว่าจะเป็นผ้าอาบน้ำฝน ผ้ากฐิน นางก็เป็นผู้ริเริ่ม  อย่างเช่นผ้าพระกฐิน  นางวิสาขาเห็นความลำบากของพระผู้เดินทางมาแต่ไกล  สมัยก่อนพระจะรับผ้าจากชาวบ้านไม่ได้  จะรับผ้าได้ก็ต้องไปเก็บศพบ้าง กองขยะบ้าง ลอยน้ำมาบ้าง  คนทิ้งบ้าง  ผ้านั้นเรียกว่าบังสุกุล  หรือบังสุกุลจีวร  จะเป็นของชาวบ้าน จะให้ชาวบ้านมาถวายไม่ได้  ผ้านุ่งผ้าห่ม ผ้าสังฆาฏิต้องไปเก็บมา  จะเห็นว่าเวลาเราคลี่ จีวรหรือสังฆาฏิออก  จะเห็นเป็นผืนเล็กๆต่อกันเขาเรียกว่ากระทง  เพราะแต่เดิมเวลาพระไปเก็บไม่ได้เก็บได้ผืนใหญ่  ก็จะไปเก็บเศษเล็กเศษน้อยชิ้นเล็กชิ้นน้อยสะสมเอาไว้  ผ้าที่เก็บสะสมต้องไม่เกิน 7 วัน  ถ้าเกิน 7 วันผ้านั้นเป็นมิคสคี หมายความถึงเป็นภาระในการรักษา  ถ้าจะทำจีวรต้องหาเก็บให้ครบหนึ่งผืน  คำว่าครบหนึ่งผืนคือมันมี ขันธ์เล็กขันธ์ใหญ่  กระทงซอยเล็ก ซอยย่อย ซอยใหญ่  ต้องให้ได้ภายใน 7 วัน ถ้าเกินกว่านั้นแสดงว่าเราไม่มีสามารถจะเก็บ   ต้องสละให้คนที่เก็บได้จวนจะครบแล้วให้องค์อื่นต่อ  นี่คือพระวินัย  ถ้าไม่สละพระจะเป็นปาจิตตีถ้าเก็บเกิน 7 วัน  
นางวิสาขามาขอพระราชทานคหบดีจีวร  เพราะพระหาผ้ายาก  คนก็ทิ้งผ้ายากในยามข้าวยากหมากแพง คนจะกระเบียดกระเสียร คนก็จะใช้ผ้าอย่างคุ้มค่า  นางวิสาขาจึงขอพุทธานุญาติว่า  ภิกษุชาวเมือง....ที่เดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าตอนฤดูออกพรรษาจีวรขาดหมด เพราะเปื้อนฝุ่นเปื้อนโคลนโดนหนามเกี่ยวเพื่อเดินทางมาให้ทันพระพุทธเจ้าก่อนที่พระองค์จะเสด็จไปสู่เมืองอื่น  30องค์มีผ้าจีวรขาดรุ่งริ่งนางวิสาขาเห็นแล้วสงสารจึงไปทูลขอว่า ภิกษุผู้จำพรรษากาลจนครบไตรมาส  หม่อมฉันขอถวายผ้าคหบดีจีวร  เรียกว่าจีวรกาล  เรียกอีกอย่างว่ากฐินทาน  ถามว่าคำว่ากฐินทานมาจากอะไร เกิดจากการเอาไม้กฐินริมรั้วมาทำเป็นสะดึงขึงด้ายเพื่อทอเป็นผ้ากฐินทาน  นางวิสาขาเป็นผู้ริเริ่มถวายคหบดีจีวรผืนแรกของโลกที่เรียกว่ากฐินทาน  เป็นที่มาว่าพระเวลาจีวรขาดก็ไปขอชาวบ้านได้  จึงมีบัญญัติต่อมาว่าไห้พระขอผ้าได้จากกับบุคคลผู้เป็นญาตินับจาก พี่น้อง พ่อ ลุง อา ป้า ปู่  ย่า นับจากแม่ ป้า น้า ตา ยาย พี่น้อง  ยกเว้นหลาน เหลน โหลน ขอไม่ได้  ขอได้ไม่เกิน 7คนโดยเอาตนเป็นคนกลาง นับขึ้นไม่เกิน 7 คน นับลงมาไม่เกิน 7 คน นั่นคือวิธีนับญาติ  
บางคนญาติตายก็มีกฎออกมาว่ามีคนศรัทธาไหม คนศรัทธาก็จะมาปวารณาว่าพระคุณเจ้าต้องการอะไรก็ให้บอกกระผม บอกดิฉัน กระผม ดิฉันยินดีจะให้ตามที่ใจปรารถนาตามสมณะสารูป  อย่างนี้เขาเรียกผู้ปาวารานา  และท่านได้กำหนดไว้อีกว่าขอได้ไม่เกินสมณะสารูป  คำว่าสมณะสารูปก็คือ เอาตามที่เขาศรัทธาเลือกไม่ได้  เขาให้อย่างใดต้องใช้อย่างนั้น ถ้ามันใช้ไม่ได้ต้องบอกว่าโยมฉันคืนมันใช้ไม่ได้ เช่น สมัยนี้ถวายผ้าอาบน้ำฝน  หยิบออกมาแล้วพันได้แค่ครึ่งตัว  อย่างนี้ก็ต้องบอกโยมมันไม่สำเร็จประโยชน์อาบน้ำไม่ได้ เอาคืนโยมไป  อย่างนี้สามารถบอกได้  ไม่ใช่บอกว่าโยมเอาไปเปลี่ยนให้ผืนใหญ่กว่านี้ อย่างนี้ไม่ได้  ผ้าที่ได้มาเป็นมิคสคี พระที่ใช้เป็นปาจิตตี  นี่คือวินัยกรรม  เรื่องของผ้ากับพระนี่มันละเอียดอ่อน แม้อาหารเหมือนกันเวลามีคนมาถวายสังฆทานมาถวายอาหารหลวงปู่หลวงปู่จะไม่รับประเคน  เพราะในวินัยกำหนดเด่นชัดว่า ในเวลาตั้งแต่เช้าไปถึงเที่ยง พระรับอาหารนั้นได้  แต่ถ้าเกินจากเที่ยงไปแล้วพระรับไม่ได้เป็นปาจิตตี ของเป็นมิคสคี  แต่ถ้าขืนรับแล้วนำมาเก็บไว้ ถ้าของนั้นเป็นของกินรับแล้วเก็บข้ามราตรีแม้ไม่กินก็เป็นอาบัติ  อย่างเช่นรับสังฆทานของในสังฆทานนั้นมี  มาม่า ปลากระป๋องอะไรเยอะแยะ  ถ้าไม่เกินเที่ยงรับได้  แต่ถ้าเกินเที่ยงรับไม่ได้ ต้องไปสละให้กับคนอื่น แต่ถ้ารับไว้กินเองผิด  ภิกษุยินดีในลาภอันเกินเวลากำหนดเป็นอาบัติปาจิตตี  ยินดีในลาภในเวลาที่กำหนดไม่เป็นอาบัติ  แต่ถ้าเกินเป็นอาบัติปาจิตตี ของนั้นเป็นมิคสคี มีคนชอบมาว่าพระวัดนี้หยิ่ง ถวายของก็ไม่ยอมรับประเคน  ให้วางไว้อย่างนั้น  เพราะมันไม่รู้พระวินัยว่าเวลานี้มันรับประเคนไม่ได้  ถ้ารับประเคนแล้วพระเป็นอาบัติของคุณก็ไม่สำเร็จประโยชน์  พระเป็นบาปแล้วโยมจะได้บุญอย่างไร  วิธีถวายสังฆทานก็ไปกล่าวคำถวาย  ของวางไว้ตรงกลาง เจ้าหน้าที่พันธคาลิก เขาก็จะเก็บ  คำว่าเจ้าหน้าที่พันธคาลิก เป็นชาวบ้านก็ได้ เป็นพระก็ได้ที่คณะสงฆ์แต่งตั้ง  พอถึงเวลาพระจะใช้ก็สามารถไปเบิกได้  เพราะของอันนั้นไม่ใช่ของบุคคลแต่เป็นของกลาง  อย่างนี้เก็บได้เป็นปีไม่เป็นไร  แต่ถ้าเก็บไว้เป็นของบุคคลพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยข้อนี้เพื่อป้องกันไม่ให้พระสงฆ์สะสม  อย่างนั้นพวกเราก็อย่าเอาแต่ใจต้องช่วยกันรักษาความถูกต้องของพระวินัย  อย่านำของที่พระรับไม่ได้เกินเวลาไปถวาย  ของที่รับประเคนได้เกินเวลาที่กำหนด มีไม่กี่อย่าง  มีน้ำผึ้ง  นมเปรี้ยว น้ำอ้อย  รับประเคนแล้วเก็บได้ไม่เกิน 7 วัน  เพราะถือว่าเป็นยาวกาลิก  ข้าวสุก นมสด รับประเคนไม่ได้ถ้าเกินเวลา  น้ำปานะ น้ำอรรถบาล  น้ำปานะคือน้ำที่ไม่ต้องต้ม ไม่ต้องปรุง  เช่นน้ำมะเฟือง น้ำมะปราง น้ำส้ม น้ำที่ไม่ต้องปรุงแล้วไม่ต้องผ่านความร้อน ส่วนน้ำอรรถบาลต้องปรุง ต้องต้ม ต้องผ่านการกลั่นการกรอง  แล้วน้ำก็ต้องไม่เป็นน้ำมหาผลก็คือมีลูกใหญ่อย่างน้ำมะพร้าวนี้ฉันไม่ได้  แต่ถ้าเป็นน้ำปานะ น้ำอรรถบาลฉันได้ทุกเวลา  พระวินัยมีไว้ให้พระสำรอกกิเลส ไม่ได้มีไว้ให้พระสะสมกิเลส  เราก็ต้องสนับสนุนให้พระช่วยกันสำรอกกิเลสอย่าเอากิเลสไปพอกพูนพระ  อย่าเอาอะไรที่ไม่ถูกพระวินัยไปให้พระมันไม่ถูกต้อง  ถามว่าได้ผ้ามาแล้วเกินกว่า 3 ผืนทำอย่างไรท่านสอนให้สละให้กองกลาง อย่างที่พวกมึงนำผ้ามาถวายเยอะแยะไปหมดถ้ากูเก็บไว้ไม่เกิน 7 วัน ถ้าเกินเป็นอาบัติทุกผืน ร้อยผืนก็ร้อยอาบัติ  แล้วกูจะไปปลงชาติไหนหมด  ฉะนั้นวิธีแก้ก็คือรับแล้วสละให้กองกลาง  เขาเรียกว่าบริขารโจร  ไม่ใช่ให้โจรมาหยิบนะ คือบริขารที่เป็นกองกลางใครมาหยิบใช้ก็ได้  สมัยก่อนหลวงปู่บวชใหม่ๆคนเขาชอบถวายจีวร  เราก็เก็บไว้ไม่ได้ หลวงปู่ก็เลยหาวิธีให้เด็กมาบวชเณร  ใช้จีวรที่ชาวบ้านนำมาถวาย ก็เลยเป็นที่มาของการบวชเณรภาคฤดูร้อน  ถ้ามีเยอะก็จะนำไปถวายวัดต่างๆ