ปฏิบัติธรรมวันมาฆะบูชา
21 กุมภาพันธ์ 2551
ฝึกดึงไส้
วิชาที่สอนมันใช้ประยุกต์กับวิชาแพทย์โบราณ และมันสามารถเป็นประโยชน์กับชีวิตได้ มันทำให้กระเพาะลำไส้แข็งแรง การย่อยอาหารปกติ ลมไม่ขึ้นเบื้องบน ไม่ตีลงเบื้องต่ำ ไม่วิงเวียนไม่ปวดหัว ลมไม่เสียดแทงหัวใจ ท้องไม่อืดเฟ้อ ทำให้ไม่เป็นโรคไส้เลื่อน การขับถ่ายอุจจาระปัสสาวะเป็นปกติ ฝึกตอนเช้าท้องว่างๆก่อนรับประทานอาหาร ก่อนไปทำงานสัก 10-20 รอบ และตอนเย็นหลังจากรับประทานอาหารแล้วชั่วครู่ควรจะทำอีกครั้งเพื่อช่วยให้อาหารไม่ตกค้าง ช่วยย่อยและขับสารพิษในกระเพาะได้ดี วิธีทำเริ่ม
ท่าที่ 1
คำสั่งที่ 1 ยืนด้วยปลายเท้าทั้ง 2 ข้างนับ 1 – 10
เอาเท้าลงช้าๆ
คำสั่งที่ 2 ก้าวเท้าขวาไป 1 ก้าวยาวๆ ยกปลายเท้าขวาขึ้นสูงๆ กดน้ำหนักไปที่ส้นเท้าขวา เอามือทั้ง 2กดไว้ที่เข่าขวาให้เข่าขวาตึง เข่าซ้ายงอ
คำสั่งที่ 3 มือซ้ายเอื้อมไปดึงปลายเท้าขวา มือขวากดที่เข่าขวาให้ขาขวาตึง นับ 1 -10
คำสั่งที่ 4 เงยตัวขึ้นช้าๆ ชักเท้ากลับมายืนอยู่ในท่าเตรียมพร้อม
คำสั่งที่ 5 ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า 1 ก้าวเต็มๆ ยกปลายเท้าซ้าย เอา2 มือกด ลงบนเข่าซ้าย เข่าขวางอ มือขวา
เอื้อมไปดึงปลาย เท้าซ้าย มือ ซ้ายกดเข่าซ้ายให้ขาซ้ายตึง นับ 1 – 10
คำสั่งที่ 6 เงยตัวขึ้นช้าๆ ชักเท้ากลับมายืนในท่าเตรียมพร้อม
ทำสลับเท้ากันระหว่างเท้าขวากับซ้าย
ท่านี้ช่วยในการกระตุ้นต่อมหมวกไตกับถุงน้ำดีจะทำให้ไม่เป็นโรคปวดหลัง
ท่าที่2
คำสั่งที่1 แยกเท้าขวาไปด้านข้าง พลิกฝ่าเท้าขวา งอเข่าขวาทิ้ง
น้ำหนักไป ข้างเท้าขวา กดมือทั้ง 2 ลงที่เข่าขวา
คำสั่งที่ 2 สลับเท้า แยกเท้าซ้ายไปด้านข้าง พลิกฝ่าเท้าซ้าย งอเข่า
ซ้ายทิ้งน้ำหนักไปข้างเท้าซ้าย กดมือทั้ง 2 ลงที่เข่าซ้าย
ทำสลับกันทางขวาที - ทางซ้ายที
ท่านี้ช่วยให้หลังไม่ตึง ไม่เป็นกระษัย ไตไม่พิการ เป็นท่า ฤษีดัดตน
ท่าที่ 3
คำสั่ง แยกขาออก พลิกฝ่าเท้าด้านในทั้ง 2 ข้างแล้วงอเข่า ย่อตัวลง ตั้งหลังให้ตรง มือทั้ง 2 กดที่เข่าทั้ง 2 ข้าง เงยหน้าขึ้นมองข้างบน หายใจเข้าแขม่วท้องดึงไส้ขึ้น ขมิบก้น(ดึงไส้จนรู้สึกเสียวก้านคอด้านหลัง ร้อนวูบวาบที่ขาพับ จึงจะใช้ได้ )
ทำทุกวัน วันละ 5 – 10 ครั้งป้องกันไส้ไหล ไส้เลื่อน มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งมดลูก จะช่วยขับเมือกเสียและ ของมีพิษออกมา ลดอาการปวดหลัง ปวดกระเบนเหน็บ
ท่าที่ 4
คำสั่งที่1 สูดหายใจเข้า ยืนด้วยปลายเท้าแขม่วท้องยก 2 แขนเหนือศีรษะ (ทำทั้ง 3 อย่างพร้อมกัน)
คำสั่งที่ 2 หายใจออก ลดเท้า ตะแคงฝ่าเท้าทั้ง2ข้าง ก้มตัวลงแขม่ว
ท้องมือทั้ง 2 วางลงกับพื้นระหว่างเท้าให้ปลายนิ้วมือชนกัน
เข่าตึง
คำสั่งที่ 3 หายใจเข้า กลับมาตรงช้าๆ หายใจออก
คำสั่งที่ 4 สูดลมหายใจเข้า ยืนด้วยปลายเท้า แขม่วท้องดึงไส้ขึ้น
ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ
คำสั่งที่ 5 หายใจออก ลดเท้าลง เอามือลง
คำสั่งที่ 6 หายใจเข้า ยกมือขึ้นพนมเหนือศีรษะ ดึงไส้ขึ้น
หมุนลำตัวไปข้างขวา แขนชิดหู
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก หมุนลำตัวไปทางซ้าย
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก เอียงลำตัวไปทางขวา
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก เอียงลำตัวไปทางซ้าย
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก ก้มตัวลงพลิกฝ่าเท้าแขม่วท้อง ปลายนิ้วมือชนกันฝ่ามือแนบพื้นเข่าตึง
หายใจเข้า กลับมาตรง ยกแขนขึ้นพนมมือเหนือศีรษะ แขม่วท้อง
หายใจออก เอนตัวไปข้างหลัง ออกเสียง อ้า......ระบายของเสียออก
หายใจเข้า กลับมาตรง เอาแขนลง
คำสั่งที่ 7 ประสานมือไว้ด้านหลังสูดลมหายใจเข้า......หายใจออก แขม่วท้องยืดอกขึ้น แอ่นอก ลู่ ไหล่ไปข้างหลัง เงยคอ แขนเหยียดตึงไปข้างหลัง
หายใจออก
หายใจเข้า กลับมาตรง แขนยังประสานอยู่ด้านหลัง
หายใจออก ก้มตัว ยกแขนที่ประสานกันด้านหลังขึ้น แขม่วท้อง ขมิบก้น
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก พลิกฝ่ามือดันสะโพก หงายตัวไปข้างหลัง ออกเสียง อ้า......
หายใจเข้า กลับมาตรง
คำสั่งพัก...........หาน้ำดื่ม ท่าเหล่านี้จะช่วยขับของเสียสิ่งมีพิษที่ตกค้าง
ตามพังผืด ตามข้อกระดูก ตาม โพรงกระดูกตามอวัยวะ
ที่สำคัญภายในร่างกาย ทำให้กล้ามเนื้อแขนหลัง ขา สะโพก หลัง เอว ลำตัว มีมากขึ้น ยิ่งอายุ มากขึ้นกล้ามเนื้อมันหย่อนยาน จะเป็นผลเสียต่ออวัยวะ ต่อสุขภาพ ยืนนานก็ไม่ได้ นอนนานก็ปวดเมื่อยเพราะไม่มีกล้ามเนื้อจะพยุงน้ำหนัก นั่งนานก็เมื่อยปวด เดินมากก็ปวดเมื่อย เพราะไม่มีกล้ามเนื้อไป ช่วยพยุงน้ำหนัก ใช้กระดูกกับเส้นเอ็น และพังผืด อย่างเดียว มันก็จะรับหนักๆไม่มีโช้คไว้ช่วยพยุงกล้ามเนื้อ วิธีที่ทำนี้ไม่ใช่ช่วยสร้างกล้ามเนื้ออย่างเดียวแต่ต้องสร้างให้มีสติด้วย ต้องมีตัวรู้ภายในชัดแจ้งด้วย ต้องตามรู้ให้เห็นชัดถึงกระบวนการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามข้อกระดูก ไขกระดูก โพรงกระดูก และความเป็นไปภายในกายว่าเป็นอย่างไรบ้าง อย่างนี้เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ทุกท่าที่เรามีสติรู้ชัดภายในกาย ไม่ส่งจิตออกนอกกาย กายกับใจรวมกันได้ก็ใช้ได้แล้ว ถือว่าเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถ้าเราสามารถสำรวจตรวจดูโครงสร้างภายในเหมือนเครื่องเอ็กซเรย์ที่ตรวจดูการเคลื่อนไหวของโครงกระดูกแต่ละครั้ง สามารถสัมพันธ์ สัมผัสและเห็นได้ก็ยิ่งวิเศษ เพราะจะทำให้เรามีสติรู้ชัดในการทำ พูด คิดได้อย่างจริงจัง ชัดเจนมากขึ้น ไม่ว่าเราจะเผชิญกับอะไร ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่นเสียง สัมผัส ความบีบคั้นที่เกิดจากอารมณ์ทางใจ จิตใจเราก็จะตั้งมั่นได้ง่าย และมีอิสระจากเครื่องพันธนาการทั้งปวง
ปฏิบัติธรรมบ่าย 21กุมภาพันธ์2551
วิถีจิต
ชีวิตภายในกับชีวิตภายนอก
วิถีแห่งการเรียนรู้ชีวิตมีอยู่ 2 อย่าง 1 คือชีวิตภายนอก ชีวิตภายนอกคือเริ่มต้นตั้งแต่ลมหายใจ จัดว่าเป็นชีวิตภายนอกเพราะมันเป็นสิ่งที่มีอยู่ภายนอกกายเรา นอกชีวิตเรา นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่เราสัมพันธ์สัมผัสได้ ทางตาเห็น ทางหูฟัง ทางจมูกได้ ทางลิ้นรับ ทางกายสัมผัส เหล่านี้จัดว่าเป็นชีวิตภายนอก การเรียนรู้ชีวิตภายนอกนั้นกว้างจนยากที่จะประมาณหาที่สุดไม่ได้ แล้วสุดท้ายอาจจะนำพาเราลื่นไหลถลาและหลงไปได้ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีครูคอยกำกับ ไม่มีปัญญาวิเคราะห์ชัด ในที่นี้จะเรียนรู้ชีวิตทั้งภายในและภายนอก ชีวิตภายในคืออะไร ชีวิตภายในก็คืออารมณ์ที่เกิดอยู่ภายใน ว่าเวลานี้มีกุศล หรืออกุศลเกิดขึ้นภายในใจ เฝ้าสังเกตว่าเวลานี้ภายในใจเป็นความสงบ ความว่าง สะอาด ความฉลาด หรือความสว่างอยู่ภายในใจมีหรือไม่ ให้เฝ้าสังเกตว่าจิตเรานิ่ง เราดิ่ง เราไม่สับสน เราไม่ฟุ้งซ่าน มีอยู่หรือไม่ เช่นนี้เรียกว่าชีวิตภายใน ยังมีชีวิตภายในในชีวิตภายในอีก ชีวิตภายในที่อยู่ในชีวิตภายในเรียกว่า อารมณ์ ในอารมณ์ กายในกาย วิญญาณในวิญญาณ จิตในจิต ชีวิตภายในที่อยู่ในภายในก็คือสิ่งที่ไร้สภาพความปรุงแต่ง ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่าสุญญตะก็ได้ หรือสุญญตาหรือความว่าง ซึ่งไร้สภาพความปรุงแต่ง แต่มีสิ่งที่จะต้องศึกษาค้นหาว่ามันว่างจริงหรือเปล่า ไม่ปรุงแต่งจริงหรือไม่ ซึ่งเป็นปรมัตถ์ธรรม เป็นธรรมอันยิ่งที่ยากต่อการเข้าใจ ซึ่งเรายังเดินไปไม่ถึงมันก็อย่าเพิ่งไปทำความเข้าใจ แต่เอาเรื่องที่เราจับต้อง พิสูจน์ สัมพันธ์ได้และเดินถึงมันได้
เริ่มเรียนจากสร้างการเรียนรู้ชีวิตภายนอกที่ย้อนกลับไปสู่ภายใน ชีวิตภายนอกที่ย้อนกลับไปสู่ภายนอกก็มีทั้งในทั้งใน ก็คือลมหายใจที่เข้าและออก ลมที่อยู่ข้างนอกเมื่อสูดเข้ามาก็กลายเป็นชีวิตภายใน เป็นเรื่องภายในกายเรา เมื่อเราพ่นมันออกไปก็อยู่นอกกายเรา ในขณะเดียวกันในลมเข้าและออกนี้ลมในภายในก็ยังมีอยู่ ลมในไขข้อ ลมในช่องท้อง ลมในข้อกระดูก ลมขึ้นเบื้องบน ลมลงเบื้องต่ำ นี่เรียกว่าเป็นชีวิตลมภายใน ซึ่งยังไม่ต้องไปศึกษา แต่เคยสอนไปแล้ว ลมในลมเคยสอนไปแล้วในวิชาลม 7 ฐานเบื้องต้นคือวิชาอักษรสวรรค์ และปราณโอสถ สอนให้ดูตามลมไปตามข้อกระดูก เดินลมไปตามนิ้วมือนิ้วเท้า กะโหลกศีรษะ หน้าผาก ช่องจมูก ท่อนแขน ก้นกบ ท่อนขา ฝ่าเท้า ปลายนิ้วเท้า อย่างนี้เขาเรียกว่าลมในลม นั่นคือชีวิตภายในอีกอย่างหนึ่ง แต่วันนี้จะสอนเพียงแค่เบื้องต้นพื้นฐาน เริ่มต้นพื้นฐานก็คือสร้างให้เกิดตัวรู้ก่อน ให้เกิดท่านผู้รู้ก่อนเพื่อจะไปเรียนรู้วิชา ฉะนั้นวันนี้ก่อนที่จะไปรู้วิชา ก็ต้องเป็นไปตามลำดับเริ่มที่ การเรียนรู้ชีวิตชีวิต ลุถึงปัญญา ต้องเรียนรู้ชีวิตก่อนมีชีวิตภายในและภายนอก ชีวิตภายนอกเช่นลมหายใจเข้าและลมหายใจออก ในมุมกลับกันเมื่อหายใจเข้ามาอยู่ข้างในก็เป็นชีวิตภายใน ขณะที่มันอยู่ข้างนอกก็เป็นชีวิตภายนอก เราสามารถที่จะเลือกลมหายใจเข้าไปปรุงชีวิตได้ถ้าเราฉลาด ทำอย่างไรเราจึงจะฉลาด ก็ต้องมีท่านผู้รู้เพื่อจะไปเรียนรู้ชีวิต เพื่อลุถึงวิชา วิชาจริงๆมันเป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่ต้องไปเปิดตำรา ตำรายาที่ศักดิ์สิทธิ์นี่มันอยู่ในตัวเรา ตำราวิชาที่ยิ่งใหญ่เหนือสิ่งอื่นใด พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ไม่ใช่ตรัสรู้จากธรรมะนอกกาย พระองค์ทรงตรัสรู้ในกาย และรอบๆกาย ซึ่งมีทั้งในกายและนอกกาย นอกกายในที่นี้ไม่ใช่นอกกายไกลๆตัว แต่นอกกายรอบๆตัว ฉะนั้นหน้าที่ของเราเวลานี้ก็คือเตรียมผู้รู้ เพื่อไปรับรู้ ไปศึกษา เรื่องชีวิต อันนี้คือวิถีชีวิตซึ่งแตกต่างจากเรื่องสมถะ แตกต่างจากเรื่องปราณ เรื่องลมอักษรสวรรค์ เรื่องลม 7 ฐานระแตกต่างกัน แม้จะเห็นว่าแผนภูมิในลม 7 ฐานจะชี้นำไปยังจุดต่างในร่างกายก็ตาม แต่แผนภูมิเหล่านี้เปรียบเสมือนท่อแก้วที่เราจะส่งน้ำเข้าไปตามจุด จุดก็คือเนื้อนาที่จะทำหน้าที่เพาะปลูก อันนี้เป็นเรื่องของปราณเป็นเรื่องของประโยชน์ เรื่องของอำนาจจิต เรื่องของจิตตานุภาพ แต่เรื่องที่จะเรียนรู้ต่อไปนี้เป็นเรื่องของตัวรู้ เข้าใจ เข้าใกล้ พยายามวิจารณ์ ศึกษา ทั้งข้างในและข้างนอก เริ่มต้นที่การสร้างตัวรู้ก่อน ตัวรู้ในที่นี้หมายถึงสติ หรือจิตที่ไม่มีมลทินครอบ ไม่มีมลภาวะครอบ ไม่มีอารมณ์ปรากฏ เป็นจิตล้วนๆ ที่เป็นตัวรู้ล้วนๆ จิตมีหน้าที่ 4 อย่างคือ รับ จำ คิด รู้ ขณะนี้เราต้องการตัวรู้อันเป็นคุณชาติของจิตนี้เอามาเป็นตัวนำชีวิตในเวลานี้ เพราะว่าตัวรู้ตัวนี้จะนำพาเรา ไปรู้สิ่งที่เราควรรู้ และพร้อมรู้ได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน จริงจัง ไม่เป็นเท็จ ซื่อตรง ตัวรู้ตัวนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราต้องเปลื้องเปลือกมันออกให้หมด สำลอกมลทินออกให้หมด ความง่วง ความเพลีย ความละเหี่ย ความฟุ้งซ่าน ความระแวงสงสัย เราต้องเปลื้องออกให้หมด สิ่งเหล่านี้ ที่พระพุทธเจ้าเรียกว่านิวรณ์ธรรม เครื่องกั้นจิตเอาออกให้หมด เมื่อเราต้องการกำจัดนิวรณ์ธรรมอันมี กามฉันทะ ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่าน ความลังเลสงสัย เราจะกำจัดมันได้อย่างไร วิธีก็คือ
จดที่หัวกระดาษว่าเครื่องกั้นจิตไม่ให้ไปสู่ความดี
กามฉันทะ ความพอใจรักใคร่
พยาบาท ความไม่พึงพอใจ
ถีนะ – มิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน เซื่องซึม
อุทธัจจะ – กุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
ลุกขึ้นยืน ให้เวลา 5 นาทีหาวิธีที่จะทำอย่างไรไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของเครื่องกั้นจิต ด้วยการเปลื้องจิตในหัวข้อที่จดออกให้หมด ทำอย่างไรจึงจะไม่ให้ตกอยู่ในอำนาจของนิวรณ์ธรรมทั้ง 5 นั่นก็คือต้องมีแต่ตัวรู้ สร้างความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่ตลอดเพื่อเอามาเรียนรู้ชีวิตให้ได้
หมายเหตุ รู้เฉพาะภายในกายเช่น 1 ดูลมหายใจ 2 เฝ้าสังเกตดูอารมณ์ที่ปรากฏในจิตคือความนึกคิดว่ามีอารมณ์ทั้ง5นี้หรือไม่ถ้ามีก็กำจัดออกด้วยการขีดลงในช่องที่ปรากฏคือกำจัดออกไป ให้เหลือแต่ตัวรู้เท่านั้นที่ปรากฏอยู่ไม่ปรุงให้เป็นอารมณ์ เหลือแต่รู้เฉยๆ สมองโล่ง รู้อยู่นิ่งๆแล้ว รู้วางและว่าง หรือจะส่งความรู้เข้าไปที่โครงกระดูกภายในกาย มีตัวรู้อยู่ภายในกายตน ตัวรู้เป็นตัวปัญญา รู้แล้วรู้จักที่จะกำจัดสิ่งที่เราไม่ต้องการออกนั่นเป็นสัมปชัญญะคือเรามีปัญญา เหลือเพียงรู้เฉยๆแต่รู้อย่างผู้ตื่น พร้อมที่จะโต้ตอบได้ทุกเวลา ลักษณะการทรงอารมณ์แบบนี้เรียกว่าเอกัคตาจิต หรืออัพยากฤตจิตก็ได้ วางแล้วว่างไม่ปล่อยให้อะไรมาชวนมีแต่ความรู้ชัดล้วนๆ ในคำว่านิพพาน กุศลก็ไม่มี อกุศลยิ่งไม่มี มีแต่ตัวรู้ตัวปัญญา ฝึกอย่างนี้บ่อยๆแล้วจะปราดเปรื่องคิดจะฉับไว รู้สถานการณ์ รู้ทันอารมณ์ กำจัดปัญหา ไร้มลภาวะในจิต อย่างนี้เขาเรียกว่ามีท่านผู้รู้แล้ว เมื่อมีท่านผู้รู้แล้วทีนี้เราจะเอาท่านผู้รู้ไปรู้ลมหายใจ รู้โครงสร้างกระดูกภายใน รู้ดินน้ำลมไฟเรียกว่าจตุธาตุวัฏฐาน 4 หรือรู้ภายในกายเรา เรียกว่ากายาคตานุสติกัมมัฏฐาน หรือรู้ความสกปรกปฏิกูลสัญญา หรือรู้ว่าความตายเป็นของเที่ยงเรียกว่านวสีวถิกาบรรพ หรือรู้ลมหายใจ 13ขั้นเรียกว่าอานาปานะสติขั้นสมถะ ขั้น14 – 16 อานาปานะสติขั้นวิปัสสนา ทั้งหมดนี้เป็นชีวิตที่ท่านผู้รู้จะต้องเข้าไปเรียนรู้ เช่นเรียนรู้ชีวิตเรื่ององค์ประกอบของธาตุทั้ง 4 ภายในกาย มีดิน น้ำ ลมไฟ ส่วนที่เป็นดินมี ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง กระดูก อาหารใหม่ อาหารเก่า ลำไส้น้อย ลำไส้ใหญ่ ตับ ไต ไส้ ปอด ม้าม หัวใจ อย่างนี้เรียกว่าดิน ส่วนที่เป็นน้ำคือ น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำหนอง น้ำลาย น้ำดี น้ำเสลด น้ำมูก น้ำมูต น้ำคูต น้ำอุจจาระ น้ำปัสสาวะ น้ำมัน น้ำมันไขข้อ น้ำมันข้น น้ำมันเหลว น้ำเหงื่อ น้ำตา เหล่านี้ส่วนเป็นน้ำ ส่วนที่เป็นลมก็ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ลมในข้อกระดูก ลมขึ้นเบื้องสูง ลมในช่องท้อง ลมอ้าปากหาว ลมลงเบื้องต่ำอย่างนี้เรียกว่ารู้ชีวิต รู้ชีวิตในชีวิตก็คือรู้ว่า เราก็มีเพียงดินน้ำลมไฟ เราทำไมถึงทุกข์ไม่รู้จักหยุดจักหย่อน ดิน น้ำลมไฟมันเป็นเหตุปัจจัยให้เราทุกข์ได้อย่างไร นี่เรียกว่ารู้ชีวิตในชีวิตเบื้องต้น วิเคราะห์ต่อไปว่าที่เราทุกข์ได้ไม่ใช่ดินไม่ใช่น้ำ ดินไม่ทำให้เราทุกข์ น้ำไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ลมไม่ได้ทำให้เราทุกข์ไฟไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์เพราะเราไปยึดถือในดิน ในน้ำ ในลม ในไฟ เลยต้องแบกมันไว้ อย่างนี้เรียกว่ารู้ชีวิตในชีวิตขั้นที่ 2 ขั้นต่อไปก็คือคิดว่าที่ไปยึดไปแบกนี่ก็เพราะเรามีความโง่ไม่รู้จริงไม่เข้าใจ ไม่มีปัญญา มีอวิชา มีตัณหา มี อุปปาทาน ยึดในขันธ์ทั้ง 5 ที่เรียกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณที่กลายเป็นดินน้ำ ลม ไฟ เราแบกมันไว้ทั้งตัว อย่างนี้เรียกว่ารู้ชีวิตในชีวิตขั้นที่ 3 รู้ต่อไปว่าเหตุปัจจัยของการเกิดความทุกข์ ทรมานเดือดร้อนทั้งกาย วาจา ใจ ดินน้ำลมไฟมันเป็นเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ สรุปลงตรงที่ว่าเพราะเรามีความโง่จริงๆ ขั้นสุดท้าย ดับความโง่เสีย ให้เหลือแต่ปัญญาคือตัวรู้ ที่เรากำลังยืนรู้อยู่นี่มันก็จะเกิดการเรียนรู้ชีวิตในขั้นดินน้ำลมไฟ ทั้งหมดมี 4 ขั้น เป็นอย่างนี้ทุกเรื่อง การเรียนรู้ชีวิตต้องมี 4ขั้นแบบนี้
โดยธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อมีตัวรู้แล้วมันก็อยากรู้ นิสัยมนุษย์ไม่เคยชอบความหยุดนิ่ง เพราะมันมีตัณหาอยู่เป็นพื้นฐาน เมื่อมีตัวรู้แล้วก็ยังไม่สามารถกำจัดตัณหาเพราะรากเหง้าของตัณหาคืออวิชชาความไม่รู้ยังฝังอยู่ในกมลสันดานในไขกระดูก รู้แค่นี้ยังไม่สามารถกำจัดตัณหาได้ เป็นเพียงแค่ตัวรู้เฉพาะหน้า เป็นเพียง แค่ช้างกระดิกหู แค่งูแลบลิ้นไปแว๊บๆหนึ่งเท่านั้น แต่เราก็สามารถพิสูจน์ได้ว่าหน้าตาตัวรู้มันเป็นอย่างไร เรารู้จักตัวรู้แล้วต่อไปเราก็จะได้ใช้ท่านผู้รู้ท่านนี้ เพื่อเอาไปรับรู้สิ่งที่ควรรู้อย่างเหมาะสม
คำสั่ง.........กลับไปรู้อารมณ์นิ่งๆ เฉยๆ 5 นาที ให้รู้แล้วไม่คิดอะไร รู้เฉย รู้เฉยเท่านั้น จะลืมตาก็ได้ หรือหลับตา ก็ได้
คำสั่ง..........ครบ5นาทีแล้ว ทรงความรู้ไว้ หลับตาส่งความรู้สึกไปที่กะโหลกศีรษะ ดูที่กระดูกแก้มหน้าก่อน กระดูกแก้มขวา – ซ้าย กระดูกหน้าผาก กระดูกโหนกคิ้ว กระดูกริมฝีปากบน กระดูกริมฝีปากล่าง กระดูกคาง กระดูกกามซ้าย-ขวา กระดูกกะโหลกศีรษะด้าน ซ้าย-ขวา กระดูกกะโหลกศีรษะกลางกระหม่อม กระดูกกะโหลกศีรษะด้านหลัง กระดูกกะโหลกศีรษะติดท้ายทอย กระดูกข้อต่อคอ กระดูกหัวไหล่ซ้าย-ขวา กระดูกสะบัก ซ้าย-ขวา กระดูกท่อนแขนด้านบน กระดูกข้อศอก กระดูกท่อนแขนด้านล่าง กระดูกข้อมือ กระดูกฝ่ามือ กระดูกนิ้วมือปลายนิ้วมือดูว่ามีไอร้อนปรากฏไหม ไล่กลับกระดูกปลายนิ้วมือ หลังมือ ข้อมือ แขนด้านล่าง ข้อศอก แขนด้านบน หัวไหล่ ต้นคอ กะโหลกศีรษะด้านหลัง กลางกระหม่อม หน้าผาก โหนกคิ้ว 2ข้าง เบ้าตา โหนกแก้ม ริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง คาง กาม กกหู กระดูกศีรษะด้านหลัง ไล่ลงไปจนถึงต้นคอ กระดูกสันหลัง กระดูกก้นกบ กระดูกท่อนขาด้านบน กระดูกหัวเข่า กระดูกท่อนขาด้านล่าง กระดูกข้อเท้า หลังเท้า นิ้วเท้า ย้อนกลับมาหลังเท้า ข้อเท้า หน้าแข้ง หน้าขาไปที่ก้นกบ กระดูกสันหลัง ไปกระดูกซี่โครงด้านหน้า ลิ้นปี่ หน้าอก ไหปลาร้า กระเดือก ใต้คาง ปลายคาง ริมฝีปากล่าง ริมฝีปากบน
สูดลมหายใจ เข้าให้ลมซ่านไปทั่วลึกๆ
หายใจออก ผ่อนคลายเบาๆสบาย ยืดอกขึ้นหายใจเข้าอีกทีให้ลมซ่านไปทั่วผ่านไปทุกอณูของร่างกายไปถึงปลายนิ้วมือนิ้วเท้า แล้วค่อยๆผ่อนลมออกเบาๆสบายๆผ่อนคลาย
หายใจเข้า.........ภาวนาสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออก.......สัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
ลืมตา................ยกมือไหว้พระกัมมัฏฐาน แล้วนั่งลง