ทำไมโบราณาจารย์ท่านถึงได้ปลูกฝัง สั่งสอนให้ลูกหลานพยายามท่องจำให้คล่องปาก ขึ้นใจ
เราท่านทั้งหลายมาทำความเข้าใจในพรพาหุงทั้ง ๘ ห้องดูกันหน่อย
วันนี้ขอนำเสนอในห้องที่ห้า ความว่า
กัตตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจญกับนางจิญจมาณวิกา ผู้ซึ่งผูกไม้ไว้ที่ท้องแสร้งทำเป็นหญิงมีครรภ์ยืนด่าว่า ใส่ร้ายพระพุทธองค์ท่ามกลางที่ประชุมชน ทรงพิชิตนางด้วยวิธีสงบพระหฤทัย เป็นสง่าเฉยอยู่ดั่งพระจันทร์เพ็ญ ด้วยเดชแห่งองค์พระผู้พิชิตนางนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
เมื่อองค์พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจนมหาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาออกบวช มีดวงตาเห็นธรรมเป็นจำนวนมาก ยิ่งพุทธศาสนาแผ่ขยายไปมากเท่าไร พวกเดียรถีย์ ซึ่งเป็นนักบวชนอกพุทธศาสนา
พวกเดียรถีย์จึงคิดหาวิธีกำจัดพระพุทธองค์ โดยใช้สาวิกาผู้ใกล้ชิดนางหนึ่ง ชื่อ จิญจมาณวิกา ซึ่งเป็นหญิงรูปงาม ความงามของนางนั้นเปรียบได้ดังเทพอัปสรในสรวงสวรรค์ และเป็นหญิงพร้อมด้วยเล่ห์เหลี่ยมและมารยา
เดียรถีย์บอกอุบายให้นางจิญจมาณวิกาไปใส่ร้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งนางจิญจมาณวิกาก็รับอาสาทำตามแผนนั้น
เย็นวันนั้น นางก็แต่งตัวสวย นุ่งห่มผ้าสีเหมือนแมลงค่อมทอง ถือของหอมและดอกไม้ มุ่งหน้าไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร เดินสวนกับสาธุชนที่ฟังธรรมเสร็จและกำลังเดินออกมาจากวัด แล้วนางจึงแอบไปพักอยู่ในวัดของเดียรถีย์ที่อยู่ใกล้กับวัดพระเชตวัน
นางทำอยู่เช่นนี้หลายวันเข้า สาธุชนเห็นเช่นนั้นจึงถามว่านางจะไปไหน นางก็แสร้งตอบเป็นปริศนาว่า "ท่านจะรู้ไปทำไมว่าฉันไปไหน"
ครั้นเวลาเช้า นางก็แอบเข้าไปในวัดพระเชตวัน แล้วทำทีเป็นเดินออกมาจากวัดเพื่อกลับไปสู่พระนคร เดินสวนกับสาธุชนที่กำลังมุ่งหน้าไปทำบุญ ทำให้เข้าใจว่านางนอนค้างอยู่ในวัด
เมื่อมีคนถามว่านางไปนอนค้างอยู่ที่ไหนมา นางก็แสร้งตอบเป็นปริศนาอีกว่า "ท่านจะรู้ไปทำไม ว่าฉันไปพักที่ไหนมา"
นางจิญจมาณวิกาเพียรพยายามประพฤติเช่นนี้อยู่ ๑ - ๒ เดือน เมื่อมีผู้ถามทีนี้ นางเปลี่ยนเป็นตอบว่า "เราพักอยู่ในคันธกุฏีเดียวกันกับพระสมณโคดม"
ผู้คนก็เริ่มสงสัยว่าถ้อยคำที่นางจิญจมาณวิกาพูดนั้นเป็นจริงหรือไม่จริง บางคนไม่เชื่อในคำพูดของนาง แต่บางคนก็เริ่มสงสัยว่านางอาจจะพูดความจริง จึงเริ่มมีเสียงวิพากษ์และหนาหูขึ้นทุกวัน
เวลาผ่านไปเป็น ๓ - ๔ เดือน นางจิญจมาณวิกาก็เอาผ้ามาพันท้องให้นูนขึ้น ให้ผู้คนเข้าใจว่านางเริ่มตั้งครรภ์
ยิ่งเวลาผ่านไปนางก็ทำท้องให้ใหญ่ขึ้นจนเวลาผ่านไป ๘ - ๙ เดือน นางก็ผูกไม้กลมไว้ที่หน้าท้อง ใช้ผ้าห่มทับไว้ และใช้ไม้คางโคทุบหลังมือและหลังเท้าให้บวมโต ทำอาการให้เหมือนคนท้องแก่
วันหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมท่ามกลางสาธุชน อยู่บนพระแท่นที่ประทับ นางจิญจมาณวิกาก็ไปยืนอยู่ตรงหน้า กล่าวว่า "พระสมณะ พระองค์อย่ามัวแต่แสดงธรรมอยู่เลย บัดนี้หม่อมฉันครรภ์ครบกำหนดใกล้จะคลอดแล้ว ขอพระองค์ช่วยจัดหาสถานที่คลอดลูกของเราแก่หม่อมฉันด้วยเถิด หากพระองค์ไม่ทำเอง ก็ตรัสบอกพระเจ้าโกศล หรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือนางวิสาขา ให้ช่วยจัดสถานที่คลอดแก่หม่อมฉันด้วยเถิด"
พระพุทธเจ้าทรงหยุดแสดงธรรม ทรงมีพระอาการสงบนิ่ง พระพักตร์เรียบเป็นปกติ มหาชนที่มีศรัทธาในพระองค์ก็นิ่งอยู่ ส่วนผู้ที่มีศรัทธาไม่แก่กล้าก็เริ่มหวั่นไหว
ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีพระดำรัสตอบว่า "น้องหญิง คำที่เจ้ากล่าวมานั้น จะจริงหรือไม่ เราและเจ้าเท่านั้นย่อมรู้อยู่"
นางจิญจมาณวิกาก็ย้อนว่า "ก็ใช่ล่ะสิ เรารู้กันสองคน เพราะเราทำกันสองคนเท่านั้นนี่"
ขณะนั้นเอง บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ของท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการร้อนผ่าวขึ้นมาทันใด ทำให้ท้าวสักกเทวราชถึงกับสะดุ้ง ทรงตรวจดูก็ทราบว่า นางจิญจมาณวิกากำลังกล่าวตู่ใส่ความพระพุทธเจ้าอยู่ พระองค์จึงเสด็จมาพร้อมเทพบุตร ๔ องค์ ทรงรับสั่งให้เทพบุตรแปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ กลมๆ ที่อยู่หน้าท้องของนางจิญจมาณวิกา เมื่อเชือกถูกตัดขาดพร้อมกับเกิดลมพัดขึ้นตีผืนผ้าปลิวสะบัด ไม้กลมที่ทำให้คล้ายท้อง ก็พลัดตกลงหลังเท้าขอนางจิญจมาณวิกาจนปลายเท้าทั้ง ๒ ข้างแตกจนเลือดสาด
มหาชนที่เข้าฟัธรรมรู้ความจริง พากันทุบตีขับไล่นางจิญจมาณวิกาออกมาจากพระวิหารด้วยความโกรธ นางจิญจมาณวิการีบวิ่งหนีออกมาจากมหาวิหาร แต่ครั้นออกไปพ้นจากพระจักษุของพระพุทธองค์ พระธรณีหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์ ก็ไม่อาจรองรับกรรมอันชั่วช้าของนางได้ จึงแยกออกเป็นช่อง เปลวไฟจากนรกก็พวยพุ่งขึ้น มาดูดร่างนางจิญจมาณวิกา ลงไปรับโทษฑัณฑ์ในอเวจีมหานรกทันที
มองในมุมธรรมาธิษฐาน ความอิจฉาริษยาเมื่อมีอยู่ในผู้ใดไม่เคยทำให้ผู้นั้นสงบสุข รุ่งเรืองเจริญได้เลย
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พ้นแล้วซึ่งอำนาจแห่งวัฏฏะ ย่อมไม่รู้สึกอะไรกับแรงบีบรัดจากภัยแห่งวัฏฏะ
คำกล่าวร้าย คำว่าร้าย คำใส่ร้าย ของนางจิญจมาณวิกา ต่อหน้ามหาชนจึงไม่มีผลอะไรกับพระพุทธองค์
ทั้งยังทรงโต้ตอบด้วยพระกิริยาที่สุภาพ เรียบร้อย และหากจะมองในมุมแห่งข้อธรรม ก็ต้องมองว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระขันติธรรมอันยิ่ง ทรงใช้ความสงบกาย สงบวาจา สงบใจ เข้ากำราบความอิจฉา ริษยาของนางจิญจมาณวิกา
แต่ถ้าจะมองในมุมอริยธรรมก็ต้องมองว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงหลุดพ้นแล้วในสังขารทั้งปวง
“แล้วจะมีอะไร ทำร้ายพระองค์ได้อีกกระนั้นหรือ”