ทำไมโบราณาจารย์ท่านถึงได้ปลูกฝัง สั่งสอนให้ลูกหลานพยายามท่องจำให้คล่องปาก ขึ้นใจ
เราท่านทั้งหลายมาทำความเข้าใจในพรพาหุงทั้ง ๘ ห้องดูกันหน่อย
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
พระจอมมุนีทรงมีชัยชนะต่อพญามารผู้นิมิตแขนมากตั้งพัน อีกทั้งยังถืออาวุธครบทุกมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมขละ พร้อมทั้งเสนามาร ผู้ซึ่งมีงูออกมาจากร่างกาย พากันลุกรุมล้อมพระจอมมุนี ทั้งยังส่งเสียงโห่ร้องก้องกึก เพื่อรุกไล่ให้พระองค์ลุกหนี ออกจากรัตนบัลลังก์ที่ทรงกระทำความเพียรในค่ำคืนวันตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ องค์พระจอมมุนี ทรงใช้ธรรมวิธีทานบารมี เข้าต่อกรกับพญามารและเสนามาร
โดยทรงยกเอาทานบารมีที่ทรงเคยกระทำมาดีแล้วตั้งแต่อดีตชาติในสี่อสงไขย แสนมหากัป อันมีพระธรณีเป็นพยานรับรู้ ในทานที่ทรงบำเพ็ญ ทุกครั้งก็จักทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกอุทิศผลบุญให้แก่สรรพสัตว์
เรื่องนี้ ท่านกล่าวเอาไว้เป็นบุคลาธิษฐาน คือ การยกเอาบุคคลเป็นที่ตั้งว่า ในเวลาที่พระจอมมุนี ทรงยกเอาทานบารมี มาเป็นเครื่องต่อกรกับพญามารและบริวารมารนั้น
ทรงอ้างพระธรณีเป็นพยานรับรู้ทุกครั้ง ที่ทรงบำเพ็ญทาน
พระนางธรณีจึงปรากฏกายตรงด้านหน้า แล้วได้บีบมวยผมที่ซึมซับ ดูดรับ เอาน้ำอุทิศผลทานนั้น ออกมาให้พญามารและเสนามารได้รู้เห็น จนกลายเป็นอุทกธาราไหลบ่าเนืองนอง ดุจดังเขื่อนแตกจนพัดพาพญารมารกระจัดกระจาย พ่ายไปเสียสิ้น
และหากจะว่ากันด้วยหลักธรรมาธิษฐาน คือ การยกเอาธรรมเป็นที่ตั้งเป็นหลักแล้วอธิบาย
ก็ต้องอธิบายว่า การที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะได้ทรงนั่งกระทำความเพียรทางจิต ณ โคนต้นอัมพฤกษ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา มหานที ในเวลายามดึกของราตรี ก่อนตรัสรู้
จิตของพระองค์คงต้องเผชิญต่อตัณหา ความทะยานอยาก ความคับแค้น ความเห็นแก่ตัว อุปาทาน ความยึดถือ ที่เข้ามารุมเร้า จนทำให้พระองค์ต้องทรงยกเอาการให้ การเสียสละ การบริจาค มาเป็นเครื่องมือขจัดความทะยานอยาก ความคับแค้น ความเห็นแก่ตัว ความละโมบ ความยึดถือ ซึ่งเป็นประดุจดังมารกองใหญ่ให้ปราชัยลงไปได้ ด้วยอำนาจแห่งการให้ การเสียสละ นั้นคือ ทานบารมี
โบราณาจารย์ท่านจึงสอนให้เจริญ ให้ท่องบทพาหุงบทนี้ จนขึ้นใจ เพื่อเวลาใดที่เราต้องเผชิญจดจ่อต่อความทะยานอยาก ความเห็นแก่ตัว และยึดถือ อันเปรียบประดุจดังมาร ก็ให้เอาชนะด้วยการให้ การเสียสละ การแบ่งปัน
ชัยชนะก็จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตตน
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ