แสดงธรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชา
ปกิณกะธรรม
วันพฤหัสบดีที่ 17  กรกฎาคม  2551

เจริญธรรมเจริญสุขท่านสาธุชนคนดีที่รักทุกท่าน  วันนี้เป็นวันบูชาใหญ่  วันอาสาฬหบูชา  พวกเราชาวพุทธบริษัท  หลายคนก็คงจะทราบความหมาย  ที่มาที่ไปของวันอาสาฬหบูชาแล้ว  คือวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้า  ทรงแสดงปฐมเทศนา   ยังพระธัมมจักรให้หมุนไป  เคลื่อนไป  จนทำให้บังเกิดพระสงฆ์องค์แรกของโลก  มีนามว่าพระอัญญาโกณฑัญญะ  วันนี้เมื่อสองพันกว่าปีก่อน  ได้ทำให้สังฆรัตนะอุบัติขึ้น  ทำให้ครบรัตนตรัยทั้งสาม  มีพุทธรัตนะ  ธรรมรัตนะ  สังฆรัตนะ  ด้วยอำนาจแห่งพระธรรม  อันมีนามว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  มีใจความสำคัญอยู่ สองประการคือ  อริยสัจสี่  กับมรรคมีองค์แปดประการ   อริยสัจสี่ ชี้ให้เห็นเบื้องต้นของความเป็นทุกข์  เกิดขึ้นเป็นทุกข์  ตั้งอยู่เป็นทุกข์  แตกสลายเป็นทุกข์  วันนี้ตั้งใจจะมาแสดงธรรมและรักษาคนไข้  มีเวลาจะเจริญมนต์ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  เพื่อระลึกสำนึกถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า  พระธรรม  และพระสงฆ์  ในวันนี้เมื่อสองพันกว่าปีก่อน  พระองค์ทรงแสดงธรรม ณ. ป่าอิสิปตนมฤคธายวัน  ใกล้เมืองพาราณาสี   ให้พระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5  ได้สดับตรับฟังพระธรรมเทศนา  ยังให้พระอัญญาโกณฑัญญะผู้มีบารมีธรรมแก่กล้าเหมาะสมบังเกิดธรรมจักษุ  ใจความสำคัญของธัมมจักกัปปวัตตนสูตรก็อย่างที่กล่าว  มีเหตุปัจจัย 2 อย่าง  คืออริยสัจสี่  และมรรคมีองค์แปด ประการ  ในอริยสัจสี่    เริ่มต้นได้ทรงแสดงชี้ให้เห็นความหมายของความทุกข์ และ ชีวิตที่ต้องประสบพบกับความทุกข์  ซึ่งจะแตกต่างจากศาสนาอื่น  ศาสนาอื่นเวลาเขาแสดงธรรมเชิญชวนให้เคารพศรัทธาเขาจะชี้เหตุปัจจัยแห่งความสุข  ว่าทำอย่างนั้นเป็นสุข  ทำอย่างนี้เป็นสุข  แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงมีปัญญาญาณหยั่งรู้  ทรงเป็นพระสัพพัญญู  รู้เหตุปัจจัยว่าความสุขจริงๆแล้ว  เพียงแต่ทำความทุกข์ให้ลดลง  ความสุขก็จะเข้ามา    แต่ถ้าเมื่อใดที่ความทุกข์ไม่ลดลง  ให้ไปทำ ให้ไปแสวงหา  ให้ไปกระเสือกกระสนดิ้นรนทุรนทุรายแทบตายมันก็ไม่เกิดสุข  หรือจะเพียรพยายามทำมันก็สุขชั่วครั้งชั่วเผลอ  แค่งูแลบลิ้นแค่ช้างกระดิกหูเฉยๆ  ไม่ใช่สุขยั่งยืน  ไม่ใช่สุขยาวนานถาวร  ถ้าอยากให้ชีวิตเป็นสุขจริงๆก็ต้องทำให้ทุกข์มันดับ  ทำให้ทุกข์มันลด  ทำให้ทุกข์มันหาย  ทำให้ทุกข์มันผ่อนคลาย  ทำให้ทุกข์มันเบาบาง  ทำให้ทุกข์มันหมดสิ้นไป   แล้วความสุขก็จะอุบัติเกิดขึ้นมา  เหมือนกับมีมืดก็จะไม่มีสว่าง  เมื่อใดที่เราต้องการให้ความสว่างเกิดก็ต้องทำให้มืดหายไปแสงสว่างก็จะเกิดขึ้น  นั่นแสดงว่าความสุขกับความทุกข์มันมีอยู่เดิมแล้ว  มันเป็นของดั้งเดิมที่มีอยู่  เราไม่เกิด  ความทุกข์มีไหม.......ถึงเราไม่เกิดมันก็มีทุกข์ของมันอยู่แล้ว  แม้เราไม่อุบัติไม่เกิดในโลกใบนี้  ความทุกข์มันก็ยังคงมีอยู่คงที่ของมันอยู่  มันยังยั่งยืนอยู่  เมื่อใดที่ความทุกข์มันดับไป  ความสุขมันก็เกิดขึ้น  เมื่อใดที่ความสุขมันดับ  ความทุกข์มันก็โผล่มาแทนที่  ถ้าจะทำให้ความสุขมันเกิดขึ้นอย่างยั่งยืนจีรังยาวนาน  ก็คือทำให้ทุกข์มันลดลง  ทำให้ความทุกข์มันบรรเทาเบาบางลง  ชี้ว่าเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์มันเกิดจากความชราเป็นทุกข์  ความเจ็บเป็นทุกข์  ความพลัดพรากจากของรักของชอบใจเป็นทุกข์  ความตายเป็นทุกข์  แม้ไม่ได้ดั่งใจหวังก็เป็นทุกข์  ได้ดั่งใจหวังแล้วต่อมาไม่พึงปรารถนารู้สึกเบื่อหน่ายก็เป็นทุกข์  แม้ได้มาแล้วไม่เบื่อหน่ายแต่ก็เสียเวลากับการดูแลบำรุงรักษา  ทะนุถนอม  กล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูก็เป็นทุกข์อีก ฉะนั้นทุกข์มันเกิดขึ้นตลอดเวลา  ได้ก็เป็นทุกข์  ไม่ได้ก็เป็นทุกข์  มีก็เป็นทุกข์  ไม่มีก็เป็นทุกข์   เหตุปัจจัยแห่งความทุกข์ก็คือเกิด แก่  เจ็บ แล้วก็ตาย  เหตุใหญ่ๆปัจจัยต่างๆก็คือ  ความไม่เรียนรู้ที่เรียกว่าอวิชชา  ทำให้เกิดตัณหา
ความทะยานอยาก  อุปาทานความยึดถือมั่นก็เป็นเหตุปัจจัยทำให้เรามีทุกข์มากขึ้น  เพิ่มพูนความทุกข์เยอะขึ้น  แล้วก็ต้องมาทุกข์เดินไป  ทุกข์นั่งอยู่  ทุกข์นอนอยู่  ฉะนั้นความทุกข์เหล่านี้มันเกิดอยู่ทุกขณะจิตของเรา  เมื่อใดที่จิตของเราไปปรุงแต่งยึดถือมัน  เมื่อใดที่มีพันธนาการหรือปัญหาทางจิต  มันก็สร้างความทุกข์เพิ่มพูน  แม้ที่สุดจิตไม่มีพันธนาการทางจิต   ทุกข์ทางกายมันก็มีอยู่แล้ว  นั่นก็คือเมื่อยเป็นทุกข์  อิ่มเป็น  หิวเป็นทุกข์  กระหายเป็นทุกข์   ร้อนเป็นทุกข์  หนาวเป็นทุกข์  นั่นเป็นเหตุปัจจัยของกาย  ทุกข์มันมีอยู่ 2 อย่าง  นั่นก็คือทุกข์ทางกายกับทุกข์ทางใจ  หลายคนอาจจะบอกว่าทุกข์ทางอารมณ์  แต่อารมณ์จริงๆแล้วก็มาจากใจ  ทุกข์ทางกายมันเป็นของคงที่  มันกำจัดไม่ได้  อย่างดีทำได้ก็แค่บรรเทา  เช่นร้อนเป็นทุกข์  เราจะบรรเทาความร้อนได้ด้วยการอาบน้ำ  ทำให้กายเย็น  ไปกำจัดไม่ได้  มันแค่บรรเทา  อีกสักระยะหนึ่ง  ความร้อนมันก็มาอีก   ร่างกายมีแต่คราบเหงื่อไคล  มีกลิ่น  สกปรก  มีเชื้อโรครอบตัว  เราต้องกำจัดมันอยู่เรื่อยๆ  ถ้าใครเข้าไปในห้องน้ำวัด  หลวงปู่จะเขียนว่า  ภาระกรรมที่เกิดจากขันธ์ทั้ง 5  ที่เจ้าชำระล้าง กำจัดมลทิน มันไม่รู้จักจบสิ้น  เมื่อใดที่เรายังมีขันธ์ทั้ง 5   แบกอยู่  แต่เมื่อใดที่ขันธ์ทั้ง 5 มันสูญดับไป  ภาระกรรมเหล่านี้มันก็จะบรรเทาเบาบาง   แต่ขันธ์ทั้ง 5ที่มีอยู่มันไม่ใช่มีรูปขันธ์เพียงอย่างเดียว  แต่มีนามขันธ์อยู่ในใจเราด้วย  เช่นมีอุปาทานความยึดถือ  ชาติ ภพ ชรา  มรณะ  พยาธิ  มันจะกลับมาเกิด  แบกขันธ์ทั้ง 5  ต่อไปอีก  จริงๆแล้วมันเป็นอภิปรัชญา  เป็นเรื่องของปัญญาล้วนๆ  ถ้าไม่ใช่ปัญญาล้วนๆแล้วพระอัญญาโกณฑัญญะก็จะไม่มีดวงตาเห็นธรรม  เพราะคนระดับปัญจวัคคีย์ทั้ง 5  ถือว่าเป็นมหาฤษีเช่นพระอัญญาโกณฑัญญะเป็นพราหมณ์ผู้ทรงเวทย์  รู้คัมภีร์ไตรเพทและรุ่งเรืองเป็นผู้เข้าใจในตำราการดูทำนายทายทักลักษณะของมหาบุรุษ 32 ประการ  ฉะนั้นไม่ต้องพูดถึงเรื่องจิตสงบ  สมถะ  สมาธิท่านช่ำชองเชี่ยวชาญชำนาญอยู่แล้ว  แต่ก็ไม่สามารถจะหลุดพ้นจากอำนาจแห่งความทุกข์เดือดร้อน  เห็นเภทภัยแห่งความทุกข์และเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดทุกข์ได้  ฉะนั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงมาชี้ให้เห็น  โดยอิงอาศัยวุฒิปัญญา  โดยการชี้นำให้พระอัญญาโกญฑัญญะและปัญจวัคคีย์ทั้ง 5  ได้เข้าใจว่าความทุกข์มันมีมาจากความโง่  ความไม่รู้  ความอยาก  และความยึดถือ  สรุปรวมๆสั้นๆในหลักปฏิจจสมุปปันธรรม  หลักปฏิจจสมุปปันธรรมมีอวิชชาความโง่เป็นเบื้องต้น  มีความทะยานอยากเรียกว่าตัณหา  และมีความยึดถือที่เรียกว่าอุปาทาน  แม้นมันจะมีหลากหลาย  มีวิญญาณ  มีนามรูป  มีสฬายะตะนะ  มีผัสสะ  มีเวทนา  แต่ทั้งหมดทั้งหลายนี่มันจบลงตรง 3 อย่างที่ทำให้เกิดทุกข์ก็คืออวิชชา  ตัณหาและอุปาทาน  ฉะนั้นเมื่อใดที่เรามีความโง่...อยาก...ยึดถือ  แม้ความทุกข์ทางใจเราจะเบาบางโดยการกิน  การนอน  การอาบน้ำ การผ่อนคลายอิริยาบถ  การออกกำลังกาย  การแต่งตัว  การนวดเฟ้นบำบัดดูแลอุปถัมภ์บำรุงมันก็ตามที  แต่ที่สุดมันก็ยังทุกข์ใจอยู่  และใจที่เป็นทุกข์มันอาบน้ำไม่หาย  กินข้าวไม่คลาย  นอนก็ไม่สบาย  ดิ้นจนหนังกลับอยู่อย่างนั้นถ้ามีทุกข์ทางใจ   คนที่เป็นทุกข์ใจนี่นอนไม่หลับ  หลับเหมือนไม่หลับ  เพราะมันจะสะดุ้งนอนซมเหงื่อโทรมกาย  ทุรนทุราย  กระวนกระวาย  ความทุกข์ทางกายมันง่ายต่อการปฏิบัติดูแลบำรุงรักษา  แต่ความทุกข์ทางใจนี่ ดื่มน้ำไม่คลาย  อาบน้ำไม่หาย  เคี้ยวข้าวไม่สบาย  ผ่อนคลายอย่างไรก็ไม่ได้  มีอยู่วิธีเดียวที่จะกำจัดทุกข์ทางใจได้คืออาศัยพระธรรม  พระธรรมจึงมีคุณศัพท์เป็นเครื่องชำระและฟอกจิต  ถ้าเมื่อใดที่เราปฏิเสธพระธรรม  เราจะไม่มีโอกาสที่จะกำจัดความทุกข์ทางใจได้เลย  ทุกข์ทางใจนี่เป็นรังของโรคร้ายที่ทำให้เกิดทุกข์ทางกาย  ถ้าเมื่อใดที่เรามีทุกข์ทางใจ  มันจะนำพาโรคมาสู่กายเยอะแยะมากมายเช่น  โรคกระเพาะ  โรคความดัน  โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมองโป่งพอง  ทุกข์มากๆใจทุรนทุรายเร่าร้อนร่างกายมันก็สูบฉีดเลือด  เส้นเลือดก็จะใช้งานเยอะขึ้น  ความดันในหลอดเลือดก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นโรคความดันตามมา   ต่อมาก็จะทุรนทุรายนอนไม่หลับก็จะเป็นโรคจิตประสาทตามมา  โรคนอนไม่หลับเป็นโรคอย่างหนึ่ง  วิตกกังวลก็เป็นโรคอย่างหนึ่ง   จิตประสาทก็เป็นโรคอย่างหนึ่ง  ต่อมาก็จะตามมาด้วยธาตุในกายบกพร่อง  และตามมาด้วยอาหารไม่ย่อย  ท้องอืด  ท้องเฟ้อ  นอนไม่หลับกระสับกระส่าย  ขับถ่ายไม่สะดวกสารพัด  เพราะมีปัญหาของโรคที่เกิดจากใจ  นี่ยังวิเคราะห์หยาบๆ  ถ้าวิเคราะห์ละเอียด  แม้กระทั่งผมหงอก  เส้นผมร่วง  รอยที่เกิดบนใบหน้าก็เป็นโรคที่เกิดจากใจไม่สงบ  สังเกตดูบุคคลที่เบิกบานแช่มชื่นจะแก่ยาก  คนที่จิตใจสงบเย็นเบิกบานแจ่มใสจะไม่ค่อยแก่  แต่คนที่จิตใจหมกมุ่นว้าวุ่น กลัดกลุ้มร้อนรุ่มทุรนทุรายอยู่ตลอด  อายุ 20 ก็เหมือนคน 40  ความแก่มันเข้ามาถามหา  เขาเรียกแก่เกินวัย  ไม่ใช่แก่แดดแก่ลมนะ  คนที่จิตใจแจ่มใสเบิกบาน อายุ 60 ก็ยังดูเหมือนไม่แก่  เพราะมีจิตใจเบิกบานแจ่มใส  ผมเผ้าก็สละสลวยสายตามีประกายแวววาว ผิวหน้าก็ผุดผ่องแจ่มใส  หลวงปู่สมัยก่อนไปธุดงค์อยุ่แถวถ้ำพระโพธิสัตว์  เจอปะขาวคนหนึ่งอายุดูน่าจะอ่อนกว่าหลวงปู่  ทำไปทำมาปาเข้าไป 130แล้วยังแข็งแรง  เดินไวยังกับลมพัด  จิตใจเบิกบานแจ่มใสหัวเราะทั้งวัน  บางวันก็นั่งคุยกับหนอน  ตุ๊กแก  แมลง  หลวงปู่บางวันก็ยังคุยกับหมู คุยกับวัว  คุยกับปลา คุยกับเสือ  คุยกับนก  จิตใจมันจะเบิกบาน  ถ้าวันทั้งวันหน้าหงิกหน้างอ  ทำจิตใจห่อเหี่ยว  ตรมเศร้า ยิ่งเศรษฐกิจการเมืองน่าปวดหัว  ไปคิดมากๆก็ทำให้ปวดหัวเดือดร้อน  อย่าไปแบก  ไปผูกมันมากเพราะว่าในโลกทุกเรื่องมันไม่ใช่ของเรา  ทุกเรื่องมีเหตุปัจจัยเป็นเครื่อง  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่ เดี๋ยวมันก็ดับไป  ถ้าเข้าใจ อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  มันทำให้แก่ยาก  ถ้าอยากจะมีวิชา มีคาถา  มียาวิเศษที่กินแล้วไม่ให้แก่  ไม่มีอะไรมากเลยแค่ท่อง  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ผัวมา 2 ทุ่มก็อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  รู้จักมองมันอย่างนี้บ้าง  อนิจจัง ทุกขัง  อนัตตา  ถ้ารู้ว่าความทุกข์มันเป็นเรื่องเดือดร้อนจะไปแบกมันไว้ทำไมก็โยนๆมันทิ้งไปเสียบ้าง  จะแบกทำไม  ลูก ผัว  ครอบครัว สมบัติ  ญาติ เรื่องราว  ข่าวสาร ข้อมูล  หลวงปู่เสพทุกเรื่อง  แต่ไม่ยึด  ถ้าเราไปแบกไว้ก็เป็นทุกข์ ไปผูกไปยึดพันธนาการจนชีวิตไม่มีอิสระ  คำว่าพุทธอิสระแปลว่ารู้แล้วจึงตื่น  รู้แล้วจึงปลดเปลื้อง  รู้แล้วผ่อนคลายแจ่มใส  และวันนี้เป็นวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงสุดยอดของปัญญาเรียกว่าวุฒิปัญญา  ไม่เคยมีใครแสดงมาเก่าก่อนหน้านี้เลย  แต่พระองค์ทรงนำเรื่องนี้มาแสดงเพื่อให้เราได้ปลดเปลื้องพันธนาการแห่งจิตใจ  แค่ความทุกข์อย่างเดียวเมื่อทำให้มันลดลง ความสุขก็เกิดขึ้นพันธนาการและพันธะทางใจมันก็จะอันตรธานหายไป  แล้วเหตุปัจจัยแห่งความทุกข์คือความโง่ ความอยาก และความยึดถือคือ  อวิชชาตัณหาอุปทาน  (ไม่รู้  อยาก  โง่)...(โง่   อยาก   ยึดถือ).....(โง่   อยาก   ยึดถือ ) พอมีคำว่าโง่  อยาก  ยึดถือ  มันก็จะมีคำว่าอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  คาถา 3 คำที่ทำให้ไม่แก่  เมื่อมีคำว่าโง่   อยาก  ยึดถือ  เราก็ต้องท่องคำว่า  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา   อนิจจังก็คือมันไม่เที่ยง  ความโง่นี่มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมันก็ฉลาด  ความฉลาดก็มีไม่คงที่ เดี๋ยวก็เผลอโง่อีก  ถ้าเข้าใจความไม่เที่ยง  อนิจจังคือความไม่เที่ยง  ทุกขังก็คือความเป็นทุกข์เดือดร้อนทรมาน  อนัตตาคือความไม่มีตัวตน  ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีตัวตน....ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีตัวตน.....ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีตัวตน  โง่  อยาก  ยึดถือ  ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ไม่มีตัวตน  รู้จักท่องภาวนาอย่างนี้ไว้บ่อยๆ  มันก็สามารถทำให้เรากลายเป็นสังฆรัตนตรัย  เพราะเหตุปัจจัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงไว้  ในอริยสัจสี่  ก็คือความทุกข์  เหตุเกิดทุกข์และความดับทุกข์  และหนทางแห่งความดับทุกข์นั้นก็คือมรรคมีองค์แปดประการ  ที่เริ่มต้นด้วยสัมมาทิฏฐิคือความเห็นชอบ  ความดำริชอบ  การงานชอบ  เจรจาชอบ  ความเพียรชอบ  การตั้งสติชอบ  การมีสมาธิชอบ  ความหมายจากมรรคมีองค์แปด  มันเริ่มต้นจากคนทำก็ชอบ  คนดูก็ชอบ  ความชอบนี้มันทำให้ทุกข์ผ่อนคลาย  ถ้าชอบแล้วทุกข์มันยัง
ยึดถือ  มันยังรัดรึงผูกพัน  มันยังเจริญเติบโตอยู่  แสดงว่าไม่ชอบแล้ว  ตัวเราก็ไม่ชอบ  ทุกข์มันไม่ได้ผ่อนคลาย  ทำความเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นของทุกข์อย่างนี้   ต่อไปและในที่สุดของชีวิต  โง่  ออยาก  ยึดถือ  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา....โง่  อยาก  ยึดถือ  ไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  ไม่มีตัวตน  วันนี้เมื่อสองพันกว่าปีก่อน  พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธัมมจักกัปวัตตนสูตรจบแล้ว  พรหม  มารเทวดามาประชุมรวมกันมหาศาล  ท่านว่าเอาขนนกยูงมาจุ่มในน้ำมันงาแล้วสลัดไปในอากาศ  หยดน้ำมันงาที่กระเด็นไปในอากาศไม่อาจจะตกต้องในปฐพีดลได้  เหตุที่ว่าไปต้องเอารูปกายของเทวดาที่มาฟังธรรม  มันหนาแน่นจนไม่มีช่องว่างให้น้ำมันงาหยดลงพื้นได้  มีเทวดามากมายท่านว่ามีถึง840000องค์  และบรรลุธรรม 84000ตนจากการฟังพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร  และพระอัญญาโกณฑัญญะก็ได้บรรลุพระโสดาบัน  มีดวงตาเห็นธรรม  ท่านเห็นว่าสรรพสิ่งในโลกมันเกิดขึ้นในเบื้องต้น  มันไม่เที่ยงเป็นทุกข์  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  และดับไป  ให้เข้าใจอย่างนี้   พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงส่งเสียงอุทานบันลือสีหนาทประกาศสัจจะวาจาว่า  อัญญาสิ  วะตะโภ  โกญฑัญโญ  อัญญาโกญฑัญญะรู้แล้วหนอ  เป็นความรู้ที่ไม่เคยมีใครรู้เมื่อยุคสองพันกว่าปี  เลยทำให้เกิดสังฆรัตนะ  รุ่งขึ้นเป็นวันเข้าพรรษา  พระองค์ก็ทรงนำพาปัญจวัคคีย์ทั้ง5  พร้อม พระอัญญาโกญฑัญญะที่บวชเป็นพระสงฆ์แล้ว  คำว่าพระสงฆ์นี่คือเป็นของจริง  พระสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันเขายังเรียกสมมุติสงฆ์  แต่พระสงฆ์ที่มีคุณธรรมอันประกอบไปด้วย  8คู่  4 คู่  ก็คือเป็นพระโสดา  พระสะกิทาคา  พระอานาคา  พระอรหันต์แม้รูปเดียวก็เป็นพระสงฆ์  แต่ปัจจุบันนี้มีแต่สมมุติสงฆ์  ต้องมี 4 รูปขึ้นไปรวมกันจึงเรียกพระสงฆ์  ถ้าองค์เดียวไม่เรียกพระสงฆ์ เรียกว่าภิกษุ  เพราะเหตุว่ายังไม่ได้เป็นพระโสดา  พระสะกิทาคา  พระอานาคา  พระอรหันต์  แต่ถ้าท่านผู้นั้นเป็นพระโสดาบัน เป็นพระสะกิทาคา  เป็นพระอานาคา หรือเป็นอรหัตมรรค  อรหัตผล  ก็ถือว่าเป็นพระสงฆ์ ที่บอกว่า 4คู่ ก็คือ  โสดาแบ่งเป็น2ชั้น มีโสดาปัตติมรรคกับโสดาปัตติผล  พระอัญญาโกญฑัญญะเป็นโสดาปัตติผลเพราะเป็นพระสงฆ์รูปแรกของโลกในยุคนั้น  ทำให้เกิดรัตนะครบสมบูรณ์เป็นแก้วสามประการคือพระรัตนะตรัย  พระองค์ส่งพระปัญจวัคคีย์ทั้ง5 เดินทางไปจำพรรษาเพราะเข้าฤดูฝนพอดี  ณ.สวน ใกล้เมืองพาราณาสี  ในช่วงฤดูพรรษาพระองค์ก็ทรงแสดงสามัญลักษณะคืออนัตตลักขณสูตรเป็นสูตรที่ทรงชี้ให้เห็นถึงความไม่เที่ยง  เป็นทุกข์  เกิดขึ้น  ตั้งอยู่  ดับไปที่เรียกว่า  อนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  ทำให้พระปัญจวัคคีย์บรรลุพระอรหันต์เมื่อ2000กว่าปีก็คือเห็นอนิจจัง  ทุกขัง  อนัตตา  พระองค์ทรงแสดงธรรมสามัญลักษณะอยู่3เดือนในฤดูเข้าพรรษา  พระอัญญาโกณฑัญญะ วัปปะ  ภัททิยะ  มหานามะ  และอัสชิ พระปัญจวัคคีย์ก็จะผลัดกันถามว่า อะไรมันไม่เที่ยงบ้าง  อะไรมันเป็นอนิจจังบ้าง อะไรมันเป็นทุกขังบ้าง  อะไรมันเป็นอนัตตาบ้างอย่างนี้เป็นต้น  เป็นเหตุปัจจัยของวันนี้เมื่อ2000กว่าปี  ถือว่าเป็นวันแห่งชัยชนะพญามาร   พระพุทธเจ้าทรงชนะก็ด้วยคุณธรรม และคุณสมบัติที่พระองค์ทรงสั่งสมมาสี่อสงไข กับแสนมหากัป  แต่โดยปุถุชนคนธรรมดาๆดังเช่นพระอัญญาโกญฑัญญะเป็นพระสาวกปฐมสาวกองค์แรก  ท่านก็ต้องมีบารมีสะสมอย่างน้อยก็สองอสงไขกับแสนมหากัปที่สั่งสม    
อบรมมาจนกระทั่งต้องตั้งสัจจะอธิษฐานว่าขอข้าพระเจ้าจงเป็นปฐมสาวก  แต่ละองค์ๆต้องมีบารมีสั่งสมมา  การมาเป็นปฐมสาวกได้ไม่ใช่ง่ายๆ  ทุกครั้งที่ทำบุญก็ต้องอธิษฐานขอข้าพเจ้าจงเป็นปฐมสาวกๆใช้เวลาถึงสองอสงไขกับแสนมหากัป พระพุทธเจ้าสะสมสี่อสงไขแสนมหากับ  ปฐมสาวกสองอสงไขแสนมหากัป  แม้จะเป็นพุทธมารดา  พุทธบิดาก็ต้องสั่งสมบารมีให้มากกว่าพระพุทธเจ้า  ฉะนั้นท่านที่รักทั้งหลายวันนี้มารวมประชุมพร้อมกันก็เพื่อสดับตรับฟังพระสัจจะธรรมพระธรรมเทศนา  ปฏิบัติธรรมเป็นปฏิบัติบูชา เป็นการบูชาใหญ่ถวายต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า  และเป็นการสั่งสมบุญ  คุณงามความดี บารมีให้เกิดขึ้นกับตน ที่เรียกว่าเนกขัมปฏิบัติ  เพราะเนกขัมมันทำให้เราเจริญศีล  ปฏิบัติในศีล  มีการทำทาน  ที่สูงสุดของทานก็คือการอภัยทาน   เป็นทานที่ให้ด้วยการเสียสละ
การแสดงพุทธมามะกะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติในวันเข้าพรรษา รุ่งขึ้นก็เป็นวันปาวารนาอนุญาตให้ว่ากล่าวตักเตือนกัน   ต้องยอมรับว่าหลายคนอีโก้ยังสูง  เวลาพูดกันสอนกันเตือนกันจึงไม่ค่อยฟัง  ทั้งๆที่รู้ตัวว่าผิดก็ยังหยิ่งผยองจองหอง เป็นคนไม่ยอมรับความจริง  มันก็ทำให้คนไม่อยากเข้าใกล้เรา  เพราะเราเป็นคนว่ายากสอนยาก  การแสดงปาวารนาที่จริงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของพระสงฆ์  แต่ถ้าชาวบ้านทำได้  ก็ถือเป็นเรื่องงดงามดีงาม  มันทำให้สังคมเตือนกัน  โอภาปราศรัยกัน  พูดอบรมสั่งสอนกันด้วยจิตเมตตาหวังดี  ก็จะไม่มีโกรธกัน  ไม่มีเรื่องทะเลาะบาดหมางกัน  สุดท้ายมีอะไรก็ให้อภัยกัน  มันก็จะตรงกับคำว่าอภัยทาน  ซึ่งเป็นบารมี  เรามีศีลบารมี  เราก็มีทานบารมี  เพราะเนกขัมมะมันทำให้เรารักษาศีล  บริจาคทาน  และทานสูงสุดก็คืออภัยทาน  เมื่อมีทานบารมีเราก็จะปฏิบัติในเนกขัมมะอย่างซื่อตรง  และศึกษาเรียนรู้สั่งสมอบรมเจริญปัญญา  เป็นปัญญาบารมีและมีวิริยะความเพียรอันยิ่ง  ในขณะเพียรก็ต้องมีขันติความอดทนอดกลั้นทั้งกายและจิตใจ  เรียกว่าขันติบารมี  เรามีขันติแล้วก็ต้องมีสัจจะความจริงใจ อธิษฐานสิ่งที่ตั้งไว้ในใจอย่างซื่อตรงว่า 3 เดือนต่อไปนี้  เราจะทำแต่เรื่องดีงาม งดงามให้กับจิตวิญญาณได้ส้องเสพ จิตนี้มันมีแต่เรื่องราคะ  โทสะ  อวิชชา  ตัณหาอุปาทานมาเนิ่นนานยาว  เราลองเปลี่ยนวิถีชีวิต  วิถีคิด วิถีเสพแห่งจิต ให้มันเสพกุศลบุญคุณงามความดี  ความมีน้ำใจให้อภัยไม่เห็นแก่ตัวกันบ้าง  โลกและสังคมมันจะได้ผ่อนคลายโปร่งเบาสบาย  คนในครอบครัวก็จะมีน้ำใจแก่กัน  ไม่เอารัดเอาเปรียบกัน  ไม่ยื้อแย่งแข่งดีกัน  ไม่ทะเลาะวิวาทบาดหมางกัน  อยู่ร่วมกันก็มีน้ำใจให้อภัยกันไม่เห็นแก่ตัว  นี่คือสิ่งที่ควรตั้งเอาไว้ในใจในช่วงฤดูพรรษา และรองสุดท้ายก็คือมีเมตตาต่อกันและรู้จักวางเฉยเสียบ้างในเหตุปัจจัยที่ไม่สบอารมณ์ไม่สมหวังที่เรียกว่าวางอุเบกขา  เพราะเนกขัมมะปฏิบัติมันทำให้เราทำบารมีทั้ง10ประการครบสมบูรณ์ ทศบารมีเกิดขึ้นกับใครมันจะทำให้กลายเป็นผู้นำวิญญาณทางชีวิต  ทางความคิด  ทางจิตวิญญาณได้  ทำบ่อยๆทำเรื่อยๆจากการสั่งสมอบรมจากสามัญสัตว์ก็กลายเป็นพระมหาโพธิสัตว์  สามัญสัตว์กับมหาโพธิสัตว์นั้นอยู่ในร่างเดียวกัน คราใดที่เราตระหนี่คับแคบเอาเปรียบเราก็คือสามัญสัตว์  คราใดที่เรามีเมตตา มีคุณธรรม มีคุณงามความดี มีน้ำใจไมตรี  รู้จักให้อภัยไม่เห็นแก่ตัว  เราก็จะกลายเป็นพระโพธิสัตว์  ถ้าจะขยับขึ้นมาเป็นพระมหาโพธิสัตว์เราก็ต้องเป็นผู้เจริญทศบารมีทั้ง10ประการให้มากๆ ฉะนั้นเราเลือกที่จะเป็นได้   เราเลือกเกิดไม่ได้แต่เราเลือกที่จะเป็นได้  ขึ้นอยู่กับที่เราจะฉลาดเลือกหรือโง่เลือก  คนโง่เลือกก็จะเกิดเป็นโจร  เป็นคนขี้โกง  เป็นคนชั่ว  เป็นคนเลว  เป็นนักการเมืองฉ้อฉล  เป็นตำรวจไม่ดี  เป็นทหารใช้ไม่ได้  เป็นทนายฉ้อฉล  เป็นคนชั่วในสังคมนี้  คนฉลาดเลือกก็จะเลือกเป็นนักการเมืองที่ดี  เป็นตำรวจที่ซื่อสัตย์  เป็นทหารที่ซื่อตรง   เป็นทนายที่ไม่ฉ้อฉลและช่วยชาวบ้าน  ถามว่าความโง่กับความฉลาดนี่เลือกได้ไหม  มันมีเหตุปัจจัย 2 อย่าง  ที่เราเกิดมาโง่ก็เพราะกรรมอย่างหนึ่งและไม่สั่งสมบุญบุพกรรมในปัจจุบันอย่างหนึ่ง  อย่างนี้เขาเรียกว่าผู้มีเหตุปัจจัย2อย่างที่ไม่ถูก  ที่เราเกิดมาดีก็เพราะว่าเราได้สั่งสมอดีตชาติ เจริญปัญญา  ฝึกหัดปฏิบัติเรียนรู้ศึกษาอบรมปัญญาอยู่ตลอดเวลา  เรียกว่าเป็นปัญญาสหชาติกปัญญา  เป็นปัญญาที่สนับสนุนส่งเสริมพร้อมกับการมาบังเกิดเป็นชาติ  คือมีปัญญาสั่งสมมาแต่เก่าก่อน  มีปัญญาเป็นทุนเดิม  อยู่นานๆเข้าก็สั่งสมปัญญาเพิ่มพูนมากขึ้นทำให้ปัญญามันรุ่งเรือง  คนมีปัญญามากๆก็เลือกที่จะเป็นได้  เลือกที่จะพูด  เลือกที่จะคิด เลือกที่จะทำ  เลือกที่จะอยู่  เลือกที่จะแสดง  ถ้าไม่มีปัญญามันเลือกไม่ได้  มันจะอ้างว่าสังคมพาไป  สิ่งแวดล้อมเป็นไป  ส่วนรวมมีความเห็นเป็นใหญ่  หรือไม่ปลดเปลื้องตัวเองออกจากพันธนาการของฝั่งตรงข้าม  แล้วโดนเขาฉุดกระชากลากถู  จูงให้ปรุงแต่งไปเรื่อย  นี่เขาเรียกวิถีชีวิตทำพูดคิดของคนไม่มีปัญญา  คนมีปัญญาเขาจะเรียกอีกอย่างว่า ปัจเจกชน เป็นชนชั้นผู้มีปัญญาเป็นที่พึ่งของตน  อย่างพวกปัจเจกพุทธเจ้ามีปัญญาให้ตัวเองพึ่งได้แต่คนอื่นพึ่งไม่ได้  เป็นปัญญาที่เอาตัวรอดได้  ปัจเจกชนก็เหมือนกันเป็นชนชั้นที่เอาตัวรอดได้  ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน  แต่ก็ไม่สามารถจะเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้  แค่เอาตัวรอดได้เฉยๆเป็นปัญญาเหมาะสมสำหรับตน  ถ้าทุกคนเป็นปัจเจกชนก็ไม่เท่าไหร่  ไม่น่าเกลียดไม่น่าละอาย  เพราะทุกคนฉลาดหมด เอาตัวรอดได้หมดไม่เป็นภาระต่อสังคม  แต่ทุกวันนี้มันไม่เป็นปัจเจกชน  มันเป็นตะกายชนอะไรไม่รู้ที่ต้องตะกาย  ต้องขอร้อง  ขอโอกาส  ขอเวลา  ขอของกำนัล  ขอทรัพย์สิน  ของบประมาณ  ขอไม่เลิก  และสุดท้ายก็เอาตัวไม่รอด  รวมๆแล้วตัวเองไม่สามารถจะช่วยตัวเองให้รอดเพราะขาดปัญญา  ด้วยขาดเหตุปัจจัย 2อย่าง  อดีตไม่เคยสะสม  ปัจจุบันไม่เคยพบพาปัญญา  ไม่เคยพบหาสมาคมกับผู้มีปัญญา  แม้พบปะสมาคมก็ไม่สนใจที่จะส้องเสพ  ไม่สนใจที่จะรู้วิเคราะห์สำรวจตรวจทานดู  ก็เลยไม่รู้ว่าเขาใช้ปัญญาทำอะไรกันบ้าง  แต่คนมีปัญญาจะรู้จักใช้ทุกเรื่อง