ปกิณกะธรรมภาคเช้า
๑๓ เมษายน ๒๕๕๑
สวัสดีปีใหม่ เจริญธรรมเจริญสุขท่านสาธุชนคนดีที่รัก วันนี้เป็นวันเคลื่อนวันย้าย วันเปลี่ยน เคลื่อน ย้าย เปลี่ยน ที่แน่ๆก็คือเปลี่ยนอายุไข เคลื่อนย้ายกาลเวลา จากหนุ่มก็ขึ้นมาแก่ จากเด็กก็ขึ้นมาหนุ่มมาสาว จากเล็กก็มาเป็นผู้ใหญ่ จากผู้ใหญ่แล้วกลายเป็นผู้มีอายุ จากผู้มีอายุก็เป็นผู้เฒ่า ที่จริงวันปีใหม่ วันเคลื่อน วันย้าย หรือวันสงกรานต์ จริงๆแล้วเราเคลื่อนเราย้ายกันอยู่ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ถามว่าการเคลื่อนย้ายมันทำให้เราดำรงอยู่ได้อย่างเป็นปกติหรือไม่ มันไม่ปกติเพราะวันเวลามันกลืนกินสรรพสิ่ง มันกินชีวิตสัตว์ ถ้าเรารู้ว่าเราอยู่ในกระแสแห่งความเคลื่อนย้าย ความเปลี่ยนแปลงแล้วยังหาหลักยึดไม่ได้ ยังหาที่พึ่งพิงอิงอาศัยไม่ได้ มันจะกลับกลายเป็นความรู้สึกแตกซ่านในความคิดอ่าน แตกซ่านในจิตวิญญาณ แตกซ่านในโลกของวิญญาณการรับรู้ และแตกซ่านในการขาดที่พึ่งพิงอิงแอบอาศัย ถ้าเป็นภาษาแพทย์โบราณ จะเรียกว่ามหาภูตรูปแตกกระจาย ถ้าเป็นเรื่องของจิตก็คือขาดที่ยึดเหนี่ยวของจิตใจ ถ้าเราอยู่ในกระแสแห่งการเคลื่อนย้ายแล้วไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจมันก็ยากที่จะคาดเดาเวลาเราเผชิญ เจอะเจอต่อ สารพัดปัญหา เราก็จะไม่มีเครื่องยึดเหนี่ยว ไม่มีหลักคิด ไม่มีหลักพูด ไม่มีหลักแห่งการกระทำ ก็จะนำมาซึ่งความล่มสลาย ไม่มีความสามารถที่จะใช้ปัญญาเข้าไปแก้ปัญหาเพราะมันไม่มีหลัก ถึงมีสติปัญญาอยู่พอบรรเทาพยุงตัวได้ แต่ก็ไม่รู้จะยึดหลักอะไรเอามาคิด ไม่รู้จะยึดเอาหลักไหน เอากระบวนทัศน์ใดๆเข้ามาเป็นองค์ประกอบในการดำเนินชีวิตหรือคิดแก้ไขปัญหา การที่พวกท่านเข้ามาศึกษาพุทธธรรม มาเรียนรู้ธรรมมะ ขวนขวายแสวงหาที่พึ่ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องสร้างหลักคิด หลักดำเนินชีวิต หลักวิเคราะห์ หลักสติปัญญา ลองหลับตานึกดูถ้าใจเราไม่มีหลักอะไรเลย หิวไป กระหายไป อยากไป ขวนขวายไป ตะกูมตะกาม ตะกระไป ต้องการไป ไม่ต้องการไม่ไป มันก็เหมือนกับว่าวที่โดนตัดเชือกแล้วลอยไปในอากาศ เหมือนเรือน้อยลอยอยู่กลางทะเล หาที่สุดไม่ได้ ไม่มีเครื่องมือ เครื่องยึด เครื่องพยุง เครื่องผลัก เครื่องดัน ไม่มีแม้หางเสือ มันก็ลอยไปตามเหตุ ตามปัจจัย ตามที่อะไรมันจะผลักดันพาไป ถ้าเป็นโลกของวิญญาณน่ากลัว เป็นโลกชีวิตหลังความตายยิ่งน่ากลัว เพราะถ้าขืนปล่อยให้มันลอยไปไม่มีหลัก ไม่มีที่ยึด ที่เกาะ ที่เหนี่ยวอย่างเหมาะสม มันก็คือโลกแห่งทุคติภพ โลกแห่งสัมภเวสี โลกแห่งอสุรกาย โลกแห่งผู้แสวงหาไม่รู้จักจบจักสิ้น พวกเราถึงจัดเป็นพวกแสวงหาก็ยังมีหลักที่จะแสวงหา อย่างน้อยก็แสวงหาสุขคติภพ แสวงหาบุญ คุณงามความดี เพราะมีหลักคิด หลักทำ หลักพูดไว้ แต่ในมุมกลับกันกับบุคคลที่ไม่มีหลักเหล่านี้ ไม่รู้จะแสวงหาอะไร ก็แสวงหา กิน กาม เกลียด โกรธ หามันหมด แล้วของพวกนี้มันมีอายุไขของมัน มันมีการเปลี่ยนแปลง มันมีวันล่มสลาย แตกกระจาย หรือจากเราไปในที่สุด เมื่อถึงคราวสิ่งพวกนี้มันจากมันหาย มันแตกสลาย มันเสื่อมโทรมมันเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องแสวงหาใหม่ ต้องแสวงหาไปเรื่อยๆ จนชีวิตสุดท้าย หาที่หยุดไม่ได้ แต่ถ้ามีหลักคิดกลับกันว่า กิน กาม เกลียด โกรธ ของที่โปรดก็พอมีบ้าง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้กำลังผลักดันจากการ กิน กาม เกลียด โกรธ เอามาเป็นเครื่องสร้างสรรค์ ทำให้เกิดกระบวนการมีหลักคิด หลักทำ หลักพูด หลักเหล่านั้นก็อาจจะเรียกว่าบุญ คุณงามความดี กุศล วิชา ธรรมมะ หรือสิ่งที่งดงามในจิตใจ เป็นที่ยอมรับในสังคมและตนได้ ก็ถือว่า แม้เราจะแสวงหาเรื่องกิน เรื่องกาม เรื่องโกรธ ก็ยังมีหลักอยู่ ไม่ทิ้งหลัก แม้ว่าวมันจะลอยอยู่ในอากาศแต่มันยังมีเชือกเส้นน้อยๆดึงอยู่ สามารถบังคับให้ลอยไปทางซ้าย ทางขวา ให้ลอยสูง ลอยต่ำได้ เหมือนเรือน้อยที่ลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร มันก็ยังมีหางเสืออยู่ ยังบังคับทิศทางได้ จะต่างจากเรือที่ไม่มีหางเสือ หรือว่าวที่ไม่มีเชือกผูก ไม่มีเครื่องจ้ำ เครื่องพาย เครื่องผลักดัน ไม่รู้จะถึงฝั่งเมื่อไหร่ ชีวิตอย่างนี้น่ากลัวและอันตรายพระพุทธเจ้าทรงเรียกชีวิตเหล่านี้ว่าชีวิตผู้เปล่า เป็นชีวิตที่เปล่าไม่มีแก่นสารสาระ เป็นชายก็เรียกโมฆะบุรุษ เป็นหญิงก็เรียกโมฆะสตรี เพราะไม่มีหลักคิด ไม่มีหลักทำ ไม่มีหลักพูด เป็นไปตามเครื่องล่อเครื่องหลอก เครื่องฉุดกระชากลากไปเฉยๆ แล้วในที่สุดก็ตายอย่างไร้ค่า ตายอย่างหมดที่พึ่งพาอาศัย ความเปลี่ยนแปลงมันเกิดได้ทุกเวลา ทุกวัน ทุกโอกาส ทุกชั่วโมง ทุกเวลานาที ทุกปี ทุกเดือน วันสงกรานต์เกิดขึ้นกับเราทุกวันทุกปี ทุกเดือน มันเคลื่อน มันจาก มันเปลี่ยน มันพราก เราเคลื่อน เราจาก เราเปลี่ยน เราพราก อยู่ทุกวัน ทุกปี ทุกเดือน อย่างเส้นผมบนศีรษะเราออกจากท้องแม่เส้นผมเส้นนี้ที่ไหน ออกจากท้องแม่หนังหน้าก็ไม่ใช่หนังนี้ มันคนละผืนกับหนังเก่า หนังเก่ามันตายไปแล้ว เราเปลี่ยน เราเคลื่อน เราเผชิญต่อสงกรานต์อยู่ตลอดเวลา ออกจากท้องแม่ตัวก็ยังเล็ก กระดูกก็ยังเล็กๆ ฟันก็ยังไม่มี ตาก็ยังไม่ค่อยเห็น แล้วเราก็ผ่านกระบวนการสงกรานต์คือเคลื่อน คือเปลี่ยน คือเลื่อน เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด กว่าจะมาถึงวันนี้เราก็เปลี่ยนจากรุ่งเรืองไปหาร่วงโรย มันเป็นธรรมชาติ เป็นอนิจจัง เป็นทุกขัง เป็นอนัตตา เป็นสิ่งที่เกิดโดยสามัญ เราปฏิเสธไม่ได้ เราหนีไม่พ้น มันเป็นหลักสามัญที่เกิดขึ้นในเบื้องต้น เปลี่ยนแปลงในท่ามกลาง ผลสุดท้ายก็เสื่อมสลายในที่สุด พูดมาเยอะแยะยืดยาวก็เพราะว่าอยากให้ลูกหลานเห็นวันสงกรานต์เป็นวันสามัญลักษณะ อย่ามองเพียงแค่วันแห่งการเฉลิมฉลอง วันแห่งความสุขสมบูรณ์ วันแห่งการลดน้ำ วันแห่งการเย็น วันแห่งการเที่ยวเตร่ หรือวันแห่งการหยุดทำกิจกรรมการงาน
โบราณจารย์สอนให้เห็นถึงความไม่มีอะไร เป็นสุญญตา เป็นสุญญากาศ ไม่มีอะไรที่จะให้เรายึดถือเป็นหลักเป็นเกณฑ์ เป็นบรรทัดฐานได้ สรรพสิ่ง สรรพชีวิต สรรพธาตุ สรรพวัตถุ มันถึงคำว่าไม่มีอะไรมันล่มสลาย มันเปลี่ยนแปลง มันแตกสลาย ถึงคำว่าเสื่อม รุ่งเรือง เสื่อม แล้วกลับมาร่วงโรย คนกลับมาคิดว่าวันนี้เป็นวันว่างให้เราเฉลิมฉลอง ที่จริงวันสงกรานต์มีอยู่ทุกวัน เป็นภาษาบาลีมีความหมายว่าความเคลื่อน ความจาก ความเปลี่ยนแปลงมันมีอยู่ทุกวัน จากความหนุ่ม ความสาวมาสู่ความเฒ่า เราเปลี่ยนทุกวัน ถ้าเราไม่เข้าใจความพรากความจาก ความเคลื่อนของชีวิตจริงๆ โบราณเขากำหนดวันได้ดี นอกจากจะเป็นวันผ่อยคลาย โปร่งเบาสบาย ว่างให้เห็นชัดแล้วยังมีปริศนาธรรมใส่เข้าไปด้วยในวันสงกรานต์ อย่างเช่นภาคเหนือ ก่อนวันสงกรานต์ก็เป็นวันสังขารล่อง ซึ่งมีความหมายว่าทุกอย่างมันเคลื่อนมันจาก แม้สังขารมันก็อยู่ไม่คงที่คงทนมันต้องหายต้องจากเราไป ต้องพลัดพรากจากสิ่งที่เป็นอยู่เดิมไป ทั้งหมดเป็นเครื่องบอกให้เราที่จะมีหลักยึดในจิตใจ ให้เข้าถึงสัจธรรมของวันสงกรานต์
วันนี้เป็นวันผู้เฒ่า วันผู้สูงอายุ วันครอบครัว วันนี้ใครเอาพ่อแม่มาก็จูงพ่อ จูงแม่หาอาหารให้พ่อแม่ทานก่อน ให้โอกาสท่านผู้เฒ่า เพราะถือว่าท่านเป็นทรัพยากรบุคคลที่ล้ำค่าท่านได้ช่วยสร้างบ้านแปลงเมือง ทำให้บ้านเมืองรุ่งเรืองมาถึงมือพวกเราได้ ฉะนั้นต้องเห็นความมีคุณค่าของท่าน เลี้ยงดูพ่อแม่ไม่ใช่เพียงแค่ก้อนข้าวหยดน้ำ ต้องเลี้ยงน้ำใจด้วย ทำให้ท่านได้รับรู้ถึงกลิ่นอายของความกตัญญูกตเวทิตาที่มีอยู่ในตัวเรา ท่านจะได้สัมพันธ์สัมผัสถึงจิตใจอันงามของลูกหลาน จะได้เบิกบานแจ่มใส อายุไขจะได้ยืนยาว และอยู่กับเราได้นาน
การปฏิบัติธรรมภาคเช้า
วันที่ 13 เมษายน 2551
เรื่องปราณโอสถ
คำสั่ง ลุกขึ้นยืน
คำสั่งที่1 หายใจเข้า แขม่วท้องยืนด้วยปลายเท้า
หายใจออก ค่อยลดฝ่าเท้าลง
หายใจเข้า แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ยืนด้วยปลายเท้า
หายใจออก ค่อยๆลดฝ่าเท้าลง
หายใจเข้า แขม่วท้อง ยก2แขน ดึงไส้ขึ้น พนมมือเหนือศีรษะ
หายใจออก ลดลง
( ทำซ้ำท่าเดิม 2-3 ครั้ง)
สูดลมหายใจเข้า
หายใจออก ดึงไส้ขึ้น แขม่วท้อง ก้มตัวลงพลิกฝ่าเท้าทั้ง 2ข้าง ฝ่ามือแนบที่พื้น ให้ปลายนิ้วมือชนกัน
หายใจเข้า กลับมาตรง ชูแขนเหนือศีรษะพนมมือ แขนแนบหู
หายใจออก บิดลำตัวไปทางขวา
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออกบิดลำตัวไปทางซ้าย
หายใจเข้ากลับมาตรง
หายใจออก เอียงตัวไปทางขวา
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก เอียงตัวไปทางซ้าย
หายใจเข้ากลับมาตรง
หายใจออก แอ่นตัวไปข้างหลัง ออกเสียงอ้า....เพื่อระบายของเสีย
หายใจเข้ากลับมาตรง
หายใจออก ดึงไส้ขึ้น ก้มตัวลงพลิกฝ่าเท้า ฝ่ามือแนบพื้น ปลายนิ้วมือชนกัน
หายใจเข้า กลับมาตรง แขนยังอยู่เหนือศีรษะ ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า 1 ก้าว
หายใจออก ก้มตัวลงด้านหน้า มือแนบพื้น ให้ซ่นมือต่อที่ปลายนิ้วเท้า เข่าตึง ก้มจนรู้สึกร้อนที่หลัง สะบัก
หายใจเข้า กลับมาตรง ชักเท้าขวากลับ สลับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า แขนอยู่เหนือศีรษะ
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ก้มลงฝ่ามือแนบพื้น ส้นมือต่อปลายนิ้วเท้า เข่าตึง
หายใจเข้ากลับมาตรง ยังไม่ต้องชักเท้ากลับ 2 แขนยังอยู่เหนือศีรษะ พลิกฝ่าเท้าหน้า
หายใจออก ก้มตัวลง ทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าหน้า ฝ่ามือแนบพื้น
หายใจเข้า กลับมาตรง แล้วสลับขา ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า พลิกฝ่าเท้า
หายใจออก ก้มตัวลง แขม่วท้องดึงไส้ขึ้น ทิ้งน้ำหนักไปที่เท้าหน้า ฝ่ามือแนบพื้น หน้าผากแตะเข่าหน้า
หายใจเข้ากลับมาตรง ขา และแขน ยังคงเดิม
หายใจออก แอ่นตัวไปข้างหลัง ทิ้งน้ำหนักตัวไปที่ซ่นเท้าหลังให้มาก
หายใจเข้า กลับมาตรง ชักเท้ากลับ ถ่างขาให้กว้าง กาง 2 ปีก แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น
หายใจออกบิดลำตัวไปทางขวา ก้มตัวลงดึงไส้ขึ้นมือแตะพื้น หน้าผากแตะเข่า
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออกบิดลำตัวไปทางซ้าย ก้มตัวลง ดึงไส้ขึ้นมือแตะพื้น หน้าผากแตะเข่า
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออกลด 2 แขนลงข้างลำตัว
คำสั่งที่2 ยืนให้มั่นคงหลับตา
สูดลมหายใจเข้าลึก ให้ลมซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย ตั้งแต่ศีรษะ จรดปลายเท้า ไล่ไอร้อนออกทางปลายนิ้วมือและปลายนิ้วเท้าให้หมด ทุกรูขุมขนในร่างกายต้องมีไอร้อนออก พร้อมกับลมหายใจออก
หายใจเข้า ค่อยๆ ช้าๆ ค่อยๆรินลมเข้าแล้วหายใจออก ทำความรู้สึกว่าลมออกทั้งปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า และรูขุมขน ทั่วสรรพางค์กายมีไอร้อนออก จนลมหายใจออกหมด
หายใจเข้า ลมเข้าจมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง หัวไหล่ 2 ข้างกระดูกสันหลัง ลงไปก้นกบ ทะลุไปที่ช่องท้อง ขึ้นไปที่สะดือ เหนือสะดือ ลิ้นปี่ หน้าอก ราวนม ไหปลาร้า 2 ข้าง มารวมที่ลำคอ หายใจออกปาก
หายใจเข้าจมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง หัวไหล่ 2 ข้าง มารวมที่กระดูกสันหลัง ลงไปก้นกบ ทะลุที่ช่องท้อง ใต้สะดือ เหนือสะดือ ลิ้นปี่ หน้าอก ราวนม 2 ข้าง ไหปลาร้า มารวมที่ลำคอ ออกปาก
หายใจเข้าจมูก ลำคอ หน้าอก ลิ้นปี่ สะดือ ใต้สะดือ หัวเหน่า ท่อนขา 2ข้าง หัวเข่า หน้าแข้ง ฝ่าเท้า ปลายนิ้วเท้า หายใจออก
หายใจเข้า จมูก ลำคอ แยกไปไหปลาร้า ไปท่อนแขน ต้นแขน ข้อศอก ท่อนแขนด้านล่าง ข้อมือ ฝ่ามือ ปลายนิ้วมือ หายใจออก
หายใจเข้า จมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง หัวไหล่ 2 ข้าง ลงไปท่อนแขนด้านบน ข้อศอก ท่อนแขนด้านล่าง ข้อมือ ฝ่ามือ หลังมือ ปลายนิ้วมือ หายใจออก
สูดลมหายใจเข้าลึกๆ กว้าง ลึก เต็ม รู้ ให้ลมไล่ขึ้นจากบนแล้วลงล่าง จนถึงปลายนิ้วมือนิ้วเท้า หายใจออก
หายใจเข้า ทางปลายนิ้วมือ นิ้วเท้า จากล่างขึ้นบน หายใจออกจมูกกับปากพร้อมกัน
หายใจเข้าจากบนลงล่าง คือตั้งแต่ศีรษะ หัวไหล่ ลงไปท่อนแขน ลำตัว ท่อนขา ปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ หายใจออก ทางปลายนิ้วเท้า นิ้วมือ
หายใจเข้าตั้งแต่ล่างขึ้นบน หายใจออกปาก จมูก
สูดลมหายใจเข้า กว้าง ลึก เต็ม รู้
หายใจออก ยาว เบา หมด รู้
กำหนดเป็นจุดที่ลมหายใจจะเดิน
หายใจเข้าจมูก มาที่หน้าผาก โหนกคิ้ว เบ้าตา 2 ข้าง โหนกแก้ม 2 ข้าง สันจมูก ริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง ปลายคาง กราม 2 ข้างซ้าย – ขวา หู ข้างหู กกหู เหนือหู ขมับ กะโหลกศีรษะซ้าย-ขวา กลางกระหม่อม จะมีไอร้อนปรากฏที่กลางกระหม่อม หน้าผาก หว่างคิ้ว จมูก สันจมูก จะรับรู้ได้ถึงอาการตึงๆ แล้วหายใจออก
หายใจเข้า ภาวนาว่าสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออก ภาวนาว่าสัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
ยกมือไหว้พระกรรมฐานแล้วลืมตา
ปกิณกะธรรมภาคบ่าย
วันที่ 13 เมษายน 2551
ในวันนี้เราจะทำอย่างไรให้พระ 2 องค์นั่นรู้สึกปราบปลื้ม ปีติสุข อิ่มเอมเปรมใจ ในการทำ พูด คิด และมีชีวิตของเรา ในวันอันเป็นมงคลอย่างนี้ ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งความเป็นมงคล ปูชา จะ ปูชะนียานัง มาตาปิตุอุปัฎฐานัง ความบำรุงบิดาและมารดา เอตัมมังคะละมุตตะมัง ข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด แล้วเราค่อยไปหาพระนอกวัด พระนอกวัดก็ต้องหาดีๆ หาไม่ดีอาจจะไปเจอไม่ดี ก็ต้องใช้สติปัญญาในการค้นหา แต่พระในบ้านเราแทบจะไม่ต้องใช้สติปัญญา แม้ใช้สัญชาติญาณท่านก็ยังเป็นพระ คิดให้มากก็ยิ่งเห็นคุณท่านมาก คิดน้อยๆคุณท่านก็ปรากฏชัดเจนอยู่แล้ว ในตัวเรา ในชีวิตในเลือดเนื้อของเราเป็นคุณของท่านทั้งนั้น อย่ามัวแต่ไปเฉลิมฉลองกับพระนอกบ้านจนลืมพระในบ้านให้นั่งเฝ้ารอเราจนชะเง้อคอยาว เราจะกลายเป็นคนขลาดเขลาเพราะแสวงหามงคลภายนอกจนไม่ทำให้เกิดมงคลภายใน และมงคลนั้นก็จะตั้งอยู่ไม่ได้ อยู่ได้ไม่นานเพราะไม่มีมงคลภายในเป็นพื้นฐานในการรองรับมงคลข้างนอก วันเฉลิมฉลองแห่งการเป็นมงคลของพวกเรา พ่อแม่อยู่บ้านก็พาพ่อแม่ไปวัด พ่อแม่จะได้เข้าหมู่เข้าคณะจะได้มีจิตใจเบิกบานแจ่มใส ให้ได้พบกับคนวัยเดียวกัน เพราะคนวัยเดียวกันจะรู้ใจกัน เข้าใจจิตใจกัน อย่าไปดูถูกผู้เฒ่า ถ้าไม่มีผู้เฒ่าเหล่านี้ เราก็ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีเลือกสวนไร่นา ไม่มีฐานะเกียรติภูมิเกียรติศักดิ์ เพราะท่านเหล่านี้เป็นผู้สร้างสมไว้ เราก็เป็นผู้รับมรดกตกทอดของท่าน ถ้าไม่มีท่านเราก็ไม่มีต้นแบบ จะเป็นต้นแบบอันดี งดงามหรือเสื่อมโทรม ก็ถือว่าท่านก็เป็นต้นแบบอย่างหนึ่ง เป็นองค์ประกอบในจุลภาค ในมหาภาค คือส่วนหนึ่งในร้อยหลายล้านส่วน แต่ก็เป็นองค์ประกอบของภูเขา ยอดเขาจะตั้งอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเมล็ดทรายและก้อนหินเล็กๆอยู่ข้างล่าง ฉะนั้นอย่าไปมองดูถูกผู้เฒ่าว่าหมดค่า ไม่มีราคา ปล่อยทิ้งๆ ขว้างๆ ไม่ใส่ใจ ไม่สนใจ ไม่ดูแลรักษา ต้องใส่ใจ ต้องสนใจ ต้องดูแลท่าน เลี้ยงพ่อแม่ด้วยก้อนข้าวหยดน้ำก็ยังไม่ชื่อว่าเลี้ยงสมบูรณ์ ถ้าจะเลี้ยงให้สมบูรณ์ต้องเลี้ยงจิตใจท่านด้วย การเลี้ยงจิตใจก็คือทำจิตใจท่านให้ชุ่มฉ่ำ ปลาบปลื้ม อิ่มเอมผ่อนคลายสบายใจ โดยใช้โอกาสวันพิเศษนี้ทำให้ท่านอิ่มเอมปลาบปลื้ม ผ่อนคลาย สบายใจ แล้วอย่าไปโกรธพ่อแม่ พ่อแม่จะไม่เคยถือโกรธลูกมีแต่ลูกจะงอน โกรธพ่อแม่ ลูกจะโกรธพ่อแม่ไม่ถูก คนทั่วโลกเรามีสิทธิ์โกรธแต่คน 2 คน เราไม่มีสิทธิ์โกรธ ก็คือพ่อ และ แม่เรา เมื่อใดที่เราโกรธพ่อ และแม่เราก็ต้องโกรธตัวเราเอง และต้องเกลียดตัวเองเพราะตัวเราเองมันน่ารังเกียจน่าโกรธมาก เพราะว่าเราเป็นผลผลิตของพ่อและแม่ที่เราโกรธ ฉะนั้นเราจึงไม่ควรจะโกรธพ่อแม่ ไม่ควรเกลียดพ่อแม่ งอนกับพ่อแม่ อย่าแม้ที่จะคิดเพราะมันเป็นบาปตราอยู่ในชีวิตเราไม่พอใจได้ แต่อย่าโกรธ คนที่เกลียดพ่อแม่ มงคลอย่าไปแสวงหาเลย ให้นั่งตักพระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สิ่งมีมงคล ถ้าเราปฏิเสธมงคลแห่งชีวิตเบื้องต้นมงคลสูงๆขึ้นไปก็อย่าไปถามหา พ่อแม่เป็นมงคลเบื้องต้น เป็นมงคลท่ามกลาง และเป็นมงคลอันสูงสุดในที่สุด คนโบราณจะออกรบทัพจับศึก จะต้องขอพรพ่อแม่ก่อนเลย พ่อแม่จะให้ศีลให้พร ฉีกผ้าถุง ผ้านุ่งให้ลูกไปเป็นเครื่องรางของขลัง เพื่อกันภัยกลับมาก็รอดไม่ตาย พ้นจากอันตรายเพราะคุณพ่อคุณแม่ ไม่มีใครจะรักเราเท่าพ่อแม่เรา และพ่อแม่ก็รักษาดูแลเรากระทั่งถึงในสนามรบ อยากจะบอกให้ท่านทั้งหลายได้รู้ว่าพ่อแม่เราศักดิ์สิทธิ์ พ่อแม่เรายิ่งใหญ่ พ่อแม่เราเป็นผู้วิเศษในโลก ควรจะต้องขอพรท่านก่อน พรอื่นๆทีหลัง เทพเจ้าองค์อื่นไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่ากับเทพเจ้าแห่งพ่อแม่
อิสลามเค้ามีคำสอนดี หลวงปู่เคยอ่าน เขาบอกว่าจงไปหาสวรรค์จากใต้ฝ่าเท้าของพ่อและแม่เจ้า ก็คือต้องอ่อนน้อม ต้องรับใช้ ต้องปฏิบัติบำรุง แม้ที่สุดก็อวัยวะเบื้องต่ำก็คือใต้กว่าเท้านั่นแหละสวรรค์ พุทธศาสนาสอนก็ยิ่งดี พุทธศาสนาสอนว่า นิมิตตัง สาทรูปานัง กตัญญูกตเวทิตา เครื่องหมายของคนดีต้องกตัญญูกตเวทิตา ตอบแทนคุณ ปูชา จะ ปูชะนียานัง เอตัมมังคะละมุตตะมังข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด การอุปถัมภ์ บำรุงอุปฐาก ดูแลพ่อแม่ เอตัมมังคะละมุตตะมังข้อนี้เป็นมงคลอันสูงสุด มงคลมีตั้ง 38 ประการ พระพุทธเจ้ายกมงคลต้นๆคือดูแลพ่อแม่ เราเองก็เป็นผู้แสวงหาความเป็นมงคล วันนี้วันพรุ่งนี้จะเป็นมงคลมากๆหากจิตใจเรามีพ่อแม่อยู่ ที่พูดซ้ำย้ำอยู่อย่างนี้ก็เพื่อให้ลูกหลานนึกถึงบุญคุณพ่อแม่ท่านผู้เฒ่าพระของเราที่เฝ้ารอเราอยู่ที่บ้าน อย่าละเลย อย่าเพิกเฉย อย่าทิ้งท่าน วันนี้ท่านแก่เฒ่าท่านอาจจะนั่งเศร้าเฝ้ารอเรา วันหนึ่งเราแก่เฒ่าเราก็ต้องนั่งเศร้าเฝ้ารอเขา ถ้าไม่อยากให้กงกรรมกงเกวียนเวียนมาเจอกับเรา เราก็ต้องไม่ปล่อยให้ท่านนั่งเศร้า อย่าให้ท่านต้องนั่งรอ เราต้องไปรอท่าน ช่วยเหลืออุปถัมภ์บำรุง ยกย่องสรรเสริญท่าน อุ้มชูท่านเลี้ยงท่านทั้งกายทั้งใจอย่างนี้เป็นต้น
การปฏิบัติธรรมในภาคบ่าย
วันที่ 13 เมษายน 2551
เรื่องปราณโอสถ
คำสั่งที่1 ลุกขึ้นยืน ร่างกายจะได้ขับความร้อนได้ดี ถ่ายเทของเสียได้ง่าย ขยับปรับสมดุลให้ดี ทำความรู้สึกตัวทั่วพร้อมให้เกิดขึ้นก่อน ยืน สองขารับน้ำหนักเสมอกัน แล้วรองพลิก 2 เท้าดู แล้วกลับมายืนตรง
คำสั่งที่ 2 สูดลมหายใจเข้าลึกๆค่อยๆเติมลมเข้าไปช้าๆอย่าเร็ว ให้ตัวพองขึ้นด้วยลมที่เข้า อกพอง ไหล่ยก สะโพกเบา
หายใจออก ยาว เบา หมด รู้
คำสั่งที่ 3 หายใจเข้า จมูก หน้าผาก กระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง หัวไหล่ 2 ข้าง กระดูกสันหลัง ไหลเรื่อยไปที่ก้นกบ ทะลุไปที่ช่องท้อง........เริ่มหายใจออก มาที่สะดือ เหนือสะดือ ลิ้นปี่ หน้าอก ราวนม 2 ข้าง ไหปลาร้า มารวมกันที่ลำคอ ออกปาก
หายใจเข้า จมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง ลงมาที่หัวไหล่ 2 ข้าง ลงไปสะบัก 2 ข้าง มารวมกันที่กลางกระดูกสันหลัง ลงไปก้นกบ ไหลไปถึงก้น เลยไปถึงท่อนขาด้านบน ขาพับ ท่อนขาด้านล่าง ลงไปตาตุ่ม ส้นเท้า ฝ่าเท้า หายใจออก
หายใจเข้าจมูก ลำคอ หน้าอก ลงไปที่ลิ้นปี่ ช่องท้องเหนือสะดือ ใต้สะดือ หัวเหน่า ขาพับ 2 ข้าง หัวเข่า หน้าแข้ง ไหลลงไปข้อเท้า หลังเท้า ปลายเท้าหายใจออก
หายใจเข้าจมูกหน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง หัวไหล่ ท่อนแขนด้านบน ข้อศอก ท่อนแขนด้านล่าง ข้อมือ ฝ่ามือ ปลายนิ้วมือ หายใจออก
คำสั่งที่4 หายใจเข้าลึกๆ กว้าง ลึก เต็ม รู้ ไล่ลมไปจนถึงใต้ฝ่าเท้า รู้ได้ด้วยว่าใต้ฝ่าเท้ามีไอร้อน หายใจออก
คำสั่งที่5 สูดลมหายใจเข้า กว้าง ลึก เต็ม รู้ ให้ลมอยู่ทั่วสรรพางค์กาย
เหมือนกับไล่จากบนลงล่าง จนกระทั่งไปถึงปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า หายใจออก
คำสั่งที่6 หายใจเข้าทางปลายนิ้วเท้า นิ้วมือดูลมทวนกระแสขึ้นมา จากปลายนิ้วมือ ปลายนิ้วเท้า มาถึงข้อมือ ข้อเท้า ท่อนแขนด้านล่าง ท่อนขาด้านล่าง ท่อนแขนด้านบน ท่อนขาด้านบน มาถึงเอว ช่องท้อง หน้าอก ถึงหัวไหล่ ถึงลำคอ หายใจออก
คำสั่งที่7 ทีนี้กำหนดจุด ลมตามจุด หลับตา วิธีนี้จะทำให้สมาธิตั้งมั่นได้ง่าย
หายใจเข้าที่จมูก หน้าผาก ดูซิหน้าผากหนักไหม ขึ้นไปที่กลางกระหม่อม สังเกตดูซิไอร้อนปรากฏไหม ไปที่กะโหลกศีรษะด้านหลัง ลงไปที่ต้นคอ ดูซิต้นคอร้อนไหม หายใจออก
หายใจเข้าจมูก หว่างคิ้ว หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอ ขึ้นมาที่กกหู หายใจออกทางหู
หายใจเข้าจมูก หน้าผาก กะโหลกศีรษะด้านบน กะโหลกศีรษะด้านหลัง กะโหลกศีรษะด้านล่างที่ติดลำคอ มาที่กรามซ้าย-ขวาไปที่กกหูซ้าย-ขวา เหนือหู หน้าหู รูหู หายใจออก สัมผัสดูว่ามีลมออกที่หูหรือไม่
หายใจเข้า จมูก ลำคอ ไหปลาร้า หัวไหล่ ท่อนแขนด้านบน ข้อพับ ท่อนแขนด้านล่าง ข้อมือ ฝ่ามือ หลังมือ ปลายนิ้วมือ หายใจออก ดูด้วยว่าฝ่ามือ ปลายนิ้วมือมีไอร้อนไหม
คำสั่งที่8 สูดลมเข้าทางปลายนิ้วมือและฝ่ามือ ( โดยทำความรู้สึก ) ปลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อมือ ท่อนแขนด้านล่าง ข้อศอก ท่อนแขนด้านบน ผ่านมาที่รักแร้ มาที่ราวนม ขึ้นไปที่ไหปลาร้า มารวมกันที่ลำคอ หลอดคอ หายใจออกปาก
คำสั่งที่9 หายใจเข้าจมูก ลำคอ หน้าอก ลิ้นปี่ เหนือสะดือ ใต้สะดือ
หัวเหน่า ขาพับท่อนบน ท่อนขาด้านบน ข้อพับ ท่อนขาด้านล่าง
ลงไปที่ข้อพับเท้า ข้อเท้า ฝ่าเท้า ปลายนิ้วเท้า หายใจออก
คำสั่งที่10 หายใจเข้าลึกๆจากบน ไล่ลงล่าง กว้าง ลึก เต็ม รู้
หายใจออก ยาว เบา หมดรู้ ไล่ลมออกให้หมด
คำสั่งที่11 ทิ้งลมหายใจ ปล่อยลมหายใจเป็นธรรมชาติ อย่าสนใจอาการร้อน เย็น เหงื่อออก เหงื่อไหล ถ้าสนใจแล้วมันจะดึงจิตออกจากการกำหนดรู้ ให้ตามกำหนดรู้ จิตจับที่กลางหน้าผาก เพ่งดูจิต จับอยู่ที่กลางหน้าผาก ให้หมุนวนเป็นลูกข่างเหมือนใยแมงมุมอยู่ที่กลางหน้าผาก ให้จิตจับรับรู้อยู่อย่างนั้น
ทิ้งจิตที่จับกลางหน้าผากเคลื่อนจิตไปจับที่กลางกระหม่อม ทำความรู้สึกหมุนวนอยู่กลางกระหม่อม
จิตไปที่ศูนย์รวมเตโชธาตุ อยู่บริเวณกลางกะโหลกด้านหลัง เหมือนรูปไม้กางเขน
ไปที่ท้ายทอยที่ต่อกับกระดูกคอ จุดตีนผมดูว่ามีไออุ่นไหม
ไหลเลื่อนลงไปตามลำคอ 2 ข้างจนไปถึงหัวไหล่ มีอาการร้อนหนักไหมเอาจิตลงไปจับที่สะบัก แล้วผ่อนคลาย
คำสั่งที่12 สูดลมหายใจเข้า จมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง หัวไหล่ 2 ข้าง สะบักหลัง รักแร้ ท่อนแขนด้านใน ข้อศอก ข้อพับ ท่อนแขนด้านนอก ข้อมือ ฝ่ามือ ปลายนิ้วมือ หายใจออก (ดูซิว่ามีไอร้อนออกจากรักแร้ ข้อพับปลายนิ้วมือ ง่ามมือไหม)
คำสั่งที่13 หายใจเข้าลึกๆ กว้าง ลึก เต็ม รู้
หายใจออก เบา ยาว หมด รู้
หลับตาส่งความรู้สึกไปที่ใต้ฝ่าเท้าทั้ง 2 ข้าง กำหนดจิตที่ใต้ฝ่าเท้า ทิ้งลมหายใจ ดูซิว่ามันเกิดอะไรขึ้น เพ่งจนกระทั่งมีความรู้สึกเหมือนเท้าจะลอยขึ้นจากพื้น ไอร้อนจะดันที่ฝ่าเท้ากับพื้นจนรู้สึกได้ว่าเหมือนเท้ากำลังลอยจากพื้น ที่ถูกจะต้องทำให้ได้อย่างนั้นให้จิตอยู่ที่ใต้ฝ่าเท้าอย่าสนใจสิ่งอื่น ตัดบริโภชกังวลออกให้หมดเพราะมันเป็นนิวรณ์ธรรมอย่างหนึ่งที่ห้ามความดี ไม่ให้จิตก้าวไปข้างหน้า วิชาปราณโอสถต้องฝึกด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยว เด็ดขาดมั่นคง อย่าวอกแวก หนึ่งคือหนึ่ง เดินคือเดิน ใช่คือใช่ ไม่มีการวอกแวก วกวน สับสน ฟ้าจะผ่า เหงื่อจะโทรม ไฟจะไหม้ ใครจะโยกโคนอย่างไรต้องไม่สนใจ เพ่งจิตที่ใต้ฝ่าเท้า
คำสั่งที่14 เลื่อนจิตขึ้นมาที่หลังเท้า ไปที่ตาตุ่ม 2 ข้าง หน้าแข้ง ขาพับ จับความรู้สึกดูซิว่ามีไอร้อนออกมาที่ขาพับไหม ขึ้นมาที่หัวเข่า ท่อนขาด้านบน มาถึงหว่างขา ขาหนีบ สะโพก ท้องน้อย ไล่เรื่อยขึ้นมาสัมผัสให้ได้ ช่องท้อง เหนือสะดือ ลิ้นปี่ หน้าอก ราวนมสองข้าง ดูซิมันอุ่น มันร้อนไหม ไหปลาร้า หัวไหล่ ต้นคอซ้าย-ขวา ไล่ขึ้นมาถึงติ่งหูซ้าย-ขวา ซอกหู รูหู ดูซิมีลมออกไหม ขึ้น
ไปที่เหนือกกหู ขมับ 2 ข้าง กะโหลกศีรษะด้าน ซ้าย-ขวา กลางกระหม่อม เพ่งอยู่ที่กลางกระหม่อม หมุนวนเป็นภูเขา ให้เป็นวงกลมหมุนเป็นยอดแหลมขึ้นเหมือนดั่งมงกุฎ เส้นผมทุก
เส้นเหมือนดั่งตั้งชัน แต่จริงๆแล้วไม่ใช่ รูขุมขนบนหัวเหมือนมีไอร้อนพุ่งขึ้นมาทุกรูขุมขน จากกลางกระหม่อมลงมาที่หน้าผากจิตจับที่หน้าผาก หว่างคิ้ว โหนกคิ้ว เบ้าตา สันจมูก โหนกแก้มริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง ปลายคาง กรามซ้าย-ขวา หลังหูซ้าย-ขวา เหนือหูซ้าย-ขวา กระหม่อมซ้าย-ขวา หางคิ้วซ้าย-ขวา หางคิ้วจะจับได้ผิวเผินสัมผัสไม่ชัด ยิ่งยากเท่าไหร่ยิ่งต้องสัมผัสให้ชัดมากเท่านั้นจิตจึงจะละเอียดมากขึ้น จุดแต่ละจุดมีประสาทสัมผัสแตกต่างกัน แต่ถ้าทำให้การรับสัมผัสสม่ำเสมอกัน และชัดเจนทุกจุด ถือว่าจิตมีความสม่ำเสมอ กำลังของปราณก็จะมีกำลังกล้าแข็งที่จะทะลุทะลวงทุกจุด หัวคิ้วเราสัมผัสได้ง่าย แต่หางคิ้วเราสัมผัสได้ยาก แต่ถ้าสามรถสัมผัสหางคิ้วได้เท่ากับสัมผัสหัวคิ้ว ก็ถือว่าวิเศษ หางคิ้วหนักเหมือนดั่งสัมผัสหัวคิ้วก็ถือว่าใช้ได้ ลงมาที่เบ้าตา สันจมูก เบ้าตากับสันจมูกถ้าสัมผัสแล้วน้ำหนักเท่าเทียมกันก็ถือว่าใช้ได้ มาที่โหนกแก้มซ้าย-ขวาดูซิหนักๆไหม คนที่เป็นไซนัส จะรู้ได้ง่ายมาก พวกโพรงไซนัสอักเสบถ้าทำวิชานี้ แล้วเพ่งไปตามจุดนี้จะลดอาการอักเสบในโพรงไซนัส มาที่ริมฝีปากบน ดูซิใต้จมูกจะเสียวๆไหม จากริมฝีปากบน ขยับมาที่มุมปากซ้ายขวามีน้ำหนักเท่ากับการสัมผัสริมฝีปากบนได้ไหม (มุมปากในที่นี้ไม่ใช่หมายถึงริมฝีปาก แต่มันหมายถึงมุมของกระดูกแต่มันลึกเข้าไปในเนื้อ ในหนัง มันใกล้ชิดกับกราม ) ริมฝีปากล่าง ปลายคางสูดลมหายใจเข้าลึกๆ กว้าง ลึก เต็ม รู้
หายใจออก ยาว เบา หมด รู้
คำสั่งพัก ยกมือไหวพระกรรมฐาน
หาน้ำดื่ม เดี๋ยวฝึกต่อ เดี๋ยวจะเป็นโทษต่อร่างกายฝึกแล้วไม่ดื่มน้ำเพราะเราใช้พลังเผาผลาญ
คำสั่งต่อไป นั่งหันหลังให้หลวงปู่ นอนเหยียดขาไปข้างหน้า ถ่างขาเล็กน้อย นอนท่าศพ ถ่างขาเล็กน้อย ถ่างแขนนิดหน่อย
คำสั่งที่1 ม้วนห่อลิ้นดันลิ้นไว้ที่เพดานด้านบนให้ลึกที่สุดเท่าที่จะลึกได้ หายใจเข้าลึกๆ แขม่วท้องดึงไส้ขึ้น แล้วหายใจออก ( หายใจออกให้สังเกตดูว่ามีลมร้อนดันที่หว่างขา ขาพับ รักแร้ ซอกคอ ฝ่ามือ ฝ่าเท้าหรือไม่ )
( ทำซ้ำกัน ในท่านี้ 10 ครั้ง ให้รู้สึกให้ได้ว่ามีลมร้อนดันที่หว่างขา กับรักแร้ )
หมายเหตุ ต้องห่อลิ้นม้วนดันเพดานเอาไว้เวลาหายใจ ท่านี้เป็นท่ากำหนดคุมเตโชธาตุ ทำไปสักพักจะรู้สึกเย็นแล้วสบายขึ้น แก้อาการโรคไฟสุมทรวง ธาตุไฟกำเริบ จะแก้ได้
คำสั่งที่2 คนที่ทำครบ 10 ครั้งแล้วลุกขึ้นนั่งขายังเหยียดไปข้างหน้า เอามือท้าวไว้ด้านหลัง
คำสั่งที่3 หายใจออก แขม่วท้องดึงไส้ขึ้น ยกแขนซ้ายขึ้นเหนือศีรษะ ก้มโน้มตัวไปดึงเท้าขวาเข้ามาหาตัวให้ปลายนิ้วมือแตะใจกลางฝ่าเท้า หน้าผากแตะหัวเข่าขวา เข่าตึง มือขวายังท้าวที่พื้นด้านหลัง
( ท่านี้ช่วยแก้กษัย อาการไตพิการ ช่วยให้ไม่ปวดหลัง ปวดเอว นั่งนานก็ไม่ทรมานกาย )
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก แขม่วท้องดึงไส้ขึ้น ยกแขนขวาขึ้นเหนือศีรษะ ก้มโน้มตัวไปดึงเท้าซ้ายเข้าหาตัวให้ปลายนิ้วมือแตะใจกลางฝ่าเท้าหน้าผากแตะหัวเข่าซ้าย เข่าตึง มือซ้ายท้าวที่พื้นด้านหลัง
หายใจเข้า กลับมาตรง
คำสั่งที่4 เกร็งท่อนขาทั้งบนและล่างยกก้นขึ้นให้ฝ่าเท้าแนบพื้น เข่าตึง ทิ้งศีรษะลงด้านหลัง ออกเสียง...อ้า
หายใจเข้ากลับมาตรง
คำสั่งที่5 ชักเท้าเข้ามา ให้ฝ่าเท้าประกบกัน เอาฝ่ามือ2ข้างรัดที่ฝ่าเท้า กดข้อศอกลงที่หัวเข่า ดึงส้นเท้าเข้ามาให้ติดหว่างขา ก้มตัวลงให้หน้าผากแนบพื้น จนร้อนที่สะโพกด้านหลังจึงจะใช้ได้ กลับมาตรง
(เป็นการคลายธาตุไฟ อากาศร้อนต้องกำจัดธาตุไฟเพื่อไม่ให้ธาตุไฟแตกซ่าน )
คำสั่งที่6 คุกเข่า นั่งท่าเทพธิดา เอนตัวลงนอน ทับไปบนขาทั้ง 2 ข้างให้หลังแนบพื้น เหยียดแขนไว้เหนือศีรษะ ดูว่าไอร้อนออกที่รักแร้และหว่างขาไหม
หายใจเข้า ดึงไส้ขึ้น แขม่วท้อง
(คนที่นอนไม่ได้แสดงว่ามีพังผืดที่ผนังท้องมากมันยืดไม่ได้ หลังแข็ง ขาแข็ง เส้นเอ็นยึดข้อกระดูก ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณอันตราย)
คำสั่งพอ หาน้ำดื่ม
ถ้าไม่ฝึกอย่างนี้ ปราณจะชำแรกเข้าไปไม่ได้ ตามข้อกระดูกและเส้นเอ็น คนจะฝึกปราณโอสถตัวต้องอ่อน เอ็นต้องอ่อน กระดูกต้องโดนทะลวง จึงจะสำเร็จประโยชน์ ไม่เช่นนั้นฝึกปราณไปก็จะไปตัน ไปอั้นไว้เป็นจุดๆ ต้องพยายามฝึกให้ได้
คำสั่งต่อ นั่งขัดสมาธิ ดำรงกายให้ตั้งมั่น ฝ่ามือหงายไว้บนหัวเข่า ยืดอกขึ้น ตั้งตัวให้ตรง ทำตัวให้สบาย ไม่ต้องเกร็งทำทุกอย่างให้สบายหรี่เปลือกตาลงช้าๆ หายใจเข้าลึกๆจนหน้าอกยกขึ้น ส่งความรู้สึกเข้าไปในกาย ให้ลมชำแรกซ่านไปทั่ว ข้อกระดูกที่ดัดที่ดึงไว้เมื่อครู่ มีปัญหาตรงไหน ให้ลมชำแรกเข้าไปแล้ว หายใจออกยาวๆ เบาๆผ่อนคลาย
หายใจเข้าไปใหม่อีกที หายใจเข้าลึกๆ กว้าง ลึก เต็ม รู้ ให้ลมชำแรกไปทุกข้อกระดูกตั้งแต่บนลงล่าง ถึงปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า
หายใจออกเบาๆ ยาวๆ ผ่อนคลาย
คำสั่ง หายใจเข้าจมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง ลงไปกระดูกสันหลัง ไหลเลื่อนไปที่ก้นกบ ทะลุไปช่องท้อง เลื่อนขึ้นมาเหนือสะดือ ลิ้นปี่ หน้าอก ลำคอออกปาก
หายใจเข้า จมูก ลำคอ หน้าอก ลิ้นปี่ ช่องท้อง จุดเหนือสะดือ จุดใต้สะดือ หัวเหน่า ขาพับด้านบน ท่อนขาด้านบน หัวเข่า ท่อนขาด้านล่าง ข้อเท้า ฝ่าเท้า หายใจออก
หายใจเข้าจมูก หลอดลมลำคอ แยกไปราวนมซ้าย-ขวา มารวมตัวที่ลิ้นปี่ ลงไปเหนือสะดือ ช่องท้อง ทะลุไปก้นกบ กระดูกสันหลัง ไหลเรื่อยขึ้นมาที่สะบัก 2 ข้าง ลงไปท่อนแขนด้านบนข้อพับ ข้อศอก ท่อนแขนด้านล่าง หลังมือ ฝ่ามือ หายใจออกสูดลมหายใจเข้า กว้าง ลึก เต็ม รู้
หายใจออกเบา ยาว หมด รู้
หายใจเข้า จมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง หัวไหล่ 2 ข้าง สะบัก รวมกันที่กระดูกสันหลัง ลงไปก้นกบ ทะลุไปช่องท้อง ขึ้นไปลิ้นปี่ ราวนมซ้าย-ขวา ขึ้นไปไหปลาร้าซ้าย-ขวา หัวไหล่ 2 ข้าง ท่อนแขนด้านบน ข้อศอก ท่อนแขนด้านล่าง ข้อมือ ฝ่ามือ หายใจออก
คำสั่ง ทิ้งลมหายใจ หายใจเข้าเป็นปกติธรรมดา หายใจออกผ่อนคลายเพ่งความรู้สึกรับรู้ไปที่ปลายนิ้วโป้ง ปลายนิ้วโป้งมีประสาทสัมผัสที่ยากและเบาบาง ลองดูว่าไอร้อนที่ปลายนิ้วโป้ง ซ้ายและขวามีไหม
มาที่ปลายนิ้วชี้ เหมือนกับมีลูกบอลหรือลูกชิ้นกลมๆที่วิ่งอยู่ปลายนิ้วชี้
ปลายนิ้วกลาง
ปลายนิ้วนาง
ปลายนิ้วก้อย
เพ่งอยู่ในปลายนิ้วทั้ง 10 นิ้วไหนที่สัมผัสได้น้อยต้องเพ่งให้นาน นิ้วก้อยกับนิ้วโป้ง สัมผัสได้น้อย ก็แสดงว่าจิตนองเราอ่อน พลังของจิตอ่อน ต้องสัมผัสให้ได้ชัดเจนเหมือนกลับปลายนิ้วชี้กับนิ้วกลางสัมผัสให้ไห้ชัดเจน เหมือนลมที่ออกหว่างนิ้วมือ และกลางฝ่ามือ
สูดลมหายใจเข้า ขึ้นจมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม หายใจออกเพ่งไปที่หน้าผาก ส่งความรู้สึกทั้งปวงไปที่โหนกคิ้ว หว่างคิ้ว หน้าผาก กลางกระหม่อม หัวคิ้ว ลองดูที่หางคิ้วว่าน้ำหนัก หนักเท่าหัวคิ้วไหม ถ้าไม่เท่ากลับไปที่หัวคิ้วใหม่ ให้เพ่งจิตแม้มันจะหนัก มันจะเครียด มันจะเบา มันจะนิ่ง มันจะเสียวปล่อยมัน มันเป็นเครื่องผูกจิตให้นิ่งอยู่ตรงนั้น หางคิ้วกับหัวคิ้วให้หนักเท่ากัน ให้รับสัมผัสใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกัน
เลื่อนลงมาที่เบ้าตา กับโหนกแก้ม ดูว่าอันไหนหนักกว่ากัน เฉลี่ยให้ใกล้เคียงกัน
ดูดั้งจมูก ริมฝีปากล่างใต้จมูก ริมฝีปากบน ทั้ง 3 จุดนี้อันไหนหนักกว่ากัน เฉลี่ยให้ใกล้เคียงกัน (สันจมูกจะหนักมากกว่า กับปลายคางริมฝีปากล่า ส่วนริมฝีปากบนจะรู้สึกได้ผิวเผิน ต้องปรับจิตให้รับรู้ให้ได้เท่าเทียมกัน )ต้องเพ่งจิตไปที่ริมฝีปากบนให้มากขึ้น
เคลื่อนจิตไปที่กรามซ้าย-ขวา จะรู้สึกปวดๆ หน่วงๆ หนึบๆ ตึงๆทั้งซ้ายและขวา
ดูซิระหว่างกรามกับปลายคางอันไหนหนักกว่ากัน
ดูที่รูหู 2 ข้าง มีไอร้อนพุ่งออกมาไหม
คำสั่ง หายใจเข้าแล้วกลืนลมหายใจเข้าไปในช่องท้อง กลืนน้ำลายหนึ่งครั้งแล้วหายใจออก ดูซิว่ามีไอร้อนออกจากช่องหูไหม
อีกที หายใจเข้าแล้วกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง หายใจออกแล้วดูว่ามีไออุ่นออกจากช่องรูหูไหม
อีกครั้งให้ชัดกว่านี้ หายใจเข้า แล้วกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง แล้วสังเกตไออุ่นจากช่องหูเมื่อหายใจออก
ให้ชัดกว่านี้อีก หายใจเข้า กลืนน้ำลายหนึ่งครั้ง หายใจออกให้สังเกตที่ช่องหู
ต้องให้หนักแน่นกว่านี้อีก หายใจเข้าไปใหม่ แล้วกลืนน้ำลายหนึ่งครั้ง หายใจออก สังเกตไออุ่นที่ออกมาจากช่องหูว่ามีไหม
ทำอย่างนี้เวลาที่หูมีปัญหา น้ำในหูไม่เท่ากันจะได้ปรับได้ จะได้ไม่เวียนหัว รักษาสมดุลน้ำในช่องหูได้
คำสั่ง ทำอีก 5 ครั้ง หายใจเข้า กลืนน้ำลายหนึ่งครั้งสังเกตไออุ่นที่ออกจากช่องหูนับ 1
หมายเหตุ ต้องกลืนน้ำลายทุกครั้งเมื่อหายใจเข้า หายใจออกเคลื่อนจิตไปเฝ้าจับไว้ที่ช่องหู เวลาน้ำในหูไม่เท่ากันไม่ต้องกินยาใช้วิชาอย่างนี้ และแนะนำคนอื่นที่เป็นอาการน้ำในหูไม่เท่ากันให้ทำอย่างนี้ ทำซัก 10-20 ครั้งก็จะปรับความดันในช่องหูได้ให้สมดุลกัน
คำสั่ง หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกผ่อนคลาย
หายใจเข้าภาวนาว่า สัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
หายใจออกสัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์
สูดลมหายใจเข้า ยกมือไหวพระกัมมัฏฐาน แล้วลืมตา
หายใจออกผ่อนคลาย
วันนี้ฝึกจุดที่ว่าด้วยวาตะ - โสตตะ ( แก้โสตะโรค) จุดนี้ทำทุกวัน วันละหลายๆครั้งจะทำให้หูดี ตามตำนานของวิชานี้ฟังได้ไกลถึง 10 โยชน์แต่ต้องทำให้ได้ทุกวัน ไม่ใช่วันละ 5 ครั้ง แต่ต้องทำให้มากหลายๆครั้ง ทำจนกระทั่งเป็นนิสัย เป็นความเคยชิน แล้วหูจะดีจะมีหูทิพย์ หูจะฟังเสียงไกล และใกล้ได้ชัดเจน
วันนี้ได้แล้ว 1 จุด ยังเหลืออีก สองพันกว่าจุด วันนี้พอจบลูก
วันนี้แก้โสตะโรค ต่อไปก็แก้จักษุมัวหมอง จักษุโรค