ธรรมะต้นเดือน 2 มีนาคม 2551
ปกิณกะธรรมเรื่อง
อำนาจอันยิ่งใหญ่

อำนาจอันยิ่งใหญ่ ยั่งยืนอยู่ได้ก็เพราะความรักและความศรัทธา ความรักและความศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้วอย่าบ้าอำนาจ ความรักความศรัทธาเมื่อเกิดขึ้นกับใครมันจะก่อตัวขึ้นเป็นอำนาจ คนที่ได้อำนาจนั้นก็อย่าบ้าอำนาจ ตัวอย่างดั่งพระผู้มีพระภาคเจ้า พระองค์ไม่ได้มีอำนาจในการกดขี่บังคับบัญชาชี้นำหรือสั่งใคร พระองค์มีอำนาจด้วยพระองค์มีพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณ อำนาจที่ได้มาจากพระปัญญาคุณ พระมหากรุณาธิคุณ และพระบริสุทธิคุณนี่แหละ มันกลายเป็นอำนาจที่ยั่งยืน 2 พันกว่าปีแล้วผู้คนก็ยังให้อำนาจกับพระองค์ อย่างที่เราเห็นรูปพระองค์ที่ไหนเราก็ยงมือไหว้ทั้งที่เราไม่เคยเห็นตัวตนที่แท้จริงของพระองค์เลย เราได้ยินชื่อพระองค์ก็ยกมือไหว้ อย่าว่าแต่ชื่อพระองค์ รูปพระองค์เลย แม้แต่จะกล่าวขานทำกิจกรรมการงานทั้งเล็ก น้อย ใหญ่ทั้งหลาย ต้องยกพระองค์เป็นประธาน เป็นหัวหน้า เป็นผู้นำเป็นเจ้าพิธี ตัวอย่างเช่น ไมว่าจะไหว้ครู ไหว้พระ ก็ต้องตั้ง นะโมก่อน นอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นอย่างนี้เป็นต้น เราไม่รู้เลยว่าหน้าตาพระองค์เป็นอย่างไร แต่รู้ว่าพระองค์มีพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ เป็นคุณที่มีอุปการคุณต่อมหาชนคนและสัตว์ทั้งปวงทั้งสามโลกอย่างไม่เลือกที่รัก ไม่มักที่ชัง ไม่แบ่งแยกว่าดี ชั่ว ไพร่ผู้ดี ถี่ห่าง พราหมณ์ แพทศ จัณฑาล กษัตริย์ แต่พระองค์ทรง พระเมตตาคุณ พระมหากรุณาคุณ แก่เวไนยสัตว์อย่างทั่วหน้า ฉะนั้นเราก็ถวายอำนาจแม้แต่ชีวิตเราก็ถวายพระองค์ เรากล้าที่จะเสียสละเลือดเนื้อชีวิตและวิญญาณเพื่อเป็นพุทธบูชาต่อพระองค์ ก็เพราะพระมหาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระเมตตาคุณที่พระองค์มี ถ้าเราอยากจะมีอำนาจ และทรงอำนาจไว้อย่างยั่งยืนยาวนานถาวร แม้เราตายแล้วก็ยังมีอำนาจอยู่ ก็ต้องดำเนินรอยตามเบื้องยุคลบาทของพระองค์ ถ้าเกิดจากอำนาจบาตรใหญ่ ก็ต้องมีคำว่าทีใครทีมัน ทีกูเองอย่าว่า ทีข้าเองอย่าโวยอย่างนี้เป็นต้นแต่ถ้าอำนาจที่ได้มาจากความเมตาคุณ พระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ จะมีอยู่ทุกที่ทุกหนและทุกคนก็น้อมยอมรับ ไม่ว่าพระองค์จะสอนอะไรตรัสอะไร คำสอนของพระองค์ก็ยังตามมาถ่ายทอด สืบทอดผ่องถ่าย กลายเป็นมรดกทางธรรม มรดกทางวินัย มรดกทางศีล ทางวัฒนธรรม ทางจริยธรรม กลายแปรผันมาเป็นมรดกทางศิลปะ ทางธรรมเนียมปฏิบัติ ทางประเพณี คนๆเดียวทำให้เรากลายเป็นสร้างชาติ สร้างแผ่นดิน สร้างชาติแปลงเมือง สร้างวัด สร้างวัง มีเป้าประสงค์อันเดียวก็คือเพื่อเทิดทูลพระองค์ วัดวาอาราม วัง ที่ทำช่อฟ้าใบระกา หางหงส์อันงดงามสูงส่งนั่นเป็นการแสดงออกถึงพระปัญญาคุณอันเลิศสูงสุด พระปัญญาคุณอันยิ่งใหญ่ พระบริสุทธิคุณที่ใครก็ไม่อาจแตะต้อง ไม่อาจยุ่งเกี่ยวได้ สูงเหนือหลังคา สูงเหนือสิ่งสมมุติทั้งปวง ยอดพระปรางค์ ยอดปราสาท ราชวัตร ฉัตรธง เหล่านี้เกิดจากแรงบัลดาลใจที่เกิดจากการยอมรับผู้มีอำนาจพระองค์นั้น
อำนาจในพระมหากรุณาคุณ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณมี่อำนาจยืนยาวถึง 5 พันปี และเศษแห่งอำนาจยังจะมีต่อไปอีกจนกระทั่งเหลือผ้าเหลืองน้อยห้อยหู 5พันปีก็มีคำสอน อริยสัจ 4 ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค มีคนรู้จักมรรคาปฏิปทา มีคนฟังธรรมแล้วเข้าใจรู้เรื่อง และยังมีพระไตรปิฎกให้ศึกษาเล่าเรียนจนสุดท้ายหมด 5 พันปีก็ยังมีเหลือผ้าเหลืองน้อยห้อยหูเป็นแค่สัญลักษณ์เฉยๆอำนาจของพระองค์ก็ยังอยู่ที่ผ้าเหลืองน้อยห้อยหูนั่นเอง ตลอดที่พระองค์สร้างอำนาจ ไม่มีอาวุธ ไม่มีสมบัติ มีแต่ไตรจีวรกับบาตร แต่พระองค์สร้างอำนาจได้ทั่วในจักวาล

การปฏิบัติในช่วงเช้า
วันอาทิตย์ที่ 2มีนาคม2551

คำสั่งที่1 ลุกขึ้นยืน ปรับสมดุลร่างกาย ยืนถ่างขาให้ให้กว้าง วอร์มด้วยการ
หายใจเข้าลึกๆ ให้ลมไล่ไปถึงปลายเท้า
หายใจออก เบาๆยาวๆ ผ่อนคลาย ส่งความรู้สึกลงไปในกาย (ทำช้ำกัน 2-3 ครั้ง)
คำสั่งที่2 สูดลมหายใจเข้ายืนด้วยปลายเท้า แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น
หายใจออกลดเท้าลง หายใจเบาๆยาวๆผ่อนคลาย
คำสั่งที่3 หายใจเข้า ยืนด้วยปลายเท้า แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น พร้อมยกแขนเหนือศีรษะแขนชิดหู หายใจออกลดเท้าลงช้าๆ
ทำซ้ำกัน 5 ครั้ง ความสำคัญของท่านี้ต้องให้แขนชิดหู
คำสั่งที่4 สลับลมหายใจ
หายใจออก ยืนด้วยปลายเท้า แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ยก2แขนเหนือศีรษะแขนชิดหู หายใจเข้าลดลงช้าๆ
ทำซ้ำกันให้ครบ 5 ครั้ง
คำสั่งที่5 หายใจเข้า ยก2 แขนชี้ตรงมาข้างหน้ายกขึ้นเหนือศีรษะประณมมือ แขม่วท้อง
หายใจออก หมุนลำตัวไปทางขวา แขม่วท้อง แขนชิดหู หมุนไปให้เยอะๆ
หายใจเข้า กลับมาตรงท้องป่อง
หายใจออก หมุนลำตัวไปทางซ้าย แขม่วท้อง แขนชิดหู
หายใจเข้า กลับมาตรง ท้องป่อง
หายใจออก เอียงลำตัวไปทางขวาเอียงด้านข้าง แขนชิดหู
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก เอียงลำตัวไปทางซ้ายเอียงด้านข้าง แขนชิดหู
หายใจเข้า กลับมาตรง
ทำซ้ำกันท่าละ 2-3 ครั้ง
คำสั่งที่6 หายใจเข้า ยืนพลิกฝ่าเท้า 2 ข้าง เข่าไม่งอ
หายใจออก เอียงตัวไปทางขวาทิ้งน้ำหนักลงที่ข้างเท้าขวา ตาตุ่มแตะพื้น
หายใจเข้า กลับมาตรง ฝ่าเท้ายังเปิดอยู่ในท่าเดิม
หายใจออก เอียงไปทางซ้ายทิ้งน้ำหนักลงที่ข้างเท้าซ้าย ตาตุ่มแตะพื้น
หายใจเข้า กลับมาตรง ฝ่าเท้าทั้ง2 ยังเปิดอยู่
ทำซ้ำกัน 2-3 ครั้ง แล้วกลับมายืนตรง
คำสั่งที่7 ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า หายใจเข้า แขม่วท้อง ดึงไส้ ยก2แขนเหนือศีรษะ
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ก้มตัวลง ให้ปลายนิ้วมือ จรดปลายเท้าขวา เข่าขวาตึง
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ก้มตัวลงให้ปลายนิ้วมือจรด ปลายเท้าขวา เข่าขวาตึง
หายใจเข้า กลับมาตรง
สลับขา ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า หายใจเข้า แขม่ว ท้อง ดึงไส้ขึ้น ยก2 แขนเหนือศีรษะ
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ก้มตัวลง ให้ปลายนิ้วมือจรด ปลายเท้าซ้าย เข่าตึง
หายใจเข้า กลับมาตรง
คำสั่งที่8 ชักเท้ากลับ ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าพร้อมกับพลิกฝ่า เท้าให้ตาตุ่มแตะพื้น ยกแขน เหนือศีรษะ หายใจเข้า
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ก้มตัวลง ปลายนิ้วมือแตะปลายเท้าขวา เข่าตึง
หายใจเข้า ค่อยๆกลับมาตรง แขนยังยกอยู่เหนือศีรษะ
สลับขา ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า พลิกฝ่าเท้าให้ตาตุ่มแตะพื้น ยก
แขนเหนือศีรษะ หายใจเข้า
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ ก้มตัวลง มือแตะที่ปลายเท้าซ้าย เข่าตึง
หายใจเข้า กลับมาตรง
คำสั่งที่9 ชักเท้ากลับ ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ตั้งปลายเท้าขวาขึ้น หายใจเข้า
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ ก้มตัวลง ใช้ 2 มือ คล้องที่ปลายเท้า ขวา ดึงเข้าหาตัว เข่าตึง
หายใจเข้า กลับมาตรง
สลับเท้าซ้าย ทำเหมือนเท้าขวา
คำสั่งที่10 ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้า ตั้งปลายเท้าขึ้น หายใจเข้า
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ก้มตัวลง ใช้มือซ้ายดึงปลายเท้า ขวา มือขวากดเข่าขวา
หายใจเข้า กลับมาตรง
สลับเท้าซ้าย ทำเหมือนกับเท้าขวา
คำสั่งที่11 สูดลมหายใจเข้า แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ยก 2 ปีกเหนือศีรษะหลังมือชนกัน
หายใจออก ก้มตัวลง ฝ่ามือแนบพื้น หันปลายนิ้วมือชนกัน
หายใจเข้า กลับมาตรง
คำสั่งที่12 ยืนให้เท้าชิดกัน หันปลายเท้าเข้าหากัน โดยส้นเท้าแยกออก หายใจเข้า
หายใจออก ก้มตัวลงเอาฝ่ามือแนบพื้น เข่าตึง
คำสั่งที่13 ยืนให้ตาตุ่มด้านในชิดกัน แยกปลายเท้าออก หายใจเข้า แขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น
หายใจออก ก้มตัวลง ฝ่ามือแนบพื้น ปลายนิ้วมือชนกัน
หายใจเข้า กลับมาตรง
คำสั่งที่14 หายใจออก แอ่นตัวไปด้านหลัง ออกเสียงอ้าเพื่อระบายของเสีย
หายใจเข้า กลับมาตรง
คำสั่งที่15 ใช้มือทั้ง 2 จับที่บริเวณใต้แก้มก้น หายใจเข้า
หายใจออก แอ่นตัวไปด้านหลัง แอ่นอก แบะไหล่ไปด้านหลัง มากๆ ออกเสียง อ้า....
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก แขม่วท้อง ดึงไส้ ลู่ไหล่เข้าหากันจนแขนชิดกันด้านหน้า เก็บคางชิดอก ตัวไม่ก้ม
หายใจเข้า กลับมาตรง
หายใจออก เงยหน้า แอ่นอก ทิ้งแขนไปด้านหลัง
หายใจเข้า กลับมาตรง
คำสั่งพัก ยกมือไหว้พระกัมมัฏฐาน หาน้ำดื่ม
ท่าเหล่านี้จะช่วยกระตุ้นจุดต่างๆที่มีอยู่ในแผนภูมิ ท่าเหล่านี้เป็นท่าพื้นฐานที่จะช่วยทำให้ร่างกายเราเบาสบายขึ้น ท่าแขม่วท้อง ดึงไส้ขึ้น ยังมีท่าที่ยากกว่านี้ ไม่มียาตัวไหนที่จะช่วยทำให้ต่อมหมวกไต อวัยวะภายในได้รับการกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอเท่าท่าเหล่านี้การแขม่วท้องต้องแขม่วจนรูสึกถึงอาการเสียวที่ก้านหูหรือร้อนที่หลังใบหูจึงจะได้ผล ทำท่าเหล่านี้ซ้ำกันหลายๆครั้งจะทำให้ไม่เกิดอาการไส้เลื่อน ถุงอัณฑะโต โรคกระเพาะ โรคริสีดวงลำไส้ โรคลมแน่นลมเสียในช่องท้อง ปัสสาวะกระปริบกระปอยจะหาย ปอด ไต ม้าม ที่สุดคือโรคหัวใจถ้าสามรถทำให้หลังหูร้อนได้ ก็จะกระตุ้นการทำงานของชีพจรได้อย่างเหมาะสมสม่ำเสมอ ถึงขั้นสูงสุดจะทำให้เสียวสันหลังตั้งแต่ก้นกบไปจนถึงกะโหลกศีรษะ ต้องทำให้ได้เหมือนมีลมวิ่งเข้าไปข้างใน เสียวเข้าไปถึงท้ายทอยและกะโหลกศีรษะจึงจะใช้ได้ ฉะนั้นต้องฝึกทุกวัน

การปฏิบัติธรรมในช่วงบ่าย
วันอาทิตย์ที่2 มีนาคม2551
ฝึกเรื่องวิถีจิต ปฏิจจสมุปบาท

คำสั่งที่1 ทุกคนลุกขึ้นยืนส่งความรู้สึกไปที่ฝ่าเท้าทั้ง2 ยืนด้วยปลายเท้า นับ 1-10 เพื่อปรับสมดุล
ของกาย ดูว่าเท้าทั้ง2 ยืนขนานกันหรือไม่ ปรับให้ขนานกัน อย่าพุงแอ่นไปข้างหน้า หลับตาส่งความรู้สึกดูที่ตัวว่า ไหล่ลู่ไหม คอเอียงไหม คอกับไหล่ต้องตั้งฉากกัน แขนทั้ง2 ทิ้งดิ่งข้างลำตัว ไม่กำ ไม่เกร็ง ทุกอย่างต้องผ่อนคลายไม่มีความเครียด
คำสั่งที่2 สูดลมหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกผ่อนคลายสบายๆ
หายใจเข้า กว้าง ลึก เต็ม รู้ ให้รู้สึกได้ว่าลมวิ่งไปถึงปลายฝ่าเท้า
หายใจออก ยาว เบา หมด รู้
หายใจเข้า ค่อยๆเติมลมไปจนกระทั่งเต็มปอด หน้าอกขยายขึ้น ตามดูการไหวของกายในกายไปด้วย ทั้งภายในและภายนอก ลมหายใจเป็นภายนอก เมื่อหายใจเข้าไปก็เป็นภายใน กายในคือปอดขยาย กายนอกคือหน้าอกขยายดูการไหวของกายในและกายนอก
หายใจออก ดูอาการยุบหรือไหวของกายในและกายนอกไปด้วย
หายใจเข้า กว้าง ลึก เต็ม รู้ ให้รู้สึกได้ว่าลมเข้าไปในข้อกระดูกสันหลัง มองทะทะลุ เนื้อ ทะลุหน้าอก ทะลุซี่โคลงไปถึงกระดูกสันหลังที่เป็นแกนกลางอยู่ด้านหลัง ลงไปถึงก้นกบ ไปถึงสะโพกซ้าย-ขวา
หายใจออก ผ่อนคลาย
คำสั่งที่3 ทิ้งลมหายใจปล่อยลมหายใจเป็นธรรมชาติ โดยไม่ต้องยึดลมหายใจ แล้วมาดูตัวรู้พร้อมรับรู้โดยการสร้างกระบวนการรับรู้ขึ้น ไม่ต้องรู้ข้างนอก ไม่รู้ที่อื่น รู้แต่ภายใน รู้แล้วเฉย รู้อยู่เฉยๆ มีตัวรู้คือสติมาสัมประชาโนอยู่ รู้อยู่เฉยๆ รู้อยู่ภายใน รู้อยู่จุดใดจุดหนึ่งก็ได้ หรือจะรู้โครงสร้างภายในกายก็ได้ อย่ารู้ข้างนอก อย่ารู้สิ่งอื่น ความรู้มีอยู่ แต่ท่านผู้รู้ในตัวเรากำลังหลับ หรือกำลังเคลิ้ม ก็ปลุกขึ้นมา ให้มีตัวรู้รับรู้อยู่ภายใน รู้แล้ววาง รู้แล้วว่างยิ่งรู้ยิ่งเบา ยิ่งรู้ยิ่งสลัดให้หลุดจากชนวนการถูกครอบงำ เครื่องพันธนาการและสิ่งร้อยรัด ยิ่งรู้แล้วยิ่งเป็นอิสระ ยิ่งรู้ ยิ่งรู้สึกได้ว่าตัวเราจะเบาขึ้น มีตัวรู้ปรากฏอยู่ภายใน ไม่มีอารมณ์อื่นเข้ามาครอบงำ แม้ความง่วง ความเคลิ้ม ความฟุ้งซ่าน รู้อยู่เฉยๆ รู้ ละ วาง ว่าง ถ้ามันไม่รู้อะไรจริงๆ ก็ท่องอยู่ในใจก็ได้ รู้ ละ วาง ว่าง ให้หลับตารู้ อย่าลืมตารู้ ถ้าลืมตามันก็จะไปจับที่รูป ทีนี้ก็จะปรุงสังขาร มีวิญญาณปรากฏ วิญญาณการรับรู้ปรากฏก็เกิด นาม-รูป คือกายกับใจปรากฏ ตา หู จมูก ลิ้นก็ปรากฏ ผัสสะปรากฏ สุข ทุกข์ เวทนา ชอบใจ ไม่ชอบใจปรากฏทีนี้ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ อวิชชา จะวิ่งเข้ามาเยอะแยะมากมาย แต่ถ้าเรารู้แล้วละ วางแล้วว่าง รู้อยู่ภายใน มีตัวรู้ตื่นอยู่ตลอดชัดเจน ไม่มีคำภาวนาอื่น เว้นแต่ว่าคนที่จำทำไม่ได้ก็ท่องไว้ก็ได้ว่ารู้ ละ วาง ว่าง ปลุกตัวรู้ให้ตื่นอยู่ภายใน วิชามันมีอยู่รอบกาย แต่คนจะไปรู้วิชามันตายไปหมด ความรู้มีอยู่รอบตัว ทั้งในตัวและนอกตัว แต่ท่านผู้รู้ไม่รู้อยู่ไหน ถ้ารู้แล้วต้องไม่ง่วง ไม่ฟุ้ง ไม่หงุดหงิด รำคาญ อย่างนี้ถึงจะเรียกอารมณ์ผู้รู้ แต่ถ้ารู้แล้วยังง่วง ยังฟุ้งซ่าน ยังหงุดหงิด ยังรำคาญอยู่ แสดงว่าเรายังไม่รู้ แต่เราโง่ ยังไม่ถูกต้องในอารมณ์กัมมัฏฐานที่กำลังเจริญ สิ่งที่เราต้องการก็คือ รู้แล้วละ วางแล้วว่าง สมองไม่คิดอะไร ไม่สับสน สร้างตัวรู้ให้ปรากฏแล้วเพ่งตัวรู้อยู่ภายใน
คำสั่งที่4 เอาตัวรู้ไปจับที่โคลงกระดูกศีรษะ
เอาความรู้สึกจับที่หน้าผากเป็นจุดเริ่มต้น แล้วดูว่าหน้าผากร้อนหรือไม่ ถ้าหน้าผากมีอาการอุ่น ร้อน หรือวูบวาบ นั่นแสดงว่าตัวรู้ของเรากำลังปรากฏที่หน้าผาก
จุดต่อไปเอาความรู้สึกไปจับเพ่งที่ระหว่างคิ้ว แล้วดูว่ามีอาการหนักๆ หน่วงๆ ตึงไหม ถ้ามีอาการหนัก หน่วง ตึง จึงใช้ได้
จุดต่อไปเอาความรู้สึกจับไปที่สันจมูก สันจมูกหนักๆ หน่วงๆ เหมือนมีอะไรมาลูบมาคลำจึงใช้ได้
จุดต่อไปจับที่เบ้าตา ดูว่ามันร้อนๆ อุ่นๆ หรือตุ๊บๆ จึงจะใช้ได้
จุดต่อไปจับไปที่โหนกแก้มซ้าย-ขวา ดูว่าโหนกแก้มมีอาการวูบวาบๆ จึงจะใช้ได้
จุดต่อไปจับที่ริมฝีปากบนปลายจมูก ถ้ารู้สึกเสียววูบวาบจึงจะใช้ได้
จุดต่อไปจับที่ริมฝีปากล่าง ถ้ารู้สึกเสียววูบวาบจึงจะใช้ได้
จุดต่อไปจับที่ปลายคาง
จุดต่อไปจับที่กกหูซ้าย-ขวา
จุดต่อไปจับไปที่เหนือกกหูซ้าย-ขวา
จุดต่อไปจับที่กลางกระหม่อม ถ้ามีไอร้อนพุ่งขึ้นมาจากกลางกระหม่อมจึงจะใช้ได้
จุดต่อไปกะโหลกศีรษะด้านหลัง
จุดต่อไปข้อต่อระหว่างกะโหลศีรษะกับต้นคอที่เรียกว่าท้ายทอย ถ้าร้อนตุ๊บๆอยู่ด้านหลังจึงใช้ได้
จุดต่อไปต้นคอด้านหลัง ลงไปถึงบ่า หัวไหล่ ท่อนแขนด้านบน รู้สึกให้ได้ว่ามีไอร้อนออกมาจากรักแร้ซ้าย-ขวา
จุดต่อไปข้อศอกซ้าย-ขวา ท่อนแขนด้านล่าง ข้อมือซ้าย-ขวา ไปที่ฝ่อซ้าย-ขวา ปรากฏไออุ่นพุ่งออกมา ให้รู้สึกได้ว่ามีไออุ่นพุ่งออกมา ที่ปลายนิ้วทั้ง10 โป้ง ชี้ กลาง นาง ก้อย
สูดลมหายใจเข้า ให้รู้สึกได้ว่าลมเข้ามาจากปลายนิ้วมือ ฝ่ามือ ข้อมือ ท่อนแขนด้านล่าง ข้อศอก ท่อนแขนด้านบน หัวไหล่ ขึ้นมาที่ลำคอด้นหลัง กะโหลกศีรษะด้านหลัง กลางกระหม่อม หน้าผาก หายใจออกจมูก
หายใจเข้า จมูก หน้าผาก กลางกระหม่อม กะโหลกศีรษะด้านหลัง ต้นคอด้านหลัง แยกไปหัวไหล่ซ้าย-ขวา ท่อนแขนด้านบน ข้อศอก ท่อนแขนด้านล่าง ข้อมือ หลังมือ ฝ่ามือ ปลายนิ้วมือ หายใจออก มีไอร้อนปรากฏพุ่งออกมาจากปลายนิ้วมือ กับฝ่ามือ ต้องรับรู้ให้ได้
หายใจเข้า กว้างลึกเต็มรู้ ให้ลมเข้าไปทั่ง หน้าอกยก ปอดขยาย จนกระทั่งลมเดินไปถึงฝ่าเท้า หายใจออกผ่อนคลาย
คำสั่งที่5 กลับมาหยุดอยู่ที่ตัวรู้ภายใน พิจารณาถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นธรรมดาของชีวิต ที่มี เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีเศร้า สุข ทุกข์ ชีวิตทุกชีวิตปรารถนาความสุข แต่ถ้าเอามาชั่งน้ำหนักระหว่างการเกิด แก่ เจ็บ ตาย เศร้า โศก เสียใจ รัก โลภ โกรธ หลง เทียบกันแล้วกับสุข ทุกข์จะมีมากกว่าสุข เสีย มากกว่าได้ พวกที่แตกสลายแล้วตายตั้งอยู่ไม่ได้มากกว่าดำรงอยู่ นี่คือความเป็นจริง กัมมัฏฐานที่หลวงปู่ให้ก็คือ เรียนรู้ชีวิต ลุถึงวิชา เข้าถึงปัญญา นำพาชีวิต เสร็จแล้วทรงความรับรู้เอาไว้ในกาย แล้วค่อยๆลงนั่งอย่างไม่ต้องลืมตา
คำสั่งที่6 นั่งอย่างผู้รู้ การเดินลมย้อนกลับไปที่กลางกระหม่อมมีจุดสังเกตอยู่ว่าเวลาเดินแล้วต้องคลายลมออก ถ้าอั้นเอาไว้ลมจะไปดันข้างในทำให้รู้สึกปวดขมับ คำว่าคลายลมออกคือให้ลมออกไปตามรูขุมขน และจุดต่างๆที่เราเดินลมผ่าน
เตรียมกระดาษดินสอ
ขั้นตอนต่อไปนี้คือขั้นตอนที่จะต้องใช้ตัวรู้พิจารณาปฏิจจสมุปปันธรรม
คำสั่งที่1 หายใจเข้า ขีด5ครั้ง ลมเริ่มเข้าก็เริ่มขีด ลมหมดหยุดขีด
หายใจออก เงยหน้ามองไปข้างหน้าไม่ต้องขีด
คำสั่งที่2 นั่งขัดสมาธิ มือซ้ายถือกระดาษวางมือบนเข่าซ้าย มือขวาจับดินสอวางมือบนเข่าขวา
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนของการใช้ปัญญา เพื่อกระตุ้นเตือนตนเอง ให้รู้จักระมัดระวัง รู้จักวิเคราะห์ รู้จักคิด รู้จักเตรียมพร้อม รู้จักรุก รู้จักรับ รู้จักโต้ตอบ รู้จักมีปฏิกิริยาตอบรับต่อสถานะการณ์ที่เกิดขึ้น เริ่มต้นด้วยการ
หายใจออก หายใจออกใกล้หมด ยกกระดาษ-ดินสอขึ้นมาพร้อมกับภาวนาในใจว่า สติมาสัมประชาโน ลมหายใจออกหมดพอดี
หายใจเข้า เริ่มเข้า เริ่มขีด เข้าสุดหยุดขีด
หายใจออก ลดมือลงวางที่หัวเข่า ลมหายใจออกจวนหมด ยกมือขึ้นพร้อมกับภาวนาในใจสติมาสัมประชาโน ลมหายใจออกหมดพอดี
หายใจเข้า เริ่มเข้าเริมขีด เข้าสุดหยุดขีด
หายใจออก ลดมือลง ลมหายใจออกจวนหมด ยกมือขึ้นภาวนาสติมาสัมประชาโน
(ทำซ้ำกัน 10 ครั้ง)
คำสั่งที่3 ลุกขึ้นยืน
หายใจออก ทิ้งแขนข้างลำตัว หายใจออกจวนหมดยกแขนขึ้นสติมาสัมประชาโนลมออกหมดพอดี
หายใจเข้า เริ่มขีด เข้าสุดหยุดขีด เงยหน้าขึ้นมองตรงไปข้างหน้า
หายใจออก ลดแขนลง หายใจออกจวนหมดยกแขนขึ้นพร้อมภาวนาสติมาสัมประชาโน ลมออกหมดพอดี
หายใจเข้า เริ่มขีด เข้าสุดหยุดขีด เงยหน้าขึ้น มองตรงไปข้างหน้า
(ทำซ้ำกัน 10ครั้ง ขั้นนี้ต้องใช้ปัญญาจัดสรรลมหายใจให้เหมาะสมพอดี)
คำสั่งที่4 หายใจเข้า ขีด หายใจออกหลับตาลดมือลง หายใจเข้ายกมือ ขึ้น หายใจออก ลืมตาขีด
หมายเหตุ ขีดเสร็จแล้วหลับตาตามดูลมหายใจออก พร้อมดูการเคลื่อนไหวของมือที่ลดลง ตามดูลมหายใจ เข้า ดูการเคลื่อนไหวของมือที่ยกขึ้น
( ให้หลับตาตามดูการเคลื่อนไหวของลมอย่างเหมาะสม ใช้ปราณโอสถผนวกเข้าไปได้ด้วยยิ่งดี เห็นลมเดินตามข้อกระดูกได้ยิ่งวิเศษ การเคลื่อนไหว ยกแขน ลดแขนเห็นเป็นกระดูกยกขึ้น ลดลง ยิ่งวิเศษ )
คำสั่งที่5 หลับตาหายใจเข้า ค่อยๆยกมือขึ้นเตรียมพร้อม
หายใจออก ลืมตาขีด
ในขณะขีดต้องระวังสภาพขาให้อยู่ในท่าเดิมไม่ขยับเขยื้อนเคลื่อนที่ ส่งความรู้สึกไปที่กระดูกข้อเข่า ขยับเข่าปรับสมดุลให้เหมาะสม อย่าให้แอ่นหน้า แอ่นหลัง ปรับให้ขาตรงเหมือนลำไม้ไผ่ น้ำหนักที่ฝ่าเท้าเสมอกัน การมีสติพิจารณาความเป็นไปในกาย ขึ้นชื่อว่าเรามีศีล เพราะกายนี้ไม่เดือดร้อนไม่ลำบาก วาจานี้ไม่เดือดร้อนไม่ลำบาก ท่อนแขนเรียบร้อย ท่อนขาเรียบร้อย ลำตัวตั้งตรงมั่นงดงาม ทั้งกายและวาจาไม่ลำบากเพราะมีสติ อย่างนี้จึงชื่อว่ามีศีลสิกขา เมื่อใดที่จิตจดจ่อตั้งมั่นอยู่ในกองธรรม และการงานและกัมมัฏฐานที่เรากำลังดำเนินอยู่ ไม่สัดส่าย ไม่สับสน ไม่ส่งจิตไปทางตา หู จมูก ลิ้น มีความรับรู้ความเป็นไปภายในกาย ตั้งมั่นอยู่ในกาย ทำให้กายนี้ดูงดงาม มีระเบียบเรียบร้อย อย่างนี้มีชื่อว่า เป็นผู้มีจิตสิกขา เมื่อใดที่เราบริหารการตั้งอยู่ของกาย นอนอยู่ของกาย เดินอยู่แห่งกาย อย่างเหมาะสมถูกต้อง ไม่ขัดเขินสอดคล้อง ตรงเป้าหมาย เป็นไปเพื่อประโยชน์ อย่างนี้ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาสิกขา ศีล สมาธิ ปัญญาเกิดได้จากการฝึกสติตั้งมั่น ไม่ทำให้กายลำบากไม่ทำให้ตาลำบาก ไม่ทำให้วาจาลำบากและไม่ทำให้จิตใจลำบาก เราเกิดศีล สมาธิ ปัญญาแล้ว ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญาอันบริสุทธิ์เช่นนี้ได้ชื่อว่าเป็นอริยะชน เป็นศากยะตระกูล เป็นตระกูลของพระพุทธะ สำหรับผู้มีศีล สมาธิ ปัญญาตั้งมั่นพิจารณาความเป็นไปในกาย อานิสงส์ก็จะทำให้กายนี้ไม่ลำบาก ใครที่ยืนเมื่อย ยืนปวด ยืนขบ ก็จะรู้วิธีการผ่อยคลายและบรรเทา รู้วิธีการถ่ายเทน้ำหนัก รู้วิธีการโยกโคลน จัดสมดุลโคลงกระดูกและโครงสร้างภายในที่ค้ำก้อนเนื้อ เส้นเอ็น พังผืด และอวัยวะน้อยใหญ่อยู่ ที่เราเมื่อยที่เราปวดไม่ได้เมื่อยที่ตับ ไม่ได้ปวดที่กล้ามเนื้อเส้นเอ็น เท่าที่รู้อยู่เวลานี้ก็คือมันปวดเมื่อยที่กระดูก ที่ฝ่าเท้า ที่ข้อเท้า ที่ข้อต่อกระดูกที่ต้องรับน้ำหนัก อย่างไม่รู้ ไม่เข้าใจ ฉะนั้นหาวิธีปรับถ่ายน้ำหนักให้เหมาะสม เพราะในขณะที่มนุษย์หรือสัตว์ ตั้งตัวยืนขึ้น ก่อนจะยืน ต้องอาศัยกล้ามเนื้อช่วยพยุง แต่หลังจากยืนขึ้นมาแล้วเป็นเรื่องของกระดูกล้วนๆ ในขณะที่ทรงตัวอยู่ เป็นเรื่องของ กระดูกกับเส้นเอ็น ส่วนกล้ามเนื้อเป็นเครื่องช่วยการเคลื่อนไหว เวลานี้ต้องใช้ปัญญาในการบริหารกระดูก หลวงปู่จึงบอกว่าในขณะที่หายใจเข้าหรือขีด ลดมือลง ยกมือขึ้นลมหายใจที่เข้าและออกให้เห็นว่าโคลงกระดูกกำลังเป็นไปยิ่งวิเศษใหญ่
คำสั่งที่6 ค่อยๆหย่อนตัวลงนั่งช้าๆ ในอิริยาบถที่ไม่ลำบาก ผ่อนคลาย และรู้สึกตัวภายในกาย

นั่งในท่าขัดสมาธิ พร้อมที่จะปฏิบัติต่อ
คำสั่งที่7 หายใจเข้ายกแขนขึ้น หายใจออก ขีด หายใจเข้า ลดแขนลง หายใจออกยกแขนขึ้น หายใจเข้าขีด (ทั้งหมดเป็น 1คำสั่ง) ส่งความรู้สึกไปในกายช้าๆ ชัดๆ
คำสั่งพัก หายใจเข้าอย่างค่อยๆเติมลมเข้าไปช้าๆจนลมเต็มปอด หน้าอกขยาย ค่อยๆหายใจออกผ่อนคลาย แล้วหายใจเข้าไปใหม่ช้าๆ เต็มแล้วค่อยๆหายใจออกอย่างผ่อนคลายอีกครั้ง หายใจเข้า กักลมไว้นับ1-5 ช้าๆแล้วดูซิว่าลมมันออกทางไหนบ้าง แล้วผ่อนลมยาว ลืมตา
คำสั่งต่อไป ขีดกระดาษ12ช่อง
ช่องที่1 อวิชชา เพราะอวิชชาความไม่รู้ ทำให้เกิดสังขาร
ช่องที่2 สังขาร คือการปรุงแต่งที่เกิดจากตาเห็นรูป ปรุง
เป็นกุศล หรืออกุศล หรือเห็นแล้วไม่ปรุงก็คือเห็นเฉยๆการปรุงแต่งที่เกิดจากหูได้ยินเสียง ได้ยินแล้วปรุงเป็นกุศลหรืออกุศลหรือได้ยินแล้วรู้สึกเฉยๆ
หรือการปรุงที่เกิดจากจมูก เกิดจากลิ้น เกิดจากกาย และเกิดจากใจเป็นต้น
ช่องที่3 วิญาณ คือการรับรู้อารมณ์รับอารมณ์ เช่นรับรู้อารมณ์ที่เกิดทางตาเรียกว่าจักษุวิญาณ หรือรับรู้
อารมณ์ทางหู เรียกว่าโสตวิญญาณ
ช่องที่4 นามรูป มีกายกับใจหรือ(ตัวกู) นามเป็นสภาพธรรมที่ไม่มีตัวตนแต่รู้อารมณ์ มี จิตกับเจตสิก ส่วนรูป เป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์เช่น ตา หู จมูก กาย
ช่องที่5สฬายตนะหรืออายตะนะ6คือแดนต่ออารมณ์ทั้ง 6 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจเช่นตาเห็นรูปสวย เพราะ
อวิชชาความไม่รู้เห็นรูป สังขารการปรุงก็ปรุงว่ารูปสวย ซึ่งรู้ได้ด้วยวิญญาณที่เกิดจากจักษุวิญญาณ จักษุวิญญาณเกิดที่ตา ถ้าสำรวมตาได้ ก็จะไม่เห็นว่ารูปสวยหรือไม่สวย
ช่องที่6 ผัสสะ คือสัมผัสที่เกิดจาก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
ถ้าตาไม่กระทบรูป ก็ไม่มีการปรุง เพราะตาไปสัมผัสรูปจึงเกิดการปรุง ว่ารูปนี้ดี รูปนี้ไม่ดี หรือว่าหูไม่กระทบเสียงก็ไม่ปรุง ที่ปรุงเพราะหูไปกระทบเสียงจึงปรุงว่าเสียงดีถูกใจ หรือเสียงไม่ดีไม่ถูกใจ เพราะผัสสะทำให้เกิดเวทนา
ช่องที่7 เวทนา เวทนาก็คืออารมณ์สุข อารมณ์ทุกข์ หรืออารมณ์ไม่สุขไม่ทุกข์ (เฉยๆ ไม่ปรุงอารมณ์)
เวทนามีเวทนาชั้นสูงกับเวทนาชั้นต่ำ เวทนาในอายตนะ6เรียกว่าเวทนาชั้นสูง ไม่ต้อง
อาศัยตา หู จมูก ลิ้น และไม่ต้องอาศัย การสัมผัส แต่วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวงอาจจะเรียก
ได้อีกอย่างว่าอุเบกขาเวทนา ถ้ามีการพัฒนาขึ้นไปอีกก็เป็นสุขเวทนา แต่ในสุขเวทนาก็
ไม่นิยมนำมาใช้กับอุเบกขาด้วยเหตุผลที่ว่า สุขจริงๆของโลกแห่งวิญญาณ มันมีแค่คำว่า
วางแล้วว่าง จึงจะเป็นสุข แต่สุขที่เกิดจากการเสพมันไม่สุขจริง เพราะต้องแลกมา แต่วาง
แล้วว่างเกิดสุขเพราะไม่ต้องแบก ไม่เป็นภาระมันเบาสบาย จึงเรียกอีกอย่างว่าวางเฉย จึงจัดเป็นอุเบกขาเวทนาคือเวทนาชั้นสูง แต่เวทนาที่เกิดจากตาสัมผัส เวทนาที่เกิดจากหูได้ยิน เวทนาที่เกิดจากจมูกได้กลิ่น เวทนาที่เกิดจากลิ้นรับรส หรือเวทนาที่เกิดจากใจสัมผัส อย่างนี้เรียกว่าเวทนาชั้นต่ำ เมื่อมีเวทนาเกิดก็ทำให้เกิดอยาก มักมากอยากได้ที่เรียกว่าตัณหา
ช่องที่8 ตัณหา เพราะความอยาก ทำให้ต้องออกแรงออกกำลังทำให้
ได้มา เมื่อได้มาก็เกิดทุกข์ตามมาด้วยอุปาทาน
ช่องที่9 อุปาทาน คือความยึด ในสิ่งที่ขวนขวายลงทุนมา ซึ่งเรียกว่าของกู ของกูตัวนี้คืออุปาทานความยึดถือ พอมีอุปาทานความยึดถือก็เป็นตัวกำหนดให้เกิด
ช่องที่ 10 ภพ ทุคติภพ สุขคติภพ ซึงเป็นแดนเกิดของสัตว์ทันที
เธอจงมองโลกให้เป็นความว่างแล้วมัจจุราชจะไม่เห็นเธอ ฉะนั้นเรื่องวางแล้วว่างหลวงปู่จะพูดเป็นประจำ พูดอยู่บ่อยๆ ไม่ต้องไปรู้ว่า เรามีเวทนามากี่พบกี่ชาติ มีตัณหามากี่ภพกี่ชาติ แค่ตัดคำว่าอุปาทาน ภพก็เกิดไม่ได้ ที่ยังมีภพได้ก็เพราะว่า ของกู ตัวกู เช่นเรายึดว่านี่ สมบัติกู ตัวกู ญาติกู ผัวกู ลูกกู เมื่อตายแล้วก็ห่วงหาอาวรณ์เศร้าโศกเสียใจ ก็ทำให้มีทุคติภพเป็นแดนเกิด ใครทำให้เราทุกข์ ลองย้อนกลับไปดูซิว่าใครทำให้เราทุกข์ ไม่มี มีแต่ตัวกูล้วนๆเป็นคนทำ แล้วตัวกูอยู่ตรงไหน ถามต่อไป ตัวกูก็ไม่มี มีแต่ตัวไม่รู้นี่แหละคือตัวกู แล้วตัวไม่รู้มันคืออะไรตัวไม่รู้ก็คือตัวอวิชชา ถ้าจะไม่ให้มีตัวกูก็ต้องดับอวิชชา ดับอวิชชาก็ต้องดับสังขาร ดับวิญญาณ ดับนามรูป ดับอายตนะ ดับผัสสะ ดับเวทนา ดับตัณหา มันก็คือดับอุปาทาน ดับอุปปาทานได้ก็ดับภพ เมื่อดับภพได้
ช่องที่11 ชาติ การเกิดก็ไม่มี เมื่อไม่มีเกิด
ช่องที่12 ชรา พยาธิ มรณะ ความแก่ก็ไม่มี ความเจ็บป่วยก็ไม่มี เมื่อเกิดไม่มี ก็ไม่มีความตาย
จำไว้อย่าง ไม่ว่าเราจะดีมาขนาดไหน ชั่วมาปานใดถ้าไม่มี คำว่าอุปาทาน มันก็จะไม่มีภพ แต่ต้องย้อนกลับไปดูว่าจะไม่ให้มีอุปาทานนั้นต้องไม่มีอะไร ก็ต้องย้อนไปที่อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป อายตนะ ผัสสะเวทนา ตัณหา แม้เราจะบอกว่าตัดอุปาทานก็จบแล้ว ขั้นตอนของปฏิจจสมุปบาทก็ขาดสิ้น แต่จริงๆแล้วโดยเหตุโดยปัจจัยมันก็มีเชื้ออยู่เพราะเรายังมีอวิชชาอยู่ พอยังมีอวิชชาอยู่ แล้วจะเอาอะไรไปตัดคำว่าตัวกู มันไม่มีอะไรที่จะไปตัดตัวกูได้ นอกจากต้องมีวิชชาเท่านั้น จึงจะไปตัดคำว่าตัวกูลงได้ ภพมันจึงจะไม่อุบัติ แล้วเอาวิชชามาจากไหน ต้องไปค้นหาให้ได้ว่าวิชชามาจากไหนพอค้นหาไปๆอวิชชาก็ถูกกำจัดไป สังขารก็ไม่มี วิญญาณก็ไม่ปรากฏ แม้รับรู้ก็ไม่รับรู้ในสิ่งที่ไม่ควรรู้ เลือกรู้ในสิ่งที่ควรรับ ทีนี้นามรูป กายใจก็ไม่ลำบาก อายตนะก็ไม่ลำบาก มีสัมผัสก็สัมผัสแบบสุขุม คนที่ทรงอารมณ์ฌาน ยังไม่เข้าปฐมฌาน หรือปฐมฌานเฉียดฉิว สัมผัสในกามคุณทั้ง5 จะละเอียดสุขุมขึ้น จะประณีตขึ้น เช่นลิ้นรับรสก็สุขุมขึ้นไม่หยาบเหมือนลิ้นไอ้เข้ หูฟังเสียงได้ไกลขึ้น ตาเห็นรูปก็วิจารณ์ได้ละเอียดรอบครอบ จมูกดมกลิ่นก็สุขุมขึ้น เราแยกเยอะกลิ่นได้ดีขึ้น กายสัมผัสก็นิ่มนวลอ่อนบางเบาสบาย แต่พอถึงองค์ฌานแล้วเรื่องพวกนี้มันจะวางหมดเพราะมันจะมีคำว่าอุเบกขา มันจะวางหมดเพราะสุขในกามคุณ มันสู้สุขในชั้นของฌานไม่ได้ สุขในฌานมันก็ไม่สู้วางเฉย องค์ฌานสูงสุดจึงมีคำว่าวางเฉย คืออุเบกขารมย์ แต่อารมณ์ของวิปัสสนายิ่งสูงกว่านี้อีก ยิ่งสุขุมกว่านี้อีก อารมณ์ของปัญญายิ่งวิเคราะห์ได้ละเอียดลึกอีกว่า ความวางเฉยกับความว่าง มันแตกต่างกัน ถ้าไม่มีปัญญาก็แยกแยะไม่ได้ว่าเฉยกับว่างนี่แตกต่างกันอย่างไร แต่ถ้ามีปัญญาเรียนปฏิจจสมุปบาทแล้วศึกษาเรื่องของปัญญาชัดแจ้งแล้ว รู้ชัดตามความเป็นจริงแล้ว เราจะวิเคราะห์ได้ว่าวางเฉย มันยังหยาบอยู่ เพราะมันมีเรื่องต้องให้วาง แต่คำว่าว่างมันไม่มีอะไรให้วางแล้ว
เพราะฉะนั้นคำว่าเฉยกับว่างคนที่ใช้คำว่าว่างจะสูงส่งกว่าคำว่าเฉย มันว่างเพราะเห็นแล้วว่ามันไม่มีสาระแก่นสาร ว่างเพราะไม่รู้จะไปแบกอะไรมันไม่มีตัวตนให้แบกให้ยึด อย่างนี้เรียกว่าลุถึงปัญญา เรียกว่าเป็นผู้เจริญวิปัสสนาญาณ เมื่อเจริญได้ขั้นนี้ก็จะเข้าไปสู่คำว่ารู้ชัดอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ความไม่มีตัวตน ความหมายของคำว่าว่างมีความหมายดุจอากาศที่โอบอุ้มสรรพสิ่งแต่มองไม่เห็นตัวตน เหมือนดั่งอากาศเข้าไปซึมสิงสรรพสิ่ง อารมณ์ของวิปัสสนามันจะเป็นเช่นนี้ อารมณ์ของฌานมันใหญ่จริงแต่มันหนักเหมือนภูเขา มันไม่มีการเคลื่อนไหว มันนิ่งมันเฉย แต่อารมณ์วิปัสสนา เหมือนอากาศที่ลอยไปในทุกอณูของบรรยากาศโลกมันซึมสิงไปหมดแม้ในโคลงกระดูกเราก็มี เส้นเลือด เส้นขน เส้นผมก็มีอากาศ เพราะฉะนั้นการเรียนรู้วิถีของปัญญา จึงต้องทำซ้ำๆ ต่อเนื่อง ยาวนาน จนกระทั่งกลายเป็นวสีคือนิสัยความเคยชินที่จะอยู่กับสติปัญญา สติปัญญา สติปัญญา ทบๆไปจนเต็มขุมแห่งสติปัญญา แล้วขับไล่อวิชชาออกไป เราจะตัดอุปาทานได้ก็ต่อเมื่อมีวิชชา และปัญญา
วิธีที่จะดูแลปฏิจจสมุปบาทมันแค่ชั่วขณะจิตเดียว มันไม่ใช่เกิดขึ้นเป็นชาติเป็นภพ เป็นเดือน เป็นปี เรื่องการดับอุปาทานแม้ว่าจะเป็นความจำเป็น จะเห็นว่าแม้พระผู้มีพระภาคเจ้าจะสอนพระโมคราชะเรื่องความว่างกับความเฉย พระพุทธเจ้าก็สอนให้เห็นว่าความเฉยนี้มันชั้นต่ำ ยังเป็นชั้นพรหม แต่ความว่างเป็นเรื่องของคนที่มีภูมิปัญญาที่เห็นสรรพสิ่งในโลกตรงตาม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันไม่มีตัวตนให้ยึดถือ มันเป็นทุกข์มันเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ปกติมันเป็นอย่างนี้ ความว่างมันจึงเป็นสุญญะตะ หรือสุญญตา จบปฏิจจสมุปปันธรรม