ค่ายโครงการส่งเสริมอุดมการณ์ "ปราชญ์ผู้ทรงศีล"
ณ วัดอ้อน้อย เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๓
..... เป็นอย่างไรกันบ้างทุกคนสบายดีเหรอ ยังไม่ทันจะลงจากรถเลย เค้าก็ประกาศว่าหลวงปู่จะมาแสดงธรรม ว่าจะเข้าไปสรงน้ำซักหน่อยก็ไม่ได้สรง ก็เพิ่งจะจบจากตรงโน้นประมาณ 5 โมงกว่าๆ แล้วก็ไปแวะดูปัญหางานวิปัสสนาจารย์จังหวัดนครปฐมที่วัดราชนัดดา ออกจากวัดราชนัดดาก็มานี่ เมื่อเช้าออกแต่เช้าไปทำบุญคือไปทอดกฐิน ทอดกฐินจบแล้วก็ไปแสดงธรรมที่หอประชุม 5 โมงครึ่งเลิกแล้วก็มา เมื่อคืนวานนี้รับปากกับพวกเราไว้ว่าเย็นๆกลับมามีเวลาก็จะลงมาพูดคุยด้วยในฐานะที่เราก็เสียเวลามาแล้วก็อยากให้ได้อะไรดีๆกลับไปบ้าง แต่นั่นก็ไม่ใช่หมายถึงว่าเวลาหลวงปู่มาพูดจึงจะได้ดี คนอื่นมาพูดจะไม่ได้ ไม่ใช่ แต่ก็เปลี่ยนรสชาดกันไปเพราะเราอยู่กับพระพี่เลี้ยงมาทั้งวันก็อาจจะรู้สึกเบื่อ เบื่อบ่อยๆก็กลายเป็นรำคาญ เซ็ง และจำใจ ก็เลยทำให้เสียหายต่อการเรียนรู้ศึกษา ก็ถือว่าเป็นการเปลี่ยนรสชาด เปลี่ยนโอกาส เปลี่ยนบรรยากาศ วันนี้คงไม่ต้องเกริ่นอะไรเยอะแยะ เพราะพวกเราก็คงจะเริ่มที่จะเข้าใจความหมายของการมีชีวิตบ้างพอสมควร เพราะเมื่อวานหลวงปู่ก็ได้ปูพื้นฐานให้ได้เข้าใจแล้วว่า ที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ก็เพื่อการงาน ที่เราต้องมาอยู่ตรงนี้ก็เพื่อหาวิธีไปบริหารจัดการต่อการงานทั้งภายในและภายนอก ซึ่งการงานภายในก็มีอยู่ 2 ประการ ในส่วนที่เป็นรูปธรรม และก็ส่วนที่เป็นนามธรรม ส่วนการงานภายนอกก็มีแต่รูปธรรม ก็คือเราต้องลงมือกระทำจึงจะได้ผลสำเร็จของงาน และก็สรุปสุดท้ายเมื่อวานไว้ว่า ชีวิตคือการตั้งคำถาม มีชีวิต มีลมหายใจ ได้พลัง ใช้พลังสร้างสรรสาระ สร้างสรรการงาน หมดลมหายใจ ไร้ชีวิต สิ้นพลัง ก็ขาดสาระ ไร้ซึ่งการงาน มีชีวิตก็คือการตั้งคำถาม วันนี้หลวงปู่แสดงธรรมพูดกับพวกเค้าให้รู้ว่า นอกจากชีวิตจะเป็นการตั้งคำถามแล้ว ธรรมะยังช่วยค้นหาคำตอบให้ ชีวิตไม่ใช่อะไรอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่อะไรสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ใช่ขณะใดลักษณะใดอย่างไรอย่างหนึ่ง แต่ชีวิตคือองค์ประกอบของสรรพสิ่งเรียกว่า หลายสิ่งรวมกันเป็นหนึ่งสิ่งนั่นหนึ่งชีวิตนั่นคือความหมายของชีวิต ชีวิตคือองค์ประกอบของหลายสิ่งรวมกัน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องมีหน้าที่จัดการหลายสิ่งนี้ให้ทำงานดำรงไว้ซึ่งสมดุลต่อกันและกัน ให้ตามีหน้าที่มอง ให้หูมีหน้าที่ฟัง ให้ลิ้นมีหน้าที่รับรส ให้จมูกมีหน้าที่ดมกลิ่น ให้กายมีหน้าที่ถูกต้องสัมผัส ให้ใจมีหน้าที่รับรู้อารมณ์ แต่ถ้าเมื่อใดที่เอาใจไปกิน เอาตาไปดื่ม เอาจมูกไปดู เอาหูไปดม แสดงว่าเราบริหารจัดการหลายสิ่งนี้ผิดพลาดบกพร่อง เพราะฉะนั้นชีวิตคือหลายสิ่งรวมกัน แล้วหลายสิ่งนั้นต้องอาศัยการบริหารการจัดการที่ดีเพื่อดำรงไว้ซึ่งสมดุล และก็ประโยชน์สูงสุด สาระเจริญสุด แต่ถ้าเมื่อใดเราปฏิเสธการบริหารจัดการก็คือปฏิเสธการงาน ถือว่าเราไม่ได้สาระกับสิ่งเหล่านี้เลย ตาที่เห็นรูปก็จะไม่รู้จักแยกแยะว่ารูปดีหรือชั่ว แล้วก็ตกเป็นทาสของรูปที่เห็น หูก็ฟังในเสียงที่ชอบและชังโดยไม่แยกแยะว่าอะไรเป็นมิตรเป็นศัตรู แล้วก็จะตกเป็นทาสของเสียงที่ฟัง ลิ้นรับรสก็ไม่แยกแยะว่ารสใดถูกต้องรสใดไม่ถูกต้อง รสอะไรมีประโยชน์ รสใดเป็นโทษ แล้วก็กายเราถูกต้องสัมผัส เราก็จะหลงใหลได้ปลื้มเป็นทาสของมัน เพราะสภาวะหลายสิ่งนั้นขาดผู้ควบคุม ที่ขาดผู้ควบคุมเพราะเราปฏิเสธการฝึกหัดปฏิบัติเรียนรู้ ที่ขาดผู้ควบคุมเพราะเราไม่รู้จักที่มาของชีวิต และที่ขาดผู้ควบคุมก็เพราะว่า ความหมายของชีวิตที่แท้จริงนั้น คือ กระบวนการบริหารการจัดการ แล้วเอาอะไรไปบริหารจัดการมัน ก็เอาสติ เอาสมาธิ เอาปัญญา แล้วสติ สมาธิ ปัญญา เกิดได้อย่างไร มันก็เกิดได้ต่อเมื่อเราต้องฝึกหัด ปฏิบัติ เรียนรู้ อย่างที่เรากำลังทำอยู่นี่แหละ คือการค้นหาวิธีบริหารจัดการ และวิธีนั้นเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา หรือ สติ สมาธิ ปัญญา นั่นเอง เมื่อเราเข้าใจพื้นฐานของชีวิตดังนี้แล้ว เรื่องทั้งหมดต่อไป ก็เป็นเรื่องทั้งหมดที่เป็นกระบวนการการบริหารจัดการ หรือเรื่องทั้งหมดที่จะนำมาซึ่ง การบริหารการจัดการที่มีประสิทธิภาพสูง ประโยชน์สุด เรื่องที่เราทำ คำที่เราพูด สูตรที่เราคิด สิ่งที่เราศึกษา เรื่องที่เราจำ เราจะน้อมนำมาใช้ในการบริหารการจัดการชีวิตนี้อย่างมีสาระสูง ประโยชน์สุด เพราะเรารู้เป้าหมายของมันแล้ว เราก็จะใช้มันได้อย่างตรงเป้าหมาย ที่นี้ก็มาพูดถึงเรื่องปัญหา ได้ยินว่าพวกท่านมีปัญหาเตรียมไว้ที่จะถามมากพอสมควร ก็เชิญถามได้
ปุจฉา : วัดแห่งนี้เป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เหตุไฉนจึงมีผู้นำสัตว์ป่า คือ หมี เลี้ยงไว้ใน กรง เช่นนี้จะเป็นการกักกันอิสระหรือไม่
วิสัชนา : จริงๆ แล้วเราก็อยากจะปล่อยมัน แต่ถ้าเราปล่อยมัน พวกคุณก็จะลำบากใจ ปกติเราก็ปล่อยให้มันออกมาเดินเล่นอยู่บ่อยๆ สัตว์พวกนี้ไปช่วยมาจากร้านอาหาร ไปช่วยมาตั้งแต่เล็กๆ เค้าจะเอามันไปฆ่า เราก็ให้ตำรวจเค้าไปจับมา จะเอาไปปล่อยป่า มันก็หากินไม่ได้ เพราะครั้งหนึ่งเคยเอาไปปล่อย แล้วความที่มันเชื่องอยู่กับคน มันก็เดินมาหาคน คนนึกว่ามันจะมาทำร้าย ก็เลยยิงมันตาย ก็เลยกลายเป็นว่าเราไปทำร้ายมันโดยตัวเอง ก็เลยไม่ไปปล่อย แต่ก็ไม่ใช่หมายถึงขังมันอย่างนั้นตลอดกาล ถ้าว่างๆคุณลองแอบมาดู คุณจะรู้ว่าเราไม่ได้ขังมันตลอดกาล แต่ที่เราต้องให้มันอยู่ในกรงนั้น ก็เพราะมีพวกคุณมา หมีมันถึงต้องเข้ากรง ถ้าพวกคุณไม่มา มันอาจจะออกมาบ้าง เหตุผลก็เพราะว่ามันซน มันไม่ได้ดุร้ายอะไรหรอกคุณ มันเล่น มันซน มันไม่เลิกเล่น บางทีก็ออกไปถึงถนนใหญ่นู้น ไปแงะกุฏิ คุณไปดูข้างฝากุฏิฉันนั่น มันหลุดออกมาเป็นแผ่นๆ มันงัดเอามา เจตนาของมันคือ อยากเรียกฉันออกมาเล่น แต่ฉันไม่เล่นอยู่ในห้อง มันเลยหาวิธีเรียกร้องความสนใจ งัดกฏิ ปีนห้อง อะไรแบบนี้ ถ้ามันออกมาแล้ว ทุกอย่างก็เป็นอันว่าหายไปในพริบตา คือ สัตว์ มันก็เล่นแบบสัตว์ มันไม่รู้ว่าอะไรควรเล่น อะไรไม่ควรเล่นหรอกคุณ จริงๆแล้วที่นี่เราเลี้ยงด้วยความรัก เราไม่ได้เลี้ยงเพราะว่า เราอยากเลี้ยง หรือไม่ได้เลี้ยงเพราะบังคับขู่เข็ญหรือไปกักขัง เราก็พยายามให้อิสระ ให้ความสุขกับมัน แต่ว่ามันก็มีขีดจำกัดระหว่างที่อยู่มนุษย์กับสัตว์เหมือนกัน ถ้าจะให้มันเดินออกมาเพ่นพ่าน เดี๋ยวมันก็มานั่งฟังธรรมกับคุณ แล้วคุณจะทนอยู่ได้เหรอ สมมุติว่าถ้าฉันปล่อยมา เมื่อคืนคุณคงนอนไม่เป็นสุขหรอก เพราะมันจะต้องออกเที่ยว สัตว์พวกนี้มันเที่ยวกลางคืน แล้วก็นอนกลางวัน แล้วมันฉลาดกว่าคุณอีก มันฉลาดเป็นกรดเลยหละ คำว่าฉลาดกว่าคุณ ต้องขออภัยที่พูดผิด มันจะเป็นคนจำได้ เพราะสัตว์นี่มันจะมีสัญญา มีความจำดีแต่ปัญญาไม่มี มันจะรู้จักเสแสร้ง พลิกแพลง แกล้งทำอะไรของมัน คุณสงสารแต่สัตว์เท่านั้นหรือ ไม่สงสารคนเลยเหรอ ในวัดนี้ไม่มีอะไรน่าสงสารเท่าสัตว์แล้วเหรอ สมภารก็น่าสงสารนะคุณ ดูอย่างฉันซิ เพิ่งจะลงจากรถมา ก็ต้องมานี่แล้ว อย่างนี้ไม่น่าสงสารกว่าสัตว์อีก เหรอ ไอ้นั่นมันนั่งๆ นอนๆ กินเฉยๆ ไม่ได้ต้องทำงานอะไร คุณยังสงสารมัน ฉันนี่ทำงานทั้งวันแถมยังต่อ Over time กลางคืนอีก คุณไม่สงสารเลยเหรอ
ปุจฉา : การปฏิบัติสมาธิมีวิธีอื่นที่นอกเหนือจากการกำหนดลมหายใจอีกหรือไม่ และจะรู้ตัวไปอย่างไรว่าตนมีสมาธิแล้ว
วิสัชนา : เยอะแยะวิธีลูก วิธีมีมากมาย วิธีมีมากมายกว่า 40 วิธี ที่ทำให้จิตตั้งมั่น มีสติดำรงอยู่ น้องหนูจงจำไว้ว่า เขาฝึกสติแล้วผลของสติก็จะเป็นสมาธิ ไม่ใช่ฝึกสมาธิ สิ่งที่คุณจะฝึก และเค้าสอนให้คุณฝึกคือให้คุณมีสติ ความมีสติ คือ ความรู้เนื้อรู้ตัว จะทำให้เราเข้าใจความหมายของการดำเนินชีวิต ที่ถูกตรง ถูกต้อง เมื่อชีวิตเรามีความรู้เนื้อรู้ตัว เราก็จะทำพูดคิดไม่ผิด การที่เราทำไม่ผิด พูดไม่ผิด คิดไม่ผิดนี่ จิตเราก็จะไม่มีความเศร้าหมอง ไม่สับสน ไม่ขุ่นมัว มันก็จะตั้งมั่น การตั้งมั่นนั่นแหละ เรียกว่า สมาธิ วิถีนี้เรียกว่า สมาธิแห่งวิถีพุทธ ถ้าสมาธิแบบพราหมณ์ก็ต้องไปนั่งหลับหูหลับตา แล้วภาวนา นโม พุทธโธ ธัมโม สังโฆ อะไรอย่างงั้น นั่นเค้าเรียกสมาธิแบบพราหมณ์ สมาธิแบบพุทธมันต้องมีปัญญา ทำแล้วเกิดปัญญารู้แจ้ง สมาธิพุทธเป็นอย่างนั้น สมาธิพราหมณ์ต้องฝึกสัญญา คือ ความจำเฉยๆ นั่งท่องอยู่อย่างงั้นแหละ บ่นอยู่อย่างงั้นแหละ อย่างนี้เค้าเรียกสมาธิพราหมณ์ พราหมณ์กับพุทธมันคนละเรื่องกัน สมาธิพุทธพุทธต้องเริ่มด้วยการเจริญสติ ทำให้สติตั้งมั่น เพราะสติเมื่อปรากฏอยู่กับใคร คนๆนั้นจะไม่ทำผิด พูดไม่ผิด คิดไม่ผิด ทำ พูด คิด ไม่ผิดพลาด นั่นคือเจตนาของการฝึกสติ เจริญสติ แล้วตัวสติก็เป็นไวพจน์ของปัญญา คือ เป็นที่ตั้งของปัญญา ศาสนาพุทธสอนสิ่งอื่นที่ศาสนาอื่นไม่มีสอน คุณรู้ไหมคืออะไร ไม่มีอยู่ในศาสนาอื่น นอกนั้นมีหมด มีอยู่อย่างเดียวที่ไม่เหมือนศาสนาอื่นเลย สอนให้มีปัญญาไง พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เชื่อ แต่สอนให้ทดสอบ พิสูจน์ ทดลอง แม้แต่ในหลักกาลามสูตร ห้ามไม่ให้เชื่อ 10 อย่าง อย่าเชื่อตามๆ กันมา อย่าเชื่อว่าตรงใจเรา อย่าเชื่อว่าเป็นคำโบราณ อย่าเชื่อคัมภีร์ อย่าเชื่อตำรา อย่าเชื่อว่านี่เป็นคำพูดของครูเรา อย่าเชื่อว่านี่แม้แต่เราตถาคตบอก เธอต้องทำก่อน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นว่าศาสนาอื่นไม่มี ศาสนาอื่นจะสอนให้เชื่อไว้ก่อน แต่ศาสนาพุทธจะสอนให้ทดลองทำก่อน ทำแล้วจึงจะเห็นผลอย่างไรแล้วค่อยมาบอกว่าเชื่อหรือไม่ เพราะงั้นศาสนาพุทธสอนไม่เหมือนศาสนาอื่นตรงที่สอนให้ฉลาด สอนให้เป็นคนมีปัญญา แต่ที่ไม่มีปัญญาและไม่ค่อยฉลาดก็เพราะไม่ค่อยทำกัน เราชอบเดินตามคน เพราะมันง่ายกว่าเดินนำคน คุณว่าถูกไหม คนทุกคนขี้เกียจ กลัวลำบาก ก็เลยไม่อยากเดินนำใคร ก็อยากจะเดินตามใครอยู่ตลอด แล้วใครซักกี่คนที่อยากจะเป็นผู้นำ ฮีโร่ในเมืองไทยมีซักกี่คน หกสิบกว่าล้านคนจะมีฮีโรซักคนหนึ่งก็ยาก จะมีผู้นำที่เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว มั่นคง ดำรง สติ เจริญปัญญา ปรากฏสมาธิ สร้างศรัทธา หาได้ยาก มีแต่คนอยากตามคนอื่นทั้งนั้น ไม่มีคนอยากนำคนอื่น เพราะนำคนอื่นแล้วมันทำได้ลำบาก มันทุกข์ยาก มันต้องเสียสละ ต้องรอบรู้ ต้องเชี่ยวชาญ ฉันเขียนบทโศลกสอนลูกหลานไว้บทหนึ่งว่า “ลูกรัก สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ เรื่องที่ยากที่สุดสร้างมิตรแท้” ในเมืองไทยมีคน 60 ล้านกว่าคน มีซักกี่คนที่กลายเป็นวีรบุรุษ แล้วที่เหลือไปไหน ไม่ใช่คนหรือไง? ใช่ แต่ไม่อยากทำ ขี้เกียจทำ เบื่อที่จะทำ หน่ายที่จะทำ ลำบากที่จะทำ กลัวที่จะทำ เพราะมันทำยาก การเป็นวีรบุรุษนี่มันทำยาก ทำลำบาก เลยไม่มีใครอยากทำ เพราะงั้นศาสนาพุทธสอนให้ทุกคนเป็นมิตรแท้ของตัวเอง แต่เราไม่ค่อยเป็นกัน ไม่ค่อยทำกัน มันก็เลยไม่ค่อยได้อะไร คนทั้งหลายก็เลยดูถูกดูแคลนว่า นับถือศาสนาพุทธแล้วไม่เจริญ เป็นคนโง่ จริงแล้วรากฐานของศาสนาพุทธไม่มีคำว่าไม่เจริญ ไม่มีคำว่าโง่ มีแต่ความฉลาด พระพุทธเจ้าเริ่มต้นจากมีปัญญา สอนให้คนมีปัญญาเลยในข้อแรก คนอื่นสอนว่าทำอย่างนี้ๆ เป็นสุข แต่พระพุทธเจ้ามีคำแรกที่สอนว่า นั่นเป็นทุกข์ นี่เป็นทุกข์ ไอ้นั่นเป็นทุกข์ ถ้าจะพ้นทุกข์ต้องทำอย่างนี้ พระองค์ไม่เอาสุขเข้าล่อเลย ไม่ได้เอาเหยื่อเข้าล่อคนให้เชื่อก่อนเลย แต่ศาสนาอื่นจะสอนโดยเอาเหยื่อเข้าล่อก่อน ศาสนาพุทธจะสอนให้ใช้ปัญญาก่อนถึงจะเชื่อ เพราะงั้นคุณจงจำไว้ว่า วิธีการเจริญสติ แล้วทำให้เกิดสมาธิ ปรากฏปัญญา เป็นวิถีพุทธ แต่วิธีการที่คุณถามว่า ทำอย่างไรให้เกิดสมาธิ มีสติปัญญา นั่นเป็นวิถีพราหมณ์ ถ้ามีสมาธินำ เป็นพราหมณ์ชัดๆ แต่ถ้าสตินำ เป็นพุทธแท้ๆ
ปุจฉา : อยากทราบว่าคนเสียสติ สติเค้าอยู่ที่ไหน แล้วธรรมะจะช่วยทำให้สติเค้าคืนมาได้หรือไม่
วิสัชนา : อ๋อมันไปประชุมสภาน่ะคุณ ทำยังไงจะให้มีสติก็เรียกสติกลับมา อย่าให้ไปสภากลับมาหาตัวคุณเอง
ปุจฉา : การที่พระสงฆ์ฉันอาหารเสร็จแล้ว จำเป็นหรือไม่ที่ฆราวาสจะต้องลาข้าวพระก่อนนำมาทานต่อ และจะมีผลอย่างไร หากไม่ลาข้าวพระ
วิสัชนา : ลาทำไมหล่ะ มันขึ้นราเหรอ? ราหรือลา ลาทำไมหล่ะ ไม่เห็นจำเป็นเลย ไม่มีระเบียบวินัยข้อใดบอกว่าต้องลาข้าวก่อน ก็เวลาพระสงฆ์ฉันข้าวจบแล้ว ก็ส่วนที่เหลือนอกนั้น ก็เป็นของชาวบ้าน ก็เป็นธรรมชาติอยู่แล้ว เค้าทำกันเป็นกิจกรรม เป็นกิจวัตร เป็นประเพณี สมัยก่อนนี้เค้าจะมีเรียกอุปโลกทาน คำว่า อุปโลกทานก็คือหัวหน้าสงฆ์จะยกส่วนที่เหลือให้เป็นทานกับมหาชน ชาวบ้านในสมัยก่อนนั้น ถ้าไม่มีการยกกันอย่างนี้ เค้าก็จะไม่กล้าหยิบแตะต้องเพราะกลัวบาป แต่สมัยนี้ก็ไม่ค่อยมีใครทำ เพราะถือว่าเป็นเรื่องอัตโนมัติ ท่านก็หิว ผมก็หิว ท่านอิ่มแล้ว แล้วผมจะทนหิวให้โง่เหรอ ก็ลุยเลยยังไม่ทันได้อุปโลกอะไรอย่างงั้น มันก็เลยกลายมาเป็นว่า เอาหละยังไงๆ ก็ไม่อุปโลกแล้ว เพราะมันลงเข้าไปในคอแล้วนี่ ก็ตัวใครตัวมัน ที่นี่ยังดีที่เค้าปล่อยให้ พระสงฆ์ฉันก่อน ที่อื่นนะไม่ทันได้ฉันหรอก ดีไม่มีฉันพร้อมพระสงฆ์ พระสงฆ์กินแต่โยมฉันแล้ว ก็บอกว่าไม่จำเป็นอยู่ที่สิ่งแวดล้อม อยู่ที่จารีตธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นนั้นๆ
ปุจฉา : เนื่องจากว่าพวกหนูยังอ่อนต่อชีวิตและการปฏิบัติธรรมมากนัก เพราะยังต้องใช้ความอดทนสูง กับสิ่งที่ทำอยู่นี้ไม่รู้ว่าจะได้รับอะไรตอบแทน เพราะการปฏิบัติธรรมไม่ได้เห็นผลเร็วเหมือนกับการกินข้าวแล้วอิ่ม อยากให้หลวงปู่แก้ข้อลังเลสงสัยนี้ด้วยครับ
วิสัชนา : เนื่องจากการปฏิบัติธรรมมันเป็นนามธรรมมองไม่เห็นชัด ก็เลยมีความรู้สึกว่าไม่ได้อะไรจากการปฏิบัติธรรมครั้งนี้หรอก? เป็นขนาดนั้นเชียวเหรอ ตั้งแต่มาอยู่นี่กินไม่อิ่มเลยเหรอ นอนไม่หลับ ลำบากใจ มันอึดอัดรำคาญ ทุกข์ปวดหัว กลุ้ม หงุดหงิด เป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ถ้าเป็นอย่างนั้นแสดงว่าคุณไม่ได้อะไร แต่ถ้ายังกินอิ่ม นอนหลับ ถ่ายสบาย ผ่อนคลายใจ ไม่เป็นทุกข์ ทุกอย่างไม่กังกลวิตกอะไร จิตใจมันนุ่มนวลเบาสบาย ไร้มลภาวะ ไร้ภาระที่ต้องแบกหาม เกิดสันติสุข สงบ นั่นแหละได้แล้วคุณ คุณได้โดยไม่ต้องเป็นเนื้อเป็นหนังเป็นรูปเป็นร่างเป็นน้ำเป็นก้อน แต่ได้โดยตัวของคุณเอง การปฏิบัติธรรมก็คือการขัดเกลา ธรรมะนี่เขาแปลได้อีกอย่างหนึ่งว่า ธรรมชาติแห่งการฟอกการชำระจิต ธรรมะคือธรรมชาติแห่งการฟอกและชำระ ฟอกชำระสิ่งที่เป็นมลภาวะภายในให้มันน้อยไป หายไป หมดไป สุดท้ายมันก็กลายเป็นแก้วใส บางๆ ที่มองเห็นอะไรทะลุปรุโปร่ง นั่นคือ ที่มาของสูตรสำเร็จแห่งธรรมะ แต่ถ้าเมื่อใดที่เราไม่มีธรรมะ มันก็เหมือนกับมีแก้ว แต่มันขุ่นมัว มันมีของสกปรก เอาไปใส่น้ำก็ไม่ได้ ไปเข้าใกล้ก็ไม่มีใครอยากได้ โยนทิ้งไว้หมาก็เยี่ยวรด นั่นคนไม่มีธรรมะเพราะไม่มีค่าในสายตาชาวบ้าน ถ้ามีธรรมะ ก็ดูมีค่ามีราคาในสายตาชาวบ้าน ใครบอกปฏิบัติธรรมไม่มีอะไร ไม่ได้อะไร ไม่เห็นรูปอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เป็นรูปธรรม ไม่จริง หลวงปู่นี่ได้ชื่อว่าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมมั๊ย ? แล้วเรารู้ไหมว่าถ้าเป็นชาวบ้านคฤหัสถ์ธรรมดาตั้งแต่วันที่ 1 มกราถึง 30 สิงหานี่จะหาเงินสูงสุดได้เดือนละเท่าไหร่ ปรกติถ้าเป็นชาวบ้านธรรมดาๆ นักศึกษา ครู อาจารย์ เดือนละล้านนี่ไหวมั๊ย ทำได้ไหม หลวงปู่ถือว่าเป็นนักปฏิบัติธรรม คุณก็พูดเอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราจนถึงวันที่ 10 ที่ผ่านมา หลวงปู่แสดงธรรมสามารถหาเงินได้ถึง 14 ล้านบาท ใครบอกธรรมะว่าไม่มีเรื่องไม่มีราว ไม่เป็นรูป ไม่เป็นร่าง ไม่มีคุณประโยชน์ เพราะงั้นใครบอกปฏิบัติธรรมไม่เป็นผลอะไรไม่จริง ฉันยกตัวอย่างง่ายๆไม่ได้มาอวดพวกคุณ ในชีวิตฉันไม่เคยไม่ได้อะไรอย่างที่ฉันคิดเลย ไม่เคยในชีวิตยังไม่เคยเจอว่าไม่มี อยู่ในป่ายังมีไอศครีมฉันเลยเรื่องจริง เย็นๆ นี่ฉันรู้สึกแสบท้อง แล้วก็นึก เออ…พรุ่งนี้เช้าจะฉันข้าวต้มสักชามก็คงจะค่อยยังชั่ว เช้าก็ได้ฉันข้าวต้ม เช้าพอฉันแล้ว รู้สึกเอ๊ะ…ถ้าได้ฉันก๋วยเตี๋ยวสักชามก็จะดีตอนเพล เพลก็ได้ฉันก๋วยเตี๋ยว แต่ฉันเป็นคนไม่ได้ขยันนึกแบบนั้นนะ ไม่ใช่เป็นคนตะกละแบบนั้น แต่ไม่ว่าอะไรที่ฉันคิดอยากจะได้ ไม่เคยมีคำว่าไม่ได้ ในชีวิตยังไม่เคย ยังไม่มี งานปีที่ผ่านมา ฉันบอกกับลูกหลานว่า 3 วันนี่ข้าไม่เอาอะไรมาก ขอเพียง 5 ล้านก็พอ ทุกคนมองว่า 3 วันอะไรจะได้มา 5 ล้าน ไม่มีคนเลยจะได้อย่างไร สุดท้ายเค้าก็ได้ตามที่ฉันพูด เพราะงั้นธรรมะทำให้เรายิ่งใหญ่เสมอ แล้วรู้ไหมว่าวัดนี้จัดงานปิดทองรูปนิมิต ไม่มีมหรสพอะไรเลย ไม่มีการละเล่นดึงดูดให้คนมาเที่ยวเลย 10 วัน 10 คืน ได้เงิน 40 ล้าน และฉันก็ไม่ได้ไปควักมือเรียกให้คนมาด้วย ใครบอกว่าปฏิบัติธรรมไม่มีค่า เพราะฉะนั้นธรรมะนี่มีค่า ขอให้คุณเข้าถึงธรรมะจริงๆเถอะ แล้วต้องลงมือทำด้วยตัวคุณเองด้วย ไม่ใช่จำเค้ามาเฉยๆ จนกลายเป็นที่ยอมรับว่าฉันเป็นสัญลักษณ์ของความสำเร็จ ไม่มีอะไรที่ทำแล้วไม่สำเร็จ ในชีวิตยังไม่เคยมี เว้นแต่ว่าจะไม่ทำเท่านั้นเอง งั้นให้รู้ว่าธรรมะนั้นมีค่า ที่พูดเรื่องนี้ก็เพราะคุณยังเป็นเด็กวัยรุ่น ยังเป็นปุถุชน ยังเป็นคนทะยานอยาก ก็ทำให้คุณเห็นว่าถ้าคุณปฏิบัติธรรมะอย่างจริงๆ จังๆ แล้ว มันให้ผลคุณอย่างที่คุณไม่คาดฝันทีเดียวแหละ ให้คุณอยากทำ อยากปฏิบัติ อยากเรียนรู้ศึกษาธรรมะ แล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตคุณมีความสำเร็จมากขึ้น ลองทำดูก็ได้
ปุจฉา : ทำไมต้องแบ่งแยกด้วยว่า การทำผิดต่อพระอริยะเป็นบาปมากกว่าการทำผิดต่อบุคคลธรรมดา ถ้าเราคิดไม่ดีกับบุคคลที่ปฏิบัติจนมีฌานสูงแล้วจะบาปมากไหม แล้วถ้าสำนึกได้ บาปนั้นจะลดลงหรือไม่
วิสัชนา : ทำไมต้องแบ่งแยกด้วยว่าการทำไม่ดีกับพระอริยะกับบุคคลธรรมดาจึงเป็นบาปมากกว่า ? ก็เหมือนๆ กับเราไปตบหน้าเพื่อนๆ เราที่เป็นผู้หญิงซักเปรี้ยงหนึ่ง ความรู้สึกก็ยังผิดบาป แต่ก็ยังเฉยๆ แต่ถ้าเมื่อใดที่เราหันไปตบหน้า (ขออภัย) มารดาของเรา แม่เรา เรารู้สึกยังไงหล่ะ ผิดไหม เฉยได้ไหม แล้วมันจะจำไปยันวันตายเชียวหละคุณ นั่นแหละข้อเปรียบเทียบว่าทำไมถึงทำผิดบาปกับพระอริยะเจ้ากับคนธรรมดาจึงแตกต่างกัน ทำผิดกับพระอริยะเจ้าก็เหมือนกับการตีพ่อตีแม่ ความรู้สึกเราจะเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครบอกเราแต่เราจะรู้ด้วยตัวเราเอง เหมือนกับเราไปตีคนที่เค้าบริสุทธิ์ ทีแรกตอนตีก็ไม่คิดว่าเค้าบริสุทธิ์ คิดว่าเค้าผิด แต่พอตีไปแล้วความจริงปรากฏว่าเค้าบริสุทธิ์ กับตีโจรที่ไม่บริสุทธิ์ คุณคิดว่าอะไรเป็นบาปมากกว่ากัน ตีคนบริสุทธิ์เป็นบาปมากกว่าตีโจร เหมือนกันตีพระอริยะเจ้ากับตีคนธรรมดา คนธรรมดาก็อาจจะมีผิดมีถูก แต่พระอริยะเจ้าไม่มีผิดมีแต่ถูก ความรู้สึกมันบอกตัวคุณเอง ไม่มีใครมาบอกหรอก ไม่มีใครมาแบ่งแยก คุณนั่นแหละเป็นคนแบ่งแยกตัวคุณเอง
ปุจฉา : พระพุทธเจ้ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างกันอย่างไร
วิสัชนา : พระพุทธเจ้ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต่างกันอย่างไร ? ก็คนเดียวกัน พระพุทธเจ้าก็คือ พระผู้เป็นศาสดาสั่งสอนมหาชนคนและสัตว์ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็คือ พระผู้รู้แจ้งโลก ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้เป็นสัพพัญญู ผู้รู้อดีต ปัจจุบัน ผู้เป็นโลกวิทู รู้แจ้งโลก เป็นคุณศัพท์เดียวกัน แต่ถ้าคุณถามว่า พระพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากับพระปัจเจกพุทธเจ้าต่างกันไหม อันนี้แตกต่าง เพราะพระปัจเจกพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยตัวเอง แต่สอนคนอื่นไม่ได้ แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ด้วยตัวเอง สอนคนอื่นได้ นี่คือข้อแตกต่าง
ปุจฉา : การที่เราทำทานให้กับคนขอทาน แต่คนขอทานนั้นมาจากกระบวนการของคนชั่ว หรือคนทุจริต เราจะเรียกการทำทานนี้ว่าบุญหรือบาป เจ้าคะ
วิสัชนา : มันก็ไม่น่าจะเป็นบุญเท่าไหร่หรอกนะ เพราะมันไม่ได้ประกอบไปด้วยกิริยาของบุญ ไม่ได้เป็นกิริยาวัตถุ ก็เมื่อวานหลวงปู่บอกแล้วว่า บุญกิริยาวัตถุต้องประกอบไปด้วย 3 กาล คือ ก่อนทำตั้งใจ ขณะที่ทำเต็มใจ ทำแล้วสบายใจ แล้วคุณทำแล้วสบายใจหรือเปล่า ถ้าไม่สบายก็ไม่น่าจะเป็นบุญ เพราะถ้าสบายใจคุณคงไม่ถามฉัน ก็แสดงว่าคุณก็ไม่สบายใจ เมื่อไม่สบายใจก็คงไม่เป็นบุญเท่าไหร่ อีกอย่างหนึ่งก็คือบุญกิริยาวัตถุ คือ กิริยาที่ทำให้เป็นบุญ กิริยาบวกใจบวกวัตถุ กิริยาพร้อมที่จะทำ มีวัตถุพร้อมที่จะทำ แล้วลงมือทำนั่นเป็นบุญสมบูรณ์ แต่ถ้ากิริยามี ใจมี แต่วัตถุไม่มีก็อาจจะไม่ดีเพราะไม่มีวัตถุทำบุญ รวมๆ ก็คือมันต้องอยู่ที่ตัวคุณด้วย ถ้าคุณทำแล้วคุณไม่ทุกข์ใจก็อาจจะได้บุญ แต่มันไม่ดีเพราะคุณกำลังทำให้โจรมีอายุมากขึ้น ไปต่อตีนให้โจร ให้ช่องกับคนชั่วเบียดบังประโยชน์คนอื่น มันก็เป็นเรื่องไม่ดีเหมือนกัน
ปุจฉา : ก่อนที่ทหารจะออกไปรบ มีการนำเครื่องรางของขลังออกไปด้วย อย่างนี้จะเรียกว่าศรัทธาที่ผิดได้หรือไม่
วิสัชนา : กลัวตายน่ะ มันไม่มีอะไรมาศรัทธา เค้าเรียกกลัวตาย บางทีไม่จำเป็นต้องมีเครื่องรางของขลังเลย แค่คางคก จิ้งจก ตุ๊กแก ยัดเข้าปาก มันเต้นแด่วๆ ก็นึกว่าของพระขึ้น ยังสู้ได้ 7 ต่อ 1 อ้าว ! เรื่องจริง เขาว่าลูกศิษย์หลวงพ่อแก้ววัดเครือวัลย์ หลวงพ่อแก้วให้พระกับลูกศิษย์มา ลูกศิษย์ก็กำมาอย่างดี พอสักพักก็มีโจรมาดักปล้น 7 คน ลูกศิษย์ก็เอาพระใส่ปากสู้ยิบตา หนักๆ เข้าโดนชกปาก ชกหน้า พระกระเด็นหลุด ก็ก้มลงไปคลำหาพระ เพราะมันมืด คลำได้ก็จับยัดใส่ปาก ขึ้นมาต่อสู้ เอ๊ะ ! ซักพักหนึ่งพระในปากดิ้นได้ มีฤทธิ์ อัด ถอง กีบ แตะเข่า เขย่าศอก นิ้วจิ้มตา ถ่มน้ำลายรดหน้า โจร 7 คนหมอบกระแต แหม…ลูกศิษย์ภูมิใจพระหลวงพ่อมีฤทธิ์ดิ้นได้ในปาก คายออกมาตายห่า ! คางคก ลูกคางคก ปัดโธ่ ! เห็นหรือเปล่าอย่างนี้เค้าเรียกศรัทธาอะไรหล่ะ อยู่ที่ใจ พลังใจลูก ศรัทธาผิดไหม อย่างนี้เรียกว่าผิดมั๊ย คางคกทั้งตัว จะผิดได้ยังไง แล้วแถมยังแตะโจรจนแทบจะตาย อย่างงี้จะผิดได้ยังไง บางครั้งคนเราก็ต้องอาศัยกำลังใจเหมือนกัน เหมือนกับพวกคุณน่ะ ถ้าพวกคุณไม่เห็นหน้าฉันในวันนี้ คุณก็คงนอนไม่หลับแน่เลย เห็นไหมนี่ก็กำลังใจ เพราะฉันบอกไว้ว่าเดี๋ยวเย็นจะมา คนเราก็ต้องอาศัยกำลังใจ มันก็ไม่ได้ผิดอะไร อย่ามานั่งจับผิดกันนักเลย ไอ้ที่ผิดจริงๆ ดันไม่จับ ไอ้ที่ผิดไม่จริงดันจับ ถากไปถากมา คอยจับจังเลย อย่าไปสนใจเลยคุณ เดี๋ยวก็เช้าแล้ว
ปุจฉา : หากว่าเราถือศีลไม่ฆ่าสัตว์ แต่ว่ายังรับประทานเนื้อสัตว์จากที่คนอื่นฆ่ามา ถือว่าเป็นการถือศีลที่สมบูรณ์หรือไม่
วิสัชนา : จริงๆแล้วอาการกินเนื้อสัตว์ที่พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่า ต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่รู้ ไม่ได้สั่ง ไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ไม่ได้ยินว่าสัตว์นั้นร้องเพราะเรา ไม่รู้ว่าสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่แล้วตายเพราะเรา และเราไม่ได้สั่งเขาทำให้เรา ถ้าเป็นอย่างนี้อะไรก็กินได้แม้แต่ไดโนเสาร์ ยกเว้นมังสะ 10 อย่างห้ามกินคือ เนื้อเสือโคร่ง เสือเหลือง เนื้องู เนื้อมนุษย์ เนื้ออะไรอีกหล่ะ หลวงปู่ก็จำไม่ค่อยได้แล้ว ก็เพราะไม่ค่อยได้กิน เนื้อหมี เนื้อหมีนี่กินไม่ได้ หลวงปู่กับหมีนี่มันถูกโฉลกกัน เวลาไปธุดงค์นี่ แม่หมีโดนยิงตาย ลูกมันก็วิ่งเข้ามาอยู่ในกลด แล้วมันก็เดินตามเราต้อยๆๆ เอาน้ำผึ้งให้มันกิน ไปบิณฑบาตรมันก็ตามเข้าตลาด ตอนสร้างวัดใหม่ๆ ไปอยู่เมืองระนอง เมืองสอง ไปอยู่ทับหลี แม่หมีมันโดนนายพรานรุมยิงจนตาย กลับมาที่กลด เอ๊ะ ! อะไรมันดิ้นกระดุกๆ อยู่ในกลด ไปเปิดดู ลูกหมีตาบ้องแบ้ว มันเข้าไปซุกหลบภัยอยู่ เลยไปขอน้ำผึ้งมาให้มันกิน แล้วมันก็ตาม มันกินสารพัดกิน ให้เป๊บซี่มัน ให้นมมันกิน มันนอนสี่ตีนหงายท้องดูด ชอบเล่นน้ำจนปอดบวมตาย ก็ยังนิมนต์พระมาบังสุกุล พอไปนิมนต์พระ พระก็ดีใจนึกว่าจะมาสวดผีใคร ที่ไหนได้มันผีหมี มาสวดผีสัตว์ ก็เนื้อหมีนี่เป็นเนื้อที่พระพุทธเจ้าห้ามไว้ไม่ให้กิน นอกจากมังสะ 10 อย่างที่พระพุทธเจ้าห้ามแล้วสามารถกินได้ไม่เป็นไร เพราะเราไม่ได้สั่งเขา ถ้าเราไปสั่งเขารู้ว่าเขาฆ่าเพื่อเรา ถึงไม่รู้ไม่ได้สั่งแต่สงสัย แล้วกินเข้าไปเป็นอาบัติทุกคำกลืน ถือว่าผิด
ปุจฉา : ดวงตาเห็นธรรมคืออะไร และปัจจุบันยังพอมีบุคคลเหล่านี้อีกหรือไม่
วิสัชนา : เมื่อคืนนี้คุณนอนปิดไฟหรือเปล่า ปิดมั๊ย แล้วก็ปวดท้องเยี่ยว แล้วก็ต้องเปิดไฟ ใช่มั๊ย พอเปิดไฟแล้วไปเยี่ยวถูกที่นั่นแหละดวงตาเห็นธรรม มันก็ทำให้เราทำอะไรผิดไม่ได้ มันทำถูก พูดถูก นั่นแหละดวงตาเห็นธรรม เห็นไปจนกระทั่งว่าชีวิต คือ หลายสิ่งรวมกัน สภาพของชีวิต คือ สถานะของสรรพสิ่งรวมเป็นหนึ่งสิ่งนั่นคือ ชีวิต แล้วหนึ่งสิ่งถึงเวลาดับสลายก็แตกออกเป็นหลายสิ่ง จากหลายสิ่งก็ไม่ปรากฏสักสรรพสิ่ง นั่นแหละเรียกว่าดวงตาเห็นธรรม แล้วเราไม่ยึดติดในสิ่งนั้นๆ
ปุจฉา : เวลาที่นั่งฟังธรรมเกิดอาการเมื่อยล้าจากท่านั่ง ถ้าจะเปลี่ยนท่านั่งเป็นขัดสมาธิ จะผิดไหมค่ะ
วิสัชนา : ไม่ผิดหรอกค่ะ แต่อย่าถึงกับนอนก็แล้วกันนะคะ อย่าถึงกับนอนหรืออย่าเอน อย่าพิงเอาหัวพันกันอะไรอย่างนั้นไม่ต้องนะคะ เราฟังใจเราจดจ่อ หูเราจับจ้อง ก็ไม่ได้ผิดอะไร เรารู้และเข้าใจก็ใช้ได้ คนที่ก้นเป็นฝีนั่งไม่ได้ก็ฟังธรรมไม่ได้นะสิ เพราะงั้นไม่เกี่ยว ท่านั่งไม่เกี่ยว แต่เค้าถือว่าฟังธรรมโดยอาการเคารพ มันเป็นการแสดงออกของความมีสัมมาคารวะ หลวงปู่เขียนบทโศลกสอนลูกหลานไว้บทว่า “ลูกรัก หัวใจสำคัญของคุณธรรม ศีลธรรม สัจธรรม อริยะธรรม และพระบริสุทธิธรรม คือความอ่อนน้อมถ่อมตน” เพราะการแสดงตนเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตนถือว่าเป็นคนมีจริยธรรม มีจารีตศีลธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่บรรพบุรุษ เรียกว่า พ่อสอนดี แม่สั่งดี ปู่ย่าตายายก็ทำตัวอย่างให้เห็นดี เราก็เลยดีตามท่าน สรุปแล้วมันอยู่ที่เราจะสำนึก สงบ สำรวมแค่ไหนด้วย
ปุจฉา : คำว่า วิริยะ มีความหมายเดียวกับ ความเพียร ความขยันหรือไม่ และจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เป็นผู้มีความเพียร
วิสัชนา : เข้าใจถาม ถามตัวเดียวกันก็ได้ วิริยะก็คือความเพียร ความเพียรก็คือวิริยะ มันก็ตัวเดียวกันแหละคุณ แล้วทำอย่างไรจะให้มีความเพียร ก็อย่าขี้เกียจ อย่าทำตนเป็นคนเฉื่อยแฉะ เละเทะ เหลวแหลก โดยไม่ใส่ใจ ไม่จดจ่อ ไม่จับจ้อง ส่วนใหญ่คนที่มีความเพียรนี่เค้าจะเป็นคนจริงจังและก็จริงใจ คนขี้เกียจ คนสันหลังยาว คนขี้พูด คนช่างจ้อ คนขี้เม้าส์จะสังเกตว่าคนพวกนี้เป็นคนที่ไม่ค่อยจริงจังกับอะไร เล่นๆ ทำอะไรก็จับจด เหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ สังเกตได้ง่ายว่าคนเพียร คนไม่เพียร มองไม่ยาก เพราะงั้นคนที่จริงจัง จริงใจ จดจ่อ และจับจ้อง มีความซื่อตรง คือ สัญลักษณ์ของคนมีความสำเร็จ โบราณเค้าจะสอนลูกหลานที่เป็นผู้หญิงให้ไปหาผัว ไปเอาผัว ภาษาโบราณเค้าเรียกไปหาผัวไปค้นเอาผัว ให้เลือกคนที่เป็นผัวโดยให้เป็นคนที่มีความซื่อตรง จริงใจ และจริงจัง เพราะงั้นสมัยหลวงปู่หนุ่มๆ นี่มันจะถูกสเป๊กสาว สาวก็จะรุมทึ้ง เพราะหลวงปู่นิสัยเป็นคนที่พูดอย่างไรก็ทำอย่างนั้นมาตลอด ก็ถือว่าเป็นคนที่มี ความเพียร มีวิริยะ มีความขยัน หลวงปู่นี่ถ้าวันไหนไม่ได้ทำงานก็จะไม่กินข้าว ไม่กินเพราะถือว่าอยู่เฉยๆ แล้วก็ต้องไม่เปลืองอาหาร แค่เปลืองอากาศก็เสียดายแล้ว คิดไว้อย่างงั้นเสมอ
ปุจฉา : คนที่นิยมเพศเดียวกัน มีความผิดทางธรรมและเป็นบาปหรือไม่ หรือเป็นเพียงเรื่องทางโลก ทางธรรมไม่เกี่ยว เจ้าคะ
วิสัชนา : คุณต้องแยกให้ออกระหว่างนิยมเพศเดียวกันที่มีเพศสัมพันธ์ กับนิยมเพศเดียวกันที่เห็นเขาเป็นเพื่อน มันต้องแยกให้ได้ ถ้านิยมเพศเดียวกันที่เห็นว่าเค้าเป็นเพื่อนนี่ไม่ผิด เพราะถือเป็นธรรมชาติ คนเราอยู่คนเดียวไม่ได้ต้องมีเพื่อนและมีที่รัก คำว่าเพื่อนและที่รัก ไม่จำเป็นต้องเป็นคนละเพศ เขาเรียกเพื่อนตาย อย่างนี้เรียกนิยมเพศเดียวกันได้มั๊ย? ได้ เพราะเค้าเป็นเพื่อนตาย เป็นกัลยาณมิตร เป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดได้ ไว้วางใจได้ อาทรแก่เรา เราอาทรต่อเค้า และก็ไม่ทรยศต่อกัน อย่างนี้เค้าเรียกได้ว่านิยมเพศเดียวกัน อย่างนี้ไม่ผิดอะไร ไม่เป็นบาปเป็นกรรมอะไร กลับกลายเป็นเรื่องดี พระพุทธเจ้ายกย่องซะอีก ตัวอย่างเช่น ในครั้งพระพุทธกาล มีพราหมณ์หนึ่งเป็นพราหมณ์อุบาสก เป็นบัณฑิตของพระราชา เป็นหัวหน้าพราหมณ์ในพระราชวัง ควานช้างก็มาเล่าให้ฟังว่า ช้างทรงของพระราชาไม่กินน้ำไม่กินหญ้า พราหมณ์ผู้เฒ่าก็เลยไปถาม หาสาเหตุก็หาสาเหตุไม่พบ ป่วยก็ไม่ป่วย ไม่สบายก็ไม่มี เป็นไข้ก็ไม่เป็น เป็นแผลก็ไม่ปรากฏ มันดีทั้งหมด แต่อยู่ดีๆ ช้างก็ไม่ยอมกินน้ำกินหญ้า พราหมณ์ผู้เฒ่าก็เลยไปถามควานช้าง “ปกติช้าตัวนี้มีเพื่อนมั๊ย” ความช้างก็ตอบว่า “ไม่มีเพื่อนนี่เจ้าคะ จะเห็นมีก็เพียงลูกหมาตัวน้อยๆ ที่ข้าพเจ้าเลี้ยงมาเท่านั้น” “อ้าว! แล้วลูกหมาตัวน้อยนั่นไปไหน” “ข้าพเจ้ามีอาชีพเป็นควานช้างขืนเลี้ยงหมาก็จะเป็นเหตุเป็นภาระก็เลยขายลูกหมานั้นแก่ชาวบ้านไป” บัณฑิตผู้เป็นพราหมณ์ผู้เฒ่าก็ถามว่า “ปกติหมากับช้างเนี่ยเล่นหัวกันบ่อยไหม” “ก็เห็นมันกินมันนอนอยู่ด้วยกัน มันมีอะไรมันก็แบ่งกันกิน” ช้างจะกินน้ำก็เอาน้ำพ่นใส่ปากหมา หมาเห็นกระดูกมาคาบกระดูกก็แบ่งมาให้ช้างดม ช้างกินไม่ได้ บางวันก็พากันไปวิ่งเล่น หมาก็วิ่งลอดใต้ท้องช้าง แต่ช้างวิ่งลอดใต้ท้องหมาไม่ได้ ถ้าวิ่งลอดได้ก็เป็นช้างศาลพระภูมิ มันคงเป็นเรื่องไม่ดี “เพราะงั้นตั้งแต่หมาไปนี่ช้างเป็นอย่างนี้เลยหรือ” “เจ้าค่ะ สังเกตว่าน่าจะเป็นอย่างนั้น” บัณฑิตผู้นั้นก็เลยบอกว่า สาเหตุที่ช้างไม่ยอมกินหญ้ากินน้ำก็เพราะว่าขาดเพื่อนรู้ใจ ให้ไปตามหาหมามาไม่งั้นช้างตาย เจ้าจะต้องโดนตัดหัว ควานช้างก็เลยไปป่าวประกาศ ฝ่ายหมาทำยังไง โดนควานช้างขายไปให้ชาวบ้านก็ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ วันทั้งวันเอาแต่เฝ้ามองหนทางที่ตนเองเดินผ่านมา แล้วหอนโบ้ๆๆ อยู่อย่างนั้น สุดท้ายหมาก็ผอมลงๆ ชาวบ้านทนไม่ได้เลยปลดโซ่ที่คล้องคอหมาแล้วปล่อยให้หมาวิ่งไป หมาก็เลยวิ่งไปหาช้างเอง โดยที่ควานยังไม่ได้มาประกาศขอหมาคืน เมื่อ 2 คนเจอหน้ากัน หมากระโจนเข้าหาช้าง ช้างเอางวงรัดตัวหมาเข้ามากอดมาซบแล้วน้ำตาไหล ต่างฝ่ายต่างร้องไห้ให้แก่กัน ช้างกับหมาตายจากชาตินั้น ช้างได้ไปเกิดเป็นพระ คือมาบวชพระ หมาก็ได้มาเป็นคหบดี แล้วสองคนเนี่ยรู้จักกันมาแต่เก่าก่อนมั๊ย ไม่เคยรู้จักกันเลย พอเจอหน้ากันก็ปิ๊งกัน ชอบใจกัน คหบดีก็จะมาคุยกับพระ พระก็จะมาคุยกับคหบดี จนกระทั่งดึกดื่นเที่ยงคืน คหบดีก็เห็นว่าดึกแล้ว ก็ไปส่งพระ ไปส่งที่วัด พระก็เห็นว่าคหบดีจะเดินทางกลับเปลี่ยว ก็เลยเดินมาส่งคหบดี ส่งกันไปส่งกันมาอย่างนี้จนกระทั่งสว่าง ทำอยู่อย่างนี้เป็นเดือน ผิดหรือเปล่า อย่างนี้ถือว่าผิดมั๊ย ชอบเพศเดียวกันรึเปล่า จนมีคนไปถามพระพุทธเจ้าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมคหบดีกับพระรูปนี้ถึงได้รักใคร่กันปานนี้ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็โดนจ้องๆแล้วว่า นั่นแน่เป็นอะไรกัน ผิดท่าแล้ว นี่คนมันสัปดน คิดจะจับผิดตลอด แต่เรื่องนี้มันมีอยู่ในพระไตรปิฎก มีอยู่ในพระพุทธศาสนามาแล้วมันไม่ได้ผิดอะไรเลย แต่เราไม่เข้าใจเค้าเอง พระพุทธเจ้าจึงชี้ให้เห็นว่า อดีตชาติพวกเขาไม่ได้แค่เกิดมาเป็นหมากับช้าง สมัยก่อนเป็นพญาหงษ์กับพญางู ก่อนจากพญาหงษ์กับพญางูก็มาเป็นเรือดกับเนื้อทราย เนื้อทรายไม่ยอมอาบน้ำเพราะกลัวเรือดเพื่อนซี้ต้องโดนน้ำแล้วต้องตาย รักกันปานนั้น เริ่มต้นชาติแรกมาจากตรงนั้น เริ่มต้นจากตัวเรือดและเนื้อทราย แล้วก็รักกันมาจนทุกภพทุกชาติ ฉะนั้นคำถามที่คุณถามนั้นไม่เป็นบาปอะไร เรามีเพื่อนที่รู้ใจเราไม่ผิดอะไร เพราะเราไม่ได้ประพฤติผิดพรหมจรรย์ ไม่ได้ประพฤติผิดล่วงเกินก้าวก่ายร่วมประเวณีต่อกันก็ไม่ได้ผิดอะไร ไม่ได้มุ่งหวังว่าจะได้อะไรตรงนั้น ถ้าอย่างนั้นก็ไม่ได้เป็นบาปเป็นกรรมอะไร แต่ก็เป็นกรรม กรรมที่ผูกพันกันมาแต่เก่าก่อน เป็นเหตุเป็นปัจจัย สมัยก่อนนี้หลวงปู่ไปบิณฑบาตรแล้วเขาถวายหมา ลูกหมามันวิ่งตาม ลูกหมามันออกมาจากท้องแม่ใหม่ๆ มันเห็นหลวงปู่แล้วมันก็วิ่งตามมา 2 ตัว เป็นหมาพันธุ์ปักกิ่ง ชาวบ้านเห็นหมามันวิ่งตาม เขาก็ไปจับมันมา และทุกครั้งที่ไปบิณฑบาตรหมา 2 ตัวนี้ก็จะวิ่งตามทุกวัน เขาเบื่อรำคาญที่จะจับ เขาก็เลยบอกว่า เอ้า…วันนี้ผมถวายท่านแล้วกัน จับหมาใส่บาตรมา 2 ตัว เราก็เอาฝาบาตรรับมา บิณฑบาตรไม่ใช่ข้าวแล้วแต่เป็นหมา เลี้ยงตั้งชื่อมันว่าไอ้หยก อีจ๋อย ตัวผู้เรียกไอ้หยกพี่ชาย ตัวน้องเรียกอีจ๋อย ไม่ว่าหลวงจะอยู่ที่ไหนมันจะตามตลอด ตอนหลังมานี่หลวงปู่ออกไปจากวัดเมื่อหลายปีก่อนนั้นหนีออกไปจากวัดซะ 5 ปี ไปอยู่ป่า ไอ้หยกไม่ยอมกินข้าว มันไปนั่งรอหลวงปู่อยู่ที่ปากทางถนน แล้วร้องกระทั่งตาย ไม่กินข้าว ไม่กินน้ำ หัวใจสลายตาย เห็นมั๊ย หลวงปู่นี้มีเสน่ห์ไหม หมายังหลงเลย สาอะไรกะคน เพราะฉะนั้นอย่างนี้ผิดไหม ถ้าคนสมัยนี้มันคิดสัปดน แน่…ไปทำอะไรกับหมา หมาถึงได้หลงว่าไปนั่นอีก จริงๆแล้วมันไม่ใช่เลย คิดอกุศล คิดในส่วนที่เป็นกุศล อย่าไปคิดอกุศล
ปุจฉา : พระผู้รู้แจ้งโลก หมายความว่า รู้อย่างไรจึงจะรู้แจ้งโลกครับ
วิสัชนา : รู้ทุกอย่างที่มีอยู่ในโลก เรียกรู้แจ้งโลก เป็นโลกะวิทู
ปุจฉา : อยากทราบว่าสมาธิขั้นสุดท้ายนั้นจะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความรู้สึกอย่างไร หรือเห็นในสิ่งใดค่ะ
วิสัชนา : เหมือนกินไบกอนเหลืองนั่นแหละคุณ...จะไปขั้นสุดท้ายแล้วเหรอ ขั้นแรกยังไม่รู้เลยว่าหน้าตาเป็นยังไงไปขั้นสุดท้ายแล้วจะเหยียบอะไรไปหล่ะ สมาธิมีอยู่ 3 ลักษณะ ขณิก อุปจาร อัปปนา อัปปนาสมาธิ คือ สมาธิที่แนบแน่น ไม่มีขั้นสุดท้ายหรอก มันมีแค่ 3 ขั้น ถามว่าขั้นที่ 3 ถือว่าเป็นขั้นสุดท้ายไหม ไม่ใช่ ยังมีองค์คุณแห่งสมาบัติอยู่อีก มันยังเป็นอารมณ์ของสมาบัตินั่นไม่ใช่ขบวนการของสมาธิแท้ๆ เพราะประกอบไปด้วยองค์คุณวิเศษที่เกิดจากผลสมาธิ ฉะนั้นสมาธิขั้นสุดท้ายคงจะหมายถึงอัปปนาสมาธิ แปลว่า สมาธิแนบแน่นจนกระทั่งถึงขนาดเอาระเบิดปา เอาประทัดจุด เอาปืนยิง เอาไฟเผา เอาน้ำมันราดก็ไม่สะดุ้งเพราะว่าตายไปแล้ว ไม่รู้อะไร เอาระเบิดปาจะไปเหลืออะไรปัดโธ่! จะไปสะดุ้งอะไรก็มันแนบแน่นปานนั้น
ปุจฉา : การทำมารยาทนอบน้อมเป็นสิ่งที่ดีงาม แต่ถ้าทำบ่อยๆบางครั้งก็อาจทำให้เบื่อหน่ายได้ อยากทราบว่าทำไมวัดนี้จึงกราบบ่อยจังครับ
วิสัชนา : คุณเบื่อเหรอ การกราบก็คือการทำลายมานะ ทิฐิ ความถือตัว ถือตน ทำตัวเป็นปูชูก้ามเข้ารู เข้าได้ไหม ได้ แต่มันต้องหักก้ามทิ้งก่อน ช้างชูงวงเข้าป่า เข้าได้ไหม ได้ แต่งวงมันต้องโดนหนามเกี่ยวจนเจ็บปวด คนที่มีความหยิ่งผยอง จองหอง อวดดีน่ะ ถ้าเป็นลูกศิษย์ใคร ครูคนไหนก็ไม่อยากเข้าใกล้ ไม่อยากสอนสั่งวิชาความรู้อะไรให้ เพราะให้ไปมันก็ไม่เห็นคุณของครู ฉะนั้นคุณสมบัติของศิษย์ที่ดีพึงมีคือ อ่อนน้อมถ่อมตน ซื่อสัตย์ กตัญญูรู้คุณคนนั่นแหละคือคุณสมบัติของศิษย์ที่ดี เมื่อครูที่ดีได้ศิษย์ที่ดีอย่างนี้แล้ว ก็ต้องเป็นหน้าที่ของครูที่จะชี้นำ ทำทุกวิถี ทุกชนิดอย่างสุดชีวิตเพื่อให้ศิษย์นั้นได้ดีจริงๆ แต่ถ้าศิษย์ไม่ได้แสดงตนให้ครูเชื่อมั่น ทำตนเป็นคนกระด้าง ไม่ต้องเปรียบครูกับศิษย์ เป็นคุณเองก็แล้วกัน เพื่อนหรือใครก็ตามที่รู้จักมาบอกว่า นี่เธอช่วยฉันหน่อยนะ พูดแบบนี้ คุณอยากช่วยไหม แต่ถ้ามีคนมาบอกว่า เพื่อนวันนี้ฉันแย่เลยไม่มีเวลาว่างเลยไม่ได้ทำการบ้าน ขอลอกหน่อยเถอะ อย่างงี้ถึงคุณอยากจะปฏิเสธ แต่ในความรู้สึกของคุณ ก็เออ…เขาก็ยังมีความอ่อนน้อมถ่อมตน เขามีเสน่ห์นะ เขาทำให้เราเห็นใจเขาได้นะ เขาทำให้เรารู้สึกรัก และก็ยอมที่จะช่วยเหลือ ยอมสมัครใจตกลงปลงใจที่จะช่วยในโอกาสต่อไป อย่างน้อยก็อยู่ในดุลพินิจที่จะนำมาพิจารณา ไม่ใช่มีคำตอบสุดท้ายว่าไม่ จบเลยทำอะไรไม่ได้แล้วเพราะคุณทำตัวให้ น่าเบื่อเอง เพราะฉะนั้นการปฏิบัติตนให้เป็นคนที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตนเนี่ย มันเป็นหัวใจของความเจริญ มันไม่ผิดอะไร ถ้าคุณไม่ทำคุณก็ไม่ได้รับความเจริญก็เท่านั้นเอง และที่นี่เขาก็ถือว่า ถ้าคุณอ่านบทโศลกที่หลวงปู่เขียน แล้วเขาเอาไปแปะตามต้นไม้ มีบทเขียนว่า ผู้ที่เข้ามาอยู่ที่นี่ต้องทำสิ่งเหล่านี้ ปราบพยศ ลดมานะ ละทิฐิ ทรงสติ ดำริเป็นสัมมา จะเห็นว่าปราบพยศนี่เป็นข้อแรกเลย ลดมานะข้อที่สอง และการปราบพยศคืออะไร ยอมตนให้ครูได้ฝึกหัด นั่นแหละคือปราบพยศ เค้าสอนให้คุณกราบบ่อยๆ นั่นแหละเป็นการปราบพยศ ใครที่อยู่ตรงนี้แล้วเชื่อหลวงปู่มีไหม ใครที่นั่งอยู่ตรงนี้แล้วเชื่อหลวงปู่ยกมือซิ แล้วที่ไม่ยกนั่นหล่ะคืออะไร ใครที่นั่งอยู่ตรงนี้แล้วไม่เชื่อหลวงปู่พูดยกมือซิ ไม่ยกแต่อาศัยกินฟรีไปวันๆ หนึ่ง ฉะนั้นกระบวนการของคนที่มีมานะจะยอมรับอะไรไม่ได้ เหมือนกับหม้อที่คว่ำ ปีปที่ทะลุ ตุ่มที่รั่วใส่อะไรก็ไม่เข้า มันเลยเป็นเหตุเป็นปัจจัยทำให้ครูไม่อยากสอน เพราะสอนไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร เพราะงั้นเลยต้องปราบพยศ ลดมานะ ละทิฐิ คือ ละความเห็นที่เป็นความเห็นผิด ทรงสติ ดำริเป็นสัมมา
ปุจฉา : ถ้าโดนของคุณไสย เราจะใช้พุทธคุณรักษา จะทำพิธีอย่างไรเจ้าค่ะ
วิสัชนา : ไปโดนของอะไรมา ของชอบเหรอ ไปโดนอะไรมาหล่ะลูก ห๋า… ไม่ใช่บอกว่าโดนข้าวสาร โดนข้าวผัด โดนมาม่า โดนน่องไก่ อะไรอย่างนั้นนะ มีเด็กวัดมันทะลึ่งๆ มื้อนั้นมันไปกินอะไรก็ไม่รู้ พุงป่อง พระเค้าถามว่า “เฮ้ย ! มึงไปโดนอะไรมาว่ะ พุงทำไมมันถึงโตยังงั้น” “ผมโดนคุณไสยมา ผมใส่ซะเต็มท้องมาเลย” “อะไรหล่ะ” “ไข่พะโล้กับน่องไก่ครับ” คุณรู้ได้อย่างไรว่าโดนคุณไสย ใครบอกคุณ เชื่อต้องมีเหตุผล มีที่มาที่ไป ไม่ใช่อยู่ดีๆก็บอกเชื่อ ฉันไม่รู้คุณโดนอะไรจะได้แก้ได้ ถ้าโดนสากก็จะได้เอาครกเข้าแก้ ถ้าโดนขวานก็จะได้เอาไม้ฟืนเข้าแก้ เลยไม่รู้ว่าคุณโดนอะไร ข้อนี้ตอบไม่ได้ โง่!
ปุจฉา : อาหารมื้อสุดท้ายที่นายจุลทะถวายให้พระพุทธเจ้าที่เรียกว่า สุกรมัทวะ นั้นคืออะไร
วิสัชนา : มันแปลกันหลายตำนานนะ นักบาลีบางบท แปลว่า เนื้อสุกรอ่อน บางบาลีก็แปลว่า เนื้อเห็ดชนิดหนึ่งที่ชาวบ้านสมัยโบราณชอบมากในยุคนั้น เผอิญเห็ดดอกนี้มีพญานาคมาพ่นพิษใส่เอาไว้ ก็เลยทำให้พระพุทธเจ้าต้องถึงคำว่านิพพาน หรือเกิดอาการเจ็บป่วย เพราะฉะนั้นจึงแปลได้ 2 อย่าง เห็ดกับเนื้อหมูอ่อน
ปุจฉา : ทำไมเราจึงต้องสร้างตัวแทนพระพุทธเจ้าให้เป็นรูปเคารพที่เราจับต้องได้ ถ้าเราเพียงแต่นับถือศรัทธาและเข้าใจในพระธรรม ก็น่าจะเพียงพอ การสร้างรูปเคารพเป็นการยึดติดกับวัตถุที่ตาเห็นรูปหรือไม่
วิสัชนา : ก็ไม่จำเป็นเสมอไป คนบางคนก็ต้องอาศัยสื่อ เหมือนคุณมาที่นี่ ไม่เสมอไปที่คุณจะต้องนั่งรถเมล์ รถเก๋ง รถเบนซ์ รถอะไรก็แล้วแต่มาได้ทั้งนั้น พอมาแล้วคุณไปติดในรถนั้นมั๊ย คุณไปนั่งห่วงว่ารถเบนซ์ฉันไปอยู่ไหน รถดั้มฉันไปทิ้งที่ใด รถเข็นฉันไปทิ้งไว้ตรงไหน เหมือนกันการสร้างรูปเคารพทั้งหลายก็เพียงเพื่อจูงใจให้เราเกิดการน้อมนำความศรัธทา น้อมนำปัญญา น้อมนำวิถีแห่งการปฏิบัติตาม พูดตาม คิดตาม นั่นคือเจตนาของผู้สร้างรูปเคารพในยุคแรกๆ แต่ในยุคนี้มันก็กลายเป็นความมอมเมา ทำให้หลงเชื่อจนไปยึดติดในรูปเคารพ ก็อาจจะผิดวัตถุประสงค์ แต่จริงๆแล้วพระพุทธเจ้าทรงแสดงสังเวยชนียสถาน 4 อย่าง เพื่อให้เกิดการระลึกถึงแล้วเป็นบุญ สังเวยชนียสถาน 4 อย่างคือ สถานที่ประสูตร ตรัสรู้ และปรินิพพาน และก็บริขารที่พระองค์ใช้ นี่คือ ตัวแทนของพระพุทธเจ้า เป็นที่เราจะเคารพศรัทธา เลื่อมใสบูชาได้ แล้วระลึกถึงพระองค์ได้ เพราะพระธรรมนี่มันเป็นนามธรรมบางครั้งเราก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นพระธรรม แต่ถ้าเห็นพระพุทธเจ้าแล้วก็มีโอกาสสาวหาเหตุว่าพระพุทธเจ้าทำอะไร พระพุทธเจ้ามีชีวิตอย่างไร พระพุทธเจ้าดำรงอยู่อย่างไร และอุบัติอย่างไร และสิ้นสุดไปอย่างไร และสอนอะไรแก่เรา เรียกว่าเอารูปพระพุทธรูปมาเป็นสื่อในการที่จะเข้าไปหาพระธรรม แต่ถ้าเรารู้จักพระธรรมแล้วก็ไม่จำเป็น เพราะชั่วชีวิตฉันไม่เคยพกพระ หลวงปู่ไปมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ไปอยู่ในที่ๆมนุษย์ไม่อยู่ ก็ไม่มีพกพระ ไม่เคย ชั่วชีวิตของหลวงปู่ไม่เคยพกเครื่องลางของขลัง ไม่เคยมีคาถา ไม่เคยพกพระก็ยังอยู่รอดปลอดภัย ไม่เห็นตายซักที เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นเสมอไป ถ้าเรามีพระธรรมเป็นเกาะเป็นแก้วกำบังเป็นที่พึ่งแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องมีพระพุทธรูปก็ได้ แต่ถ้าเรายังไม่มีพระธรรม ไม่รู้จักพระธรรม ไม่เห็นพระธรรมแจ่มแจ้ง ไม่ปฏิบัติธรรม เราก็ควรหาอะไรซักอย่างหนึ่งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตวิญญาณของเรา อย่างน้อยเราก็มีความรู้สึกว่า เออ…ถ้าจะทำอะไรต่อหน้าพระพุทธรูปก็งดเว้นซะบ้าง หยุดซะบ้าง ทำให้เราละอายชั่วกลัวบาปขึ้นมาได้เหมือนกัน
ปุจฉา : คำว่าการปฏิบัติธรรมคืออะไร การอ่านหนังสือธรรมะเรียกว่าการปฏิบัติธรรมได้หรือไม่ครับ
วิสัชนา : การฟังธรรมก็คือการฟังธรรม การอ่านหนังสือก็คือการเรียนธรรม การปฏิบัติธรรมก็คือ การเอาสิ่งที่อ่านที่ฟังมาลงมือกระทำ มันคนละเรื่องกันคุณ
ปุจฉา : การที่กิจของสงฆ์ในแต่ละวัดวางไว้ไม่เหมือนกัน แล้วในสมัยพุทธกาลพระสงฆ์มีกิจอย่างไร
วิสัชนา : พระสงฆ์ก็มีวิถีคิด วิถีงาน วิถีชีวิต ซึ่งเป็นวิถีจิตแห่งพระพุทธก็คือ ประหยัดสูง ประโยชน์สุด ประเสริฐดีเลิศและก็งามพร้อม ความหมายของพระสงฆ์นี่ไม่ใช่องค์คุณแห่งหนึ่ง แต่มันคือองค์ประกอบหลายสิ่งรวมเป็นพระสงฆ์ ตัวอย่างเช่น กว่าจะเป็นพระสงฆ์ต้องเป็นภิกษุ จากภิกษุก็ขยับขึ้นมาเป็นนักบวช จากนักบวชก็พัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นสมณะ จากสมณะก็ขยับขึ้นมาสู่ความเป็นพระ เรียกว่าพระสงฆ์มันต้องมีองค์ประกอบเหล่านี้ แล้วภิกษุมีหน้าที่อย่างไร ภิกษุก็เป็นผู้ขอเป็นผู้เห็นภัยในวัฎฏะ คนเห็นภัยในวัฎฏะก็ตาม หรือผู้ขอก็ตาม จะไม่ประมาท ไม่โง่ ไม่เลินเล่อ ไม่ตกเป็นทาส และก็ไม่หย่อหยิ่งจองหอง ขออะไรใครจึงได้มากิน จากภิกษุก็พัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นนักบวช แปลว่า ละวาง ปล่อยเว้น ความชั่วทางกาย วาจา ใจ นี่คือวิถีของพระสงฆ์ที่กลายเป็นพระสงฆ์ในอนาคต จากนักบวชก็พัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นสมณะอันแปลว่า สงบกาย วาจา และใจ จากสมณะก็พัฒนาขึ้นมาสู่พระ อันแปลว่า ประเสริฐ ดีเลิศ และงามพร้อม จากพระก็พัฒนาขึ้นมาสู่ความเป็นอริยะเจ้า ประเสริฐยิ่งกว่าความประเสริฐทั้งปวง ดียิ่งกว่าความดีทั้งปวง เลิศยิ่งกว่าความเลิศทั้งปวง งามพร้อมยิ่งกว่าความงามพร้อมทั้งปวง เหล่านี้แหละคือชีวิตของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาครั้งพุทธกาล คำถามที่คุณถามว่า แล้วปัจจุบันถึงทำต่างกัน เพราะความเห็นของแต่ละคนไม่เหมือนกัน วิถีคิด วิถีงาน วิถีชีวิต ของแต่ละคนก็อาศัยพวกพ้องเป็นประธาน ไม่อาศัยพระธรรมวินัยเป็นประธาน เดี๋ยวนี้เรามีชีวิตอยู่ในระดับพระสงฆ์ก็จะเห็นแต่หน้าไม่เห็นต่อพระธรรมวินัย ทำอะไรก็อาศัยหน้าเป็นเกณฑ์ ก็เลยทำให้เกิดข้อเสียหาย ร้าวฉาน เพราะไม่ซื่อตรงนั่นเอง ที่สังคมวิปริตผิดประเภทอยู่ทุกวันนี้และเกิดกลียุคมากมายมหาศาล เกิดวิกฤตมากมายเพราะคนในสังคมไม่ซื่อตรง แล้วก็ไม่มีความรักอันบริสุทธิ์ให้ต่อกัน ถ้ามีความรักและก็ซื่อตรง ไม่มีใครบกพร่องมีแต่ทุกคนถูกต้อง ตัวอย่างเช่น พระสงฆ์ถ้ารักพระพุทธเจ้า รักพระธรรม บูชาสถานภาพทำให้เป็นดุลยภาพอย่างซื่อตรง เค้าจะไม่ทำ พูดคิดผิดพลาด เค้าจะทำพูดคิดอะไรไม่บกพร่อง มีแต่ทุกเรื่องถูกต้องทั้งนั้นเลย ครูก็เหมือนกัน ถ้าครูรักสถานภาพ รักศิษย์ รักความเป็นอยู่ของตัวเอง ในศักดิ์ศรีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ ของความหมายของคำว่า คุรุ หรือ ครู แล้วทำหน้าที่ของตนเองอย่างซื่อตรง คนๆนั้นจะเป็นครูที่วิเศษในสายตาศิษย์ อาจารย์ ลูกศิษย์ก็เหมือนกัน ลูกศิษย์ถ้ารักสถานภาพคำว่านักศึกษา “นัก” ตัวนี้แปลว่าบ่อยๆ ศึกษาบ่อยๆ ถ้าเรารักหน้าที่ของเราการเป็นนักศึกษา และก็ซื่อตรงต่อมัน จะไม่เห็นนักศึกษาไปเที่ยวกับคนอื่น จะไปดริ้งกับคนอื่น จะไปดื่มกับคนอื่น หรือจะไปเดินโชว์กับคนอื่น ทุกคนจะมีแต่ความมุ่งมั่นขยันหมั่นเพียรเล่าเรียนศึกษา ฝึกหัดปฏิบัติเรียนรู้ทั้งนั้นเลย แต่เพราะนักศึกษาไม่ซื่อตรงต่อตัวเอง ไม่ซื่อตรงต่อสถานภาพและยี่ห้อที่ตนมี นักศึกษาจึงกลายเป็นนักศึกษาอย่างปลอมๆ จำยอม ไม่ได้ออกมาจากหัวใจจริงๆ เราก็เลยจะมีข่าวคราวเสียหายออกมาสู่วงการนักศึกษาบ่อยๆ เหมือนกันสังคมอื่นของคนอื่นๆ ถ้ามีความซื่อตรงต่อกันแล้วจะไม่มีความเสียหาย มีความรักอันบริสุทธิ์ให้ต่อกันในหน้าที่ของตนมี จะไม่เสียหายอะไรเลย แต่ที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ที่มันสูญเสีย เสื่อมโทรม มันกลายเป็นวิกฤต ก็เพราะทุกคนในสังคมบกพร่อง ไม่ถูกต้อง ไม่ซื่อตรง และไม่มีความบริสุทธิ์ใจต่อกันเท่านั้นเอง
ปุจฉา : พระพุทธศาสนาสั่งสอนให้มนุษย์หลุดพ้น บรรลุถึงนิพพาน ในเมื่อต้องการให้ถึงนิพพานแล้ว ทำไมยังมีธรรมสำหรับฆราวาสซึ่งเป็นธรรมที่ให้ผลในชาตินี้ แต่ยังไม่ถึงซึ่งนิพพาน
วิสัชนา : พระพุทธเจ้าก็เหมือนพ่อแม่เรา พ่อแม่เราก็จะรู้ว่าลูกคนนี้มีปัญญาแค่นี้ก็สอนให้ทำเรื่องนี้ คนนี้มีปัญญามากกว่านี้ก็สอนให้ทำสูงกว่านี้ ลูกคนนี้มีปัญญาไม่ดีเลย งั้นก็อยู่ตามโคนต้นไม้แล้วกันเก็บลูกมะม่วงที่หล่น ไอ้คนที่มีปัญญาก็ปีนขึ้นสูงๆจะได้กินลูกสูงๆ เพราะงั้นฆราวาสธรรมเค้ามีเอาไว้สำหรับคนที่ไม่คิดจะบรรลุหลุดพ้นในชาตินี้ ก็เป็นฆราวาสที่ดี ดีกว่าเป็นฆราวาสที่เลวไม่ใช่เหรอ
ปุจฉา : ในทางวิทยาศาสตร์จะต้องมีการทดลองในสัตว์ทดลอง เช่น การทดลองยารักษามะเร็ง เพื่อนำผลมารักษากับมนุษย์ เช่นนี้จะผิดบาปไหมค่ะ
วิสัชนา : ชีวิตหน่ะ…บาปทั้งนั้นแหละคุณ แต่ถือว่าทำบาปก่อนค่อยได้บุญทีหลัง หลังจากเรารักษาเขาหายก็ไม่เป็นไรก็ยังชดใช้กันได้ แต่ทำยังไงให้ชีวิตตกร่วงก็เป็นบาปทั้งนั้น ก็ไม่ได้เจตนาเกิดมาเป็นสัตว์ทดลองให้คนนี่ มีหนูตัวไหนขึ้นทะเบียนว่าฉันจะเกิดมาเป็นสัตว์ทดลองให้แก มีมั๊ย? ไม่มี มีแต่เราไปจับเขามาแล้วบังคับให้เป็นเท่านั้นแหละ เพราะงั้นคุณทำเขาตายก็เป็นบาปทั้งนั้น ก็ได้บาปก่อน และถ้าเมื่อใดที่เราเอาผลทดลองนั้นไปทำยารักษาคนหายก็ได้บุญตามมาทีหลัง ก็บาปกับบุญก็ต้องมีเหมือนกัน คนทุกคนนั้นมีทั้งนั้น ฉันก็มี…คุณ แต่เราต้องเลือกเอา แต่ถ้าเราไม่ยอมตกนรกแล้วใครจะได้ขึ้นสวรรค์ บางครั้งก็ต้องใช้ประโยคนี้เหมือนกัน ก็จำเป็นต้องทำเพราะหน้าที่ภาระมันมี
ปุจฉา : ในการเข้าค่ายจริยธรรมทางวัดจัดให้มีกิจกรรมใน 5 ฐานคือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ธรรมทั้ง 5 ข้อนี้มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
วิสัชนา : เป็นพละ ธรรมที่ให้เกิดกำลัง ธรรมที่ทำให้เรามีกำลังใจที่จะทำอะไรต่อไปได้อย่างมั่นคงและสำเร็จลุล่วง มันก็เหมือนกับฟันเฟืองของรถหรือว่าเครื่องยนต์เครื่องจักรที่มันขาดตัวใดตัวหนึ่งไป เครื่องจักรนั้นมันก็ไม่เดิน ศรัทธาก็เป็นฟันเฟือง สติก็เป็นฟันเฟือง วิริยะก็เป็นฟันเฟือง ปัญญาก็เป็นฟันเฟือง สมาธิก็เป็นฟันเฟือง มันเป็นฟันเฟืองแก่กันและกันที่จะขบกัน ดันกัน เกาะกัน เกี่ยวกัน เพื่อให้เครื่องยนต์มันเดินไปได้ ให้เพลามันหมุนได้ แต่ถ้ามันขาดตัวใดตัวหนึ่งไป เพลานั้นมันก็หมุนไม่ได้ เครื่องนั้นมันก็เดินไม่ได้ รถมันก็อยู่นิ่งๆ มันก็ไม่ไหวติงใดๆ เพราะงั้นจึงเรียกว่าเป็นธรรมที่เป็นกำลัง เป็นธรรมที่ทำให้เกิดกำลังใจ มีใจต่อสู้ เอาง่ายๆ แค่คำว่ามีสติตั้งมั่น มีศรัทธาที่จะสร้างสติให้ปรากฏขึ้น เราก็สามารถดำรงไว้ซึ่งความสำเร็จได้ แต่เราก็ยังขาดกำลัง ก็ต้องอาศัยความเพียรเป็นเครื่องนำ น้อมเหนี่ยวหนุนเข้าไป มีความเพียรแล้ว บางคนเพียรโง่ก็มี เพียรแบบไม่รู้จริงก็มี เช่น เพียรเข็นครกขึ้นภูเขา งมเข็มในมหาสมุทร มันเรื่องตลกมั๊ย อย่างนี้เค้าเรียกว่ามีความเพียรไหม มีแต่เพียรแบบโง่ เพราะงั้นก็ต้องใช้ปัญญาเข้าไป ประโยชน์อันใดที่เราจะดำลงงมเข็มในมหาสมุทร ทำไมไม่เดินไปร้านเจ๊กแล้วซื้อมาซักเล่มก็จบแล้ว นี่เรียกว่าใช้ปัญญาใคร่ครวญ แล้วสมาธิก็ตั้งมั่น ไม่ว่าการกระทำใดๆ ทำแล้วชอบชัง ยอมรับ ปฏิเสธ สังคมตำหนิติด่าเราหรือว่าเรามีผลสำเร็จเราก็อย่าเหลิง หลงไหล ระเริงไปกับคำชม และก็อย่าตกใจเยินยอนิยมไปกับคำนินทาใดๆ มันก็คือเราต้องตั้งมั่น นั่นคือสมาธิ ทั้ง 5 ประการนี้เค้าเรียกว่าธรรมยังให้เกิดพลังเรียกว่า พละ ธรรมที่เป็นฟันเฟืองที่ขบเกี่ยวให้เพลาใหญ่เดิน แล้วทำให้รถหรือเครื่องจักรทำงานได้เป็นปกติ