สติกำหนดรู้ความเป็นไปในกาย
และการรักษาสมดุลของปราณ จิต และ กาย
อบรมธรรมปฏิบัติพุทธบริษัท ณ.วัดอ้อน้อย ๓ มีนาคม ๒๕๔๕
สติ เป็นเครื่องกำกับกายนี้ให้รู้จักหน้าที่ที่กำลังทำ สติ เป็นเครื่องกำกับวาจานี้ให้รู้จักวจีที่กำลังนำเสนอและพูดคุย สติ เป็นเครื่องกำกับสมอง ความรู้สึกนึกคิดให้รู้จักวิธีทางที่จะคิดในสิ่งที่ดีและสร้างสรรค์ สติที่กำหนดรู้ความเป็นไปในกาย
เมื่อเรามีสติกำหนดรู้ความเป็นไปในกาย เราจะสามารถทำให้เกิดสมดุลของพลังกาย และสมดุลของพลังปราณ และสมดุลของพลังจิต ๓ สมดุลนี้มันเกิดขึ้นกับเราได้เมื่อไร ชีวิตเราจะมีความหวัง มีอานุภาพ มีชัยชนะ มีตบะ มีอำนาจ ทำพูดคิด และทำกิจการใดก็จะลุล่วงสำเร็จโดยไม่มีอุปสรรค ถึงมีเราก็จะสามารถเอาชนะมันได้อย่างเด็ดขาด
การมีสติเพื่อรักษา ๓ สมดุล วิธีฝึกต้องรู้จักสร้างให้เกิดความรับรู้อย่างชัดเจน
การรับรู้อย่างชัดเจน คือ รู้ว่าเรากำลังนั่งอยู่นั่งแบบไหน นั่งท่าใด เท้าขวาทับเท้าซ้าย หรือเท้าซ้ายทับเท้าขวา ถ้าไม่ได้นั่งขัดสมาธิแต่นั่งพับเพียบก็ต้องรับรู้ให้ชัดเจนว่า พับเพียบเข่าขวาลงล่าง หรือเข่าซ้ายลงล่าง ทิ้งน้ำหนักไปที่ข้างซ้ายหรือข้างขวา การรับรู้ชัดเจนนี้ต้องไม่มีความรู้สึกของเวทนาเข้ามาปรุง มากำหนด
การรับรู้ชัดเจนก็คือ มันกำลังเป็นอะไร และปล่อยให้มันเป็นไปตามที่มันควรจะเป็น รู้ว่ากำลังนั่ง ส่วนจะนั่งแล้วเมื่อย นั่งแล้วปวด นั่งแล้วเปลี้ย นั่งแล้วกระดูกมันขบขัดกัน ก็ต้องดูต่อไปว่าเราเพิ่งจะนั่ง เมื่อครู่นี้ทำไมถึงปวด ทำไมถึงกระดูกขัดกัน หาสาเหตุ มันเป็นเพราะนั่งไม่ตรงจึงเมื่อย อย่างนั้นก็ขยับให้มันตรง อย่างนี้เรียกว่า รับรู้ชัดเจน รับรู้เหตุของการเกิดความเมื่อย เปลี้ย ขบ รับรู้ความมีปัญหาอย่างชัดเจน
ถ้ารับรู้มันเพียงว่าเมื่อยเฉย ๆ แต่ไม่ค้นหาสาเหตุ แสดงว่าเรายังไม่รับรู้ชัดเจน ก็คือรู้แบบไม่มีปัญญา ไม่มีตัวรู้ที่ประกอบด้วยสติแต่เป็นตัวรู้ของจิตเฉยๆ ถ้าเป็นตัวรู้ที่ประกอบด้วยสติ มันเป็นมหากุศลมันจะสัมประยุตด้วยสัมปชัญญะคือ ปัญญา สติและสัมปชัญญะต้องเกิดคู่กันเสมอ
วิธีการฝึกการรับรู้ชัดเจน
ให้ใช้ความรู้สึกสำรวจดูการนั่ง นั่งอย่างไรเท้าอยู่อย่างไรน้ำหนักลงที่ก้นข้างไหนมากไปหรือเปล่า ขยับให้พอดี ดูว่าวางแขนอย่างไร มือวางที่ไหน ลำตัวตั้งตรงไหม
เสร็จแล้ว เอียงตัวไปทางขวาช้า ๆ ใช้ความรู้สึกจับตามอาการไปด้วย ส่งความรู้สึกให้ชัดเจน
ค่อย ๆ ยกลำตัวขึ้นตั้งตรงอย่างช้า ๆ ส่งความรู้สึกรับรู้ให้ชัดเจน
เอียงตัวไปทางซ้ายอย่างช้า ๆ
ยกลำตัวขึ้นตั้งตรงช้า ๆ
ก้มหน้าลมไปพร้อมกับลำตัวช้า ๆ
ยกลำตัวขึ้นตั้งตรงพร้อมเงยหน้าตั้งตรงช้า ๆ
ทุกอิริยาบถให้ทำอย่างช้า ๆ ถ้าเร็วเกินไปเราจะไม่ได้อะไรจากการรับรู้ เพราะมันจะมีตัวปรุงเกิดขึ้น เช่น
ว่า เอ๊ะ เราทำช้าไปหรือเปล่า ถ้ามีความคิดขึ้น แสดงว่าความไม่ชัดเจนเกิดขึ้นแล้วแม้แต่จะคิดว่าเค้ากำลังสอนอะไรก็ไม่ได้รู้ชัดเจนคือ รู้เฉย ๆ ไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น รู้ในสิ่งที่เรากำลังทำเท่านั้น
ต่อไปให้รับรู้ที่ลมหายใจ ให้รู้เพียงว่ากำลังหายใจเข้า หรือหายใจออก และทำความรู้สึกที่ลมหายใจออกก่อน แล้วจึงหายใจเข้าเมื่อรู้ลมหายใจแล้ว ให้นับพร้อมกับการหายใจ
หายใจเข้า นับ ๑๒๓๔๕…นับในใจจนสุดลมหายใจแล้วหยุด
หายใจออก นับ ๑๒๓๔๕… สุดลมหายใจแล้วหยุดนับ
ทำความรู้สึกอยู่ที่ลมหายใจเข้าและออกพร้อมนับ ๓ ครั้งเสร็จแล้วเอาความรู้สึกไปจับบน
ใบหน้า เราจะทำความผ่อนคลายบนใบหน้า
ทำความผ่อนคลายบนใบหน้า กำหนดความรู้สึกไปที่หน้าผากระหว่างคิ้ว หายใจเข้าพร้อมกับทำความรู้สึกให้ลมเข้าไปวิ่งผ่านตรงหน้าผาก ตรงไหนที่รู้สึกตึงให้ลมผ่านตรงนั้น แล้วค่อยๆผ่อนลมออกช้าเบาๆ พร้อมกับความผ่อนคลาย ไม่ต้องไปสนใจว่ามันจะเป็นไปได้หรือไม่ได้ แต่ให้สนใจว่าจะผ่อนคลายจากความตึงเครียดของกล้ามเนื้อบนใบหน้า
กำหนดรู้ไปที่โหนกคิ้ว หายใจเข้าช้า ๆ ให้ลมผ่านไปที่โหนกคิ้ว แล้วหายใจออกอย่างผ่อนคลาย
กำหนดความรู้สึกไปที่เบ้าตา เราเคยรู้สึกปวดเมื่อยในเบ้าตาหายใจเข้าให้ลมผ่านที่ปวดที่เมื่อย แล้วผ่อนลมออกอย่างผ่อนคลายสัก 2 ครั้ง
ทำช้า ๆ ชัด ๆ ไม่ต้องรีบ ถ้ารีบจะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยมากกว่าเก่า ต้องทำช้าๆ ชัด ๆ และผ่อนคลาย
กำหนดไปที่โหนกแก้มทั้งสองข้าง
กำหนดไปที่โพรงจมูก
กำหนดไปที่กรามทั้งสองข้าง
เสร็จแล้วเอาความรู้สึกจับไปบนใบหน้า ดูซิว่ายังมีส่วนไหนที่ยังเกร็ง ก็ให้ผ่อนคลาย ริมฝีปากเม้มหรือเปล่า ให้คลายออกให้เป็นปกติ ทำความรู้สึกให้ใบหน้านี้ไร้อารมณ์ ให้เป็นไปตามธรรมชาติ ให้ธรรมชาติของใบหน้าปรากฏชัด ๆ เราอาจจะไม่เห็นใบหน้าเรา แต่เราจะรู้สึกได้ว่าใบหน้าของเราไม่มีความปรุงแต่งใดๆ กล้ามเนื้อบนใบหน้าเรานิ่งสงบ
ทุกอย่างเป็นไปโดยธรรมชาติของมัน เสร็จแล้วหายใจเข้าลึก ๆ พ่นลมออกยาว ๆ ค่อย ๆ ลืมตา
คนที่บรรลุคุณธรรมชั้นสูงจะไม่ปั้นหน้า จะไม่เสแสร้งแกล้งปั้นแต่จะเป็นหน้าของท่านผู้นั้น
ผู้ที่ชอบปั้นหน้าคือ ผู้ยังมี อวิชชา คือ ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจจึงทำให้เราชอบปั้นหน้า
อยู่กับลมหายใจ
การหายใจ .. เมื่อเห็นว่ามันจะหลุดและคลาดเคลื่อน ให้สูดลมหายใจเข้าลึก ๆ ให้เต็มที่พร้อมก้มตัวลงจนหน้าผากแตะพื้น แล้วจึงหายใจออก ต้องไม่ปล่อยให้สติมันหลุดไป ถ้าตามลมปกติไม่ได้ก็ต้องทำให้ลมมันรุนแรง ต้องฝึกไปพร้อมกับกาย อย่าเผลอ ถ้าเผลอต้องรีบใส่อิริยาบทเข้าไป เพราะการดูลมปกติมันเป็นงานละเอียด มันจับไม่ติดก็ต้องใช้งานหยาบควบคู่กับกายเข้าไปด้วย สติจะได้ไม่ไปที่อื่น เมื่อจับติดให้หยุดแล้วกลับมาดูลมเหมือนเดิม ตอนนี้ต้องไม่มีอารมณ์ใดปรากฏ มีแต่ลมเท่านั้น ไม่มีลูก ไม่มีผัว ไม่มีเมีย ไม่มีครอบครัว ไม่มีสมบัติ ไม่มีญาติ ไม่มีของที่รัก ไม่มีของที่ชัง ไม่มีที่ยอมรับ ไม่มีที่ปฏิเสธ จิตเป็นกลาง ๆ รับรู้สภาวะของลมเฉย ๆ
เมื่อจิตเราละเอียดขึ้น เราจะเริ่มรู้อาการเป็นไปในกายเรามันจะเริ่มซู่ซ่า เลือดลมมันจะเดิน ตรงไหนที่มันขัด มันเคล็ด มันหยอก มันจะเหมือนมีอะไรไปดันให้มัน เหมือนกับท่อที่อุดตันแล้วมีพลังไปแหย่มันแล้วน้ำไหลผ่านไปได้ เราจะรู้สึกโปร่ง โล่ง แต่ผ่อนคลายสำคัญต้องอยู่กับลมเท่านั้น
คนที่ใจมันฟุ้งซ่าน ต้องรีบใช้อิริยาบถกำกับลมหายใจอย่างหยาบ เริ่มต้นใหม่ อย่าปล่อยให้เราต้องเผลอขาดสติ โงกง่วง เราหลับมานานเต็มทีแล้ว นอนมาตั้งแต่เกิดจนแก่แล้ว ถ้านอนเที่ยวนี้ไม่มีสิทธิ์ตื่นแล้ว ถ้าเราไม่เตรียมตัวนอนอย่างเป็นสุขได้ เราเคยแพ้มาตลอดทำไมไม่คิดที่จะชนะ ด่าตัวเองเตือนตัวเอง แล้วเราจะตื่นขึ้น หัดถามตัวเองดังๆ ก้องในใจว่าเราจะท้ออีกนานไหม
อยู่กับลมหายใจ.. ไม่ใช่อยู่กับความฟุ้งซ่าน ง่วง เหงา หาวนอน ไม่ใช่อยู่กับมายาขจิต แต่อยู่กับความเป็นจริง ตื่นขึ้นมารับรู้ความเป็นจริงเสียที เราอยู่กับเครื่องหลอกหลง หลอกล่อทำให้หลงมานานแล้วเลิกหลงเสียที
ขยันฝึกไปเรื่อย ๆ มีเวลาต้องหมั่นทำ มันเป็นสมบัติของเรามันเป็นการทำให้ประโยชน์ตนถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท เราทำประโยชน์ท่านมาชั่วชีวิตแล้ว รู้จักทำประโยชน์ตนอย่างนี้เสียบ้างแล้วประโยชน์ตนอย่างนี้ไม่มีใครแย่งได้ โจรปล้นไม่หาย น้ำท่วมไม่ได้ไฟไหม้ไม่หมด ตายแล้วติดตัวไป มันเป็นประโยชน์ต่อตนที่ยิ่งใหญ่ในโลกของคนที่ไม่มีใครให้ใคร ถ้าเราทำอย่างนี้จะตกนรกก็ให้มันรู้ไปแต่ขอให้ทำมันด้วยใจ อย่าทำแค่ขอผ่านไปวันๆ แล้วก็เลิกทำ ถ้าสอนแล้วสั่งแล้ว ต้องรู้จักนำไปทำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ อย่าไปปล่อยทิ้งไม่ใช่ลุกแล้วร่วงกราวไปหมด กลับไปก็คุยจั๊บๆ แจ๊บๆ กันต่อ อย่างนี้ มันไม่ได้ประโยชน์อะไร อย่าปล่อยให้ชีวิตเหมือนหลงอยู่กับของหลอกลวงหรือหลอกล่ออะไร ฉุดมันขึ้นมาจากปลักจากหลุมจากความหลงสติตื่นขึ้นมารับรู้ความเป็นจริงของชีวิตบ้าง
จึงบอกว่า พุทธบริษัท ซึ่งแปลว่า บริษัทผู้รู้ ตื่น แล้วก็เบิกบาน มันมีความหมายยิ่งใหญ่ สำคัญ มันดีกว่า บริษัทหลงงมงายโง่งมอยู่ บริษัทอย่างนี้ไม่ควรจะเป็นพุทธบริษัท ควรจะฝึก พยายามบ่อยๆ ตั้งใจมีโอกาสก็ควร ตั้งใจ อยู่ที่ไหนก็ทำได้ อยู่ที่ไหนก็ทำ มีเวลานึกได้ก็ทำ เดินอยู่ก็ทำ ทำอะไรก็ระลึกรู้ลมหายใจอย่างที่ว่า เดินก็ทำ โยกก็ทำ
รู้ลมหายใจ ไม่นับก็ได้ นับก็ได้แต่ให้ชัดๆ อยู่กับลมหายใจพระพุทธเจ้าถือว่าเป็น วิหารธรรม ธรรมเป็นเครื่องอยู่อาศัยของพระพุทธเจ้า ลมหายใจก็ถือว่าเป็นเครื่องอยู่อาศัยของพระพุทธเจ้าเครื่องอยู่อาศัยของท้าวมหาพรหม เป็นเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าและพระมหาโพธิสัตว์..มันควรจะเป็นเครื่องอยู่อาศัยของเราด้วย
ถ้าเรารู้และให้ความสำคัญ และการฝึกจิตต้องมีกุศโลบาย กุศโลบายหรือกุศลวิธี รู้ว่าเวลานี้กำลังเมา เราก็อย่าให้มันตั้งอยู่กับความละเอียด มันกำลังง่วงเราก็ยิ่งไม่ยอมมัน ฉุดดึงมันขึ้นมา มันจะลงต่ำก็ต้องฉุดมันขึ้นมา เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีกำหราบมัน ไม่ใช่ยอมมันไปหมด เรายอมมันตั้งแต่เกิดแล้ว ไม่ยอมมันดูมั่ง เผื่อมันจะดีขึ้นมาต้องบอกตัวเองอย่างนี้
หลวงปู่เป็นคนที่ไม่ยอมมัน เมื่อไม่ยอมมัน มันก็เลยไม่มีอำนาจเหนือเรา ถ้าเรายอมมันอยู่เรื่อยๆ เดี๋ยวมันก็พาไปนอน พาไปนั่ง พาไปเที่ยว เดี๋ยวมันก็พาไปทุกข์ ไปผสมปนเปกับสิ่งปฏิกูล โสโครกแล้วตอนนี้ก็ต้องไปล้างไปชำระ ก็ต้องใช้เวลานาน ไม่รู้อีกกี่ภพกี่ชาติจึงจะล้างออกหมด เพราะตอนนี้มันบริสุทธิ์ มันใสสะอาด ก็เพราะเราไม่ยอมมัน เราไม่ยอมมันไม่ปล่อยอะไรมาเกาะเปื้อน ไม่เป็นมลทินเหมือนกับผ้าขาว ถ้ายอมมันก็ต้องซักกันไม่เลิก อย่าไปตามกิเลสอย่าไปตามมายาการ อย่าไปตามความเสแสร้งของพญามารและมัจจุราช ที่เอามาหลอกล่อเราด้วยกลิ่น รูป เสียง รส สัมผัส ความชอบ ชัง รัก ปฏิเสธ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ฉุดกระชากลากถูให้จิตใจเศร้าหมอง ขุ่นมัว
ถ้ารู้แล้วเข้าใจอย่างนี้ เราก็จะมีชีวิตอย่างปลดปล่อยมีความสุข สันติก็จะเกิดขึ้นอย่างที่กล่าวตอนแรก ถ้าไม่รู้ไม่เข้าใจอย่างนี้ สุขสันติ ก็ไม่เกิด อมฤตสุขก็ไม่มี ก็จะเจอแต่สุขที่แลกได้แลกเสีย แลกมี แลกมา แลกไป แลกกับวัตถุธาตุ ตัวตน สัตว์ บุคคล สิ่งของ แลกผัว แลกเมีย แลกครอบครัว แลกชีวิต แลกวิญญาณ สุดท้ายก็กลายเป็นผีห่า ซาตาน เพราะเราแลกกันไปไม่เหลือ สิ่งที่แท้จริงต้องไม่แลกกับอะไรมันได้มาล้วน ๆ สดๆ จากตัวเราเอง ที่เกิดจากความรู้สึก รู้แจ้ง เห็นจริง จึงตื่น และก็เบิกบาน รู้แจ้งเห็นจริงจึงไม่หลงผิด ยึดติดไม่ตกเป็นทาส ไม่ทำอารมณ์ให้เป็นอะไร และไม่ติดอะไรในอารมณ์นั้นๆ
คุกที่ยิ่งใหญ่ที่ขังสัตว์ทั้งหลายไว้ ยังไม่น่าเศร้าใจเท่ากับคุกแห่งอารมณ์ เพราะคุกเหล่านั้นมันมีวันโดยปล่อย มันมีวันปลดเปลื้อง ๒๐ ปี ๓๐ ปี แล้วแต่ศาลพิพากษา คดีอาญาร้ายแรง ว่าตลอดชีวิต อยู่ไม่นานก็ปล่อยออกมาเดินปร๋อแล้ว รับอภัยโทษ รับพระมหากรุณาธิคุณทำดีไถ่โทษ แต่คุกแห่งอารมณ์ไม่มีใครปล่อยให้เราได้ เราเป็นคนขังเองเข้าไปเอง และปิดประตูลั่นดาน ไขกุญแจ ขังเอง พระพุทธเจ้ายังปล่อยให้เราไม่ได้ อารมณ์รัก โลภ โกรธ หลง ยอมรับ ปฏิเสธ มันลากถูไป ติดแหงก จนขยับขยายไม่ได้
เราก็ตั้งกฎตัวเองปล่อยตัวเองจะออกจากอารมณ์ ง่วง หาว นอน ขี้เกียจ สันหลังยาว หลงละเมอ เพ้อพก เหล่านี้เป็นอารมณ์ทั้งนั้น ขาดสติ ฟุ้งซ่าน หงุดหงิด รำคาญ ระแวง สงสัย ไม่มั่นใจ นี้เป็นอารมณ์ทั้งนั้น ถ้ามันขังสัตว์ไว้แล้ว มันก็จะขังสัตว์ไว้ชั่วชีวิต แล้วใครจะปล่อยสัตว์นั้นได้ ก็มีแต่สัตว์ตัวนั้นแหละที่จะปล่อยตัวเองออกมาจากคุกได้
สัตว์นั้นถ้าไม่มีปัญญา ไม่ได้ฝึกสติ ไม่ได้เจริญสมาธิ เมื่อขาดปัญญาก็ขังตัวเอง ซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า เฝ้าแต่ขังอยู่แบบนั้น กลายเป็นนิริยะ คือ นรก 4 ประเภท เป็นเปรต เป็นอสูรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉาน เป็นสัตว์นรก