หัวข้อธรรม: "วิ-เส-สะ-จิต"
ถอดเทปจากการแสดงธรรมะต้นเดือนมิถุนายน
แสดงไว้เมื่อวันที่ ๕ มิ.ย.๒๕๔๘ ณ ศาลาปฏิบัติธรรม วัดอ้อน้อย(ธรรมอิสระ)
..... เลยมานั่งนึกว่า จะมานอนไอ นั่งไอ กันอยู่ทำไม หลวงปู่เลยออกจากห้อง มานั่งที่โคนต้นโพธิ์ ก็พิจารณาดูจิต (รับ จำ รู้ คิด) เราเปลี่ยนใหม่ รู้ คิด เลือกรับ แล้วจึงจะจำ ไอ้รับจำ คิดรู้เนี่ย มันเป็น “สามัญจิต” รู้ คิด รู้ตัวนี้คือ ”ผู้รู้” แล้วก็เลือกเอามา สิ่งที่เรามีอยู่ เอามาวิเคราะห์ มาใคร่ครวญ มาคำนวณ มาพิจารณา แล้วก็จำ รับ หรือรับจำ มันก็เป็น "วิเสสจิต" (อ่านว่า วิ-เส-สะ-จิต) ทีนี้ไอ้กระบวนการรับจำ คิดรู้ รู้คิด รับจำเนี่ย ถ้าฝึกจนกระทั่งมันช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญ แต่ละตัวๆ เนี่ย มันจะทำให้เราเห็นอาการของจิต 6 อย่าง จะใช้คำว่าอาการได้มั้ย ..
..... มันไม่ใช่ มันต้องใช้คำว่า "วิเศษจิต" หรือ จิตที่วิเศษ อานุภาพแห่งจิต
.....หลวงปู่ เมื่อคืนนี้ ต้องรีบเข้าหอพระกรรมฐาน แล้วหากระดาษ ปากกาจด เอาไว้เนี่ย กลัวมันลืม เอ้าจะเล่าให้ฟัง
..... “.... หากชนเหล่าใดเพียรพยายาม ระวังรักษาจิต
..... ซึ่งมีปกติ แล่นไปไกล ไปเดียว
..... ชนเหล่านั้น ย่อมพ้นจากเครื่องพันธนาการเสียได้...”
..... หลวงปู่อธิบายว่า : แล่นไปไกล: จิตนี้มันจะแล่นออกไปไกลๆ เสมอ มันไม่อยู่กับตัวเรา ใช่มั้ย ใช่หรือเปล่า เอ่อ นั่นน่ะ มันมีปกติที่จะแล่นไปไกล
..... หลวงปู่อธิบาย ไปเดียวว่า: ก็คือไปแต่ผู้เดียว จิตดวงเดียวมันแล่นไป มันไม่มีพี่มีน้อง ไม่มีอะไร ไปเพื่อที่จะไปรับเอาอารมณ์กลับมา ไม่มีรูปร่าง จิตนี้ไม่มีรูปร่างนะลูก มันเป็นพลังงาน แต่มันต้องการที่อยู่ มันอยู่ในคูหา อยู่ในถ้ำ แล้วร่างกายเราเนี่ย คือ คูหา คือถ้ำ ที่อาศัยแห่งจิต
..... เอ่อพอดี จบตรงนี้ก็เช้าพอดี หลวงปู่ก็กลับเข้าห้อง เตรียมจัดรายการวิทยุ ต่อ เมื่อคืนนี้ เขียนเอาไว้ว่า
..... ลูกรัก
...............จิตนี้วิเศษ พิสดารมากนัก มันวิเศษในการปรุง "บางครั้งมันก็ปรุงให้งดงาม ปรุงให้งาม ปรุงให้สวย ปรุงให้ดี ปรุงให้พิศวง พิลึกกึกกือ พิสดาร ปรุงให้พลิกแพลง มันมีสารพัดตัวปรุง อยู่ในจิตนี้ทั้งหมด ให้น่าเกลียด น่าสยดสยอง"
..... บางทีบางครั้ง ก็อยู่บ้านคนเดียว โอ๋ย ดูซิมันมาแล้ว มันมาแล้ว เงา เงามาแล้ว ไอ้ฤทธิ์ที่ปรุงอย่างนี้ ให้น่าเกลียด น่าสยดสยอง นี่แหละ หลวงตาแกมาบวชอ่ะน๊ะ เป็นทหารเก่าน๊ะ ทหารผ่านศึกเก่า มาบวช บวชเขาก็มาพนันกันน่ะซีว่า กุฏิหลังที่จะอยู่ ไม่ค่อยมีใครอยากอยู่หรอกเพราะว่ากระดาน ฝา เซี้ยม อะไรทั้งหลาย ของทำด้วยฝาโลงทั้งหมดน่ะ แล้วผีก็ดุ พอวันพระ วันนี้วันโกน พรุ่งนี้วันพระ เดี๋ยวก็จะมา "เอ่ เอ้ กล่อมลูก เสียงให้ดัง หมาก็หอนเยือกเย็นน๊ะ หลวงตาบวชใหม่ แกก็อยากทดลอง วิชา เพราะว่าแกเป็นทหารเก่า แกก็มา ขออาสาอยู่เลย กุฏิหลังเนี้ย ไอ้หลังตรงนั้น มันก็มีข้างๆ ถัดไป มันก็มีกุฏิของหลวงปู่อยู่ แล้วก็ เลยไปอีกหน่อยก็มีกุฏิของหลวงอา แกก็บอกหลวงอา ตาเส็งอยู่ ทีนี้ แกก็มาบวชอยู่ซักสามวัน สี่วันได้ สวดมนต์แกก็สวดเป็นปกติอีะ คืนนั้นมันลมแรง ช่วงเข้าพรรษา ฝนตก พายุพัด ไอ้ต้นข้างๆ กุฏิ มันก็จะมีต้นมะพร้าว ใหญ่ ลมมันก็พัด ครื้ด คราด ไอ้มะพร้าวแห้งๆ มันก็ตกลงมาอ่ะน๊ะ มันไม่ตกหล่นลงมาหรอก มันหักลงมา แล้วแกก็กำลังนั่งสวดมนต์อยู่อ่ะน๊ะ เสียงลมก็พัดวื๊ดๆ ไอ้ทางมะพร้าวมันก็ลาก หลังคา เสียงกรากกก... แกสวดมนต์อยู่ อิติปิโส พาหุง เสียงร้อง หึ ได้ยินซิ อยู่ข้างๆ ห้องอ่ะ เสียงหึ ซักพักพอลมพัดมาอีกสักหน่อย ไอ้มะพร้าวมันก็มากราก กราก ห๊า จาก หึ มาห๊า เอ้อ แล้วทีนี้ก็ ลมมันก็อู้ใหญ่เลยน๊ะ หมามันก็หอน แหมมันก็รับกันดีเหลือเกินอ่ะน๊ะ มันจะหอน หรือมันจะเห่าอะไรกันก็ไม่รู้ ซักพักนึงไอ้ลูกมะพร้าวแห้งๆ ซี มันหล่นโพล๊ะลงมา ลงมาทะลุหลังคา มาถึงพื้น “ห๊า มึงเอากูแล้วเหรอว๊ะ ...” เท่านั้นแหละ แกออกจากห้องไปโดยที่ไม่ต้องเปิดประตู ไอ้บานเซี้ยมที่เค้าเกาะไว้เป็นสมัยเก่า ซึ่งใช้เกาะเดือยอ่ะน๊ะ หลุดติดตัวแกไปเลย ลงไปนอนซี่โครงหักอยู่ข้างล่าง เห็นมั้ยว่าลูกมะพร้าว กับไอ้ใบมะพร้าวมันทำให้หลวงตาซี่โครงหัก จิตนี้มันพิสดาร พิลึก กึกกือ มาก แค่ลูกมะพร้าว กับทางมะพร้าว ทำให้หลวงตาซี่โครงหัก ใช่มั้ย โอ่โห มันไม่ใช่เล่นน๊ะ
..... ต่อมา จิตนี้มีความพิเศษ พิสดารน๊ะลูก มันมีความพิเศษ พิสดารในตัวเอง บางครั้งลูกหลานจะเห็นว่า มันบางที มันฉลาดน๊ะ จิตเราบางทีมันฉลาดน๊ะลูก ฉลาดมั้ย บางทีบางครั้งมันรอบรู้สารพัดเลย ซักประเดี๋ยวใจ มันดันลืมแล้ว ใช่มั้ย มันหลงแล้ว มันโง่ขึ้นมาแล้ว บางครั้งเฉลียวมากเลย คิดอะไรเป็นเรื่องเป็นราว เป็นตุเป็นต่ะ ไปหมดเลย บางครั้งคิดไม่ออกเลย ดูวิถีจิตเนี่ย มันพิสดารอย่างนี้ แล้วมันจะจดจำน๊ะ บางทีมันจดจำ กิจกรรมการงานที่ทำ มันจำ แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราจะเอามันมาใช้ ดันจำไม่ได้ซ๊ะแล้ว ดูซิมันติดอยู่ที่ริมฝีปาก มันจำไม่ได้ มันชื่ออะไรน้าไอ้อีตาคนนี้เนี่ย เนี่ยมันเป็นอย่างนี้น๊ะ เนี่ยสภาพจิต
..... จิตนี้นอกจากที่จะเป็นผู้รู้จัก ชาญฉลาด โง่เขลา และพิลึก กึกกือแล้วเนี่ย มันยัง ทำหน้าที่เป็นผู้กระทำกรรมด้วยลูกจิตเนี่ยมันสร้างกรรมด้วย "บุคคลผู้ทำกรรมไม่มี แต่จิตนี้เป็นผู้สร้างกรรมนั้นมี" เหตุผลก็เพราะว่า ทุกอย่างมันมาจากจิตทั้งนั้น ทำดีก็มาจากการคิดดี ทำอัปรีย์ ทำไม่ดีก็มาจากคิดไม่ดี คิดอัปรีย์ เพราะฉะนั้น เรื่องของกรรมเนี่ย มันเกิดแต่จิต จิตเป็นผู้กระทำกรรม นอกจากมันทำกรรมแล้วมันยังทำหน้าที่เก็บ ทรงจำกรรมนั้นๆ เอาไว้ แล้วมันเป็นเรื่องประหลาด พิสดารมาก กรรมดีมันไม่ค่อยจำ จิตเนี่ย ธรรมชาติของมัน มันจะจำแต่กรรมชั่ว สังเกตุมั้ย เค้าทำดีกับเราแทบตาย ไม่เคยจำเค้าเลย แค่เค้าเหยียบตาปลาเราทีเดียวเท่านั้นแหละ จำหน้าเขียวเลย ยายคนนี้มันเหยียบตาปลาเรา อะไรอย่างนี้เนี่ย บ่อยครั้งมากที่เรารู้สึกจะไม่จำกรรมดีของคนอื่น หรือ แม้แต่ตัวเองก็ไม่อยากจำ แต่กรรมชั่วเนี่ยจำได้ง่ายมาก หรือไม่ก็ กรรมชั่วของคนอื่น จำได้ง่ายมาก นี่คือธรรมชาติของจิตนะลูก แล้วก็ในขณะเดียวกันเนี่ย มันเก็บข้อมูลของกรรมพวกนี้เอาไว้ ไม่ว่าจะกี่อสงไขย กี่แสนกัปป์ กี่ภพกี่ชาติ มันไม่ลืม เพราะเหตุแห่งจิตที่เก็บเอาผลแห่งกรรม หรือวิบากกรรมนี้ไว้ อย่างไม่ลืมเลือน นี่แหละ มันเลยเป็นผลที่มาในการกำหนด ภพ ชาติ กรรมที่อยู่ในจิต ที่เก็บสั่งสมไว้ มันจะเป็นตัวกำหนด ภพ ชาติ สุข ทุกข์ คือ กุศลก็เป็นสุข อกุศลก็เป็นทุกข์
..... จิตนี้เป็นตัวกำหนดภพชาติ แล้วในขณะเดียวกัน ทำบ่อยๆ ทำเป็นนิตย์ ทำเป็นนิสัย จิตนี้มันก็จะเป็นตัวกำหนดอุปนิสัย เช่น คนที่พูดดี มีกิริยา มารยาทอ่อนน้อมถ่อมตน ก็แสดงว่ามีอุปนิสัยดี เยือกเย็นสงบ คนที่โหดร้าย ก้าวร้าว กระด้าง หยาบ รุนแรง ก็รู้ได้เลยว่า คนๆ นี้อุปนิสัยไม่ดี เพราะงั้นอุปนิสัยไม่ใช่เทพเจ้าบันดาล ไม่ใช่พรหมชี้นำ แต่เป็นตัวกรรมที่อยู่ในจิต เป็นผู้ดลบันดาลให้เป็นอุปนิสัยเช่นนั้น หลวงปู่จึงบอกลูกหลานว่า
..... "มีปากก็อย่าเอาไปว่าคนอื่น อย่าเอาไปนินทาคนอื่น
..... มีหูก็อย่าไปนั่งคอยแส่ฟังคนอื่น ว่าเค้านินทาเรามั้ย
..... มีตาก็อย่าไปนั่งมอง หรือจ้องจับผิดคนอื่น
..... มีจมูกก็อย่าไปจ้องดมแต่ของหอมคนอื่น ของเหม็นคนอื่นไม่ยอมดมอะไรอย่างนี้ หัดที่จะหันเอาสิ่งเหล่านั้นมามองตัวเองบ้าง แล้วก็สั่งสม อบรมสิ่งที่เป็นกุศลให้กับจิตบ้าง” มันจะได้จดจำ แล้วมันจะได้ไปกำหนดชาติภพดีๆ ในอนาคต
..... พระพุทธเจ้า จึงสอนให้เราฝึกจิตยังไง แม้ที่สุดเนี่ยน๊ะ ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ดี หรืออารมณ์ชั่วปานใดก็ตาม จิตนี้มันรับได้หมดเลยน๊ะลูก ใครจะใส่อารมณ์อะไรให้กับเรามามากขนาดไหน เยอะปานใด จิตนี้มันรับไว้หมด เราจะใส่อารมณ์ไป ออกอารมณ์ไป รับอารมณ์ไป ปรุงอารมณ์มา จิตนี้รับไว้หมด ถ้ารับมาส่วนที่ดี มันก็จะไปกำหนดนิสัยดี ขันธสันดานดี ชาติภพดี แต่ถ้ารับมาในส่วนที่อัปรีย์ เพราะหน้าที่ของจิตมันมีอะไร รับใช่มั้ย จำ คิด รู้ ถ้ามันรับในส่วนไม่ดี มันก็จะไปกำหนดขันธสันดาน หรือนิสัยไม่ดี พฤติกรรมไม่ดี คำพูดไม่ดี วาจาไม่ดี การกระทำไม่ดี แล้วมันก็บ่มเพาะขันธสันดาน ให้กำหนดชาติภพ ไม่ดี ทุกคติภพก็เกิด
..... เพราะยังงั้น “การเรียนรู้ศึกษาเรื่องจิตจึงจำเป็นต้อง ฉลาดรู้เท่าทันจิต” พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า "ผู้ที่ฝึกจิตดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้" โดยมีคำพระบาลีกล่าวว่า “จิตตัง ทันตัง สุขาวะหัง” ผู้ที่ฝึกจิตดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ วันอาสาฬหบูชา ที่จะถึงเนี่ย หลวงปู่จึงบอกว่า ใครที่สนใจ มีเวลาว่าง ก่อนเข้าพรรษาเนี่ย ก็ถือว่าเป็นวันก่อนเข้าพรรษา หนึ่ง หรือสองวัน มาเข้าอบรมลงชื่อ กับเค้า อบรมที่จะฝึกจิต เปลี่ยนแปลงอุปนิสัย แก้ไขพฤติกรรม แล้วก็สั่งสมให้เกิดกุศลจิต สร้างขันธสันดาน ในส่วนที่เป็นบุญ เป็นคุณงามความดี ให้แก่จิต ทำให้นิสัย ที่มีอยู่ในจิตเดิมซึ่งเราคอนโทรลมันไม่ได้ เพราะมันผ่านไปแล้ว แต่ต่อไปนี้ เราควบคุมคอนโทรลมันได้ สั่งสมนิสัยที่เป็นเรื่องดีๆ มีน้ำใจ รู้จักให้อภัย ไม่เห็นแก่ตัว รู้เท่าทันสภาวะจิต ถ้าเป็นอย่างนี้ได้เนี่ย มันก็หวังได้ว่าสุขคติภพเป็นสมบัติของเรา ก็เดี๋ยวจะให้เค้าไปลอก แล้วก็ไปพิมพ์ และก็แจก ให้รู้จักลักษณะของจิต เนี่ยได้เมื่อคืนนี้ที่โคนต้นโพธิ์... มันเยอะมาก ยันสว่าง ตั้งแต่ตีหนึ่งกว่า ทบทวนไป ดูสภาพจิตไป ทำให้เข้าใจว่าสภาพจิตนี้มันโลดแล่น มันหลุดไปแต่ข้างนอก ทีนี้กลับมาถึงเรื่องฝึกสมาธิ ธรรมชาติของจิตเมื่อครู่นี้ หลวงปู่บอกไปแล้วว่า "มันเอาแต่เฝ้ากระโจนออกไป" แต่สำหรับที่จะฝึกสมาธิ คนที่ต้องการสมาธิ จิตออกไปไม่ได้ มันไม่เป็นสมาธิ มันต้องดึงกลับเข้ามา ดึงกลับเข้ามาแล้ว ขังมันไว้ อยู่ในอารมณ์ใด อารมณ์หนึ่ง ที่เรียกว่าเพ่งอารมณ์ หยุดอารมณ์ หยุดจิตให้มันพินิจ พิเคราะห์ อยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง นั่นแหละจนกระทั่งมันกลายเป็น "ความสงบ" นั่นแหละคือ "สมาธิ" เพราะงั้นการที่จะต้องการสมาธิ ครูบาอาจารย์ ผู้รู้จริงๆ เค้าจะไม่สอน ไม่สอนให้ไปคิดเรื่องอื่นๆ แต่จะสอนให้หยุดอยู่ในตัวเอง หลวงปู่จึงเขียนบทโศลกไว้บทหนึ่งว่า
..... ลูกรัก "คราใดที่เจ้าต้องการสมาธิ
...........เจอพระพุทธเจ้าต้องหนีให้ไกล
...........เห็นพระธรรมต้องเผาทิ้ง...........พบพระสงฆ์ต้องฆ่าเสีย"
..... เพราะอะไร เพราะจิตมันหลุดออกไปใช่มั้ย มันไม่ได้อยู่กับตัวใช่มั้ย มันหลุดไปอยู่กับพระพุทธเจ้า มันหลุดไปอยู่กับพระธรรม มันหลุดไปอยู่กับพระสงฆ์ จิตที่เราต้องการมันอยู่กับตัวเรา แล้วมันนิ่งสงบอยู่อย่างนี้ เหมือนกับแมวนอนหวด เหมือนงูจำศีล นั่นแหละคือสมาธิ คือ ความไม่คิดแปรปรวน แปรเปลี่ยนเรื่องอื่นๆ ไม่มีอารมณ์เป็นสอง มีแต่หนึ่งอย่างเดียว มันจึงเป็นตบะ มันจึงกลายเป็น “จิตตานุภาพ” มันจึงเป็น กายศักสิทธิ์ ด้วยวิถีที่ไม่คิด นั่นคือชีวิตของนักฝึกสมาธิ ซึ่งจะต่างจาก นักฝึกวิปัสสนา
..... วิถิแห่งวิปัสสนานั้น มันเหมือนกับคนเล่นว่าว ต้องถือบังเหียน ถือเชือกเอาไว้ แล้วให้มันสอดส่ายไปตามความคอนโทรลของตัวเอง เพื่อให้รู้รับ รู้เข้าใจ วิเคราะห์ ละเอียด ถี่ถ้วน ใคร่ครวญ พิจารณา บางโอกาสมันไม่ออก ก็ให้มันอยู่ข้างใน ถ้ามันอยากออก ก็ปล่อยให้ออกอย่างมีสติรับรู้ รู้ คิด รับ จำ หรือรู้ หรือคิด คิดซะก่อน รับเข้ามาแล้วก็คิดซะก่อน คิดแล้วจึงสร้างความรู้ แล้วจึงเลือกจำ อย่างนี้เป็นต้น นั่นคือวิสัยของวิปัสสนา วิสัยแห่งการเจริญปัญญา ลูกหลานจะไปฝึกจิต ถ้าไม่เข้าใจวิถีแห่งจิต อย่างนี้เค้าเรียกว่า "มรรควิถี" ก็จะไม่สามารถฝึกจิตได้ มันก็จะเรียกว่า "ตาบอดคลำช้าง" เพราะนั่งหลับตาไปวันๆ นึง เค้าให้กูภาวนา กูก็ภาวนา ภาวไป ภาวมา กูก็หลับไป นั่นแหละ มันก็ได้แบบนั้นแหละลูก เพราะงั้นต้องรู้ มายาแห่งจิต รู้กระบวนการของจิต รู้อาการจิต รู้ที่เกิดจิต รู้ที่ดับแห่งจิต รู้ตัวปรุงจิต รู้ลักษณะแห่งจิต รู้หน้าที่จิตทำอะไร
..... .. มหาสติปัฏฐานสี่ มี กายานุปัสสนา เวทนานุปัสสนา จิตตานุปัสสนา และธัมมานุปัสสนา ใหญ่ที่สุดฝึกเรื่อง "จิต" ตัวเดียวลูก สี่ย่อเหลือสอง คือ กายกับใจ จากสองย่นเหลือหนึ่ง คือ จิตตัวเดียว เพราะงั้น พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า
"จิตตัง ทันตัง สุขาวหัง" ผู้ฝึกจิตดีแล้ว ย่อมนำความสุขมาให้ "มโน ปุพพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฐา มโนมยาฯ" การทั้งหลายมีจิต หรือมีใจ เป็นนาย มีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า ถ้าจะฝึก ต้องฝึกอะไร ฝึกใจ หรือฝึกจิต เพราะเมื่อจิตที่ฝึกดีแล้ว มันนำความสุขมาให้ ก็แสดงว่ากายมันก็จะสุข วาจามันก็จะปลอดโปร่ง
..... เพราะงั้น ลูกหลานต้องเข้าใจ "วิถีแห่งจิต" และวิถีแห่งจิตที่ถูกตรง มันก็อยู่ในมรรคาปฏิปทา มรรคาปฏิปทา มีอะไรบ้าง ก็กลับมาดู มรรคมีองค์แปดประการ น่ะลูก ทุกวัน เราต้องมีมรรคาแห่งจิต มีมรรควิถีแห่งจิต เริ่มต้นจากการคิดเห็นให้ตรง และ ถูกต้อง คือ เชื่อกรรม เชื่อกฏของกรรม เชื่อว่าสัตว์โลกเป็นไปตามกรรม เชื่อว่าทำกรรมดีได้ดี เชื่อว่าทำกรรมชั่วได้ชั่ว เชื่อว่าสัตว์โลกมีกรรมเป็นกำเนิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย เป็นอยู่ และไป อาศัยกรรม นี่คือการเชื่อเบื้องต้นขั้นพื้นฐาน ในสัมมาทิฏฐิ ข้อที่หนึ่งในมรรคาปฏิปทา และ เชื่อต่อมาว่า สัตว์โลกทั้งผอง เป็นทุกข์ สรรพสิ่งในโลกไม่เที่ยง เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป เชื่อว่า "ความทุกข์มันมีอยู่จริง แต่สัตว์ผู้เสวยทุกข์หามีไม่" เพราะเป็นเพียงแค่จรมา และก็จากไป มันไม่มีตัวตนที่แท้จริงแห่งสัตว์ เพราะสัตว์นี้มันมีองค์ประกอบด้วยมหาภูตรูป คือ ธาตุสี่ ดิน น้ำ ลม และ ไฟ ความเชื่อและเข้าใจอย่างนี้ เค้าเรียกว่าเชื่อ และ เข้าใจในมรรคาปฏิปทา ในสัมมาปฏิบัติ เรียกว่า "สัมมาทิฏฐิ"
.....สูงสุด คือ เชื่อเรื่อง ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และก็เชื่อเรื่องการสั่งสมอบรมเจริญปัญญา นอกจากเชื่อแล้วไม่ใช่พอลูก เชื่อแค่นั้นยังไม่พอ ต้องดำริ คิดจะทำด้วย เชื่อและต้องคิดจะทำ ดำริชอบ ข้อที่สองในมรรคมีองค์แปดประการ ทำก็ชอบ พูดก็ชอบ คิดก็ชอบ เหล่านี้เกิดจากความดำริชอบ จากความเชื่อชอบ มีพื้นฐานมาจากความเชื่อที่ชอบ มีปัญญาที่ชอบ จึงทำให้เราดำริ จะทำ พูด คิด ที่ชอบ แล้วเจรจาก็ชอบ ข้อที่สามในมรรคมีองค์แปดประการ เลี้ยงชีพชอบ การงานชอบ ความเพียรก็ชอบ ตั้งใจก็ชอบ มีสมาธิ เรียกว่า มีสมาธิชอบ และก็ตั้งใจชอบ มีสติชอบ คือรู้ชัดตามความเป็นจริง ตามเหตุ ปัจจัย เหล่านี้เป็นมรรค คือหนทางแห่งวิถีขจิต วันอาสาฬหบูชา ลูกหลานต้องรับรู้ และเรียนรู้เรื่องพวกนี้ หลวงปู่ว่า จะสอนสูงเกินไปหรือปล่าวเนี่ย เห็นนั่งอ้าปากบ๋อ น้ำลายยืดกันเป็นแถวเลย หลับเผลอ หลับไปแล้ว!!! ...
.....เรียนเรื่อง "จิต" เนี่ย สุดยอดของการเรียนแล้วลูก เพราะว่าข้อ หลักอภิธรรม คือ ธรรมอันยิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้านำเอาไปแสดงแก่ สมเด็จพระพุทธมารดา ในชั้นดาวดึงส์ ตลอดสามเดือน มีอยู่สี่ประโยค "จิต เจตสิก รูป และก็นิพพาน" จิตเป็นแม่บทเบื้องต้นของการเรียนรู้ เจตสิกคือตัวปรุง รูปคือสภาวะธรรม นิพพาน คือ ผลที่ได้เรียนรู้ทั้งหมด เพราะงั้นต้องเริ่มศึกษาเรื่องจิตให้จริงๆ จังๆ เพื่อจะเป็นที่ตั้งแห่งปัญญาสูงสุด ในการเข้าไปรู้ถึงอารมณ์ที่ปรากฏ เข้าใจสิ่งที่ปรากฏ เข้าใจธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เข้าใจชีวิต เข้าใจวิถีแห่งโลก เข้าใจวิถีแห่งธรรม เข้าใจเรื่องสังคม เข้าใจเรื่องโลหะวัตถุ และสุดท้ายเข้าใจตัวเราเอง เฮ้อ.. เหนื่อย งงหรือเปล่าเนี่ย ฉลาดจริงอ๊ะ มึงอย่ามาหลอกกูเลย เห็นหน้ามึงแล้วไม่น่าฉลาดเลย (หลวงปู่หัวเราะ)
จบแล้วลูก...
พอแล้วลูกเหนื่อยแล้ว...