รวมบทความเรื่อง "มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง" 26 สิงหาคม 2564 - 2 กันยายน 2564 (5 ตอน)
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง - ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง (ตอนที่ ๒) - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง (ตอนที่ ๓) - ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง (ตอนที่ ๔) - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง (ตอนที่ ๕) - ๒ กันยายน ๒๕๖๔
คุยเฟื่องเรื่องโลกกับธรรม: Ep.74 : "สันตุฏฐี จะ" และ พาหุง 8 ห้อง - 3 กันยายน 2564
+++++++++++++++++++++++++++
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง - ๒๖ สิงหาคม ๒๕๖๔
ทำไมโบราณาจารย์ท่านถึงได้ปลูกฝัง สั่งสอนให้ลูกหลานพยายามท่องจำให้คล่องปาก ขึ้นใจ
เราท่านทั้งหลายมาทำความเข้าใจในพรพาหุงทั้ง ๘ ห้องดูกันหน่อย
พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
พระจอมมุนีทรงมีชัยชนะต่อพญามารผู้นิมิตแขนมากตั้งพัน อีกทั้งยังถืออาวุธครบทุกมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมขละ พร้อมทั้งเสนามาร ผู้ซึ่งมีงูออกมาจากร่างกาย พากันลุกรุมล้อมพระจอมมุนี
ทั้งยังส่งเสียงโห่ร้องก้องกึก เพื่อรุกไล่ให้พระองค์ลุกหนี ออกจากรัตนบัลลังก์ที่ทรงกระทำความเพียรในค่ำคืนวันตรัสรู้ อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ องค์พระจอมมุนี ทรงใช้ธรรมวิธีทานบารมี
เข้าต่อกรกับพญามารและเสนามาร โดยทรงยกเอาทานบารมีที่ทรงเคยกระทำมาดีแล้วตั้งแต่อดีตชาติในสี่อสงไขย แสนมหากัป อันมีพระธรณีเป็นพยานรับรู้ ในทานที่ทรงบำเพ็ญ
ทุกครั้งก็จักทรงหลั่งน้ำทักษิโณทกอุทิศผลบุญให้แก่สรรพสัตว์ เรื่องนี้ ท่านกล่าวเอาไว้เป็นบุคลาธิษฐาน คือ การยกเอาบุคคลเป็นที่ตั้งว่า ในเวลาที่พระจอมมุนี ทรงยกเอาทานบารมี
มาเป็นเครื่องต่อกรกับพญามารและบริวารมารนั้น ทรงอ้างพระธรณีเป็นพยานรับรู้ทุกครั้งที่ทรงบำเพ็ญทาน
พระนางธรณีจึงปรากฏกายตรงด้านหน้า แล้วได้บีบมวยผมที่ซึมซับ ดูดรับ เอาน้ำอุทิศผลทานนั้น ออกมาให้พญามารและเสนามารได้รู้เห็น จนกลายเป็นอุทกธาราไหลบ่าเนืองนอง
ดุจดังเขื่อนแตกจนพัดพาพญารมารกระจัดกระจายพ่ายไปเสียสิ้น และหากจะว่ากันด้วยหลักธรรมาธิษฐาน คือ การยกเอาธรรมเป็นที่ตั้งเป็นหลักแล้วอธิบาย
ก็ต้องอธิบายว่า การที่พระโพธิสัตว์สิทธัตถะได้ทรงนั่งกระทำความเพียรทางจิต ณ โคนต้นอัมพฤกษ์ ณ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา มหานที ในเวลายามดึกของราตรี ก่อนตรัสรู้
จิตของพระองค์คงต้องเผชิญต่อตัณหา ความทะยานอยาก ความคับแค้น ความเห็นแก่ตัว อุปาทาน ความยึดถือ ที่เข้ามารุมเร้า จนทำให้พระองค์ต้องทรงยกเอาการให้ การเสียสละ
การบริจาค มาเป็นเครื่องมือขจัดความทะยานอยาก ความคับแค้น ความเห็นแก่ตัว ความละโมบ ความยึดถือ ซึ่งเป็นประดุจดังมารกองใหญ่ให้ปราชัยลงไปได้ ด้วยอำนาจแห่งการให้ การเสียสละ
นั้นคือ ทานบารมี โบราณาจารย์ท่านจึงสอนให้เจริญ ให้ท่องบทพาหุงบทนี้จนขึ้นใจ เพื่อเวลาใดที่เราต้องเผชิญจดจ่อต่อความทะยานอยาก ความเห็นแก่ตัวและยึดถือ อันเปรียบประดุจดังมาร
ก็ให้เอาชนะด้วยการให้ การเสียสละ การแบ่งปัน ชัยชนะก็จะเกิดขึ้นแก่ชีวิตตน
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ
...............................................................................................
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง (ตอนที่ ๒) - ๒๘ สิงหาคม ๒๕๖๔
ทำไมโบราณาจารย์ท่านถึงได้ปลูกฝัง สั่งสอนให้ลูกหลานพยายามท่องจำให้คล่องปาก ขึ้นใจ
เราท่านทั้งหลายมาทำความเข้าใจในพรพาหุงทั้ง ๘ ห้องดูกันหน่อย
วันนี้ขอนำเสนอในห้องที่สอง ความว่า
มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
พระจอมมุนีทรงเผชิญหน้ากับยักษ์ตนหนึ่งอันมีนามว่า อาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้างหยาบช้า ดุร้ายโหดเหี้ยม
ผู้มากไปด้วยเพลิงโทสะ และความหลงผิด อวดอ้างตนว่าเป็นผู้มีฤทธิ์มาก สามารถเหาะเหินเดินอากาศ ชอบที่จะจับมนุษย์และสัตว์กินเป็นอาหาร
อาฬวกยักษ์ตนนี้ อาศัยอยู่ในวิมานที่ตั้งอยู่บนต้นไทรใหญ่ใกล้เมืองอาฬวี ยักษ์ตนนี้ยังได้รับพรจากท้าวเวสสุวรรณให้สามารถจับมนุษย์และสัตว์ที่เข้ามาในเขตถิ่นที่อยู่ของยักษ์กินได้
อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาทรงนามว่า พระเจ้าอาฬวกะ ได้เสด็จออกล่าเนื้อพร้อมบริวาร จวบจนพระองค์ไล่ล่าเนื้อ หลงทางมายังถิ่นที่อยู่อาศัยของอาฬวกยักษ์ จึงถูกยักษ์นั้นจับตัวเอาไว้ด้วยมุ่งหมายจะกินเป็นอาหาร
พระราชาอาฬวกะ จึงร้องขอชีวิตด้วยการให้สัญญาว่าหากท่านจะกินข้าพเจ้า เสียแต่วันนี้ ท่านก็จะได้แค่กินอิ่มไปเพียงวันเดียว แต่หากท่านยอมอดวันนี้ ท่านจะมีมนุษย์กินอิ่มไปได้ทุกๆ วัน
อาฬวกยักษ์พอได้ฟังดังนั้นจึงถามกลับไปว่า “อย่างไรล่ะที่ท่านจะทำให้ข้ามีมนุษย์กินได้ทุกวัน”
อาฬวกะราชาจึงตอบว่า “หากวันนี้ท่านปล่อยข้า ข้าสัญญาว่าจะจัดส่งนักโทษที่ต้องโทษประหาร มาให้ท่านกินได้ทุกๆ วัน”
อาฬวกยักษ์ พอได้ฟังดังนั้นจึงครุ่นคิดว่า หากวันนี้เราจะยอมปล่อยตัวราชาผู้นี้ไป วันพรุ่งนี้เราจักได้มีมนุษย์กินได้ทุกวันดังที่ราชาสัญญาแก่เรา
คิดดังนี้แล้ว อาฬวกยักษ์จึงยินยอมปล่อยตัวองค์ราชาอาฬวกะไป
วันรุ่งขึ้น พระราชาอาฬวกะ จึงมีพระบัญชาให้พวกราชบุรุษคุมตัวนักโทษประหารมาส่งมอบให้เป็นอาหารแก่อาฬวกยักษ์ตามที่พระราชาได้ให้สัญญาไว้
เมื่ออาฬวกยักษ์ได้มนุษย์มาเป็นอาหาร ก็ใช้มืออันใหญ่รวบจัดมนุษย์นักโทษนั้นเคี้ยวกินเป็นอาหารอย่างง่ายดาย เป็นที่น่าสะพึงกลัวแก่พวกราชบุรุษที่ได้พบเห็นยิ่งนัก
ครั้นกลับไปยังบ้านเมืองแล้ว ก็นำเรื่องดังกล่าวไปพูดคุยบอกเล่ากันฟังในหมู่ชาวบ้าน จนผู้คนพากันหวาดกลัว ไม่มีใครกล้าที่จะกระทำผิดอาญาบ้านเมือง เพราะกลัวจะถูกจับตัวไปให้ยักษ์กิน
เหตุการณ์ผ่านพ้นไปเป็นเวลาแรมเดือน จนนักโทษในคุกหลวงหมดลง พระราชาอาฬวกะ จึงคิดอุบายที่จะนำคนให้ไปเป็นอาหารของยักษ์ ด้วยการนำเอาเงินและทองไปโปรยลงทั่วแผ่นดิน แล้วให้เจ้าหน้าที่คอยสุ่มแอบดูว่า
ใครผู้ใดจะเก็บเอาเงินและทองนั้น แต่ก็หาได้มีมนุษย์ตนใดกล้าที่จะเก็บเอาเงินและทองนั้นไว้ไม่ ด้วยเพราะกลัวว่าจะถูกจับตัวเอาไปให้เป็นอาหารของยักษ์
เมื่อไม่มีคนที่จะส่งให้ยักษ์กิน พระราชาอาฬวกะ ก็เริ่มร้อนใจ กลัวว่ายักษ์จะมาเอาชีวิตตน เพราะผิดคำสัญญา องค์ราชาจึงได้ปรึกษากับสภาขุนนาง ได้รับคำแนะนำว่า บ้านไหนมีเด็กเกิดในวันข้างแรม ก็ให้นำตัวเด็กคนนั้นไปส่ง
ให้เป็นอาหารยักษ์ พอข่าวนี้แพร่ออกไปทั่วเมือง หญิงมีครรภ์ท้องแก่ทั้งหลายได้พากันหวาดกลัว ต่างแอบอพยพหลบหนี ออกจากเมืองกันจนไม่มีเหลือผู้หญิงมีครรภ์อยู่เลย
แม้หญิงสาวก็ไม่กล้าที่จะมีคู่ เพราะกลัวว่าลูกของตนจะถูกจับไปเป็นอาหารของยักษ์
ความทุกข์ยากเดือดร้อนครั้งนี้แพร่สะพัดไปในหัวเมืองต่างๆ จึงทำให้ไม่มีใครผู้ใดจะเดินทางไปมาหาสู่แก่ชาวเมืองอาฬวีอีกเลย
กาลต่อมา เช้าวันหนึ่งพระบรมศาสดาทรงตรวจดูสรรพสัตว์ด้วยพระสัพพัญญุตญาณ ได้ทรงทราบว่า อาฬวกยักษ์ตนนี้ยังพอมีอุปนิสัยที่จะบรรลุพระอริยบุคคลเบื้องต้นได้ หลังจากที่ทรงทำภัตตกิจเช้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จึงทรงเสด็จออกจากพระนครสาวัตถี ตรงไปยังนครอาฬวี ซึ่งมีระยะทางห่างถึง ๓๐ โยชน์
ช่วงบ่ายของวันเดียวกัน พระบรมศาสดาทรงเสด็จมาถึงตำบล บ้านที่มีต้นไทรใหญ่อันเป็นที่ตั้งวิมานของอาฬวกยักษ์ จึงทรงเสด็จพุทธดำเนินหยุดยืนอยู่หน้าวิมานของยักษ์
ในเวลานั้น ยามยักษ์ที่ทำหน้าที่เฝ้าประตูวิมานชื่อ คัทรภะ เห็นพระบรมศาสดา จึงตรงเข้ามาถวายบังคมทูลถามว่า ทรงมีธุระอันใดที่เสด็จมาอยู่หน้าวิมานยักษ์ใหญ่เช่นนี้
พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสตอบว่า มีพระประสงค์จะพักแรมในที่นี้สักคืนหนึ่ง คัทรภยักษ์ จึงกราบทูลว่า เจ้าของวิมานนี้คือ อาฬวกยักษ์ เป็นยักษ์ที่โหดร้ายหยาบคายมาก ไม่ยอมไหว้ใครๆ แม้แต่บิดา มารดาของตน
ไม่รู้จักสมณะชีพราหมณ์ และไม่เคารพพระรัตนตรัย พระพุทธองค์อาจมีอันตรายได้ แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงออกพระโอษฐ์ขอพักอาศัยถึง ๓ ครั้ง ในที่สุดคัทรภยักษ์ก็อนุญาตให้พระพุทธองค์เข้าพักได้ แต่ขอให้ตนไปแจ้ง
ให้อาฬวกยักษ์ทราบเสียก่อน ขณะที่คัทรภยักษ์ไปแจ้งให้อาฬวกยักษ์ได้ทราบ ในเวลาเดียวกันนั้น ประตูวิมานของอาฬวกยักษ์ก็เปิดออกเอง พระพุทธเจ้าจึงเสด็จเข้าไปประทับนั่ง เปล่งพระรัศมีออกเป็นสีทองอยู่บนบัลลังก์ทิพย์
ของอาฬวกยักษ์ พวกนางสนมของอาฬวกยักษ์เห็นพระพุทธเจ้าเสด็จเข้าไปก็มีความยินดี พากันมาถวายบังคมแล้วนั่งฟังธรรม
ด้านคัทรภยักษ์ เมื่อนำความไปแจ้ง อาฬวกยักษ์ให้ทราบ อาฬวกยักษ์ก็นิ่งไว้ ไม่ได้แสดงอาการเพราะอาย กลัวว่ายักษ์อื่นจะรู้ว่ามีสมณะเข้าไปอยู่ในที่ของตน
ขณะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมโปรดนางสนมของพญายักษ์อยู่นั้น มียักษ์อีก ๒ ตน คือ สาตาคิรยักษ์ และเหมวตยักษ์ พร้อมด้วยบรริวาร พากันเหาะผ่านมาเพื่อจะไปประชุมที่ป่าหิมพานต์ แต่เมื่อมาถึงวิมานของอาฬวกยักษ์
ก็ไม่สามารถจะเหาะผ่านไปได้ พอทราบว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ จึงพากันแวะลงไปเฝ้าฟังธรรมก่อนจะเดินทางต่อ เมื่อไปถึงที่ประชุมยักษ์แล้ว สาตาคิรยักษ์ และเหมวตยักษ์ จึงแจ้งให้อาฬวกยักษ์ทราบว่า
พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่วิมานของเขา และแนะนำให้ไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์
เมื่อได้ทราบเช่นนั้นแล้ว อาฬวกยักษ์ก็โกรธ เป็นฟืนเป็นไฟ แม้สาตาคิรยักษ์ และเหมวตยักษ์ จะอธิบายว่าพระบรมศาสดา คือพระโพธิสัตว์ที่จุติจากดุสิตสวรรค์มาตรัสรู้ เพื่อสั่งสอนสรรพสัตว์ อันเทวดาทั้งหลายรู้ดี
แต่อาฬวกยักษ์ไม่ยอมเชื่อฟัง ลุกขึ้นเอาเท้าซ้ายเหยียบพื้นศิลา เท้าขวาเหยียบยอดเขาไกรลาส ส่งเสียงร้องกาศชื่อของตนดังก้องไปทั่วชมพูทวีปด้วย
อิทธิฤทธิ์ของอาฬวกยักษ์นั้น อันเป็นเสียงหนึ่งในบรรดาเสียงดังพิเศษ ๔ อย่างอันเป็นที่รู้กันทั่วชมพูทวีป คือ
๑. เสียงปุณณกยักษ์ส่งเสียงไชโย ในคราวชนะพนันพระเจ้าธนัญชัยโกรพยะ
๒. เสียงท้าวสักกะร้องประกาศขู่จะกินพุทธบริษัทผู้ใจบาป ที่ไม่ถือศีล ถือธรรม ครั้งปลายพุทธกาลของพระกัสสปะพุทธเจ้า
๓. เสียงพระเจ้ากุสราชร้องประกาศพระนามของพระองค์ในคราวที่พระองค์ ทรงพาพระนางปภาวะตีเสด็จขึ้นช้างออกจากพระนคร เมื่อนครกุสาวดี ถูกกษัตริย์ทั้ง ๗ ปิดล้อม
๔. เสียงอาฬวกยักษ์ที่ร้องตะโกนขู่ด้วยความอัดอั้นเคืองแค้น
ต่อมาอาฬวกยักษ์จึงได้บันดาลฝนห่าใหญ่ให้ตกลงมา ด้วยหวังใจว่าจะใช้น้ำท่วมพระพุทธเจ้าให้ตาย แต่แม้ว่าฝนจะตกรุนแรง จนแผ่นดินแตกเป็นช่องๆ แต่ฝนนั้นก็ไม่อาจเปียกจีวรของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เลย
อาฬวกยักษ์นั้นบันดาลฝนแผ่นหินให้ตกลงมาจากยอดเขาใหญ่ๆ พ่นควันลุกโพลงลงมาทางอากาศ แต่พอถึงพระพุทธเจ้าฝนหินก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ไปทันที
อาฬวกยักษ์นั้นบันดาลฝนเครื่องประหาร เช่น ถ่านเพลิง ฝนขี้เถ้าร้อน ฝนทราย ให้ตกลงมา แต่ของเหล่านั้นตกลงมากลายเป็นของหอมอันเป็นทิพย์มาบูชาพระพุทธองค์ไปจนหมดสิ้น
อาฬวกยักษ์นั้น เมื่อไม่อาจทำอันตรายพระพุทธเจ้าได้ด้วยการบันดาลฝนต่างๆ จึงพายักษ์และภูตเข้าไปหา แต่ภูตเหล่านั้นก็ไม่อาจเข้าใกล้พระพุทธเจ้าได้ ดุจดังแมลงวันไม่อาจตอมก้อนเหล็กที่ลุกโพลงได้ฉันนั้น
ผ่านไปครึ่งคืน อาฬวกยักษ์คิดว่าจำเป็นต้องใช้อาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของตน คือ ทุสสาวุธ ซึ่งมีอาณุภาพร้ายแรงดุจ วชิราวุธของพระอินทร์ คฑาวุธของท้าวเวสสุวรรณ และนัยนาวุธของพระยายมราช ทุสสาวุธนี้มีลักษณะเป็นผืนผ้า
หากโยนขึ้นไปในอากาศ ก็จะทำให้ฝนแล้งถึง ๑๒ ปี ถ้าทิ้งลงบนพื้นดิน ต้นไม้ต่างๆก็จะไหม้ทำลายถึง ๑๒ ปี ถ้าทิ้งลงมหาสมุทร น้ำก็จะแห้งขอด ถ้าทิ้งลงบนภูเขา แม้เขาเนรุมาศก็จะระเบิดกระจัดกระจายเป็นผุยผง
เมื่ออาฬวกยักษ์จะใช้ทุสสาวุธ บรรดาเทวดาทั่วหมื่นโลกธาตุก็ต่างมาชุมนุมกันเต็มไปหมด เพื่อรอดูพระพุทธบารมีขององค์พระบรมศาสดา ว่าจะปราบอาฬวกยักษ์ตนนี้ได้อย่างไร
อาฬวกยักษ์เหาะวนรอบพระพุทธเจ้าแล้วปล่อยทุสสาวุธไปในอากาศ ทุสสาวุธก็ลอยวนเสียดสีอากาศเสียงดังน่ากลัว ประดุจสายฟ้าผ่า แต่สุดท้ายก็ลอยตกลงมากลายเป็นผ้าเช็ดพระบาทที่แทบเท้าพระพุทธองค์
อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้น คิดว่าอาวุธทั้งหมดไม่อาจทำอันตรายพระพุทธองค์ได้ จึงออกคำสั่งแก่พุทธองค์ว่า "สมณะ ท่านจงออกไปเดี๋ยวนี้" พระพุทธเจ้าทรงดำริว่าอาฬวกยักษ์ตนนี้เป็นผู้มีจิตใจแข็งกระด้าง
หากตอบโต้ด้วยความแข็งกระด้าง ก็จะกลับมีจิตใจกระด้างขึ้นกว่าเก่า ดำริแล้วก็ทรงลุกขึ้นแล้วเสด็จออกจากวิมานยักษ์
อาฬวกยักษ์เห็นดังนั้นจิตใจก็อ่อนลงคิดว่าพระพุทธเจ้านี้ว่าง่าย แล้วออกคำสั่งต่อว่า "สมณะ ท่านจงเข้าไป" พระพุทธเจ้าก็ทรงเสด็จเข้าไปในวิมานยักษ์
อาฬวกยักษ์ได้ใจ ออกคำสั่งให้พระพุทธเจ้าเข้าๆออกๆ อยู่ถึง ๓ ครั้ง ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ทรงทำตาม ประดุจการตามใจบุตรเมื่อร้องไห้ แต่เมื่อถึงครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์สั่งว่า "สมณะ ท่านจงออกไป" ครั้งนี้พระพุทธเจ้าทรงดำรัสตอบว่า
"เราไม่ออกไป ท่านจะทำอะไรก็ทำเถิด" เมื่ออาฬวกยักษ์ถามเหตุผล พระพุทธเจ้าก็ตอบว่า "เมื่อเราเข้ามานั้น เราไม่ได้รับอณุญาตจากเจ้าของบ้าน เมื่อเจ้าให้ออกเราจึงออก แต่เมื่อเจ้าของบ้านอนุญาตให้เราเข้ามาแล้ว
เหตุใดเราต้องออกไปอีก ดูก่อน อาฬวกยักษ์ เจ้าอนุญาตให้ใครเขาเข้ามาแล้วออกปากไล่เขาไปเช่นนี้ จักไม่เป็นการเสียมารยาทล่ะหรือ หากข่าวนี้แพร่สะพัดไปแล้วจะมีใครนับถือท่านเล่า"
อาฬวกยักษ์แปลกใจในพุทธปัญญา จึงเปลี่ยนเป็นทูลถามปัญหา โดยขู่ว่าหากพระองค์แก้ไม่ได้ เขาจะฉีกหัวใจ และจับร่างพระองค์เหวี่ยงข้ามแม่น้ำคงคา
แล้วอาฬวกยักษ์ก็ไปนำคำถามมาถามพระพุทธเจ้า โดยคำถามนี้มีที่มาจากในอดีตกาลในสมัยพระพุทธเจ้าองค์ก่อน คือ พระมหากัสสปะพุทธเจ้า บิดามารดาของอาฬวกยักษ์ ได้เคยถามปัญหาจากพระพุทธกัสสปะ
และได้นำมาสั่งสอนอาฬวกยักษ์ แต่พอนานวันเข้าอาฬวกยักษ์ก็จำได้แต่คำถาม แต่ลืมคำตอบ ถามใครๆ ก็ไม่มีใครตอบได้ เพราะเป็นปัญหาที่ตอบได้เฉพาะพระพุทธเจ้า อาฬวกยักษ์จึงเขียนคำถามเก็บไว้ในวิมาน
พระพุทธเจ้าก็ทรงแก้ปัญหาให้อาฬวกยักษ์เหมือนที่พระพุทธกัสสปะเคยแก้ไว้ ดังนี้
ปุจฉา : อะไรเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย และเป็นอยู่อย่างไรที่นักปราชญ์ยกย่องว่าประเสริฐสุด
วิสัชนา : ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของคนในโลก ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ ความสัตย์เป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย และผู้อยู่ด้วยปัญญานักปราชญ์ทั้งหลายสรรเสริญว่าประเสริฐสุด
ปุจฉา : คนข้ามโอฆะได้อย่างไร ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร
วิสัชนา : คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา
ปุจฉา : คนมีปัญญาได้อย่างไร หาทรัพย์ได้อย่างไร หาชื่อเสียงได้อย่างไร ผูกมิตรได้อย่างไร และทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศกเมื่อไปสู่ภพหน้า
วิสัชนา : บุคคลเชื่อฟังธรรมย่อมได้ปัญญา บุคคลไม่ประมาท ฉลาด ไม่ทอดธุระ มีความเพียรย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ และบุคคลผู้มีธรรม ๔ ประการคือ
สัจจะ ทมะ จาคะ และขันติ บุคคลละโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ในที่สุดแห่งการทูลถามปัญหานี้ อาฬวกยักษ์ ผู้ส่งจิตใจไปตามพระธรรมเทศนา ก็สำเร็จเป็นพระโสดาบันในรุ่งแจ้งนั่นเอง เมื่ออาฬวกยักษ์
สำเร็จเป็นพระโสดาบันแล้ว ก็เปล่งเสียงสาธุการ เป็นเวลาเดียวกับคนที่เมืองอาฬวี นำอาฬวกกุมารมามอบให้ อาฬวกยักษ์นั้นรับพระราชกุมารนั้นแล้วก็ประคองราชกุมารน้อมถวายแด่พระพุทธองค์ด้วยความเคารพ
พระพุทธองค์ทรงรับพระราชกุมารนั้นมา ทรงประทานพรและมอบคืนให้คนของกษัตริย์เมืองอาฬวี พระราชกุมารนั้นจึงมีพระนามว่า หัตถกอาฬวกะ แล้วพระพุทธเจ้าก็เสด็จเข้าไปบิณฑบาตรในเมืองอาฬวี
มีอาฬวกยักษ์เดินถือบาตร และสังฆาฏิตามมาส่งถึงครึ่งทางแล้วจึงกลับ หลังจากนั้นอาฬวกยักษ์ก็อยู่ในศีลธรรม เลิกกินเนื้อมนุษย์ตั้งแต่บัดนั้น
และหากจะมองในแง่ธรรมาธิษฐาน คือ การยกเอาธรรมเป็นที่ตั้ง เราท่านทั้งหลายจะเห็นว่า องค์พระบรมศาสดา ทรงใช้ความอ่อนโยน ชนะความแข็งกร้าว ทรงใช้ความอดทน ชนะความเย่อหยิ่งจองหอง บ้าอำนาจ
และทรงใช้ปัญญา ชนะความยโส อวดดี
พุทธะอิสระ
.................................................................................
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง (ตอนที่ ๓) - ๓๐ สิงหาคม ๒๕๖๔
ทำไมโบราณาจารย์ท่านถึงได้ปลูกฝัง สั่งสอนให้ลูกหลานพยายามท่องจำให้คล่องปาก ขึ้นใจ
เราท่านทั้งหลายมาทำความเข้าใจในพรพาหุงทั้ง ๘ ห้องดูกันหน่อย
วันนี้ขอนำเสนอในห้องที่สาม ความว่า
นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง
เมตตัมพุเสกะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
สมเด็จพระจอมมุนีทรงผจญกับพญาช้างชื่อ นาฬาคีรี ซึ่งกำลังตกมัน ดุร้ายประดุจไฟป่าที่เผาผลาญทุกอย่างที่ขวางหน้า ร้ายแรงดั่งจักราวุธ และสายฟ้า (ขององค์อินทร์) ทรงพิชิตพญาช้างด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำ
คือธรรมได้แก่ พระเมตตา ด้วยเดชแห่งองค์พระผู้พิชิตมารช้างนั้นจึงยอมศิโรราบ เข้าถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
พรรษาที่ ๓๗ ครั้งนั้นพระเทวทัตภิกขุ แม้ได้มาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆ เป็นเพียงผู้ทรงสมาบัติ จิตใจจึงยังลุ่มหลงในกิเลสอยู่ มีความคิดอยากได้ลาภสักการะ
อยากได้บริวารมากที่มาบูชาตนเอง อยากจะเป็นผู้ปกครองคณะสงฆ์เสียเอง แต่พระพุทธเจ้าไม่ทรงอนุญาต พระเทวทัตจึงคิดการใหญ่ ใช้อภิญญาแสดงอิทธิฤทธิ์หลอกลวงให้เจ้าชายอชาตศัตรูศรัทธา
และยุยงให้เจ้าชายอชาตศัตรูปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารราชบิดา พร้อมทั้งขึ้นเป็นกษัตริย์สืบแทน ส่วนพระเทวทัต หาวิธีจะปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า และตั้งตนเป็นพระพุทธเจ้าแทน
ครั้งแรกพระเทวทัตได้ส่งนายขมังธนู ๑๖ คน ให้ไปลอบปลงพระชนม์ แต่นายขมังธนูทั้ง ๑๖ คน เมื่อได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าก็เลื่อมใส ยึดถือพระองค์เป็นสรณะ
เมื่อแผนการนี้ไม่สำเร็จพระเทวทัตจึงคิดปลงพระชนม์พระพุทธเจ้าด้วยตนเอง โดยการขึ้นไปแอบซุ่มอยู่บนยอกเขาคิชฌกูฏ แล้วกลิ้งหินลงมาให้ทับพระพุทธเจ้า แต่ก็ไม่สำเร็จ มีเพียงสะเก็ดหินก้อนหนึ่งกระเด็น
ไปกระทบข้อพระบาทจนห้อพระโลหิต พระพุทธเจ้าทรงทราบว่าพระเทวทัตเป็นผู้กระทำ จึงตรัสบอกภิกษุทั้งหลายว่า บัดนี้พระเทวทัตได้กระทำอนันตริยกรรมแก่พระองค์เสียแล้ว
ครั้งที่สาม พระเทวทัตคิดร้ายต่อพระพุทธองค์โดยใช้ช้างนาฬาคีรี ซึ่งเป็นช้างที่ดุร้าย พระเทวทัตจึงติดสินบนให้ตวาญช้างมอมเหล้าช้างนาฬาคีรีด้วยเหล้าอย่างแรง ๑๖ หม้อ และใช้หอกทิ่มแทงช้างให้เจ็บ
ล่อช้างที่กำลังดุร้ายเมามันนั้น ให้ออกมาทำร้ายพระพุทธเจ้า เวลาที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบิณฑบาตร
พอวันรุ่งขึ้น เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จออกพร้อมภิกษุสาวก เข้ามาบิณฑบาตรในกรุงราชคฤห์ ทิ้งระยะห่างหน่อย ควาญช้างก็ปล่อยช้างออกมาสู่ตรอกที่พระพุทธเจ้าเสด็จพุทธดำเนินออกมา
ช้างนาฬาคีรีเห็นพระพุทธเจ้าดำเนินมาแต่ไกล ก็ชูงวง หูกาง หางชี้ ทำลายบ้านเรือนและเกวียนที่ขวางทางและวิ่งรี่ตรงไปหาพระพุทธเจ้าทันที
ภิกษุทั้งหลายเห็นดังนั้น รีบกราบทูลพระพุทธองค์ว่า "พระพุทธเจ้าข้า นี่คือช้างนาฬาคีรีที่ดุร้าย หยาบช้า ฆ่ามนุษย์ได้อย่างง่ายดาย มันกำลังวิ่งตรงมาทางนี้แล้ว ขอให้พระผู้มีพระภาคโปรดเสด็จกลับเถิด
ขอให้พระสุคตจงเสด็จกลับเถิด พระพุทธเจ้าข้า" แต่พระพุทธองค์ยังคงสงบเย็นรับสั่งว่า "มาเถิดภิกษุทั้งหลาย เธออย่ากลัวเลย ข้อที่ใครจะมาปลงชีวิตของเราตถาคตนั้น นั่นไม่ใช่ฐานะ ไม่ใช่โอกาส
เพราะพระตถาคตทั้งหลาย ย่อมไม่ปรินิพพาน ด้วยความพยายามฆ่าของผู้อื่น" แต่ภิกษุทั้งหลายก็เกรงว่าพระพุทธองค์จะได้รับอันตราย
พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงต้องตรัสย้ำคำเดิมอีกแม้เป็นครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ จนช้างนาฬาคีรีวิ่งเข้ามาใกล้ ประชาชนชาวบ้านทั้งหลายแถวนั้นต่างหลบหนีขึ้นไปอยู่บนปราสาทบ้าง บนเรือนบ้าง บนหลังคาบ้าง
ส่งเสียงตะโกนกันลั่นสนั่นเมือง ทั้งพวกที่ไม่ศรัทธา และพวกที่ศรัทธาก็ตาม
"พวกเราทั้งหลายเอ๋ย พระสมณโคดมกำลังจะถูกช้างเหยียบตายแน่แล้ว"
"พวกเราผู้เจริญ คอยดูให้ดีเถิดพระพุทธองค์จะทำสงครามกับช้างดุร้ายเชือกนี้"
ขณะนั้นมีหญิงแม่ลูกอ่อนคนหนึ่ง เห็นช้างนาฬาคีรีวิ่งเข้ามาก็ตกใจกลัว วางลูกไว้แล้ววิ่งหนีไป ช้างไล่หญิงคนนั้นไม่ทัน ก็เดินวนเวียนอยู่ใกล้ ๆ ทารกที่ร้องเสียงดังด้วยความตกใจกลัว
พระพุทธองค์ยืนทอดพระเนตรอยู่ จึงตรัสเรียกช้างนาฬาคีรีให้มาหาพระองค์ด้วยพระสุรเสียงอันไพเราะว่า
"แน่ะเจ้าช้างนาฬาคีรี เขาให้เจ้าดื่มเหล้าถึง ๑๖ หม้อ มอมเมาเสียจนมึนมัว ใช่ว่าเขาจะกระทำเจ้าด้วยประสงค์จักให้เจ้าจับคนอื่นก็หาไม่ แต่เขากระทำด้วยประสงค์จะให้จับเรา เจ้าอย่าเที่ยวอาละวาดให้เมื่อยขาโดยใช่เหตุเลย จงมานี่เถิด"
ช้างนาฬาคีรีได้ฟังแล้วก็วิ่งเข้าตรงมาหาพระพุทธองค์ ฝ่ายพระสาวกผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย ต่างก็รับอาสาที่จะปราบช้างนาฬาคีรี แต่พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า การปราบช้างนาฬาคีรีไม่ใช่วิสัยของพระสาวก เป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าพระองค์เดียว
ขณะนั้นเองพระอานนท์ผู้จงรักภักดีในพระพุทธเจ้าเป็นที่สุด ก็ได้ก้าวออกไปยืนเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า คิดว่าเราจะสละชีวิตแทนพระคุณของพระพุทธองค์ด้วยการตายแทนพระองค์
พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามว่า อานนท์จงหลีกไป ถึง ๓ ครั้ง แต่พระอานนท์ก็ได้หาหลีกไปไม่คงยืนขวางหน้าอยู่อย่างนั้น ขณะนั้นเอง พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงมีพระอาการสงบนิ่ง ทรงแผ่เมตตาจิตไปสู่ช้างนาฬาคีรีนั้น
ด้วยฤทธานุภาพแห่งความเมตตาและพุทธจริยาที่นุ่มนวลของพระพุทธองค์ จิตที่ขุ่นแค้นของช้างนาฬาคีรีก็สงบลง หยุดยืนนิ่ง หายมึนเมา ลดงวง และน้อมศีรษะเข้าไปหาพุทธองค์อย่างช้า ๆ
เมื่อทรงเห็นอาการเช่นนั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงทรงยกพระหัตถ์ลูบกระพองช้างด้วยพระเมตตา พลางตรัสกับช้างนาฬาคีรีว่า
"ดูก่อนนาฬาคีรี เจ้าจงจำไว้ จงอย่าเข้าหาเราตถาคตด้วยจิตมุ่งทำลาย เพราะจิตชั่วเป็นเหตุแห่งทุกข์ ผู้ใดทำร้ายตถาคต เมื่อจากชาตินี้ไปสู่ชาติหน้า จะไม่มีสุคติเลย เจ้าอย่าดุร้ายมัวเมา อย่าประมาท เพราะผู้ประมาทแล้วย่อมจะไปสู่ทุคติ เจ้าจงกระทำหนทางเพื่อไปสู่สุคติเถิด"
"ดูก่อนนาฬาคีรี แม้เจ้าเป็นเดรัจฉานได้มีโอกาสพบเราตถาคตในครั้งนี้ นับเป็นกุศลยิ่งนัก ตถาคตนี้อุปมาดังพระยาช้างตัวประเสริฐ ประกอบด้วยคุณของพระอรหันต์ เป็นมิ่งมงกุฏใน ๓โลก ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เจ้าอย่าดุร้าย ไล่ทิ่มแทงมนุษย์อีกเลย จงมีเมตตายังใจให้เกิดโสมนัส
อย่าได้ประกอบโทษ จงหมั่นเจริญเมตตาให้ยิ่งๆ ขึ้น เจ้าสิ้นชีพแล้วจะได้ไปเกิดบนสวรรค์อย่างเที่ยงแท้"
ด้วยพระเมตตาอานุภาพของพระพุทธองค์ ช้างนาฬาคีรีได้ฟังธรรมเช่นนั้น ก็มีจิตชื่นชม โสมนัสยิ่งนัก ส่งเสียงร้องขึ้นรับคำ แล้วเอางวงลูบละอองธุลีพระบาทของพระองค์ นำมาพ่นลงบนกระหม่อมของตนเอง พร้อมก้าวเท้าถอยหลังออกมาชั่วระยะที่แลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า
จากนั้นจึงค่อยหันกลับมุ่งสู่โรงช้างที่อยู่อาศัยของตน เทวดาและพรหมได้เห็นพุทธบารมีปรากฎเช่นนี้จึงได้โปรยดอกไม้และของหอมบูชาพระพุทธองค์ พร้อมสิ่งมงคลอันมีค่าเงินทองก็อุบัติขึ้นในพระนครสูงถึงหัวเข่า ช้างนาฬาคีรีจึงมีชื่อใหม่ว่า ช้างธนปาล ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
และหากจะมองในด้านธรรมาธิษฐานก็อธิบายได้ว่า พระเมตตาบารมีถือเป็นคุณสมบัติ คุณธรรม ๑ ในสิบที่ทำให้พระมหาโพธิสัตว์ได้ทรงตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ และเมื่อพระพุทธองค์ต้องการจะใช้พระเมตตาคุณโปรดสรรพสัตว์ย่อมมีผลมาก มีผลานิสงส์มาก
นั้นก็เพราะพระองค์ทรงใช้เวลาถึงสี่อสงไขยแสนมหากัป ในการสั่งสมทศบารมีทั้ง ๑๐ ประการ เราท่านทั้งหลายล่ะ มีชีวิตอยู่ถึงวันนี้ ได้สั่งสมบารมีอะไรไว้บ้าง
พุทธะอิสระ
................................................................................................
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง (ตอนที่ ๔) - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๖๔
ทำไมโบราณาจารย์ท่านถึงได้ปลูกฝัง สั่งสอนให้ลูกหลานพยายามท่องจำให้คล่องปาก ขึ้นใจ
เราท่านทั้งหลายมาทำความเข้าใจในพรพาหุงทั้ง ๘ ห้องดูกันหน่อย
วันนี้ขอนำเสนอในห้องที่สี่ ความว่า
อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะสุทารุณันตัง
ธาวันติโย ชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
สมเด็จพระจอมมุนีทรงผจญกับจอมโจรองคุลีมารผู้ดุร้ายยิ่ง ถือดาบเงื้อง่าวิ่งไล่ หมายฆ่าพระพุทธองค์ ไปเป็นระยะทางไกลถึงสามโยชน์ ทรงพิชิตจอมโจรด้วยทรงบันดาลอิทธิฤทธิ์ทางใจอันยอดเยี่ยม ด้วยเดชแห่งองค์พระผู้พิชิตจอมโจรนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
องคุลีมาล ผู้ได้ชื่อว่าเป็นจอมโจร ฆ่าคนมาแล้วถึง ๙๙๙ คน แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงเอาชนะได้โดยไม่ต้องใช้อาญา และศาสตราวุธใดๆ
องคุลีมาล ยังมีอีกชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้ คือ อหิงสกกุมาร
เป็นบุตรของนางมันตานีกับคัคคะพราหมณ์ ราชปุโรหิตของพระเจ้าปเสนทิโกศล
เมื่อ อหิงสกกุมาร เจริญวัยขึ้นก็ได้ไปศึกษาศิลปวิทยากับอาจารย์ทิศาปาโมกข์ที่เมืองตักศิลา อหิงสกกุมารนั้นประพฤติดี เฉลียวฉลาด และเชื่อฟังคำสอนของอาจารย์ จึงเป็นที่รักใคร่ของอาจารย์ ศิษย์คนอื่นๆ พากันริษยาอหิงสกกุมาร จึงวางแผนให้ อหิงสกกุมาร แตกกับอาจารย์
ศิษย์อิจฉากลุ่มหนึ่งไปฟ้องอาจารย์ว่า อหิงสกกุมารคิดร้ายแต่อาจารย์ไม่เชื่อ ต่อมาศิษย์อีกกลุ่มหนึ่งก็เข้าไปฟ้องอาจารย์อีก อาจารย์ก็เริ่มจะเอนเอียงตาม แต่ยังไม่แน่ใจนัก ครั้นศิษย์อีกกลุ่มหนึ่งไปฟ้องอาจารย์ทำนองเดียวกัน อาจารย์จึงหลงเชื่อสนิทใจ คิดที่จะฆ่าอหิงสกกุมารเสีย
แต่แล้วกลับคิดได้ว่า ถ้าอาจารย์ฆ่าลูกศิษย์ ต่อไปคงไม่มีใครมาศึกษาในสำนักของตน คิดดังนั้นแล้ว จึงออกอุบายบอก อหิงสกกุมาร ว่า "เธอเรียนศิลปะใกล้สำเร็จแล้ว เธอจงไปฆ่าคนอื่นมาให้ได้ ๑,๐๐๐ ก่อน อาจารย์จะสอนวิษณุมนต์อันเป็นสุดยอดวิชาให้"
อหิงสกกุมารลำบากใจที่จะต้องเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น แต่อาจารย์ก็เกลี้ยกล่อมว่า อยากรู้วิชาดี ก็มีแต่วิธีนี้เท่านั้นที่ถือเป็นการบูชาครู อหิงสกกุมารจึงตัดสินใจกราบลาอาจารย์ เดินทางเข้าป่าพร้อมด้วยอาวุธครบมือ เพื่อดักฆ่าคนที่จะเดินทางเข้ามาในป่า แล้วตัดนิ้วมือคนที่ถูกฆ่าไว้
คนละ ๑ นิ้ว ร้อยเป็นพวงมาลัยห้อยคอ ชาวบ้านจึงขนานนามให้ว่า จอมโจรองคุลีมาล แปลว่า โจรผู้มือนิ้วมือเป็นพวงมาลัย
ชาวบ้านหวาดกลัวโจรองคุลีมาลมาก จึงพากันกราบทูลร้องทุกข์ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์จึงจัดกำลังทหารออกปรามปราม เมื่อนางมันตานีทราบเรื่องเหล่านี้ด้วยความรักของมารดาที่มีต่อบุตร นางพราหมณีจึงตัดสินใจไปบอกข่าวอหิงสกลูกชายด้วยตนเอง
เช้าวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงได้ตรวจดูอุปนิสัยของสรรพสัตว์ ได้เห็นองคุลีมาลปรากฎในพระญาณ ทรงทราบว่า หากพระองค์ไปโปรด องคุลีมาลจะออกบวช แต่หากพระองค์ไม่ไปโปรด องคุลีมาลจะฆ่ามารดา แล้วไปสู่อเวจีมหานรก
จึงเสด็จออกไปตามเส้นทางในถิ่นขององคุลีมาล เมื่อผ่านคนเลี้ยงโค พวกคนเลี้ยงโคก็ได้กราบทูลห้ามไม่ให้พระองค์ทรงเสด็จต่อไป เพราะแม้บุรุษมากถึง ๔๐ คน ก็ยังถูกองคุลีมาลฆ่าตายหมด พระพุทธเจ้าทรงสดับแล้วก็ทรงนิ่งเสีย ทั้งยังเสด็จดำเนินต่อไปจนถึงปชาลิวัน
ฝ่ายองคุลิมาล วันนี้กำลังจะฆ่ามนุษย์ให้ครบ ๑,๐๐๐ คน บังเอิญวันนี้ คนที่ผ่านมาให้องคุลีมาลฆ่านั้นกลับเป็นมารดาของตนเอง
องคุลีมาลเงื้อดาบวิ่งเข้าใส่มารดา ด้วยความวิปลาส ฟั่นเฟือน จึงจำมารดาของตนเองไม่ได้ จึงเงื้อดาบ หมายจะฆ่าและตัดเอานิ้ว นางพราหมณีเห็นลูกชายวิ่งเข้ามาถือดาบก็ตกใจ รีบวิ่งหนีทันที
พระพุทธเจ้าจึงทรงดำเนินไปขวางทางไว้ องคุลีมาลเห็นพระพุทธเจ้าก็เปลี่ยนใจ คิดจะฆ่าพระพุทธเจ้าแทนมารดาของตน เมื่อคิดได้ดังนี้จึงถือดาบและโล่ผูกสอดแล่งธนู ติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้าไป
พระพุทธเจ้าทรงบันดาลอิทธาภิสังขาร ทำให้องคุลีมาลไม่อาจทันพระองค์ผู้เสด็จได้ตามปกติได้
องคุลีมาลห้อตะบึงไปเต็มกำลัง ขณะไล่ตามจะถึงอยู่แล้วก็เห็นเหมือนพระองค์ดำเนินห่างออกไปไกล แต่ก็ไม่ลดละความพยายาม ทุ่มเทกำลังไล่ตามสุดความสามารถ
พระพุทธเจ้าทรงบันดาลให้เกิดแม่น้ำบ้าง หล่มบ้าง ขวางหน้าองคุลีมาลตลอด ๓ โยชน์ จนเขารู้สึกเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเต็มที คิดว่าน่าอัศจรรย์จริงหนอ เรานี้มีกำลังดุจพระยาช้างสารถึง ๗ เชือก แต่วันนี้วิ่งจนสุดกำลังแล้วยังไม่อาจทันสมณะผู้เดินตามปกตินี้ได้
คิดดังนี้แล้ว องคุลีมาลจึงหยุดยืนและกล่าวกับพระพุทธเจ้าว่า "สมณะ จงหยุดก่อน สมณะ ท่านจงหยุดก่อน"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า "เราหยุดแล้ว องคุลีมาล แต่ท่านสิยังไม่หยุด"
องคุลีมาลคิดในใจว่า ได้ยินว่าสมณะศากยบุตรผู้นี้เป็นคนพูดจริง แต่นี่ท่านเดินไปอยู่แท้ๆ กลับพูดว่าเราหยุดแล้ว ส่วนเราผู้หยุดอยู่ท่านกลับพูดว่า ท่านสิยังไม่หยุด จึงตะโกนถามไปด้วยความสงสัยว่า "ดูก่อนสมณะ ท่านกำลังเดินไป กลับกล่าวว่าเราหยุดแล้ว ส่วนเราผู้หยุดอยู่
ท่านกลับว่าเรายังไม่หยุด ที่ท่านกล่าวมานั้นหมายถึงสิ่งใด"
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า "ดูกร องคุลีมาล เราเว้นจากการฆ่าสรรพสัตว์ได้แล้วจึงชื่อว่าหยุดแล้ว ส่วนเธอยังมีกิจในการฆ่า จึงชื่อว่ายังไม่หยุด แม้ว่าบัดนี้เธอจะหยุดยืนอยู่ แต่เธอก็ต้องวิ่งต่อไปในนรก เปรต อสูรกาย และดิรัจฉานในภายหน้า"
องคุลีมาลได้ฟังดังนั้นก็ฉุกคิดได้ จึงทิ้งดาบและอาวุธลงในเหวลึก กราบทูลขอบรรพชา พระพุทธเจ้าจึงทรงบรรพชาด้วยองคุลีมาลด้วยเอหิภิกขุ จากนั้นพระองคุลีมาลก็ตามเสด็จกลับพระเชตวัน
ทางด้านพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้นำขบวนทหาร ๕๐๐ คน ออกมาปราบโจรองคุลีมาล เมื่อเสด็จผ่านพระเชตวันมหาวิหาร จึงเสด็จเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในพระอาราม กราบทูลราชกิจให้พระพุทธเจ้าทรงทราบ
พระพุทธเจ้าทรงตรัสถามว่า "ดูก่อนมหาบพิตร ถ้าบัดนี้องคุลีมาลปลงผมและหนวด ครองผ้ากาสายะ บวชเป็นบรรพชิต เว้นจากการฆ่าสัตว เว้นจากการลักทรัพย์ เว้นจากการพูดเท็จ ฉันภัตตาหารหนเดียว และประพฤติพรหมจรรย์ มหาบพิตรจะทำอย่างไรกับเขา"
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะไหว้และบำรุงเขาอย่างสมณะ แต่องคุลีมาลนั้นเป็นคนทุศีล จะมีความสำรวมด้วยศีลได้ที่ไหน" พระพุทธเจ้าจึงยกพระหัตถ์ชี้ให้ดูองคุลีมาลซึ่งนั่งอยู่ไม่ไกลนัก ตรัสบอกว่า "มหาราช นั่นไง องคุลีมาล"
พระเจ้าปเสนทิโกศลและทหารผู้ติดตามพากันตกใจ สะดุ้งหวาดกลัวไปตามๆ กัน
พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสว่า "อย่ากลัวเลย องคุลีมาลนี้เป็นผู้ไม่มีภัยต่อใครๆ อีกต่อไปแล้ว"
พระเจ้าปเสนทิโกศลเข้าไปถามพระภิกษุรูปนั้นจนแน่ใจว่าเป็นจอมโจรองคุลีมาลที่กลับใจแล้วจริงๆ พระองค์จึงปลดผ้าคาดเอวออกถวาย
พระเจ้าปเสนทิโกศลได้กราบทูลสรรเสริญพระบรมศาสดาว่า
"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ น่าอัศจรรย์นักที่พระองค์ไม่ได้ทรงใช้พระอาญา ไม่ทรงใช้ศาสตราวุธ แต่พระองค์ก็ทรงทรมานบุคคลที่ใครๆ ทรมานไม่ได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้สงบไม่ได้ ให้สงบได้ ทรงยังบุคคลที่ใครๆ ให้ดับไม่ได้ ให้ดับได้"
พระองคุลีมาลนั้น นับจากได้เข้ามาบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนาแล้ว ก็ได้รับความทุกข์ลำบาก เมื่ออกบิณฑบาตรผู้คนที่ยังกลัวก็แตกตื่นหนีกันชลมุนวุ่นวาย ส่วนชนผู้โกรธแค้นก็ขว้างก้อนหิน ท่อนไม้ ก้อนกรวด ใส่ท่านด้วยความโกรธ บ้างก็ฉีกผ้าสังฆาฏิ บ้างก็ทุบบาตร
แต่ท่านก็อดทนเรื่อยมา วันหนึ่งพระองคุลีมาลก็หลีกออกจากหมู่ ไปบำเพ็ญเพียรอย่างสม่ำเสมอ ในที่สุดท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
อธิบายตามหลักธรรมาธิษฐาน มีมุมที่ต้องมอง คือใครเป็นผู้สร้างโจรองคุลีมาลขึ้นมา
ตอบ
๑. ความริษยา ที่มีอยู่ในหมู่ศิษย์ร่วมสำนัก
๒. ความหูเบา ใจแคบ ของตัวอาจารย์ทิศาปาโมกข์
๓. สันดานดิบที่ฝังรากลึกอยู่ในมนุษย์ทุกผู้ หากไม่พยายามพัฒนาที่จะควบคุมกำจัดมัน สุดท้ายมันก็จะแสดงตนออกมาสร้างความเดือดร้อนให้แก่ตนและคนอื่น ซึ่งสันดานดิบตัวนี้มันมีอยู่ในตัวศิษย์ร่วมสำนัก มีอยู่ในตัวอาจารย์ทิศาปาโมกข์ และแม้ที่สุดก็มีอยู่ในตัวขององคุลีมาลเองด้วย
วิธีที่พระบรมศาสดาทรงใช้กำราบองคุลีมาล ก็คือ พระเมตตาคุณ พระมหากรุณาธิคุณ พระปัญญาคุณ และสัจจะความจริงใจ ที่หยิบยื่นให้องคุลีมาล สัมผัสได้จนกระตุ้นคุณธรรมที่ถูกสันดานดิบกดทับไว้ให้แสดงตนออกมา จนได้ปัญญาเห็นธรรม
เรื่องโจรองคุลีมาล เป็นอุทาหรณ์สอนใจ เราท่านทั้งหลายได้ว่า มนุษย์ทุกคน มีสิทธิ์จะพัฒนาตนเองได้เสมอหากมีความเพียรพยายาม ด้วยวิธีค่อยเป็นค่อยไปสั่งสมอบรมบ่มเพาะสิ่งดีงาม ความงดงามไว้บ่อย ๆ เรื่อย ๆ จนกลายเป็นบารมี แล้วความงดงาม ความดีงามเหล่านั้น
ก็จักส่งผลให้ชีวิตได้พ้นความทุกข์ยากได้ในที่สุด
พุทธะอิสระ
............................................................................................
มีอะไรอยู่ในพาหุง ๘ ห้อง (ตอนที่ ๕) - ๒ กันยายน ๒๕๖๔
ทำไมโบราณาจารย์ท่านถึงได้ปลูกฝัง สั่งสอนให้ลูกหลานพยายามท่องจำให้คล่องปาก ขึ้นใจ
เราท่านทั้งหลายมาทำความเข้าใจในพรพาหุงทั้ง ๘ ห้องดูกันหน่อย
วันนี้ขอนำเสนอในห้องที่ห้า ความว่า
กัตตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท
ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ
สมเด็จพระจอมมุนี ทรงผจญกับนางจิญจมาณวิกา ผู้ซึ่งผูกไม้ไว้ที่ท้องแสร้งทำเป็นหญิงมีครรภ์ยืนด่าว่า ใส่ร้ายพระพุทธองค์ท่ามกลางที่ประชุมชน ทรงพิชิตนางด้วยวิธีสงบพระหฤทัย เป็นสง่าเฉยอยู่ดั่งพระจันทร์เพ็ญ
ด้วยเดชแห่งองค์พระผู้พิชิตนางนั้น ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ
เมื่อองค์พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรมจนมหาชนผู้เลื่อมใสศรัทธาออกบวช มีดวงตาเห็นธรรมเป็นจำนวนมาก ยิ่งพุทธศาสนาแผ่ขยายไปมากเท่าไร พวกเดียรถีย์ ซึ่งเป็นนักบวชนอกพุทธศาสนา
พวกเดียรถีย์จึงคิดหาวิธีกำจัดพระพุทธองค์ โดยใช้สาวิกาผู้ใกล้ชิดนางหนึ่ง ชื่อ จิญจมาณวิกา ซึ่งเป็นหญิงรูปงาม ความงามของนางนั้นเปรียบได้ดังเทพอัปสรในสรวงสวรรค์ และเป็นหญิงพร้อมด้วยเล่ห์เหลี่ยมและมารยา
เดียรถีย์บอกอุบายให้นางจิญจมาณวิกาไปใส่ร้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งนางจิญจมาณวิกาก็รับอาสาทำตามแผนนั้น
เย็นวันนั้น นางก็แต่งตัวสวย นุ่งห่มผ้าสีเหมือนแมลงค่อมทอง ถือของหอมและดอกไม้ มุ่งหน้าไปสู่พระเชตวันมหาวิหาร เดินสวนกับสาธุชนที่ฟังธรรมเสร็จและกำลังเดินออกมาจากวัด แล้วนางจึงแอบไปพักอยู่ในวัดของเดียรถีย์ที่อยู่ใกล้กับวัดพระเชตวัน
นางทำอยู่เช่นนี้หลายวันเข้า สาธุชนเห็นเช่นนั้นจึงถามว่านางจะไปไหน นางก็แสร้งตอบเป็นปริศนาว่า "ท่านจะรู้ไปทำไมว่าฉันไปไหน"
ครั้นเวลาเช้า นางก็แอบเข้าไปในวัดพระเชตวัน แล้วทำทีเป็นเดินออกมาจากวัดเพื่อกลับไปสู่พระนคร เดินสวนกับสาธุชนที่กำลังมุ่งหน้าไปทำบุญ ทำให้เข้าใจว่านางนอนค้างอยู่ในวัด
เมื่อมีคนถามว่านางไปนอนค้างอยู่ที่ไหนมา นางก็แสร้งตอบเป็นปริศนาอีกว่า "ท่านจะรู้ไปทำไม ว่าฉันไปพักที่ไหนมา"
นางจิญจมาณวิกาเพียรพยายามประพฤติเช่นนี้อยู่ ๑ - ๒ เดือน เมื่อมีผู้ถามทีนี้ นางเปลี่ยนเป็นตอบว่า "เราพักอยู่ในคันธกุฏีเดียวกันกับพระสมณโคดม"
ผู้คนก็เริ่มสงสัยว่าถ้อยคำที่นางจิญจมาณวิกาพูดนั้นเป็นจริงหรือไม่จริง บางคนไม่เชื่อในคำพูดของนาง แต่บางคนก็เริ่มสงสัยว่านางอาจจะพูดความจริง จึงเริ่มมีเสียงวิพากษ์และหนาหูขึ้นทุกวัน
เวลาผ่านไปเป็น ๓ - ๔ เดือน นางจิญจมาณวิกาก็เอาผ้ามาพันท้องให้นูนขึ้น ให้ผู้คนเข้าใจว่านางเริ่มตั้งครรภ์
ยิ่งเวลาผ่านไปนางก็ทำท้องให้ใหญ่ขึ้นจนเวลาผ่านไป ๘ - ๙ เดือน นางก็ผูกไม้กลมไว้ที่หน้าท้อง ใช้ผ้าห่มทับไว้ และใช้ไม้คางโคทุบหลังมือและหลังเท้าให้บวมโต ทำอาการให้เหมือนคนท้องแก่
วันหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมท่ามกลางสาธุชน อยู่บนพระแท่นที่ประทับ นางจิญจมาณวิกาก็ไปยืนอยู่ตรงหน้า กล่าวว่า "พระสมณะ พระองค์อย่ามัวแต่แสดงธรรมอยู่เลย บัดนี้หม่อมฉันครรภ์ครบกำหนดใกล้จะคลอดแล้ว
ขอพระองค์ช่วยจัดหาสถานที่คลอดลูกของเราแก่หม่อมฉันด้วยเถิด หากพระองค์ไม่ทำเอง ก็ตรัสบอกพระเจ้าโกศล หรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี หรือนางวิสาขา ให้ช่วยจัดสถานที่คลอดแก่หม่อมฉันด้วยเถิด"
พระพุทธเจ้าทรงหยุดแสดงธรรม ทรงมีพระอาการสงบนิ่ง พระพักตร์เรียบเป็นปกติ มหาชนที่มีศรัทธาในพระองค์ก็นิ่งอยู่ ส่วนผู้ที่มีศรัทธาไม่แก่กล้าก็เริ่มหวั่นไหว
ครั้งนั้นพระพุทธเจ้าทรงมีพระดำรัสตอบว่า "น้องหญิง คำที่เจ้ากล่าวมานั้น จะจริงหรือไม่ เราและเจ้าเท่านั้นย่อมรู้อยู่"
นางจิญจมาณวิกาก็ย้อนว่า "ก็ใช่ล่ะสิ เรารู้กันสองคน เพราะเราทำกันสองคนเท่านั้นนี่"
ขณะนั้นเอง บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ ของท้าวสักกเทวราชก็แสดงอาการร้อนผ่าวขึ้นมาทันใด ทำให้ท้าวสักกเทวราชถึงกับสะดุ้ง ทรงตรวจดูก็ทราบว่า นางจิญจมาณวิกากำลังกล่าวตู่ใส่ความพระพุทธเจ้าอยู่ พระองค์จึงเสด็จมาพร้อมเทพบุตร ๔ องค์
ทรงรับสั่งให้เทพบุตรแปลงเป็นลูกหนูเข้าไปกัดเชือกที่ผูกท่อนไม้ กลมๆ ที่อยู่หน้าท้องของนางจิญจมาณวิกา เมื่อเชือกถูกตัดขาดพร้อมกับเกิดลมพัดขึ้นตีผืนผ้าปลิวสะบัด ไม้กลมที่ทำให้คล้ายท้อง ก็พลัดตกลงหลังเท้าขอนางจิญจมาณวิกาจนปลายเท้าทั้ง ๒ ข้างแตกจนเลือดสาด
มหาชนที่เข้าฟัธรรมรู้ความจริง พากันทุบตีขับไล่นางจิญจมาณวิกาออกมาจากพระวิหารด้วยความโกรธ นางจิญจมาณวิการีบวิ่งหนีออกมาจากมหาวิหาร แต่ครั้นออกไปพ้นจากพระจักษุของพระพุทธองค์ พระธรณีหนา ๒๔๐,๐๐๐ โยชน์
ก็ไม่อาจรองรับกรรมอันชั่วช้าของนางได้ จึงแยกออกเป็นช่อง เปลวไฟจากนรกก็พวยพุ่งขึ้น มาดูดร่างนางจิญจมาณวิกา ลงไปรับโทษฑัณฑ์ในอเวจีมหานรกทันที
มองในมุมธรรมาธิษฐาน ความอิจฉาริษยาเมื่อมีอยู่ในผู้ใดไม่เคยทำให้ผู้นั้นสงบสุข รุ่งเรืองเจริญได้เลย
พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้พ้นแล้วซึ่งอำนาจแห่งวัฏฏะ ย่อมไม่รู้สึกอะไรกับแรงบีบรัดจากภัยแห่งวัฏฏะ
คำกล่าวร้าย คำว่าร้าย คำใส่ร้าย ของนางจิญจมาณวิกา ต่อหน้ามหาชนจึงไม่มีผลอะไรกับพระพุทธองค์
ทั้งยังทรงโต้ตอบด้วยพระกิริยาที่สุภาพ เรียบร้อย และหากจะมองในมุมแห่งข้อธรรม ก็ต้องมองว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระขันติธรรมอันยิ่ง ทรงใช้ความสงบกาย สงบวาจา สงบใจ เข้ากำราบความอิจฉา ริษยาของนางจิญจมาณวิกา
แต่ถ้าจะมองในมุมอริยธรรมก็ต้องมองว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงหลุดพ้นแล้วในสังขารทั้งปวง
“แล้วจะมีอะไร ทำร้ายพระองค์ได้อีกกระนั้นหรือ”
พุทธะอิสระ
......................................................................................................
คุยเฟื่องเรื่องโลกกับธรรม: Ep.74 : "สันตุฏฐี จะ" และ พาหุง 8 ห้อง - 3 กันยายน 2564
คุยเฟื่องเรื่องโลกกับธรรม
โดยหลวงปู่พุทธะอิสระ
วันศุกร์ที่ 3 กันยายน 2564 เวลา 19:00 น.
Ep.74 : "สันตุฏฐี จะ" และ พาหุง 8 ห้อง
ที่ @buddhaisara
เรียนรู้มงคลข้อ “สันตุฏฐี จะ” ความยินดีด้วยของอันมีอยู่ เราควรพึงพอใจในสิ่งที่ตนเองมี สิ่งที่เป็นของตน และมาค้นหาสิ่งที่ซ่อนอยู่ใน “พาหุง” ๘ ห้อง