หลวงปู่จะทำการบวชพระเณรภาคฤดูร้อน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ท่านทำมาทุกปีเพื่ออบรมเยาวชน ก่อนหน้านี้(ฟังจากท่านเล่า) ท่านไม่มีวัด ใช้วิธีขออาศัยวัดโน้นวัดนี้ เสร็จงานก็ต้องทำบุญก้อนใหญ่ให้กับวัด ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้สารพัด นานไปท่านเกิดความรำคาญ จึงตัดสินใจสร้างวัดนี่แหละ สร้างได้ ๒-๓ ปี พอเป็นรูปร่าง ท่านก็ออกจากวัดมาธุดงค์แถวถ้ำไก่หล่น ปล่อยให้พระลูกวัดดูแลกันเอง โดยมีท่านคอยดูอยู่ห่างๆ ท่านคงอยากฝึกให้พระเป็นงานนั่นเอง ตัวท่านไม่คิดจะปักหลักเป็นสมภารวัด สุดยอดปรารถนาของท่านคือการได้ท่องเที่ยวไปในป่า โดยไม่มีใครรู้จัก
      
       มีเด็กแถวหนองพลับสมัครบวชเณรหลายคนแล้ว ส่วนจังหวัดอื่นได้แก่ กรุงเทพฯ นครปฐม ราชบุรีฯลฯ ไปสมัครที่สำนักสงฆ์ธรรมอิสระ เราแจ้งความจำนงกับหลวงปู่ว่า จะให้ลูกชายคนกลาง (ชื่อเปี๊ยก) อายุ ๑๗ ปี มาบวชเป็นเณร
      
       ท่านนิ่งเฉยสักครู่จึงถามว่า "ทำไมถึงอยากให้ลูกบวชกับกูนัก คิดว่าบวชแล้วดียังไง มึงไม่กลัวลูกมึงบ้าเหมือนกูเรอะ ใครๆ เขาว่ากูบ้าทั้งนั้นแหละ"
      
       เรายืนยันความคิดเดิมว่า มั่นใจในตัวหลวงปู่ ถึงอย่างไรจะต้องสอนได้ดีกว่าเราซึ่งเป็นพ่อแม่เป็นแน่
      
       ท่านพูดอย่างถ่อมตนว่า ท่านก็ไม่ได้สอนอะไรไปมากกว่าให้เขาเหล่านั้นได้รู้ถึงการต่อสู้ชีวิต ให้อดทน ให้เข้มแข็ง อยู่อย่างผู้มีชัยชนะ ชนะตัวเอง "ที่จริงมึงเป็นครู น่าจะสอนลูกได้ดีกว่าใครๆ"
      
       เราบอกว่า ลูกไม่ค่อยเชื่อพ่อแม่หรอก
      
       "นั่นก็เพราะมึงสอนไม่เป็น สอนโดยการท่องบ่นให้ลูกฟัง ที่จริงต้องสอนโดยการทำให้ดู สอนให้มันแกร่ง ไม่ใช่สอนให้เก่ง"
      
       วันต่อมาเราพาลูกชายไปนครปฐม เพื่อถือโอกาสดูวัดของท่านว่าเป็นอย่างไร มีจริงไหม ก็ยังคิดจับผิดอยู่นั่นแหละ จากนครปฐมมีทางแยกเลี้ยวซ้าย - ถนนมาลัยแมน วิ่งไปประมาณ ๑๘ กิโลเมตร วัดอยู่ในเขตตำบลห้วยขวาง อำเภอกำแพงแสน แถบนั้นชาวบ้านเรียกว่า "กระถินแดง" ซ้ายมือมีป้ายบอก"สำนักสงฆ์ธรรมอิสระ" ตัวป้ายสีเหลือง ตัวหนังสือสีแดง หลวงปู่บอกว่าใช้สีอย่างนี้มีพลังดึงดูด ใครจะเขียนป้ายโฆษณาหรือป้ายชื่อร้านโปรดรับทราบไว้ด้วย เลี้ยวเข้าไปเป็นถนนแคบๆ มีบ้านคนอยู่ทางขวาไม่กี่หลัง ด้านซ้ายเป็นที่เพาะปลูกพืชผัก วิ่งเข้าไปนิดเดียวก็ถึงตัววัด มีป้ายแผ่นใหญ่วางไว้ด้านหน้า เขียนว่า
      
       "เข้ามาที่นี่ ปราบพยศ ลดมานะ ละทิฐิ ทรงสติ ดำริสัมมา แล้วหรือยัง? "
      
       ถ้าอ่านแล้วคิดพิจารณาให้ลึกซึ้ง มันเป็นรากเหง้าของผู้จะเรียนรู้ธรรมะกันเลยทีเดียว ถ้าใครยังไม่มีตรงนี้ก็อย่าเสียเวลาไปเรียนรู้ธรรมะข้ออื่นๆ เลย
      
       บริเวณวัดกว้างใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยต้นไม้ต้นไร่นานาชนิด เขียวขจี โดยเฉพาะกล้วยมีมากเป็นพิเศษ รองจากต้นไม้เป็นสระน้ำ มีหลายสระทีเดียว ฟังจากท่านมาว่า การสร้างที่อาศัยให้เป็นมงคล ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่างๆเช่น ทิศทางลม แสงแดดที่ส่องมา เงาของร่มไม้ มีอาคารเด่นๆ ๓ หลัง หลัง-แรกเป็นหอฉัน ชั้นบนเป็นที่พักของฆราวาส ส่วนชั้นล่างเป็นคลังเก็บเครื่องสังฆทาน ด้านหลังเป็นโรงครัว หอฉันนี้อยู่ใกล้ทางเข้าวัด ศิลปะการก่อสร้างแบบเมืองเหนือ สังเกตได้จากมีกาแลบนหน้าจั่ว ชั้นล่างปูหินอ่อน ชั้นบนพื้นเป็นไม้กระดาน ซึ่งได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เพดานบุด้วยเสื่อลำแพน มีโคมไฟฝังเป็นระยะๆ ด้านหน้ามีหน้ามุขยื่นออกไป ปูด้วยหินอ่อน มีบันไดขึ้นลงสองข้าง เป็นหินอ่อนเช่นกัน ลูกกรงตลอดจนราวบันไดเป็นกระเบื้องลายคราม ใกล้หอฉันเป็นบ้านหลังเล็กกะทัดรัด น่ารัก ชั้นเดียว ฝาบ้านใช้เสื่อลำแพน เป็นบ้านคุณยายทองห่อ คนที่มีความสำคัญต่อวัดนี้มาก เพราะท่านมีส่วนซื้อที่ดินบริจาคให้วัด
      
       คุณยายทองห่อ มีอายุ ๘๐ ปีเศษ รูปร่างเล็ก หลังงุ้มเพราะความชราภาพ ผิวพรรณหน้าตาดี ส่อเค้าว่าสาวๆ คงสวยไม่เบา ผมขาวโพลน ซอยสั้นๆ ชี้โด่เด่ไปตามยถากรรม ซึ่งหลวงปู่เรียกว่า "ทรงหนูแทะ" สวมชุดขาวแบบอุบาสิกาทั้งหลาย ถึงอายุจะมากแต่ความทรงจำยังดีอยู่ ปีนต้นไม้เก่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นมะม่วงของหลวงปู่ทุกต้น จะพิทักษ์รักษาเป็นอย่างดี คุณยายจบการศึกษาระดับมัธยมจากเซนต์โยเซฟ มีจิตศรัทธาแรงกล้า ติดตามหลวงปู่ตั้งแต่สมัยอยู่วัดคลองเตยใน สุดท้ายก็ชักชวนกันมาซื้อที่ดินแถบกำแพงแสนให้หลวง-ปู่สร้างวัด นับเป็นมหากุศล
      
       พูดถึงที่ดินผืนนี้ เป็นดินดาน ปลูกอะไรก็ไม่ขึ้น น้ำท่วมทั้งปีอีกต่างหาก หลวงปู่ใช้เวลาไม่กี่ปี กลายเป็นที่ดอน น้ำไม่ท่วม ซ้ำยังปลูกต้นไม้จนเขียวชอุ่มไปทั้งวัด นึกแล้วต้องขอชมความอุตสาหะวิริยะของพระเณร ตลอดจนศิษย์รุ่นแรกๆ ที่บุกเบิกกันมาจนวัดสวยงาม ราวกับสรวงสวรรค์ ถือว่ามีผู้นำที่ดีนั่นเอง
      
       หลวงปู่บอกว่าขอให้ผู้มาวัดนี้ได้โปรดระลึกถึงพระคุณของคุณยายบ้าง ดูแลท่านให้ดี คนจีนถือว่าการทดแทนพระคุณเป็นเรื่อง ยิ่งใหญ่มาก ใครไปวัดเห็นหญิงชราร่างเล็ก ผมขาวโพลน เดินท่อมๆ บ่นพึมพำๆ นั่นแหละ "คุณยายทองห่อ" คุณยายได้ของดีจาก หลวงปู่ไปหลายชิ้น ใช้ห้อยคอประจำ ครั้งหนึ่งคุณยายโหนรถเมล์ในกรุงเทพฯ เกิดพลาดพลั้งหล่นลงมา กลิ้งขลุกๆ ไปตามถนน แกลุกขึ้นมาปัดขี้ฝุ่นตามตัว เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น!
      
       วัดนี้หลวงปู่เป็นผู้ออกแบบให้ทั้งหมด คนในวัดบอกว่า ท่านเขียนแบบบนพื้นดิน บอกช่างว่าจะเอาอย่างนั้นอย่างนี้ สร้างเสร็จก็สวยงามอย่างที่เห็นนี่แหละ มีคนถามว่า ท่านจบวิชาการก่อสร้างที่ไหน ท่านบอกไม่เคย อาศัยจินตนาการ
      
       อาคารหลังที่สองถัดเข้าไปในวัดเรียกว่า "จุฬามณี ทรงจตุรมุข" มีสระน้ำล้อมรอบ ชั้นนอกมีไม้ดอกไม้ประดับ เช่น เฟื่องฟ้า บอนไซ ฯลฯ ศาลาแห่งนี้คือโบสถ์ (ปัจจุบันนี้สร้างเสร็จสมบูรณ์และมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจนวิจิตรพิสดาร กว่าเดิมมาก) ฐานพระประธานครอบด้วยหินอ่อน ตั้งตายตัวบนพื้น มีฐานเล็กซึ่งเคลื่อนย้ายได้ วางข้างบนอีกที ซึ่งฐานเล็กนี้เป็นที่วางพระพุทธรูป ใช้ศิลปะปูนปั้นทาสีปิดทองสวยงามมาก พื้นโบสถ์เป็นหินแกรนิต ตรงกลางเป็นหลุมใหญ่ไว้ฝังลูกนิมิต
      
       ตรงนี้แหละที่หลวงปู่บอกว่ามีพลังเจ็ดดาวเหนือ แม้ใครป่วยไข้ ถ้าได้มานอนตรงนี้จะหายได้ เฉกเช่นเดียวกับบริเวณตรงปล่องถ้ำไก่หล่น มีพลังไอสุริยันจันทรา ให้พลังรักษาโรคเช่นกัน (ต่อมาผู้เขียนเคยป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์ อาการค่อนข้างหนัก หลวงปู่ ให้ไปนอนพักตรงนั้นเวลากลางวัน)ฟังเหมือนหนังจีนกำลังภายในนะ
      
       เดินเลยเข้าไปในวัด ลึกเข้าไปอีก เป็นหอกรรมฐาน ใช้ไม้เป็นส่วนใหญ่ (ไม้พระราชทานจากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ) ฟากตรงข้ามกับหอ มีต้นโพธิ์ใหญ่ ซึ่งหลวงปู่เล่าว่า ท่านคิดจะปลูกโพธิ์จากพุทธคยาสักต้นเช้ามืดวันรุ่งขึ้น มีอีกาคาบต้นโพธิ์มาทิ้งต่อหน้าท่าน ๓ ต้น ท่านจึงปลูกรวมกัน ณ ที่นี้ หลวงปู่ฝังอัฐิของหลวงพ่อทวดไว้ข้างใต้ พร้อมด้วยอัญมณีมีค่า ท่านไปเอาอัฐิของหลวงพ่อทวดมาจากไหนน้า?? ก่ออิฐแดงล้อมรอบ มีซุ้มบรรจุพระพุทธรูปวางเป็นระยะล้อมรอบ ใกล้ๆหอเป็นกุฏิพระเรียงราย อาคารที่ว่ามาทั้งหมดมีกาแลโดดเด่นทุกหลัง
      
       หลวงปู่ลงมือปลูกต้นไม้ด้วยตัวท่านเอง ชอบปลูกกลางดึกประมาณตีสอง ท่านให้เหตุผลว่า ปลูกเวลานั้น ต้นไม้จะมีโอกาสรอดสูงมาก เพราะมีเวลาพักฟื้นนาน ทุกสิ่งทุกอย่างสำเร็จได้ด้วยสองมือของท่านกับพระเณรไม่กี่รูป ใช้เวลาสร้างวัดประมาณ ๓ ปี จากความอุตสาหะวิริยะอย่างยิ่งยวด
      
       มีบุรุษตาแหลมคมท่านหนึ่ง ได้มาเห็นแล้วเกิดจุดวาบในดวงใจว่า เขาพบพระแท้แล้วอย่างสิ้นสงสัย หยุดแสวงหาครูบา-อาจารย์ที่อื่นได้แล้ว ต่อมาท่านผู้นี้จึงเป็นศิษย์เอกที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์งานทุกชนิด ที่หลวงปู่มีประสงค์ ท่านผู้นี้คือ คุณนพพร ปริปุณณะ เป็นผู้มีอุปการคุณต่อวัดพอสมควร ได้บริจาคเงินให้วัดเป็นรายเดือน เดือนละ ๕,๐๐๐ บาท
      
       ที่วัดนี้มีชมรมชื่อว่า "ชมรมธรรมะอิสระ" มีคุณพงศักดิ์ ธัมพิพิธ เจ้าของบริษัทเกี่ยวกับการพิมพ์ระบบซิลค์สกรีนและโฆษณา เป็นประธานชาวกรุงเทพฯ ท่านผู้นี้มีความผูกพันกับหลวงปู่ครั้งอยู่ วัดคลองเตยใน
      
       เมื่อเราไปถึง พบคนขับรถวัด และแม่ครัวกำลังปลูกผัก เตรียมไว้ใช้ในงานบวชพระเณร (ปัจจุบันนี้กลายเป็นสวนหย่อมขนาดใหญ่ คั่นระหว่างหอฉันกับโบสถ์) คนที่วัดมีอัธยาศัยดี ต้อนรับขับสู้ เขาถามว่ารู้จักหลวงปู่ได้อย่างไร สามีเล่าให้ฟังย่อๆ เขาเองก็เล่าเรื่องของหลวงปู่ให้ฟังว่า เดิมทีท่านไม่คิดจะสร้างวัด แต่เห็นความขลุกขลักลำบากของพระเณร ท่านจึงต้องสร้างเมื่อสร้างเสร็จแล้ว ท่านต้องจากไปตามวาระ เพราะท่านไม่เคยอยู่ไหน นานๆ ท่านบอกว่า ท่านเป็นพระฝ่ายอรัญญวาสี ต้องท่องเที่ยว จาริกไป จะอยู่ติดที่ติดตระกูลเป็นการไม่สมควร ท่านพูดเสมอว่าท่านไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ท่านเป็นคนของโลกของจักรวาล
      
       แม่ครัวยังบอกอีกว่า อีก ๕ ปี หลวงปู่จะกลับมา ในร่างเณรซะด้วยก็ว่ากันไป เคยถามหลวงปู่ว่าจริงหรือเปล่า ท่านส่ายหน้า "อย่าเดาเลยไม่มีทางถูกหรอก"
      
       ถึงอย่างไร ทุกคนยังมีหวังและเฝ้ารอคอยวันนั้น คนขับรถวัดชื่อ "รัก" เล่าให้ฟังว่า เดิมทีเขามารับจ้างก่อสร้างวัดให้หลวงปู่ แรกๆ เขาไม่สนใจพระรูปนี้เลย ซ้ำยังคิดว่า "พระอะไร พูดคำใหญ่ คำโต" (พูดเหมือนชัยพรเปี๊ยบ) ต่อมาเห็นปฏิปทาของท่านมากขึ้นๆ เขาเริ่มทึ่งในตัวท่าน เช่นวันหนึ่งหลวงปู่พูดกับพวกเขาว่า
      
       "ลูกอยู่ที่นี่มีความลำบากคับแค้นอะไรบ้างมั้ย?"
      
       "ไม่มีครับ"
      
       "ค่าแรงที่ให้พอกินมั้ย?"
      
       "พอครับ"
      
       เขาเห็นหลวงปู่ไม่สนใจสะสมเงินทองข้าวของอะไรเลย แต่มีค่าแรงจ่ายพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ แม้บางครั้งเบิกเกิน เบิกล่วงหน้า ท่านก็ไม่ขัดข้องจนพวกเขาซึ้งในน้ำใจหลวงปู่ เดี๋ยวนี้เขาสิ้นสงสัยในตัวหลวงปู่แล้ว เขาเคยยืมเงินหลวงปู่ ๓๐,๐๐๐ บาทไปทำศพแม่ยาย หลวงปู่ก็ให้ยืม เขาไม่มีเงินจะใช้หนี้คืนได้ แต่เขามีนิลล้ำค่าก้อนเล็กๆ ก้อนหนึ่งเลี่ยมพลาสติกห้อยคอได้ เอามาจากหลวงพี่โมท (หลวงพี่ได้มาจากหลวงปู่) มีอภินิหารให้เขาประจักษ์ คุณวีรชัย ศิษย์ใกล้ชิดคนหนึ่งอยากได้นิลเม็ดนี้มากถึงกับเขียนเช็ค ๓๐,๐๐๐ บาท ใช้หนี้แทนนายรัก เพื่อแลกกับนิล นายรักต้องยอม เสียนิลไปทั้งๆ สุดเสียดาย
      
       เราบอกความจำนงกับแม่ครัวว่า จะพาลูกมาสมัครบวชเณร คนขับรถเดินไปนิมนต์หลวงพี่หมอ ซึ่งกำลังง่วนกับการก่อสร้างศาลาอเนกประสงค์อยู่ทางด้านโน้น เพื่อให้เสร็จทันใช้ในงานบวชคราวนี้ เป็นแบบง่ายๆ แต่งดงาม (หลวงปู่วางแบบไว้ให้) ปัจจุบันเสร็จแล้ว พื้นกับเสาเป็นหินขัด ฝายังไม่มี เปิดโล่งรับลม ด้านหลังมีสระน้ำโอบล้อมมาถึงด้านข้าง
      
       สักครู่ มีพระหนุ่มรูปหนึ่งเดินตรงมา ผิวคล้ำจัดเพราะถูกแดดเผา (พระเณรวัดนี้ ผอมคล้ำทุกรูป เพราะกรำงานหนัก หลวงปู่ให้ข้อคิดว่า สมณะอ้วน ถือว่าไม่งาม ผอมเป็นฤๅษี อ้วนเป็นหมู) หน้าตาคล้ายคนจีนท่าทางใจเย็น เป็นคนสุราษฎร์ธานี เหตุที่เรียกว่า "หลวงพี่หมอ" เพราะท่านจบปริญญาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยมหิดล ระหว่างเป็นนักศึกษาแพทย์ได้รู้จักกับหลวงปู่ด้วยความบังเอิญบนรถเมล์ใน กรุงเทพฯ จากนั้นก็ติดตามท่านเรื่อยมาเป็นเวลา ๘ ปี จบแพทย์ไปทำงานที่โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีได้ปีกว่าๆ จึงตัดสินใจบวชได้ราวๆ ๒ พรรษาแล้ว โดยลาออกจากราชการ และใช้ทุนให้หลวงไป และไม่คิดจะสึกตลอดชีวิต แต่อะไรก็ไม่แน่นอน ทราบว่าไม่กี่ปีต่อมาท่านก็ลาสิกขาออกไป (ปัจจุบันหันมายึดอาชีพเดิมและมีครอบครัวแล้ว)
      
       ช่วงที่หลวงปู่ไม่อยู่ หลวงพี่หมอต้องเป็นเสมือนเจ้าอาวาสแทน ต้องรับศึกหนักทุกด้าน โดยเฉพาะศึกกับคนในวัด สาหัสสากรรจ์สุดจะบรรยาย ท่านเป็นคนอ่อนโยน อ่อนไหว มีความใฝ่ฝันที่จะสร้างสรรค์สังคมแต่ทนสิ่งแวดล้อมที่อยู่ไม่ไหว น่าเสียดายนะ ฉันได้ข่าวว่าถึงเป็นหมอ ก็เป็นหมอใจบุญ ขออนุโมทนาสาธุ! ทุกคนมีสิทธิ์จรรโลงศาสนาและสังคมได้เท่าเทียมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวชเท่านั้น
      
       หลวงพี่หมอ พาลูกชายฉันไปเขียนใบสมัครที่หอฉัน สนทนากันหลายเรื่อง ท่านขออนุโมทนาที่คิดจะให้ลูกบวชในช่วงปิดเทอม ดีกว่าปล่อยให้เฉยๆ ไปวันๆ ตกลงพิธีบวชเณรจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ ๒๗ และอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคมนี้ ตอนนี้เริ่มมีการเข้าค่ายหัด สวดมนต์ หลวงพี่บอกว่า ลูกชายโตแล้วไม่เข้าค่ายก็ได้ เอาใบขอบวชไปท่องที่บ้านก็แล้วกัน บวชแล้วตามกำหนดการจะให้พระเณรศึกษาพระธรรมที่วัด จากนั้น ๑๐ วันสุดท้ายปลายเดือนเมษายนจึงจะพาไปธุดงค์ที่ "ถ้ำไก่หล่น" แล้วกลับมาสอบที่วัด ลาสิกขาบทต้นเดือนพฤษภาคม แต่ตอนนี้เปลี่ยนเป็นว่าบวชแล้วให้ไปธุดงค์ที่ถ้ำวันที ๑-๑๐ เมษายน จึงค่อยกลับมาศึกษาพระธรรมที่วัด เพราะพวกตำรวจทหารมีเวลาว่างช่วงนั้น พอจะให้ความสะดวกเรื่องน้ำท่าได้ หลังจากวันที่ ๑๐ เมษายน พวกเขาจะติดงานในค่าย จะเห็นว่าเหล่าทหารตำรวจเป็นกำลังสำคัญในงานของหลวงปู่มากทีเดียว เพราะทั้งท่านผู้กำกับและรองผู้กำกับของค่ายล้วนแล้วแต่ให้ความศรัทธาในตัว หลวงปู่ทั้งสิ้น
      
       ฉันคิดเอาเอง (หลังจากมานั่งเขียนฉบับปรับปรุงใหม่) หลวงปู่ คงมีความผูกพันกับตำรวจทหารในฐานะเป็นนักรบเก่า อ่านๆ ไป จะรู้ว่าหลวงปู่เคยเป็นนักรบ ยิ่งยุค ๒๕๔๑ จะมีพวกคนงานพม่ามาช่วยงานก่อสร้างในวัด ก็คิดเอาเองอีกนั่นแหละว่า พวกพม่านี่(ในฐานะศัตรูเก่า ชอบรุกรานไทยดีนัก) คงจะต้องติดค้างอะไรกับหลวงปู่แน่
      
       ที่วัดยังมีพระอีกสองรูปที่ต้องเอ่ยถึง คือ "หลวงตาสนิท" อายุราวๆ ๖๐ กว่า ท่าทางใจร้อน แข็งแรง อยู่ด้านหลังวัดดูแลรักษาต้นไม้ที่หลวงปู่ปลูกไว้ ถ้าที่วัดไม่มีหลวงตาก็แย่เหมือนกัน เพราะไม่มีใครกล้าพูดเรื่องความบกพร่องของคนในวัด หลวงปู่บอกว่า หลวงตาสนิทใจร้อน แต่ก็เป็นคนซื่อ
      
       อีกท่านหนึ่งคือ "หลวงพี่โมท" ตัวเล็ก ผิวดำ หน้าเข้ม อายุประมาณ ๒๐ เศษๆ อยู่กับหลวงปู่ตั้งแต่ยังเป็นเณร เพราะความเป็นผู้ใกล้ชิดหลวงปู่มากที่สุด หลวงปู่จึงมอบหมายให้ดูแลสมบัติทุกชิ้นในวัด หลวงพี่โมทเขียนประสบการณ์ทางวิญญาณแห่งศิษย์พุทธะ ได้สนุกมากสอ่านแล้วเหมือนหลุดไปอยู่ในโลกลี้ลับ ขอยกตัวอย่าง เรื่องบางตอนดังนี้
      
       "วันรุ่งขึ้น ท่านก็พาพวกเราเดินเข้าสู่ทุ่งนามอญก่อนจะก้าวเข้าสู่ทุ่งนามอญ มีต้นไม้ใหญ่ ลำต้นดำเป็นมัน หลวงปู่เรียกว่าต้น "ดำดง" ที่กลางลำต้นมีดาบโบราณเสียบทะลุลำต้นจนมิดด้าม สังเกตดูด้ามดาบเป็นสำริด มีอักษรโบราณสลักอยู่ หลวงปู่ท่านสั่งให้พวกเราถอยหลังออกมาห่างจากท่าน แล้วท่านก็เดินเข้าไปจับด้ามดาบนั้นหักออกจากตัวดาบ มันหักออกง่ายดาย ยังกะหักกิ่งไม้ แล้วท่านก็พูดขึ้นว่า "ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุขเถิด" ไม่รู้ว่าข้าพเจ้าหูตาฝาดไปหรือเปล่า อยู่ดีๆ ก็มีลมพัดกรรโชกมาวูบหนึ่ง แล้วก็มีเสียงเปล่ง สาธุ สาธุ ดังมาจากที่ไกลๆ.... ทุกวันนี้ข้าพเจ้ายังคิดไม่ตกว่าหลวงปู่ท่านนำพวกเราเดิน วิ่ง ลอย หรือว่าเหาะกันแน่ จากหุบเขา เขาคณึง กลับมาถึงหมู่บ้านมอญใช้เวลาแค่ ๑ ชั่วโมงเศษ จากขาไปต้องใช้เวลาถึง ๒ วัน... "
      
       เสียดายที่หลวงพี่โมทหมดวาสนา สุดท้ายก็สึกตามหลังหลวงพี่หมอไม่นานนัก หลวงปู่ต้องกลับเข้าวัดเพราะหมดแขนซ้ายขวาเสียแล้ว
      
       พูดถึงวิธีมอบหมายงานของหลวงปู่แสนจะแยบคาย ท่านดูนิสัยใจคอ ความเหมาะสมหลายอย่างเช่น หลวงพี่หมอเป็นผู้ใหญ่ ใจเย็น มีการศึกษาสูง ท่านให้รักษาการเจ้าอาวาส เปรียบเสมือนพ่อบ้าน หลวงพี่โมท คล่อง ใจร้อน ให้อยู่ดูแลภายในวัด เปรียบเสมือนแม่บ้าน ส่วนหลวงตาสนิท ชอบลุยลูกเดียว ขุดดินเก่ง ให้อยู่หลังวัดทำสวน
      
       วันนั้นได้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวหลวงปู่จากพระเณร และคนวัดพอสมควร ทำให้ได้รู้จักท่านมากขึ้น
      
       เสร็จสิ้นการสืบสาวราวเรื่องไปอีกหนึ่งเปลาะ เป็นอันว่าท่านมีวัดอยู่ที่นี่จริง