หลังจากพระเณรกลับวัดแล้ว ที่ถ้ำไก่หล่นก็เหลือหลวงปู่ ทหารนายหนึ่ง และคุณปราณี หลวงปู่บอกกับคุณปราณีว่า "อีณี (บางครั้งก็เรียก อีแว่น) วันนี้มึงก็ลงไปซะ กลับบ้านได้แล้ว จะอยู่ กับกูได้ยังไง มันไม่เหมาะหรอก ตอนนี้ไม่มีใครเลย ผู้หญิงอยู่กับพระได้ยังไง ไปเหอะ ถึงจะแก่ก็ไม่ได้ กูขี้เกียจเป็นนิกรสอง" (ตอนนั้นพระนิกรกำลังมีข่าวอื้อฉาวกับอรปวีณา หนังสือพิมพ์ลงข่าวครึกโครมทุกวัน)
      
       หลวงปู่วิจารณ์เรื่องนี้ว่า เป็นพระต้องมีหน้าที่สืบทอดคำสอน ของพระพุทธเจ้าให้ถูกต้อง ตรง ไม่บิดเบือน นี่อะไรกัน มีแต่มอมเมา สอนให้งมงาย เช่นระลึกชาติได้ และก็ช่างกระไรเลย ระลึกได้แต่ว่า ชาติก่อนเป็นลูกของคนนั้นคนนี้ เป็นสามีภรรยากับคนโน้น ฯลฯ ยุ่งไปหมด ที่แปลกน่าสงสัยคือ เลือกคนเป็นแม่ชาติก่อนได้เหมาะเหม็ง เศรษฐีนีทั้งนั้น คนก็โง่งมงายหลงเชื่อ เสียเงินเสียทองไปมากมาย เป็นนักบวชควรหลีกให้ไกลอยู่ ๒ สิ่ง คือ ผู้หญิง กับ เงิน
      
       ย้อนกลับมาที่คุณปราณีอีกครั้ง เธอลังเลเป็นห่วงว่า ไม่มีใคร อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่ แต่ที่หลวงปู่ต้องการให้เธอไป เพราะมีเหตุผล บางประการ (ฉันคิดเอาเองนะ) ประการแรก ท่านคงไม่อยากถูกครหาว่าอยู่ใกล้ชิดกับผู้หญิง ซ้ำยังมีฐานะร่ำรวย เดี๋ยวลูกศิษย์คนอื่นๆ จะหาว่าท่านรักลูกศิษย์ที่มีเงิน ประการที่สอง คุณปราณีเคารพและเป็นห่วงหลวงปู่มาก จนบางครั้งเธอจะห่วงอาหารการกิน ของหลวงปู่จนเหมือนไม่เอื้ออาทรผู้อื่น ซึ่งข้อนี้ ไม่สบอารมณ์ของหลวงปู่เป็นอย่างยิ่ง (ท่านเคยบ่นให้ฟัง)
      
       ครั้งนี้ สบโอกาสที่หลวงปู่จะอ้างให้เธอจากไป คุณปราณีคงน้อยใจ หลังจากนั้น เธอก็มาน้อยลง ระยะหลังๆ เธอไปปฏิบัติธรรมที่เกริงกระเวีย วัดป่าสุญญตาราม ของพระอาจารย์ยันตระ เพราะที่นั่นเงียบสงบ มีระเบียบ มีที่อยู่เป็นสัดส่วน ไม่ต้องทำงานหนัก เธอมีสุขภาพไม่ค่อยดีนัก เมื่อเจ้าสำนักนี้มีปัญหาแบบเดียวกับพระนิกร ก็ไม่ทราบว่าคุณปราณีทำอย่างไร เพราะเราไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย
      
       ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า ทำไมคุณปราณีถึงไม่อยู่บ้านอยู่ช่อง เรื่องมีอยู่ว่า เธอเป็นคนจันทบุรี(เมืองพลอยสวย เงาะ ทุเรียน ลือชื่อ) สามีเธอเสียชีวิตไปแล้ว แต่เธอมีฐานะดี ลูกเต้าก็โตหมดแล้ว มีงานมีการทำ หมดห่วง ประกอบกับอายุเข้าสู่วัยกลางคน จิตใจใฝ่ธรรมะ คุณไก่กับคุณวันเพ็ญเป็นผู้ชักนำให้มาหาหลวงปู่
      
       ฉันอาสาให้ลูกชายคนโต (โป้ง) มาอยู่ปรนนิบัติรับใช้ ท่านรีบปฏิเสธทันทีว่า
      
       "โอ๊ย! ไม่ต้อง ไม่ต้องมาดูแลกูหรอก กูดูแลตัวเองได้"
      
       ฉันพูดใหม่ว่า มาเป็นเพื่อน ท่านโบ้ยไปทางถ้ำ "กูมีเพื่อนแล้ว ทหารนั่นไง"
      
       ฉันพูดแก้เป็นครั้งที่สามว่า มาให้หลวงปู่ดูแลและอบรม สั่งสอนเขาเท่านั้นแหละท่านถึงยอม "เออ! มันต้องอย่างนั้นซีวะ ถึงจะถูก"
      
       เฮ้อ! โล่งอกไปที กว่าจะคลำถูกจุด ท่านกลัวประเภทจะมาดูแล แล้วเจ้ากี้เจ้าการทำตัวเป็นแม่ยก หนักเข้าจะอื้อฉาวแบบนักบวชบางรูปที่ลงหนังสือพิมพ์กันเกรียวกราว ท่านฉลาดมาก จะ ทำการสิ่งใดต้องไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อน คิดไกลๆ คิดยาวๆ แล้วจะไม่มีปัญหา
      
       เช้าวันรุ่งขึ้น เราพาลูกชายคนโตกับคนเล็กไปอยู่กับหลวงปู่ หลังจากนั้นตัวเราสองตายายก็เทียวขึ้นเทียวลงไปถ้ำทุกวัน ที่ไม่ค้าง เพราะดูจะเป็นการเอิกเกริก เดี๋ยวคนอื่นจะเขม่นว่า ทำตัวใกล้ชิด จองหลวงปู่ทั้งครอบครัว อีกอย่างมีภาระต้องรับผิดชอบทางบ้านด้วย หลวงปู่กระเซ้าว่า "บ้านมันอยู่ติดกับตีนกะไดถ้ำ"
      
       ลูกชายเล่าให้ฟังว่า หลวงปู่ถาม "พ่อกับแม่มึงเขาจ้างเท่าไรวะ ที่มาอยู่ที่นี่น่ะ"
      
       โป้งยิ้มหวานแล้วตอบว่า "ไม่ได้จ้างครับ เต็มใจมาเอง"
      
       ท่านหรี่ตามอง "จริงนะ กูไม่ค่อยอยากจะเชื่อ"
      
       ระยะนี้หลวงปู่เริ่มนำบรรดาผู้คนที่มาหาให้ขุดดินขนหินแต่งถ้ำทั้ง ภายนอกภายใน โดยระมัดระวังมิให้ของเดิมได้รับความกระทบกระเทือน บางวันขุดดินทำอ่างเก็บน้ำบนหลังคาถ้ำ ท่านบอกว่าที่นี่แห้งแล้งมาก เพราะต้นไม้ใหญ่ถูกโค่นทำลาย ไม่มีป่าคอยซับน้ำ หินในถ้ำเริ่มตาย (หินก็ตายได้นะคุณ) นานวันมีสิทธิ์ถล่มทลาย แหล่งน้ำที่ท่านทำนี้จะช่วยเรียกความชุ่มชื้นกลับคืนมาสู่ถ้ำอีกครั้ง นกกายังได้อาศัยดื่มกิน พืชจะได้เจริญงอกงาม ท่าน ยังทำอ่างเก็บน้ำที่ ๒ ข้างไหล่เขาใกล้บันได วิธีการของท่านคือ ขุดดินให้ลึกลงไปเป็นร่องแนวยาวไปตามไหล่เขา พูดน่ะง่าย เวลาขุดสุดแสนจะทารุณ เจอแต่หิน (ผู้ชายทำ) จากนั้นเอาหินมาตั้งซ้อนทำเป็นกำแพงกั้น (ผู้หญิงช่วย) ถ้าหินก้อนใหญ่ ไม่พ้นบรรดาชายฉกรรจ์ทั้งหลาย ส่วนใหญ่ก็ทหารและตำรวจพลร่ม เอาหนังสือพิมพ์ทากาวปูพื้น ก็เป็นงานของผู้หญิงอีกแหละ ขั้นสุดท้ายปูทับด้วยผ้าพลาสติก เป็นการทำอ่างราคาประหยัดสูงแต่ประโยชน์สุด ถามท่านว่าไปได้วิธีมาจากไหนท่านใช้มือเคาะศีรษะ "กูคิดเอาเอง"
      
       วันไหนเป็นวันเสาร์อาทิตย์จะมีคนมาช่วยงานคึกคัก ตกเย็น พวกผู้หญิงทำอาหารให้รับประทานสนุกสนานมาก เป็นบรรยากาศที่ยังตราตรึงจนทุกวันนี้ ไปสำนักอื่นมีแต่นุ่งขาวห่มขาว นั่งสมาธิ สวดมนต์ มาสำนักนี้มีแนวปฏิบัติแตกต่างไปจากที่อื่นชนิดหน้ามือเป็นหลังมือใช้การงาน เป็นเครื่องมือนำไปสู่การปฏิบัติธรรม ใครที่ ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ เพิ่งมาใหม่จะสวมชุดขาว นึกว่าคงเหมือนที่อื่น ครั้นพอได้สัมผัส ต่อมาสลัดคราบผู้ถือศีลมาเป็นจับกังใส่เสื้อผ้าสีมอ พร้อมจะลุยงานหนัก
      
       หลวงปู่จะสอนวิธีทำงานชนิดต่างๆ ดูเหมือนท่านไม่ได้หวังผลว่างานจะต้องออกมาหรูเลิศ แต่ท่านใช้การงานเพื่อขจัดขัดเกลากิเลสของลูกศิษย์มากกว่า ส่วนผลของงานจะออกมาอย่างไร นั่นถือว่าเป็นผลพลอยได้ มิใช่ว่าท่านจะไม่สอนสมาธิและสวดมนต์ กิจกรรมเหล่านี้ก็มีตามปกติ มักจะเป็นเวลาเย็นๆ หลังเลิกงาน อาบน้ำ กินข้าวเสร็จแล้ว บางวันก็นั่งสนทนาในศาลาประชาร่วมใจจนมืดค่ำ แล้วแยกย้ายไปนอน
      
       หัวข้อสนทนามีหลากหลาย เช่น เล่าเรื่องเก่าๆ ให้ลูกหลานฟัง บางคนปรึกษาปัญหาชีวิต ฯลฯ บรรยากาศไม่ตึงเครียด มีแต่เสียง หัวเราะ เราหัวเราะกันจนเจ็บขากรรไกร คิดดูเถอะ หลวงปู่กำลังสอนธรรมะแบบที่เราไม่รู้ตัว ท่านทำให้ธรรมะเป็นเรื่องบันเทิง น่าสนุก น่าสนใจ ทุกคนไม่รู้สึกว่า ถูกบังคับ ไม่เบื่อหน่าย แต่จะนั่งตรึงอยู่กับที่เหมือนต้องมนต์สะกด ถึงแม้ท่านจะไม่พูดคำหวานเอาใจใคร แต่ใครๆ ก็ชอบฟังคำไม่หวานเหล่านั้น มันเปิดเผย จริงจัง จริงใจ บริสุทธิ์ ใครชอบแนวไหนก็เลือกเอานะคะ ถ้า ซาดิสม์นิดๆ ที่นี่เหมาะมาก ทั้งทำงานหนักจนมือเท้าหยาบกร้าน ทั้งถูกด่า แต่มันสะใจยังไงก็ไม่รู้ นี่แหละรสชาติแห่งชีวิตที่ปรารถนา มานานแล้ว (โป้งบอก)
      
       วันธรรมดาที่ถ้ำค่อนข้างเงียบเหงา เพราะส่วนใหญ่เป็นข้าราชการต้องไปทำงาน หลวงปู่จะใช้เวลาตรงนี้ทำพระ พอวันหยุดผู้คนแห่กันมากราบนมัสการท่าน ท่านก็จะเปลี่ยนเอาความ ชุลมุนวุ่นวายตรงนี้มาเป็นพลังในการทำงาน เรียกว่าท่านบริหารเวลาและบริหารคนได้ยอดเยี่ยม
      
       พูดถึงการทำพระ โป้งเล่าว่าเขาจะช่วยหลวงปู่ทำพระ หลวงปู่ สอนวิธีจับสากชนิดที่ไม่ให้มือพอง แล้วตำได้ละเอียด คือ ตอนยกสากขึ้น จงจับให้มั่น ตอนปล่อยให้ผ่อนมือเล็กน้อย แล้วตำแบบทแยงบิดข้อมือตวัดสากขึ้น วิธีนี้ไปประยุกต์ใช้กับการจับมีดจับจอบจับเสียม มือจะไม่พอง หลวงปู่เรียกวิชาใช้สากของท่านว่า "ฝ่ามือสากเบือ"
      
       ท่านบอกโป้งว่า "มึงมาอยู่กับกูคราวนี้ อย่างน้อยๆก็ได้วิชา ฝ่ามือสากเบือแหละวะ"
      
       ท่านเคยพูดกับฉันและสามีว่า "ลูกมึงเดินแต่ละทีกุฏิกูสั่นเลย ตีนหนักซะไม่มี กูจะบอกมันหลายทีแล้ว นึกอีกทีก็ขี้เกียจ ปล่อยให้ธรรมชาติสอนมันดีกว่า เมื่อวานมันไปช่วยกูขนหินที่เขื่อน ข้างบันได มันเดินดุ่มๆ กูนึกในใจว่าเดี๋ยวเถอะโดนดี จริงๆ ด้วย โดนหนามมะนาวผีทิ่มตีนมิดเลย กูให้มันทายาหม่อง ทีนี้ละมึงเอ๋ย มันค่อยๆ เดินย่องเชียว ดีกว่ากูสอนเป็นไหนๆ ธรรมชาติเนี่ยมันสอนคนได้ดีนัก รู้สึกว่าหูมันจะตึงๆ ติดจะเซ่อๆ ด้วยนะ"
      
       ฉันเรียนท่านว่าด้วยเหตุนี้ จึงพามาอยู่กับหลวงปู่เพื่อให้ท่านสั่งสอน เอดลูกชายคนเล็กอยู่ได้ ๒-๓ วัน บ่นคิดถึงบ้าน จึงให้กลับก่อน ตลอดระยะเวลา ๑๒ วันที่โป้งอยู่รับใช้หลวงปู่นั้น เขามีความสุขมาก หลวงปู่มีเมตตารักใคร่เด็กๆ อยู่แล้ว ถึงปากจะดุด่า แต่ลึกๆ แล้วใจดีมาก มีอารมณ์ขัน ท่านยังสอนตำนานลูกผู้ชายให้ด้วย ไม่ได้ถามเขาว่ามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ท่านบอกว่าสักวันหนึ่ง จะแต่งหนังสือเล่มนี้ ถ้ามีเวลา อดใจไว้อ่านก็แล้วกัน
      
       พอครบ ๑๒ วัน โค้ชกีฬาบาสเกตบอลมาตามตัวโป้งกลับไปแข่งกีฬาจังหวัด เขาอาลัยอาวรณ์ถ้ำมาก อยู่กับปู่แสนจะมีความสุขทั้งๆ ที่ต้องทำงานหนัก ปีนขึ้นลงวันละหลายเที่ยว แต่เขาก็รักและพอใจจะอยู่กับหลวงปู่ มันเป็นความรู้สึกที่ยากจะอธิบาย นับจากวันนั้นมา ก็ไม่มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิดอีกเลย เพราะการเรียน การงานรัดตัว ก็ได้แต่ตราไว้ในดวงจิต
      
       ก่อนโป้งจะกลับ หลวงปู่ให้คนที่บ้านโอ่งดินทองราชบุรี ตามตัวเจี๊ยบ เด็กรุ่นเดียวกับโป้งมารับใช้แทน เจี๊ยบเป็นเด็กที่หลวงปู่อุปการะส่งเสียเลี้ยงดูให้เรียนหนังสือมาตั้งแต่ เล็กๆ จนโต แล้วตอนนี้ป้าก็มาเอากลับไปใช้งาน
      
       หลวงปู่ตำหนิว่า "ตอนเล็กๆ ไม่มีปัญญาเลี้ยง ผลักภาระมาให้กู พอเลี้ยงให้มันจนโต หนอยมาเอากลับ อ้างว่าทางบ้านไม่มีคนช่วยงาน คนหนอคน"
      
       ท่านกำชับคนโอ่งดินทอง "ยังไงๆ มึงไปเอาตัวมันมาให้ได้ บอก ป้ามันว่ากูเรียก ให้มันรู้ไปว่าเลี้ยงจนโตขนาดนี้จะใช้งานไม่ได้ บอกป้ามันว่าอย่าทำให้เด็กเป็นคนเนรคุณ"
      
       ท่านต้องการให้ทางโน้นรู้สำนึกหน้าที่ สุดท้ายเจี๊ยบก็มาแทนโป้ง ปัจจุบันเรียนจบวิชาชีพแล้ว บวชอยู่กับหลวงปู่
      
       ครั้งหนึ่งหลวงปู่นำทีมลูกศิษย์สร้างเขื่อนเล็กๆ ตรงไหล่เขาใกล้บันได ในวันนั้นเองที่ "พี่เดิม" ได้สำเร็จวิชาขั้นหนึ่งของหลวงปู่ คือ "วิชาม้วนตัว" เป็นศิษย์คนเดียวที่สำเร็จวิชานี้ในวันนั้น โดยไม่มีใครอยากสำเร็จตาม ยกให้พี่เดิมคนเดียว เราเข้าใจว่าหลวงปู่คง รู้ล่วงหน้าแล้วว่าพี่เดิมต้องฝึกหลักสูตรนี้
      
       ก่อนหน้าหนึ่งวัน หลวงปู่ได้สั่งให้คุณไก่จัดเตรียมเวชภัณฑ์ เช่น ทิงเจอร์ ยาแดง พลาสเตอร์ ฯลฯ
      
       หลวงปู่ขึ้นไปขย่มหินก้อนใหญ่ๆ ให้เข้าที่ ทันใดนั้น หินก้อนนั้นก็หลุดร่วงพาเอาร่างของท่านถลาลงไปด้านล่างตามความลาดชันของไหล่ เขา บริเวณที่ท่านตกลงไป เต็มไปด้วยหินคมๆ ก้อนเล็กก้อนใหญ่ แถมยังมีหนามเกี่ยวไก่เต็มไปหมด (มาอยู่ถ้ำ ทำให้รู้จักหนามหลายชนิด เช่น หนามมะนาวผี หนามเกี่ยวไก่ หนามช้างร้อง ฯลฯ) พวกเราตกตะลึงไปชั่วขณะ แต่ไม่ปรากฏรอยแผลตามเนื้อตัวหลวงปู่เลย (ตอนที่ท่านตกลงไปนั้น เหตุการณ์เกิดขึ้นรวดเร็วมาก จนดูไม่ทันว่าท่านลงท่าไหน) คล้ายๆ กับท่านจะแสดงท่าตอนตกเขาให้พวกเราดูอย่างนั้นแหละ เพราะปกติท่านไม่เคยทำอะไรซุ่มซ่ามจนพลาดท่าเสียทีเลย ท่านหันไปถามพี่เดิมคนเดียวหลังจากปีนขึ้นมาที่เดิม
      
       "มึงเห็นเป็นยังไงบ้างตอนหลวงปู่บิน"
      
       พี่เดิมยิ้มที่มุมปากตามแบบฉบับ "แหม...สุดจะบรรยายครับ หลวงปู่"
      
       หลังจากนั้นสักครู่เดียว พี่เดิมก็ตกลงไปแบบหลวงปู่เปี๊ยบเลย พี่เดิมม้วนตัวหลายตลบ คงใช้วิชากระโดดร่ม เสียงหลวงปู่ตะโกน ตามหลังว่า "ไอ้เดิม ไอ้เดิม ไอ้เดิม"
      
       โชคดีตรงนั้นไม่มีหินคมๆ และหนามแบบของหลวงปู่ พี่เดิม จึงไม่เป็นอะไรมาก แค่ถลอกและฟกช้ำเล็กน้อย นอกจากพี่เดิมแล้ว ยังมีคนอื่นอีก ๒-๓ คน ได้รับบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ ไปตามๆ กัน ที่มือบ้าง ที่เท้าบ้าง โดนหินทิ่ม หนามตำไปตามเรื่อง ได้ใช้ยาคนละเล็กละน้อย เสร็จจากงานวันนั้น หลวงปู่บ่นว่า "กูไม่น่าให้ไอ้ไก่เตรียมยามาเลย บาดเจ็บกันระนาว" หลังจากนั้นทุกครั้งที่มีการก่อสร้าง หลวงปู่ไม่สั่งให้เตรียมยาและไม่มีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นอีกเลย (อ่านรายละเอียดเรื่อง "หลวงปู่บิน" โดยพี่เดิม ได้ในเล่มนี้)
      
       มีพระหนุ่มชาวเยอรมันมาจากวัดป่าวิทยาลัย ซึ่งอยู่เลยถ้ำไก่หล่นไปทางป่าละอู หลวงพี่เคยอยู่กับหลวงปู่ฉลวย ซึ่งมรณภาพ ไปแล้วในขณะนี้ ฉันกับสามีเคยไปงานสวดพระอภิธรรมศพของท่าน (ก่อนที่จะมาพบหลวงปู่พุทธะอิสระ) ลูกศิษย์ให้ท่านนอนบนเตียง ใช้ใบชาโรยจนหนาเตอะ เอามุ้งครอบ แล้วเปิดพัดลมให้หมุนรอบๆ พวกเขามั่นใจว่าท่านจะไม่เน่าเปื่อย แต่หลายคนได้กลิ่นเหม็นเต็มๆ เวลาเข้าไปกราบศพใกล้ๆ อาศัยว่ามีใบชาช่วยซับกลิ่น ประกอบกับท่านผอมด้วย หลวงปู่ให้ข้อคิดเห็นว่า ลูกศิษย์กำลังจะเอาร่างของครูบาอาจารย์มาหากิน ซึ่งเป็นสิ่งไม่สมควร มีคนถามว่าร่างหลวงปู่ ฉลวยไม่เน่าเหม็นหรือ
      
       ท่านตอบว่า "กูไม่รู้ เขาผอมมั้งเลยเน่าช้า"
      
       บ้างก็ถามว่าไอ้ที่มีสีขาวๆ เกาะตามหน้า คือ พระธาตุใช่ไหม
      
       "พระธาตุบ้าอะไร เชื้อราก็ไม่ว่า พวกมึงอย่าโง่บ้านักเลยวะ มึงถามอีนี่ดูซิว่าเป็นยังไง มันไปกราบมาแล้ว"
      
       ท่านพยักหน้ามาที่ฉัน ฉันตอบตรงๆ "ตอนเข้าไปกราบใกล้ๆ ได้กลิ่นตืดๆ หน่อยๆ"
      
       "เห็นมั้ย ชัดแล้วยัง ทีนี้เลิกถามกูได้แล้วนะ"
      
       เมื่อสิ้นหลวงปู่ฉลวย หลวงพี่ชาวเยอรมันมาหาสมภารอาทิตย์ เพราะคุ้นเคยกัน แต่ไม่พบ สมภารไปธุดงค์ หลวงปู่เมตตาให้การต้อนรับ ชักชวนให้อยู่ถ้ำ หลวงพี่ตกลงอยู่ต่อ นานไปเกิดศรัทธาหลวงปู่ ในที่สุดก็ฝากตัวเป็นลูกศิษย์ หลวงปู่เรียกหลวงพี่เยอรมันว่า "หลวงพี่ทิฟฟี่" ชื่อตามยาแก้หวัด ท่านชอบตั้งชื่อคนให้ตลกอย่างนี้เสมอ หลวงพี่ทิฟฟี่พูดและฟังภาษาไทยได้ดีพอสมควร สวดมนต์ได้ด้วย พอสมภารกลับมาหลวงปู่ให้หลวงพี่ไปกราบกรานครูบาอาจารย์คนเดิม สมภารไม่สนใจ งอนที่ลูกศิษย์ไปอยู่กับหลวงปู่ หลวงปู่พยายามเชื่อมสัมพันธไมตรีกับสมภารทุกวิถีทาง ขนาดส่งพี่จรรยาซึ่งเคยเป็นศิษย์คนโปรดไปเจรจายังไม่สำเร็จ สุดท้ายสมภารยืนยันจะย้ายกุฏิไปอยู่เขาหมื่นณรงค์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามฝั่งถนนกับทางเข้าถ้ำไก่หล่น ไม่มีใครยอมช่วยรื้อถอนเพราะหลวงปู่สอนว่าโบราณถือ "สร้างวัดน่ะดี แต่รื้อถอนอัปรีย์จะกินหัว" เลยพากันกลัวตัวอัปรีย์จนหัวหด
      
       ในที่สุดหลวงปู่ต้องออกคำสั่งให้คนรื้อถอน ขนไปให้เสร็จเรื่องถึงยอมจบลง หลวงปู่คืนเงินให้สมภารไปจำนวนหนึ่ง เพราะสมภารเคยช่วยออกเงินสร้างศาลาห้องน้ำให้ หลวงปู่ให้ลูกศิษย์นำเครื่องอุปโภคบริโภคไปถวายสมภาร แต่ท่านไม่รับ หลวงปู่ไม่ว่าอะไร ก่อนหน้านี้ ท่านสมภารมีเรื่องกระเง้ากระงอดทุกวัน บ่นกระปอดกระแปดสารพัดราวกับผู้หญิง บางครั้งหลวงปู่อดไม่ได้ก็พูดจาตักเตือนด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลน่าฟัง ไพเราะกว่าพูดกับพวกเราเป็นไหนๆ แต่สมภารไม่ฟัง ท่านมีทิฐิมานะ ถ้าเอาอายุเป็นเกณฑ์ สมภารมีอายุมากกว่า คงทำใจยอมรับพระหน้าเด็กๆอย่างหลวงปู่ไม่ได้ ท่านไม่สนใจร่างในหรือภูมิปัญญาของหลวงปู่หรอกว่าจะอยู่ระดับไหน คนเราถ้าปิดหูปิดตาตัวเองแล้ว ก็ยากที่จะยอมรับฟังอะไรทั้งนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ดี
      
       พอสมภารจากไปแล้วอย่างถาวร หลวงปู่ก็ลงมือสร้างบันไดใหม่ขึ้นทางนั้น เพราะการซ่อมบันไดเก่ายุ่งยากกว่า ตรงที่เคยเป็นกุฏิก็กลายเป็นลานปูนซีเมนต์ ตีลูกกรงเหล็กทาสีเขียวโอบล้อมเป็นรูปครึ่งวงกลม ตัวลานปูนชนกับเชิงถ้ำ มีการยกระดับขอบปูน ถัดจากขอบปูนเป็นบ่อ ซึ่งถมดินจนเต็มเสมอขอบ ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ
      
       หลวงปู่ชอบนั่งที่ขอบปูน ตอนเช้ากับตอนเย็น พูดคุยกับพวกเราซึ่งนั่งบนลานปูนที่ต่ำลงมาตรงหน้าท่าน ด้านหลังหลวงปู่จะมีภูเขาตั้งตระหง่านเป็นฉากที่สวยงามมาก หันไปทางด้านหน้า เป็นทิวทัศน์ของป่าเขาลำเนาไพร เขื่อน และบ้านคน ซึ่งมองต่ำลงไปแลเห็นไกลลิบๆ ฉันเรียกตรงนี้ว่า "ลานหินโค้ง"
      
       เพื่อความสะดวกในการเอ่ยถึงจึงต้องใส่ชื่อ เป็นจุดชมวิวของถ้ำไก่หล่น บางครั้งเช้ามืด ผู้คนยังไม่ตื่น หลวงปู่เคยบริหารร่างกายที่นี่ รำมวยจีน รำดาบอะไรทำนองนั้น ฉันไม่เคยเห็น ฟัง คนอื่นเล่า
      
       บันไดนี้ลงมือสร้างเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๖ เสร็จวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ รวดเร็วปานกามนิตหนุ่ม พี่เดชเป็นผู้ควบคุมการก่อสร้าง ใช้เงินทั้งหมด ๘๒,๑๗๘ บาท
      
       อยู่มาวันหนึ่ง มีบรรดาทหารตำรวจพลร่มช่วยกันทำเขื่อนบนหลังคาถ้ำ ฉันเข้าครัวทำอาหาร สามีไปช่วยผู้ชายทำงาน เขาเล่าให้ฟังว่า หลายคนช่วยกันงัดหินก้อนมหึมา งัดเท่าไรก็ไม่ขยับ หลวงปู่บอกให้ทุกคนหลีกไป ท่านใช้ไม้เท้างัดทีเดียว หินขยับอย่างง่ายดาย ทุกคนช่วยอีกแรงก็สามารถเอาขึ้นได้ แต่ละคนงุนงง ระคนตื่นเต้นว่า หลวงปู่ทำได้อย่างไร ท่านไขข้อข้องใจว่าของอย่าง นี้มันต้องอาศัยจังหวะ
      
       กลับจากถ้ำวันนั้น สามีเริ่มมีอาการปวดกล้ามเนื้อแขนข้างขวา จนต้องไปรักษาแต่ยังไม่หายขาดอยู่ดี ไปหาหมอนวดแผนโบราณ ก็ได้แต่ค่อยยังชั่ว เรียกว่าศรัทธาเกินกำลัง ทุกวันนี้กล้ามเนื้อแขนอักเสบเรื้อรัง ต่อมาเวลาชมรมฯมีงานโยธาอะไร พอเขาจะเข้าไปช่วย หลวงปู่จะปรามว่า "มึงไม่ต้อง ถอยไป ให้คนหนุ่มเขา ทำเถอะ มึงแก่แล้ว" ท่านจะเรียกใช้แต่งานเบาๆ เช่น เขียนโน่น จดนั่น บันทึกนี่ ฯลฯ
      
       อีกวันหนึ่ง ขณะที่หลวงปู่นั่งสนทนากับลูกหลานที่ศาลาประชา ร่วมใจ ฝนเทลงมาอย่างหนักจนที่มุมหลังคาซึ่งช่างทำช่องโหว่ไว้สี่ด้านเพื่อให้ลมพัด ผ่านหลังคาจะได้ไม่เปิด มีน้ำฝนไหลลงมาจ๊อกๆ ยกเว้นมุมที่หลวงปู่นั่ง พวกเราขยับมารวมตรงกลาง แล้วเฝ้าสังเกต ว่า เมื่อไหร่ช่องโหว่ตรงศีรษะหลวงปู่จะมีน้ำหยดลงมาสักที ฉัน อดรนทนไม่ได้ จึงชี้ให้สามีดูแล้วกระซิบกระซาบกันสองคน
      
       หลวงปู่แกล้งถามว่า "มึงพูดอะไรกัน"
      
       เขาถามว่า "ทำไมตรงที่หลวงปู่นั่งน้ำไม่หยดครับ"
      
       ท่านทำหน้าไม่รู้ไม่ชี้ "มึงมันโง่ ก็ตรงนี้เขาทำดี ไม่มีรูรั่ว น้ำ ก็ไม่หยดซี" ท่านแก้ตัวไปอย่างนั้น มันมีรูทุกมุมแหละ
      
       สักครู่พอฝนซา ท่านก็ขยับตัวพร้อมกับพูดว่า "กูจะไปเยี่ยวสักหน่อย"ท่านใช้ภาษาไทยแท้ๆ ตรงๆ อย่างนี้เสมอ
      
       พอท่านลุกเดินพ้นศาลาเท่านั้นแหละ ตรงที่ท่านนั่ง ก็มีน้ำไหลพรูลงมาทันที คนที่นั่งใกล้ที่สุดคว้าเบาะรองนั่งสีแดงหลบแทบไม่ทัน พวกเราวิพากษ์วิจารณ์กันจนปากบิด ตื่นเต้น! หลวงปู่เล่น ฤทธิ์ให้ดูอีกแล้ว
      
       วันหนึ่ง ขณะที่เราสองคนนั่งดูหลวงปู่ปั้นลูกอมในถ้ำ ฉันพาซื่อรับอาสาจะช่วยท่านปั้น เพราะเห็นว่าง่ายๆ เหมือนปั้นบัวลอย ท่านหัวเราะหึๆ "มึงน่ะรึ จะช่วยปั้นลูกอม"
      
       สามีสะกิดแขน ฉันฉุกคิดได้ว่า นี่ไม่ใช่ทำขนมนะ ท่านกำลัง ทำวัตถุมงคล สังเกตท่านจะนิ่งสงบขณะที่ใช้นิ้วมือคลึงลูกอมบนฝ่ามืออีกข้างหนึ่งช้าๆ ก่อนจะเรียงใส่ถาดให้เต็มแล้วนำไปผึ่งแดด แล้วฉันเป็นใครบังอาจคิดช่วยท่านทำของสูงอย่างนี้ ลืมไปขอโทษที
      
       ตอนหนึ่งท่านเปรยว่า ที่วิทยาลัยครูมีช่างเขียนภาพระบายสีบ้างไหม สามีตอบว่า มีหลายคน แล้วย้อนถามว่าทำไมหรือ ท่าน นิ่งไม่ตอบทันที มือยังคงปั้นลูกอมอย่างบรรจง แล้วค่อยๆ วางบนถาด สายตาจับจ้องที่มือ นี่เป็นการใส่พลังขณะปั้นกระมัง
      
       สักครู่ท่านตอบว่า "กูมีภาพพิมพ์ของท้าวจตุโลกบาล กำลังหาช่างเขียนลงบนผ้าแล้วระบายสี ใส่กรอบเสร็จจะเอาไปแขวนที่โบสถ์วัดอ้อน้อยไว้ให้คนดู เพราะภาพเหล่านี้ นับวันก็จะหาดูได้ยากขึ้นทุกที"
      
       สามีรีบรับอาสา แต่พอได้ภาพมาแล้วก็ไถล เอาภาพไปซุกใต้หิ้งนางกวัก วันแล้วก็วันเล่า แทนที่จะรีบติดต่อช่าง จากวันนั้นเราก็มีเรื่องระหองระแหงไม่หยุดหย่อน ความจริงเราสองคนมักมีความเห็นไม่ค่อยลงรอยกันอยู่แล้ว แต่คราวนี้รู้สึกหนักข้อ เรื่องไม่เป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่อง พอดีพี่บุญล้อมมาชวนฉันไปค้างถ้ำ ฉันรับปากทันที เก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋า ขึ้นรถอาจารย์ไป เป็นครั้งแรกที่ไปถ้ำกับคนอื่น และไม่มีสามีไปด้วย ถึงถ้ำหลวงปู่กำลังฉัน เพล เราสองคนตรงเข้าไปกราบ
      
       ท่านทักทันทีว่า "อีนี่ทะเลาะกับผัวมา" ฉันสะดุ้งในใจ หลวงปู่ เล่นอภินิหารอีกแล้ว คนอื่นไม่รู้หรอก แม้แต่พี่บุญล้อม เพราะฉันไม่เล่าให้ฟัง ต่างนึกว่าท่านพูดเล่น อาจารย์เอ่ยปากขออนุญาตค้างที่ถ้ำ ท่านพยักหน้า
      
       คืนนั้นฉันนอนห้องใต้ถุนศาลากับป้าภา ซึ่งมาจากกำแพงแสน ป้าเคยมากับคุณยายทองห่อ ครั้งที่เณรมาธุดงค์ พี่บุญล้อมใจกล้า มากนอนกางกลดในถ้ำ ตกดึกป้าภาไม่สบาย ตัวร้อนจัด ต้องไปเอาน้ำร้อนที่ครัวมาให้ อุตส่าห์เดินย่องเพื่อไม่ให้รบกวนหลวงปู่ ท่านก็ยังได้ยิน ถามว่าทำอะไร ตอบว่ามาเอาน้ำร้อนให้ป้า ตอนหมุน ตัวกลับ หัวดันไปชนกับแง่ไม้ใต้ถุนกุฏิ ร้องอูย! มือคลำป้อย หลวงปู่เอ็ดมีถึงสี่ตา (สวมแว่น) ยังเดินชนโน่นชนนี่ ซุ่มซ่าม!
      
       ตั้งแต่นั้นมาท่านก็เรียกฉันว่า "อีบอด" ใครมาอยู่ถ้ำมีสมญานามตามบุคลิก ฉันซึ่งเป็นคนซุ่มซ่าม เดินชนโน่นชนนี่ประจำ บางครั้งเดินผ่านหน้าศาลา ซึ่งมีคนนั่งสนทนากับหลวงปู่ ยังลื่นถลา ไปตามพื้นที่ขรุขระไม่เสมอกัน ก้นกระแทกจ้ำเบ้า เป็นที่ขบขันของผู้คน ส่วนสามี ท่านเรียกว่า "ไอ้หมู" "ไอ้อ้วน" ท่านไม่เคยสนใจ ถามไถ่ชื่อใครทั้งนั้น
      
       วันรุ่งขึ้น พี่บุญล้อมลากลับ ฉันค้างต่อ ป้าภากลับนครปฐม ต้องนอนคนเดียว รู้สึกกลัว อิ๋ว (วิจิตรา ไชยสิงห์) แฟนพี่เดชก็แสนดี รับอาสานอนเป็นเพื่อน คืนนั้นดึกแล้วมีเสียงปืนดังมาจากข้างล่าง หลวงปู่รีบลุกจากกุฏิมาปลุกจ่าเวียง ซึ่งนอนอยู่บนศาลา ให้จ่าลงไปดูคนที่มายิงสัตว์ ฉันกับอิ๋วตื่นขึ้นมาคุยกันหนุงหนิงตามประสาผู้หญิง หลวงปู่ใช้ไม้เท้าตีประตูห้องน้ำซึ่งเป็นสังกะสีเสียงดังปัง เราสะดุ้ง ตกใจนึกว่าฟ้าถล่ม เพราะห้องนอนอยู่ติดกับห้องน้ำ เสียงจึงดังชัด
      
       ท่านเทศนา "อีนี่! ช่างพูดจริงๆ มิน่าผัวมันถึงเอามาปล่อยถ้ำ" ใครบอกปล่อยถ้ำ ฉันหนีมาเองต่างหาก (อิ๋วบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับ หลวงปู่ เป็นอีกมุมมองหนึ่ง อ่านได้ในเล่มนี้)
      
       คืนต่อมาต้องนอนคนเดียว หลวงปู่ไม่ว่าอะไร เพราะมีทหารเอย ตำรวจพลร่มเอย นอนค้างหลายคน บ้างก็ค้างบนศาลา บ้างก็นอนในถ้ำ แต่ท่านจะพูดกระเซ้าเย้าแหย่เป็นเชิงเตือนสติตลอดเวลาเกี่ยวกับเรื่องระหอง ระแหงกับสามีว่า จะทำอะไรให้นึกเสมอว่าไม่ใช่มีกันแค่สองคน แต่นี่ลูกก็มี คิดถึงหัวอกลูกบ้าง อย่าสร้างปัญหาให้ลูกซึ่งไม่รู้อะไรด้วยเลย ก่อนจะรักกันชอบกัน แต่งงานกันทำไมไม่ดูให้ดี มาถึงป่านนี้จะโทษใครล่ะ เราเป็นคนเลือกทางเดินเองไม่ใช่หรือ ฯลฯ
      
       ตลอดเวลาที่อยู่ถ้ำ ๕ วัน ต้องทำงานสารพัด งานครัวเอย งานต้อน
       รับแขก งานขนดินขนหิน ถึงเหนื่อยแต่ก็สุขใจ ฉันไม่ใช่คน
       ขยันนัก สุขภาพไม่ค่อยจะดี ทำงานหนักไม่ไหว เหนื่อยมาก
       ก็เป็นลม จึงคอยหลบและอู้งานตลอดเวลา อาศัยทำตลกหากินไปวันๆ
       หลวงปู่รู้ทันเรียกมาให้ทำโน่นทำนี่เสมอ บางครั้งก็ดุด่าแรงๆ ถ้าขี้เกียจ
       มาก ดูๆ ไปเหมือนพระฤๅษีกับเจ้าลิงน้อยจอมทะเล้น
      
       แรกๆ ฉันก็ไม่ค่อยถูกคอกับคุณปราณีนัก เพราะเธอเป็นผู้ดี
       มีเงิน เธอจู้จี้พิถีพิถันมาก คงเกรงว่าคนหน้าตาท่าทางบ๊องๆ อย่าง
       เราจะทำอะไรเสียหาย ฉันก็พยศแกล้งดื้อไปอย่างนั้นเอง นิสัยรักอิสระอยู่
       แล้วเรา จี๋จ๋ากับใครไม่เป็น หลวงปู่เตือนสติฉันเสมอว่า อย่าทำให้
       เสียสมดุลในชีวิต ติดข้องในอารมณ์ใดๆ เลย ฉันก็ดื้ออีก
      
       ท่านบอกว่า "ระหว่างมิตรกับศัตรู ก็คือครูของเราทั้งนั้น"
       ฉันรู้และซาบซึ้งว่าท่านกำลังสอนเรา แต่ภายนอกทำเป็นคอแข็งไปอย่างนั้น
       เพื่อความสะใจ พออยู่ได้สัก ๒ วัน คุณปราณีก็เริ่มเข้าใจ
       ในตัวฉันว่าไม่มีอะไรหรอก ท่าทางภายนอกดูแข็งๆ จริงๆ ฉันเป็น
       คนใจอ่อน ติดตลก ทำครัวเป็นเหมือนเธอ และรักษา
       ความสะอาด ความเป็นระเบียบไม่น้อยไปกว่าเธอ เราไม่ใช่เด็กแล้ว
       หนำซ้ำยังเป็น ครูบาอาจารย์สอนศิษย์มาก็หลายรุ่น คงไม่เฟอะฟะหรอกนะ
       ต่อมา เราเข้าใจกัน ถูกคอกัน เรื่องก็จบ
      
       หลวงปู่ด่าว่า "อีนี่! ตอนแรกก็ทำท่ายังกะจะกัดกันให้ตาย
       ตอนนี้คุยกันกระหนุงกระหนิง" กับคุณวันเพ็ญก็เหมือนกัน เธอเป็นคน
       สวยเรียบร้อย ฉันเป็นคนโฉ่งฉ่าง เธอก็คอยระวังว่าฉันจะทำอะไร
       เสียหาย อย่างเช่นฉันล้างจานมีเสียงดังกระทบกัน เธอจะปรามว่า
       อย่าให้ดัง ฉันก็แกล้งทำให้ดังกว่าเก่า เธอพูดอ่อยๆ ว่า "ที่ฉันเตือนเธอนี่
       ไม่ใช่อะไรหรอก ฉันไม่อยากให้ถูกหลวงปู่เอ็ดรู้มั้ย ใครล้างจานดังๆ
       จะถูกหลวงปู่ด่า" ฉันฟังแล้วก็เลยใจอ่อน ลดพยศ ลงไปนิดหนึ่ง
      
       พอฉันแสดงฝีมือแกงเขียวหวานไก่ให้เธอเลี้ยงพระที่ถ้ำ เธอพอใจมาก ตั้งแต่นั้นมาเราก็เข้าใจกัน เพราะเรามีอัตตาสูง มีทิฐิมานะ เราจึงเกิดการแข่งดี สุดท้ายก็หมดดี สังคมไหนๆ ก็มีคนประเภทนี้ ถ้าเราลดตัวอัตตากับทิฐิลงได้ สังคมนั้นจะไม่มีปัญหา หลวงปู่จึงเน้นหนักหนาว่า ก่อนจะขึ้นถ้ำ ขอให้ถอดยศ ตำแหน่ง หัวโขน ไว้ที่ตีนบันได แล้วปีนตัวเปล่าๆ ขึ้นมา มาทำดีแต่ไม่ใช่อวดดี ทุกคนก็รู้แต่ไม่วายน็อตหลุดกันอยู่เสมอ
      
       คุณสมจิตเจ้าของโรงแรมหัวหินพาเลซ เป็นเพื่อนกับครอบครัวคุณไก่ เอาอาหารอย่างดีประณีตมาถวายหลวงปู่เสมอ เธอมักจะสั่งฉันให้ช่วยอุ่นกับข้าวแล้วเก็บให้ดี เพราะพอจะรู้ว่าไว้ใจได้ เธอเรียกฉันเสียไพเราะเพราะพริ้งว่า "คุณบอด" ต่อมาเธอมาถ้ำน้อยลงเพราะมีปัญหาเจ็บเข่า อายุก็ ๕๐ กว่าแล้ว ต้องปีนบันได ๒๐๐ กว่าขั้น บางคนไม่ชอบเธอหาว่าท่าทางเจ้านาย เป็นธรรมดาของคนมั่งมีทรัพย์สินและบริวารเป็นสิบ ท่าทางย่อมองอาจฉะฉาน ถ้าเราไปอยู่ตรงนั้นคงเหมือนกัน สิ่งแวดล้อมหล่อหลอมบุคลิก-ภาพของคน ที่จริงเธอก็น่ารักดี ผิดด้วยหรือที่เธอเกิดมารวย แล้วเรามาเขม่นเขาก็ไม่ถูก จะกลายเป็นอิจฉาไปหรือเปล่า เมื่อมาอยู่ในสังคมชาวถ้ำ ทุกคนมีศักดิ์และสิทธิ์เสมอกัน ทุกคนเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตายเท่ากัน แล้วจะมาโกรธขึ้งอะไร กัน เราก็คบกันไปตามมารยาท มีอะไรจะสงเคราะห์กันได้ก็สงเคราะห์กันไป อย่าไปหวังพึ่งพาอะไรเขาก็แล้วกัน จงพึ่งตัวเองให้ได้ นั่นเราจะสามารถเชิดหน้าหยิ่งทรนงเฉกเช่นหลวงปู่
      
       มีพระหนุ่มซึ่งเป็นหลานของพี่สมชายมาอยู่ด้วย ชื่อ "หลวงพี่ สมเกียรติ" เป็นอันว่าตอนนี้ที่ถ้ำมีหลวงพี่สมเกียรติ กับหลวงพี่ทิฟฟี่ พี่สมชายเป็นตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร หัวหิน ฉายานักเทศน์นอก ธรรมาสน์ เทศน์เก่งจริงๆ พูดตั้งแต่หัวค่ำยันสว่าง! หลวงปู่เบะปาก "ไอ้พวกดีแต่พูด"
      
       คุณพงศักดิ์ศิษย์รุ่นแรกๆ ประธานชมรมธรรมะอิสระกรุงเทพฯ มากราบนมัสการหลวงปู่พร้อมด้วยภรรยาคือ คุณรำไพ มาทำบุญ เนื่องในโอกาสครบรอบแต่งงาน (คงไม่น้อยกว่า ๒๕ ปี) คุณพงศักดิ์ อายุราวๆ ๖๐ ปีขึ้นไป หน้าตาดีเป็นชาวจีน ส่วนคุณรำไพหน้าตา สะสวยแบบนางเอกหนังจีน สมกันราวกับกิ่งทองใบหยก เขามาแจ้งให้หลวงปู่ทราบอีกว่า ขณะนี้สำนักสงฆ์ธรรมอิสระได้รับอนุญาต จากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นวัดแล้ว ใช้ชื่อว่า "วัดอ้อน้อย"
      
       วันนั้นคุณนพพร ซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาฯ ของชมรมก็มาด้วย พร้อมกับคุณนงลักษณ์ซึ่งเป็นเลขาฯของคุณนพพรอีกที คุณนพพร มีอายุราว ๕๐ ปีขึ้นไป ร่างสูงใหญ่ สวมแว่นสายตา เสียงทุ้มลึก มีกิจการเกี่ยวกับอิมปอร์ตเอ็กซ์ปอร์ต (ขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ) เขาเคยไปทำบุญที่วัดอ้อน้อยครั้งแรกตามคำชักชวนของเพื่อนเมื่อ ๒-๓ ปีที่แล้ว เขามีสายตาแหลมคมประกอบกับไปมาหลายวัดแล้ว เรียกว่าท่องเที่ยวช่ำชองในยุทธจักรดงขมิ้นมามากต่อมาก จึงรู้ดีว่าอะไรเป็นอะไร รู้สึกสะดุดใจในปฏิปทาของหลวงปู่ เขาบอกกับตัวเองว่าหลวงปู่มิใช่พระธรรมดาอย่างที่เคยพบเห็น หลวงปู่ยังอยู่เหนือกว่าคนไม่ธรรมดาเสียอีก มันยากที่จะอธิบายถ่ายทอดภาพลักษณ์ของหลวงปู่ออกมาเป็นตัวอักษร
      
       ชาติหนึ่งของท่านน่าจะเทียบได้กับพระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ยัง ไม่สำเร็จกิจในศาสนา แต่ขอมาโปรดสัตว์ผู้มืดบอดสักระยะหนึ่งก่อน
      
       ท่านเป็นพระที่เชื่อมต่อระหว่างยุคสมัยของพุทธกาลกับสมัยโลกาภิวัตน์ สหลวงปู่เป็นได้ทุกอย่างที่อยากจะเป็น ด้วยเหตุเช่นนี้ เขาจึงตัดสินใจยอมมอบกายถวายชีวิตให้กับหลวงปู่ นอกจากจะถวายเงินให้วัดเดือนละ ๕,๐๐๐ บาททุกเดือนดังที่กล่าวมาก่อนหน้านี้แล้ว ยังมอบโทรศัพท์พร้อมทั้งจ่ายค่าโทรศัพท์ให้วัดทุกเดือน และให้รถแวนพร้อมคนขับมารับใช้หลวงปู่ทุกครั้งที่หลวงปู่จะมีกิจธุระไปไหน ระยะหลังๆ เอารถมาทิ้งไว้ให้จ่าเวียงคอยขับรถรับใช้หลวงปู่
      
       นอกจากคุณพงศักดิ์กับคุณนพพรแล้ว อีกท่านหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้คือ คุณชวลิต บุญนุช ทำงานบริษัทไม้อัดไทย เขาเป็นคนละเอียด ช่างสังเกต ไปมาหลายวัดเช่นกันยังไม่เคยประทับใจพระรูปใดเท่าหลวงปู่ เขาตระหนักแก่ใจว่า เขาพบแล้ว
      
       ที่เอ่ยมาทั้งหมดสามท่านล้วนแล้วแต่เป็นศิษย์เอกรุ่นแรกๆ ของหลวงปู่สเป็นกำลังและแขนขาอันสำคัญยิ่งของหลวงปู่ ทั้งสามจะมากราบนมัสการหลวงปู่พร้อมกันเสมอ
      
       หลวงปู่จะแนะนำพวกเราชาวถ้ำศิษย์น้องให้รู้จักศิษย์พี่ คารวะ ทักทายกันตามระเบียบ
      
       ขณะนี้ย่างเข้าฤดูฝน ฉะนั้นที่ถ้ำจึงมียุงชุม กัดเจ็บขึ้นตุ่มแดงทันที หลวงปู่คิดทำยากันยุงไว้ใช้ จึงลงมือในบ่ายวันหนึ่ง วันนั้นไม่มีคนภายนอกมาหา (ท่านเคยทำไปแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อตอนพระเณรมาธุดงค์) มีฉัน คุณปราณี หก-ลูกชายของพี่เฉลิมชัย หลวงพี่ทิฟฟี่ ส่วนผสมของยามีน้ำมันมะพร้าว ดอกไม้ที่บูชาพระจนเหี่ยวแล้วตากแห้งบดละเอียด ว่านหางจระเข้สับละเอียด ฯลฯ แต่งกลิ่นด้วยยูคาลิปตัส ฉัน คุณปราณี และหก ช่วยกันสับว่านหางจระเข้ หลวงพี่ทิฟฟี่ก่อไฟหน้าถ้ำ ใช้ปี๊บหุง หลวงปู่คอยใส่ส่วนผสม เคี่ยวจนได้ที่ เก็บไว้หน้ากุฏิหลวงปู่ ใครอยากใช้ก็ได้ เชิญไปหยิบเอา
      
       บ่ายวันหนึ่งหลวงปู่ใช้น้ำมันชโลมตัวจนทั่ว ปากก็พูดว่า "กูหล่อแล้ว ไปละ"
      
       หกอดขำท่าทางของหลวงปู่ไม่ได้ ท่านผลุบหายเข้าป่าไปสักครู่ โผล่หน้ามาที่ครัวอีก แล้วพูดว่า
      
       "เมื่อกี้ ยุงกัดกูตัวหนึ่ง แต่มันกัดน้อยลงกว่าทุกที กูต้องเพิ่มตัวยาเข้าไปอีก"
      
       ถามท่านว่าไปเอาสูตรมาจากไหน
      
       ท่านตอบว่า "กูคิดเอง ทำส่งๆ ไปอย่างนั้นแหละ" ท่านพูดถ่อมตัวอีกแล้ว ใครมาที่ถ้ำต้องทายาของท่าน ซึ่งก็ได้ผลพอสมควร ไม่มีอันตรายใดๆ ด้วย
      
       พออยู่ครบ ๕ วัน เก็บเกี่ยวประสบการณ์มากมายเหมือนอยู่ ๕ เดือน เพราะหลวงปู่มีกิจกรรมมากมายในแต่ละวัน ฉันขออนุญาตกลับบ้าน ความจริงก่อนหน้านั้น สามีพาลูกชาย (โป้ง) มาหา แต่ฉันไม่กลับ เล่นตัว
      
       หลวงปู่พูดติดตลกว่า "มึงสองคนรู้จักกูไม่นาน แล้วมึงก็โกรธ กับผัว มาหากู เดี๋ยวผัวมึงจะเข้าใจผิดนะ"
      
       แต่ท่านก็ไม่เคยเอ่ยปากไล่ เพราะที่ถ้ำจะมีผู้คนมาค้างไม่ขาดสาย โดยมีทหารตำรวจยืนพื้น นอกนั้นเป็นชาวบ้านชาวหัวหิน หนองพลับ ก่อนกลับท่านให้โอวาทด้วยความเมตตา ดุจพ่อให้โอวาทลูกคนหนึ่ง ใจความว่า
      
       ขอให้ทำหน้าที่ภรรยาที่ดีต่อสามี เป็นแม่ที่ดีของลูก หนักแน่น อดทน เยือกเย็นดุจน้ำที่มีพลัง แต่มันเข้าถึงทุกที่ และอวยพรให้โชคดี ฉันก้มลงกราบด้วยความซาบซึ้ง ปลื้มปีติที่ท่านเมตตาด้วยดีตลอดมา ลาที แต่ไม่ใช่ลาก่อน คงต้องมาอีก
      
       กลับถึงบ้านก็พูดคุยกับสามีเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แรกๆ เขาทำเฉยเมย พูดอะไรงึมงำฟังไม่รู้เรื่อง ฉันเดินหนี ไม่เถียง เฉยอย่างเดียว มีหน้าที่ก็ทำไป เขาเห็นฉันเฉยเย็นชา สุดท้ายก็ยอมอ่อนข้อ ไม่หาเรื่องอีก จำไว้นะคุณภรรยาทั้งหลาย เราจงเฉยอย่างเดียว ปล่อยให้เขาบ้าไปคนเดียว บ้าไปได้ไม่นานหรอก เดี๋ยวก็หมดแรง
      
       วันที่ ๒ พฤษภาคม เป็นวันที่พระเณรจะลาสิกขาบท แต่ไม่หมดทุกรูป เป็นอย่างนี้ทุกปี ปีนี้อยู่ต่อประมาณ ๒๐ รูป ลูกชาย (เปี๊ยก) กับเณรต๋องเด็กข้างบ้านขออยู่ต่อ ค่อยลาสิกขาวันที่ ๑๐ ชาวคณะถ้ำไก่หล่นไปร่วมพิธีหลายคน บางคนไปรับลูกกลับ หลวงปู่ให้พระทิฟฟี่ไปงานครั้งนี้ด้วย ท่านต้องการให้หลวงพี่ทำความรู้จักคุ้นเคยกับพระที่วัด
      
       หลวงปู่ตีหน้าตายเวลาพูดกับหลวงพี่ว่า "ผมจะแนะนำให้คุณรู้จักกับอาจารย์ของผม"
      
       หลวงพี่ขมวดคิ้ว แปลกใจที่หลวงปู่มีอาจารย์ ลูกศิษย์ยังเก่งขนาดนี้ อาจารย์จะขนาดไหน "ใครครับอาจารย์หลวงปู่"
      
       ท่านตอบหน้าตาเฉย "อาจารย์คเชนทร์ครับ"
      
       เท่านั้นแหละฉันระเบิดเสียงหัวเราะก้องถ้ำจนหลวงปู่ซึ่งปั้นหน้าให้ เฉยที่สุด ต้องหัวเราะตาม หลวงพี่ยิ่งขมวดคิ้วหนักเข้าไปอีก ไม่เข้าใจว่าเราขำอะไรกันหนักหนา
      
       อาจารย์คเชนทร์ คือ "ไอ้คเชนทร์" ของใครๆ แห่งวัดอ้อน้อย เด็กวัดจอมเป๋อ ลูกชายยายพูแม่ครัววัด คนลพบุรี รูปร่างผอม เพรียวเรียวชลูดคล้ายยีราฟ ผิวดำ ฟันเหยินคับปาก พูดติดอ่าง เคยสร้างวีรกรรมต๊องๆ หลายอย่างเช่น เปิดตู้เย็นของวัดแล้วประตูตู้หลุดติดมือมา ฯลฯ
      
       จ่าเวียงเป็นคนขับรถพาหลวงพี่ทิฟฟี่ไป พอถึงวัดฉันแนะนำให้หลวงพี่รู้จักกับอาจารย์คเชนทร์ของหลวงปู่ทันที หลวงพี่ทำหน้าชอบกล คงรู้แล้วว่าฉันขำอะไร ฉันแกล้งพูดยกยอคเชนทร์ บอกเขาว่าหลวงปู่ให้ดูแลหลวงพี่ด้วย เท่านั้นแหละ คเชนทร์ประกบหลวงพี่แจทีเดียว หาน้ำมาให้ดื่ม เวลาพูดก็นั่งพับเพียบพนมมือแต้ เสียงติดอ่างตะกุกตะกักในลำคอ วางมาดเป็นมัคคุเทศก์ได้ดีเกินคาด ฉันกลั้นหัวเราะจนเจ็บท้อง
      
       รุ่งขึ้นมีพิธีพระเณรลาสิกขาบท เจ้าคณะจังหวัดติดธุระ จึงให้เจ้าคณะอำเภอฯ เป็นประธานแทน ทางวัดแจกยันต์สวัสดิกะกับเงิน ๒๐๐ บาท พระเณรที่เพิ่งสึกกับที่ยังอยู่ร้องไห้อาลัยอาวรณ์ กันยกใหญ่ ราวกับทำพิธีกงเต็ก เป็นอย่างนี้ทุกปี
      
       วันที่ ๔ พฤษภาคม คณะพระเณรที่เหลือรวมทั้งแม่ครัววัดอ้อน้อย เช่ารถบัสมาทัศนาจรเพชรบุรี แวะเที่ยวถ้ำเขาย้อย เขาบันไดอิฐ วังบ้านปืน หาดเจ้าสำราญ สุดท้ายแวะที่ถ้ำไก่หล่น กราบนมัสการหลวงปู่แล้วกลับวัด
      
       วันที่ ๑๐ พฤษภาคม ลาสิกขาบทเกือบหมด เหลือเณร ๒-๓ รูป เข้าใจว่าคงจะอยู่กับวัดแล้วเรียนหนังสือแถวนั้น เพราะมีปัญหาครอบครัวยากจนซึ่งจะมีอย่างนี้ทุกปี หลวงปู่รับอุปการะไว้หลายคนแล้ว แม้ท่านจะไม่ได้อยู่ในวัด
      
       ฉันเร่งให้สามีหาช่างมาเขียนภาพท้าวจตุโลกบาล คนแรกที่เราไปหาเป็นอาจารย์ในวิทยาลัยครู เขาไม่มีเวลาเพราะขี้เกียจ แถม ติดเกมกีฬาบัตร ไปหาอาจารย์สอนศิลปะโรงเรียนประถม เขาก็แนะนำให้ไปหาช่างเขียนภาพลายไทย ที่อยู่วัดบันไดอิฐของหลวงพ่อแดง ซึ่งเราไม่รู้จัก และมีคนบอกว่าช่างพวกนี้จะติดคิวยาว เราจึงไปหาช่างที่หน้าวัดคงคารามชื่อประสม ใครๆ เรียกช่างสม เราเรียกลุงสม ลุงสมเป็นชายชราวัย ๗๐ ร่างเล็กผอม หน้าตาเหมือนภาพเขียนตัวพระ (อยู่กับภาพไทยๆ หน้าเลยไปทำนองนั้น) พอฉันส่งภาพให้ดู ลุงสะดุ้งราวกับถูกเข็มแทง รีบม้วนภาพคืน พูดหน้าตาตื่นสำเนียงคนเพชรว่า
      
       "หนูไปเอาภาพนี้มาจากไหน"
      
       "จากพระค่ะ"
      
       "พระวัดไหน"
      
       "ไม่มีวัดค่ะ"
      
       "พระที่มีภาพอย่างนี้ต้องมีดีนะหนู นี่ไม่ใช่ภาพเขียนเล่นๆ เป็นภาพของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ เป็นราชาของเทวดาเลยเชียวแหละ จะเขียนส่งๆ ไม่ได้ หนูเที่ยวถือห้อยๆ อย่างนี้ไม่ถูกหรอกจ้ะ"
      
       ฉันสะดุ้งรีบยกภาพถือเสมออก
      
       ลุงร่ายต่อไปว่า "บ้านของลุงเป็นสองชั้น จะเอาภาพท่านมาเขียนชั้นล่างก็ไม่สมควร ภาพอย่างนี้ต้องเขียนในโบสถ์ ให้พระเขียนแหละดี ก่อนเขียนต้องทำพิธีบวงสรวง ลุงคงไม่ทำหรอก ดีไม่ดีเข้าตัว"
      
       ฟังลุงสมบรรยายเสียยืดยาว จึงรู้ว่าภาพนี้เป็นภาพสำคัญ แสดงว่าที่แล้วมาทำผิดพลาดหมด มิน่าล่ะ ครอบครัวถึงไม่มีความ สุข เกิดปัญหาอลวนอลเวงไปหมด เอาท่านไปวางใต้หิ้งนางกวัก ซึ่งมีชั้นต่ำกว่า ขนาดเรามิได้มีเจตนาจะลบหลู่ท่านเลย ยังถูกสั่งสอน เบาะๆ ฉันต้องไปตกระกำลำบากอยู่ที่ถ้ำทำงานรับใช้หลวงปู่ตั้ง ๕ วัน เพื่อไถ่โทษ สามีกับลูกก็ต้องถูกทอดทิ้งให้ลำบากที่บ้าน เพราะไม่มีแม่บ้าน
      
       ลุงสมอธิบายอีกว่า นี่เป็นภาพศิลปะฮินดู คงหาช่างเขียนยาก เพราะการให้สีไม่เหมือนกับศิลปะไทย แกแนะนำให้ไปหาพระที่วัดมหาธาตุ เราก็ไปแต่พระรูปนั้นไม่อยู่ เราจึงกลับบ้าน เปี๊ยกลูกชาย ซึ่งเพิ่งสึกมารับอาสาเอาไปให้อาจารย์ที่โรงเรียนพรหมานุสรณ์วาด นึกว่าเรื่องจะจบแค่นั้น ที่ไหนได้อาจารย์ท่านนั้นไม่ได้วาดเลย เพราะ ตั้งแต่รับรูปไป แกก็ล้มป่วยลง ติดตามด้วยพ่อและภรรยา ก็แกเอาภาพไปซุกที่พื้นมุมบ้าน ช่างสมัยใหม่ไม่คิดอะไร ฉันไม่บอกอะไรทั้งนั้นกลัวเขาตกใจ เขาโอนภาพไปให้อาจารย์โรงเรียนเดียวกัน ซึ่งวาดภาพเก่งเช่นกัน แต่ก็ไม่ได้วาดอีกนั่นแหละ แกดื่มแต่สุราจนล้มป่วย ต้องเข้าโรงพยาบาล อยู่ได้ไม่ถึงปีก็เสียชีวิต (สำหรับรายนี้ เป็นโรคพิษสุราเรื้อรังอยู่แล้ว) ผลสุดท้ายเราจนปัญญา จึงเรียนหลวงปู่ว่าหาช่างไม่ได้ เล่าเรื่องให้ท่านฟังทั้งหมด ท่านเงียบอยู่ครู่หนึ่ง จึงมีอรรถาธิบายว่า
      
       "ท้าวจตุโลกบาลเป็นราชาแห่งเทวดาขั้นมหาราชทีเดียวเชียวแหละ ทำหน้าที่รักษาทิศทั้ง ๔ มีท้าวเวสสุวรรณประจำทิศเหนือ ท้าววิรูปักษ์ประจำทิศตะวันตก ท้าวธตรฐประจำทิศตะวันออก ท้าววิรุฬหกประจำทิศใต้ เพียงแต่รูปก๊อปปี้ที่มึงเอาไปก็ยังใช้บูชาได้เลย ภูติผีปีศาจกลัวกันนัก" (แล้วก็ไม่บอก โธ่!)
      
       หลวงปู่จัดการแต่งตั้งคณะกรรมการชมรมธรรมะอิสระถ้ำแก้ว มังกร (ถ้ำไก่หล่นนั่นเอง ท่านเคยชี้ให้พวกเราดูลักษณะภูเขาที่ถ้ำตั้งอยู่ว่าคล้ายมังกรคาบแก้ว เป็นลักษณะของชัยภูมิที่ดี) พี่ประยูรเป็นประธาน พี่จรรยาเป็นเลขาฯ พี่เดชเป็นรองประธานฝ่ายก่อสร้าง พี่เดิมเป็นรองประธานฝ่ายสวัสดิการ ผู้พันกิตติศักดิ์เป็นรองประธาน ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คุณสมจิตกับคุณไก่เป็นรองประธานฝ่ายจัดหาทุน คุณวันเพ็ญ คุณปราณี เป็นเหรัญญิก ฯลฯ นอกนั้นเป็นกรรมการ หลวงปู่บอกว่าเมื่อเสร็จงานแล้ว สำหรับประธานจะให้ถือครองสร้อยหินรัตนะ ตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งประธาน
      
       สร้อยหินรัตนะมีดาวสุริยะตราประจำตัวหลวงปู่ห้อยอยู่ ผู้ที่ได้ครอบครองจะต้องมีภูมิธรรมสูงมาก เป็นสัญลักษณ์ติดตามหลวงปู่มาช้านาน ฟังแล้วตาโต น้ำลายยืด ใครๆ ก็อยากได้สัมผัส สุดท้ายไม่มีใครได้ครอบครองสักคน เพราะสอบไม่ผ่าน กรรมการ ท่านอื่นๆ จะได้พระเครื่องซึ่งหลวงปู่จะขุดจากในถ้ำมาแจกให้ อีกแหละไม่มีใครได้ สอบพฤติกรรมไม่ผ่าน แต่หลวงปู่ก็แจกพระเครื่องของท่านแทน ตอนนั้นต่างลงชื่อสมัครกันยกใหญ่ แต่พอทำงานจริงๆ มีไม่เกิน ๒๐ คน
      
       วัดอ้อน้อยจะมีงานบวชชีพราหมณ์วันที่ ๑-๙ มิถุนายน ทอดผ้าป่าวันที่ ๔ มิถุนายน หลวงปู่แนะนำให้คณะกรรมการชมรมฯ ยืมเงินจากทางวัดสัก ๕๐,๐๐๐ บาทมาทำบันไดทางขึ้นใหม่ ซึ่งได้พูดถึงก่อนหน้านี้แล้ว (สร้าง ๑๙ มิ.ย. เสร็จ ๗ ก.ค.)
      
       ฉันป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์ ติดเชื้อจากตัวไรในถ้ำ อาการค่อนข้างย่ำแย่ เข้าออกโรงพยาบาลสองครั้ง ซึ่งเรื่องป่วยนี้ไม่มีใครรู้ เพราะต่างคนต่างอยู่กันไกลๆ ไม่ค่อยได้ติดต่อสื่อสารกัน นอกจาก จะไปพบหน้าที่ถ้ำเท่านั้น พอเราไปถึงถ้ำทุกคนทักทายว่าหายหน้าไปไหนตั้งนานสองนาน
      
       หลวงปู่ซึ่งกำลังนั่งยองๆ ทำงานที่โขดหินหน้าถ้ำพยักพเยิดว่า "อีนี่มันเป็นไทฟอยด์ กูว่าจะช่วยรักษามันอยู่ นึกๆ อีกทีให้เป็นหน้าที่ของหมอเขาเถอะ เก็บพลังไว้ใช้ในเรื่องที่จำเป็นดีกว่า"
      
       ไม่แปลกใจเลยที่ท่านรู้เรื่องอะไรๆ ของเรา มันง่ายดั่งพลิกฝ่ามือ ถ้าหลวงปู่อยากรู้อะไรเกี่ยวกับลูกหลาน ความที่เพิ่งสร่างไข้ พอมาปีนเขา นั่งให้ลมโชยบนศาลาประชาร่วมใจ พักเดียวก็อาเจียน ทุกคนให้ความช่วยเหลือเอื้ออาทรดี หลวงปู่บอกว่าไปนอนกลางถ้ำให้ตรงกับปล่องที่มีแสงอาทิตย์ลอดลงมารำไร จะดีขึ้น ตรงนั้นมีพลังไอสุริยัน (กลางวัน) จันทรา (กลางคืน) ฟังแล้วราวกับหนังจีนกำลังภายใน ฉันก็ไปนอน หลับยาว ตื่นขึ้นมารู้สึกสดชื่น ปกติหลวงปู่ไม่สนับสนุนให้ใครนอนกลางวัน ใครแอบนอนจะถูกด่า ค่อนขอด บางครั้งท่านแกล้งเอาฝาโอ่งสังกะสีโยนใส่ข้างๆ ดังโช้งเช้ง! ปลุกคนที่กำลังหลับให้ตกใจตื่นได้ดีนักแล
      
       เราไปร่วมงานที่วัดอ้อน้อย (๑-๙ มิถุนายน บวชชีพราหมณ์) ฉันแอบไปนอนที่ศาลาจตุรมุข (โบสถ์ซึ่งกำลังก่อสร้าง) บริเวณกลาง โบสถ์ (ที่ฝังลูกนิมิตลูกเอก) จะมีพลังเจ็ดดาวเหนือ เพื่อรักษาอาการของไข้ไทฟอยด์ (ถึงจะออกจากโรงพยาบาล แต่ยังอ่อนเพลีย มาก) หลังจากได้รับพลังไอสุริยันจันทรามาจากถ้ำแล้ว ถามว่ารู้สึกอย่างไรบ้าง ก็ดีนะ ได้นอนมากๆ หลังจากฟื้นไข้เป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว ประกอบกับบริเวณที่นอน ๒ แห่งนี้ มีอากาศปลอดโปร่ง ฉันไม่ค่อย จะเชื่ออะไรอยู่แล้ว เป็นคนที่ไม่มีสัมผัสที่หก จึงบอกอะไรมากกว่านี้ไม่ได้
      
       งานบวชชีพราหมณ์ครั้งนี้ ทางวัดจัดอาหารมังสวิรัติเลี้ยงพวกชีพราหมณ์โดยเฉพาะ เพื่อความสบายใจของพวกเขา ส่วนคนทั่วไปยังรับประทานอาหารตามปกติ หลวงปู่ไม่ถือกฎอะไรตายตัวอยู่แล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างต้องยืดหยุ่นได้ ตอนนี้ถึงวัดจะมีงาน หลวงปู่ก็ไม่เคยกลับเข้าวัด ท่านถือสัจจะ มีอะไรจะสั่งฝากคณะกรรมการให้มาประสานงานกันเอง
      
       ฉันถือโอกาสช่วงงานบวชชีพราหมณ์ ทำซาละเปาเลี้ยงผู้คน ไม่ทราบเอาเรี่ยวแรงมาจากไหน พอทำเสร็จก็หมดแรง ตกตอนเย็นบอกสามีให้พากลับบ้าน เพราะไม่ค่อยสบาย เกรงจะเป็นภาระแก่คนอื่น อายเขา เขาก็พากลับ แต่แทนที่จะเข้าบ้าน ดันวิ่งเลยไปถ้ำหน้าตาเฉย เพราะคืนวันที่ ๔ มิถุนายน เป็นวันวิสาขบูชา เราพร้อมใจกันไปเวียนเทียนที่ถ้ำกับหลวงปู่ ถึงถ้ำ มืดมากแล้ว ร่วม ๓ ทุ่ม หลวงปู่คอยอยู่เหมือนท่านจะรู้ว่าพวกเรามา เราเป็นคู่สุดท้าย ที่ไปถึงถ้ำ ไม่ทราบว่าเอาเรี่ยวแรงจากไหนมาปีนถ้ำ แรงศรัทธากระมัง ทั้งๆ ที่เพิ่งพบหลวงปู่ไม่นาน แต่ก็เคารพศรัทธา และรู้สึกคุ้นเคยเหมือนรู้จักมานาน จะเห็นว่าแรงศรัทธามีพลังมาก สามารถ ผลักดันให้ทำการใดๆ ได้สำเร็จ แต่ระวังนะจะต้องประกอบด้วยปัญญา มิฉะนั้นจะพาเราหลงทาง โง่งมงาย หลวงปู่สอนว่าอย่างนั้น
      
       พิธีเวียนเทียนเริ่มขึ้นภายในถ้ำ ท่ามกลางแสงเทียนที่ต่างแสงไฟ และท่ามกลางแสงจันทร์ที่ฉายนวลลอยอยู่เหนือปล่องเพดาน หลวงปู่เล่าประวัติความเป็นมาของวันวิสาขบูชา สิ่งมหัศจรรย์เกี่ยวกับองค์มหาบุรุษศาสดาเอกของโลก บันดาลให้พระองค์ท่านมีวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานตรงกัน เสียงหลวงปู่ก้องหูท่ามกลาง ความเงียบสงัดในถ้ำกลางป่า ไพเราะทั้งน้ำเสียงและได้อรรถรส ตั้งแต่ต้นจนจบ สะกดผู้คนให้ตรึงอยู่กับที่ จากนั้นท่านนำสวดมนต์ ยาวเสียงกระหึ่มแล้วเวียนเทียน เสร็จพิธีผู้คนทยอยกลับ ส่วนหนึ่ง เราค้างที่ถ้ำจนถึงวันอาทิตย์ที่ ๖ จึงกลับบ้าน
      
       ระหว่างอยู่ที่ถ้ำจะมีงานทำตลอดแล้วแต่หลวงปู่จะสั่ง ตกเย็นช่วยกันทำอาหารเย็นเลี้ยงกันเอง แล้วไปนั่งล้อมวงฟังหลวงปู่เล่าเรื่องสนุกๆ แทรกธรรมะให้ฟัง บางครั้งก็นั่งหน้าถ้ำ บางครั้งก็นั่งในศาลาประชาร่วมใจ เป็นบรรยากาศที่ติดตราตรึงในดวงจิตดวงใจไม่ทราบจะสรรหาคำใดมาอธิบาย
      
       ตลอดเวลาที่อยู่ถ้ำในเดือนหนึ่งๆ หลวงปู่จะปลีกตัวเข้ากรุงเทพฯ ประมาณ ๑ ครั้ง ครั้งหนึ่งๆ ไม่เกิน ๑ สัปดาห์ ทุกครั้งจะให้รถคุณนพพรมารับ พอถามท่านว่าไปทำอะไร? ไปกี่วัน? ท่านจะไม่บอก ทราบจากคุณนพพรว่า ท่านไปทำวีซ่าเตรียมจะไปธิเบต ท่านมีความผูกพันกับธิเบตมากทั้งๆ ที่ท่านไม่เคยไปธิเบต มาก่อนเลย ท่านสามารถพูดถึงชีวิต ความเป็นอยู่ ผู้คน ตลอดจน ประเทศธิเบตได้ละเอียดลึกซึ้งทุกอณูของธิเบตก็ว่าได้
      
       ท่านพูดว่า "กูต้องไปธิเบต เพราะกูมีสัญญาผูกพันกับที่นั่น มีพระอายุ ๑๒๐ ปี คอยให้กูไปส่งวิญญาณ ตอนนี้เขานอนตายอยู่ในถ้ำน้ำแข็ง"
      
       ที่ธิเบตมีประเพณีเกี่ยวกับคนตายอยู่ว่า ถ้าคนตายเป็นบุคคล สำคัญ เช่น พระผู้ใหญ่ ซึ่งเรียกว่า "คุรุ" (เป็นอาจารย์ของดาไลลามะ) เขาจะผ่าศพเอาเครื่องในออก ยัดสมุนไพรแทน หุ้มศพด้วยทองคำ เก็บศพไว้ที่วังลิโป เรื่องนี้หลวงปู่เล่าให้พวกเราฟังที่หน้ากุฏิของท่าน ฉันทำตาโตพอพูดถึงทองคำหุ้มศพ จะมีทองคำมากมายขนาดนั้นเชียวหรือ
      
       "ทำไม" หลวงปู่ย้อนถาม
      
       "ที่นั่นมีทองคำอุดมสมบูรณ์ อย่าดูถูกว่าเขาด้อยพัฒนานะโว๊ย"
      
       "แล้วทำไมธิเบตถึงเป็นประเทศที่ถูกจีนกดขี่ได้ล่ะ"
      
       "เขาเจริญทางด้านจิตวิญญาณ ไม่ใช่เจริญทางด้านวัตถุอย่างที่พวกเอ็งยกย่องกัน"
      
       คุณนพพรบอกว่าสงสัยหลวงปู่จะเป็นคุรุของดาไลลามะองค์ใดองค์หนึ่ง ฉันบอกหลวงปู่ว่าให้ท่านเทียวไปเทียวมาระหว่างไทยกับ ธิเบตก็ได้นี่นา ไม่เห็นจะต้องตัดขาดจากไทยไปอยู่ธิเบตตลอดกาล
      
       ท่านพูดว่า "คนที่นั่นเขาก็เหมือนพวกมึงนี่แหละ ไม่อยากให้กูไปไหน เขาร้องไห้อาลัยอาวรณ์เวลากูจากมา"
      
       ฉันฟังแล้วอ้าปากหวอด้วยความงุนงง ใครฟังแล้วเข้าใจช่วยบอกที !??
      
       เรื่องอย่างนี้อธิบายยาก พูดมากไปเหมือนเพ้อเจ้อ ฟังหูไว้หูก็ดี
      
       หลวงปู่เขียนบทโศลกสอนลูกหลานว่า
      
       "ลูกรัก...เชื่อผู้อื่นน่ะชั่ว ไม่ฟังผู้อื่นน่ะเลว ไม่เป็นตัวของตัวเองน่ะอัปรีย์"
      
       บางวันตอนบ่าย พวกเราจะนั่งล้อมวงสนทนากับหลวงปู่ในศาลาติดบันไดขึ้นถ้ำ ท่านจะเล่าเรื่องเก่าๆ แปลกๆ ให้ฟัง เช่น เรื่อง ปลาราหู
      
       "ในโลกนี้ไม่เคยมีอะไรทำให้กูขนลุกได้ มีไอ้ปลาราหูนี่แหละ กูเห็นกับตา มันบินร่อนเหนือน้ำ มึงเอ๋ย น่าดูจริงๆ"
      
       มีคนกล่าวว่า "ปลาราหูมีขุมสมบัติอยู่ในรังของมันมิใช่หรือ"
      
       หลวงปู่อธิบายว่า "ธรรมชาติปลาราหู เวลามันวางไข่ มันจะต้องเที่ยวคาบอะไรต่ออะไรไปสร้างรังไว้รองรับไข่ ฉะนั้นไม่แปลกอะไรที่รังของมันจะมีของมีค่า เช่น แก้วแหวนเงินทองสะสมอยู่ ก็มันเที่ยวคาบของใต้น้ำ บางทีเรือล่มมีสมบัติอยู่ในนั้น ปลาราหูก็คาบไป"
      
       อีกเรื่องท่านไปธุดงค์กับพระเณร เห็นงูเหลือมยักษ์ใช้หัวพันต้นไม้ต้นหนึ่ง หางพันต้นไม้อีกด้านหนึ่ง ตวัดน้ำในหนองให้แห้งแล้วจับปลากัน มองไกลๆ เหมือนคนแกว่งเชือก .....ฯลฯ
      
       ท่านเล่าเรื่องชีวิตในป่าได้อย่างสนุกสนาน ท่านรู้ชีวิตของสัตว์ และพืชในป่าอย่างลึกซึ้ง พวกเราก็ฟังกันหูห้อย
      
       พูดถึงพระอาจารย์ยันตระ หลวงปู่ว่า "อ๋อ! ไอ้ยันเตน่ะเหรอ" พวกเราตกใจมากที่ได้ยินท่านเรียกอย่างนั้น
      
       "โอ! หลวงปู่คะ ท่านเป็นพระอริยะเชียวนะ บ้างว่าเป็นถึงอรหันต์แล้ว"
      
       "ถุย! พระเป็นระยะๆ หันๆ หมุนๆ น่ะซี สมัยที่บวชเป็นฤๅษี เขาไปหากูที่ถ้ำแห่งหนึ่ง ขอสมัครเป็นลูกศิษย์แต่กูไม่รับ ตอนนั้นดูเขาประสาทๆ อยู่ คงเล่นกสิณมากไป ว่าไปแล้วเขาก็จัดว่าใช้ได้ อย่างน้อยก็ยังดีกว่านักบวชหลายๆ คนในยุคนี้ แต่จะมาเสียอีตรงที่มีบริวารตามหน้าตามหลังนี่แหละ ที่จะเป็นปัญหาต่อไป"
      
       ทุกคนฟังแล้วมึน คำนวณอายุของพระอาจารย์ยันตระตอนเป็นผ้าขาว หลวงปู่ร่างนี้อายุประมาณ ๑๒ ปีเท่านั้น
      
       เรื่องนี้ในเวลาต่อมา หลวงปู่เล่าให้พวกเราฟังอีกว่า สมัยท่านธุดงค์ปักกลดแถวเขาคิชกูฏ จันทบุรี ประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๖ หรือ พ.ศ.๒๕๒๘ ไม่แน่ใจ พบแม่ชีจะกระโดดน้ำตาย ท่านทักท้วงเทศนาจนหล่อนกลับใจ สาเหตุที่แม่ชีจะฆ่าตัวตายเพราะมีท้องกับพระอาจารย์ยันตระ แล้วถูกทิ้ง โอ! พวกเราถึงแม้จะเคารพนับถือหลวงปู่สักเพียงใดก็ยังทนฟังไม่ค่อยจะได้ หลวงปู่จึงตัดบทด้วยประโยคที่ว่า
      
       "เอาเถอะๆ กูไม่อยากจะพูด เดี๋ยวพวกมึงจะหาว่ากูอิจฉาที่มันหล่อกว่า คอยดูไปก็แล้วกัน อีก ๓ ปีขึ้นหนังสือพิมพ์หน้าหนึ่งเป็นข่าวใหญ่แน่นอน...กับผู้หญิงหลายคน"
      
       ฟังแล้วไม่ปักใจเชื่อเลยว่าจะเป็นจริงได้ จวบจน ๓ ปีให้หลัง เรื่องทั้งหมดที่หลวงปู่ทำนายไว้ก็กลายเป็นจริง จำได้ว่าตอนนั้นฉันกับสามีไปธุระที่คุรุสภา ตอนเดินไปหาอาหารรับประทานมื้อเช้าบริเวณร้านค้า เห็นหนังสือพิมพ์พาดข่าวตัวโตๆ มีรูปพระอาจารย์ยันตระ กับจันทิมา เราแทบช็อค! มีศิษย์เก่าของท่านหลายคนที่มาหาหลวงปู่ ต่างซักถาม เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง สุดท้ายบางคนก็เชื่อว่าเรื่องจริง แต่มีอาการเสียใจไม่ไปวัดอยู่นาน บางคนก็ไม่เชื่อจนทุกวันนี้ หาว่าพระอาจารย์ถูกองค์การศาสนาอื่นทำลาย ว่าเข้านั่น ฉันต่อว่าหลวงปู่ว่าทำไมไม่บอกพวกเราให้หูตาสว่างตั้งแต่ตอนนั้น (๓ ปีที่แล้ว) ท่านนั่งพักผ่อนอยู่ที่ศาลา สะบัดหน้าพรืดด้วยความขัดใจ ยกมือท้าวคางแล้วพูดเสียงดังว่า
      
       "เชอะ! กูจะพูดอะไรได้ล่ะ พวกมึงเชื่อกูนักนี่ หาว่ากูอิจฉา ความหล่อของมัน แค่กูเล่าเรื่องอีผู้หญิงคนนั้นท้องกับมัน พวกมึงก็ทำท่าจะตายกันแล้ว ทีนี้เป็นยังไง ยัง ยังมีอีก รายต่อไปจะได้ขึ้นหน้าหนึ่งอีก ปีหน้านี่แหละ"
      
       "ใคร? ใครคะ? "
       "อยู่แถวๆ นครปฐมใกล้ๆ วัดกูนี่แหละ"
       "แถวสามพรานใช่ไหม"
       "คล้ายๆ อย่างนั้นแหละ"
       "วัดภาวนาพุทโธใช่ไหม? "
       "มึงพูดเองนะ"
      
       ถึงเรื่องพระอาจารย์ยันตระจะเป็นจริงดังคำหลวงปู่ก็ตาม เรายังไม่เชื่ออยู่ดีว่า วัดภาวนาพุทโธจะมีเรื่องอื้อฉาวรายต่อไป สุดท้ายก็เป็นจริง พวกเราก็จะพากันตกใจว่า ไม่น่าเลย
      
       หลวงปู่บอกว่า "ยัง ยังมีอีก ต่อไปนี้จะมีข่าวเกี่ยวกับเสือเหลืองไม่ว่างเว้น ที่จริงภิกษุทำชั่วมีมาช้านาน แม้สมัยพุทธกาล แต่ที่ไม่มีใครพูดถึงเพราะสมัยนั้นการสื่อสารมวลชนไม่ได้ทันสมัยอย่างนี้ เดี๋ยวนี้พอมีเรื่อง ยังไม่ทันเช้า มันนอนฟังวิทยุรู้ข่าวแล้ว"
      
       พูดถึงหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ หลวงปู่วิจารณ์ว่า
      
       "ไอ้ลิงดำน่ะเรอะ" ฟังสรรพนามที่ท่านเรียก สะดุ้งทุกที
      
       "กูเคยเห็นมันตั้งแต่เด็กๆ อายุ ๗-๘ ขวบ"
      
       เอาอีกแล้ว ฉันเริ่มสับสนเรื่องอายุอีกแล้ว
      
       "วิ่งตะลอนๆ อยู่กลางทุ่ง หนอย ตอนนี้เผลอแผล็บเดียวเป็นพระนักเทศน์ชื่อดัง นิพพานของมันเป็นบ้านเมือง กูชักอยากได้สักหลัง หลอกหาแดกไปวันๆ คนมันก็โง่ชอบให้พระหลอก"
      
       ทุกคนนั่งฟังกันตาแป๋ว ไม่มีใครทักท้วงหรือซักถาม หลายคนคิดว่าหลวงปู่คือ พระครูเทพโลกอุดรที่มีอายุหลายร้อยปี ฉันไม่เคยคิดอย่างนั้นจึงทำตาปริบๆ จนกว่าหลวงปู่จะสำแดงร่างให้ดูจึงจะยอมเชื่อ
      
       พูดถึงพระตายแล้วไม่เน่า หลวงปู่หัวเราะเยาะว่า
      
       "มันผอมมั้ง เลยแห้งไม่เน่า"
      
       ตอนนั้นหลวงพ่อฉลวยวัดป่าวลัย (ทางไปป่าละอู) มรณภาพ ไปแล้ว ลูกศิษย์นำท่านนอนบนฟูก เอาใบชาโรย แล้วใช้มุ้งครอบ เปิดพัดลม เราเคยไปกราบก่อนพบหลวงปู่ รู้สึกว่าเริ่มมีกลิ่นนิดๆ
      
       หลวงปู่ส่ายหน้า "ไอ้พวกลูกศิษย์ขายอาจารย์ อยากจะยกย่อง เชิดชูอาจารย์ตน แต่ทำไม่ถูกทาง เอาศพมาเป็นจุดขาย ทำทุเรศ"
      
       พวกเราเซ้าซี้ถามเรื่องคนตายไม่เน่า
      
       หลวงปู่รำคาญ ท่านจึงตอบว่า "กูไม่รู้ กูยังไม่เคยตาย รอให้กูตายก่อนแล้วค่อยบอกว่าทำไมถึงไม่เน่า... ถ้าวันใดกูบอกว่าไม่ไหวแล้วนั่นแหละ พวกมึงนับไปได้เลย ๓ วัน เตรียมทำศพกูได้"
      
       ท่านสอนวิชาลม ๗ ฐานให้ตามสัญญาในเย็นวันหนึ่ง มีคนมาเรียนมากพอสมควร ก็พวกชาวถ้ำหน้าคุ้นๆ กันนั่นแหละ ท่านอธิบายว่าวิชานี้เป็นวิชาเก่าแก่ของคนยุคโบราณ เป็นวิชาว่าด้วยการหายใจ การบังคับลมหายใจให้ลึก และยาว นานและช้าๆ สัตว์ที่หายใจหอบถี่จะมีอายุสั้น เช่น กระต่าย นก ฯลฯ ส่วนสัตว์ ที่หายใจลึกยาวจะมีอายุยืน เช่น ช้าง เต่า ฯลฯ
      
       โยคีอินเดียก็ใช้วิชานี้แหละ ทำให้สามารถฝังตัวเองในหลุมเป็นเวลานานนับปี แล้วไม่ตาย ฮินดูเรียกวิชานี้ว่า พันธาริณี หรือ กุณฑลินี (ไม่ทราบว่าสะกดถูกหรือเปล่า)
      
       ในธิเบตเรียกว่า ลม ๗ ฐาน ผู้สำเร็จจะมีคุณวิเศษมากมาย เช่น มีพลังในตัว ใช้พลังรักษาโรคได้ ไม่มีเหงื่อ แบบหลวงปู่นั่นแหละ เวลาป่วยใช้วิธีซึมซับพลังจากธรรมชาติรอบตัวเข้าร่าง รู้วาระจิตของผู้อื่น ฯลฯ
      
       หลวงปู่เคยถูกก้อนหินใหญ่ๆ กระแทกมืออย่างแรง แต่ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะท่านใช้วิชานี้ทำให้ฝ่ามืออ่อนตัว ไม่ขืนแรงของหินที่กระทบ ฟังไว้ประดับความรู้ก็พอ อย่าลอกเลียนแบบจะเป็นอันตราย เพราะนี่เป็นความสามารถเฉพาะตัว
      
       สำหรับลูกหลานหลวงปู่จะสอนแค่ ๓ ฐานก็พอตัวแล้ว ท่านบอกเรียนจบ ๓ ฐานเท่านั้นไม่ใช่คนธรรมดาแล้ว ฟังแล้วน้ำลายหกไปตามๆ กัน ถ้าจะเรียนครบ ๗ ฐานต้องถือเพศพรหมจรรย์ สรุปแล้วสำหรับพระธรรมเถระเท่านั้น
      
       คนมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคความดัน ฯลฯ ไม่สมควรฝึก เป็นอันตราย
      
       แกล้งถามหลวงปู่ว่า หลวงปู่ฝึกได้กี่ฐานแล้ว
      
       ท่านค้อนทำตาถลึงตอบเสียงสะบัด "ไม่บอก เอาเป็นว่ากูสอน มึงได้ก็แล้วกัน"
      
       ขั้นต้นท่านแนะนำให้พวกเราหัดหายใจลึกๆ เข้าลึกๆ ออก ลึกๆ ลึกถึงสะดือได้ยิ่งดี สมมติเคยหายใจได้นาทีละ ๒๓ ครั้ง ก็ให้ช้าๆ ลึกๆเหลือ ๒๐ ครั้ง นานๆ ไป เหลือ ๑๙, ๑๘, ๑๖ ครั้ง ทำไปเรื่อยๆ วันนี้หลวงปู่ให้การบ้านไปทำแค่นี้ อาทิตย์หน้าให้มารายงานผล พอถึงอาทิตย์หน้าหลวงปู่ทวงถาม ไม่มีใครกล้าให้สอบอารมณ์
      
       ฉันสมัครเป็นคนแรก ไม่รู้หรอกว่าการสอบอารมณ์เขาทำกันอย่างไร คลานเข้าไปนั่งพับเพียบต่อหน้าหลวงปู่ซึ่งนั่งอยู่บนโซฟา ข้างเสื่อน้ำมันในถ้ำ คนอื่นเงียบกริบนั่งฟังนิ่ง
      
       หลวงปู่แกล้งทำตาปรือถามเสียงงัวเงียหวานจ๋อยว่า
      
       "มาทำไมจ๊ะ? "
      
       ฉันงง ไม่รู้จะพูดอะไร หันหน้าไปทางกองเชียร์ทุกคนก็เงียบ
      
       หลวงปู่เอ็ดว่า "ก็มึงจะมาให้กูสอบอารมณ์ มึงก็บอกมาว่า ทำแล้วมันเกิดอะไรขึ้น"
      
       ฉันถึงบางอ้อ รีบรายงานว่า "คืนแรกนอนทำลมหายใจ สักพักหนึ่งรู้สึกว่าร่างกายภายในเป็นโพรงเหมือนถ้ำ ตัวแข็งทื่อ ตกใจ ตื่น หลังจากนั้นทำไม่ได้อีก จะรู้สึกเหนื่อยหายใจไม่สะดวก ปวดหัวค่ะ"
      
       หลวงปู่อธิบายว่า "อาการเช่นนั้นเรียกว่า ตกภวังค์ ดูๆ ไปคล้ายจะดี เพราะมันสงบนิ่ง แต่ที่จริงแล้วเป็นอันตรายต่อนักปฏิบัติ คนจะติดตรงนั้น ไม่ได้ประโยชน์อะไร การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า เราต้องพยายามดึงอารมณ์ตรงนี้ให้พ้นจุดนี้ไปให้ได้ โดยตบหน้า หรือ ทุบหัวตัวเอง"
      
       ประโยคหลังหลวงปู่พูดตลกเรียกเสียงฮาก้องถ้ำ "ส่วนที่ว่าหายใจลึกๆ แล้วเหนื่อย เพราะมึงไปฝืนมัน ต้องค่อยเป็นค่อยไป หายใจแผ่วๆ ละเอียด อย่าหักโหม อย่าเกร็ง ไปทำใหม่นะจ๊ะ เข้าใจทำซะด้วย นอนทำ มีวิธีหากินแบบเก่าๆ"
      
       หลวงปู่ถามว่าใครจะให้สอบอารมณ์อีก "ไว" ตำรวจพลร่มหนุ่ม ซึ่งมีความใกล้ชิดกับหลวงปู่มากคนหนึ่งรายงานว่า
      
       "ผมลองทำดูแล้วปรากฏว่า หนึ่งนาทีผมหายใจเข้าออกครั้งเดียวครับ"
      
       หลวงปู่ทำตาเหลือก อ้าปากหวอ "หา! นาทีละครั้ง มันน้อย ไปนะลูก ต้องกลั้นให้นานกว่านี้ ๕ นาทีสักครั้งเป็นยังไง เอามันให้ตายห่าไปเลย ไอ้ชิบหาย กูไม่ได้สอนให้มึงดำน้ำนะเว้ย"
      
       เสียงหัวเราะดังครืนลั่นถ้ำ
      
       หลวงปู่เอ็ดว่า ของอย่างนี้ต้องค่อยทำค่อยไป ไม่ใช่กลั้นลมหายใจ แต่ให้หายใจเข้าออกลึกๆ ช้าๆ
      
       จากนั้นก็มีคนเข้ามาให้หลวงปู่สอบอารมณ์อีก ๒-๓ คน ผลออกมาไม่น่าพอใจ สรุปแล้วไม่มีใครสอบผ่าน ให้ไปทำใหม่ ยังไม่สอนขั้นต่อไปจนกว่าจะหายใจกันเป็น
      
       เห็นไหมว่าไม่ง่าย ดูซิหายใจตั้งแต่เกิดจนแก่ป่านนี้ ยังได้ชื่อว่าหายใจไม่เป็น แล้วศิษย์บางคนยังไปคุยเป็นคุ้งเป็นแคว ราวกับฝึกลม ๗ ฐานสำเร็จอย่างนั้นแหละ หลวงปู่จะพูดเยาะๆ เสมอ ถ้าได้ยินใครพูดถึงลม ๗ ฐานว่า
      
       "กูเคยสอนลม ๗ ฐานพวกมึงเหรอ นี่พวกมึงเรียนถึงฐานที่ ๗ แล้วเรอะ เก่งขนาดนั้นเชียวเหรอ? "
      
       ที่ท่านให้หายใจเข้าออกลึกๆ นั้นเป็นการเตรียมความพร้อมเท่านั้น เรียกว่าขั้นอนุบาลนั่นเอง ฐานที่หนึ่งยังไม่ได้เริ่มเลย
      
       ตั้งแต่นั้นมาหลวงปู่ไม่สอนขั้นต่อไปอีก ท่านบอกว่าเวลาเดินผ่าน ยังได้ยินหายใจกันถี่ๆ ฟืดฟาดอย่างกับควาย
      
       "สอนไอ้พวกนี้เหนื่อย กูชักเบื่อๆ ช่างแม่มัน ไม่สอนไม่เสินแล้ว ไม่ได้เรื่องสักคน"
      
       คิดจะเรียนธรรมะกะหลวงปู่
       พอลองดูยากเป็นบ้าหน้าเขียวอื๋อ
       ของอย่างนี้ต้องบารมีเปี่ยมเยี่ยมฝึกปรือ
       คำร่ำลือถือไม่เท่าเราทำจริง
       คิดจะฝึกลมเจ็ดฐานกะท่านหรือ
       เราต้องรื้อขยะเก่าที่เน่าทิ้ง
       ล้างกายาให้สะอาดใสไม่ประวิง
       จิตสงบนิ่งดิ่งสู่ประตูนิพพาน
       ไม่ว่าลมกี่สิบฐานก็ผ่านหมด
       กายหมดจดจิตศักดิ์สิทธิ์ติดขนาน
       ปฏิบัติศาสนกิจพิชิตมาร
       ลมเจ็ดฐานคงซานซบสยบเอย
      
       เย็นวันหนึ่งขณะที่พวกเรานั่งล้อมวงหลวงปู่ที่ลานหน้าถ้ำ พี่จรรยากราบเรียนว่าเธอแต่งงานมา ๑๐ ปี ยังไม่มีลูก อยากได้ลูกสักคนไว้เป็นเพื่อนในยามแก่เฒ่า
      
       หลวงปู่ทำหน้าเมื่อยๆ "ทำไมมึงอยากมีลูกวะ รู้มั้ย มันเป็นห่วงผูกคอ มีแต่เขาจะสลัดทิ้ง นี่มึงกลับไขว่คว้า อายุก็ปูนนี้แล้ว"
      
       พี่จรรยายืนยันความคิดเดิม เพราะเธอมีสมบัติพอสมควร เกรงว่าตายไปจะไม่มีใครรับช่วง
      
       หลวงปู่รับปากจะช่วยด้วยความเมตตาเมื่อเห็นเธอย้ำด้วยเจตนามั่นคง เช่นนั้น ท่านบอกว่าเข้าพรรษานี้ จะมีวิญญาณของผู้มีบุญมาเกิด ๒ ดวง ท่านให้พี่จรรยาเตรียมตัวเตรียมใจให้ดี แต่ไม่รับรองว่าจะสำเร็จ ต้องแล้วแต่บุญวาสนา
      
       ตอนท่านประกาศว่ามีดวงวิญญาณผู้มีบุญ ๒ ดวงจะมาจุติ ท่านเงยหน้าขึ้นเบื้องบน ตอนนั้นเป็นเวลาโพล้เพล้ ท้องฟ้าเริ่มมืดครึ้ม เบิ้มซึ่งเป็นตำรวจพลร่มรุ่นใกล้เคียงกับไว นั่งอยู่ในบริเวณนั้น (เขาจะมาช่วยกิจการถ้ำสม่ำเสมอ พาลูกสาวตัวเล็กๆ ชื่อ น้องกิ๊ฟมาด้วย) ยกมือขึ้นท่วมหัวเตรียมน้อมรับ
      
       หลวงปู่เอ็ดลั่นว่า "ไอ้เบิ้ม! ไม่ได้หมายถึงมึง ไอ้ห่า! มึงน่ะมีลูกตั้งโขยง ยังไม่พออีกเรอะ"
      
       เสียงฮาแสดงความขบขันลั่นถ้ำไก่หล่น เบิ้มทำหน้าแห้งๆ อย่างไรก็ตามอีกหลายปีฉันมีโอกาสพูดคุยกับเขา เขาบอกว่าหลังจากนั้นไม่นานนัก ภรรยาเขาก็ตั้งครรภ์ คลอดลูกเป็นผู้ชาย ฟังๆ เขาพอใจ รู้สึกมั่นใจว่าลูกชายเขานี้แหละ ใช่เลย ก็ว่ากันไป
      
       หลวงปู่มีวิธีสอนที่แยบยลเสมอ ท่านบอกว่าวิญญาณนี้จะมาจุติในท้องของแม่ที่มีคุณธรรม จิตใจดี ไม่กังวล ไม่เครียด ขอให้พี่จรรยายิ้มแย้มแจ่มใสมากๆ ตั้งแต่นั้นมา พี่จรรยาก็ยิ้มเก่งขึ้น จากเดิมเป็นคนยิ้มยาก เธอตั้งตารอ รอจนเป็นเวลาแรมปี
      
       สุดท้ายเธอก็รู้ว่าหมดหวัง ต่อมาเธอเอาลูกของน้องชายหลวงปู่ชื่อ "ปื๊ด" มาเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมตั้งชื่อใหม่ว่า "เบิร์ด" ทุกคนอนุโมทนาสาธุด้วย เพราะเด็กอยู่วัดก็เป็นที่รองรับอารมณ์ของยายทองห่อบ้าง คนโน้นคนนี้บ้าง เพราะหลวงปู่ไม่เคยโอ๋ หรือให้อภิสิทธิ์ใดๆ แก่ญาติท่านอยู่แล้ว อยู่กับพี่จรรยาจึงได้อยู่ดีกินดี ใส่เสื้อผ้าสวยๆ นับว่าเป็นบุญของเขา
      
       ตั้งแต่มีคณะกรรมการดำเนินงานเป็นกิจลักษณะ ก็เริ่มมีกลิ่นอายของการกระทบกระทั่งขึ้น เดิมทีต่างคนต่างทำ พอมาทำงานร่วมกันเริ่มไม่ลงรอย เพราะนิสัยของคนไทยแปลกอยู่อย่าง ไม่ชอบฟังความคิดเห็นของใครที่ต่างจากตัว เขม่นกันบ้าง ไม่ชอบที่ใครจะมาขัดแย้ง ใจไม่กว้างพอ ดูอย่างกีฬาเป็นต้น ถ้าเล่นคนเดียวชนะทุกที เช่นชกมวย แต่ถ้าเล่นเป็นทีม พังทุกครั้งไป เช่น ฟุตบอล หลวงปู่ปรารภว่า ท่านรู้สึกเบื่อ เบื่อหน้ามนุษย์เจ้าปัญหาทั้งหลาย
      
       ท่านถามตัวเองเสมอว่าท่านทำไปเพื่ออะไร แล้วได้อะไร สุดท้ายก็ตอบได้ว่าเพื่อคนอื่น เพื่อโลก เพื่อจักวาล ได้ความอิ่มใจเป็นผลตอบแทน เท่านี้ก็น่าจะพอ ที่ท่านคิดสร้างกิจกรรมต่างๆ ขึ้นมาเพียงเพื่อเป็นเครื่องมือในการฝึกหัดลูกหลาน นี่เป็นการสอนธรรมะนี่ฉีกแนวไปจากสำนักอื่นโดยสิ้นเชิง ไม่ใช่นั่งหลับตาทำสมาธิ สาธยายมนต์เรื่อยไป สุดท้ายกิเลสท่วมตัว ท่วมหัว เหมือนเดิม การงานที่แหละดัดสันดานคนได้ดีนัก เป็นการฝึกกายให้ศักดิ์สิทธิ์นั่นเอง ท่านไม่ได้หวังผลของงานเลยแม้แต่น้อย แต่เล็งหาวิธีอันเลิศต่างหาก แล้ววิธีอันเลิศนี่แหละ จะนำพาไปสู่ผลงานอันเลิศอย่างแน่นอน ท่านจะไม่ดีใจเลย ถ้างานออกมาสวยหรู แต่ลูกหลานกัดกัน
      
       ๒ วันต่อมา หลวงปู่เรียกพวกเรามาอบรมเข้มบนศาลา ดีอยู่พักเดียวก็ลงรอยเดิม เรื่องอย่างนี้ยาก ให้ชั่วชีวิตยังไม่เฉียด เพราะมันเป็นกิเลสขั้นละเอียด ทิฐิ มานะ ศักดิ์ศรี เป็นสิ่งค้ำคอ
      
       มีหลวงตารูปหนึ่งมาจากอยุธยา บวชมา ๑ พรรษาได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่จากหนังสือเล่มหนึ่ง ขอมาอยู่กับหลวงปู่ ท่านก็เมตตาให้อยู่ด้วย
      
       ตอนนี้คุณปราณีกลับมาอยู่ถ้ำอีกครั้งหนึ่ง เปี๊ยกลูกชายคนกลางมาอยู่รับใช้หลวงปู่เป็นครั้งคราว ที่ถ้ำมีเด็กจากหนองพลับไปบวชเณรแล้วลาสิกขาบทมาอยู่ด้วยชื่อ "ฉลาด" หลวงปู่เลี้ยงดูส่งเสีย ให้เรียน ต่อมาไปอยู่วัดจนโตเป็นหนุ่ม หลังจากบวชเณรทุกปีจะมีเด็กไม่กลับบ้านขออยู่วัดกับหลวงปู่ ซึ่งท่านส่งเสียเลี้ยงดูจนโตเป็นหนุ่มไปหลายรุ่นแล้ว แต่ละรุ่นนับสิบ
      
       บ่ายวันหนึ่งมีสามเณรอายุราว ๑๗-๑๘ ปี รูปร่างผอมบาง หัวโต ตาโต คางแหลม หอบสัมภาระพะรุงพะรังขึ้นถ้ำมากราบหลวงปู่
      
       หลวงปู่ตีหน้าขรึมถาม "มาหาใคร? "
      
       "มาหาหลวงปู่ครับ" ทอดเสียงหวานนิ่มเชียว
      
       "หาทำไม? "
      
       "ผมได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่ รู้สึกสนใจใคร่จะฟังธรรมจากหลวงปู่ครับ"
      
       "ใครบอกให้มาที่นี่? "
      
       "เณรไปแวะที่วัดอ้อน้อย เขาบอกให้มาที่นี่ครับ" เสียงพูดของพ่อเณรน้อยติดจะหวานราวกับกระเทย หลวงปู่ซักถามประวัติได้ความว่า เณรเป็นคนภาคอีสาน เรียนเกี่ยวกับบัญชี แต่ไม่จบไปบวชเสียก่อน บวชอยู่ระยะหนึ่ง ขอลาสิกขาบทไปอยู่กับแม่ หลวงปู่ถามว่าสึกทำไม เณรตอบว่าเป็นห่วงแม่
      
       หลวงปู่ปลงอนิจจังบอกเณรว่า เอาตัวเองให้รอดก่อนเถิด การจะทดแทนพระคุณแม่ในตอนนี้ก็คือ เรียนให้จบ อย่าทำให้แม่เป็นห่วง อย่างเช่นที่เณรเรียนไม่จบก็ทำให้แม่เป็นทุกข์พอแล้ว มันควรจะเป็นว่าแม่ต้องห่วงเณรมากกว่า ไม่ใช่เณรห่วงแม่
      
       เณรเล่าต่อไปว่าบวชครั้งหลังอยู่มาหลายสำนัก เช่น อยู่กับหลวงพ่อชา พอท่านอาพาธ เณรไม่มีครูบาอาจารย์ วัดก็เริ่มไม่มีระเบียบ เณรปลีกตัวไปอยู่กับท่านพุทธทาสพักหนึ่ง ท่านอาพาธอีก เณรก็ออกมาเที่ยวเร่ร่อนหาครูบาอาจารย์ที่ถูกใจ เผอิญได้ยินกิตติศัพท์ของหลวงปู่จึงมุ่งมาที่นี่ หลวงปู่ทำหน้าทะแม่งๆ ชอบกล ท่านเหมือนจะรู้ว่า เณรรูปนี้ฟุ้งซ่านพอสมควร ตกลงหลวงปู่เมตตาอนุญาตให้อยู่ด้วย เณรฉันอาหารมังสวิรัติ ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร แม่ครัวจัดทำให้ได้
      
       หลวงปู่พูดกับพวกเราว่า "คอยดูนะ กูจะเอามันให้เข้มไปเลย มองมันฟุ้งเอาการอยู่ หนอยกินมังสวิรัติเสียด้วย กินแล้วยังฟุ้งซ่าน อย่างนี้ป่วยการกิน ท่าทางสะอ๋องสะแอ๋งอย่างนี้ ต้องใช้ทำงานให้เข็ด ใครจะเป็นลูกศิษย์กูมันต้องทนได้ทุกสถานการณ์"
      
       จริงอย่างที่หลวงปู่คาดไว้ไม่ผิด เณรอยู่ได้สองวันก็มาขอลาหลวงปู่ไปต่อ ขณะนั้นท่านนั่งอยู่ในศาลาพร้อมศิษย์หลายคน
      
       หลวงปู่ทำตาเหลือกใส่ "หา! อะไร จะไปต่ออีกหรือ นี่ยังเร่ร่อนไม่พออีกหรือจ๊ะ"
      
       เณรแก้ตัวว่า "ที่นี่ไม่สงบเงียบครับ เณรอยากจะหาที่เงียบๆ พิจารณาธรรมไปเรื่อย ๆ"
      
       หลวงปู่เทศนากัณฑ์ใหญ่ใจความว่า "ไม่มีที่ไหนจะเหมาะกับตัวเราหรอก เพราะเราทำตัวไม่เหมาะกับทุกที่ เณรเข้าใจคำว่า สมาธิ แค่ไหน สมาธินั่งตัวแข็งทื่อหลับตาปี๋หรือ นั่นมันสมาธิหัวตอแล้วจ้ะ แล้วมันมีประโยชน์อะไรต่อโลกบ้าง ฉันคิดว่าสองสำนักที่เธอผ่านมาคงไม่สอนให้ทำอย่างนั้นหรอก สมาธิที่ถูกต้องหมายถึงความแข็งแกร่งของจิต พร้อมที่จะทำหน้าที่การงานที่สร้างสรรค์ ขนาดอยู่กับท่านชา ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์ทางภาคอีสาน และท่านพุทธทาส ปราชญ์แห่งภาคใต้ เธอยังไม่มีอะไรดีขึ้นเลย แล้วเณรคิดดีแล้วหรือที่เที่ยวหอบสมบัติบ้าตะลอนๆ ไปวันๆ มันน่าทุเรศลูกนัยน์ตาแก่ผู้พบเห็น เป็นสมณะที่ไม่งาม จะบอกให้รู้ว่า ฉันไม่รับใครเป็นศิษย์ง่ายๆ หรอก ฉันหยิ่ง พูดเพราะๆ ก็ไม่เป็น ถามพวกนี้ดูซี แล้วนี่มารับเธอเป็นศิษย์น่ะ ดีเท่าไหร่แล้ว เธอจะมาฉีกหน้าฉันโดยการบอกลาดื้อๆ อย่างนี้น่ะเหรอ ไว้หน้ากันบ้างซีเว้ย" ท่านใช้ภาษาตีแรงๆ แทนไม้หน้าสามเพื่อกระตุ้นให้เณรได้คิด มิได้หมายความว่าท่านโกรธแต่อย่างใด แต่เณรก็คิดไม่ได้
      
       "เฮอะ! ไม่ไหวๆ" ท่านส่ายหน้าแสดงความเอือมระอา "นี่ฉันสงสารหรอกนะจึงเตือน ฉันไม่ค่อยยุ่งกับใครหรอก รู้ไว้ด้วย ถ้าเตือนแล้วยังไม่ฟังก็จะเลิกเตือน"
      
       เณรนั่งทำตาปริบๆ ฟังหลวงปู่เทศนา ตาโตราวกับไข่ห่านแทบจะหลุดออกมานอกเบ้า เรากลับบ้านเสียก่อน จึงไม่รู้เรื่องต่อไป
      
       มาอีกครั้งหลวงปู่บอกว่า "มันไปแล้ว" ท่านทำเสียงยานๆ ในลำคอ ฟังแล้วอดหัวเราะไม่ได้
      
       เณรคงคุ้นเคยกับวัดที่เงียบมากๆ แล้วนั่งทำสมาธิกันเป็นแถว สังคมชาวถ้ำมีแต่งานหนักๆ ส่งเสียงเอะอะ เขาคงไม่เคยเห็น หารู้ไม่ว่าหลวงปู่กำลังให้ทุกคนล้างขยะออกจากกายให้สะอาด เพื่อเป็นภาชนะที่เหมาะสม พร้อมจะรองรับสิ่งดีๆ ที่เรียกว่า ธรรมะขั้นสูงๆ ต่อไป เรียกว่าทำกายให้ศักดิ์สิทธิ์ (การดำเนินชีวิตทุกย่างก้าว) จิตศักดิ์สิทธิ์จะตามมาเอง และนั่นเขาย่อมพบธรรมะอันศักดิ์ สิทธิ์แน่นอน
      
       การสวดมนต์ทำสมาธิก็มิได้ห้าม แต่นั่นมักจะเป็นยามค่ำคืน หลังจากการงานเสร็จแล้ว การสาธยายมนต์ควรเป็นไปโดยสงบ แผ่วเบา ฟังคนเดียว ไม่ต้องแผดเสียงเผื่อแผ่ชาวบ้าน นั่งทำสมาธิ ก็เช่นกันเป็นเรื่องส่วนตัวจริงๆ ไม่ใช่นั่งให้คนเห็นเพื่ออวด น่า เสียดายที่เณรมองไม่ออก และไม่มีใครจะบอกกันได้
      
       ในที่สุดเณรก็จากไป เหมือนลิงได้แก้ว เหมือนไก่ได้พลอย ไม่รู้คุณค่า เขาพบครูบาอาจารย์ผู้ประเสริฐหลายท่านแล้ว สุดท้าย ไม่ได้อะไรเลย เขาค้นหาตัวเองไม่พบ คงจะต้องค้นหาต่อไปอีกนาน...นานเท่าไร ไม่มีใครบอกได้ ลาก่อน เณรน้อยเจ้าปัญหา (ไม่ใช่เจ้าปัญญาอย่างอิคคิวซัง)
      
       คุณปราณีลงจากถ้ำไปแล้ว และไม่ได้มาอีกเลย ได้ข่าวว่าเธอสุขภาพไม่ค่อยดีนัก คุณไก่กับคุณวันเพ็ญพลอยหายหน้าไปด้วย เดี๋ยวนี้มีคนมาหาหลวงปู่มากขึ้น ใครๆ ก็อยากจะรับใช้หลวงปู่ทั้งนั้น หมดหน้าที่ที่พวกเขาจะเทียวขึ้นเทียวลง แบ่งบุญให้คนอื่นบ้าง อีก อย่างที่ถ้ำไม่สงบไม่สะอาดนักในสายตาของพวกเขา เพราะหลวงปู่ ไม่ กีดกั้นใครๆ อยู่แล้ว ผู้ใดปรารถนาจะขัดเกลาตัวเองก็เปิดโอกาสให้
      
       หลวงปู่บอกว่า เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ แต่อาจจะเปลี่ยนตัวเองได้
      
       คนที่มาถ้ำมีหลายชนชั้น ฉะนั้นอาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่มองแล้วขัดหูขัดตา นี่แหละโลกใบน้อยของหลวงปู่ ซึ่งท้าทายให้ลองยิ่งนัก ใครอยู่อย่างไม่ขุ่นข้องหมองใจ ถือว่าสอบผ่าน ใคร อยากมาก็มา ใครไม่อยากมาก็ไม่ต้องมา หลวงปู่ไม่ใส่ใจอยู่แล้ว
      
       สิ่งหนึ่งที่รู้สึกแปลกใหม่ คือ หลวงปู่ได้เขียนบทโศลกขึ้นมาจำนวนหนึ่ง แรกๆ ไม่สนใจนักเพราะไม่เข้าใจว่าคืออะไร แต่ต่อมาจึงได้รู้ว่า นั่นแหละ คือ ข้อธรรมที่ท่านรู้แจ้งแทงตลอด จนได้หลั่งไหลออกมาเป็นคำพูดไว้สั่งสอนผู้คน เป็นข้อความสั้นๆ สละสลวย ใช้ภาษาง่ายๆ แต่ให้ข้อคิด ท่านไม่นิยมใช้คำที่เรียกว่า ภาษาชาววัด เพราะผู้คนสมัยนี้ห่างศาสนาจนคล้ายจะต่อต้านด้วยซ้ำ ถ้าใช้ภาษาเดิมๆ เช่น ศีล สมาธิ ปัญญา ภาวนาอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ฯลฯ คนจะยิ่งไม่เข้าใจ พาลเบื่อการศึกษาธรรมะ หลวงปู่หันมาใช้คำที่ค่อนข้างทันสมัย จนทุกคนซึมซับโดยไม่รู้ตัว เช่น
      
       "รื้อขยะเก่าทิ้งไป ไม่เพิ่มขยะใหม่ ทำของดีที่มีอยู่แล้วให้ผ่องใส"
      
       "ไม่โหดร้าย ไม่มือไว ไม่ใจเร็ว ไม่พูดปด ไม่หมดสติ"
      
       ส่วนที่เป็นบทกวีไพเราะก็มีเช่น
      
       "สรรพสิ่งเริ่มประปราย ดารารายเปลี่ยนวิถี
      
       ทะเลลึกเนิ่นนานปี มาบัดนี้กลายเป็นสูง"
      
       หรือชนิดที่อ่านแล้วต้องคิด...คิดแล้วยังไม่รู้เรื่องก็มี เช่น
      
       "เมื่อไม่รู้จักตนเอง ทุกสรรพสิ่งย่อมเกิดขึ้น
      
       เมื่อใดรู้จักตนเอง ทุกสรรพสิ่งย่อมไม่มี"
      
       ฯลฯ
      
       หลวงปู่ให้เด็กหนุ่มคนหนึ่งเขียนบทวิจารณ์ เขาติดตามหลวงปู่ หลายปีแล้ว ตัวเล็ก สวมแว่น ชื่อ "เอด" (ชื่อเดียวกับลูกชายคนเล็กของเราเลย) มีน้องสาวติดตามไปด้วยเสมอ ชื่อ "แอน" สวมแว่นเช่นกัน หลวงปู่เรียกเด็กหนุ่มว่า "ไอ้แว่น" เขาเข้าใจบทโศลกของหลวงปู่ จึงเขียนคำวิจารณ์ได้ อย่างไรก็ตามจะมี "บทวิจารณ์นอกแบบ" ต่อท้ายเกือบทุกบท อันนั้นเป็นข้อคิดของหลวงปู่ซึ่งมอง ต่างมุมออกไป คุณนพพรอีกนั่นแหละ เป็นผู้รวบรวมจ้างโรงพิมพ์ จัดทำเป็นรูปเล่มออกค่าใช้จ่ายเสร็จสรรพ แต่ตอนหลังมีผู้ใจบุญร่วมสมทบด้วย หนังสือเล่มนี้คือ "ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของพุทธะ" โดย "เฒ่าไม้แห้ง" (นามปากกาของหลวงปู่) คำว่า เฒ่าไม้แห้ง น่าจะหมายถึงต้นไม้ที่ยืนต้นตาย ซึ่งหลวงปู่ได้ให้บทวิจารณ์นอกแบบไว้ว่า
      
       "ความหมายของต้นไม้ยืนต้นตาย คือ ความเหือดแห้งสนิท ของอารมณ์แห่งกาม ความยอมรับและปฏิเสธ เปรียบประดุจน้ำหล่อเลี้ยงต้นไม้นั้น"
      
       ประโยคแรกๆ พอเข้าใจ พอประโยคถัดไปเริ่มไม่รู้เรื่อง ที่ว่า เฒ่าไม้แห้ง หมายถึงต้นไม้ที่ยืนต้นตายนั้นเป็นความคิดของฉันเองนะ อาจไม่ถูกก็ได้
      
       พูดถึงหนังสือเล่มนี้แล้วขำสหลายปีต่อมา ชอบมีคนมาถามหาเพื่อจะได้ครอบครองไว้อ่าน โธ่เอ๋ย! ขนาดฉันซึ่งจัดว่าเป็นหนอน หนังสือและติดตามหลวงปู่มาหลายปี พออ่านทีไรต้องวางทุกที ปวดหัว ไม่รู้เรื่องจริงๆ และมีหลายคนที่เป็นอย่างนี้ อ่านเข้าใจยากมากกก.... คิดว่า ตราบใดเรายังทำกายให้ศักดิ์สิทธิ์ไม่ได้ เราไม่มีวันจะเข้าถึงบทโศลกของหลวงปู่ได้เลย เพราะนั่นเป็นข้อความที่กลั่นกรองจากจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ของครูผู้ใจอารี และสุดแสนประเสริฐท่านหนึ่ง จำได้ว่ากว่าจะพิมพ์ขึ้นมาเป็นรูปเล่ม ทั้งคุณนพพร และศิษย์ท่านอื่นที่มีส่วนร่วมในการออกรูปเล่ม ต้องขอคำปรึกษาจากหลวงปู่ตลอดเวลาที่ในถ้ำ ทุกครั้งฉันจะนั่งเงี่ยหูฟังเขาพูดคุยกัน ท่านมีความรู้เรื่องศิลปะมากทีเดียว
      
       นอกจากศิษย์รุ่นเยาว์สองคนนี้แล้ว หลวงปู่ยังมีลูกศิษย์ เด็กๆ อีกมากมายนับไม่ถ้วน เพราะท่านบวชเณรทุกปี ปีละนับร้อย เด็กเหล่านี้เมื่อจากไปแล้ว ยังระลึกถึงหลวงปู่เสมอ ท่านรักและเอ็นดูเด็กๆ มาก ถือว่าเด็กคือผู้บริสุทธิ์ สามารถดัดได้ หลวงปู่ไม่ยึดติดพวกเขา แต่มีความเอื้ออาทรให้ มาก็ต้อนรับ กลับก็ไม่ครวญหา ท่านสอนให้พวกเขาแข็งแกร่ง ยืนหยัดอยู่ในโลกได้อย่างไม่สะทกสะท้าน ท่านปรารภจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่ง ให้ชื่อว่า "ตำนานลูกผู้ชาย"
      
       เด็กหนุ่มๆ ที่มาคลุกคลีกับหลวงปู่ตอนอยู่ถ้ำได้แก่ "กบ" เรียก เขาว่า "หนูตี๋" เพราะชื่อตี๋ด้วย พอเรียกเขาว่าหนูตี๋ เขาจะหัวเราะ เป็นตำรวจพลร่มค่ายนเรศวร หัวหิน จบวิชาพยาบาล ชื่อจริงคือ นายสมชาย อุเทศ ศิษย์หลวงปู่ชื่อ "กบ" หลายคน จนต้องมีสมญาตามหลังว่า "กบดำ" "กบขาว" เป็นต้น สำหรับหนูตี๋ หรือ กบ จะมารับใช้หลวงปู่ยาวนานพอสมควร มาแต่ละครั้งก็บีบนวดพัดวี ปากก็คุยหนุงหนิงๆ หลวงปู่ก็พยักหน้าหงึกหงักไปตามเรื่อง
      
       ท่านวิจารณ์ว่า "ไอ้นี่ คิ้วมันเป็นสามเหลี่ยมหนา ดูลักษณะคิ้วแสดงว่าเป็นคนขี้เล่น" กบชอบเล่นกับเด็กมาก หลวงปู่จะแกล้ง ขัดคอเสมอว่า "เฮ้ยๆ! มึงน่ะอายุเท่าไหร่แล้วหา! เล่นยังกะเด็ก ไอ้ติงต๊อง! "
      
       อีกคนคือ "เอก" ร่างสูงตรงข้ามกับหนูตี๋ ผมหยักศก ตาเอกข้างหนึ่ง ใจเสาะร้องไห้เก่ง เคยซบหน้าตักหลวงปู่ร้องไห้ เพราะ สมภารอาทิตย์ไม่ฉันอาหารที่เขาอุตส่าห์ซื้อมาให้
      
       หลวงปู่วิจารณ์ว่า "ไอ้นี่มันฉลาดแบบโง่ๆ" ถามว่าเป็นยังไงไอ้ที่ว่าฉลาดโง่ๆ
      
       ท่านอธิบายว่า "ก็ฉลาดรู้มาก แล้วคิดมาก แล้วก็มีอารมณ์อ่อนไหวไปกับความคิดนั้นๆ ปล่อยให้อารมณ์อยู่เหนือจิตใจ"
      
       จันทร์ที่ ๕ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๖ หลวงปู่จะไปกรุงเทพฯ
      
       ฉันถามท่านว่าจะไปทำไม
      
       ท่านตอบ "เรื่องของกู"
      
       ถามใหม่ "กลับเมื่อไร"
      
       ท่านตอบ "เรื่องของกู"
      
       "ไม่ถามก็ได้" ท่านสวนทันควัน "เรื่องของมึง"
      
       มองผิวเผินเหมือนการพูดเล่น คิดให้ลึกๆ ท่านกำลังสอนธรรมะเราว่า อย่ามัวใส่ใจสิ่งนอกตัว ให้สนใจเรื่องในกายของเราก็พอ
      
       วันนั้น มีเด็กสาวสามคนมาจากกรุงเทพฯ นำพิมพ์เขียวเป็นแผนผังการจัดสวนหย่อมที่วัดอ้อน้อยมาให้หลวงปู่ดู ถ้าไม่ดีตรงไหนหลวงปู่จะได้แก้ไข ก็บอกแล้วว่าหลวงปู่ทำเป็นทุกเรื่อง ยกเว้น เรื่องเดียว คือ ทำลูก (ท่านพูดติดตลก) ท่านบอกสามีของฉันว่าขากลับให้ไปทางหัวหิน แวะบอกบุญชูให้มาหาหลวงปู่เดี๋ยวนี้ จะให้พูดคุยกับเด็กสาวสามคนเรื่องต้นไม้ที่จะนำไปปลูกในวัด เพราะบุญชูมีต้นไม้สวยๆ หลายต้น หลวงปู่ต้องการอุดหนุนเขานั่นเอง เราแวะบอกบุญชู แต่เขาไม่มีรถจะขึ้นถ้ำ เราจึงรับอาสาพาเขามาถ้ำอีก บุญชูบอกหลวงปู่ว่าไม่คิดเงิน ยินดียกให้วัดฟรีๆ แต่หลวงปู่ ไม่ยอม เพราะรู้ว่าเขามีภาระมาก จึงควรจะมีรายได้ในส่วนนี้บ้าง ตกบ่ายเด็กสาวสามคนรีบกลับกรุงเทพฯ (ไปขึ้นรถที่หัวหิน มีความพยายามจริงๆ ลูกศิษย์หลวงปู่เป็นอย่างนี้ทุกคน ต่อให้หลบลี้หนีหน้าไปอยู่สุดหล้าฟ้าเขียวก็จะตามให้พบ) ตอนเย็นหลวงปู่ให้คนขับรถชื่อใหญ่พาไปบ้านบุญชู เราตามไปด้วย
      
       หลวงปู่จะดูต้นไม้บ้านบุญชู ไปถึงก็พลบค่ำแล้ว ต้นไม้ส่วนใหญ่จะเป็นเฟื่องฟ้า ผกากรอง หลากสี ดัด ตัด แต่งอย่างสวยงาม แต่หลวงปู่ไม่วายติตรงโน้นตรงนี้ ท่านลงมือตัดแต่งเองอย่างคล่องแคล่ว สุดท้ายดูสวยงาม ฉันถามว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร
      
       ท่านตอบว่า "ไม่มีหลักอะไรหรอก มึงก็ดูซิ ว่าควรจะเลี้ยงกิ่งไหน ตัดกิ่งไหน นี่อะไรกัน เสียดายไปหมด ไม่กล้าตัดทิ้ง เลี้ยงทุกกิ่ง เลยกลายเป็นลาวไป"
      
       นอกจากนั้นท่านยังอธิบายว่า การเลี้ยงกิ่งจะก่อให้เกิดรูปทรงแตกต่างกันไป มีชื่อกำกับให้เสร็จ ฉันจำไม่ได้ รู้อย่างเดียวว่าหลวงปู่มีความแตกฉานเรื่องต้นไม้มาก รู้อะไรรู้จริง มืดมากแล้วท่านกลับถ้ำ เรากลับบ้าน
      
       รุ่งขึ้นท่านเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สองสามวันต่อมาพูดโทรศัพท์ กับคุณวันเพ็ญ จึงได้ทราบว่าท่านไปธิเบตแล้ว เราใจหายวาบ เพราะท่านเคยบอกว่าไปธิเบตแล้วจะไม่กลับเมืองไทยอีก ทุกคนหน้าแห้งไปหมด นึกถึงสภาพของถ้ำเวลาไม่มีหลวงปู่ มันสุดแสนจะเงียบเหงาวังเวง ฟังแต่เสียงจิ้งหรีดเรไรกรีดเสียงร้องเซ็งแซ่ ระคนกับเสียงนกกู่ร้องก้องไพรพฤกษ์
      
       ต่อไปนี้เราคงไม่ได้เห็นหน้าหลวงปู่อีกแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างคงเหลือไว้แต่ความทรงจำ สามีถึงกับเอารูปของท่านมาตั้งเฉพาะที่ บูชาด้วยดอกมะลิที่ท่านชอบ (เห็นใครๆ ชอบนำพวงมาลัยมะลิถวายท่าน ท่านจะนำไปบูชาพระในถ้ำ เวลาทำวัตถุมงคลหรือยารักษาโรค ท่านจะนำมะลิตากแห้งผสมด้วยเสมอ)