ความเดิมตอนที่แล้ว
จบลงตรงที่พระอานนท์ได้เห็นลีลาของของพระอุทายีเถระในการแสดงธรรมให้แก่มหาชน ผู้ไม่เลื่อมใสให้ได้เลื่อมใส จึงนำความมหัศจรรย์นี้ไปทูลถวายแด่องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าให้ได้ทรงทราบ
พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า
ดูกรอานนท์ การแสดงธรรมแก่มหาชนผู้ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใสนั้น มิใช่ทำได้ง่าย จำเป็นต้องประกอบไปด้วยหลัก ๕ ประการ คือ
เราจักแสดงธรรมให้เป็นไปโดยลำดับ
เราจักแสดงธรรมโดยยกหลักเหตุและผลมาประกอบให้สมบูรณ์
เราจักแสดงธรรมด้วยจิตที่หวังดี มีเมตตา
เราจักแสดงธรรมโดยมิได้มุ่งหวังลาภสักการะ
เราจักแสดงธรรมโดยความเคารพในธรรมโดยไม่กระทบผู้อื่น
ดูกรอานนท์ ภิกษุพึ่งตั้งความปรารถนาไว้ในหลัก ๕ ประการดังกล่าวมานี้ แล้วจึงจักแสดงธรรม เพื่อยังให้ชนที่ไม่เลื่อมใสให้เลื่อมใส ที่เลื่อมใสแล้วกลับเลื่อมใสยิ่งๆ ขึ้นไป
สมัยหนึ่ง ท่านพระอุทายีพำนักอยู่ ณ สวนมะม่วงของโตเทยยพราหมณ์ ใกล้ กามัณฑานคร ครั้งนั้นแล มาณพผู้เป็นศิษย์ของนางพราหมณีผู้เป็นเวรหัญจานิโคตร ได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่ พระเถระได้แสดงปกิณกะธรรมมีประการต่าง ๆ
หลังจากที่ได้ฟังธรรมแล้ว มาณพนั้นก็ได้ไปหานางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร แล้วได้กล่าวสรรเสริญ พระอุทายีว่าสามารถแสดงธรรมได้ไพเราะในเบื้องต้น ไพเราะในท่ามกลาง ไพเราะในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ สิ้นเชิง ดังนี้
นางพราหมณี เวรหัญจานิโคตรได้ฟังก็เลื่อมใสจึงให้มาณพนั้นไปนิมนต์พระเถระให้มาฉันที่บ้านของนางในวันรุ่งขึ้น มาณพนั้นก็ไปนิมนต์พระเถระตามคำของนางพราหมณี
รุ่งขึ้นในเวลาเช้า ท่านพระอุทายีจึงเข้าไปยังเรือนของนางพราหมณีเวรหัญจานิโคตร แล้วนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้แล้ว ครั้งนั้นแล นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรถวายภัตแด่ท่านพระอุทายีด้วยอาหารอันประณีต ด้วยมือของตนเองแล้ว ครั้นเมื่อนางทราบว่าท่านพระอุทายี เสร็จสิ้นการฉันโดยการลดมือจากบาตรแล้ว จึงได้สวมรองเท้า นั่งบนอาสนะอันสูง คลุมศีรษะแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า ท่านสมณะ ขอท่านจงกล่าวธรรมแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
ท่านพระอุทายีจึงกล่าวว่า น้องหญิง เวลาเธอยังไม่พร้อมที่จะฟังธรรม จักมี ดังนี้แล้ว ลุกขึ้นจากอาสนะแล้วหลีกไป ฯ
ในวันต่อมา นางจึงให้มานพไปนิมนต์พระอุทายีเถระ แม้ครั้งที่สอง มาณพนั้นได้เข้าไปหาท่านพระอุทายีถึงที่อยู่และได้ฟังธรรมจากพระเถระอีก ก็ได้กลับมาสรรเสริญพระเถระให้กับนางพราหมณีผู้เป็นอาจารย์ฟังอีก
ครั้งนั้นนางพราหมณีจึงกล่าวว่า แน่ะพ่อคุณ ตอนที่พระเถระมายังเรื่องของเรา หลังจากที่ฉันภัตรแล้ว เราก็ได้กล่าวสรรเสริญคุณของพระสมณะอุทายีเช่นนั้น แต่พระเถระกลับกล่าวว่า น้องหญิง เวลาเธอยังไม่พร้อม ดังนี้แล้ว ก็ลุกขึ้นจากอาสนะหลีกไปเสีย
มาณพนั้นจึงกล่าวว่า ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า ท่านสวมรองเท้า นั่งบนอาสนะสูง คลุมศีรษะแล้วจึงนิมนต์ท่านพระเถระให้แสดงธรรม พระเถระท่านนั้นเป็นผู้หนักในธรรม เป็นผู้เคารพในธรรม ท่านจึงไม่แสดงธรรมแก่ผู้ที่ไม่แสดงความเคารพแก่พระธรรม
นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรครั้งได้ฟังดังนั้นจึงตกใจ แล้วกล่าวว่า ตายหละนี่เราทำอะไรลงไป พฤติกรรมที่เราทำอยู่เป็นนิจกลับกลายเป็นทำลายโอกาสในการสดับธรรมของเราเองกระนั้นหรือ นางจึงให้มาณพนั้นนิมนต์พระเถระมาอีกในวันรุ่งขึ้น แต่ในครั้งนี้ นางเมื่อก่อนที่จะอาราธนาพระเถระให้แสดงธรรมจึงได้ถอดรองเท้า นั่งบนอาสนะต่ำ เปิดคลุมศีรษะแล้วจึงได้กล่าวกะท่านพระอุทายีว่า
ท่านเจ้าข้า อะไรหนอเป็นเหตุให้พระอรหันต์ทั้งหลายบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่ออะไรไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์ ฯ
ท่านพระอุทายีตอบว่า ดูกรน้องหญิง
เมื่อจักษุแลเห็นรูปแล้วสำคัญว่า รูปนั้นมีอยู่พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อจักษุแลเห็นรูปทั้งหลายว่าไม่มีอยู่จริง มีพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์
เมื่อชิวหารับรสแล้วสำคัญว่า รสนั้นมีอยู่พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อชิวหาแลรับรสทั้งหลายระลึกอยู่ว่ารสนั้นไม่มีอยู่จริง มีพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์
เมื่อฆานะ (จมูก) แลได้กลิ่นแล้วสำคัญว่า กลิ่นนั้นมีอยู่พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อฆานะได้กลิ่นทั้งหลายระลึกอยู่ว่ากลิ่นนั้นไม่มีอยู่จริง มีพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์
เมื่อโสตะ (หู) ฟังเสียงแล้วสำคัญว่า เสียงนั้นมีอยู่พระอรหันต์ทั้งหลาย จึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อโสตะฟังเสียงทั้งหลายระลึกอยู่ว่าเสียงนั้นไม่มีอยู่จริง มีพระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติสุขและทุกข์
เมื่อใดที่เธอสำคัญว่ากายนี้มีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อใดที่ระลึกรู้อยู่ว่ากายนี้ไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติ สุขและทุกข์ ฯ
ดูกรน้องหญิงเมื่อใดที่เธอสำคัญว่าใจนี้มีอยู่ พระอรหันต์ทั้งหลายจึงบัญญัติสุขและทุกข์ เมื่อใดที่ระลึกรู้อยู่อย่างถ่องแท้ว่าใจนี้ไม่มี พระอรหันต์ทั้งหลายจึงไม่บัญญัติ สุขและทุกข์ ฯ
ครั้งท่านพระอุทายีกล่าวอนัตตลักขณธรรมอย่างนี้แล้ว นางพราหมณีเวรหัญจานิโคตรได้กล่าวกะท่าน พระอุทายีว่า ข้าแต่พระคุณเจ้า ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนัก ข้าแต่ท่านอุทายีผู้เจริญ ดิฉันนี้ขอ ถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น กับทั้งพระธรรม และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ ขอพระคุณเจ้าเจ้าขา จงจำดิฉันไว้ว่าเป็นอุบาสิกาผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ฯ
ในกาลต่อมาท่านพระอุทายีได้สนทนากับคหบดีช่างไม้ ชื่อปัญจกังคะถึงเรื่องเวทนา ท่านเห็นว่าพระพุทธองค์ทรง แสดงเวทนาไว้ ๓ อย่างคือ สุขเวทนา ๑ ทุกขเวทนา ๑ อทุกขมสุขเวทนา (อุเบกขาเวทนา) ๑ แต่คหบดีปัญจกังคะเห็นว่า พระพุทธองค์ทรงแสดงเวทนาไว้เพียง ๒ อย่างคือ สุขเวทนา และ ทุกขเวทนาเท่านั้น ส่วนอทุกขมสุขเวทนานั้น ก็ได้แก่ สุขเวทนา อันประณีตนั้นเอง
ทั้งสองท่านไม่สามารถจะตกลงกันได้ พระ อานนท์ได้ทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงไปกราบทูลให้พระพุทธองค์ ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงตรัสว่า
ดูกรอานนท์ แม้เวทนา ๒ เราได้กล่าวโดยปริยาย ถึงเวทนา ๓ เวทนา ๔ เวทนา ๕ เวทนา ๖ เวทนา ๑๘ เวทนา ๓๖ เวทนา ๑๐๘ เราก็กล่าวแล้วโดยปริยาย
เวทนา ๒ คือ เวทนาทางกาย เวทนาทางใจ
เวทนา ๓ คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา
เวทนา ๕ คือ สุขอินทรีย์ ทุกข์อินทรีย์ โสมนัสอินทรีย์ โทมนัสอินทรีย์และอุเบกขาอินทรีย์
เวทนา ๖ คือ เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางตา เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางหู เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางกาย เวทนาอันเกิดจากสัมผัสทางใจ
เวทนา ๑๘ คือ เวทนาที่เกิดร่วมกับโสมนัส๖ เวทนาที่เกิดร่วมกับโทมนัส ๖ เวทนาที่เกิดร่วมกับอุเบกขา ๖
เวทนา ๓๖ คือ
เคหสิตโสมนัส ๖ (โสมนัสที่อาศัยเรือนคืออายตนะ ๖)
เนกขัมมโสมนัส๖ (โสมนัสอาศัยการหลีกออกจากกาม)
เคหสิตโทมนัส ๖ (โทมนัสอาศัยเรือนคืออายตนะทั้ง ๖ เป็นเหตุ)
เนกขัมมสิตโทมนัส ๖ (โทมนัสอาศัยการหลีกออกจากกามด้วยอายตนะทั้ง ๖)
เคหสิตอุเบกขา๖ (อุเบกขาอาศัยเรือน คือ การวางเฉยในอายตนะทั้ง ๖)
เนกขัมมสิตอุเบกขา๖ (อุเบกขาอาศัยการงาน อายตนะเป็นเครื่องหลีกออกจากกาม)
เวทนา ๑๐๘ คือ เวทนาที่เป็นอดีต ๓๖ เวทนาที่เป็นอนาคต ๓๖ เวทนาที่เป็นปัจจุบัน ๓๖
ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดย ปริยายอย่างนี้แล ผู้ใดไม่รู้ตามด้วยดี ไม่สำคัญตามด้วยดี ไม่ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ในธรรมที่เราแสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักบาดหมาง ทะเลาะวิวาททิ่มแทงกันแลกันด้วยหอกคือปากอยู่
ดูกรอานนท์ ธรรมอันเราแสดงแล้วโดยปริยาย อย่างนี้ ผู้ใดรู้ตามด้วยดี สำคัญตามด้วยดี ยินดีตามด้วยดี ซึ่งคำที่กล่าวดี พูดดี ของกันและกัน ใน ธรรมที่แสดงโดยปริยายอย่างนี้แล้ว ผู้นั้นจะได้ผลอันนี้ คือ จักพร้อมเพรียง บันเทิง ไม่วิวาทกัน เป็นเหมือนน้ำนมระคนกับน้ำ แลดูกันด้วยสายตาเป็นที่รักอยู่
พุทธะอิสระ