วันนี้เราท่านทั้งหลายมาติดตามศึกษาประวัติของพระอรหันต์อสีติมหาสาวกนามว่า พระกาฬุทายีเถระ
พระกาฬุทายีเป็นบุตรมหาอำมาตย์ในกรุงกบิลพัสดุ์ เป็นสหชาติ คือ เกิดพร้อมกับพระมหาบุรุษ ครั้นถึงวันตั้งชื่อ มารดาบิดาได้ตั้งชื่อเขาว่า อุทายี เพราะเหตุที่เขาเกิดในวันที่ชาวพระนครทั้งสิ้นมีจิตเบิกบาน เนื่องจากการประสูติพระราชโอรส เจ้าชายสิทธัตถะ แต่คนทั้งหลายกลับเรียกชื่อท่านว่า กาฬุทายี (กาฬ + อุทายี) เพราะเมื่อเกิดท่านมีผิวพรรณค่อนข้างคล้ำ ดังนั้น ชนทั้งหลายจึงเรียกว่า กาฬุทายี
ในฐานะของลูกชายของอำมาตย์แห่งกรุงกบิลพัสดุ์ และเป็นสหชาติกับเจ้าชายสิทธัตถะ ท่านจึงเป็นเพื่อนเล่นกับพระโพธิสัตว์มาตั้งแต่เยาว์วัย
ครั้นเมื่อเจริญเติบโตแล้ว ได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กในพระมหาบุรุษเจ้า ซึ่งเป็นผู้มีความคุ้นเคยสนิทสนม กับพระมหาบุรุษเป็นอย่างดี
ครั้นพระมหาบุรุษเสด็จออกทรงผนวช ได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว เสด็จเทศนาสั่งสอนแก่เวไนยสัตว์ และประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์
พระเจ้าสุทธโธทนะพุทธบิดาทรงทราบ มีพระประสงค์ใคร่จะทอดพระเนตรพระราชโอรส จึงมีพระราชโองการรับสั่งใช้อำมาตย์คนหนึ่งพร้อมทั้งบริวารอีกหนึ่งพันคน ให้ไปทูลเชิญเสด็จสมเด็จพระบรมศาสดา
อำมาตย์รับพระราชโองการแล้วพาบริวารไปเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้นเมื่ออำมาตย์ผู้นั้นไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ก็เป็นเวลาแสดงธรรมแก่พุทธบริษัท อำมาตย์ผู้นั้นจึงถวายบังคมพระบาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่งอยู่ท้ายบริษัท โดยหวังว่า เมื่อทรงแสดงธรรมเสร็จแล้ว จะได้กราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบความ ที่พระพุทธบิดาทรงอาราธนาให้เสด็จสู่นครกบิลพัสดุ์
ครั้นได้ฟังธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดง อรหัตผลก็ได้บังเกิดขึ้นแก่อำมาตย์ผู้นั้นพร้อมทั้งบริวารทั้งสิ้น ทั้งหมดจึงได้ทูลขอบรรพชา และอุปสมบทที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าให้อำมาตย์กับทั้งบริวารเหล่านั้น อุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา ภิกษุนั้นกับทั้งบริษัทบรรลุพระอรหัตแล้ว ก็ได้อยู่เสวยสุขอันเกิดแต่ผลสมาบัติในที่นั้นเอง
ด้วยความเป็นพระอริยเจ้าผู้มีความวางเฉยเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมิได้กราบทูลอาราธนาพระบรมศาสดาตามพระบัญชาของพระเจ้าสุทโธทนะ
พระเจ้าสุทโธทนะเมื่อทรงมิได้ทรงสดับข่าวจากอำมาตย์กับทั้งบริวาร จึงทรงส่งทูตอื่นไปอีกถึง ๘ คณะ แต่ก็มีผลลัพธ์เดียวกัน คือ คณะทูตเหล่านั้นได้ฟังธรรมทั้งหมด รวม ๘,๐๐๐ คนก็ได้บรรลุพระอรหันต์ และทูลขอบรรพชาเป็นภิกษุเหมือนกันทั้งสิ้น
ฝ่ายพระเจ้าสุทโทธนะ เมื่อทรงเห็นว่าคณะทูตที่ส่งไปทั้งหมดไม่มีการส่งข่าวกลับมา ก็ทรงน้อยพระทัย คิดว่าบรรดาเหล่าอำมาตย์ที่ส่งไปนั้นไม่มีความรักในพระองค์เลย จึงไม่ยอมอาราธนาพระพุทธองค์ให้เสด็จมายังกรุงกบิลพัสดุ์ ต่อมาได้ทรงดำริว่า คงมีแต่อุทายีอำมาตย์คนนี้แหละ ที่เป็นผู้มีวัยเสมอกันกับพระพุทธองค์ เคยร่วมเล่นในวัยเด็กมาด้วยกัน และคงมีความรักเยื่อใยในพระองค์ท่าน
จึงได้ทรงดำรัสสั่งให้อุทายีอำมาตย์พร้อมด้วยบริวาร ๑,๐๐๐ คน ให้ไปยังกรุงราชคฤห์แล้วอาราธนาพระทศพลมาให้ได้
ฝ่ายกาฬุทายีอำมาตย์นั้น เมื่อจะไปจึงกราบทูลขอพระบรมราชานุญาตว่า ถ้าอนุญาตให้ท่านบวชได้ ท่านก็จะอาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าให้เสด็จมา
พระเจ้าสุทโทธนะมีพระดำรัสพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า เธอจะทำอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ ขอให้อาราธนาพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาพบเราให้ได้ก็แล้วกัน
ดังนั้นกาฬุทายีอำมาตย์จึงไปยังกรุงราชคฤห์ ครั้นเมื่อไปถึงพอดีเป็นเวลาที่พระบรมศาสดาทรงแสดงธรรม จึงยืนฟัง ธรรมอยู่ข้างท้ายพุทธบริษัททั้งหลาย พร้อมด้วยบริวาร เมื่อจบเทศนาหมู่อำมาตย์นั้นก็ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมทั้งปฏิสัมภิทา พระบรมศาสดาทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยทรงตรัสว่า ท่านจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้วท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เถิด
จำเดิมแต่วันที่พระอุทายีเถระมาแล้ว เวลาได้ล่วงไป ๗-๘ วัน ในวันจึงลุถึงวันเพ็ญเดือน ๔ พระอุทายีเถระนั้นคิดว่า ฤดูเหมันต์ก็ล่วงไปแล้ว ฤดูวสันต์กำลังย่างเข้ามา พวกมนุษย์ถอนข้าวกล้าไปแล้ว ทำให้ถนนหนทางในระหว่างทางตรงหน้าชุ่มไปด้วยแผ่นดินดาดาษไปด้วยหญ้าเขียวสด ทั่วทั้งราวป่าล้วนมีดอกไม้บานสพรั่ง หนทางเหมาะแก่การที่จะเดินทาง กาลนี้เป็นกาลที่สมควรที่พระทศพลจะทรงเสด็จไปโปรดพระประยูรญาติ
ลำดับนั้น พระอุทายีเถระเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วจึงทูลพรรณนาความสะดวกงดงามของหนทางเสด็จเพื่อต้องการให้พระทศพลเสด็จไปยังพระนครกบิลพัสดุ์ของราชสกุล ด้วยคาถาประมาณ ๖๐ คาถา ความว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอก และใบสีแดงดุจถ่านเพลิง ผลิผล สลัดใบเก่าร่วงหล่นไป หมู่ไม้เหล่านั้นงดงามรุ่งเรืองดุจเปลวเพลิงอันสลับเลือมฉาย พริ้วไหว
ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรใหญ่ เวลานี้เป็นเวลาสมควรอนุเคราะห์หมู่พระประยูรญาติแล้วพระพุทธเจ้าข้า
ข้าแต่พระองค์ผู้ทรงอาจหาญแกล้วกล้า หมู่ไม้ทั้งหลายมีดอกบานงดงามดี น่ารื่นรมย์ใจ ส่งกลิ่นหอมฟุ้งตลบไป ทั่วทิศโดยรอบ มวลหมู่พืชพรรณพฤกษาล้วนผลัดใบเก่า ผลิดอกออกผล ในเวลานี้เป็นเวลาสมควรจะหลีกออกไปจากที่นี้ เพื่อเสด็จพระดำเนินทัศนารมณียสถาน ธรรมชาติอันรื่นรม ขอเชิญพระพิชิตมาร เสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์เถิดพระพุทธเจ้าข้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ฤดูนี้ก็เป็นฤดูที่ไม่หนาวนัก ไม่ร้อนนัก เป็นฤดูพอสบาย ทั้งมรรคาก็สะดวก พระประยูรญาติ พวกศากยะและโกลิยะทั้งหลาย ต่างพากันผ่อนคลายจากพระราชภาระ จักสามารถเสด็จมาเข้าเฝ้าพระองค์ที่แม่น้ำโรหิณี อันมีปากน้ำอยู่ทางทิศใต้พระพุทธเจ้าข้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กาลนี้ชาวนาไถนาด้วยความหวังผล หว่านพืชด้วยความหวังผล พ่อค้าผู้เที่ยวหาทรัพย์ ย่อมไปสู่สมุทรด้วยความหวังทรัพย์ ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ ด้วยความหวังผลอันใด ขอความหวังผลอันนั้น จงสำเร็จแก่ข้าพระองค์เถิด พระพุทธเจ้าข้า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ กาลใดชาวนา หว่านพืชบ่อย ๆ ฝนตกบ่อย ๆ ชาวนาไถนาบ่อย ๆ แว่น แคว้นสมบูรณ์ด้วยธัญญาหารบ่อย ๆ พวกยาจกเที่ยวขอทานบ่อย ๆ ผู้เป็นทานบดีให้ทานบ่อย ๆ ครั้นให้บ่อย ๆ แล้ว ย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อย ๆ บุรุษผู้มีความเพียร มีปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด ย่อมยังสกุลนั้นให้ บริสุทธิ์ บริบูรณ์ รุ่งเรืองเจริญสะอาดตลอด ๗ ชั่วอายุคน
ข้าพระองค์ย่อมเข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าผู้ประเสริฐกว่าเทพเจ้าทั้งหลายในตรีโลกธาตุ ย่อมทรงสามารถทำให้ราชสกุลบริสุทธิ์ โดยอริยชาติ ได้สัจนามว่า เป็นมหาบุรุษนักปราชญ์ ผู้รงพระปัญญาคุณอันประเสริฐ ผู้ทรงพระมหากรุณาธิคุณอันประเสริฐ ผู้ทรงพระบริสุทธิคุณอันประเสริฐ พร้อมด้วยวิชาและจรณะอันเยี่ยมยอด
ควรต่อการที่สมเด็จพระบิดาของพระองค์ ผู้ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงพระนามว่าสุทโธทนะ สมเด็จพระนางเจ้ามายาพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระพุทธมารดา ทรงบริหาร พระองค์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์มาด้วยพระครรภ์ เสด็จ สวรรคตไปบันเทิงอยู่ในไตรทิพย์ สมเด็จพระนางเจ้ามายาเทวีนั้น ครั้นสวรรคตจุติจากโลกนี้แล้ว ทรงพรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ มีหมู่นางฟ้าห้อมล้อม บันเทิงอยู่ด้วยเบญจกามคุณ
ข้าพระองค์ขอทูลเสด็จไปโปรดพระพุทธบิดา และหมู่พระประยูรญาติ ผู้เปรียบดังพื้นแผ่นดินอันแห้งแล้งที่เฝ้ารอพระพิรุณประพรมโปรยปรายให้ได้รับความชุ่มฉ่ำด้วยเถิดพระพุทธเจ้าข้า
จบไว้แค่นี้นะจ๊ะ วันหน้าเรามาติดตามกันดูว่า องค์พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรงเสด็จไปโปรดพุทธบิดาสุทโธทนะ ตามที่พระกาฬุทายีเถระพรรณนาถึงความสะดวกสบาย ความงดงามระหว่างเสด็จเพื่อเป้าประสงค์ที่จะยังพระประยูรญาติ ให้ได้รับน้ำอมฤตธรรมอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์จากพระพุทธองค์ได้หรือไม่
พุทธะอิสระ