ติดตามข่าวการเมืองกันมานานหลายวันแล้ว เดี๋ยวเครียด
เรามาใช้ธรรมขององค์พระผู้มีพระภาคเจ้ามาล้าง มาชำระ ขัดเกลาให้สงบระงับ ผ่อนคลาย จะได้ไม่เครียดมากจนเกินไป
จึงควรมาสดับตรับฟังธรรมกันต่อดีกว่า
ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่พระมหากัปปินะ คิดว่าตนเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องลงอุโบสถ ร่วมสังฆกรรมกับหมู่ภิกษุอื่น
พระบรมศาสดาทรงรู้ในความคิดของพระกัปปินะ จึงทรงอันตราทานหายตัวไปปรากฎเฉพาะหน้าของพระมหากัปปินะ ด้วยอำนาจแห่งพุทธานุภาพ แล้วทรงเตือนให้รู้ว่า
หากสมณพราหมณ์ไม่ร่วมกันประชุม ไม่สาธยายทบทวนในพระธรรมวินัย ไม่กราบ ไม่ไหว้ในผู้มีอายุ แล้วจะให้ใครมาร่วมประชุม มาทบทวนสาธยาย มากราบ มาไหว้ ในสิ่งที่ควรบูชาอีกเล่า
พระมหากัปปินะครั้งได้สดับพุทธโอวาทดังนั้นแล้ว จึงได้เข้าร่วมประชุมสังฆกรรมแก่หมู่สงฆ์ทั้งหลาย ในทุกครั้งที่มีการประชุมร่วมสังฆกรรม
ต่อมาวันหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามพวกภิกษุทั้งพันรูป ผู้เป็นอันเตวาสิกของท่านมหากัปปินะนั้นว่า ภิกษุทั้งหลาย กัปปินะ อาจารย์ของเธอแสดงธรรมแก่พวกเธอ ทั้งหลายบ้างไหม?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า อาจารย์ของข้าพระองค์มิได้แสดงธรรมเลย ท่านเป็นผู้ขวนขวายน้อย ประกอบความเพียรอยู่ด้วยความสุขในทิฏฐธรรมอยู่ ไม่ยอมให้แม้เพียงแต่โอวาทแก่ ใคร ๆ ดังนี้
พระศาสดา จึงทรงให้เรียกหาพระเถระมาแล้ว ตรัสถามว่า กัปปินะ ได้ยินว่า เธอ ไม่ยอมให้แม้เพียงโอวาทแก่พวกอันเตวาสิก จริงหรือ?
พระเถระกราบทูล ว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า จริง พระเจ้าข้า
พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ เธออย่าทำอย่างนั้น ตั้งแต่วันนี้ไป เธอจงแสดงธรรมแก่ พวกภิกษุผู้เข้าไปหาแล้ว พระเถระรับพระดำรัสพระศาสดา ด้วยเศียรเกล้าว่า ดีละ พระพุทธเจ้า
จากนั้นท่านจึงทำให้พระสมณะ ๑,๐๐๐ รูปดำรงอยู่ ในพระอรหัต ด้วยโอวาทเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ด้วยเหตุนั้น พระ ศาสดาเมื่อจะตั้งตำแหน่งพระเถระผู้สาวกของพระองค์ ตามลำดับ จึงทรง ตั้งเธอไว้ในตำแหน่งที่เลิศกว่าภิกษุผู้กล่าวสอนภิกษุทั้งหลาย
วันหนึ่ง ท่านพระสารีบุตร ท่านพระมหาโมคคัลลานะ ท่านพระอนุรุทธะ และท่านพระกัปปินะ ได้อยู่ในราวป่าแห่งหนึ่ง ไม่ไกลจากกรุงราชคฤห์มากนัก
ก็สมัยหนึ่ง ในกรุงพาราณสี มีพราหมณ์คนหนึ่ง เป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก เป็นดุจบ่อที่ดื่มกินของสมณพราหมณ์ คนกำพร้า คนเดินทาง วณิพก และยาจก ได้ให้สิ่งของมีข้าว น้ำ ผ้า และที่นอนเป็นต้น และเมื่อจะให้ ย่อมปฏิบัติตามความพอใจทุกอย่าง ตามลำดับของการให้มีน้ำล้างเท้า และ ผ้าเช็ดเท้าเป็นต้น ตามเวลาและตามความเหมาะสมแก่คนผู้มาถึง แล้ว ๆ ในเวลาก่อนอาหารได้อังคาสภิกษุทั้งหลายด้วยข้าวและ น้ำเป็นต้น โดยเคารพ
วันหนึ่งเมื่อพราหมณ์นั้นจะไปธุระยังถิ่นอื่นจึงกล่าวกะภรรยาว่า นางผู้เจริญ เธอจงทำทานตามวิธีที่เราเคยทำ อย่าทำให้ทานนั้นเสื่อมเสีย จงหมั่นดำรงไว้โดยเคารพ ภรรยารับคำแล้ว พอสามีหลีกไปเท่านั้น ก็เลิกวิธีที่พราหมณ์นั้นเคยทำเพื่อภิกษุทั้งหลาย เป็นอันดับแรก
แต่เมื่อคนเดินทางเข้าไปเพื่ออยู่อาศัย ก็แสดงศาลาที่เก่าที่ถูกทอดทิ้ง ไว้หลังเรือนด้วยคำว่า พวกท่านจงอยู่ที่ศาลานี้ เมื่อคนเดินทาง มาในที่นั้นเพื่อต้องการข้าวและน้ำเป็นต้น ก็กล่าวว่า จงกินคูถ ดื่มมูตร ดื่มโลหิต กินมันสมองของมารดาท่าน แล้วจึงระบุชื่อ ของสิ่งที่ไม่สะอาด น่าเกลียด แล้วถ่มน้ำลาย
สมัยต่อมา เมื่อนางสิ้นชีวิตแล้ว ด้วยผลกรรมชั่วที่ทำไว้ จึงไปบังเกิดเป็นเปรต เสวยทุกข์อันเหมาะสมแก่วจีทุจริตของตน นางเปรตนั้นเมื่อหวนระลึกถึงความสัมพันธ์กันในชาติก่อน มีความประสงค์จะมายังสำนักของท่านพระสารีบุตร จึงมาถึงประตูวิหาร
เทวดาผู้สิงอยู่ที่ประตูวิหารของท่านพระสารีบุตรนั้น จึงได้ห้ามนางเข้าวิหาร ด้วยความที่นางเปรตนั้นได้เคยเป็นมารดาของพระเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาตินี้ เพราะฉะนั้น นางจึงกล่าวว่า ดิฉันเป็นมารดาของ พระผู้เป็นเจ้าสารีบุตรเถระ ในชาติที่ ๕ แต่ปัจจุบันชาติ ขอท่านจงให้ดิฉันเข้าประตูเพื่อเยี่ยมพระเถระเถิด
เทวดาได้ฟังดังนั้นจึงอนุญาตให้นางเข้าไป นางครั้นเข้าไปแล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่สุดที่จงกรม แล้วแสดงตนแก่พระเถระ พระเถระครั้นได้เห็นนางเปรตนั้น จึงถามด้วยใจอันความกรุณา
ท่านเป็นผู้เปลือยกาย มีรูปร่างน่าเกลียดซูบผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น ดูก่อนนางผู้ซูบผอม มีแต่ซี่โครง ท่านเป็นใครหรือ จึงมายืนอยู่ในที่นี้
นางเปรตนั้นเมื่อพระเถระถาม จึงได้กล่าวว่า
 
เมื่อก่อนดิฉันเป็นมารดาของท่าน ในชาติก่อน ๆ ดิฉันเข้าถึงเปตวิสัย เพียบพร้อมไปด้วยความหิว และความกระหาย เมื่อถูกความหิวครอบงำ ย่อมกินน้ำลาย น้ำมูก เสมหะ ที่เขาถ่มทิ้ง และกินมันเหลวของซากศพ ที่เขาเผาที่เชิงตะกอน กินโลหิตของพวกหญิงที่คลอดบุตร และโลหิตของพวกบุรุษที่ถูกตัดมือ เท้า และศีรษะที่เป็นแผล กินเนื้อ เอ็น และข้อมือข้อเท้าเป็นต้นของชายหญิง กินหนองและเลือดของปศุสัตว์และมนุษย์ทั้งหลาย ไม่มีที่เร้น ไม่มีที่อยู่อาศัยนอนบนเตียงของคนตายที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ลูกเอ๋ย ขอลูกจงให้ทานแล้วอุทิศส่วนบุญแก่เราบ้างไฉนหนอแม่จึงจะพ้นจากการกินหนองและเลือด
ท่านพระสารีบุตรเถระ ได้สดับดังนั้นแล้ว ในวันที่สอง จึงเรียกพระเถระ ๓ รูป มีท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ท่านพระอนุรุทธะและท่านพระกัปปินะมา ท่านพร้อมด้วยพระเถระเหล่านั้นเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ได้ไปถึงพระราชนิเวศน์ของพระเจ้าพิมพิสาร
พระราชาเห็นพระเถระแล้ว จึงถามถึงเหตุแห่งการมา ท่านพระมหาโมคคัลลานะจึงได้ทูลเรื่องนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งให้เรียก อำมาตย์แล้วทรงพระบัญชาว่า ท่านจงสร้างกุฎี ๔ หลังในที่นี้อันสมบูรณ์ด้วยร่มเงาและน้ำ อันวิจิตร ไม่ไกลแต่เมือง เมื่อกุฎีสำเร็จแล้ว จึงให้ตระเตรียมพลีกรรมทั้งหมด เข้าไปตั้งข้าวน้ำและผ้าเป็นต้น และเครื่องบริขารทุกอย่างที่สมควรแก่ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศ ทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วมอบถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่พระสารีบุตรเถระ
ลำดับนั้น พระเถระได้ถวายสิ่งทั้งหมดนั้น แด่ภิกษุสงฆ์ผู้มาจากทิศทั้ง ๔ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน อุทิศแก่นางเปรตนั้น นางเปรตนั้น ได้อนุโมทนาส่วนบุญนั้นแล้ว บังเกิดในเทวโลก เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยสิ่งที่น่าปรารถนาทุกอย่าง ในวันต่อมา ก็ได้เข้าไปหาท่านพระมหาโมคคัลลานเถระ ไหว้แล้ว ยืนอยู่ พระเถระสอบถามนางเปรตนั้น นางเปรตนั้น ได้แจ้ง เหตุที่ตนเข้าถึงความเป็นเปรต และเข้าถึงความเป็นเทวดาแก่ท่านพระมหาโมคคัลลานะ
ลำดับนั้น ท่านพระมหาโมคคัลลานะเถระ ได้กราบทูลเรื่องนั้น แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงกระทำเรื่องนั้น ให้เป็นเหตุแล้ว ทรงแสดงธรรมแก่บริษัทผู้เข้าเฝ้าอยู่ พร้อมแล้ว เทศนานั้นได้มีประโยชน์แก่มหาชน ฉะนั้นแล
พระนครสาวัตถี สมัยนั้น ท่านพระมหากัปปินะ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคได้ทอดพระเนตรเห็นท่านมหากัปปินะนั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกาย ตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า ครั้นแล้วได้ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลาย เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของภิกษุนั้นหรือหนอ?
ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เวลาใดข้าพระองค์ทั้งหลาย เห็นท่านผู้มีอายุนั้นนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ หรือนั่งในที่ลับรูปเดียว ในเวลานั้น ข้าพระองค์ทั้ง หลายมิได้เห็นความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายของท่านผู้มีอายุนั้นเลย
พระผู้มีพระภาคทรงตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งสมาธิใด ภิกษุนั้นได้สมาธินั้นตามความปรารถนาได้ โดยไม่ยากไม่ลำบาก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความ หวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี เพราะได้เจริญ กระทำให้มากซึ่งสมาธิ เป็น ไฉน? เพราะได้เจริญ ได้กระทำให้มากซึ่งอานาปานสติสมาธิ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่ออานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญแล้ว กระทำให้ มากแล้วอย่างไร ความไหวหรือความเอนเอียงแห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่ง จิตก็ดี ย่อมไม่มี?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ที่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้ บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจออก ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสละคืนหายใจเข้า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อ อานาปานสติสมาธิ อันภิกษุเจริญ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ความไหวหรือความเอนเอียง แห่งกายก็ดี ความหวั่นไหวหรือความกวัดแกว่งแห่งจิตก็ดี ย่อมไม่มี.
สรุปว่า ผู้ที่เจริญสติอยู่ในกายอย่างต่อเนื่อง เนืองๆ ย่อยมีกายอันตั้งตรงทั้งนั่ง ทั้งยืน ทั้งเดินและนอน
 
จบเอาไว้แค่นี้ก่อนนะจ๊ะ จะไปทำพระแล้ว
 
พุทธะอิสระ