พระมหากัปปินะ เป็นพระโอรสของพระมหากษัตริย์ผู้ครองนครภุกฎวดี
ในปัจจันตชนบท มีพระนามเดิมวา “กัปปินะ”
เมื่อพระราชบิดาทิวงคตแล้วได้ครอบครองราชย์สมบัติสืบต่อมา ได้พระนามใหม่ว่า “พระเจ้ามหากัปปินะ” มีพระอัครมเหสีพระนามว่า“อโนชาเทวี” ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระราชาผู้ครองนครสาคละ แห่งแคว้นมัททรัฐ
พระเจ้ามหากัปปินะ มีพระราชหฤทัยใฝ่ต่อการศึกษาแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอโดยเฉพาะทรงฝักใฝ่ในการออกบวชเพื่อการบรรลุมรรคผลนิพพานอันเป็นคุณธรรมเบื้องสูง
ทุก ๆ วันพระองค์จะส่งอำมาตย์ออกไปสืบข่าวจากทิศทั้ง ๔ ว่ามีข่าวอันเป็นมหามงคลอะไรบ้าง โดยเฉพาะข่าวเกี่ยวกับพระรัตนตรัย อำมาตย์เหล่านั้นต่างแยกย้ายกันออกจากพระนครไปไกลถึง ๒-๓ โยชน์ทุกวัน ค่ำแล้วก็กลับมารายงานข่าวให้องค์ราชามหากัปปินะให้ทรงทราบ
พระเจ้ามหากัปปินะ มีม้าอันเป็นพระราชพาหนะ ๕ ตัว คือ
ม้าชื่อพละ ม้าชื่อพลวาหนะ ม้าชื่อปุปผะ ม้าชื่อปุปผวาหนะ และ ม้าชื่อสุปัตตะ
โดยปกติพระองค์จะทรงม้าชื่อสุปัตตะ เป็นประจำ ส่วนม้าที่เหลือจะพระราชทานให้อำมาตย์หรือทหารใช้เป็นพาหนะไปสืบข่าวต่าง ๆ
ต่อมาวันหนึ่ง พระราชาทรงม้าชื่อสุปัตตะ โดยมีอำมาตย์พันหนึ่งแวดล้อม เสด็จไปพระราชอุทยาน ทอดพระเนตรเห็นพวกพ่อค้าประมาณ ๕๐๐ ผู้มีร่างกายอ่อนเพลียกำลังเข้าสู่พระนคร แล้วทรงดำริว่า "ชนเหล่านี้ลำบากในการเดินทางไกล, เราจักได้ฟังข่าวดีอย่างหนึ่งจากชนเหล่านี้เป็นแน่" จึงรับสั่งให้เรียกพ่อค้าเหล่านั้นมาแล้วตรัสถามว่า "ท่านทั้งหลายมาจากเมืองไหน?"
พ่อค้า : พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์มาจากนครชื่อสาวัตถี ซึ่งมีอยู่ห่างจากพระนครนี้ประมาณ ๑๒๐ โยชน์แต่พระนครนี้.
พระราชา : ก็ข่าวอันเป็นมงคลอะไรๆ อุบัติขึ้นในประเทศของพวกท่านมีอยู่หรือ?
พ่อค้า : พระเจ้าข้า ข่าวอะไรๆ อย่างอื่นไม่มี, มีแต่ข่าวพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้วในโลกนี้
พระราชามหากัปปินะ พอได้สดับข่าวอันเป็นมหามงคลว่า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงได้อุบัติขึ้นแล้วในโลก องค์ราชากัปปินะถึงกับมีพระอาการปีติ พระโลมาชูชัน พระวรกายพองเบา น้ำพระเนตรหลั่งไหลออกมาอย่างพรั่งพรู ความตื้นตันพรั่งพรูออกมาทางพระวรกาย จนต้องทรงหยุดนิ่งสงบพระวรกายตั้งพระสติ เพื่อระงับยับยั้งในอารมณ์ปีติดังกล่าว
แล้วจึงทรงตรัสถามว่า "พวกท่านกล่าวอะไร? พ่อคุณ"
พวกพ่อค้าจึงกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว."
แม้ครั้งที่ ๒ แม้ครั้งที่ ๓ พระราชาก็ทรงบังเกิดปีติถาโถมท่วมท้นจนไม่สามารถกล่าววาจาอันใดได้อีกเลย
ในวาระที่ ๔ ตรัสถามว่า "พวกท่านกล่าวว่าอะไรนะ ? พ่อคุณ"
เมื่อพ่อค้าเหล่านั้นกราบทูลว่า "พระเจ้าข้า พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว พระเจ้าข้า"
องค์ราชามหากัปปินะ จึงทรงตรัสว่า "พ่อคุณทั้งหลาย เราจักให้ทรัพย์แก่พวกท่านหนึ่งแสนกหาปนะ" แล้วตรัสถามว่า "พวกพ่อคุณยังมีข่าวอะไรที่เกี่ยวกับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่อีกหรือไม่"
พวกพ่อค้ากราบทูลว่า "มีอยู่ พระเจ้าข้า พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์นั้นทรงตรัสพระธรรมขึ้นแล้วพระเจ้าข้า"
พระราชาพอได้ทรงสดับข่าวว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนพระธรรมให้เป็นไป จึงทรงบังเกิดปีติขึ้นอีก จนน้ำพระเนตรพรั่งพรู ส่งเสียงสะอื้นด้วยความปีติสุขจนต้องทรงนิ่งสงบอยู่ตลอด ๓ วาระด้วยเพราะทรงตกอยู่ในอารมณ์ของปีติอย่างต่อเนื่อง แล้วเมื่อทรงข่มอารมณ์ปีตินั้นได้แล้ว จึงตรัสถามว่า "ข่าวอันเป็นมหามงคล ยังมีอยู่อีกหรือไม่พ่อคุณ"
พวกพ่อค้ากราบทูลว่า "พระเจ้าข้า มีอยู่พระเจ้าข้า เมื่อพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ทรงตรัสแสดงพระธรรมให้เป็นไปแล้ว จึงยังให้เกิดพระสังฆรัตนะเกิดขึ้นในโลกนี้แล้ว"
พระราชาทรงสดับคำนั้นแล้วจึงทรงบังเกิดธรรมปีติขึ้นอีกครา จนถึง ๓ วาระ แล้วทรงทอดพระเนตรดูอำมาตย์จำนวนพันหนึ่ง พร้อมทั้งตรัสถามว่า "ท่านทั้งหลาย พวกท่านมีความเห็นในเรื่องนี้อย่างไร?"
อำมาตย์ทั้งพันคนเหล่านั้น จึงทูลถามแด่องค์ราชากลับไปว่า พระองค์จักให้พวกข้าพระองค์ทำอย่างไรเล่าพระเจ้าข้า
พระราชา : พ่อคุณทั้งหลาย เราได้สดับข่าวอันเป็นมหามงคลมากที่สุดในชีวิตว่า ‘พระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นแล้ว, พระธรรมอุบัติขึ้นแล้ว, พระสงฆ์อุบัติขึ้นแล้ว’, เราจักอุทิศต่อพระศาสดา ออกไปบวชในสำนักของพระองค์.
อำมาตย์ : เช่นนั้นพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ก็จักขอตามเสด็จไปบวชพร้อมด้วยพระองค์ พระเจ้าข้า.
องค์มหากัปปินะ จึงรับสั่งให้อำมาตย์เขียนพระราชสาสน์ ถึงพระชายาอโนชาเทวี โดยมีรับสั่งให้พระราชทานรางวัลแก่กลุ่มพ่อค้าเหล่านี้จำนวน ๓ แสนกหาปณะ และขอสละราชสมบัติให้พระชายารับการปกครองสืบต่อไป
ส่วนพระองค์เองพร้อมด้วยอำมาตย์ผู้ใกล้ชิดทั้งพันคนเหล่านั้น จะขอออกบวชอุทิศเฉพาะแต่พระผู้มีพระภาค ดังนี้แล้ว มอบพระราชสาสน์นั้นให้พ่อค้านำไปถวายแด่พระชายา
แม้อำมาตย์เหล่านั้นก็เขียนจดหมายถึงภรรยาและบุตรของตน ดุจเดียวกัน จากนั้นได้ติดตามพระราชามหากัปปินะ ออกจากพระราชอุทยานมุ่งสู่พระนครสาวัตถี
ในเช้าวันต่อมา พระศาสดา ทรงตรวจดูสัตว์โลกด้วยพระญาณในกาลใกล้รุ่ง ได้ทอดพระเนตรเห็นพระเจ้ามหากัปปินะพร้อมทั้งบริวาร ที่กำลังพากันเสด็จมาเข้าเฝ้าพระพุทธองค์จึงทรงดำริว่า
"พระเจ้ามหากัปปินะผู้นี้ได้ทรงสดับข่าวว่า พระรัตนะ ๓ อุบัติขึ้นแล้วในโลกโดยพวกพ่อค้าแจ้งข่าวให้ทรงทราบแล้ว ราชานั้นทรงบูชาข่าวมหามงคลนั้นของพ่อค้าด้วยทรัพย์ ๓ แสนกหาปนะ พร้อมทั้งทรงสละราชสมบัติ พร้อมด้วยอำมาตย์พันหนึ่งแวดล้อม ทรงประสงค์เพื่อจะออกผนวชอุทิศแก่เรา เราตถาคตจักเสด็จออกไปโปรดท้าวเธอพร้อมทั้งบริวารในวันรุ่งพรุ่งนี้ เธอทั้งหมดจักได้บรรลุพระอรหัตพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย" ดังนี้แล้ว
ในวันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาจึงทรงบาตรและจีวรด้วยพระองค์เองแล้ว เสด็จไปรับราชามหากัปปินะพร้อมบริวาร ระหว่างกลางทาง ซึ่งกำลังเดินทางมาสิ้นระยะทาง ๑๒๐ โยชน์ ดุจพระเจ้าจักรพรรดิทรงต้อนรับพวกบริวารฉะนั้น ประทับนั่งเปล่งพระรัศมี มีวรรณะ ๖ สี บนรัตนบัลลังก์อันเรืองรองภายใต้โคนต้นนิโครธ ริมฝั่งแม่น้ำจันทภาคานที.
ฝ่ายพระราชาเสด็จมาถึงแม่น้ำที่ขวางทางอยู่แล้ว ตรัสถามแก่บรรดาอำมาตย์บริพารว่า "นี่ชื่อแม่น้ำอะไร?"
อำมาตย์ทูลตอบว่า : ชื่ออารวปัจฉานที พระเจ้าข้า.
พระราชา : พ่อคุณทั้งหลาย แม่น้ำนี้กว้าง ลึกประมาณเท่าไร?
อำมาตย์ : ลึก คาวุตหนึ่ง, กว้าง ๒ คาวุต พระเจ้าข้า.
พระราชาจึงทรงดำริขึ้นว่า : ในแม่น้ำนี้ เรือหรือแพมีไหม?
อำมาตย์ : ไม่มี พระเจ้าข้า.
พระราชาตรัสว่า "หากพวกเราทั้งหลายมัวแต่เสียเวลาหายานพาหนะเรือและแพเป็นต้น ชาติย่อมนำไปสู่ชรา ชราย่อมนำไปสู่มรณะ เราจักเสียเวลาไปใยเล่า ขืนล่าช้าคงจะไม่ทันต่อมรณะภัย ที่จะเกิดขึ้นแล้ว จึงทรงตั้งสัจจาธิษฐานว่า
เราไม่มีความสงสัยในการออกบวชอุทิศพระรัตนตรัย ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยนั้น น้ำนี้จงแข็งดุจดังแผ่นดิน เพื่อให้เราและบริวารเดินข้ามไปได้โดยสวัสดิภาพ"
ดังนี้แล้ว ทรงระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย ระลึกถึงพุทธานุสสติว่า "เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า" ทรงเป็นที่พึ่งของปวงข้าพระพุทธเจ้า ทรงตั้งสัจจาธิษฐานดังนี้แล้ว พร้อมทั้งบริวารจึงเสด็จไปบนพื้นน้ำ พื้นที่แข็งดุจดังแผ่นหิน พร้อมด้วยม้าพันหนึ่ง. ม้าสินธพทั้งหลายก็วิ่งไป ดุจดังวิ่งไปบนหลังแผ่นหิน. แม้ปลายกีบก็ไม่เปียกเปื้อนน้ำใดๆ เลย
พระราชาเสด็จข้ามแม่น้ำปัจฉานทีนั้นแล้ว จึงเสด็จต่อไป ไม่นานนักก็มาถึงแม่น้ำใหญ่ขวางทางอยู่แล้ว ทอดพระเนตรเห็นแม่น้ำนั้นแล้ว จึงตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า "แม่น้ำนี้ชื่ออะไร?"
อำมาตย์ : ชื่อนีลวาหนานที พระเจ้าข้า.
พระราชา : แม่น้ำนี้กว้างลึกประมาณเท่าไร?
อำมาตย์ : ทั้งส่วนลึก ทั้งส่วนกว้าง ประมาณกึ่งโยชน์ พระเจ้าข้า.
องค์มหากัปปินะราชาจึงทรงตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า ในแม่น้ำพวกท่านลองมองหาเรือหรือแพ พอจะมีไหม
พวกอำมาตย์จึงทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า
องค์ราชาจึงทรงดำริว่า ชาติและชรามรณะ กำลังรุกไล่เราอยู่ หากจะมาเสียเวลากับการแสวงหาพวงแพ ก็คงจะหนีจากชาติ ชรา มรณะไปไม่พ้นแล้วจึงทอดพระเนตรแม่น้ำนั้นแล้ว ทรงระลึกถึงธรรมานุสสติว่า "พระธรรมอันพระผู้มีพระภาคตรัสไว้ดีแล้ว เป็นธรรมอันประเสริฐ" แล้วจึงทรงตั้งสัจจาธิษฐาน ยกเอาคุณของพระธรรมขึ้นมาแล้วอธิษฐานว่า
ขอให้แม่น้ำนี้จงแข็งดุจดังแผ่นดินและหินผา พร้อมทั้งเสด็จเดินข้ามน้ำนั้นไปดุจดังเดินอยู่บนแผ่นดินฉะนั้น
ครั้นเสด็จข้ามแม่น้ำแม้นั้นไปได้ไม่นานนัก จึงได้ทอดพระเนตรเห็นแม้แม่น้ำ จึงทรงตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า "แม่น้ำนี้ชื่ออะไร?"
อำมาตย์ : แม่น้ำนี้ชื่อว่าจันทภาคานที พระเจ้าข้า.
พระราชา : แม่น้ำนี้กว้างลึกประมาณเท่าไร?
อำมาตย์ : ทั้งส่วนลึก ทั้งส่วนกว้าง ประมาณโยชน์หนึ่ง พระเจ้าข้า.
องค์มหากัปปินะราชาจึงทรงตรัสถามพวกอำมาตย์ว่า ในแม่น้ำพวกท่านลองมองหาเรือหรือแพ พอจะมีไหม
พวกอำมาตย์จึงทูลว่า ไม่มีพระเจ้าข้า
องค์ราชาจึงทรงดำริว่า เราจักมาเสียเวลากับการแสวงหาเรือแพอยู่ก็คงจะไม่ทันต่อชรา มรณะที่กำลังรุกไล่เราอยู่ เช่นนั้นก็คงต้องพึ่งคุณแห่งพระสงฆ์สาวกแห่งองค์พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้นแล้ว
จึงทรงระลึกถึงสังฆานุสสติตรัสว่า "พระสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติชอบแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นอันยิ่งกว่า ข้าพเจ้าผูกความรักษา ขอแม่น้ำจันทภาคานทีนี้ จงแข็งดุจดังแผ่นดินและหินผา เพื่อการเดินทางข้ามไปของพวกข้าพเจ้า โดยสวัสดี"
พร้อมทั้งเสด็จข้ามแม่น้ำนั้นไปดุจดังเดินอยู่บนแผ่นดินและหินผา
เพราะศรัทธาขององค์ราชามหากัปปินะ ได้เดินทางมาจนได้ทอดพระเนตรเห็นพระรัศมีมีวรรณะ ๖ ประการที่เกิดแต่พระสรีระของพระศาสดา กระทบกิ่งค่าคบ และใบของต้นนิโครธ ได้เป็นราวกะว่าสำเร็จด้วยทองคำ.
พระราชาทรงดำริว่า "แสงสว่างนี้ ไม่ใช่แสงจันทร์, ไม่ใช่แสงอาทิตย์, ไม่ใช่แสงสว่างแห่งเทวดา มาร พรหม นาค ครุฑเป็นต้น ผู้ใดผู้หนึ่ง, เราอุทิศพระศาสดามาอยู่ จักเป็นผู้อันพระมหาโคดมพุทธเจ้าทรงเห็นแล้วโดยแน่แท้."
ในทันใดนั้นนั่นแล ท้าวเธอเสด็จลงจากหลังม้า ทรงน้อมพระสรีระหมอบคลานเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ตามสายพระรัศมี เสด็จเข้าไปประทับใกล้องค์พระพุทธรัศมี ราวกะว่าดำลงไปในมโนสิลารส ถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ประทับนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งพร้อมกับอำมาตย์พันหนึ่ง
ชนทั้งหลายเหล่านั้น ต่างบังเกิดธรรมปีติอันท่วมท้น ล้นพ้น จนระงับยับยั้งน้ำตาและความสะอื้นไห้ไว้ไม่ได้
องค์พระบรมศาสดาทอดพระเนตรเห็นดังนั้น จึงทรงโปรดตรัสปลอบประโลมให้คลายอารมณ์ปีตินั้น แล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถาได้แก่
๑. ทานกถา ว่าด้วยการให้ทาน และอานิสงส์ของการให้ทาน
๒. สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีล และอานิสงส์ของศีล
๓. สัคคกถา ว่าด้วยความสุขในสวรรค์
๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษและความต่ำทรามของกามคุณทั้งปวง แม้ที่สุดโลกสวรรค์ก็มีโทษ
๕. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกามทั้งปวง แม้สวรรค์ก็ตาม
ในเวลาจบเทศนา องค์มหากัปปินะราชาพร้อมด้วยบริวารตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ต่อมาชนเหล่านั้นทั้งหมดลุกขึ้น ทูลขอบรรพชาต่อพระบรมศาสดา
พระศาสดาทรงใคร่ครวญว่า "บาตรจีวรสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ของกุลบุตรเหล่านี้ จักมีมาจากไหนหนอ" จึงทรงทราบด้วยญาณวิถีว่า "กุลบุตรเหล่านี้ได้เคยถวายจีวรและบาตรพันชุด แด่พระปัจเจกพุทธเจ้าพันองค์, ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่ากัสสป ได้ถวายจีวรและบาตรสองหมื่น แก่ภิกษุสองหมื่นรูป, ความมาแห่งบาตรและจีวรอันควรสำเร็จแล้วด้วยฤทธิ์ของกุลบุตรเหล่านี้ อันเป็นที่อัศจรรย์"
ดังนี้แล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ขวา ตรัสว่า "ท่านทั้งหลายจงเป็นภิกษุมาเถิด ท่านทั้งหลายจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด."
ทันใดนั้นนั่นเอง กุลบุตรเหล่านั้นมีปฏิกิริยา จริยวัตรดุจดังกะพระเถระมีพรรษาตั้ง ๑๐๐ ทรงบริขาร ๘ เหาะขึ้นสู่เวหาส กลับลงมาถวายบังคมพระศาสดา นั่งอยู่ในที่อันควร
ท่านทั้งหลายได้ฟังประวัติท่านพระมหากัปปินเถระมาถึงตอนนี้แล้ว คงจะเห็นถึงพลังแห่งความศรัทธา พลังแห่งคุณพระรัตนตรัย พลังแห่งสัมมาทิฏฐิ ดำริคิดที่จะหลุดพ้น หลบหนีจากชาติภัย ชราภัย มรณะภัย และอานุภาพแห่งบุญกุศลที่ได้เคยสั่งสมมา จึงสามารถทำให้เกิดสิ่งมหัศจรรย์อันล่วงอำนาจปุถุชนสามัญ
เป็นเหตุทำให้พระมหากัปปินะและบริวารจำนวน ๑ พันคน สามารถเดินบนน้ำได้ดุจดังแผ่นดิน พร้อมได้พบพระบรมศาสดาที่เสด็จเจาะจง เสด็จมาโปรดโดยเฉพาะ
แม้เมื่อได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ด้วยบุญกุศลที่ท่านได้สั่งสมมาแล้วในอดีต ทำให้บังเกิดสมณบริขารอันเป็นทิพย์ปรากฎมาให้แก่ท่านเป็นจำนวนหนึ่งพันหนึ่งรูป
นี่เรียกว่า บุคคลทำบุญเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
ดังคำที่ว่า
ลูกรัก บุญคือเครื่องยังให้สำเร็จถึงสมบัติทั้งปวง
 
เจริญธรรม
 
พุทธะอิสระ