ความเดิมตอนที่แล้ว ลูกชายของพรานคนที่ ๗ ผู้มีสติปัญญาพิจารณาหาวิธีทำลายตบะ รบกวนสมาธิ ความตั้งมั่นแน่วแน่ของพญายูงทอง ที่กำลังสวดภาวนาพระปริตร บูชาเทพสุริยามาตลอด ๗๐๐ ปี เพื่อขอความรักษา
แต่ต้องมาเสียสมาธิหยุดสวดสาธยายคาถา ด้วยเพราะเสียงนางนกยูงดังคำที่ว่า
ไม่มีเสียงใดจะผูกมัดใจชายได้ เท่าเสียงสตรี
และไม่มีเสียงใด จะผูกมัดใจสตรีได้เท่ากับเสียงบุรุษ
กว่าพญายูงทองจะรู้สึกตัว ขาทั้งสองข้างก็ถูกบ่วงบาศรัดเท้าทั้งสองข้างเอาไว้แล้ว
ทั้งที่พญายูงทองนั้นมีพละกำลังดังพญาช้างสาร
พรานหนุ่มผู้นั้นจึงมาครุ่นคิดว่า หากเราเข้าไปใกล้เกินไป พญายูงทองนี้อาจจะดิ้นรนจนบ่วงบาศขาด แล้วบินหนีไปเสียอีก เช่นนั้น เราก็คอยเฝ้าดูอยู่ห่างๆ จนกว่าพญายูงทองนี้หมดแรงสิ้นฤทธิ์ไปเอง
ข้างพญายูงทองนั้น เมื่ออิสระกายของตนถูกทำลายลงด้วยอำนาจของตัณหา ความทะยานอยากแล้ว จึงได้สติรู้ตัวยืนสงบนิ่งสำรวมจิต ปลงสังเวชในความมัวเมาประมาท ขลาดเขลาของตนเองแท้ๆ จึงต้องมารับชะตากรรมอันอับเฉาอยู่เช่นนี้
หนึ่งวันผ่านพ้นไป พรานหนุ่มผู้นั้นก็ยังนิ่งเฉยจนเวลาล่วงเลยผ่านไปสู่วันที่ ๓ พรานหนุ่มผู้นั้นก็ยังยืนเฝ้า นั่งเฝ้าพญายูงทองติดบ่วงอยู่เช่นนั้น โดยมิได้ทำอะไรเลย
ฝ่ายพญายูงดำริขึ้นว่า ดูก่อนสหาย ก็ถ้าท่านจับข้าพเจ้า เพราะเหตุแห่งทรัพย์แล้ว ท่านอย่าฆ่าข้าพเจ้าเลย จงจับเป็น นำข้าพเจ้าไปถวายพระราชาเถิด เข้าใจว่า ท่านจักได้ทรัพย์มิใช่น้อยเลย.
พราน ป่าเมื่อได้ฟังนกยูงทองร้องบอกและขอชีวิตดังนั้น จึงกล่าวว่า เราผูกสอดลูกธนูใส่เข้าในแล่ง มิได้หมายมั่นว่า จะฆ่าท่านในวันนี้เลย แต่เราจักตัดบ่วงที่ผูกรัดเท้าท่าน พญายูงจงไปตามสบายเถิด.
ลำดับนั้น พญายูงได้กล่าวว่า เหตุไร ท่านจึงเพียรดักข้าพเจ้ามาถึง ๗ ปี สู้อดกลั้นความหิวกระหายทั้งกลางคืนและกลางวัน แล้วไฉนท่านจึงจะมา ปลดปล่อยข้าพเจ้า ผู้ถูกบ่วงของท่านพันธนาการอยู่แล้วเล่า เพื่ออะไร
หรือว่าวันนี้ท่านสมาทานศีลงดเว้นจากปาณาติบาตหรือ หรือว่าท่านกำลังเจริญเมตตา อภัยทานแก่สัตว์ทั้งปวง เหตุไร ท่านจึงปรารถนาจะปลดปล่อยข้าพเจ้า เสียเล่า
นายพรานถามว่า
ดูก่อนพญายูง ขอท่านจงบอกว่า ผู้ใดเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ข้าพเจ้าขอถามความนั้นกะท่าน ผู้นั้นจุติจากโลกนี้แล้ว จะได้ความสุขอะไร.
พญายูงตอบว่า
ข้าพเจ้าขอวิสัชนาแก่ท่านว่า ผู้ใดเป็นผู้งดเว้นจากปาณาติบาต และให้อภัยในสัตว์ทั้งปวง ผู้นั้นย่อมได้รับความสรรเสริญในปัจจุบัน และเมื่อตายไปย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์.
นายพรานถามต่อว่า
สมณะและพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวว่า เทวดาทั้งหลายไม่มี ชีพย่อมเข้าถึงความเป็นต่างๆ กันในโลกนี้ ผลของกรรมดีและกรรมชั่วก็ไม่มีเหมือนกัน ทั้งยังได้กล่าวว่า ทานอันพวกคนโง่บัญญัติขึ้นเอง ข้าพเจ้าเชื่อถ้อยคำของพระอรหันต์เหล่านั้น ฉะนั้น จึงเบียดเบียนนกและสัตว์ทั้งหลาย.
พญายูงฟังฟังคำดังนั้นแล้วจึงกล่าวว่า เทวดา บุญและบาปมีอยู่จริง เมื่อตายแล้วคนทำบาปจะต้องตกนรก
นายพรานจึงถามถึงวิธีการที่ทำให้พ้นจากนรกว่า ดูก่อนพญายูงทอง ข้าพเจ้าจะทำอย่างไร จะทำอะไร ประพฤติอะไร เสพสมาคมกับอะไร ด้วยตบะคุณอะไร อย่างไรจึงจะต้องไม่ไปตกนรก ขอท่านจงบอกเนื้อความนี้แก่ข้าพเจ้าเถิด.
ครั้งนั้น พญายูงวิสัชนาว่า มีสมณะเหล่าใดเหล่าหนึ่ง นุ่งห่มผ้าย้อมด้วยน้ำฝาด ประพฤติเป็นผู้ไม่มีเรือน เที่ยวไปบิณฑบาตในเวลาเช้าในกาล อันควรผิด เว้นจากการเที่ยวไปในเวลาวิกาล เป็นผู้ตั้งอยู่ในความสงบระงับมีชีวิตอยู่ในแผ่นดินนี้แน่
ท่านจงเข้าไปหาสมณะเหล่านั้นในเวลาอันควร ณ ที่นั้น แล้วจงถามข้อความตามความพอใจของท่าน สมณะเหล่านั้นจะชี้แจงประโยชน์ในโลกนี้ และประโยชน์ในโลกหน้าให้แก่ท่าน ตามความรู้ความเห็นอันบริสุทธิ์ บริบูรณ์ของสมณพราหมณ์เหล่านั้น
สมณะเหล่านั้นจักชี้แจงประโยชน์โลกนี้และโลกอื่นอย่างนี้ว่า ด้วยกระทำกรรมชื่อนี้จะบังเกิดในโลกมนุษย์ ด้วยกระทำกรรมนี้จะบังเกิดในเทวโลก ด้วยกระทำกรรมนี้จะบังเกิดในนรกเป็นต้น เชิญท่านไปถามสมณะเหล่านั้นดูเอาเถิด.
ก็แล ครั้นพญายูงกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงแสดงโทษภัยที่สัตว์ได้ไปบังเกิดในนรกให้แก่พรานหนุ่มได้ฟัง
เมื่อพรานหนุ่มผู้นั้นได้ฟังธรรมกถาของพญายูงทองแล้วยืนพนมมืออยู่ด้วยท่าเดิมนั้นแหละ กำหนดพิจารณาสังขารทั้งหลาย พิจารณาจนเห็นไตรลักษณ์ บรรลุปัจเจกโพธิญาณแล้ว จึงเปล่งอุทานว่า
ความเป็นพรานนี้ เราละได้แล้ว เหมือนงูลอกคราบเก่าของตน หรือเหมือนต้นไม้อันเขียวชอุ่มผลัดใบเหลืองทิ้ง ฉะนั้น วันนี้เราละความเป็นผู้ล่าล้างผลาญในชีวิตสัตว์ได้แล้ว เรากลับสามารถพบวิธีล่าล้างผลาญกิเลสตัณหาอุปทานจนพินาศเสียสิ้นแล้ว
ครั้นท่านเปล่งอุทานนี้แล้ว ดำริว่า เราพ้นจากเครื่องพัวพัน คือกิเลสทั้งปวงได้แน่นอน แต่ในที่อยู่ของเรายังมีนกถูกกักขังอยู่มาก เราจักปลดปล่อยนกเหล่านั้นได้อย่างไร จึงถามว่า พญายูงเอ๋ย ในที่อยู่ของข้าพเจ้ามีนกถูกกักขังอยู่เป็นอันมาก ข้าพเจ้าจักปลดปล่อยนกเหล่านั้นได้อย่างไรละ.
เหตุนั้น พญายูงจึงกล่าวกะท่านว่า ปัจเจกโพธิญาณที่ท่านเข้าถึงได้ทำลายกิเลสทั้งปวงเสีย แล้วบรรลุด้วยโพธิมรรคใด โปรดปรารภโพธิมรรคนั้น กระทำสัจจกิริยาอธิษฐาน ขอให้พันธนาการของสัตว์ทั้งปวงที่ท่านจองจำไว้ จงอันตรธานหายไปสิ้น สัตว์เหล่านั้นก็จักได้เป็นอิสระด้วยอำนาจโพธิมรรคแห่งท่าน
เมื่อพญายูงทองกล่าววาจาภาษิตสั่งสอนวิธีตั้งสัจจาธิษฐาน เพื่อจะเปลื้องพันธนาการของหมู่สัตว์ที่ถูกกักขังไว้
พราหมณ์ผู้บรรลุธรรมนั้น ก็ตั้งสัจจาธิษฐานตามด้วยการกล่าวว่า
มีนกเหล่าใดที่เรากักขังไว้ในนิเวศน์ ประมาณหลายร้อย วันนี้ เราให้ชีวิตแก่นกเหล่านั้น ขอนกเหล่านั้นจงพ้นจากการกักขัง ไปสู่สถานที่อยู่เดิมของตนเถิด.
ลำดับนั้น นกทั้งปวงก็พ้นจากที่กักขัง พอดีกันกับเวลาที่ พระปัจเจกโพธินั้นกระทำสัจจกิริยานั่นเอง ต่างร้องร่าเริง บินไปที่อยู่ของตนทั่วกัน. ก็แลในขณะนั้น บรรดาสัตว์ในเหย้าเรือนทุกหนแห่งที่ถูกกักขังเอาไว้ทั่วแผ่นดินทั้งชมพูทวีป ตั้งต้นแต่หมา แมว ช้าง ม้า วัว ควาย เป็นต้น ก็ได้เป็นอิสระจากเครื่องพันธนาการกันทั่วหน้า
แล้วพรานหนุ่มผู้สำเร็จเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้ามีความปรารถนาจักดำรงเพศสมณะ จึงได้ยกมือลูบศีรษะ
ทันใดนั่นเอง เพศคฤหัสถ์ก็หายไป เพศบรรพชิตปรากฏแทน.
ท่านเป็นเหมือนพระเถระมีพรรษา ๖๐ สมบูรณ์ด้วยมารยาท เครื่องสมณบริขารก็ปรากฎมาจากอากาศ ด้วยบุญฤทธิ์ที่ท่านได้สั่งสมมาครั้งทรงอัฐบริขารแล้วจึงกล่าวคาถาบูชาคุณแห่งพญานกยูงทองโพธิสัตว์ว่า
ท่านนั้นได้เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ประคองอัญชลีแก่พญายูง กระทำประทักษิณ เหาะขึ้นอากาศไปสู่เงื้อมผา ชื่อนันทมูลคีรี ฝ่ายพญายูงก็โดดจากคอนไม้ที่มีบ่วงติดอยู่โผบินขึ้นสู่อากาศ ส่งเสียงร้องสาธุการขึ้นกึกก้อง แล้วกล่าวคาถาว่า
ผู้ที่เปลื้องตนออกจากกามคุณทั้งหลายได้แล้วย่อมมีอิสระ ดุจดังหลุดออกจากพันธนาการแห่งบ่วงของมารฉะนั้น
แล้วบินไปสู่สระ อาบน้ำชำระร่างกายแล้วกลับคืนสู่ยังสุวรรณคูหาที่อาศัยแห่งตน
พระศาสดาทรงแสดงพระธรรมเทศนานี้จบแล้ว ทรงแสดงอริยสัจสี่
เวลาจบสัจจธรรม ภิกษุผู้กระสันก็ได้สดับพระธรรมเทศนานั้นจนได้บรรลุพระอรหันต์
แล้วทรงประชุมชาดก ว่า
พราหมณ์พระปัจเจกพุทธเจ้าในครั้งนั้นได้ปรินิพพาน
ส่วนพญายูงได้มาเกิดเป็น เราตถาคต
เหตุที่นำเอาพระชาดกเรื่องพญายูงทองโพธิสัตว์นี้มาเล่าสู่กันฟัง ก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่า
แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน มันยังต้องมีที่พึ่ง ที่อาศัย และเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ
สาอะไรกับมนุษย์
หากมนุษย์และสัตว์ตนใดปฏิเสธที่พึ่ง ที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ก็จักมีสภาพไม่ต่างอะไรกับปุยเมฆที่ล่องลอย เคว้งคว้างไปตามแรงลม
และสุดท้าย ก็ถูกคลื่นลม ความร้อนกดดัน จะต้องกลายสภาพเป็นเม็ดฝน หรือไม่ก็ระเหิดระเหยอันตรธานเหือดหายไปอย่างไร้แก่นสาร
จึงอยากจะเตือน อยากจะบอกพวกหัวก้าวหน้าทั้งหลายที่ปฏิเสธที่พึ่งที่อาศัยว่า วันนี้พวกท่านยังหนุ่มยังสาว ยังมีแรงมีกำลัง ก็คิดว่ายังไม่ต้องการที่พึ่ง
แต่หากคราใดที่ท่านพบพาประสบต่อปัญหา และอุปสรรค จนบีบคั้น ทุรนทุราย ทุกข์ทรมาน โดยที่ท่านไม่มีที่พึ่งพา แล้วใครจะช่วยเหลือท่านได้
เช่นนี้ผู้มีปัญญา จึงพยายามแสวงหาที่พึ่งพาทั้งทางกาย และทางจิตใจ จะได้ดำรงตั้งมั่นอยู่รอดได้ในทุกสถานการณ์
เจริญธรรม
พุทธะอิสระ