ครั้ง เมื่อพระบรมศาสดา ทรงประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภถึงภิกษุผู้ตกอยู่ในอารมณ์กระสันรูปหนึ่งว่า จริงหรือที่ข่าวว่าเธอกระสันจะสึก
ครั้นภิกษุนั้นรับสารภาพว่า จริงพระเจ้าข้า
พระบรมศาสดาตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ความกำหนัดเพียงแค่นี้ ไฉนจักทำให้บุคคลอย่างเธอ วุ่นวายได้เล่า มีอย่างที่ไหน ลมที่สามารถพลิกภูเขาสิเนรุได้ จักไม่ทำให้ใบไม้เก่าๆ ใกล้ๆ จักกระจัดกระเจิงไป แม้ในปางก่อนสัตว์ผู้บริสุทธิ์ ที่เพียรพยายามคอยหักห้าม ความฟุ้งซ่านของกิเลสภายใน อยู่ ๗๐๐ ปี ก็ยังโดนความกำหนัด ความพึงพอใจนี้ ทำให้วุ่นวายได้เลย
แล้วทรงนำเรื่องที่มีในอดีตมาแสดงดังนี้ว่า
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัต เสวยราชสมบัติ ณ พระนครพาราณสี
พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในท้องนางนกยูง ในเขตแว่นแคว้นที่อยู่ชายแดน เมื่อครรภ์แก่เต็มที่แล้ว นางนกยูงผู้มารดาตกฟอง ณ ที่หากิน แล้วบินหนีไป ก็ธรรมดาว่า ฟองไข่ เมื่อมารดาไม่มีโรค และไม่มีอันตรายอื่นๆ เป็นต้นว่า ทีฆชาติ (งู) รบกวน ย่อมหลีกไม่เสีย
เหตุนั้น ฟองไข่นั้นจึงเป็นเหมือนดอกกรรณิการ์ตูมๆ มีสีเหมือนสีทอง
เมื่อเวลาครบกำหนดไข่สีทองนั้นก็แตกโดยบุญฤทธิ์ของตน ลูกนกยูงสีเป็นทอง ได้ถือกำเนิดออกมาแล้ว
ลูกนกยูงทองนั้น มีนัยน์ตาทั้งคู่ คล้ายผลกระพังโหม มีจะงอยปากสีเหมือนแก้วประพาฬ มีสร้อยสีแดงสามชั้นวงรอบคอไปจนถึงกลางหลัง
ครั้นยูงทองเจริญวัย มีร่างกายเติบใหญ่ขนาดเท่าล้อเกวียน รูปร่างสีกายเป็นสีมรกตสวยสดงดงามยิ่งนัก
แล้วยังเป็นราชาแห่งฝูงนกยูงทั้งหลาย อันแวดล้อมไปด้วยบริวาร ที่มีบริวารเป็นนกยูงสีเขียวเป็นหมื่นตัว
วันหนึ่ง นกยูงทองดื่มน้ำในสระที่มีสีดุจดังมรกต อันเป็นสระที่เกิดขึ้นมาพร้อมชาติกำเนิดเป็นสมบัติเฉพาะตน
เวลาต่อมา พญานกยูงทองนั้นจึงคิดว่า เรามีรูปงามล้ำเลิศกว่านกยูงทั้งหลาย ถ้าเราจักอยู่ในแดนมนุษย์ร่วมกับฝูงนกยูงเหล่านี้ อันตรายคงบังเกิดแก่เรา เราต้องไปสู่ป่าหิมพานต์ แสวงหาถิ่นที่อยู่อันปลอดภัยเพื่ออาศัยอยู่ ณ ที่อันสำราญ ลำพังผู้เดียวจึงจะดี
เมื่อฝูงนกยูงพากันเข้าสู่รังนอน ในราตรีกาลนั้น พญายูงทอง ก็ออกจากถ้ำที่อาศัย โดยมิได้บอกให้นกยูงตัวใดให้รับรู้ แล้วโผขึ้นเข้าป่าหิมพานต์ ผ่านทิวเขาไป ๓ ทิว ถึงทิวที่ ๔ มีสระธรรมชาติขนาดใหญ่ ดารดาษไปด้วยปทุม อยู่ในป่าตอนหนึ่ง ไม่ไกลสระนั้น มีต้นไทรใหญ่เกิดอาศัยภูเขาลูกหนึ่ง พญายูงทองนั้นก็ร่อนลงเร้นกายเข้าอาศัยถึงกิ่งไทรนั้นหลับนอน
ครั้งถึงยามเช้า พญายูงทองหลังจากทำภัตกิจส่วนตัวเรียบร้อยแล้ว จึงโผบินขึ้นสู่อากาศ ตรงไปยังกลางหุบเขานั้น เพื่อแสวงหาที่อาศัยอันมั่นคง หลังจากบินเข้ามาสู่กลางหุบเขาได้ไม่นาน จึงได้สังเกตเห็นถ้ำอันน่าเจริญใจ พญายูงทองคิดจะอยู่ในถ้ำนั้น จึงลงเกาะที่พื้นศิลาตรงหน้าถ้ำ
ก็แลทำเลที่ตั้งของถ้ำนั้นเป็นเงื้อมผาอันสูงชัน ผู้อยู่ข้างล่างไม่อาจขึ้นมาได้เลย ผู้อยู่ข้างบนเล่าก็ไม่อาจปีนไต่ลงไปได้ เป็นที่ปลอดภัยจากมนุษย์และหมู่สัตว์จตุบาท มฤคบาท
พญานกยูงทองดำริว่า ตรงนี้เป็นที่อันร่มรื่น รมณียสถาน สำราญของเรา เราคงพักอยู่ ณ รมณียสถาน แห่งนี้พอรุ่งขึ้นพญายูงทองก็ลุกออกจากถ้ำบินไป เกาะที่ยอดเขา หันหน้าไปทางทิศตะวันออก เห็นสุริยมณฑลกำลังขึ้น พญายูงทองนั้นจึงสวดสาธยายมนต์ปริตร เพื่อบูชาแด่องค์พระอาทิตย์ ความว่า
**************************************
โมระปะริตตัง
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง
ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา
วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา
เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม
เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง
นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง
นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง
กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ
อะเปตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง
ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะคุตตา
วิหะเรมุ รัตติง เย พราหมะณา
ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะคุตตา
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง
เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม
เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง
นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง
นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง
กัตวา โมโร วาสะมะกัปปะยีติ ฯ
**************************************
พอพญายูงทองบินกลับมาจากหากิน ก็จะมาเกาะอยู่ที่ยอดเขาเหนือถ้ำทองนั้น แล้วหันหน้าไปทางทิศตะวันตก แล้วสวดคาถาพระปริตร บูชาพระอาทิตย์ว่า
**************************************
อุเทตะยัญจักขุมา เอกะราชา
หะริสสะวัณโณ ปะฐะวิปปะภาโส
ตัง ตัง นะมัสสามิ หะริสสะวัณณัง
ปะฐะวิปปะภาสัง ตะยัชชะ คุตตา
วิหะเรมุ ทิวะสัง เย พราหมะณา
เวทะคุ สัพพะธัมเม เต เม นะโม
เต จะ มัง ปาละยันตุ นะมัตถุ พุทธานัง
นะมัตถุ โพธิยา นะโม วิมุตตานัง
นะโม วิมุตติยา อิมัง โส ปะริตตัง
กัตวา โมโร จะระติ เอสะนา ฯ
************************************
คำแปล โมรปริตร
พระอาทิตย์เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทอง ทำพื้นปฐพีให้สว่างอุทัยขึ้นมา เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีแห่งทอง ทำพื้นปฐพีให้สว่าง ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงดำรงอยู่เป็นสุขตลอดวัน ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อสมณะ ชี พราหมณ์ทั้งหบาย ผู้ถึงซึ่งเวท คือความรู้ในธรรมทั้งปวง และขอสมณะ ชี พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาข้าพเจ้าเถิด ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ท่านผู้ที่พ้นจากกิเลสแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ธรรมอันเป็นเครื่องทำให้พ้นจากกิเลส นกยูงนั้นได้ทำพระปริตรเครื่องป้องกันอย่างนี้แล้ว จึงเที่ยวไปแสวงหาอาหารในเวลากลางวัน
พระอาทิตย์นี้เป็นดวงตาของโลก เป็นเอกราช มีสีเพียงดังสีแห่งทองยังพื้นปฐพีให้สว่าง ย่อมอัสดงคตตกไปแล้ว เพราะเหตุนั้น ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อพระอาทิตย์นั้น ซึ่งมีสีเพียงดังสีทอง ทำพื้นปฐพีให้สว่าง ข้าพเจ้าเป็นผู้ที่ท่านคุ้มครองแล้วในวันนี้ พึงอยู่เป็นสุขตลอดคืน ข้าพเจ้าขอนอบน้อมต่อสมณะ ชี พราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ถึงซึ่งเวท คือความรู้ในธรรมทั้งปวง และขอสมณะ ชี พราหมณ์ทั้งหลายเหล่านั้น จงรักษาข้าพเจ้าเถิด ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่พระโพธิญาณ ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ท่านผู้ที่พ้นจากกิเลสแล้วทั้งหลาย ความนอบน้อมของข้าพเจ้า จงมีแด่ธรรมอันเป็นเครื่องทำให้พ้นจากกิเลส นกยูงนั้นได้ทำพระปริตรเครื่องป้องกันอย่างนี้แล้ว จึงได้สำเร็จการอยู่ในเวลากลางคืน ฯ
************************************
เพื่อขอความคุ้มครองป้องกันตน ตลอด ๒ เวลา คือ
เช้าสวด อุเทตยญฺจกฺขุมา เอกราชา
เย็น สวด อเปตยญฺจกฺมา เอกราชา
เป็นต้น แล้วบินร่อนออกไปเที่ยวหากิน
ตอนเย็น จึงมาเกาะที่ยอดเขาบ่ายหน้าทางทิศตะวันตก เพ่งดูสุริยมณฑลอันอัสดง ทางทิศตะวันตก สวดพระปริตร เพื่อขอความคุ้มครองป้องกัน ว่า
อเปตยญฺจกฺขุมา เอกราชา พญานกยูงทองดำรงอยู่อย่างปลอดภัยอยู่ด้วยอุบายนี้
จบแค่นี้ก่อนนะจ๊ะ ขอตัวไปทำพระก่อน
พุทธะอิสระ