ตอนที่แล้วจบลงตรงที่
พระปิณโฑลภารทวาชเถระ ได้แสดงสมณะสัญญาถึงสิ่งที่พระภิกษุใหม่พึงประพฤติปฏิบัติในการที่ต้องเผชิญกับกามคุณทั้ง ๕ อันมี รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส โดยไม่เพลี่ยงพล้ำ ไม่พ่ายแพ้ ไม่ต้องตกเป็นทาส ไม่อยู่ในอำนาจการครอบงำของกามคุณทั้งปวง
องค์ราชาอุเทนเจ้านครอุชเชนี ครั้นได้ฟังคำอธิบายในสมณะสัญญาโดยละเอียด
พระเจ้าอุเทนจึงทรงตรัสว่า ช่างน่าอัศจรรย์นัก ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ไม่เคยมีก่อน ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ธรรมปริยายนี้ อันพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้รู้ ผู้เห็น เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว
ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ข้อนี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้ภิกษุเหล่านี้ผู้ยังเป็นหนุ่ม ยังไม่หมดความปรารถนาในกามทั้งหลาย สามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้จนตลอดชีวิต และปฏิบัติอยู่ได้นาน
ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ถ้าในสมัยใดแม้ข้าพเจ้าเอง มีกายมิได้รักษาแล้ว มีวาจามิได้รักษาแล้ว มีจิตมิได้รักษาแล้ว มีสติมิได้ตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายมิได้สำรวมแล้ว เข้าไปสู่ที่ตั้งแห่งกามคุณทั้งปวงในสมัยนั้น ความปรารถนาทั้งหลายก็จะครอบงำข้าพเจ้ายิ่งนัก
ข้าพเจ้าเข้าใจแล้วว่า ถ้าในสมัยใดแล ข้าพเจ้ามีกายอันรักษาแล้ว มีวาจาอันรักษาแล้ว มีจิตอันรักษาแล้ว มีสติอันตั้งไว้แล้ว มีอินทรีย์ทั้งหลายอันสำรวมแล้วเข้าไปสู่ที่ตั้งแห่งถามคุณทั้งปวง ในสมัยนั้น ความปรารถนาทั้งหลายก็จะไม่ครอบงำข้าพเจ้า
ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ภาษิตของท่านแจ่มแจ้งนักท่านประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง หรือตามประทีปไว้ในที่มืดด้วยหวังว่า ผู้มีจักษุจะเห็นรูปได้ ฉะนั้น
ท่านภารทวาชะผู้เจริญ ข้าพเจ้าขอถึงพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นกับทั้งพระธรรมและพระภิกษุสงฆ์ว่าเป็นที่พึ่ง ขอท่านจงจำข้าพเจ้าว่า เป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งจนตลอดชีวิตตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปเถิด
ทีนี้เรามาตามดูกันถึงบุพกรรมในอดีตชาติของท่านพระเถระปิณโฑลภารทวาชะ กันหน่อยว่า เหตุใดท่านจึงกลายเป็นผู้ที่ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้เลิศในด้านการบันลือสีหนาทอันกึกก้อง
ในกาลแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามว่าปทุมุตตระ ท่านปิณโฑลภารทวาชะ ได้บังเกิดเป็นราชสีห์ผู้หาญกล้า ผู้ไม่มีความกลัว อาศัยอยู่ในถ้ำ ที่ใกล้ภูเขาหิมวันต์ทางทิศตะวันออกของภูเขาหิมาลัย ออกหากินไปในทิศทั้ง ๔ อยู่ ณ ที่นั้น พระศาสดาประทับอยู่ในถ้ำชื่อว่าจิตตกูฏ ที่ยอดเขาชื่อว่าจิตตบรรพต เพราะเป็นภูเขาที่งดงามหลากสีด้วยว่านยาโอสถต่างสีต่างกลิ่น และดารดาษไปด้วยรัตนะทั้งหลาย
พระศาสดาทรงตรวจดูโลก ทรงเห็นความถึงพร้อมแห่งเหตุที่สมควรจะเสด็จไปโปรดของราชสีห์ตนนั้น
ในกาลต่อมา เพื่อจะทรงกระทำความอนุเคราะห์แก่ราชสีห์ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเสด็จไปยังถ้ำอันเป็นที่อยู่ของราชสีห์นั้น
ขณะที่ราชสีห์นั้นออกไปหาเหยื่อ พระบรมศาสดาปทุมุตตระทรงเสด็จเข้าไปประทับนั่งเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ราชสีห์จับเหยื่อแล้วกลับมายืนอยู่ที่ประตูถ้ำ เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ดำริว่า ไม่มีสัตว์อื่นที่สามารถจะมานั่งยังที่อยู่ของเรา บุรุษนี้ใหญ่แท้หนอ จึงอาจหาญมานั่งขัดสมาธิภายในถ้ำที่อาศัยของเราได้
ทั้งยังมีรัศมีแผ่กระจายออกมาโดยรอบสรีระของท่าน เราไม่เคยเห็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์ถึงเพียงนี้ บุรุษนี้คงเป็นยอดของปูชนียบุคคลในโลกนี้เป็นแน่ แม้เราควรกระทำสักการะตามสติกำลังถวายพระองค์
ราชสีห์นั้นจึงคิดว่า นี่ช่างเป็นลาภอันประเสริฐของเราแล้ว เราควรไปนำดอกอุบลและดอกไม้นานาพันธุ์ มาถวายตกแต่งปูลาดเป็นอาสนะดอกไม้ ตั้งแต่พื้นจนถึงที่นั่งขัดสมาธิของบุรุษผู้นี้ด้วยจิตที่เลื่อมใส
พร้อมทั้งยืนเฝ้าอยู่หน้าประตูถ้ำ ทำการถวายอารักขาพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้วเปล่งเสียงบันลือสีหนาท ๓ เวลา เพื่อให้สัตว์ร้ายอื่น ๆ หนีไป ทั้งยังยืนเฝ้าอยู่ที่ประตูถ้ำโดยมีพุทธานุสติเป็นอารมณ์ ตลอดคืนยังรุ่ง
รุ่งขึ้นวันใหม่ราชสีห์นั้นได้วิ่งเข้าไปในถ้ำนำดอกไม้เก่าออก แล้วออกไปหาดอกไม้ใหม่ในป่ามาลาดอาสนะอยู่เช่นนี้ เพื่อตกแต่งปุบผาสนะบูชาอยู่ตลอด ๗ วัน เหมือนอย่างที่บูชาในวันแรกด้วยจิตที่เลื่อมใสปีติโสมนัสอย่างแรง
กาลเวลาล่วงเลยมาถึงวันที่ ๗ พระบรมศาสดาออกจากนิโรธสมาบัติ เสด็จพระดำเนินออกมาประทับยืนที่ประตูถ้ำต่อหน้าพญาราชสีห์ ราชสีห์จึงกระทำประทักษิณพระตถาคต ๓ รอบ แล้วก้าวถอยหลังออกไปยืนอยู่
พระปทุมุตรพุทธเจ้าผู้ทรงรู้แจ้งโลก ทรงรับเครื่องบูชาของพญาราชสีห์นั้น แล้วตรัสว่า ผู้ใดได้ถวายปุบผาปทุมชาติหลากสีนี้ และได้บันลือสีหนาท วันละ ๓ เวลาแก่เรา เราจักพยากรณ์ผู้นั้น ท่านจงฟังเรากล่าว
ในกัลป์ที่ ๘ นับแต่ภัทรกัลป์นี้ไป ราชสีห์ผู้นี้จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิสมบูรณ์ด้วยรัตนะ ๗ ประการ เป็นใหญ่ในทวีปทั้ง ๔ จักเสวยความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน ๖๔ ชาติ จักเป็นพระเจ้าจักรพรรดิทรงกำลัง มีพระนามชื่อว่าปทุม
ในแสนกัลป์ต่อแต่นี้จักมีพระศาสดาพระนามว่าโคดมโดยพระโคตร ซึ่งสมภพในวงศ์พระเจ้าโอกกากราช จักเสด็จอุบัติในโลกเมื่อพระศาสดาพระองค์นั้นทรงประกาศพระศาสนาแล้ว
พญาราชสีห์นี้จักบังเกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ปุโรหิต จักออกจากสกุลพราหมณ์แล้วบวชในพระศาสนาของพระศาสดาพระองค์นั้น เขาจักมุมานะบำเพ็ญเพียรจนจิตเข้าสู่ความสงบระงับไม่มีอุปธิ กำหนดรู้อาสวะทั้งปวงแล้ว จักไม่มีอาสวะนิพพาน ณ เสนาสนะอันสงัด ปราศจากชน แต่จักเกลื่อนกล่นแวดล้อมไปด้วยสิงสาราสัตว์น้อยใหญ่แวดล้อม
พระศาสดาปทุมุตตระทรงดำริว่า เท่านี้จักเพียงพอแก่อุปนิสัยของราชสีห์นี้
พระปทุมุตตระทรงตรัสดังนี้แล้วจึงเหาะขึ้นไปสู่อากาศเสด็จกลับไปพระวิหารตามเดิม
ราชสีห์ไม่อาจอดกลั้นความอาลัยรัก เคารพในองค์พระมหาบุรุษได้จึงซึมเศร้าทุกข์อยู่เช่นนั้น ไม่เป็นอันกินน้ำ กินอาหาร
จึงกระทำกาละในเวลาต่อมาแล้วไปบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มีโภคะมากในนครหงสวดี พอเจริญวัยแล้ว ได้ไปยังพระวิหารกับชาวเมือง ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วเลื่อมใส ยังมหาทานให้เป็นไปแก่ภิกษุสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ตลอด ๗ วัน ทำบุญทั้งหลายจนชั่วชีวิต
หลังกระทำกาละในภพนั้น ได้เวียนว่ายอยู่ในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย
กาลต่อมาท่านได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ปุโรหิตของราชาอุเทน ในกรุงอุชเชนี ในพุทธุปบาทกาลนี้ โดยชื่อมีชื่อว่า ภารทวาชะ ดังปรากฏ
จบอัตชีวประวัติของท่านปิณโฑลภารทวาชะ แต่เพียงเท่านี้
สิ่งที่ท่านทั้งหลายจักรับรู้ได้ก็คือ ประวัติของท่านเริ่มต้นมาจากศรัทธาและความเพียร แม้จักอยู่ในร่างของสัตว์เดรัจฉานพญาราชสีห์ก็ตามที
ท่านก็ยังสามารถใช้ความศรัทธาและความเพียร พัฒนาตนเองมาจนได้เป็นพระอรหันต์มหาสาวก ผู้เป็นเอตทัคคะในการบันลือสีหนาทอันกึกก้อง ๑ ใน ๘๐ อสีติมหาสาวกผู้มีเลิศ
แล้วท่านทั้งหลายเล่า ?
ท่านได้มีความศรัทธาตั้งมั่นอยู่หรือไม่
ท่านมีความเพียรพยายามที่จักนำมาพัฒนาตนเองจนถึงขีดสุดของชีวิตกันอยู่แล้วหรือยัง
พุทธะอิสระ