ความเดิมตอนที่แล้วจบลงตรงที่
พระจักขุบาลถูกหมู่ภิกษุต่างถิ่นกล่าวโจทก์ด้วยอาบัติปาณาติปาตา ด้วยเหตุที่ท่านเดินจงกรมแล้วไปเหยียบแมลง โดยที่ท่านมองไม่เห็น
ภิกษุต่างถิ่นนั้นได้นำเรื่องนี้ไปฟ้องพระพุทธเจ้า
พระบรมศาสดาทรงตรัสถามหมู่ภิกษุเหล่านั้นว่า
พวกท่านได้เห็นว่าพระจักขุบาลเหยียบแมลงตายด้วยตาตนเองหรือเปล่า
พระภิกษุเหล่านั้น ทูลตอบว่า ไม่เห็นด้วยตาตนเองดอกพระพุทธเจ้าข้า
องค์พระบรมศาสดาจึงทรงตรัสว่า เช่นเดียวกับพระจักขุบาลผู้ดวงตาอันบอดย่อมมองไม่เห็นเช่นกัน
หมู่ภิกษุต่างถิ่นเหล่านั้นจึงทูลถามว่า
เหตุใดพระจักขุบาลเถระ ได้บรรลุอรหันต์สุกขวิปัสสกแล้วทำไมถึงมีบุพกรรมอันน่าอนาถเห็นปานนั้น
องค์สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรัสว่า มูลเหตุแห่งบุพกรรมที่ทำให้พระจักขุบาลต้องมาตาบอดในชาตินี้ว่า
ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสี มีหมอยาคนหนึ่งเที่ยวรักษาคนไข้อยู่ในบ้านต่างๆ นิคมต่างๆ วันหนึ่งเขาได้พบหญิงซึ่งตามืดมัวคนหนึ่ง จึงอาสาเข้ารักษา หญิงนั้นก็ยินดี
หมอยาผู้นั้นจึงถามว่า หากหายแล้วจะให้อะไรแก่เขาบ้าง
หญิงนั้นตอบว่า ตนพร้อมทั้งบุตรธิดาจะยอมเป็นทาสของหมอ
หมอจึงประกอบยาให้รักษา หญิงนั้นก็ได้หายจากโรคด้วยการหยอดยาเพียงครั้งเดียว แต่เมื่อหายแล้วกลับคิดจะบิดพลิ้ว ไม่ยอมเป็นทาสของหมอ ตามสัญญา
เมื่อหมอถาม จึงแสร้งบอกว่า เมื่อก่อนนี้ตาเธอเจ็บน้อย หลังจากหยอดยาของหมอแล้วเจ็บมากขึ้น
หมอรู้ทันทีว่า หญิงนั้นไม่ซื่อ ไม่ต้องการให้ค่าจ้างตน
คนอย่างนี้ต้องทำให้ตาบอดเสียจริงๆ คิดแล้วจึงกลับไปบ้าน ประกอบยาเสร็จแล้วบอกให้ภรรยาทราบ แต่ภรรยาของเขามิได้ห้ามปราม นิ่งเสีย
หมอกลับไปหาหญิงคนไข้ของตนมอบยานั้นให้ แล้วบอกว่า นี่เป็นยาอีกขนานหนึ่งที่สามารถรักษาตาของท่านได้
เธอจึงหลงเชื่อนำยานั้นมาหยอดตาทั้ง ๒ ข้าง
หลังจากหยอดตาแล้ว ตาเธอก็ระบมอักเสบด้วยพิษของยา ทำให้ทุกขเวทนาเจ็บปวดลูกตาทั้ง ๒ ข้างอย่างแสนสาหัส จนลูกตาเน่าและบอดสนิททั้งสองข้าง
กาลต่อมา หมอยาผู้นั้นได้ถึงกาลกิริยาตายลงจึงได้มาเกิดเป็นพระจักขุบาล
พระศาสดาตรัสย้ำว่า"ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมที่บุตรของเรา (คือพระจักขุบาล) ทำแล้วในครั้งนั้น ได้ติดตามตัวเขาอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้โอกาสก็ให้ผลกรรมอันบุคคลทำแล้ว เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค ฉะนั้น"
พระศาสดาตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสพระพุทธภาษิต ที่กล่าวไว้แต่เบื้องต้นว่า
"สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด ทุกอย่างสำเร็จมาจากใจ ถ้าใจเป็นอกุศล การทำ การพูด การคิดก็พลอยเป็นอกุศลไปด้วย และด้วยอกุศลนี้ จึงเป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งปวง จักติดตามตนไปดุจดังล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค ฉะนั้น"
พระบรมศาสดายังทรงสรรเสริญพระจักขุบาลว่า แม้ตัวท่านจักมีชีวิตอยู่ด้วยการชดใช้กรรมเก่า แต่ท่านก็มิได้สิ้นหวัง ท่านเพียรพยายามอย่างยิ่งที่จะทำกุศลกรรมใหม่จนท่านได้รับผลคือ บรรลุอรหันตผล ด้วยสติปัญญาและความเพียรอย่างยิ่ง
 
พุทธะอิสระ